"ต้องเตรียมเงินเท่าใดในตอนเกษียณ..จะขึ้นอยู่กับว่าคุณยอมรับให้เงินก้อนที่มีอยู่นั้น ให้เติบโตและเสียหาย ได้เท่าใด?"
...เพราะถ้าต้องการควบคุมความเสียหายให้ไม่มาก ก็ย่อมทำให้ได้การเติบโตที่ไม่มากด้วยเช่นกัน ซึ่งเงินอาจไม่พอใช้ตอนเกษียณ
แล้วจะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น เพื่อเตรียมเงินเกษียณให้น้อยลงได้หลายล้านบาท
บทความนี้มีแนวทางแนะนำค่ะ
ปัจจุบันหากพูดถึงการเกษียณในยุคนี้ โอกาสจะใช้เพียงการฝากเงินในธนาคารที่ได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.5 คงไม่พอที่จะสู้กับมูลค่าของเงินที่ลดลงไปเรื่อย ๆ
ตัวอย่างเช่น ข้าวแกง 20 ปีที่แล้ว ราคา 20 บาท แต่ปัจจุบันต้องใช้เงินอย่างน้อยก็ 35-40 บาท จึงจะหาซื้อกินได้ เรียกได้ว่ามูลค่าของเงินหายไปเกือบ 2 เท่าตัว
ที่สำคัญสินค่าแต่ละประเภทก็จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาแตกต่างกันด้วยค่ะ ดังภาพสรุปด้านล่างจากข้อมูล A-Academy ซึ่งทำให้เห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไรก็ตามราคาก็สูงเพิ่มขึ้นต่อปี มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารมากค่ะ
...ทำให้หากฝากเงินในธนาคารต่อไป มูลค่าของเงินย่อมลดลงไปเรื่อย ๆ และอาจไม่พอใช้เมื่ออายุเริ่มเข้า 80 ปี
ดังนั้น คนเตรียมเกษียณและคนวัยเกษียณในยุคนี้ ต่างตื่นตัวกับการลงทุนอย่างมากเพราะธนาคารไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้อีกต่อไป
บทความนี้จึงจะนำเสนอ วิธีการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเป็นการลงทุนที่ไม่เน้นให้ร่ำรวยมีกำไรมหาศาล แต่เน้นให้พอชนะค่ามาตรฐานของตลาดนั้น ๆ โดยที่สามารถควบคุมความเสียหายได้ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับวัยเกษียณนี้ค่ะ
โลกของกองทุนรวมในไทยปัจจุบัน
ที่มาของกองทุนรวม
การลงทุนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันและเน้นเพียงใช้เงินทำงานเป็นหลัก หลายคนมักจะนึกถึงการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยเรา
...ที่เป็นปัญหา (ใหญ่เลย) คือ จะลงเพียงเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่จะต้องศึกษาหาความรู้อย่างละเอียดในการเลือกหุ้นสักตัวหนึ่ง และถ้าเน้นลงทุนในหุ้นเพียงไม่กี่ตัว ไม่มีการกระจายการลงทุนไปยังตัวอื่นร่วมด้วย จะเป็นความเสียหายที่ใหญ่หลวงมาก หากหุ้นตัวนั้นราคาล่วงลง
และนอกจากหุ้นแล้ว ก็ยังมีสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าให้ลงทุน เช่น หุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่มีเครดิตระดับสูง (Credit Rating) หรือตราสารหนี้ (ตั๋วเงินคลังภาครัฐ) ที่แม้จะให้ผลตอบแทนไม่มากเท่าการลงทุนในหุ้น แต่ก็มีความเสี่ยงในความเสียหายน้อยกว่า ถ้ามีความรู้ในการเลือกสินทรัพย์ประเภทนี้
ดังนั้นการจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์พวกนี้ด้วยตัวเอง จึงเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่มากโดยเฉพาะกับคนทั่วไปและคนในวัยเกษียณ
...เพื่อแก้ปัญหานี้ กองทุนรวมจึงเกิดขึ้นมา โดยผู้ลงทุนสามารถนำเงินมาลงทุนในกองทุนรวมแทนการลงทุนในหุ้นเองโดยตรงได้ จากนั้นผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญในการคัดเลือกสินทรัพย์เพื่อให้ได้ทั้ง ผลตอบแทนที่รับได้ตามมาตรฐานและมีความเสียหายที่ไม่มากเกินไป ก็จะเป็นผู้นำเงินไปลงทุนตามสินทรัพย์ที่คัดมาให้อีกที
แน่นอนว่า เมื่อกองทุนรวมมีการกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นและสินทรัพย์หลายตัว แม้จะช่วยลดความเสียหายลงได้ แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็ย่อมไม่เท่ากับการเก็งกำไรหุ้นรายตัวแน่นอน แต่ทั้งนี้กองทุนรวมถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ตอบโจทย์กลุ่มวัยเกษียณอย่างมาก
โดยปัจจุบัน กองทุนรวมแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
กองทุนรวม vs ETF
กองทุนรวม ซื้อขายผ่านบริษัทจัดการหลักทรัพย์ (บลจ.) ที่มีกองทุนรวมให้เลือกลงทุนหลากหลาย ส่วน ETF ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โดยสามารถซื้อขายเหมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ได้เลย
ETF เป็นลักษณะคล้ายตัวแทนของ Sector ที่สนใจเช่น หุ้นท็อป 50 ตัว, หุ้นท็อป 100 ตัว, ตัวแทนกลุ่มหุ้นจีน, ตัวแทนทองคำ, ตัวแทนกลุ่มหุ้นธนาคาร ตัวแทนกลุ่มตราสารหนี้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์จะมี ETF ให้เลือกเพียงหลักสิบ ETF โดยสามารถดูรายชื่อกองได้ที่นี่ค่ะ >>> รายชื่อ ETF
ในขณะที่กองทุนรวมจะมีให้เลือกลงทุนกว่า 1400+ กองทุน!!! ซึ่งมีเยอะกว่า ETF มาก เพราะแต่ละกองต่างก็มีจุดประสงค์ของการลงทุนที่มากกว่าการเป็นเพียงตัวแทนของตลาดหรือสินทรัพย์นั้น ๆ แบบ ETF รวมถึงใช้เงินลงทุนที่น้อยกว่า และยังสามารถทำการซื้ออัตโนมัติทุกเดือนหรือทำ DCA ได้อีกด้วย
ทั้งนี้บางกองทุนรวมก็มีการซื้อ ETF บางตัวมาอยู่ในพอร์ตการลงทุนของกองนั้นได้เหมือนกัน
ดังนั้นการเลือกว่าจะลงทุนในกองทุนรวมใดดีไม่ว่าจะเป็น ETF หรือกองทุนทั่วไป ก็เป็นเรื่องน่าปวดหัวไม่ต่างกับการเลือกหุ้นรายตัวอยู่เหมือนกัน เพราะบางกองทุนรวมก็เน้นเฉพาะหุ้นในประเทศ บางกองทุนก็เน้นเฉพาะหุ้นต่างประเทศ บางกองทุนเน้นเฉพาะกลุ่มหุ้นเทคโนโลยี
คำถามสำคัญ คือ แล้วจะเลือกอย่างไรดี??
การเข้ามาของผู้แนะนำการลงทุน
ที่มาของผู้แนะนำการลงทุน
ต่อจากผู้จัดการกองทุนที่ทำหน้าที่คัดเลือกสินทรัพย์การลงทุนให้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งหน้าที่ที่สำคัญคือ ผู้แนะนำการลงทุนและนักวางแผนการลงทุน
...ที่จะมีการสังกัดอยู่ตามบริษัทจัดจำหน่ายของบลจ. ต่าง ๆ ที่จะคอยออกแบบและแนะนำสัดส่วนการลงทุนที่ควรลงในกองทุนรวมต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน ระยะเวลาที่จะใช้เงิน และอายุของผู้ลงทุนได้
โดยเบื้องต้นจะคอยแนะนำให้เห็นภาพใหญ่ก่อนว่า กองทุนรวมแต่ละแบบจะมีระยะเวลารอให้เงินเติบโตแตกต่างกัน บางกองควรรอ 2-3 ปี แต่บางกองควรรอนานมากกว่า 10 ปีขึ้นไปก็มี
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า สินทรัพย์ที่กองทุนรวมนั้นลงไปมีความผันผวนหรือความเสี่ยงขนาดไหน หากมีความผันผวนมากอย่างกองทุนรวมหุ้น ก็จำเป็นต้องให้เวลามากขึ้น เพราะบางปีอาจตก บางปีอาจขึ้น แต่เมื่อคำนวณเฉลี่ย 10 ปีเป็นต้นไป ก็จะได้ค่าเฉลี่ยเป็นขึ้นแน่นอนออกมา
ดังตัวอย่างผลประกอบการย้อนหลังของ SET index ตั้งแต่ปี 2541-2563 ในภายพด้านล่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากให้เวลาตั้งแต่ปี 1999 - 2017 (19 ปี) ตลาดหุ้นจะเติบโตจาก 481.91 จุดกลายเป็น 1753.71 จุด
ในขณะที่ถ้าหากเป็นปี 1999 - 2008 (10 ปี) ผลลัพท์จะกลายเป็นลดลงจาก 481.91 เหลือ 448.96 นอกจากเวลาที่น้อยกว่าแล้วเนื่องจากในปี 2008 เจอวิกฤตเศรษฐกิจพอดีอีกด้วย
แต่จุดสำคัญที่น่าสังเกตมากคือ ไม่มีปีใดเลยที่ตลาดจะติดลบ 2 ปีติดต่อกัน ดังนั้นการซื้อมาขายไประยะสั้นเพราะความกลัวหรือความโลภจึงอันตรายมากกว่า การเข้าใจธรรมชาติและระยเวลาการเติบโตค่ะ
ซึ่งเมื่อนำผลตอบแทนตลาดหุ้นมาเทียบกับระยะเวลาแต่ละปี ดูว่าต้องเก็บไว้นานกี่ปีจึงจะลดโอกาสที่จะขาดทุนเงินต้น ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์ดังกราฟแท่งด้านล่างค่ะ
ดังนั้นกองทุนแต่ละแบบก็จะมีสถิติที่เก็บสะสมกันมา เป็นธรรมชาติของแต่ละแบบ โดยหากเสี่ยงมากผันผวนมากแม้ให้ผลตอบแทนที่ดีแต่ก็ต้องอาศัยระยะเวลาที่จะเฉลี่ยความเสี่ยงลดความผันผวนให้นานขึ้นมากเช่นกัน โดยได้ผลลัพธ์ดังรูปต่อไปนี้ค่ะ
หลักการการลงทุนในกองทุนรวมที่สำคัญ และไม่เครียด
หากเข้าใจธรรมชาติของกองทุนรวมแต่ละแบบแล้ว ตามสถิติการลงทุนเพื่อให้ชนะตลาดได้ (ไม่ใช่เพื่อให้ได้กำไรมหาศาล) การคัดเลือกสัดส่วนสินทรัพย์ หรือ Asset Allocation จึงเป็นเรื่องที่สำคุญที่สุด
...ทำให้ผู้แนะนำการลงทุนแต่ละบุคคล ก็จะมีพอร์ตที่มีกองทุนท่าไม้ตายของตนเองอยู่ และคอยปรับสัดส่วนให้เหมาะสมตามความต้องการและความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้และระยเวลาที่ต้องการใช้เงิน ดังรูปด้านล่างนี้ค่ะ
จากนั้นก็จะมีการปรับพอร์ตอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี เพื่อยังคงสัดส่วนให้ได้เหมือนเดิมอยู่ (Rebalance) จะได้ไม่หนักไปทางกองทุนแบบใดแบบหนึ่งมากเกินไป เช่น กองทุนรวมหุ้น 30% กองทุนรวมตราสารหนี้ 70% เมื่อครบปีหุ้นเติบโตมากจนทำให้กองทุนรวมหุ้นกลายเป็น 40% กองทุนรวมตราสารหนี้ 60% เป็นต้น
จึงต้องตัดขายส่วนกำไรของกองทุนรวมหุ้นออกไปและโยกมาซื้อกองทุนรวมตราสารหนี้ เพื่อคงสัดส่วนการลงทุนเดิมไว้ ทำให้เวลาตลาดหุ้นตกลง จะสามารถนำเงินที่อยู่ในกองทุนรวมตราสารหนี้มาช้อนซื้อหุ้นกลับมาได้เช่นกัน
และเพื่อไม่ให้ต้องเครียดกับเรื่องของ Timing หรือ จังหวะการเข้าซื้อ ก็มักจะใช้วิธี DCA ที่แบ่งเงินก้อนออกเป็น 12 เดือนและทยอยเข้าซื้อทุกเดือนแทน หรือบางทีอาจแบ่งเป็น 13-14 เดือน ด้วยเดือนที่เกินมา...เพื่อจะเอาไว้ช้อนซื้อตอนตลาดหุ้นตกซึ่งเป็นการผสม Timing ที่ไม่เครียดจนเกินไปเข้ามาผสมด้วย
หรือแม้แต่จังหวะการขายก็สามารถทำ Auto-Redemption ที่เป็นการตัดขายออกมาเป็นเงินก้อนให้ใช้ทุกเดือนยามเกษียณ หรือทุกไตรมาส (ตัดขายเฉพาะส่วนกำไร) ก็มี สิ่งสำคัญคือ ต้องเก็บให้นานพอ จากนั้นจังหวะการขายออกก็สามารถทำแบบนี้ได้โดยสบายใจ
จากหลักการที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการลงทุนในกองทุนที่ดีคือ วินัยการจัดสัดส่วนที่เหมาะสม และเวลาที่นานพอเท่านั้น ไม่ต้องเครียดกับทางเลือกเทคนิคการเก็งกำไรใด ๆ ทั้งสิ้น
แต่...ถ้าสามารถนำการเก็งกำไรระยะสั้นประมาณ 6 เดือนมาผสมด้วย และคัดเลือกกองที่เหมาะสมจากที่มีกว่า 1400 กองทุน ที่ 6 เดือนย้อนหลังมีสถิติที่ดีที่สุดเข้ามาผสมกับการจัด Asset Allocation ได้ล่ะ...จะเกิดอะไรขึ้น!!?
จึงเริ่มเข้าสู่ยุคที่นำ A.I. เข้ามาช่วยคัดเลือกกองทุนรวม นั่นเองค่ะ
เข้าสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์ A.I.
ที่มาของการคัดเลือกกองทุนโดยใช้ A.I.
เนื่องจากกองทุนรวมมีจำนวนกว่า 1400 กองนั้น เป็นจำนวนที่มากเกินกว่าที่กำลังของมนุษย์จะสามารถวิเคราะห์และคัดเลือกได้ แต่ก็ไม่เกินกำลังที่คอมพิวเตอร์จะนำมาวิเคราะห์และคัดเลือกมาให้แทน
ดังนั้นจึงเริ่มมีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยประมวลผลและจำลองหากองทุนรวมที่มีผลตอบแทนย้อนหลังที่ดีที่สุดภายในระยะเวลา 3-6 เดือนหรือตามเงื่อนไขที่กำหนด
จากนั้นจึงนำกองทุนรวมที่คอมพิวเตอร์คัดได้ มาวิเคราะห์อีกครั้งโดยนักวิเคราะห์การลงทุนร่วมกับข่าวสารต่าง ๆ จึงจะได้บทสรุปว่า ในช่วงนั้นควรเลือกกองทุนรวมใดดีเพื่อมาใช้ในพอร์ตการลงทุน
โดยพอร์ตการลงทุนก็จะมีหลายแบบ เช่น พอร์ตที่เน้นการเติบโต 7%-8% ต่อปี ก็อาจมีสัดส่วนเป็นกองทุนรวมหุ้น 50% กองทุนรวมตราสารหนี้ 30% กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก 20% เป็นต้น ซึ่งจะเลือกกองทุนใดให้มาอยู่ตามสัดส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ของคอมพิวเตอร์ร่วมกับนักวิเคราะห์การลงทุนนั้นเองค่ะ
แม้มีทั้งสัดส่วนที่เหมาะสมและกองทุนที่น่าสนใจ...แต่ก็ต้องระวัง!
แน่นอนว่าการมองผลดำเนินการกองทุนรวมย้อนหลังเพียง 3-6 เดือน อาจจะไม่เพียงพอในการคาดการณ์ผลตอบแทน แต่ด้วยสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนที่ชัดเจนและตรงกับเป้าหมายที่ต้องการ ย่อมทำให้ควบคุมความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง
และการใช้เทคนิคการจับจังหวะด้วยเทคโนโลยี A.I. เข้าช่วยในการคัดเลือกและคาดการณ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ก็เปิดโอกาสให้ได้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากขึ้นจากตัวเลือกกองทุนรวมที่มีให้เลือกมากมายได้ค่ะ
สุดท้ายเราเองเป็นผู้ตัดสินใจที่จะทำตามคำแนะนำหรือไม่
การลงทุนกองทุนรวมโดยใช้วิธีนี้นั้น ผู้ลงทุนจะได้รับการแจ้งเตือนบ่อยครั้งว่าให้ทำการปรับพอร์ตเปลี่ยนแปลงกองทุนตามที่แนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีความผันผวนของเศรษฐกิจโลกค่อนข้างสูง
ซึ่งอาจสร้างความลำบากใจให้ผู้ลงทุนได้ รวมถึงค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ต้องสูญเสียไปแลกกับการทำตามคำแนะนำของคอมพิวเตอร์และนักสิเคราะห์การลงทุน
แน่นอนว่าผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจทำตามคำแนะนำหรือไม่ก็ได้ค่ะ แต่ถ้าหากไม่ทำตามก็มักจะมีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนระหว่างพอร์ตที่ A.I. แนะนำ กับพอร์ตที่ผู้ลงทุนตัดสินใจเองว่าแตกต่างกันอย่างไร เพื่อในอนาคตอาจกลับมาปรับเปลี่ยนตามได้ ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษค่ะ
ในประเด็นนี้ไม่มีถูกหรือผิดในทันทีค่ะ เพราะธรรมชาติของการลงทุนในแต่ละพอร์ตย่อมมีอายุของมันเอง และอาจต้องใช้เวลาหลายปีที่จะเห็นผลลัพธ์ว่าแบบใดจะให้ผลดีกว่ากัน ในช่วงระยะสั้นนั้นเป็นเรื่องของเทคนิคการจับจังหวะล้วน ๆ ค่ะ
แต่ก็อยู่ในสมมติฐานความเชื่อที่ว่า หากระยะสั้นเลือกเดินทางถูกไปเรื่อย ๆ อย่างไรแล้วในระยะยาวย่อมได้ทางเลือกที่ดีที่สุด แม้จะมีอีกสมมติฐานหนึ่งที่มองว่า อาจจะมีบางทางเลือกที่ระยะสั้นนั้นไม่ดีหรือดีปานกลาง แต่ในระยะยาวกลับจะดีกว่ามาก ๆ ก็มีเหมือนกันค่ะ
อย่างไรก็ตามหากผู้ลงทุนไม่ได้ทำตามพอร์ตที่แนะนำ ก็จะมีผู้แนะนำการลงทุนคอยให้คำปรึกษาพอร์ตเฉพาะของผู้ลงทุนคนนั้น ๆ อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะช่วยแนะนำได้เฉพาะสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมเท่านั้น หรือแม้แต่จะใช้ A.I. เข้าช่วยก็ได้เพียงแต่เป็นการเลือกกองทุนรวมให้แค่นั้น จะไม่สามารถไปแก้ไขการเลือกหุ้นหรือสินทรัพย์ของกองทุนรวมนั้น ๆ ได้
จนสุดท้ายจึงทำให้เกิดกองทุนรวมที่เป็นลักษณะกองทุนรวมผสมที่ทาง บลจ. ได้จัดสัดส่วนมาเป็น พอร์ตสำเร็จ ให้เรียบร้อยแล้วผ่านการเลือกกองทุนรวมที่มีภายใน บลจ. นั้นเองค่ะ
การจัดพอร์ตกองทุนรวมโดย บลจ. เอง
ที่มาการจัดพอร์ตกองทุนด้วย บลจ. เอง
โดยปกติ บลจ. จะทำการออกกองทุนรวมชนิดต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้ผู้แนะนำการลงทุน หรือนักวางแผนการลงทุน ได้ให้คำปรึกษาเรื่องการจัดสัดส่วนและการเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับจุดประสงค์ของลูกค้าท่านนั้น ๆ ได้
...ส่งผลให้หากผู้แนะนำการลงทุนมีลูกค้า 100 คน ก็อาจต้องมีพอร์ตที่แตกต่างกันถึง 100 แบบในแต่ละการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก ๆ จึงทำให้ผู้แนะนำการลงทุนมักแก้ไขด้วยการจัด พอร์ตแม่แบบ ขึ้นมา 2-5 แม่แบบ และให้ลูกค้าจัดตามแม่แบบนั้น ๆ แทนค่ะ
โดยหากในแม่แบบใดมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะมีการแจ้งกลับไปยังลูกค้าที่ใช้แม่แบบนั้น ๆ อยู่ เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะปรับพอร์ตตนเองตามพอร์ตแม่แบบหรือไม่
แต่ข้อมูลเชิงลึกที่ผู้แนะนำการลงทุนมี ก็อาจไม่ได้มากพอเท่ากับฝั่ง บลจ. เอง จึงเกิดแนวคิดที่ว่า ทำไม บลจ. ไม่จัดทำพอร์ตแม่แบบขึ้นมาเองไปเลย ซึ่งภายในพอร์ตก็คือ กองทุนรวมแบบต่าง ๆ ของกองทุนรวมเอง หากเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในกองทุนใด ๆ ในพอร์ต ทางบลจ. เองก็สามารถเข้าไปแก้ไขลงลึกในระดับกองทุนได้เองเลยด้วยค่ะ
ลดความแตกต่างของผู้แนะนำการลงทุน
การทำพอร์ตออกมาเป็นกองทุนรวมผสมของกองต่าง ๆ ภายใน บลจ. ให้นั้น ช่วยลดงานของผู้แนะนำการลงทุนสายการวางแผนการเงินก่อนและหลังเกษียณเป็นอย่างมาก จากที่ต้องมาคัดเลือกและแนะนำกองทุนให้กับลูกค้า (ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละผู้แนะนำการลงทุนก็จะแตกต่างกันไปค่ะ)
...ก็จะเหลือเพียงงานในการกำหนดระยะเวลาและเงินลงทุนที่เหมาะสม ในแต่ละแม่แบบหรือกองทุนรวมผสมนั้น ๆ เท่านั้น เช่น เป็นเงินที่ลูกค้ากำลังใช้ตอนเกษียณ ก็อาจเลือกไปที่กองทุนรวมผสมที่ให้ผลตอบแทน 3-5% ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยที่สุดเพื่อจำกัดความเสียหายของเงินลงทุนได้ (แต่ก็จำกัดผลตอบแทนเช่นกัน)
บลจ. เข้าไปล้วงลูกได้
เนื่องจากกองทุนรวมต่าง ๆ ที่ทาง บลจ. นำมาจัดพอร์ตเป็นกองทุนรวมผสมให้นั้น ก็มักเป็นกองทุนรวมของ บลจ. นั้นเองทั้งหมด ซึ่งหากต้องมีการปรับเปลี่ยนเชิงลึก บลจ. นั้นก็สามารถเข้าไปแก้ไขกองทุนรวมนั้น ๆ ได้ง่าย
โดยจะแตกต่างกับการจัดพอร์ตด้วย A.I. ที่กล่าวมา ที่การปรับจะทำได้ ก็คือการเปลี่ยนไปหากองทุนอื่นแทน เพราะไม่สามารถเข้าไปแก้ไขเชิงลึกกว่านี้ได้เหมือนที่ บลจ. สามารถทำได้
ซึ่งแต่ละ บลจ. เองต่างมีนโยบายการลงทุนของตนเองในแต่ละกองทุนรวม เช่น กองทุนรวมนี้ บลจ. เป็นคนเลือกหุ้นรายตัวเอง จึงกำหนดว่าจะเอาเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่มีโอกาสเติบโต และบริษัทเริ่มมีผลกำไรจับต้องได้จริง ๆ เท่านั้น แต่กับอีก บลจ. อาจมีนโยบายขอเพียงเลือกหุ้นที่กำลังเติบโตอย่างเดียวก็ได้ เป็นต้น
ตรงส่วนนี้ทำให้ผู้ลงทุนบางคนที่เข้าใจลักษณะนโยบายของ บลจ. ก็มักเลือกที่ บลจ. เป็นหลัก มากกว่าที่จะดูเพียงผลตอบแทนระยะสั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตามพอร์ตกองทุนรวมผสมที่ บลจ. จัดขึ้นมานั้น ก็ไม่ใช่ทุกกองที่ บลจ. จะเข้าไปล้วงลูกได้ เพราะบางกองทุนรวมก็นำเงินไปลงทุนร่วมกับกองทุนรวมต่างประเทศ ดังนั้นการเลือกหุ้นหรือสินทรัพย์ใด ๆ ก็จะเป็นหน้าที่ของกองทุนรวมต่างประเทศเป็นหลัก บลจ. ไม่สามารถล้วงลูกใด ๆ ได้
ดังนั้นอาจต้องเลือก บลจ. ที่เน้นลงทุนเองเป็นหลักที่อาจจะได้เปรียบในส่วนนี้ และมักจะเป็น บลจ. ที่ลงทุนใน ETF ของต่างประเทศแทน ที่ซื้อขายเหมือนหุ้นตัวหนึ่งและมีสภาพคล่องการซื้อขายสูงปรับตัวแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว
ควรเลือกกองทุนรวมแบบใดสำหรับเงินเกษียณ
พอร์ตนักวางแผนการลงทุน VS พอร์ต A.I. VS พอร์ตจาก บลจ.
แล้วพอร์ตทั้ง 3 แบบนี้ แบบใดที่จะเหมาะกับในวัยเกษียณ? ต้องยอมรับว่า นี่เป็นการสู้กันระหว่าง ประสบการณ์ ข้อมูล และการวิเคราะห์จัดการ ซึ่งทั้ง 3 แบบนั้นมีความแตกต่างกันไปในเชิงแท็คติคระยะสั้น ส่วนระยะยาวก็จะขึ้นอยู่กับการจัดสัดส่วนซึ่งมักไม่ต่างกันมาก
สุดท้ายด้วยสัดส่วนของพอร์ตที่จัดออกมาใกล้เคียงกัน หากให้ระยะเวลาที่เหมาะสมตามรูปต้นไม้ด้านบนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเลือกแบบใด...ก็จะลู่เข้าสู่ผลประโยชน์ตามผลตอบแทนที่ตั้งจุดประสงค์เอาไว้ เพราะไม่ได้แข่งกันที่ใครได้กำไรมากกว่า แต่ใครที่ได้ผลลัพธ์ตรงตามจุดประสงค์มากกว่าในระยะยาวค่ะ
...เพราะการเกษียณ คือ การใช้จ่ายเงินออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการป้องกันความเสียหายของเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องทำให้มีความเสถียรมากที่สุด ที่ไม่ใช่ผันผวนและแกว่งอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น แม้ผลตอบแทนย้อนหลังไม่ได้การันตีผลตอบแทนภายภาคหน้า แต่ก็อาจพอที่จะช่วยดูได้ว่า...ผลงานที่ผ่านมานั้น แบบใดที่จะทำได้ใกล้เคียงกับจุดประสงค์มากที่สุดเพื่อจะได้ไม่กระทบกับแผนเกษียณที่วางไว้ค่ะ
ต้องเลือกพอร์ตที่มีความเสถียรสูงและเสี่ยงต่ำในตอนเกษียณเสมอไปหรือไม่?
ในตอนเกษียณหากเลือกพอร์ตที่ให้ผลตอบแทน 3-4% ก็จะมีความเสี่ยงต่ำและผันผวนในวงแคบเพียง 2-3% เท่านั้น แต่ก็ส่งผลให้จำเป็นต้องเตรียมเงินที่ต้องมีใช้ในวันเกษียณจำนวนมากขึ้นหลายล้านบาทตามไปด้วย ดังรูปด้านล่างค่ะ
จากรูปจะเห็นได้ว่า...หากระยะเวลาเกษียณตั้งแต่อายุ 55-99 ปีนั้น ต้องการใช้เงินเดือนละ 40,000 บ. และไม่คิดว่ามูลค่าของเงินลดลงกี่ % ต่อปี (เนื่องจากธรรมชาติยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งใช้เงินใช้จ่ายน้อยลงเรื่อย ๆ แล้ว)
...ถ้าเงินเกษียณอยู่ในกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนคงที่ 3% ต่อปี จะต้องเตรียมเงินเกษียณมากถึง 11,748,086 บาท แต่หากให้เงินอยู่ในกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนคงที่ 6% ต่อปี จะเหลือเงินเกษียณที่ต้องเตรียมเพียง 7,462,469 บาทเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันถึง 4,285,167 บาทเลยค่ะ!!
แต่แน่นอนว่า นั่นคือการจำลองในอุดมคติค่ะ เพราะในความเป็นจริง...ยิ่งผลตอบแทนสูงถึงระดับ 6% โอกาสที่จะผันผวนจนบางปีติดลบก็สูงมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะหากติดลบในปีแรก ๆ ของการเกษียณ ก็ยิ่งทำให้เงินต้นหายไปอย่างมาก
ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจมากค่ะว่า จะทำอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนสูงอย่าง 6% ต่อปี แต่มีความเสี่ยงต่ำหรือผันผวนน้อยประมาณ 3% ต่อปีให้ได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเตรียมเงินเกษียณเพิ่มขึ้นอีกว่า 4 ล้านบาท
ซึ่งจะพอที่ทางที่จะสามารถทำได้ค่ะ!! ด้วยการใช้ระยะเวลาการเติบโตของกองทุนแบบต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์นั่นเอง
แนวทางการลงทุนกองทุนรวมตอนเกษียณ
การแบ่งระยะเวลาเกษียณออกเป็น 3 ช่วง : Time Segmentation
พระเอกในวงการวางแผนเกษียณครั้งนี้ คือ ระยะเวลาค่ะ เนื่องจากกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงควรต้องใช้เวลานานสัก 15 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่า...กองทุนรวมจะเติมโตได้เพียงพอ และลดความผันผวนออกไปได้มาก
พอยึดตัวเลข 15 ปี จึงเป็นหลักที่นำช่วงอายุวัยเกษียณตั้งแต่อายุ 55-100 ปี มาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงด้วยกัน คือ (1.) ช่วง 15 ปีแรก (2.) ช่วง 15 ปีที่สอง และ (3.) ช่วง 15 ปีที่สาม ค่ะ
ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีการทำงานของพอร์ตกองทุนรวม 3 พอร์ตด้วยกัน คือ (1.) พอร์ตเสี่ยงต่ำใช้เงินได้ทันที (2.) พอร์ตเสี่ยงปานกลางจะใช้เงินนี้ในอีก 15 ปีข้างหน้า และ (3.) พอร์ตเสี่ยงสูงจะใช้เงินนี้ในอีก 30 ปีข้างหน้า
โดยทุก ๆ 15 ปีจะมีการย้ายเงินลงทุนที่เติบโตแล้วจากพอร์ตที่มีความเสี่ยงสูง มายังพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ส่งผลให้ในทุก ๆ ปีของการเกษียณ ก็จะได้ใช้เงินจากพอร์ตที่มีความเสี่ยงต่ำเสมอนั้นเองค่ะ
...แล้วก็ยังมีพอร์ตความเสี่ยงสูงที่คอยเติบโตอยู่เบื้องหลังด้วย ทำให้เมื่อพอร์ตทั้ง 3 ทำงานร่วมกันแล้ว จึงให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพอร์ตความเสี่ยงต่ำเพียงพอร์ตเดียว แต่ก็ยังมีความผันผวนและเสถียรเท่ากับพอร์ตเสี่ยงต่ำพอร์ตเดียวได้นั้นเองค่ะ
เกษียณช่วงที่ 1 อายุ 55-70 ปี (15 ปีแรก)
แบ่งเงินลงทั้ง 3 พอร์ต สิ่งสำคัญคือ พอร์ตความเสี่ยงต่ำต้องมีเงินให้พอใช้ใน 15 ปีแรก
เกษียณช่วงที่ 2 อายุ 71-85 ปี (15 ปีที่สอง)
เมื่อครบ 15 ปีแรกและกำลังขึ้นช่วง 15 ปีที่สอง พอร์ตเสี่ยงต่ำจะใช้เงินหมดพอดี แต่จะถูกเติมเงินใหม่เพื่อให้ใช้ได้อีก 15 ปีจากพอร์ตเสี่ยงปานกลาง ในขณะที่...พอร์ตเสี่ยงสูงก็จะถูกย้ายมาแทนพอร์ตเสี่ยงปานกลางเพื่อลดความผันผวนลง และพร้อมนำเงินมาใช้ได้ในอีก 15 ปีข้างหน้าอย่างปลอดภัยค่ะ
เกษียณช่วงที่ 3 อายุ 85-100 ปี (15 ปีที่สาม)
ในช่วง 15 ปีที่สาม ก็จะนำเงินที่เติบโตจากพอร์ตเสี่ยงปานกลาง ย้ายมาใส่ในพอร์ตเสี่ยงต่ำเพื่อลดความผันผวน และทยอยใช้เงินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงอายุขัย 100 ปีนั่นเองค่ะ
ทำให้ในทุก ๆ ปีที่เกษียณจะใช้เงินจากกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงน้อยเสมอ
และเห็นได้ชัดเจนว่า...ในทุกปียังคงใช้เงินจากพอร์ตความเสี่ยงต่ำ โดยเหมือนกับตอนที่มีพอร์ตความเสี่ยงต่ำเพียงพอร์ตเดียวเลยค่ะ
บทสรุปการลงทุนกองทุนรวมตอนเกษียณ
จากกราฟจะเป็นการจำลองในสถานการณ์ที่ปีแรก ๆ ของการเกษียณซึ่งมีความผันผวนค่อนข้างสูง และหากเป็นพอร์ตความเสี่ยงต่ำชื่อว่า Retire 4% เพียงพอร์ตเดียวจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก
ในขณะที่พอร์ตเดียวอีกพอร์ตที่เน้นความเสี่ยงปานกลางชื่อว่า RISK 7% จะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เพียงแต่ในช่วงอายุ 75 ปีเป็นต้นไป...ตลาดมีการเติบโตที่ดีและส่งผลให้ท้ายที่สุดมีเงินเหลือเป็นมรดก ในขณะที่พอร์ต Retire 4% นั้นแทบจะไม่เหลือเลย
สุดท้าย การใช้ 3 พอร์ตร่วมกันชื่อว่า ReleaseyourRisk 7% จะได้ทั้งข้อดีของทั้งพอร์ต Retire 4% ที่ทนความผันผวนในช่วงปีแรก ๆ ของการเกษียณได้ และพอถึงช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้นก็มีพอร์ตความเสี่ยงสูงที่เร่งการเติบโตตามตลาดได้ด้วย
...ทำให้ในช่วงท้ายของการเกษียณ จึงเหลือเงินเป็นมรดกสูงมากกว่าพอร์ต RISK 7% ได้ในสถานการณ์การจำลองนี้ค่ะ แต่ข้อเสียก็ย่อมมีเหมือนกัน หากในปีแรก ๆ ของการเกษียณ...ตลาดเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง พอร์ตแบบ ReleaseyourRisk 7% ย่อมจะให้ผลตอบแทนได้น้อยกว่า RISK 7% นั่นเองค่ะ
ภาพจำลองแสดงการทำงานของทั้ง 3 พอร์ตใน 3 ช่วงเวลา ทำให้เห็นได้ว่า Bucket C ในตอนแรกจะถูกแบ่งเงินลงทุนให้น้อยที่สุด แต่ด้วยธรรมชาติของพอร์ตเสี่ยงสูงรวมกับระยะเวลาที่มากพอ สุดท้ายก็เติบโตเหนือทุก Bucket ได้ในที่สุดค่ะ
ฝากถึงคุณผู้อ่าน
จากที่เห็นข้างต้น การวางแผนการลงทุนในกองทุนรวมตอนเกษียณนั้นเป็นเกมระยะยาวจริง ๆ ค่ะ ซึ่งจุดประสงค์ก็คือ การลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด และยังเหลือเงินไว้ใช้จ่ายจนครบอายุขัยได้มากกว่าที่จะเน้นทำกำไรก้อนโตด้วยความเสี่ยงมหาศาลค่ะ
ซึ่งการวางแผน 3 พอร์ตเพื่อให้ได้ทั้งความเสี่ยงต่ำและผลตอบที่ดีขึ้นกว่าการใช้แบบพอร์ตเดียวนั้น ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งในแนวทางเท่านั้น โดยการจะเลือกว่าให้ A.I. ช่วยจัดการพอร์ตให้ หรือจะให้ บลจ. ช่วยจัดการพอร์ตให้นั้น
...ก็จะขึ้นอยู่กับว่า ผู้ลงทุนต้องการมีส่วนร่วมมากเท่าใด อย่างแบบ A.I. ผู้ลงทุนต้องคอยตัดสินใจร่วมด้วย แต่ถ้าเป็นแบบ บลจ. จัดการให้ เราก็จะยกการตัดสินใจให้ บลจ. ทุกอย่างไปเพื่อแลกมากับความสะดวกสบายโดยไม่ต้องทำอะไร...เพียงจัดสัดส่วนให้ดีและรอเวลาอย่างเดียวค่ะ (ทั้ง 2 แบบ สามารถปรึกษาทาง Release your Risk ได้ค่ะ)
โดยสุดท้ายไม่ว่าจะเลือกแบบใด แอนนี่อยากให้ยึดจุดประสงค์ของการจัดการเงินในช่วงเกษียณให้มีเพียงพอกับค่ากินใช้จ่ายที่จะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้นให้ดี และพยายามระมัดระวังเรื่องค่ารักษาพยาบาล (ที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ) มาแทนที่ค่ะ
ซึ่งถ้าเป็นไปได้แอนนี่คิดว่าการวางแผนให้มีประกันสุขภาพได้ตลอดชีวิต ควบคู่กับให้มีค่าใช้จ่ายตอนเกษียณได้เพียงพอ เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรจะทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งไปค่ะ
ปล. หากคุณผู้อ่านชอบบทความนี้ และเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ หรือคนรู้จักได้ แอนนี่รบกวนช่วยกดปุ่มแชร์ด้านล่างนี้ เพื่อเป็นกำลังใจในการเขียนบทความครั้งต่อ ๆ ไปค่ะ ^^ ขอบคุณมากค่ะ