หากดำเนินการ ออมเงิน และ กำหนดหน้าที่ของเงินออม ให้เป็นดังต่อไปนี้
- เงินที่ทำให้มั่นใจว่าจะมีรายได้ประจำปลอดภาษีไปตลอดชีวิตเกษียณ โดยไม่ต้องมีการบริหารหรือจัดการใด ๆ หรือต้องกังวลสภาวะเศรษฐกิจใด ๆ อีก
- เงินสำหรับดูแลค่าใช้จ่ายที่จำเป็น NEEDs ในชีวิตเกษียณ
- มีกลไกป้องกันไม่ให้นำเงินออมนี้ออกมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ทั้งตอนออมและตอนเกษียณ
- สามารถเลือกออมเงินคงที่เท่ากันทุกปีได้ เสมือนเป็นรายจ่ายประจำ เพิ่มวินัยทางการเงินและทำให้โอกาสออมสำเร็จสูง
จะทำให้เครื่องมือการออมที่เหมาะสมที่สุด คือ..
ประกันบำนาญ
ประกันบำนาญคืออะไร
ประกันบำนาญ เป็นเครื่องมือการเงินหนึ่งที่ทรงพลังอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบประกันบำนาญกับการทำธุรกิจตอนเกษียณแล้ว จะถือว่าประกันบำนาญเป็นธุรกิจที่การันตีรายได้ประจำได้ทุกปี และได้สูงสุดถึงอายุ 100 ปี โดยที่ไม่ต้องสนใจสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ต้องมีความรู้เพิ่มเติม ไม่ต้องดูแลบริหาร ไม่ต้องกลัวการถูกโกงใด ๆ และ ที่สำคัญรายได้ที่ได้ยังไม่ต้องนำมาคิดภาษีอีกด้วย
ทั้งยังเป็นประกันที่สามารถใด้ทั้งส่วนลดหย่อนที่เหลือจากประกันชีวิต (สิทธิ์ 100,000 บ.) และยังใด้สิทธิ์ลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญโดยตรงสูงสุดอีกถึง 200,000 บ. (ไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับการลงทุน RMF/SSF/PVD แล้วไม่เกิน 500,000)
อย่างไรก็ตาม ประกันบำนาญเป็นแบบประกันที่ "เปรียบเทียบยากมากที่สุด" เนื่องจากแต่ละบริษัทมีวิธีการคิดทุนประกันที่แตกต่างกัน มี % การจ่ายบำนาญต่อทุนประกันที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงความคุ้มครองชีวิตก่อนรับบำนาญและหลังรับบำนาญ ก็มีหลากหลายรูปแบบ ยังไม่นับว่าผู้ทำประกันมีโจทย์ที่ต้องการจำนวนเงินบำนาญไปคนละทาง จึงทำให้หากไม่เข้าใจและเลือกผิดไป อาจต้องเสียเงินมากขึ้นกว่าที่ควรเป็นถึงหลักล้านบาทขึ้นไปเลยก็ได้
และคือ สาเหตุสำคัญที่ต้องรีบทำความเข้าใจประกันบำนาญโดยเร็วรวมถึงควรมีการคำนวนเปรียบเทียบให้ภาพที่ชัดเจนได้ง่าย ดังต่อไปนี้
ประกันบำนาญเหมาะกับใคร
ผู้ที่ต้องการรายได้ประจำนำไปช่วยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ
ผู้ที่ต้องการรายได้ประจำที่นำไปใช้กับค่าใช้จ่ายส่วน NEEDs ตอนเกษียณ
ผู้ที่อายุใกล้เกษียณมากแล้ว การลงทุนอื่น ๆ รวมถึงทำธุรกิจจะเสี่ยงเกินไป และมีความซับซ้อนในแง่การจัดการกับดูแลเรื่องภาษีต่าง ๆ
ผู้ที่ไม่ต้องการให้มิจฉาชีพเล่นงานครั้งเดียวแล้วเงินเกษียณหมดทั้งบัญชี
จะเห็นได้ว่า โจทย์สำคัญจะอยู่ที่ รายได้ประจำปลอดภาษีปลอดการต้องดูแลจัดการบริหารใด ๆ และต้องป้องกันเงินเก็บทั้งหมดถูกนำออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ ซึ่งหากเลือกเครื่องมืการเงินอื่นที่พอจะใกล้เคียงกันจะเป็นกองทุนรวม แต่ก็จะยังไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก
เนื่องจากประกันบำนาญจะมีความปลอดภัยกว่ากองทุนรวมในแง่การการันตีรายได้ประจำที่จะได้อย่างแน่นอน และในแง่ของผลตอบแทน ประกันบำนาญนั้นหากดูแลสุขภาพจนยิ่งมีอายุมากอัตราผลตอบแทนต่อปี (IRR) จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามไปด้วย (ซึ่งแตกต่างกับกองทุนรวมที่ผลตอบขึ้นอยู่กับการจัดการ)
ดังตัวอย่าง แบบประกันบำนาญรูปด้านล่างนี้ของชายอายุ 45 ปี ที่หากมีอายุยืนถึงอายุ 99 ปี จะได้ผลตอบแทนจากบำนาญคิดเป็น IRR ที่ยังไม่รวมเงินคืนภาษีที่ 4.14%
และหากรวมเงินคืนภาษีที่ฐานภาษี 35% จะทำให้ได้ IRR สูงถึง 6.03% ซึ่งถ้าหากฝากธนาคารธนาคารจะต้องให้ดอกเบี้ยสูงถึง 7.09% ต่อปี เนื่องจากเงินฝากแบบปกติจะต้องมีการหักภาษีออก 15% ของดอกเบี้ยที่ได้ด้วย
จากกราฟจะเห็นได้ว่า บำนาญสะสมที่ได้รับจากประกันบำนาญของชาย อายุ 45 ปี จะเกินเบี้ยรวมที่จ่ายไปทั้งหมดที่ตอนอายุเกิน 69 ปี หากรวมเงินคืนภาษี แต่หากไม่รวมเงินคืนภาษีเงินบำนาญสะสมจะเกินเบี้ยรวมตอนอายุเกิน 74 ปี ซึ่งเป็นอายุที่น้อยกว่าอายุขัยเฉลี่ยในปัจจุบันของคนไทย (ปัจจุบันอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยคือ 77 ปี ชาย 73.5 ปี หญิง 80.5 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ)
ประกันบำนาญจึงมีประสิทธิภาพสูงมาก เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการลงทุนทำธุรกิจตอนเกษียณ หรือแม้แต่การลงทุนเองเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงถึง 4.14%-7.09% ต่อปี ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะหากไม่ต้องการบริหารหรือจัดการใด ๆ หรือ เป็น Passive Income อย่างแท้จริง
แก่นประโยชน์หลักของประกันบำนาญ
เพื่อแปลงเงินเก็บก้อนใหญ่ตอนใกล้เกษียณ ที่ปรกติแล้วจะใช้ได้เพียงถึงอายุ 75-80 ปี ให้สามารถใช้ได้จนถึงอายุ 99-100 ปี ได้ พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้สามารถนำเงินก้อนใหญ่ทั้งก้อนออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ "รายได้ประจำปลอดภาษี"
จุดเด่นของประกันบำนาญ
- จากรูปด้านบนจะเป็น ประกันบำนาญของชายอายุ 55 ปี แบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียวคุ้มครองถึงอายุ 100 ปี โดยจะเริ่มรับบำนาญปีละ 600,000 บ. (เดือนละ 50,000 บ. ไม่หักภาษีใด ๆ) ตั้งแต่อายุ 60 - 100 ปี
- โดยหากไม่ใช้ประกันบำนาญจะต้องมีเงินจริง ๆ สูงถึง 24.6 ล้านบาท หรือหากมีเงินเพียง 9.56 ล้าน จะหมดภายในอายุ 76 ปีเท่านั้น รวมถึงมีความไม่สบายใจกลัวการใช้เงินในแต่ละครั้ง
- หากไม่เคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจหรือลงทุนใด ๆ มาก่อนอย่างชำนาญ และจำเป็นต้องนำเงิน 9.56 ล้านนี้ไปลงทุนเพื่อให้ได้เงิน 24.6 ล้านบาทนั้น เป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างมาก และมีโอกาสที่เงินจะหมดไปตั้งแต่อายุ 60-65 ปีเท่านั้น
- ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดของประกันบำนาญ ในการแปลงเงินก้อนตอนใกล้เกษียณที่ไม่พอใช้ให้กลายเป็นเงินที่พอใช้โดยไม่ต้องบริหารหรือดูแลใด ๆ แถมยังปลอดภาษีอีกด้วย
ข้อจำกัดของประกันบำนาญ
- แม้ประกันบำนาญจะเสี่ยงขาดทุนน้อยกว่ากองทุนรวม แต่ก็มีโอกาสขาดทุนได้ในกรณีที่สิ้นอายุขัยก่อนที่จะถึงจุดคุ้มทุน และแบบประกันบำนาญโดยเฉพาะแบบที่ให้ IRR สูงบางแบบ จะคืนเงินให้ผู้รับผลประโยชน์น้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายไป (บางแบบจะคืนเบี้ยที่เหลือหลังหักบำนาญที่จ่ายไป)
- โดยจะเป็นการขาดทุนตอนที่จากไปแล้ว ไม่สามารถรับรู้การขาดทุนได้ ซึ่งจะแตกต่างกับการขาดทุนของกองทุนรวมที่สามารถรับรู้ตอนยังมีชีวิตอยู่ได้ (ทั้งนี้หากอายุขัยเกินค่าเฉลี่ย จะสามารถรับรู้ถึงบำนาญที่ได้รับต่อไปได้อย่างแน่นอน)
- บริษัทประกันจะถูกกำหนดจาก คปภ. ให้เบี้ยประกันบำนาญที่ได้รับมาจะสามารถนำไปลงทุนได้เฉพาะกับตราสารหนี้ที่ไม่เสี่ยงมากเท่านั้น โดยไม่สามารถลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงสูงใด ๆ ได้ ทำให้ผลตอบแทนของประกันบำนาญส่วนใหญ่ IRR จะเฉลี่ยอยู่ที่ 2%-3% ต่อปี แม้จะเริ่มทำประกันบำนาญตอนอายุน้อยก็ตาม
- แบบประกันบำนาญมีหลายแบบ ซึ่งส่งผลทั้งต่อทั้งเบี้ยประกันและบำนาญที่จะได้รับอย่างมาก โดยหากขาดความเข้าใจในแบบประกันบำนาญที่มากพอและการคำนวณที่ชัดเจน จะทำให้ต้องจ่ายเบี้ยเกินความจำเป็นกว่าหลักล้านบาทได้ไม่ยาก
- หากทำประกันบำนาญเพื่อลดหย่อนแล้วจะต้องมีวินัยจ่ายเบี้ยต่อเนื่อง และรอรับบำนาญตามกำหนดเวลาในกรมธรรม์เท่านั้น ห้ามเวนคืนหรือยกเลิกสัญญาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่ใช้ไปจะกลายเป็นโมฆะทั้งหมด และต้องการยื่นและประเมินภาษีใหม่ทั้งหมด
ปัจจัยพิจารณาทำประกันบำนาญ
ตอนอายุน้อยหรืออายุมาก
จากข้อจำกัดของแบบประกันบำนาญที่ผลตอบแทนเฉลี่ยแต่ละแบบอยู่ที่ประมาณ 2%-3% ต่อปีนั้น ซึ่งหากเป็นผลตอบแทนตอนทำประกันบำนาญอายุ 50-55 ปี จะค่อนข้างน่าสนใจเพราะเป็นการการันตีและต้องการความเสี่ยงต่ำ
แต่หากเป็นผลตอบแทนที่เริ่มทำประกันบำนาญตั้งแต่ตอนอายุ 20-30 ปีนั้น จะดูค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีเวลานานอีกหลาย 10 ปีกว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี จึงสามารถที่จะลงทุนที่เสี่ยงสูงกว่านี้ได้โดยการเฉลี่ยความเสี่ยงด้วยระยะเวลาที่นานมากนี้
ตรงจุดนี้เองจึงเป็นคำถามสำคัญว่า ประกันบำนาญควรจะทำตั้งแต่อายุน้อย ๆ หรือว่า ควรจะลงทุนนานกว่า 10 ปีขึ้นไปจนได้เงินก้อนใหญ่แล้วค่อยทำประกันบำนาญตอนอายุมาก เช่น อายุ 50-55 ปี ดีกว่ากัน แล้วจะมีประกันบำนาญแบบใดที่สาสมารถเปิดรับสมัครได้นานกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยไม่มีการปิดแบบไปก่อนหรือไม่
ซึ่งการจะได้คำตอบมานั้นจำเป็นต้องเข้าใจและพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้ร่วมด้วย
1. ผลตอบแทนประกันบำนาญ
แต่ละแบบแต่ละอายุ
ประกันบำนาญแต่ละแบบจะแตกต่างกันตามแต่ละอายุที่เริ่มทำประกันบำนาญ ดังตัวอย่างการเปรียบเทียบแบบประกันบำนาญในส่วน "อัตราผลตอบแทนต่อปี" "เบี้ยรวมทั้งสัญญา" และ "จำนวนปีที่รับบำนาญสะสมเกินเบี้ย" ของผู้ชายอายุ 30-55 ปี ที่รับบำนาญปีละ 600,000 บ. (เดือนละ 50,000 บ.) ตั้งแต่อายุ 60-99 ปี ต่อไปนี้
ตารางที่ 1 : จะเป็นประกันบำนาญแบบชำระเบี้ยครั้งเดียวเหมือนกัน และรับบำนาญจนถึงอายุ 100 ปี กับ 99 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าแบบที่ 1 จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบที่ 2 มาก จึงทำให้เบี้ยรวมทั้งสัญญาแบบที่ 1 น้อยกว่าแบบที่ 2 หลายล้านบาท และที่สำคัญช่วงอายุ 50-55 ปี แนวโน้ม IRR ของแบบที่ 1 จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้นด้วย
ตารางที่ 2 : จากตารางจะเป็นประกันบำนาญแบบชำระเบี้ยจนถึงอายุ 60 ปี และรับบำนาญจนถึงอายุ 99 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าแบบที่ 1 จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแบบที่ 2 อย่างชัดเจน จึงทำให้เบี้ยรวมทั้งสัญญาแบบที่ 1 น้อยกว่าแบบที่ 2 หลายล้านบาท และที่สำคัญช่วงอายุ 50-55 ปี แนวโน้ม IRR ของแบบที่ 1 จะยังค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแบบที่ 2 ที่ IRR ลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น
จากทั้ง 2 ตาราง จะเห็นได้ชัดเจนว่า หากประกันบำนาญแบบที่ 1 สามารถเปิดรับสมัครได้ตลอดไป หรือ เปิดได้นานกว่า 10 ปีขึ้นไปได้ ย่อมทำให้การวางแผนลงทุนตั้งแต่อายุ 30 ปีจนถึงอายุ 55-60 ปี จะน่าสนใจกว่าการฝากเงินไว้ในประกันบำนาญตั้งแต่อายุ 30 มาก
2. อายุน้อยเลือก ประกันบำนาญ
หรือ กองทุนรวม
จากทั้ง 2 ตารางด้านบน จะเห็นได้ชัดเจนว่า หากประกันบำนาญแบบที่ 1 สามารถเปิดรับสมัครได้ตลอดไป หรือ เปิดได้นานกว่า 15-25 ปีขึ้นไปได้ ย่อมทำให้การวางแผนลงทุนตั้งแต่อายุ 30-40 ปีจนถึงอายุ 55-60 ปี จะน่าสนใจมากกว่าการทำประกันบำนาญ ดังการเปรียบเทียบต่อไปนี้
- จากข้อมูลตารางที่ 1 : ชำระเบี้ยครั้งเดียว vs ลงทุนครั้งเดียว ของชายอายุ 30
- อายุ 30 จ่ายเบี้ย -4,293,350 >> อายุ 55 เบี้ย -9,558,300 จึงเหมือนเบี้ยอายุ 30 จะเพิ่มขึ้น 3.25% ต่อปี ไปเรื่อย ๆ จนเท่าเบี้ยอายุ 55 ผ่านประกันบำนาญแบบที่ 1 ที่ไม่ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง แต่การันตีผลตอบแทน
- อายุ 30 ลงทุน -1,761,109 >> อายุ 55 นำมาจ่ายเบี้ย -9,558,300 โดยสมมติเงินลงทุนเติบโตขึ้น 7% ต่อปี จากอายุ 30 ไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 55 นี้ จะผ่านการลงทุนในกองทุนรวมแบบ Aggressive Global Asset Allocation ที่มีการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ แต่ไม่การันตีผลตอบแทน และไม่การันตีว่าประกันบำนาญนี้จะยังเปิดรับสมัครอยู่เมื่อผ่านไป 25 ปี
- จากข้อมูลตารางที่ 2 : ชำระเบี้ยจนถึงอายุ 60 vs ลงทุนจนถึงอายุ 60 ของชายอายุ 30
- เริ่มจ่ายเบี้ยอายุ 30-60 เบี้ยรวม -6,865,500 >> อายุ 55-60 เบี้ยรวม -10,448,000 โดยเบี้ยของอายุ 30-60 จะเพิ่มขึ้น 2.59% ต่อปี ไปเรื่อย ๆ จนมูลค่าเบี้ยรวมจะเท่ากับเริ่มทำตอนอายุ 55 พอดี ผ่านประกันบำนาญแบบที่ 1 ที่ไม่ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูง แต่การันตีผลตอบแทน
- เริ่มลงทุนอายุ 30-60 ลงทุนรวม -3,101,100 >> อายุ 55-60 นำมาจ่ายเบี้ย -10,448,000 โดยสมมติเงินลงทุนเติบโตขึ้น 7% ต่อปี จากอายุ 30 ไปเรื่อย ๆ พร้อมแบ่งจ่ายเบี้ยตอนอายุ 55 - 60 ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมแบบ Aggressive Global Asset Allocation ที่มีการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูงได้ แต่ไม่การันตีผลตอบแทน และไม่การันตีว่าประกันบำนาญนี้จะยังเปิดรับสมัครอยู่เมื่อผ่านไป 25 ปี
จากข้อมูลแบบประกันบำนาญของทั้ง 2 ตารางจะเห็นได้ว่า การเริ่มทำประกันบำนาญเร็วหรือตั้งแต่อายุ 30 ปี จะเหมือนเป็นการฝากเงินไว้ในประกันบำนาญ จนกระทั่งเงินเติบโตเท่ากับเบี้ยอายุ 55 ปี แบบการันตี เพียงแต่ได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่า การเลือกจะลงทุนพอสมควร (ไม่จะไม่การันตี) ซึ่งส่งผลให้การลงทุนเองจะลดเงินที่ต้องใช้ลงได้อย่างมาก
อย่างไรก็ตามหากในอนาคต 25 ปีต่อมา ไม่มีประกันบำนาญแบบที่ 1 แล้ว มีแต่ประกันบำนาญแบบใหม่ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงหรือน้อยกว่า ประกันบำนาญแบบที่ 2
นั่นจะส่งผลให้จากเป้าหมายที่ต้องลงทุนให้ได้ -9,558,300 บ. หรือ -10,448,000 บ. จะถูกเพิ่มเป็นต้องให้ได้มากกว่า -15,000,000 บ. หรือ -14,882,400 บ. หรือ จำเป็นต้องให้ได้อัตราผลตอบแทนต่อปีมากกว่า 9% -10% จากเดิม 7% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการลดความเสี่ยงลงให้ดีเมื่อใกล้ที่ถึงอายุ 55 ปี เพื่อป้องกันตลาดขาลงตอนที่จะเริ่มทำประกันบำนาญพอดี
ทั้งหมดนี้จึงทำให้ตัดสินใจได้ยากอยู่ดีว่า ตอนอายุน้อยควรจะ เลือกทำประกันบำนาญก่อน หรือ เลือกลงทุนก่อน โดยหากเลือกทำประกันบำนาญก่อนจะจำเป็นต้องใช้เงินมากกว่า แต่หากเลือกลงทุนก่อนก็ต้องเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน และแบบประกันบำนาญที่ดี ๆ ไม่รู้ว่าจะปิดตัวลงเมื่อใด รวมไปถึงความเสี่ยงในวินัยของการลงทุน
3. ต้องบังคับออม หรือ
ฝึกวินัยออมด้วยตนเอง
อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา คือ วินัยการออมและการไม่นำเงินที่ออมออกมาใช้ก่อนกำหนด ซึ่งมักเป็นปัจจัยสำคัญที่มักทำให้ประกันสะสมทรัพย์ออมเงินได้มากกว่าการลงทุน
เนื่องจากประกันสะสมทรัพย์ (รวมถึงประกันบำนาญ) จะเปลี่ยนการออมเงินให้เป็นเป็นรายจ่ายประจำในรูปแบบของเบี้ยประกันที่สรุปเบี้ยชัดเจนและเป้าหมายเงินที่จะได้ชัดเจน รวมไปถึงบทลงโทษการขาดทุนและการมีปัญหากับสรรพากรย้อนหลัง หากยกเลิกทำประกันก่อนเวลาที่กำหนด จึงทำให้เหมือนเป็นการบังคับออมนั่นเอง
ในขณะที่การลงทุนจะไม่มีกลไกใดบังคับให้ต้องลงทุนทุกปี หรือ ลงทุนเท่ากันทุกปี โดยสิ่งที่พอทำได้จะเป็นการทำ DCA ในกองทุน RMF เพื่อป้องกันไม่ให้นำเงินออกมาใช้ก่อนอายุ 55 ปี แต่ก็จะมีข้อจำกัดอยู่ที่สิทธิการซื้อ RMF และไม่มีการเก็บเงินลงทุน DCA ย้อนหลังเมื่อไม่ได้เตรียมเงินไว้ให้หักบัญชี
รวมไปถึง หากต้องการลงทุนเพื่อซื้อประกันบำนาญตอนอายุ 55 ปี การคำนวณเป้าหมายจะเป็นไปในแบบคร่าว ๆ ไม่แน่นอน โดยอาจต้องยึดประกันบำนาญแบบที่ให้ผลตอบแทนน้อยในปัจจุบันเป็นตัวตั้งแทนแบบที่ให้ผลตอบแทนมาก เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนน้อยเกินไป
ส่งผลให้การจะเลือก ประกันบำนาญ หรือ ลงทุนแล้วค่อยทำประกันบำนาญ จะต้องพิจารณาจากวินัยส่วนตัวหรือแม้แต่ของครอบครัวร่วมด้วย เพราะอย่างนั้นโอกาสการลงทุนต่อเนื่องแบบไม่บังคับจะค่อนข้างยากมาก
4. แนวโน้มผลตอบแทน
ประกันบำนาญในอนาคต
วัฏจักรทางเศรษฐกิจในรูปแบบ Cycle นี้ ทำให้ไม่สามารถฟันธงได้ว่าแบบประกันบำนาญที่ให้ผลตอบแทนดีจะอยู่ในช่วงอายุ 55 ปีที่ตัดสินใจเริ่มทำประกันบำนาญพอดีหรือไม่ เพราะถ้าหากโชคร้ายตอนอายุ 55 ปี อยู่ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาลงพอดี ประกันบำนาญที่ให้ผลตอบแทนสูงอาจจะไม่มีเลยก็ได้
รวมถึงด้วยเงื่อนไขการทำบัญชีของประกันบำนาญที่ถูกครอบด้วยเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี และการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำบัญชีสำหรับธุรกิจประกันที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไปนั้น จะทำให้บริษัทประกันมีต้นทุนสูงขึ้นมากสำหรับแบบประกันบำนาญ และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประกันบำนาญไม่สามารถที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงมากได้
ดังนั้นถ้าปัจจุบันมีแบบประกันบำนาญที่สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า 4% ต่อปีได้ นั่นย่อมเป็นแบบประกันบำนาญที่เสี่ยงที่จะถูกปิดในเวลาอันใกล้ได้
5. บทสรุปควรเลือกอย่างไร
ในโลกของการเงินการตัดสินใจเลือกเพียงด้านใดด้านหนึ่งมักจะเสี่ยงเกินไปเสมอ ดังนั้นการเลือกใช้เพียงเครื่องมือประกันบำนาญอย่างเดียว หรือ การเลือกลงทุนอย่างเดียวแล้วค่อยทำประกันบำนาญภายหลัง อาจจะไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวเท่านั้น
และด้วยแบบประกันบำนาญเองมีทั้งแบบจ่ายสั้น 1-5 ปี ที่ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องหาเงินจำนวนมากมาจ่ายเบี้ยทุกปี และแบบจ่ายยาวทุกปีถึงอายุ 60 ปี ที่เป็นการทำสัญญาเพื่อยึดผลตอบแทนสูงนี้ไว้ก่อนด้วยเบี้ยประกันที่น้อยกว่าแบบจ่ายสั้นมาก
รวมไปถึงเงินบำนาญเองที่ปกติแล้วจะเน้นเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น หรือ NEEDs นั้น ยังสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันดังนี้
- 1. ESSENTIAL NEEDs (จำเป็นจริงๆ) : เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในส่วน ค่าที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหารอย่างน้อยที่สุด ซึ่งความจำเป็นส่วนนี้จำเป็นที่ต้องได้ประกันบำนาญที่มั่นใจจริง ๆ ว่าจะจ่ายเบี้ยไว้มาดูแล รวมถึงมั่นใจว่าจะได้ประกันบำนาญที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด
- 2. NORMAL NEEDs (จำเป็นตามปกติ) : เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรองลงมา ซึ่งจะรวมไปถึง ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ค่าเครื่องใช้ประจำภายในบ้าน ค่าบำรุงซ่อมแซมบ้าน ค่ายาสามัญประจำบ้าน ซึ่งความจำเป็นส่วนนี้แม้ชีวิตจะขาดได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรขาด ดังนั้นจึงเหมาะกับประกันบำนาญที่สามารถทยอยซื้อสะสมตามกำลังทรัพย์พิเศษ หรือ โบนัสพิเศษ ของปีนั้น ๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีทุกปี
- 3. INFLATION of NEEDs (เผื่อเงินเฟ้อ) : เป็นค่าเงินเฟ้อที่เผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายทั้ง ESSENTIAL และ NORMAL NEEDs ซึ่งเงินเฟ้อนี้จะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี (ปีไหนไม่เพิ่มควรเก็บออมเงินบำนาญส่วนนี้ไว้) ประกอบกับเมื่ออายุมากขึ้นค่าใช้จ่ายทั้ง ESSENTIAL และ NORMAL NEEDs มักจะลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้น NEEDs ส่วนนี้จึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาวเพื่อเตรียมเงินก้อนใหญ่ไว้ซื้อประกันบำนาญเพิ่มตอนอายุ 55 ปีทีเดียว ที่มีความไม่แน่นอนอยู่ทำให้อาจจะได้บำนาญสูงกว่าเป้าหมาย ตามเป้าหมาย หรือน้อยกว่าเป้าหมายก็ได้ แต่อย่างน้อยหากไม่ได้ตามเป้าหมายก็จะไม่ส่งผลต่อ NEEDs ทั้งสองมากนัก
จากการแบ่งหน้าที่ของเงินบำนาญออกเป็น 3 หน้าที่ รวมกับแบบประกันบำนาญทั้งจ่ายเบี้ยสั้นและเบี้ยยาวนี้เอง จึงจะสามารถฃได้แนวทางในการเลือกใช้ประกันบำนาญ ดังตัวอย่างความต้องการบำนาญเดือนละ 50,000 บ. สำหรับค่าใช้จ่ายส่วน NEEDs ต่อไปนี้
- ส่วนที่ 1 บำนาญ ESSENTIAL NEEDs เดือนละ 20,000 บ. : ทำแบบประกันบำนาญแบบจ่ายเบี้ยยาวในสัดส่วนที่คำนำถึงสภาพคล่องที่สามารถจะจ่ายเป็นรายจ่ายประจำได้ไหวในทุกปี เช่นในที่นี้มั่นใจว่าเบี้ยปีละ -91,540 บ. รวมเบี้ย -2,746,200 บ. จะสามารถออมได้
- ส่วนที่ 2 บำนาญ NORMAL NEEDs เดือนละ 15,000 บ. : แบบจ่ายเบี้ยสั้นจะทำต่อเมื่อมีเงินรายได้พิเศษไม่ประจำเพิ่มขึ้นมา และปีนั้น ๆ มีประกันบำนาญที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งสามารถทยอยทำสะสมไว้ได้
- อายุ 31-35 มีเงินโบนัสปีละ 1-2 แสนไม่แน่นอน สะสมนำมาจ่ายเบี้ยครั้งเดียว -379,738 บ. ได้บำนาญเดือนละ 3,750 บ.
- อายุ 36-40 มีเงินโบนัสปีละ 1-2 แสนไม่แน่นอน สะสมนำมาจ่ายเบี้ยครั้งเดียว -443,885 บ. ได้บำนาญเดือนละ 3,750 บ.
- อายุ 41-45 มีเงินโบนัสปีละ 1-2 แสนไม่แน่นอน สะสมนำมาจ่ายเบี้ยครั้งเดียว -518,626 บ. ได้บำนาญเดือนละ 3,750 บ.
- อายุ 46-50 มีเงินโบนัสปีละ 1-2 แสนไม่แน่นอนสะสมนำมาจ่ายเบี้ยครั้งเดียว -605,465 บ. ได้บำนาญเดือนละ 3,750 บ.
- ส่วนที่ 3 บำนาญ INFLATION of NEEDs เดือนละ 15,000 บ. : แบ่งเงินลงทุนที่ไหวมา DCA อายุ 30-54 จำนวน -22,385 บ.ต่อปี รวมเงินลงทุน 649,165 บ. คาดหวังผลตอบแทนที่ 7% ต่อปี เพื่อซื้อประกันบำนาญตอนอายุ 55 ปีในจำนวนเบี้ยประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อให้ได้บำนาญเดือนละ 15,000 บ.
ทำให้เห็นว่า การเลือกเครื่องมือการเงินหากเลือกให้เหมาะกับ ธรรมชาติของเครื่องมือการเงิน ย่อมจะทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด และยังทำให้ไม่ขาดสภาพคล่องเกินไปได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามนอกจากการวิธีการใช้งานประกันบำนาญให้เหมาะกับหน้าที่แล้ว สิ่งสำคัญต่อมาที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ การคัดเลือกหาแบบประกันบำนาญที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงที่สุดได้
ซึ่งการจะเลือกจะแบบประกันบำนาญที่ให้ผลตอบแทนสูงได้นั้น อย่างน้อยจะต้องเข้าใจรูปแบบของประกันบำนาญทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนดังต่อไปนี้
รูปแบบของประกันบำนาญ
1. ประกันบำนาญให้บำนาญคงที่ตลอดสัญญา
นี้คือต้นแบบของประกันบำนาญที่ ไม่ซับซ้อนและตรงไปตรงมามากที่สุด (ซึ่งบริษัทประกันมักไม่ชอบ เพราะทำให้เปรียบเทียบกันได้ง่าย และผู้ทำประกันเลือกซื้อเพราะความคุ้มค่า มากกว่าจะเลือกซื้อเพราะ Branding ของทั้งบริษัทและตัวแทน)
ส่วนใหญ่แบบประกันนี้จะมี IRR (อัตราผลตอบแทนต่อปี) สูงที่สุด โดยเฉพาะแบบอายุสัญญายาวถึงอายุ 99 หรือ 100 ปี แบบประกันนี้จะ เหมาะกับผู้ที่มีเป้าหมายชัดเจนเรื่องบำนาญ และมีการใช้เครื่องมือประกันชีวิตแยกต่างหากเรียบร้อย
จากตารางของ ชายอายุ 45 ปี จะเห็นได้ว่า แบบนี้จะมีการคุ้มครองชีวิตก่อนเกษียณที่ 2 ล้านบาทตั้งแต่เริ่มจ่ายเบี้ย (อย่างไรก็ตามทุน 2 ล้านนี้น้อยกว่าเบี้ยรวมทั้งหมด) ทั้งนี้หลังเริ่มรับเงินบำนาญหากจากไปก่อนครบ 10 ปีแรก จะมีการคืนเงินให้ตามตารางมูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญด้านล่างนี้ ซึ่งจะน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไปเช่นกัน (ทำให้เห็นว่าแบบนี้จะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อายุไม่ยืนนัก แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงมากกับผู้ที่มีอายุยืน)
จากตารางหากจากไปตอนเพิ่งได้รับเงินบำนาญปีที่ 1 ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ (เช่น ลูก) จะได้รับเงินคืนที่ 962.36 x 2,000,000 / 1000 = 1,924,720 บ. ทำให้เมื่อรวมกับเงินบำนาญ 240,000 บ. ที่ได้รับ จะรวมเป็นเงิน 2,164,720 บ. ซึ่งน้อยกว่าเบี้ยรวมจำนวน 3,452,400 บ. อยู่ 1,287,680 บ. (ซึ่งหากนำมาหักลบกับเงินคืนภาษีที่ได้ 1,208,340 บ. คิดจากฐานภาษี 35% ก็จะขาดทุนน้อยลง)
หรือหากจากไปตอนได้รับเงินบำนาญมาแล้ว 9 ปีจำนวน 2,160,000 บ. จะได้เงินคืนอีก 120 x 2,000,000 / 1000 = 240,000 บ. หรือเท่ากับ 2,400,000 บ. ในปีที่ 9 ตามจำนวนการันตีจ่ายบำนาญ 10 ปีนั้นเอง อย่างไรก็ตามหากนำ 2่,400,000 บวกเงินคืนภาษีที่ได้มาทั้งหมดจำนวน 1,208,340 บ. (ฐานภาษีที่ 35%) จะได้ 3,608,340 บ. ซึ่งเกินเบี้ยรวมในที่สุด หรือหากอายุยืนเกิน อายุ 69 ปีได้ จะเป็นจุดกำไรของประกันบำนาญนี่เอง
จากตาราง จะเป็นตัวอย่างของการรับบำนาญคงที่ไปเรื่อย ๆ ทุกปี และเมื่อรวมกับเงินคืนภาษีที่ได้ตั้งแต่ก่อนรับบำนาญ ก็จะทำให้ประกันบำนาญแบบนี้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วมากที่อายุเเกิน 69 ปีเท่านั้น (เมื่อฐานภาษี 35%)
2. ประกันบำนาญให้บำนาญเพิ่มขึ้นตามปีที่กำหนด
แบบนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามเวลา ทำให้เงินบำนาญที่ได้จึงควรขยับขึ้นตามโดยมีทั้งแบบเพิ่มขึ้นทุกปี หรือ เพิ่มขึ้นทุก X ปี จึงทำให้ประกันบำนาญลักษณะนี้มักมีอายุสัญญาไม่ถึงอายุ 99 ปี
RR ที่ได้ส่วนใหญ่ของแบบนี้มักจะ น้อยกว่าแบบที่ 1 เพราะได้รับเงินจำนวนที่น้อยกว่าในตอนแรก จึงจำเป็นต้องมีการคำนวณเปรียบเทียบให้ตัดสินใจเลือกได้ แบบประกันนี้จะ เหมาะกับผู้ที่กังวลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และไม่ต้องการบริหารออมเงินบำนาญที่ได้รับช่วงปีแรกๆ มาใช้ในช่วงปีหลังๆ เอง
จากตารางของ ชายอายุ 45 ปี จะเห็นได้ว่า แบบนี้หากเสียชีวิตก่อนรับบำนาญก็จะได้เงินคืน 110% ของเบี้ยที่จ่ายไป และหากจากไปหลังรับบำนาญ จะได้เบี้ยที่จ่ายไปหักกับบำนาญที่จ่ายไปแล้วคืน แบบนี้จึงทำให้หมดกังวลหลังจากไปว่าจะขาดทุนหากอายุสั้น แต่ก็ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อปี หรือ IRR ไม่สูงมากนัก
จากตาราง บำนาญเริ่มต้นที่ได้รับคือ 240,000 บ. และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปีประมาณ 2.8% ทำให้เงินบำนาญที่ได้รับทั้งหมด แม้ถึงเพียงอายุ 90 ปี แต่ก็ได้รับบำนาญมากกว่ามาก แต่ก็แลกมาด้วยเบี้ยประกันที่สูงขึ้นมากเช่นกัน
3. ประกันบำนาญให้บำนาญ
คงที่และเพิ่มตามเงินปันผล
แบบนี้สามารถพบเป็นฟีเจอร์เสริมพิเศษได้ทั้งจากแบบที่ 1 และแบบที่ 2 โดยทุกปีก่อนเกษียณ กรมธรรม์จะมีโอกาสได้เงินปันผลมาเก็บสะสมไว้ในกรมธรรม์ (จะไม่ใช่เงินปันผลที่นำออกมาใช้ได้)
โดยเมื่อถึงปีที่จะเกษียณ บริษัทจะนำเงินปันผลสะสมทั้งหมดในกรมธรรม์มาซื้อประกันบำนาญให้อัตโนมัติ (เบี้ยคิดจากอายุเกษียณ) เพื่อให้ได้บำนาญเพิ่มขึ้นจากบำนาญเดิมที่ระบุในสัญญาเข้าไปอีก
ทำให้เบี้ยของบำนาญแบบนี้ ไส้ในจะมีการแบ่งไปลงทุนในพอร์ตที่มีสัดส่วนของหุ้นผสมอยู่ด้วยไม่ใช่ตราสารหนี้อย่างเดียว ซึ่งผลตอบแทนการลงทุนในพอร์ตนี้จะไม่การันตี หากปีนั้นพอร์ตเป็นบวก กรมธรรม์ก็ได้จะเงินได้ปันผลมาเก็บสะสมเพิ่ม แต่หากพอร์ตติดลบก็จะไม่ได้เงินปันผลนี้
ดังนั้นแบบนี้จะมีทั้งบำนาญที่การันตีตามสัญญา และบำนาญที่จะได้เพิ่ม แต่ขึ้นอยู่กับเงินปันผลสะสมที่ได้จากการลงทุนที่ไม่ได้การันตีอีกที
ซึ่งเงินปันผลนี้ มีโอกาสเพิ่ม IRR ขึ้นอีกได้ในระดับทศนิยม เนื่องจากนำปันผลไปซื้อบำนาญตอนอายุเกษียณนั้น บำนาญที่ได้จึงเพิ่มขึ้นไม่มากนัก รวมถึงต้องขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มทำประกันบำนาญด้วย โดยยิ่งทำประกันบำนาญเร็วเงินปันผลสะสมก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
จึงต้องมีการคำนวณเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ และอย่างน้อยควรเปรียบเทียบเงินบำนาญที่ได้รับแบบการันตีโดยตรงก่อน และให้ปันผลเป็นเพียงโบนัสเสริมเท่านั้น เนื่องจากมีความไม่แน่นอน
ทำให้แบบประกันนี้เหมาะกับเป็น Add-on ให้แบบที่ 1 กับแบบที่ 2 ถ้าแบบนี้ อัตราผลตอบแทนแบบการันตีที่ไม่รวมปันผลมีความน่าสนใจอยู่แล้ว หรือ อาจเลือกแบบไม่มีปันผลและนำส่วนต่างเบี้ยที่ได้ไปลงทุนได้เองต่อไป
จากตารางของ ชายอายุ 45 ปี จะเห็นได้ว่าแบบนี้ การเสียชีวิตทั้งก่อนและรับบำนาญจะไม่ขาดทุนเบี้ยแน่นอน เพราะจะเป็นการคืนเบี้ยหักบำนาญที่จ่ายไปเป็นหลัก และเนื่องจากมีเงินปันผลเพื่อเพิ่มบำนาญให้ด้วย จึงทำให้เบี้ยสูงขึ้น ซึ่งหากพอร์ตที่บริษัทลงทุนสำหรับให้เงินปันผล มีอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 3% ต่อปี ก็จะทำให้มีโอกาสเพิ่ม IRR ขึ้นได้ 0.05%-0.6% ขึ้นอยู่ว่าเริ่มทำประกันบำนาญเร็วเพียงใด
จากตารางจะเห็นได้ว่า เบี้ยที่จ่ายต่อปีจะมากกว่า บำนาญต่อปีแบบการันตีที่ได้รับ เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับบำนาญมากกว่า 240,000 บ. ได้ โดยได้รับเงินบำนาญที่เพิ่มจากเงินปันผลสะสมมานั้นเอง ซึ่งการคำนวณส่วนต่างของเบี้ยที่จ่ายเพิ่ม กับโอกาสที่จะได้รับบำนาญเพิ่มจึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องพิจารณาของประกันบำนาญแบบนี้
4. ประกันบำนาญให้บำนาญเพิ่มขึ้นตาม
ปีที่กำหนด ควบประกันชีวิตและ
ประกันสะสมทรัพย์
(ลดหย่อนได้เฉพาะส่วนประกันชีวิต 100,000)
แบบนี้เมื่อเสียชีวิตแล้วจะได้ ทุนชีวิต หรือ เบี้ยทั้งหมดหักบำนาญที่จ่ายไปแล้ว หรือ มูลค่าเวนคืนที่สะสมในสัญญา ขึ้นอยู่กับค่าใดมากกว่ากัน ทำให้เบี้ยประกันที่จ่ายไป ไส้ในจะมีการแบ่งมาจ่ายค่าประกันภัยด้านชีวิตร่วมด้วย
แบบนี้ทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อโต้แย้งว่า ทำประกันบำนาญแต่ไม่ได้ความคุ้มครองชีวิตหลังเกษียณ จึงได้เพิ่มความคุ้มครองชีวิตเข้ามาด้วย เพื่อแก้ไขข้อโต้แย้งนี้ (แต่การควบประกันชีวิต ทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขลดหย่อนของประกันบำนาญโดยตรงส่วน 200,000 บ.)
รวมถึงจะมีการเพิ่มเงินคืนก่อนเกษียณให้ด้วย ทำให้เบี้ยที่จ่ายไป ไส้ไนจึงมีการถูกแบ่งไปทำประกันสะสมทรัพย์เพิ่มด้วย เพื่อแก้ไขข้อโต้แย้งว่าทำประกันบำนาญไม่มีเงินให้ใช้ก่อนเกษียณ (แต่การควบประกันสะสมทรัพย์ ทำให้ไม่สามารถนำมาลดหย่อนในส่วนประกันบำนาญโดยตรงส่วน 200,000 บ. ได้เช่นกัน)
เนื่องจากแบบนี้ไส่ในของเบี้ยประกันมีการแบ่งไปจ่ายค่าประกันชีวิตด้วย จึงทำให้ IRR ที่ได้มักต้องลดลง แบบประกันนี้จะเหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการแยกประกันชีวิตออกจากประกันบำนาญ
จากตารางของ ชายอายุ 45 ปี จะเห็นได้ว่า ประกันบำนาญนี้จะมีประกันชีวิตคุ้มครองที่ 4.8 ล้านบาทรวมมาให้ด้วย (200% ของทุน 2.4 ล้าน) ซึ่งจะไม่ขาดทุนเบี้ยแน่นอนหากอายุสั้น เพราะแบบนี้จะทำการคืนเบี้ยรวมทั้งหมดหักบำนาญที่จ่ายไปได้ หากเบี้ยมากกว่า 200% ของทุนชีวิต
แต่หากอยู่ครบสัญญา ตอนอายุ 95 ปีจะได้รับบำนาญปีสุดท้ายเท่าทุนชีวิตที่ 2.4 ล้านบาท (ตามปกติของประกันชีวิตตลอดชีพเมื่อครบอายุสัญญา)
รวมถึงแบบนี้จะเป็นแบบได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นทุกปี บำนาญรวมที่ได้รับจึงสูงมาก อย่างไรก็ตามยิ่งผลประโยชน์สูง เบี้ยก็สูงมากเช่นกัน สุดท้ายจึงทำให้แบบนี้เมื่อคำนวณ IRR จะไม่ได้สูงมากนัก
จากตารางจะเห็นได้ว่า แบบประกันนี้จะมีเงินคืนออกมาให้ 54,000 บ. ตั้งแต่สิ้นปีกรมธรรม์แรก เหมือนกับประกันสะสมทรัพย์ รวมถึงบำนาญที่ได้รับทยอยเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 5% ซึ่งเป็นการเพื่อเงินเฟ้อที่ดี จึงทำให้ประกันบำนาญแบบนี้ดูในระดับหน้าฉากแล้วดูดีอย่างมาก
สรุปปัจจัยที่ส่งผลให้
เบี้ยประกันบำนาญแพง
จากข้อมูลตารางที่ทำการปรับเพื่อให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน และง่ายต่อการเปรียบเทียบประกันบำนาญแบบต่าง ๆ จึงทำให้สามารถสรุปได้ว่า ปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลให้เบี้ยประกันบำนาญสูงขึ้น และได้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง ดังต่อไปนี้
มีความคุ้มครองชีวิตก่อนเกษียณที่สูง หรือ คืนเบี้ยให้บวกดอกเบี้ยบางส่วน หรือ ไม่มีโอกาสขาดทุนเบี้ยก่อนเกษียณ
มีความคุ้มครองชีวิตหลังเกษียณที่สูง เมื่ออยู่ครบสัญญาได้เงินก้อนใหญ่เพิ่ม หรือ หากจากไปเร็วได้เบี้ยทั้งหมดคืนลบด้วยบำนาญที่จ่ายไป หรือ หากจากไปเร็วได้มูลค่าปัจจุบันที่จำนวนปีการันตี 15 ปีขึ้นไป หรือ ไม่มีโอกาสขาดทุนเบี้ยหลังเกษียณแน่นอน
มีเงินคืนให้ระหว่างก่อนรับบำนาญ และ/หรือ มีบำเหน็จให้ตอนอายุเกษียณ ด้วย
มีเงินปันผลสะสมเพิ่มในกรมธรรม์ทุกปี เพื่อใช้ซื้อประกันบำนาญเพิ่มบำนาญให้อัตโนมัติตอนเกษียณ
มีจำนวนปีที่ชำระเบี้ย หลากหลายให้เลือก 1 ปี 5 ปี 8 ปี หรือ จนถึงอายุ 55-60 ปี ซึ่งจำนวนปีการชำระเบี้ยที่แตกต่างนั้น จะต้องนำมาเปรียบเทียบ IRR อีกครั้ง ถึงจะพบว่าบริษัทประกันให้ความสำคัญกับจำนวนปีแบบใด
อายุเริ่มทำประกันบำนาญ ยิ่งอายุมากเบี้ยยิ่งสูงขึ้น (แต่บางแบบยิ่งทำตอนอายุมาก คำนวณ IRR แล้วจะยิ่งสูงมากขึ้น ในขณะที่บางแบบยิ่งอายุมาก IRR ยิ่งลดลงเรื่อย ๆ)
เพศหญิง เบี้ยบำนาญสูงกว่า เพศชายเสมอ เนื่องจากอัตรามรณะเพศหญิงน้อยกว่าเพศชาย จึงทำให้เพศหญิงอายุมักยืนกว่าเพศชายเสมอ
เป้าหมายของบริษัทประกัน บางบริษัทประกันมีเป้าหมายทที่เน้นประกันบำนาญ ประกันสะสมทรัพย์เป็นหลัก เพื่อขยายฐานลูกค้า และให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แบบนี้ก็จะส่งให้แบบประกันบำนาญมี IRR ที่ค่อนข้างสูงกว่าตลาดได้
จากปัจจัยทั้งหมดนี้เอง การพิจารณาประกันบำนาญจึงมีความคล้ายคลึงกับประกันโรคร้ายแรง ตรงที่จะพิจารณาเฉพาะแบบประกันที่ตอบทุกข้อโต้แย้งของประกันแบบนั้น ๆ อย่างเดียวไม่ได้
เพราะยิ่งแบบประกันตอบข้อโต้แย้งมากเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลให้เบี้ยประกันสูงมากขึ้นเท่านั้น และทำให้บริษัทประกันรับความเสี่ยงน้อยลงเรื่อย ๆ
สิ่งสำคัญ คือ จะต้องไม่หลุดจุดประสงค์ของประกันบำนาญ คือ ทำให้มั่นใจว่าจะมีรายได้เข้ามาทุกปีแน่นอนในตอนที่อายุยืน โดยได้รับบำนาญสูงสุดต่อเบี้ยที่จ่ายไป
จึงไม่จำเป็นต้องรวมความกังวลอื่น ๆ เข้ามารวมอีก เช่น จะขาดทุนเพราะอายุสั้น ทั้งที่จากไปแล้วไม่สามารถรับรู้ถึงการขาดทุนนั้นได้อีกแล้ว (แต่หากกังวลถึงคนข้างหลัง ประกันชีวิตโดยตรงจะตอบโจทย์มากกว่ามาก) เป็นต้น
ทุกแบบประกัน หรือ ทุกเครื่องมือการเงิน จึงมีจุดประสงค์ของตนเอง การเลือกเครื่องมือการเงินที่ตรงกับจุดประสงค์ จะทำให้ประหยัดได้มากกว่า การเลือกเครื่องมือแบบ All in One ที่เน้นทุกอย่าง และมักถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเน้นทำการตลาดมากกว่า จะเน้นผลประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้งาน
ดังนั้นการเลือกประกันบำนาญจึงควรเข้าใจแบบประกันบำนาญจริง ๆ และที่สำคัญคือ เป้าหมายในการทำประกันบำนาญ และ ตัวเลขในการเปรียบเทียบตามเป้าหมายที่ต้องการทั้งหมด
เช่น เพียงตั้งเป้าหมายว่า "ทำบำนาญไว้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณและลดหย่อนภาษีให้ได้สูงสุด" ก็จะเหลือแบบประกันบำนาญไม่กี่แบบที่จะต้องเลือกใช้ เป็นต้น
โดยสามารถพิจารณาเป้าหมายสำคัญต่าง ๆ ของประกันบำนาญ ได้ที่ เครื่องมือเปรียบเทียบประกันบำนาญ ด้านล่างนี้ ที่จะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบประกันบำนาญหลากหลายแบบได้ง่ายมากขึ้น ดังตัวอย่างของบทความนี้
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"