โรคอะไรบ้าง ทำให้คุณหมดโอกาสทำประกันสุขภาพไปตลอดชีวิต หรืออาจจะรวมไปถึงประกันชีวิต!!
"เคยสงสัยไหม...โรคบางโรคก็ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ทำไมไม่คุ้มครอง"
"เคยคิดไหมว่า...ทำไมบันทึกคำบอกเล่าที่ให้กับแพทย์ถึงสำคัญมาก"
"เคยสงสัยไหมว่า...ไม่เคยรักษา แต่เคยมีอาการ ก็เสี่ยงโดนปฏิเสธ"
"เคยทราบไหมว่า...ประกันกลุ่มทำให้ถูกปฏิเสธการทำประกันได้"
เรื่องจริงมีอยู่ว่า...คนส่วนใหญ่มักหาซื้อประกันสุขภาพเพราะร่างกายเริ่มเผยสิ่งผิดปกติบางอย่าง หรือตรวจสุขภาพเจอสิ่งผิดปกติในร่างกายแม้จะยังไม่รุนแรง แต่ในใจเริ่มกังวล...จึงมองหาประกันสุขภาพ
มาดูกันค่ะว่า โรคอะไรบ้างที่บริษัทมองว่าเสี่ยงเกินที่จะให้ความคุ้มครองสุขภาพ
โรคเบาหวาน
โรคนี้ไม่น่ากลัวแต่ไม่หายถ้าเป็นแล้ว เบาหวานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน และ ส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น ตาบอด ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เซลล์ประสาทถูกทำลาย ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และมีโอกาสเกิดหัวใจวาย หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันสูงมาก แม้ว่าจะมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง พบแพทย์เป็นประจำ หากค่าเบาหวานไม่ลด แถมมีปรากฏอาการแทรกซ้อนโดยเฉพาะความดันโลหิตสูง ขอให้ทำใจไว้ก่อนเลยว่าโอกาสโดนบริษัทประกันเทนั้นสูงมาก
"โรคเบาหวาน นานาชาติรายงานว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกกว่า 415 ล้านคน และมีกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ถึง 318 ล้านคน"
ปัจจุบัน สถิติโรคเบาหวานในประเทศไทยพบว่า มีคนไทยวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8 และที่น่ากลัวคือ ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานถึง 200 คน หรือประมาณชั่วโมงละ 8 คน (ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ)
โรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่เกิดจากโรคเบาหวาน คือ โรคไตเรื้อรัง และเมื่อโรคดำเนินเข้าสู่ระยะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไต ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเฉลี่ยประมาณ 240,000 บาทต่อคนต่อปี (ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายด้วยยา ค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ)
โรคความดันโลหิตสูง
โรคที่รักษาไม่หาย (เพชรฆาตเงียบ) แต่สามารถควบคุมได้ด้วยการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี แม้ดูจะไม่รุนแรง แต่บริษัทประกันก็ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงนี้แน่ๆ เพราะที่น่ากลัวคือมันเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคตา หรือโรคไตได้ถ้าไม่มีการรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์แนะนำ ดังนั้นต้องทำใจไว้เลยว่าโอกาสโดนบริษัทประกันเทสูงพอๆ กับโรคเบาหวานค่ะ
กรมการแพทย์เผยโรคความดันโลหิตสูงเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย และโรคหัวใจ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้ถึงร้อยละ 80-90 อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ความเครียด ขาดการ ออกกำลังกาย (ที่มา: //www.hfocus.org/content/2018/05/15814)
ทีนี้เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นโรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ค่ารักษาเฉลี่ยประมาณ 152,000 บาทต่อคนต่อปี (ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล)
โรคหัวใจ
ชื่อโรคฟังดูก็รู้ว่ารุนแรง การรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุที่ตรวจพบและตามอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกัน ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด คือ หัวใจล้มเหลว เกิดขึ้นได้จากโรคหัวใจทุกชนิด โอกาสที่บริษัทประกันจะปฏิเสธให้ความคุ้มครองสุขภาพสูงมากที่สุด
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ. 2555-2558 อัตราผู้ป่วยโรคหัวใจในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 58,681 คน หรือโดยเฉลี่ยถึงชั่วโมงละ 7 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ (ข้อมูลจาก พบแพทย์ดอทคอม)
เมื่อต้องทำบอลลูน ผ่าตัดบายพาส ผ่าตัดลิ้นหัวใจ ค่ารักษาเฉลี่ยประมาณ 200,000 - 1,000,000 บาทต่อคน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านยาและอื่นๆ)
"ส่วนตัวแอนนี่เองมีประสบการณ์ยื่นขอทำประกันชีวิตให้หลานชาย อายุ 5 ขวบ ที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ได้รับการผ่าตัดรักษาเรียบร้อยตั้งแต่เกิดได้น้องอายุเพียง 2 เดือน การรักษา การพบแพทย์ตามนัด เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบเป็นปกติ อยากรู้ไหมคะว่าผลการพิจารณาเป็นเช่นไร?"
โรคทั่วไป ที่ใช้สิทธิ์ประกันกลุ่ม
โรคนี้มันเป็นแบบไหน ฟังทางนี้ค่ะ หลายๆ คนมีประกันกลุ่มจากบริษัท คุ้มครองการรักษาสุขภาพฟรี (ตามวงเงินจำกัด) ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยทุกชนิดไม่ว่าจะหนักหรือเบาก็พร้อมที่จะพบแพทย์ เพราะมีประกันกลุ่มรักษาฟรี (ต้องใช้ให้คุ้ม) ทีนี้การพบแพทย์ก็ต้องมีการซักประวัติ พูดคุยกับคุณหมอและพยาบาล เพื่อสอบถามอาการ หาที่มาที่ไปของอาการที่กำลังเป็น คุณหมอจึงต้องหาต้นตอความผิดปกติและต้องขอให้เล่า ให้บอกมากที่สุด และทั้งหมดทั้งมวลนั้นคุณหมอก็จะจดเป็นบันทึกทางการแพทย์และเก็บเป็นประวัตินั่นเองค่ะ
มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากมองในมุมบริษัท การที่บริษัทจะทราบบันทึกเหล่านี้คือต้องมีการขอประวัติการรักษากับทาง รพ. และการที่บริษัทจะให้ไปขอประวัติก็ต่อเมื่อมีการกรอกหรือระบุแจ้งว่าเคยป่วยเป็นอะไร รักษาที่ไหนลง เมื่อไหร่ยังไงบ้างในใบคำขอทำประกันสุขภาพ การที่จะไม่แจ้งในใบคำขอทำประกันสุขภาพเลย ก็เท่ากับว่าปกปิดข้อมูล ดังนั้นต้องแจ้งให้บริษัททราบ ส่วนบริษัทจะพิจารณาว่าเสี่ยงหรือไม่ และจะให้ขอประวัติการรักษาหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่งค่ะ
เมื่อบริษัทตรวจสอบประวัติ พบว่า "มีการรักษาโรคหนึ่ง อาการยังไม่ดีขึ้น หรือเสี่ยงเป็นโรคอื่นตามมา..." บริษัทอาจจะพิจารณาโดยใช้ 3 ตัวเลือกใดตัวเลือกหนึ่ง คือ 1. เพิ่มเบี้ย 2. ยกเว้นความคุ้มครองบางโรค หรือ 3. ปฏิเสธให้ความคุ้มครองไปเลย
แล้วประกันกลุ่มจะมีไว้ทำไมถ้าไม่ให้ใช้ จริงไหมคะ?
ถ้าเราไม่มีการเกษียณอายุงานเลย หรือ ไม่ต้องออกงานเพราะเหตุใดก็ตาม สวัสดิการจากบริษัทนั้นคือสวรรค์เลยนะคะ แต่ความจริงแล้ว ประกันกลุ่มมีวันหมดอายุ
ประสบการณ์ส่วนตัว
ส่วนใหญ่คนที่จะมองหาประกันสุขภาพ มักจะอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือบางครั้งลูกๆ อยากทำให้ประกันสุขภาพให้พ่อกับแม่ เพื่อที่จะได้สบายหากเจ็บป่วย ไม่ต้องไปรอคิว รอการรักษา และได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
บางคน บริษัทอนุมัติความคุ้มครองประกันสุขภาพ แต่ส่วนใหญ่ที่เจอคือ ไม่อนุมัติเพราะประวัติสุขภาพ หลักๆ เลยก็ "เบาหวานและความดัน" และ เคยเจอบางกรณีของลูกค้าที่อนุมัติผ่านความคุ้มครองสุขภาพด้วยวัย 50 ปีขึ้นเช่นกัน หลังจากนั้น (พ้นระยะรอคอยแล้ว) มีการเคลมค่ารักษา ปัญหาเกิดทันที เพราะบริษัทตรวจสอบพบว่า ปกปิดประวัติสุขภาพ คงไม่ต้องพูดต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ทำไมคนสุขภาพดีถึงไม่ทำประกันสุขภาพ?
ถ้าถามตรง...ก็ตอบตรงว่า "เปลืองเงิน" และ "ยังไม่ป่วย ยังแข็งแรงดี" เอาจริงๆ ไม่ควรตั้งคำถามนี้เพราะจะให้คนสุขภาพดี แข็งแรง ไม่เคยหาหมอ มาทำประกันสุขภาพก็ดูแปลกไปหน่อยจริงไหมคะ
ทุกคนคงเคยได้ยินคำนี้..."ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" ถ้าจะเปลี่ยนเป็น "ไม่มีอาการ ไม่อยากซื้อประกันสุขภาพ" มันใช้ได้เลยนะคะ แต่เมื่ออายุมากขึ้น อาการเริ่มมี เริ่มอยากทำประกัน
ทีนี้ก็ถามกลับบริษัทหน่อยว่า คนสุขภาพไม่ดียังจะรับทำประกันสุขภาพหรือไม่? คิดว่าคำตอบจะเป็นแบบไหนคะ
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"