เครื่องมือการเงินสำหรับออม..ให้ได้มากกว่าดอกเบี้ย

  • เคยหรือไม่ที่..วางแผนการออมให้ตนเองหรือลูกเมื่อใด..เพียงเริ่มก็ล้มเหลว
  • เคยหรือไม่ที่..เริ่มออมได้ไม่กี่ปี..ก็มีเหตุให้ต้องรีบนำเงินออมออกมาใช้
  • เคยหรือไม่ที่..ออมเงินได้นานกว่า 10 ปี แต่กลับต้องล้มเลิกเพราะสิ่งเร้ากระตุ้นให้ใช้เงินมากมาย
  • เคยหรือไม่ที่..ออมเงินได้สำเร็จกว่า 20 ปีแล้ว แต่สุดท้าย..เงินที่เก็บมากลับต้องหมดไปในพริบตา
  • เคยหรือไม่ที่..เลือกที่จะ เป็นหนี้ มากกว่าที่จะ เก็บออมเงินต่อ

คำเตือน จากคนอายุ 50-60 ปี ถึงคนอายุ 20-40 ปี

"ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ต้องเจอ"

พ่อแม่วัย50 60ปี

เมื่อคุณเริ่มมีอายุเข้าสู่วัย 50-60 ปี คุณจะพบว่าเป็นวัยที่มีค่าใช้จ่ายสำคัญต้องจัดการมากมาย และค่าใช้จ่ายมักสูงรวมกันถึงหลักล้านขึ้นไปได้ไม่ยาก เช่น 

ค่าทุนการศึกษาระดับสูงของลูก ค่าสินสอดงานแต่งงาน ค่าเริ่มต้นหรือจัดการหนี้ธุรกิจ ค่าจัดการหนี้บริโภคก่อนเกษียณ ค่าผ่าตัดรักษาพยาบาล เป็นต้น

ซึ่งล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่คุณตอนอายุ 30-40 ปี พยายามจะมองไม่เห็น (เพราะว่ายังมาไม่ถึง ไม่ขอรับรู้ที่จะวางแผนรองรับใด ๆ) ทั้งที่รู้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้หลีกเลี่ยงได้ยาก และแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อแผนเกษียณที่เตรียมไว้อย่างมาก

แม้คุณเองจะรู้ว่า หากคุณได้เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อยสัก 10-20 ปี จะทำให้การเตรียมเงินล้านไว้สำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้นั้นไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพราะจะตกเพียงปีละหลักหมื่นเท่านั้น (หากคุณใช้เครื่องมือการเงินที่ถูกต้องกับค่าใช้จ่ายที่จะให้เครื่องมือดูแล)

ซึ่งหากรู้ตัวเร็ว ยอมรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ไว ย่อมจะเปลี่ยนคำถามตอนอายุ 50-60 ปี จากที่ว่า “จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย จะเกษียณได้ตอนไหน” 

ให้ย้อนเวลากลับกลายมาเป็นคำถามตอนอายุ 30-40 ว่า “จะทยอยเก็บเงินอย่างไร ให้เงินยังอยู่ถึงช่วงเวลาสำคัญในอีก 15-20 ปีข้างหน้าได้สำเร็จ”

แม้จะยังเป็นคำถามที่ไม่ง่ายนัก แต่ก็ยังดีกว่าคำถาม “จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย จะเกษียณได้ตอนไหน” เป็นอย่างมาก 

และนี้ คือ ความสำคัญของการวางแผนการเงินให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้เริ่มเผชิญกับความท้าทายในปัญหาต่อไป หรือก็คือ ปัญหาที่ทำให้การออมเงินสำเร็จได้ยาก ซึ่งมีที่มาจากสาเหตุต่อไปนี้

ทำไม รายได้เพิ่มแต่ไม่มีเงินเก็บ แถมยังมีหนี้เพิ่มขึ้น

ปัญหาใหญ่ของการเก็บออมเงินระยะยาว ที่หากไม่เข้าใจถึงต้นตอของปัญหา..จะทำให้การเก็บเงินเป็นเรื่องยากอย่างมาก

more income more debt

เพราะคนโดยทั่วไปจะไม่ได้แบ่งความสำคัญของรายจ่ายให้ออกเป็นหมวด NEEDs (จำเป็น) กับหมวด WANTs (เพื่อความสะดวกสบาย/ความต้องการ) อย่างชัดเจน

รวมถึงไม่ได้ตระหนักว่าหมวด WANTs นั้นจะมีขนาดที่ไม่จำกัด แปรเปลี่ยนไปตามภาชนะหรือรายได้ที่มีอยู่ ทำให้ WANTs พร้อมที่จะขยายใหญ่ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา หรือ

หากเลวร้ายกว่านั้น หากภาชนะเป็นวงเงินบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือวงเงินที่สามารถกู้ได้ หมวด WANTs ก็พร้อมจะขยายตัวให้เป็นหนี้เต็มวงเงินได้เร็วมากเช่นกัน (โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ธนาคารเน้นผลประกอบการมากกว่าเรื่องธรรมาภิบาล)

ทางแก้สำคัญจึงต้องเลือกภาชนะที่เหมาะสมให้กับหมวด WANTs โดยแทนที่จะเป็นรายได้ทั้งหมด ให้เปลี่ยนภาชนะเป็นการกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายมาครอบ WANTs ไว้ 

หรือ แบ่งรายได้มาอยู่ในหมวด NEEDs และ ออมเงิน ให้เรียบร้อยก่อน ส่วนที่เหลือจึงสามารถนำไปใช้กับ WANTs ได้ ซึ่งทำให้สอดคล้องกับคำพูดที่ว่า “ให้เก็บก่อนใช้” เพราะ การใช้ก่อน..เหลือเท่าไรค่อยเก็บนั้นไม่มีอยู่จริง

ดังนั้นการกำหนดสัดส่วนงบประมาณของหมวด NEEDs กับ WANTs ให้ชัดเจน จึงเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ เพราะ ถ้าหากไม่ทำ ก็ย่อมไม่มีทางเริ่มต้นออมเงินระยะยาวใด ๆ ได้เลย

..เนื่องจากจะถูกก่อกวนด้วย WANTs อยู่ตลอดเวลา และการก่อกวนจะหนักข้อยิ่งขึ้นอีก เมื่อเริ่มออมเงินไปได้สักพักจนเงินเริ่มกลายเป็นเงินก้อนใหญ่

ระวัง!!..เงินเก็บก้อนใหญ่ (อาจ)นำไปสู่ หนี้ก้อนใหญ่กว่า

เมื่ออดทนจนสามารถเก็บเงินได้สัก 10 ปี หรือ 20 ปีได้สำเร็จ เงินเก็บก้อนใหญ่จะทำให้ WANTs แผ่ขยายอย่างน่ากลัว

more income more debt3

 .. ซึ่ง ความต้องการ (WANTs) จะตามมาหลอกหลอนหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยขนาดใหญ่ตามขนาดของเงินก้อนใหญ่ที่ได้ออมมา

ทำให้เงินเก็บก้อนใหญ่นี้ มักจะลงเอยกลายเป็นเงินดาวน์ ให้กับบ้านใหม่ หรือรถใหม่ และเปลี่ยนจากเงินเก็บกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่กว่าขึ้นมาแทน 

ด้วยเพราะความต้องการ (WANTs) ชนะความจำเป็น (NEEDs) และชนะเป้าหมายที่วางแผนไว้ในตอนแรก ไม่ว่าจะเป็นออมให้ลูก หรือ ออมเพื่อเกษียณก็ตาม

ดังนั้น การกำหนดหน้าที่หรือเป้าหมายของเงินออมให้ชัดเจน (ทั้งก่อนเก็บและหลังเก็บเงินได้) จึงสำคัญอย่างมาก..ว่าเงินเก็บนี้จะสามารถนำออกมาใช้ได้เฉพาะในเหตุการณ์ใดเท่านั้น

และอาจต้องย้ำเตือนกับคนใกล้ชิด หรือ แม้แต่ลูก ๆ ถึงบทบาทหน้าที่ของเงินเก็บก้อนนี้ให้ดี เพื่อป้องกัน WANTs โจมตี NEEDs ผ่านความต้องการและความสงสาร คนใกล้ชิด หรือ ลูก ๆ ได้

เมื่อตระหนักถึงความน่ากลัวของ WANTs และ ระบุหน้าที่ของเงินเก็บก้อนต่าง ๆ อย่างจริงจังได้แล้ว สิ่งที่ควรต้องรีบเรียนรู้ต่อมา คือ เครื่องมือการเงินที่จะช่วยในการเก็บเงินและปกป้องไม่ให้นำออกมาใช้ผิดบทบาทหน้าที่

เพราะการเก็บเงินในกระปุก หรือ ฝากธนาคารทั่วไป คุณจะไม่ได้รับการป้องกันใด ๆ จาก WANTs รวมถึงไม่ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นอื่นใด ในความความ ตั้งใจ อดทน และ มีวินัยของคุณเลย นอกเหนือจากเงินเก็บนั้น 

ทั้ง ๆ ที่ยังมีเครื่องมือการเงินอีกหลายอย่าง และ แต่ละอย่างก็จะให้การป้องกันเงินเก็บ และ ผลตอบแทนความเด็ดเดี่ยว ความมีวินัยออมเงิน ที่แตกต่างกันไป ไม่ได้ให้เพียงเฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น

ทำให้ขั้นตอนการออมเงินให้สำเร็จ จึงจะต้องเข้าใจ จับคู่ หน้าที่ของเงินเก็บ กับ เครื่องมือการเงินเหล่านี้ให้เหมาะสม

จับคู่ เป้าหมายของเงินเก็บ กับ เครื่องมือการเงินที่ใช่

สิ่งที่จะทำให้การเก็บเงินสำเร็จ  คือ มีเครื่องมือป้องกันการโจมตีจาก WANTs 

วินัยการเก็บเงินให้ลูก3

แน่นอนว่า การนำเครื่องมือการเงินมาป้องกันเงินเก็บนั้น จำเป็นต้องมีความเด็ดเดี่ยว ความมีวินัย และ เป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถออมเงินให้ได้ตามเป้าหมาย

โดยเกราะป้องกันเงินเก็บจะแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ถ้าเลือกใช้เครื่องมือการเงินถูกต้อง

ซึ่งรูปจากตารางด้านล่างนี้ จะทำให้เห็นถึง เครื่องมือการเงินแบบต่าง ๆ ที่จะสามารถนำมาเป็นเกราะป้องกันให้กับเงินเก็บก้อนสำคัญ ทั้งเกราะที่เหมาะกับการใช้งานระยะสั้น ระยะยาว และระยะฉุกเฉิน ดังต่อไปนี้

เปรียบเทียบวิธีการเก็บเงินให้ลูกน้อย ส่วนที่.1 e1713326526150
เปรียบเทียบวิธีการเก็บเงินให้ลูกน้อย ส่วนที่ 2

จากตารางจะเห็นได้ว่า เครื่องมือการเงินแต่ละอย่างจะให้ผลประโยชน์สำหรับการออมเงินที่แตกต่างกัน รวมถึงบทลงโทษหากผิดเงื่อนไขหรือวินัยการออมแตกต่างกันไป

ซึ่งมีทั้งการออมแบบการสมัครใจเก็บเงินระยะสั้นอย่างการฝากเงิน จนถึงการบังคับเก็บเงินระยะยาวอย่างกองทุนลดหย่อนภาษี (ที่มีโอกาสทำให้เงินเก็บเติบโตได้เอง) และ 

การเปลี่ยนการเก็บเงินให้เป็นรายจ่ายประจำอย่างประกัน  (ที่ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวอย่างมาก แต่ก็ให้ผลตอบแทนเป็นการปกป้องความเสี่ยงต่าง ๆ RISKs ที่มากกว่าเงินที่กำลังเก็บอยู่)

ซึ่งจะสามารถสรุปเครื่องมือการเงินต่าง ๆ ในแง่มุมของ วินัย ความเด็ดเดี่ยว และความเหมาะสมในการเก็บเงินอย่างเช่น เพื่อให้เป็นทุนการศึกษาลูก ได้ดังตารางต่อไปนี้

เปรียบเทียบโอกาสสำเร็จของการเก็บเงินให้ลูกน้อย ส่วนที่1 e1713326586466
เปรียบเทียบโอกาสสำเร็จของการเก็บเงินให้ลูกน้อย ส่วนที่2

จากมุมมองความเด็ดเดี่ยวนี้เอง จะเริ่มทำให้เห็นถึงความสำคัญของเครื่องมือการเงินอย่าง ประกันชีวิตตลอดชีพ กับ ประกันโรคร้ายเบี้ยคงที่ มากยิ่งขึ้น ในแง่มุมที่เป็น เกราะป้องกันเงินออม ที่ไม่ใช่แค่เพียงจาก WANTs แต่รวมไปถึง RISKs ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือการเงินอื่น ๆ อีก ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจและกำหนดหน้าที่หรือเป้าหมายของเงินให้ชัดเจนให้เรียบร้อย ก่อนที่จะเลือกเครื่องมือการเงินที่ใช่มาช่วยทุ่นแรงเงินก้อนนั้นได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกับเครื่องมือการเงินที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ 

ซึ่งจะสามารถสรุปเครื่องมือการเงินลดหย่อนภาษีต่าง ๆ และลำดับการใช้งาน ในแง่มุมหน้าที่ที่เหมาะสมกับเครื่องมือการเงินนั้น ๆ โดยตรง ได้ดังเคล็ดลับสำคัญด้านล่างนี้

เครื่องมือการเงินลดหย่อนภาษี สำหรับการออมและวางแผนเกษียณ

ครอบครัววางแผนการเงินและภาษี 1 release your risk
เงินแต่ละก้อนที่ออมนั้น หากไม่กำหนดวัตถุประสงค์ของเงินออมให้ชัดเจน และไม่ออมในเครื่องมือการเงินที่ถูกวัตถุประสงค์แล้ว จะทำให้ต้องออมเงินเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นเดียวกับเครื่องมือการเงินที่ตรงข้ามกับการออม อย่าง.. 
เครื่องมือสำหรับการกู้ยืมเงิน ที่..
  • หากคุณไม่ได้ระบุวัตุประสงค์ว่าเงินที่กู้มานี้จะเอาไปทำอะไร ระยะเวลาคืนเงินเท่าไร คุณก็จะได้เงินมาในรูปของบัตรกดเงินสดที่ดอกเบี้ยสูงถึง 25% ต่อปี (ทำให้เงินต้นที่กู้มามีโอกาสโดนดอกเบี้ยท่วมได้ไม่ยาก)
  • แต่ถ้าหากคุณเริ่มระบุวัตถุประสงค์ เช่น จะกู้เงินมารวบหนี้บัตรกดเงินสด และผ่อนจ่ายภายใน 36 เดือน คุณก็จะได้เงินมาในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลที่ดอกเบี้ยจะลดลงมาเหลือที่ 15%-22% ต่อปี (ทำให้รู้ชัดเจนว่าจะโดนดอกเบี้ยเท่าไรในระยะเวลาเท่าใด)
  • หรือหากคุณระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าจะนำเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ และกำหนดระยะเวลาผ่อนที่ชัดเจน คุณก็จะได้มาเงินมาในรูปแบบสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยลดลงมาเหลือที่ 3% - 7% ต่อปี (ทำให้สามารถโปะหนี้ลดดอกเบี้ยลงได้ง่ายขึ้นอีก)
เครื่องมือการเงินสำหรับออมก็ไม่ต่างกับเครื่องมือการกู้ยืมเงินนี้ ที่..
  • หากคุณระบุวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนว่าเงินที่ออมจะเอาไปทำอะไรและตอนไหน เครื่องมือออมที่ใช้ได้ ก็จะไม่พ้นฝากธนาคารที่ดอกเบี้ยประมาณ 1% ต่อปี
  • แต่ หากคุณระบุว่าเงินออมนี้จะเอาไว้ใช้ในอีก 15-20 ปีข้างหน้าตอนอายุ 55 ปี ก็จะสามารถเลือกเครื่องมือการเงินที่ลดหย่อนภาษีได้ และอัตราผลตอบแทนอาจสูงได้ถึง 10% ต่อปี โดยเฉพาะหากรวมกับเงินคืนภาษี
  • หรือ หากคุณระบุชัดเจนว่าเงินออมนี้จะใช้เพื่อเป็นเงินชดเชยหากป่วยเป็นโรคร้ายแรงและต้องเลิกทำงานเพื่อรักษาตัวเท่านั้น ก็จะทำให้เงินที่คุณต้องออมน้อยลงอย่างมาก โดยหากเป็นโรคร้ายแรงจะได้รับเงินมากกว่า 5000% ของเงินที่ออมปีแรกเลยทีเดียว  
ดังนั้นเพื่อที่จะสามารถได้ผลประโยชน์จากการออมให้มากที่สุด การเลือกใช้เครื่องมือการเงินสำหรับออมให้เป็นจึงสำคัญมาก และที่สำคัญบางเครื่องมือการเงินจำเป็นต้องรีบใช้ลำดับแรก ๆ เพราะหากเริ่มใช้ช้า เครื่องมือนี้อาจหายไปจากรายการเครื่องมือที่สามารถเลือกใช้ได้แล้ว
มีเงินใช้ตอนเกษียณ release your risk
เงินออมหลายก้อนที่ใช้ในการวางแผนเกษียณ จะมีหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ทั้งส่งต่อคนข้างหลัง เป็นเงินชดเชยเมื่อเป็นโรคร้าย เป็นค่ารักษาพยาบาลตลอดชีพ เป็นค่าเบี้ยประกันสุขภาพ เป็นค่าใช้จ่ายส่วน NEEDs เป็นค่าใช้จ่ายส่วน WANTs กับเงินเฟ้อ ยังไม่รวมถึงเป็นค่าความบันเทิง (ที่สามารถใช้การลงทุนอื่น ๆ ที่เสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมได้) และค่าปิดหนี้หากมี
ด้วยหน้าที่ของเงินออมที่หลากหลายนี่เอง จึงทำให้การวางแผนเกษียณนั้น จำเป็นต้องใช้เครื่องมือการเงินที่หลากหลายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ไปด้วย
สรุปรวม Time Segmentation
จากรูปจะเห็นได้ว่าการวางแผนเกษียณนั้น จะใช้บำนาญจากประกันบำนาญหรือประกันสังคมสำหรับค่าใช้จ่าย NEEDs ตอนเกษียณ (รวมถึงอาจแบ่งมาช่วยจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพบางส่วนได้ด้วย)
และใช้กองทุนรวมสำหรับค่าใช้จ่าย WANTs กับค่าเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ ที่แบ่งพอร์ตออกเป็น 3 พอร์ต เพื่อปรับความเสี่ยงกับผลตอบแทนคาดการณ์ของแต่ละพอร์ตให้ตรงกับเวลาที่จะเริ่มใช้เงินตอนเกษียณ
หรือ เป็นการจัดพอร์ต Core-Satellite แบบ Time Segmentation คือ ใช้เวลามาแบ่งว่าอะไรเป็น Core อะไรเป็น Satellite อย่างชัดเจน (ซึ่งจะแตกต่างกับ Core-Satellite แบบทั่วไปที่จะสมมติตัวเลขสัดส่วนระหว่าง Core และ Satellite ขึ้นมาเอง)
โดยพอร์ต Core จะเป็นเงินที่รีบใช้หรือกำลังใช้อยู่จะต้องเสี่ยงน้อย ส่วนพอร์ต Satellite จะเป็นเงินที่ไม่รีบใช้จะปรับเป็นเสี่ยงมาก เพราะมีระยะเวลาที่นานพอที่จะเฉลี่ยความเสี่ยงให้ลดลงได้
และในช่วงก่อนเกษียณจะมีการทำทั้ง ประกันชีวิตทุพพลภาพ/ประกันโรคร้ายแรง/ประกันสุขภาพ/ประกันชดเชยรายได้ เพื่อป้องกันเหตุร้ายต่าง ๆ ที่จะมาโจมตีการออมในประกันบำนาญและกองทุนรวมลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ หากมีเงินเหลือจากการใช้เครื่องมือการเงินเหล่านี้แล้ว ก็จะสามารถนำไปลงทุนความเสี่ยงสูงได้อย่างเต็มที่และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดใด ๆ ขึ้น (เพราะมีแผนเกษียณที่รองรับไว้แล้ว)
โดยเงินลงทุนเสี่ยงส่วนนี้จะเน้นให้เป็นค่าความบันเทิง FUNs ตอนเกษียณโดยเฉพาะ เพราะถ้าเกิดผลตอบแทนไม่ได้ตามที่คาดหวัง ผลกระทบที่ร้ายแรงสุดจะมีเพียงการที่ต้องลดความบันเทิงลงเท่านั้น
ทั้งหมดนี้เองจะเห็นได้ว่า ไม่สามารถใช้เพียงเครื่องมือเดียวตอบโจทย์ทุกอย่างได้ เพราะหากใช้เพียงเครื่องมือเดียวมักจะต้องจ่ายแพงกว่า และเสี่ยงกว่าเสมอ
เช่น การเน้นใช้เครื่องมือลงทุนอย่างเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงในเวลาที่เงินกำลังเติบโตให้ได้ตามเป้าหมาย เสี่ยงที่เงินจะถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ เสี่ยงเจอตลาดผันผวนไม่เป็นตามที่คำนวณ เสี่ยงต้องเตรียมกันเงินเผื่อไว้จำนวนมากทั้งที่ไม่รู้ว่าจะได้ใช้ตอนไหน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมจึงจำเป็นต้องเจาะลึกวิธีการเลือกเครื่องมือการเงินตั้งแต่ข้อ 3-7 ด้วยเพราะเพื่อท้ายที่สุดแล้ว จะสามารถนำเครื่องมือทั้งหมดมาประสานใช้ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และลดเงินที่ต้องออมเองลงได้อย่างมากนั่นเอง
นอกจากนี้สิ่งที่ควรวางแผนให้เครื่องมือการเงินช่วยอีกอย่าง คือ การทำงานโดยอัตโนมัติ เช่น การจ่ายบำนาญจากกองทุนหรือประกันบำนาญโดยอัตโนมัติ การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพโดยอัตโนมัติ การส่งต่อมูลค่ากองทุนรวมให้คนข้างหลังอัตโนมัติ การเตือนให้ปรับพอร์ตโดยอัตโนมัติ
เพราะพอ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการตัดสินใจเรื่องการเงินลดลง จึงจำเป็นที่ต้องมีกลไกป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดนี้ ด้วยการทำงานอย่างอัตโนมัติของเครื่องมือการเงิน
และสุดท้ายสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ จะต้องมีเครื่องมือคำนวณที่จะช่วยในการวางแผนเกษียณทั้งหมด รวมถึงช่วยในการเปรียบเทียบเลือกเครื่องมือการเงินที่ดีที่สุดในแต่ละด้านออกมา
การวางแผนเกษียณจึงมีความซับซ้อนสูง ส่วนหนึ่งด้วยเพราะข้อมูลที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจจำนวนมากนี้เอง แต่แน่นอนว่าการเสียเวลาในการพิจารณาข้อมูลเหล่านี้นั้นคุ้มค่า เพราะจะช่วยให้ประหยัดเงินที่ต้องออมได้หลายล้านบาทอย่างแน่นอน
1.เหตุการณ์ Death release your risk
หากหน้าที่ของเงินออมส่วนนี้ คือ การออมเพื่อนำออกไปใช้ได้เฉพาะ การดูแลส่งต่อให้คนข้างหลังภายหลังการจากไปเท่านั้น โดยเงินที่ออมห้ามถูกนำไปใช้อย่างอื่น (หรือ หากถูกใช้จะต้องมีกลไกให้รีบนำกลับมาคืนให้เร็วที่สุด) รวมถึงสามารถส่งต่อเงินสดตรงไปยังคนข้างหลังได้โดยไม่ต้องผ่านกองมรดก เจ้าหนี้ หรือ สรรพากร
ที่สำคัญที่สุด คือ เงินที่คนข้างหลังจะได้ ต้องมากกว่า เงินที่ได้ออมไปแล้วหลายเท่า ในทันทีที่เริ่มออม (ไม่รวมเงินคืนภาษีที่จะได้ภายหลังการลดหย่อนภาษี) ทำให้เครื่องมือที่สามารถทำแบบนี้ได้ ในปัจจุบันจะมีเพียงประกันชีวิต เท่านั้น
แต่ปัญหาคือ ประกันชีวิตมีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งแบบชั่วเวลากับแบบตลอดชีพ ทั้งแบบมีเงินคืนเงินปันผลกับไม่มีเลย ทั้งแบบที่เป็นมรดกโดยตรงกับแบบตลอดชีพปกติ ทั้งแบบทุนชีวิตสูงไม่กี่ปีกับทุนชีวิตสูงจนถึงอายุเกษียณ ทั้งแบบชำระเบี้ยสั้นกับแบบชำระเบี้ยยาว ทั้งแบบควบโรคร้ายและไม่ควบโรคร้าย
ด้วยความหลากหลายนี้เอง หากไม่ทราบถึงวิธีเลือกประกันชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง อาจทำให้ได้ประกันชีวิตที่ผิดวัตถุประสงค์ และต้องจ่ายเงินมากขึ้นกว่าปกติเพื่อเป็นค่าฟังก์ชันเสริมเพิ่มเติมจากวัตถุประสงค์ได้
ดังนั้นการเปรียบเทียบแบบเจาะลึกในวิธีการเลือกประกันชีวิต จึงเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ รวมไปถึงการนำไปเปรียบเทียบกับเครื่องมือการเงินอื่น ๆ อย่างการลงทุนด้วย
เหตุการณ์ Critical Illness release your risk
หากหน้าที่ของเงินออมส่วนนี้ คือ การออมเพื่อนำออกไปใช้ได้เฉพาะ ค่าชดเชยรายได้ที่หายไประหว่างการรักษาโรคร้ายแรงที่เสี่ยงเป็นสูง และเงินชดเชยที่ได้ต้องมากกว่าเงินที่ออมไปหลายเท่า ในทันทีที่เริ่มออม กับต้องมีกลไกป้องกันการนำเงินออมไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์
หน้าที่ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้ "ประกันโรคร้ายแรง" กลายเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ที่สุด
เพียงแต่ว่า ระกันโรคร้ายแรงมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งคุ้มครองหลายโรคร้ายกับแบบคุ้มครองเฉพาะโรคร้ายเสี่ยงสูง มีทั้งเป็นแบบเบี้ยคงที่กับแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุ มีทั้งแบบที่คุ้มครองชีวิตร่วมด้วยกับแบบที่ไม่คุ้มครองชีวิต มีทั้งแบบที่เจอจบทีละกลุ่มโรคกับเจอจ่ายจบครั้งเดียว
จึงทำให้ประกันโรคร้ายแรง มีความซับซ้อนสูงมากในการเปรียบเทียบ โดยหากไม่เข้าใจถึงวิธีการเลือกประกันโรคร้ายแรงอย่างถูกต้อง ก็อาจพลาดถูกอัพเซลจนได้แบบประกันโรคร้ายแรงที่ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้เงินชดเชยที่ควรจะได้ลดลงไปหลายเท่าได้
3.เหตุการณ์ illness release your risk
หากหน้าที่ของเงินออมส่วนนี้ คือ การออมเพื่อนำออกไปใช้ได้เฉพาะ ค่าตรวจรักษาใน รพ.เอกชน ที่ไม่ต้องรอคิวนาน เช่น ค่าตรวจวินิจฉัยฉายภาพขั้นสูง ค่าห้อง ค่ารักษา ค่าผ่าตัด ค่าแพทย์ ค่าฟื้นฟู ค่าติดตามอาการ ค่าตรวจหายีนส์ที่เหมาะกับยา ค่ายา ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต (รวมถึงค่ารักษานวัตกรรมการรักษาแบบใหม่)
รวมถึงค่ารักษาโรคที่แพงและมีระยะเวลารักษาที่ยาวนาน อย่างกลุ่มโรคล้มละลาย เช่น มะเร็งได้ตลอดชีวิต หรืออย่างน้อยจนถึงอายุครบ 99 ปี
ที่สำคัญต้องให้สามารถทยอยออมเงินได้ แต่ยังคงได้รับความคุ้มครองค่ารักษามากกว่าเงินที่ออมไปหลายเท่าในทันทีที่เริ่มออม โดยหากอายุน้อยก็ออมน้อย หากอายุมากขึ้นก็ออมมากขึ้น ไม่เก็บเงินออมจำนวนมากหลายล้านบาทไปในทันที ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะใช้เมื่อใด
ด้วยหน้าที่ทั้งหมดนี้คงไม่มีเครื่องมือการเงินใดที่สามารถจะทำได้ หากไม่ใช่เครื่องมือ "ประกันสุขภาพส่วนบุคคล"
ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือการเงินที่ทรงพลังมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนเงินออมที่ไม่รู้ว่าต้องออมเท่าใดถึงจะเพียงพอต่อค่ารักษาทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้กลายมาเป็นเงินออมที่คาดการณ์ได้ผ่านตารางเบี้ยประกัน
อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ทรงพลังจนเกินไป เครื่องมือนี้จึงใช้ได้เฉพาะผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงเท่านั้น โดยเฉพาะก่อนทำประกัน 5 ปีและหลังทำประกัน 3 ปี รวมถึงมีเงื่อนไขข้อยกเว้นความคุ้มครองที่ต้องทำความเข้าใจให้เรียบร้อยก่อนทำประกัน ด้วยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการใช้ประกันสุขภาพอย่างจงใจให้เกิดเหตุขึ้นได้
"ทำให้ หากทำประกันสุขภาพด้วยความโลภหรือความตระหนี่ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจ จะมีแต่ข้อขัดแย้งตามมาภายหลังอย่างมากมาย"
ดังนั้นการจะเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองได้นั้น ควรต้องทำความเข้าใจอย่างน้อย สถิติการเป็นโรคต่าง ๆ ค่ารักษาโรคใดบ้างที่สูง หมวดความคุ้มครองต่าง ๆ หมวดใดจำเป็น หมวดใดไม่จำเป็นพอรับความเสี่ยงเองไว้ รวมถึงข้อจำกัดแต่ละหมวด ไปจนถึงวิธีการแถลงสุขภาพ วิธีการและเงื่อนไขการเคลม 
และที่สำคัญที่สุด คือ ควรต้องเข้าใจอย่างน้อยหนึ่งวิธี ที่จะจัดการกับเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณได้ ด้วยประกันสุขภาพจำเป็นที่สุดในตอนเกษียณ
ซึ่งการที่ประกันสุขภาพไม่เก็บเงินมากตอนอายุยังน้อย จึงเปิดช่องให้สามารถใช้เครื่องมือการเงินอื่น ๆ ที่เน้นออมให้เงินเติบโตขึ้นมาจ่ายค่าประกันสุขภาพในตอนเกษียณได้เอง และยังทำให้ลดค่าประกันสุขภาพลงไปได้มากกว่า 50%
4. เหตุการณ์ Retirement release your risk
หากเงินออมส่วนนี้มีหน้าที่ คือ การออมเพื่อนำออกมาใช้ได้เฉพาะ การสร้างรายได้ประจำปลอดภาษีตลอดอายุเกษียณหรือจนถึงอายุ 99-100 ปี โดยให้เงินรายได้รวมทั้งหมดมากกว่าเงินที่ออมไปหลายเท่า และไม่ต้องมีการบริหารหรือจัดการใด ๆ เพิ่มเติมอีก (เป็น Passive Income อย่างแท้จริง) 
รวมถึงไม่ต้องกังวลว่าเงินออมส่วนนี้จะถูกนำออกไปใช้จนหมดอย่างผิดวัตถุประสงค์ในทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเพราะตนเองหรือลูกหลาน หรือการถูกมิจฉาชีพเล่นงานตอนเกษียณ 
ทั้งยังสามารถเป็นเงินรายได้ประจำปราการด่านสุดท้ายสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น NEEDs หรือ แม้แต่ใช้ช่วยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ในตอนเกษียณอย่างมั่นคง
ซึ่งเครื่องมือที่สามารถทำแบบนี้ได้ในปัจจุบันจะมีเพียง บำนาญของข้าราขการ (ต้องเสียภาษี) และ บำนาญจากประกันบำนาญเท่านั้น (ไม่ต้องเสียภาษี) 
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นข้าราชการ ดังนั้นการเลือกเปรียบเทียบหาประกันบำนาญที่จะให้บำนาญได้มากที่สุดต่อเงินที่ออมไป จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก
เพียงแต่ประกันบำนาญเป็นหนึ่งในแบบประกันที่ถูกทำให้ไขว้เขวด้วยการตลาดมากที่สุด คือ ประกันบำนาญหลายแบบไม่ได้ทำหน้าที่เพียงให้บำนาญอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีการนำไปควบกับประกันชีวิต ควบกับประกันสะสมทรัพย์ หรือควบกับการมีเงินปันผลให้ด้วย
อีกทั้งยังมีวิธีการจ่ายบำนาญที่หลากหลาย ทั้งคงที่เท่าเดิมตลอดสัญญาหรือเพิ่มขึ้นตามปีที่กำหนด ทั้งอายุสุดท้ายที่รับบำนาญที่ไม่เท่ากัน ทั้งจำนานปีที่ชำระเบี้ยที่แตกต่างกันโดยมีทั้งสั้นและยาวจนถึงเกษียณ มีทั้งหากอายุสั้นจะขาดทุนและไม่ขาดทุน (แม้ตอนจากไปจะไม่รับรู้การขาดทุนแล้วก็ตาม)
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ หากเลือกแบบประกันบำนาญผิดไปจะต้องจ่ายเบี้ยแพงขึ้นกว่าที่ควรเป็นถึงหลักล้านบาทขึ้นไปได้ไม่ยาก ดังนั้นการเลือกเครื่องมือการเงินตัวนี้จึงต้องมีความเข้าใจที่มากพอสมควร และไม่ลืมวัตถุประสงค์ของทั้งเงินที่ออมและของประกันบำนาญนี้ ว่าคือ..
"การลดความเสี่ยงจากขาดรายได้หากอายุยืนมาก"
และช่วยแก้ไขปัญหาความยากที่จะทำธุรกิจใด ๆ ในตอนเกษียณ ซึ่งยากที่จะมีธุรกิจใด เพียงแค่ลงทุนเงินก้อนหนึ่งโดยไม่ต้องบริหารใด ๆ อีก แล้วจะสามารถสร้างรายได้ประจำปลอดภาษีแบบการันตีโดยไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจได้นานถึงอายุ 99 หรือ 100 ปี หรือมากกว่าเงินที่ลงทุนไปหลายเท่า ได้เหมือนกับเครื่องมืออย่างประกันบำนาญอีก
จ่ายเบี้ยประกันได้ตลอดสัญญา release your risk
หากหน้าที่ของเงินออมส่วนนี้ คือ การออมเพื่อนำออกมาใช้ได้เฉพาะ ค่าใช้จ่ายยามเกษียณส่วนที่เป็น WANTs (เพิ่มความสะดวกสบาย) ช่วยจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพ รวมถึงค่าชดเชยเงินเฟ้อที่ทยอยเพิ่มขึ้นแบบไม่แน่นอนในแต่ละปี
ที่สำคัญต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้สามารถนำเงินออมออกมาใช้ก่อนเกษียณ และยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีร่วมด้วย
แน่นอนว่าเครื่องมือการเงินที่ตอบโจทย์ที่สุดย่อมเป็น กองทุนรวมลดหย่อนภาษี ทั้ง RMF PVD และ กบข.
อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของกองทุนรวมเมื่อนำมาใช้เป็นบำนาญ คือ ยิ่งอายุยืนมากเท่าไรโอกาสที่กองทุนรวมที่คำนวณและเตรียมไว้จะไม่เพียงพอจะมีมากขึ้นเท่านั้น 
เนื่องด้วยความผันผวนของผลตอบแทนในแต่ละปีตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความเสี่ยงที่จะใช้เงินผิดวัตถุประสงค์โดยขายกองทุนรวมทั้งหมดออกมาไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้
กองทุนรวมจึงมักต้องจับคู่กับประกันบำนาญ เพื่อเติมเต็มข้อจำกัดกันและกัน โดยกองทุนรวมเน้นเติมเต็มการใช้เงินที่มากในช่วงแรกของการเกษียณ และประกันบำนาญช่วยเติมเต็มและการันตีการดูแลค่าใช้จ่ายในอายุช่วงท้ายของชีวิต
อย่างไรก็ตาม การใช้กองทุนรวมลดหย่อนภาษีเพื่อวางแผนเกษียณมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์อายุขัยได้ ต้องคอยระวังเรื่องความเสี่ยงของพอร์ตที่จะสูงไปเมื่อใกล้เกษียณหรือตอนเกษียณ มีการปรับพอร์ตที่ค่อนข้างยุ่งยากโดยเฉพาะ RMF
ยังไม่นับรวมการต้องคำนวณเผื่อค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มตามอายุ กับค่าใช้จ่ายดำรงชีพที่ทยอยเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี 
และการจัดสัดส่วนของพอร์ตว่าควรเป็น Core เท่าใด Satellite เท่าใด ทั้งก่อนและหลังเกษียณ กับกองทุนรวมที่มีให้เลือกจำนวนมาก
ที่สำคัญต้องมีการคำนวณอัตราความอยู่รอดของกองทุนรวมเมื่อใช้เป็นกองทุนบำนาญ ว่าอัตราความอยู่รอดในแต่ละอายุเป็นอย่างไร ยอมรับได้หรือไม่ ถ้ายอมรับไม่ได้ต้องทำอย่างไร
กับต้องคอยคำนวณเงินที่ควรลงทุนใหม่ตอนก่อนเกษียณ ถ้าหากมีบางปีที่ไม่ได้ลงทุนตามที่วางแผนไว้ เพราะ ไม่ได้มีกลไกบังคับให้ลงทุนเท่ากันทุกปีตามแบบการจ่ายเบี้ยของประกันบำนาญ   
ทั้งหมดนี้จึงทำให้การใช้กองทุนรวมลดหย่อนภาษีมาวางแผนเกษียณ โดยให้เป็นกองทุนบำนาญ จะต้องทำความเข้าใจในหลาย ๆ เรื่อง มากกว่าเพียงการเลือกกองทุนรวมและจัดสัดส่วนต่าง ๆ ตามที่วางแผนในตอนแรกเท่านั้น

สรุปลำดับ ก่อน-หลัง 
การเลือกใช้เครื่องมือการเงิน

สิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถเข้าใจลำดับการเลือกใช้เครื่องการออมได้ง่ายมากขึ้น คือ การมี Blueprint ที่แสดงให้เห็นลำดับการเลือกใช้เครื่องการเงินและการออมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุให้เห็นเป็นภาพตามได้ง่าย

ดังนั้นทางเราจึงได้จัดทำ Blueprint การใช้เครื่องมือการเงินในอุดมคติของแต่ละช่วงอายุขึ้นมา เพื่อทำให้การเลือกเครื่องมือการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น ดังต่อไปนี้

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก