หากดำเนินการ ออมเงิน และ กำหนดหน้าที่ของเงินออม ให้เป็นดังต่อไปนี้
- เงินเพื่อช่วยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ
- เงินก้อนไว้เคลียร์หนี้ก่อนเกษียณ
- เงินสำหรับค่าใช้ส่วน WANTs เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ในแต่ละเดือนตอนเกษียณ
- มีกลไกป้องกันไม่ให้นำเงินออมนี้ออกมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ก่อนเวลา
- สามารถเลือกออมเงินคงแตกต่างกันในแต่ละปีได้ ตามสถานะการเงินปีนั้น
จะทำให้เครื่องมือการออมที่เหมาะสมที่สุด คือ..
กองทุนรวมลดหย่อนภาษี
เครื่องมือลงทุนระยะยาวที่จำเป็นต้องใช้
กองทุนรวม เครื่องมือการเงินที่เป็นการลงทุนโดยมีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้จัดการกองทุนดำเนินการบริหาร คัดเลือกสินทรัพย์ และกระจายความเสี่ยงให้ เพื่อลดการบริการและจัดการด้วยตนเองลง
ความสำคัญของ
กองทุนรวม
จากสถิติการทำงานของกองทุนรวมนั้น ควรเน้นไปที่การลงทุนระยะยาวที่นานมากพอหรือกว่า 15 ปีขึ้นไปสำหรับกองทุนที่มีความเสี่ยงและความผันผวนสูงในแต่ละปี เพื่อช่วยให้สามารถเฉลี่ยผลตอบแทนออกมาแล้วมีโอกาสเป็นบวก(+) ในปีสุดท้ายค่อนข้างสูง
ดังตัวอย่าง S&P 500 (รูปด้านล่าง) ที่ยิ่งให้เวลาเงินได้เติบโตนานมากพอ โอกาสการติดลบ(-) ก็จะลดลงเรื่อย ๆ และเป็นที่มาว่าทำไม RMF/SSF/THAIESG จึงบังคับให้เงินลงทุนต้องถูกปล่อยให้เติบโตเป็นเวลานานหลายปี
ที่สำคัญการลงทุนระยะยาวในกองทุนรวม RMF/SSF/THAIESG นั้นยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีหรือเงินคืนภาษีกลับมาอีกด้วย
สิทธิลดหย่อนรวมกันของประกันบำนาญ/RMF/SSF/PVD/กบข./กอช. ที่สูงสุดไม่เกิน 500,000 และ THAIESG ที่สูงสุดไม่เกิน 300,000 บ.
โดยเฉพาะกับผู้ที่รับเงินเดือนและถูกหักภาษีไปล่วงหน้า ที่จะสามารถได้เงินคืนตาม % ฐานภาษีได้ เช่น ฐานภาษี 20% ลงทุน 300,000 บ. จะได้เงินภาษีคืน 60,000 แต่เงินในพอร์ตลงทุนเริ่มต้นยังคงเป็น 300,000 บ. เหมือนเดิม)
จึงทำให้การออมโดยลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนนี้ เป็นสิ่งที่ควรลงทุน ก่อนที่จะไปลงทุนกับกองทุนรวมที่ลดหย่อนภาษีไม่ได้
นอกจากนี้เงินคืนภาษีที่ได้มา อาจนำมาใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ในปีนั้นได้อีกด้วย หรือจะเรียกว่า ลงทุนแถมประกันสุขภาพก็ว่าได้ (ประกันสุขภาพลดหย่อนได้อีก 25,000 บ.)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อดีที่น่าสนใจอย่างมากนี้อยู่ แต่จากรูปด้านบนจะมีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่เลือกใช้ข้อดีส่วนนี้ เพราะ คนส่วนมากเลือกลงทุนในกองทุนรวม RMF/SSF (Mutual Funds) น้อยกว่าลงทุนใน PVD (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-ถูกบังคับบางส่วนและมีแผนการลงทุนให้เลือกน้อย) และน้อยกว่าในประกัน
ซึ่งอาจเป็นเพราะ ทั้ง PVD และ ประกัน มีกลไกบังคับลงหรือบังคับจ่ายอยู่ ในขณะที่กองทุน RMF/SSF จะมีอิสระมากกว่า
รวมไปถึง คนส่วนมากยังขาดความเข้าใจใน กลไกลดความผันผวนด้วยระยะเวลา การจัดพอร์ตกองทุนรวม และการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม ที่เน้นการลงทุนระยะยาวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ทำให้หาก ไม่ได้วางแผนให้เป้าหมายชัดเจนตั้งแต่แรก ว่าจะนำเงินลงทุนระยะยาวนี้ไปใช้ทำอะไร ก็จะทำให้เงินเหล่านี้หมดไปยังรวดเร็ว
โดยจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าไปใช้กับอะไร หรือ หากเลวร้ายกว่านั้น เงินเหล่านี้อาจถูกนำไปดาวน์เพื่อสร้างหนี้ก้อนใหญ่กว่าขึ้นมาก็ได้
RMF/SSF/THAIESG/PVD/กบข.
ควรตั้งเป้าหมายอย่างไร
การลงทุนในกองทุนรวมทั้งหมดนี้ หากมีเป้าหมายชัดเจน การวางแผนลงทุนเพิ่มหรือหยุดลงทุนจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาก และไม่ต้องกังวลว่าเงินผลตอบแทนการลงทุนที่ได้นี้ จะหายไป (หรือจะไปก่อหนี้อะไร)
โดยการตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีนั้น ควรจะเน้นไปที่ การวางแผนเกษียณเป็นหลัก เนื่องจากสอดคล้องกับการลงทุนระยะยาวและจุดประสงค์ของรัฐบาล เพราะในตอนเกษยีณจะมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่หลากหลาย ซึ่งจะสามารถแบ่งออกตามลำดับความสำคัญได้ดังต่อไปนี้
1. บำเหน็จปิดหนี้ DEBTs
ส่วนนี้อาจใช้ประโยชน์จาก PVD และ กบข. ที่จะมีเงินสบทบนายจ้างเข้ามาช่วยด้วย แต่เนื่องจาก % ที่จะสมทบได้ กับแผนการลงทุนที่มีให้เลือกนั้นมีจำกัด เงินลงทุนที่เหลือจึงควรต้องกระจายไปยังเครื่องมืออื่น
2. บำนาญสำหรับเบี้ยสุขภาพหลังเกษียณ และบำเหน็จค่าดูแลยามป่วย HEALTHs
RMF/SSF เป็นเครื่องมือที่ให้สิทธิการลงทุนสูงถึง 30% ของรายได้ จึงเหมาะที่จะวางแผนให้เงินได้เติบโตมาทยอยใช้จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ปีหรือทุก 5 ปี รวมถึงเตรียมเงินบำเหน็จไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากค่ารักษาหากป่วยเป็นโรคร้าย หรือ ค่าดูแลยามทุพพลภาพ (Long Term Health Care)
3. บำนาญส่วน NEEDs
จริง ๆ เงินส่วนนี้ควรอาศัยบำนาญจากประกันสังคมหรือจากประกันบำนาญเป็นหลัก เพียงแต่หากเริ่มทำประกันบำนาญช้า แล้วเห็นว่าไม่สามารถหาเงินก้อนได้มากพอที่จะซื้อประกันบำนาญให้ได้ตาม NEEDs ที่ต้องการ การอาศัยผลตอบแทนจาก RMF/SSF ร่วมด้วยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
4. บำนาญส่วน WANTs
เงินส่วนนี้จะเหมาะกับ RMF/SSF มากที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายส่วน WANTs นั้น ไม่จำเป็นต้องมีความแน่นอน หากปีไหนตลาดเป็นขาลง ก็อาจจะปรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงได้ หรือปีไหนใช้วงเงินส่วน WANTs ไม่หมด ก็สามารถเก็บออมไปใช้ปีอื่นๆ ต่อไปได้อืก (หรือ แม้แต่ออมเงินส่วน WANTs นี้ไว้ 10% ก่อนใช้จ่ายก็น่าสนใจ) โดยค่าใช้จ่ายส่วนนี้มักจะมากในช่วงแรกๆ ของการเกษียณและลดลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้นและความต้องการที่ลดลง ตามตัวอย่างของ กราฟ Retirement Spending
จากกราฟทั้งสองจะเห็นได้ชัดเจนว่า การใช้เงินจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่ออายุมากขึ้น สอดคล้องตามสภาพร่างกาย และเมื่อถึงจุดหนึ่งที่สภาพร่างกายเริ่มไม่ไหว การใช้เงินสำหรับค่าดูแลรักษาก็จะเพิ่มขึ้นมาแทนค่าใช้จ่ายส่วน WANTs นี้ต่อไป และทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
และนี้จึงเป็นสาเหตุว่า เพราะเหตุใดจึงควรวางแผนการจัดการทั้งเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ และบำเหน็จสำหรับค่าดูแลตอนทุพพลภาพไว้ให้เรียบร้อยก่อน การเตรียมบำนาญส่วน WANTs ที่ยังพอมีการปรับเปลี่ยนได้
5. บำเหน็จส่วน FUNs
เป้าหมายค่าท่องเที่ยว บันเทิง พักผ่อนตอนเกษียณ นั้น มักจะเกิดขึ้นหลังจากการคำนวณวางแผนเป้าหมายข้อ 1-4 เรียบร้อยแล้ว และหากยังเหลือสิทธิ RMF/SSF อยู่ก็จะสามารถเลือกกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อมาเน้นเป้าหมายส่วนนี้ได้อย่างสบายใจ ว่าอย่างน้อยหากการลงทุนผิดพลาดก็ยังมีข้อ 1-4 อยู่ หรือหากการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายก็สามารถพักผ่อนได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
การเริ่มต้นวางแผนเกษียณ
กับกองทุนรวม
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องยึดให้ขึ้นใจคือ การเกษียณไม่ได้หมายความว่าเกษียณจากการทำงาน เพียงแต่เป็นการเกษียณจากงานที่ไม่ชอบ ต้องทำตามหน้าที่ ต้องทำเพราะภาระที่มี มาเป็นได้ทำงานที่รัก ที่สบายใจ เหมาะสมตามสภาพร่างกายได้นั่นเอง
ซึ่งการจะเกษียณแบบนี้ และไม่เสี่ยงในโลกการเงินมากจนเกินไป การใช้กองทุนรวม โดยเฉพาะ RMF/SSF ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และควรทำความเข้าใจให้มากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในการวางแผนเกษียณ
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"