ประกันสุขภาพเหมาจ่ายในปัจจุบันนั้นมีคุณสมบัติที่น่าสนใจอย่างมาก คือ
ให้ความคุ้มครองได้หลักหลายล้านบาท
ใช้ มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่ปี 2564 ที่ครอบคลุมขั้นตอนการรักษา
เสริมด้วยความคุ้มครองเพิ่มเติมจากบริษัทประกันต่าง ๆ ที่ต่อยอดให้มาตรฐานประกันสุขภาพใหม่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ทำให้ประกันสุขภาพเหมาจ่ายในปัจจุบัน กลายเป็นประกันที่สามารถดูแลค่ารักษาได้ตลอดชีวิตจริง ๆ โดยเฉพาะแบบประกันที่คุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปีเรียกได้ว่า หากมีสวัสดิการนี้ในช่วงเกษียณได้ ย่อมจะ ลดภาระของครอบครัว ไปได้อย่างมากมาย
แต่ด้วยความคุ้มครองที่สูงมากนี้เอง โดยเฉพาะกับประกันสุขภาพภาพเหมาจ่ายที่ครอบคลุมค่ารักษามะเร็งทั้งในปัจจุบันและอนาคตนั้น จะมีเบี้ยประกันรวมกันหลังเกษียณในระดับหลักสิบล้าน เช่นกัน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงอย่างมากสำหรับวัยเกษียณที่ไม่ต้องการรบกวนลูกหลาน
ทำให้พอถึงช่วงเกษียณ หลายคนต้องจำใจเลือกที่จะยกเลิกประกันสุขภาพและรับความเสี่ยงค่ารักษาไว้เองแทน พร้อมกับเงินเก็บ 2-3 ล้านบาทไว้เป็นค่ารักษา แต่ด้วยเงินเฟ้อ..ค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันถ้าจะให้เพียงพออย่างไรแล้วควรมีไม่ต่ำกว่า 7-10 ล้านบาท โดยเฉพาะหากต้องเผชิญกับโรคมะเร็งที่ต้องรักษาไปตลอดชีวิต
ทำให้ การการเก็บประกันสุขภาพไว้ยังเป็นทางออกที่น่าสนใจกว่า การยกเลิกประกันสุขภาพแล้วรับความเสี่ยงไว้เองโดยเฉพาะหากเริ่มมีโรคประจำตัวแล้ว แต่ก็ตามมาด้วยคำถามสำคัญที่ว่า
จะทำอย่างไรจึงจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณหลักสิบล้านบาทนี้ได้ โดยใช้เงินให้น้อยลงประมาณ 50%-80% ได้
ซึ่งจะมีวิธีการจัดการโดยอาศัยเครื่องการเงินอย่าง ประกันบำนาญ และ กองทุนรวม ร่วมกันดังลำดับวิธีต่อไปนี้
1. เลือกประกันบำนาญและ
คำนวณบำนาญที่ควรมีไว้จ่ายเบี้ยสุขภาพ
โดยเน้นเลือกแบบประกันบำนาญที่
จ่ายเงินบำนาญนานที่สุด
เป็นประกันบำนาญจริง ๆ (ไม่มีผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่น เช่น เงินคืนระหว่างปีก่อนเกษียณ และหรือ ความคุ้มครองชีวิตที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายไปมาก)
ทั้งนี้ Release your Risk จะมีโปรแกรมคำนวณเพื่อเปรียบเทียบแบบประกันบำนาญ ดัง 2 ตัวอย่างต่อไปนี้
1.1 แบบประกันบำนาญที่ทยอยจ่ายเบี้ยทุกปีถึงอายุ 60 ปี และรับเงินบำนาญยาวถึงอายุ 99 ปี
จากตัวอย่าง โปรแกรมเบี้ยประกันสุขภาพ ตั้งแต่อายุ 60 - 98 ปี จะรวมเบี้ยประกันทั้งหมด 9.6 ล้านบาท หากเลือกแบบประกันบำนาญ (ดังในตัวอย่าง) จะต้องเน้นจ่ายเบี้ยบำนาญที่ปีละ 1.2 แสนบาท (รวมเบี้ยทั้งหมด 3.2 ล้านบาท) เพื่อให้ได้เงินบำนาญปีละ 2.4 แสน จึงจะสามารถนำเงินบำนาญไปจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณได้ทั้งหมด (จนครบสัญญา)
หมายเหตุ : เป็นการคำนวณเบี้ยของเพศหญิงอายุ 34 ปี
1.2 แบบประกันบำนาญที่จ่ายเบี้ยครั้งเดียว และรับเงินบำนาญยาวถึงอายุ 100 ปี
จากตัวอย่างโปรแกรมและแบบประกันบำนาญแบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียว ที่ยกมา จะได้บำนาญปีละ 2.4 แสนบาทเช่นกัน จึงจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพได้ทั้งหมด เพียงแต่จะสามารถจ่ายเบี้ยประกันบำนาญครั้งเดียวได้ ที่จำนวน 2.19 ล้านบาท
หมายเหตุ : เป็นการคำนวณเบี้ยของเพศหญิงอายุ 34 ปี
จะเห็นได้ว่าโปรแกรมได้เปรียบเทียบ 2 แบบประกันบำนาญ ที่จะจ่ายเงินบำนาญจำนวน 247,632 บาทต่อปีเท่ากัน เพื่อให้สามารถนำไปจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพรวม 9.6 ล้านบาทได้ครบ
ซึ่งจุดสังเกตสำคัญที่ได้จากการเปรียบเทียบ คือ แม้จะได้รับบำนาญต่อปีที่เท่ากัน แต่เบี้ยรวมของ 2 แบบประกันบำนาญนั้นแตกต่างกันถึงกว่า 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตามแบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียวนั้นจะลดหย่อนภาษีได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ในขณะที่แบบที่จ่ายเบี้ยทุกปีแม้เบี้ยรวมจะสูงกว่าหลักล้าน แต่สามารถทยอยจ่ายเป็นเบี้ยรายงวดที่ลดลงเหลือเพียง 1.2 แสนบาท และยังสามารถลดหย่อนภาษีได้ทุกปีอีกด้วย
ดังนั้น
(1) ประกันบำนาญแบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียว จึงเหมาะกับผู้ที่มีอายุใกล้เกษียณ หรือ มีเงินเย็น เงินรายได้พิเศษไม่ประจำ เป็นเงินก้อนเรียบร้อย ในขณะที่ ประกันบำนาญแบบที่ทยอยจ่ายเบี้ยทุกปีจนเกษียณ เหมาะกับผู้ที่อายุยังไม่มากและยังไม่มีเงินก้อน โดยต้องการล็อคผลตอบแทนนี้ไว้เท่าที่กำลังการออมแบบประจำพอจะมีก่อน โดยส่วนที่ขาดจะค่อยพิจารณาซื้อสะสมประกันบำนาญจ่ายเบี้ยระยะสั้นเพิ่มเติมในภายหลังที่ได้รับโบนัสหรือรายได้พิเศษไม่ประจำต่าง ๆ ต่อไป
(2) ทำให้การเลือกแบบประกันบำนาญจึงจำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันควบคู่กันไปด้วย นอกจากที่จะพิจารณาเบี้ยรวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งการจะเปรียบเทียบในแง่มุมนี้ได้ โปรแกรมการเปรียบเทียบประกันบำนาญจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะจะช่วยประหยัดเวลาในการหาแบบที่เหมาะกับประกันสุขภาพ มาเปรียบเทียบกันได้อย่างมาก
หมายเหตุ : แม้ว่าประกันบำนาญจะดูเป็นวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจ แต่ด้วยเบี้ยรวมที่สูงถึงกว่า 2-3 ล้านบาทนี้ ยังคงเป็นจำนวนเงินที่สูงพอสมควร ทำให้การพิจารณาเครื่องมือการเงินอื่นเพิ่มเติมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และนั้นจึงเป็นที่มาของการนำกองทุนรวมมาแก้ปัญหาเบี้ยสุขภาพนี้ด้วย
2. คำนวณเงินลงทุน RMF/SSF ที่ต้องใช้สำหรับ
เป็นกองทุนสุขภาพ
วิธีนี้จะ มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นจากประกันบำนาญ พอสมควร เพราะจำเป็นจะต้องทำทุกขั้นตอนที่ถูกซ่อนไว้ในประกันบำนาญเองทั้งหมด แต่ก็จะได้ความยืดหยุ่นมาชดเชยแทน (ทั้งการสามารถเปลี่ยนระยะเวลาการลงทุน การเปลี่ยนแปลงจำนวนลงทุนในแต่ละปีให้แตกต่างกันได้)
โดยจะมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการสำหรับให้กองทุนรวมจ่ายเบี้ยสุขภาพได้ ดังต่อไปนี้
2.1 คำนวณหาเงินก้อนวันเกษียณ
จากในรูปด้ายบน เบี้ยประกันรวมบำเหน็จจะอยู่ที่ประมาณ 10.9 ล้านบาท ซึ่งจะใช้วิธีการดึงเงินออกจากกองทุนมาจ่ายเบี้ยผ่านวิธี Time Segmentation ที่แบ่งอายุเกษียณออกเป็น 3 ช่วงอายุ เพื่อจัดการให้กองทุนเสี่ยงต่ำได้ถูกใช้ก่อน และกองทุนที่ถูกใช้ทีหลังให้สามารถเสี่ยงสูงได้ โดยสุดท้ายแล้วในขั้นตอนนี้จะต้องคำนวณย้อนออกมาให้ได้ว่าในวันที่เกษียณควรมีเงินก้อนเท่าใด (ในรูปเงินก้อนวันเกษียณ คือ 2.6 ล้านบาท + บำเหน็จ 1 ล้านบาท) จึงจะเพียงพอที่จะเติบโตและทยอยจ่ายเบี้ยได้จนถึงเบี้ยอายุ 98 ปี
หมายเหตุ : กรณีจะใช้ประกันบำนาญแทนกองทุนรวมแบบ Time Segmentation ตอนเกษียณ
- หญิง อายุ 55 ปี แบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียวรับบำนาญอายุ 60-100 เบี้ยประกันอยู่ที่ 4,260,015
- หญิง อายุ 55 ปี แบบจ่ายเบี้ยถึงอายุ 60 รับบำนาญอายุ 60-99 เบี้ยประกันรวมอยู่ที่ 4,740,090
ซึ่งต้องใช้เงินมากกว่ากองทุนรวมมาก และมีโอกาสใช้เงินมากขึ้นกว่านี้อีกถ้าแบบประกันบำนาญตอนอายุ 55 นั้น ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าแบบประกันบำนาญที่มีอยู่ในตอนนี้ นอกจากนี้การใช้ประกันบำนาญแทนทำให้ต้องจ่ายเบี้ยสุขภาพตอนอายุ 55-59 ปีเอง เนื่องจากยังไม่ถึงเวลารับบำนาญตอนอายุ 60 นั่นเอง
2.2 คำนวณเงินลงทุน
เมื่อได้เงินก้อนในวันที่เกษียณเป็นเป้าหมายหลักเรียบร้อย จึงจะค่อยทำการคำนวณออกมาว่า ควรจะลงทุนเท่าใด (จากในรูปด้านบน คือลงทุนปีละ 74,940 บาท) ตามระยะเวลาการลงทุนที่ต้องการ (21 ปีหรือจนถึงอายุครบ 55 ปี) เพื่อออกมาเป็นแผนภาพรวมในการยึดปฏิบัติ
2.3 เลือกกองทุน บันทึกผล และปรับปรุงแผน
กองทุนที่เลือกมาใช้ในแผนนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับหน้าที่ ระยะเวลาที่จะใช้งาน และการกระจายความเสี่ยงที่ดี โดยเฉพาะกองทุนที่เป็นแกนหลัก (คลิกดู วิธีการจัดพอร์ตกองทุน RMF) ที่สำคัญที่สุดกองทุนรวมไม่ใช่ประกันบำนาญ เพราะยังสามารถเปลี่ยนแปลงเงินลงทุนและระยะเวลาการลงทุนได้ ทำให้การมีโปรแกรมที่คำนวณปรับแผนให้เหมาะสมตามสถานการณ์ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะขาดไม่ได้เลยในขั้นตอนนี้
อย่างไรก็ตาม การจัดการเบี้ยสุขภาพหลังเกษียณด้วยกองทุนรวม อัตราความสำเร็จที่จะจ่ายเบี้ยได้ครบนั้น จะไม่ได้สำเร็จ 100% ในทุกอายุเหมือนกับของประกันบำนาญ เนื่องด้วยเพราะกองทุนรวมมีความผันผวนอยู่ในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่ย่อมเสี่ยงสูงและมีความผันผวนสูงมากเช่นกัน
ทำให้เมื่อใดที่มี การจำลองสุ่มผลตอบแทน (ตามความผันผวนที่คาดการณ์ไว้) ขึ้นมาประมาณ 500 - 600 สถานการณ์ จะพบว่าในช่วงอายุเกษียณท้าย ๆ อัตราความสำเร็จของสถานการณ์ที่จ่ายเบี้ยได้ครบจะไม่ได้สูงมากนัก ดังกราฟเส้นสีน้ำเงิน ด้านล่างนี้
หมายเหตุ : หากไม่เอาบำเหน็จโรคร้าย จะใช้เงินลงทุนรวมลดลงจาก 1.57 ล้านบาท เหลือที่ 1.18 ล้านบาท
จากกราฟเส้นสีน้ำเงิน
จะเห็นได้ว่า อัตราความสำเร็จจะเริ่มลดจาก 100% ลงมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่อายุประมาณ 76 ปี และอัตราความสำเร็จ หรือ อัตราความอยู่รอดของกองทุน จะไม่ถึง 50% ตั้งแต่อายุ 91 ปีเป็นต้นไป (หมายความว่า หากสุ่มสถานการณ์ขึ้นมา 600 สถานการณ์ จะมีน้อยกว่า 300 สถานการณ์ที่กองทุนรวมจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพได้สำเร็จ)
3. แบ่งสัดส่วนการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ
ระหว่างประกันบำนาญ และกองทุน
แม้กองทุนรวมจะใช้เงินลงทุนเพียง 1.57 ล้านบาท (ได้ทั้งเบี้ยสุขภาพและบำเหน็จโรคร้าย แต่ถ้าเน้นเฉพาะเบี้ยสุขภาพเงินลงทุนส่วนนี้จะอยู่ที่ 1.18 ล้านบาท) ซึ่งน้อยกว่าเบี้ยรวมของประกันบำนาญที่ 3.2 ล้านบาท ที่เน้นจ่ายเฉพาะเบี้ยสุขภาพอย่างมาก
แต่จากปัญหาอัตราความสำเร็จของของกองทุนรวมที่ลดลงมากในช่วงอายุท้าย ๆ ก็ย่อมทำให้เกิดความลังเลใจที่จะเลือกใช้กองทุนรวมเพียงอย่างเดียวในการจัดการเบี้ยสุขภาพ
ดังนั้นจึงได้เกิด แนวคิดที่จะนำประกันบำนาญมาช่วยจ่ายเบี้ยสุขภาพร่วมด้วย ซึ่งน่าจะส่งผลให้อัตราความสำเร็จของกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้น โดยจากที่เครื่องมือประกันบำนาญแนะนำว่าควรต้องได้รับเงินบำนาญ 2.4 แสนบาทต่อปี หรือ 20,636 บาทต่อเดือน (เพื่อให้สามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณได้ครบสัญญา)
แต่ในครั้งนี้ จะใช้เงินบำนาญเพียงช่วยจ่ายเบี้ยบางส่วนเท่านั้น จึงได้ลดเงินบำนาญลงให้เหลือที่ 50% หรือ 10,318 บาทต่อเดือนแทน(แล้วที่เหลือให้กองทุนจ่าย)
โดยให้ทำการคีย์ข้อมูลของ บำนาญต่อเดือนที่ต้องการนี้ ลงในโปรแกรมดังตัวอย่างรูปโปรแกรม ซึ่งจะพบว่าจากที่ต้องจ่ายเบี้ยประกันบำนาญรวมที่ 3.2 ล้านบาท (หรือ 1.2 แสนต่อปี) ก็จะลดเบี้ยประกันบำนาญลงครึ่งหนึ่งเหลือที่ 1.6 ล้านบาท (หรือ 62,073 บาทต่อปี) เท่านั้น
และพอนำเงินบำนาญ 50% ที่ได้นี้ มาช่วยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ (พร้อมกับกองทุนรวมที่ลงทุนไป 1.18 ล้านบาทที่ช่วยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่เหลือ) จะพบว่าอัตราความสำเร็จที่ได้สูงขึ้นอย่างน่าสนใจ
ทางเราจึงได้ทดลองลดบำนาญลงอีกโดยให้เหลือที่ 33%, 25% และ 10% ตามลำดับ เพื่อจำลองหาอัตราความสำเร็จร่วม อีกครั้งว่า สัดส่วนประกันบำนาญที่ลดลงตามลำดับ และเพิ่มสัดส่วนของกองทุนขึ้นนี้ จะยังเพียงพอที่จะเสริมอัตราความสำเร็จให้สูงขึ้นได้หรือไม่ เพียงใด จึงได้ผลลัพธ์ออกมาดังกราฟ ต่อไปนี้
3.1 อัตราความสำเร็จของสัดส่วน : กองทุน + ประกันบำนาญ 50% ของเบี้ยสุขภาพ
3.2 อัตราความสำเร็จของสัดส่วน : กองทุน + ประกันบำนาญ 33% ของเบี้ยสุขภาพ
3.3 อัตราความสำเร็จของสัดส่วน : กองทุน + ประกันบำนาญ 25% ของเบี้ยสุขภาพ
3.4 อัตราความสำเร็จของสัดส่วน : กองทุน + ประกันบำนาญ 10% ของเบี้ยสุขภาพ
จากกราฟผลลัพธ์ทั้ง 4 กราฟ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ประกันบำนาญสามารถช่วยยกระดับอัตราความสำเร็จของกองทุนรวมได้สูงอย่างมาก ทั้งนี้จะสามารถเปรียบเทียบในแง่ของ เงินลงทุนในกองทุน ร่วมกับ เบี้ยประกันบำนาญของบำนาญ % ต่าง ๆ ได้ดังนี้
เบี้ยประกันสุขภาพของอายุ 55 - 98 ปี ทั้งหมดเท่ากับ 9,965,799 บาท
(%) เงินบำนาญช่วยจ่ายเบี้ย ป.สุขภาพ อายุ 60 - 98 ปี | รวมเบี้ยประกันบำนาญ (บาท) | รวมเบี้ยป.สุขภาพของอายุ 55 - 59 ปี (บาท) | *เงินลงทุน กองทุนสุขภาพ ไว้จ่ายเบี้ย ป.สุขภาพ อายุ 55 - 98 ปี (บาท) | รวมเงินทั้งหมด (บาท) |
---|---|---|---|---|
100% | 3,200,974 | 308,474 | - | 3,509,448 |
50% | 1,613,900 | - | 1,184,293 | 2,798,193 |
33% | 1,075,986 | - | 1,184,293 | 2,260,279 |
25% | 806,962 | - | 1,184,293 | 1,991,255 |
10% | 336,259 | - | 1,184,293 | 1,520,552 |
0% | - | - | 1,184,293 | 1,184,293 |
*หมายเหตุ : ประกันบำนาญจะจ่ายเบี้ยสุขภาพตั้งแต่อายุ 60-98 ปี แต่กองทุนรวมจะจ่ายเบี้ยสุขภาพตั้งแต่อายุ 55-98 ปี ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมในการเปรียบเทียบ จึงควรบวกเบี้ยสุขภาพอายุ 55-59 ให้กับเบี้ยประกันบำนาญ 3.2 ล้านบาทร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้ได้การเปรียบเทียบกันระหว่างกองทุนรวม 1.18 ล้านบาท กับประกันบำนาญ 3.5 ล้านบาท สำหรับเบี้ยสุขภาพอายุ 55-98 ปี (ที่ต้องให้กองทุนสุขภาพเริ่มจ่ายเบี้ยสุขภาพตอนอายุ 55 ปี เนื่องจากกองทุน RMF จะเริ่มขายออกมาได้ตอนอายุ 55 ปี)
*เงินลงทุนในกองทุนรวม ใช้ช่วยจ่ายเบี้ยป.สุขภาพ ตั้งแต่อายุ 55 - 98 ปี
สิ่งที่น่าสนใจจะอยู่ที่ การเสริมกองทุนรวมด้วยเงินบำนาญ 50% นั้นทำให้ อัตราความสำเร็จสูงขึ้นและเกือบได้ 100% ในทุกช่วงอายุ ถึงแม้ว่าช่วงอายุ 86-98 ปี อัตราความสำเร็จจะน้อยกว่า 100% แต่ก็ยังสูงกว่า 90%
ในขณะที่จำนวนเงินที่ต้องใช้ จะลดลงจาก 3.5 ล้านบาท เหลือเพียง 2.8 ล้านบาทเท่านั้น (หรือประหยัดไปได้ถึงกว่า 7 แสนบาท) หรือถ้าหากยอมรับอัตราความสำเร็จที่ลดลงกว่านี้ได้อีก โดยมองว่าอาจไม่ได้อายุยืนถึง ก็จะทำให้ประหยัดเงินได้มากขึ้นไปอีก
สรุปการใช้กองทุนรวมร่วมกับประกันบำนาญ
จากผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า การใช้เครื่องมือการเงิน (ทั้งประกันบำนาญและกองทุนรวม ร่วมกันในการจัดการเบี้ยสุขภาพหลังเกษียณ) เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะ ช่วยให้ประหยัดเงินได้มาก และยังคงอัตราความสำเร็จที่สูงไว้ได้
โดย ควรยกระดับอัตราความสำเร็จของกองทุนรวม ด้วยประกันบำนาญ เท่าที่พอทำได้ก่อนตามสถานการณ์ในปัจจุบัน
ในอนาคตค่อยทำประกันบำนาญเพิ่ม หรือหากในอนาคตไม่มีประกันบำนาญที่ผลตอบแทนดีแบบเดิมให้เลือกอีกแล้ว ก็สามารถอาศัยการเพิ่มอัตราความสำเร็จด้วย BUFFER (เพิ่มเงินลงทุน) ทดแทนได้ ผ่านการติดตามและปรับปรุงแผนการลงทุนในภายหลังต่อไป
หากเปลี่ยนจากการลงทุนด้วยเงิน 21 ปี ให้น้อยลง เหลือเพียง 5 ปี จากเดิมใช้เงิน 1,184,293 บ. จะเหลือเพียง 728,587 บ. (แบบไม่มี BUFFER)
ปีลงทุนที่ลดลง เงินลงทุนที่ใช้จึงก้อนใหญ่ขึ้น ต้องระวังเรื่องจังหวะการลงทุน และ ต้องระวังไม่ให้เกินสิทธิลดหย่อนภาษี RMF/SSF (สามารถคำนวณเบื้องต้นผ่านเครื่องมือวางแผนภาษีด้วยการออมจากลิงก์ด้านล่าง)
ดังนั้นการออมเพื่อลดหย่อนภาษี สามารถกลายผลลัพธ์เป็น
"ประกันสุขภาพเหมาจ่ายตลอดชีพได้"
ด้วยการใช้เครื่องมือคำนวณประกันบำนาญ
ด้วยการใช้เครื่องมือคำนวณกองทุนบำนาญและสุขภาพ
วิธีการใช้งาน เครื่องมือการเงินเพื่อวางแผนเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ แบบลงรายละเอียด
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"