วางแผนเกษียณด้วยกองทุนรวมโดยสรุป

ปัญหาของการวางแผนเกษียณ

แผนเกษียณ หนึ่งในแผนที่จะช่วยทำให้คุณทราบว่าคุณจำเป็นต้องหาเงินขั้นต่ำเท่าใด จากนั้นคุณจะได้ทำงานที่ชอบ ใช้ชีวิตที่ใช่ ได้อย่างสบายใจ..

แต่แผนเกษียณหลายรูปแบบในปัจจุบันมีปัญหาบางอย่างที่แฝงไว้แตกต่างกันไป จึงต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะเลือกใช้ เพื่อไม่ทำให้คุณ..

  • ต้องเตรียมเงินมากเกินความจำเป็น
  • ได้แผนที่มีความคลาดเคลื่อนที่สูง และไม่แน่ใจว่าสูงเพียงใด
  • ได้เครื่องมือการเงินที่ไม่เหมาะกับเวลาที่จะเงินตอนเกษียณ
  • ใช้เครื่องมือการเงินผิดวัตถุประสงค์และจ่ายแพงเกินจริง
  • พบว่าเงินที่เตรียมมาหายไปอย่างรวดเร็วไม่ต่างกับถูกปล้น

ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นจากที่ปรึกษาทางการเงิน นักวางแผนการเงิน/การลงทุนในปัจจุบัน มักจะอยู่ในสายงานด้านประกันชีวิต หรือเป็นผู้แนะนำการลงทุนควบคู่ไปด้วย (รายละเอียด.. บทความรูปแบบของที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล)

จึงมีโอกาสที่อาจจะถูกความชอบบางอย่าง ทำให้เน้นแนะนำเครื่องมือการเงินแบบใดแบบหนึ่งมากกว่าอีกแบบหนึ่งได้ ซึ่งทาง Release your Risk เองก็ไม่ต่างกัน แต่เราจะมีความลำเอียงไปในลักษณะแนะนำให้ใช้เครื่องมือการเงินให้ถูกจุดประสงค์ของเครื่องมือนั้นๆ มากกว่าการเลือกใช้เพียงเครื่องมือเดียว

รวมไปถึง เรามองว่าใครเชี่ยวชาญเรื่องใดและเข้าใกล้ข้อมูลใดได้มากกว่า ก็ควรจะได้ทำหน้าที่ส่วนนั้นอย่างเต็มที่ มากกว่าที่ทางเราจะรวบทุกอย่างมาทำด้วยตนเองทั้งหมด

อย่างเช่น ที่ปรึกษาการเงินเชี่ยวชาญเรื่องเงื่อนไขของเครื่องมือการเงินและการจำลองคาดการณ์ก็ควรจะเน้นในส่วนการวางแผนประเภทของสินทรัพย์ที่จะลงทุนเป็นหลัก ในขณะที่ถ้าเป็นการจับจังหวะ การคัดเลือกสินทรัพย์ การปรับตัวตามสถานการณ์ จะควรให้เป็นหน้าที่ของ บลจ. และผู้จัดการกองทุน ที่มีความชำนาญและอยู่ใกล้ข้อมูลมากกว่า เป็นต้น

ดังนั้นบทความนี้จึงเน้นให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนเกษียณแบบต่างๆ ตามมุมมองที่กล่าวมา และเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการวางแผนเกษียณในปัจจุบันว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไรบ้างในปัจจุบัน และแต่ละแบบมีข้อดีข้อจำกัดอย่างไร

Unit-Linked เครื่องมือแรกที่ตัวแทนประกันมักหยิบยกขึ้นมาเมื่อพูดถึงแผนเกษียณ

1 UnitLinked
  • Unit-Linked หนึ่งในเครื่องมือการเงิน ที่เวลาต้องการวางแผนเกษียณผ่านกองทุนรวมมักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นอันดับหนึ่งในปัจจุบัน ด้วยเพราะมีทั้ง การลงทุน และ การทำ Hedging ด้วยประกันชีวิตและประกันทุพพลภาพถาวร (สำหรับในกรณีที่เกิดโชคร้ายจากไปหรือต้องทุพพลภาพถาวรอย่างน้อยจะมีทุนประกันมาช่วยให้ได้เงินตามเป้าหมายการวางแผนเกษียณ หรืออย่างน้อยมีเงินก้อนที่จะไม่ขาดทุนจากการลงทุนแน่นอน)
  • และด้วยเพราะบริษัทประกันชีวิตได้จัดทำเครื่องมือคำนวณวางแผนเกษียณด้วย Unit-Linked ออกมาให้ตัวแทนได้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหามาเพิ่มเติม รวมถึง Unit-Linked เป็นหนึ่งในเครื่องมือการเงินที่ยกความเสี่ยงด้านการลงทุนทั้งหมดมาให้กับผู้ทำประกัน จึงส่งผลให้แทบทุกบริษัทจึงเน้นขายเครื่องมือนี้เป็นพิเศษ
  • แต่ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือที่มีการหักค่าการประกันภัย และค่าดำเนินการต่างๆ ออกไปทุกเดือน ไม่ได้ลงทุนแล้วปล่อยให้เติบโตเป็นระยะเวลายาวนานเพียงอย่างเดียว
  • กลต. จึงบังคับให้สามารถจำลองพอร์ตกองทุนรวมที่ผลตอบแทนเฉลี่ยคาดการณ์ได้ไม่เกิน 5% ต่อปีเท่านั้น รวมไปถึงจะต้องเป็น 5% เท่ากันตลอดไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเกษียณ
  • เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไม่ควรเลือกความเสี่ยงที่เกินจากนี้ ไม่อย่างนั้นจะมีความคลาดเลื่อนที่สูงเกินไป ทั้งในช่วงใกล้เกษียณ และช่วงหลังเกษียณที่ค่าการประภันภัยสูงขึ้นอย่างมาก
  • ดังนั้น Unit-Linked จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่หากเน้นเฉพาะการลงทุนแล้ว จะมีข้อจำกัดและขาดความยืดหยุ่นในการจำลอง แต่ถ้าเน้นเฉพาะเรื่องประกันชึวิตที่สามารถปรับทุนชีวิตได้สูงกว่าประกันชีวิตแบบ Term บางอายุแล้ว ตัว Unit Linked ดูจะน่าสนใจอย่างมาก
  • มีหลายบทความที่มักจะนำ Unit-Linked มาเปรียบเทียบกับ ประกันชีวิต+กองทุนรวม (ของทางเราก็มีบทความหนึ่งที่ เปรียบเทียบระหว่างประสุขภาพปกติ และประกันสุขเบี้ยคงที่)
  • โดยทางเรายังคงมองว่า Unit-Linked เหมาะกับการทำหน้าที่ Hedging คือ เป็นประกันชีวิตทุนคุ้มครองสูงถึงอายุ 60 ปีหรือช่วงก่อนเกษียณเป็นหลัก ทั้งนี้ในส่วนการลงทุนจะแยกออกมาใช้ กองทุนรวมลดหย่อนภาษีกับกองทุนทั่วไปแทน เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์ของแต่ละเครื่องมือมากที่สุด

Mutual Funds กองทุนรวม ที่มีเยอะมากมาย

2 MutualFunds
  • เมื่อเริ่มเข้าใจว่าศักยภาพที่สำคัญที่สุดของ Unit-Linked อยู่ที่การให้ความคุ้มครองที่สูงจนถึงเกษียณ ผ่านการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว  
  • จากนั้นในแผนเกษียณจึงต้องหันมาใช้เครื่องมือการเงินอย่าง กองทุนรวม แทนอย่างเต็มที่
  • แต่เครื่องมือการจำลองที่มีในไทยปัจจุบัน จะยังใช้แนวคิดเก่าอยู่ 
  • จึงเป็นเพียงการกำหนดผลตอบแทนคาดการณ์ที่แตกต่างกัน ระหว่างก่อนและหลังเกษียณเท่านั้น
  • ด้วยข้อจำกัดนี้ จึงส่งผลให้ผลการจำลองสามารถมีความคลาดเคลื่อนได้หากตอนใกล้เกษียณเป็นตลาดขาลง
  • ทำให้พอใกล้เกษียณจะต้องทยอยมาปรับลดความเสี่ยงการลงทุนให้ต่ำลงเอง ส่งผลให้แตกต่างกับที่ได้จำลองมาตั้งแต่แรก
  • และเป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควรหากในพอร์ตการลงทุน มีกองทุนรวมอยู่หลายกอง 
  • ทั้งนี้ในปัจจุบัน บลจ. แต่ละแห่งพยายามจะแก้ไขปัญหาการเลือกกองทุนรวมเองภายในพอร์ตของผู้ลงทุน ผ่านการสร้างกองทุนผสมแบบ Asset Allocation ที่ บลจ. จะเลือกกองทุนรวมต่างๆ ใน บลจ. มาจัดพอร์ตให้ โดยมีความเสี่ยงให้เลือกอย่างน้อย 3 ระดับ คือ ต่ำ กลาง สูง
  • ดังนั้นหากต้องการลดความเสี่ยงลง ก็เพียงสับเปลี่ยนกองทุนผลมความเสี่ยงสูง เป็นกองทุนผสมความเสี่ยงกลางหรือต่ำเท่านั้น

Mutual Funds แบบ Target Date ลดความยุ่งยากในการดูแล

3 TargetDate
  • ด้วยปัญหาที่ต้องคอยสับเปลี่ยนกองทุนเพื่อลดความเสี่ยงความผันผวนเองในตอนใกล้เกษียณนั้น
  • บาง บลจ. จึงได้ออกกองทุนรวมประเภทที่ทยอยลดความเสี่ยงลงให้อัตโนมัติเมื่อใกล้เกษียณ
  • ที่มีชื่อกองทุนว่า Target Date RMF ซึ่งมักจะลงท้ายด้วย ปี ค.ศ. ที่จะเกษียณ
  • เช่น BCAP2050RMF จะหมายถึงปี 2050 สินทรัพย์เสี่ยงในกองทุนจะถูกปรับเหลือ 20% เท่านั้นในอัตโนมัติ จากตอนที่กองทุนก่อตั้งปี 2020 ที่สินทรัพย์จะเสี่ยงสูงถึง 85%
  • และด้วยเป็นการผูกผันกองทุนกับแผนเกษียณ จึงทำให้กองทุน Target Date นี้เป็นกองประเภทลดหย่อนภาษีได้ทั้ง RMF และ PVD ร่วมถึงมีในแผนของ กบข. ด้วย
  • ซึ่งแผน Target Date ทั้ง PVD และ กบข. จะได้เปรียบกว่า RMF ตรงที่มีเงินสบทบจากนายจ้างเพิ่มขึ้นมาช่วยลดความผันผวนของแผนเกษียณได้อีกทาง นอกเหนือจากเงินคืนภาษีที่ได้ลดหย่อนไป
  • หรือบางแผนเกษียณอาจนำเงินสบทบที่ได้นี้มาเป็นเงินส่วนบำเหน็จ ไว้ใช้จ่ายฉุกเฉินด้านสุขภาพเท่านั้นก็ได้เช่นกัน 

Time Segmentation เลือกกองทุนรวมให้เหมาะตามช่วงอายุเกษียณต่างๆ

4 TimeSegmentation A
  • อย่างไรก็ตามการลดสินทรัยพ์เสี่ยงจนเหลือเพียง 20% โดยอัตโนมัติของ Target Date RMF อาจจะน้อยเกินไป เพราะเมื่อนำไปรวมกับเงินคืนภาษีที่ได้กลับคืนมานั้น จะสามารถใช้เงินส่วนนี้ลดความผันผวนที่คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายได้ด้วย
เงินคืนภาษี
  • ส่งผลให้อาจต้องมีการเลือกกองทุน Target Date ในปีที่ไกลกว่าปีที่เกษียณจริง เช่น หากเกษียณปี ค.ศ. 2050 ให้เลื่อนไปเลือกกองทุน Target Date RMF กอง2060 หรือ กอง2070 แทน เพื่อที่พอถึงปี ค.ศ. 2050 สินทรัพย์เสี่ยงจะเหลือสัดสวนประมาณ 40%-50% ซึ่งไม่มากไม่น้อยเกินไปนัก
  • แต่กอง2060 กอง2070 อาจจะยังไม่ออกมาจนกว่ากองก่อนหน้าอย่าง กอง2030 ได้ถึงปี ค.ศ.2030 ตนเเองแล้ว จึงอาจต้องใช้กอง2050 ไปก่อนจนกระทั่งกอง2060 ออกมา จึงค่อยสับเปลี่ยนกอง2050 ไปกอง2060
  • จากนั้นสามารถนำมูลค่ากองทุนสะสมที่ได้ตอนเกษียณ เช่น ตอนอายุ55 ปี มาแบ่งให้เข้ากับกองทุนผสมเสี่ยง สูง กลาง ต่ำ ตามเวลา (Time Segmentation) ต่อไปได้อย่างเหมาะสม
  • ทั้งนี้ บลจ. ด้วยส่วนมากมักจะอ้างอิงสถิติย้อนหลังว่า กองทุนดัชนีที่เสี่ยงสูงนั้นหากลงทุนนานเกิน 15 ปีขึ้นไป จะไม่ขาดทุน
  • ทำให้พอเป็นกองทุนผสมเสี่ยงสูงจึงมักแนะนำให้ลงทุนนาน 10-15 ปีขึ้นไป เสี่ยงกลางที่ 7-10 ปีขึ้นไป และเสี่ยงต่ำที่ 3-5 ปีขึ้นไป แล้วจึงค่อยขายกองทุน เพื่อให้กองทุนความเสี่ยงนั้นๆ ได้มีระยะเวลาในการเติบโตและเฉลี่ยผลตอบแทนจนลดความผันผวนลงได้
  • จุดนี้เองหากแบ่งช่วงอายุเกษียณออกเป็นทีละ 15 ปี ก็จะช่วยให้เงินเกษียณไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในกองทุนผสมเสี่ยงต่ำทั้งหมดเสมอไป
  • โดยเงินก้อนใดที่อีก 15 ปีจะได้ใช้ ก็ให้สามารถอยู่ในกองทุนผสมเสี่ยงกลางได้ และอีก 30 ปีจะได้ใช้ก็ให้อยู่กองทุนผสมเสี่ยงสูงได้ ในขณะที่กองทุนผสมเสี่ยงต่ำก็ให้เป็นกองทุนที่เน้นทยอยขายออกมาใช้จ่ายในทุกปี
  • จึงเสมือนว่ากองทุนผสมเสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง เป็นแผนสำรองให้กับกองทุนผสมเสี่ยงต่ำนั้นเอง 
  • ทั้งยังเป็นการปรับความเสี่ยงการลงทุนให้สอดคล้องกับอัตรามรณะของคนไทยที่โอกาสอายุจะยืนยาวน้อยลงเรื่อยๆ เมื่ออายุยิ่งมากขึ้น
  • วิธี Time Segmentation นี้ จึงเหมือนเป็นการปรับให้เข้ากับทั้งระยะเวลาเติบโตของกองทุนผสมความเสี่ยงต่างๆ กับอัตรามรณะตามอายุ จึงสามารถช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องเตรียมสำหรับการเกษียณลงได้พอสมควร
Time segmentation
  • โดยแนวคิดที่ปรับความเสี่ยงของการลงทุนตามอายุเกษียณที่จะใช้เงินนั้น มีมาได้ได้สักพักแล้ว โดยจะชื่อว่า The Income for Life Model ของ ฟิลลิป ลูบินสกี
  • ซึ่งมีหลักการในการแบ่งช่วงของอายุเกษียณออกเป็นช่วงทั้ง 6 ช่วง หรือการทำ Time Segmentation นั้นเอง
  • แต่ด้วยกองทุนผสม Asset Allocation ที่ไม่ในไทยในปัจจุบัน มักจะมีเพียง 3 กอง คือ สูง กลาง ต่ำ เท่านั้น จึงทำให้ต้องปรับจากการทำ Segmentation จาก 6 ส่วน เป็น 3 ส่วน ดังรูปด้านล่างนี้นั่นเอง

Time Segmentation ทั้งก่อนและหลังเกษียณ

5 TimeSegmentation B
  • ในรูปแบบ A ที่แล้วจะเป็นการ Segmentation โดยแบ่งเงินเพียงเฉพาะตอนเกษียณเท่านั้น
  • ซึ่งทำให้กองทุนผสมทั้งเสี่ยงกลางและเสี่ยงสูง จะต้องถูกบังคับให้ลดความเสี่ยงลงทั้งหมด ภายใต้กองทุน Target Date
  • ส่งผลให้ควรที่จะเลือกกองทุน Target Date ในปี ค.ศ. ไกลจากที่ต้องการเกษียณจริงสัก 10 ปี เพื่อไม่ให้พอร์ตตอนเกษียณมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงน้อยจนเกินไป
  • ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ระยะเวลาการเติบโตของกองทุนผสมเสี่ยงกลาง และเสี่ยงสูง โตได้อย่างเต็มที่ และสามารถใช้กองทุน Target Date กองเดียวได้เลย ไม่ต้องคอยสับเปลี่ยนกอง
  • การแบ่งเงินออกเป็น 3 ช่วง จึงควรเริ่มทำตั้งแต่ตอนก่อนเกษียณ
  • โดยสามารถแบ่งเงินลงทุนได้ทั้ง กอง Target Date กองผสมเสี่ยงกลาง และกองผสมเสี่ยงสูง ซึ่งควรเน้นเป็นกองลดหย่อยภาษีทั้ง SSF หรือ RMF เช่นเดิม

แต่..แผนเกษียณทั้งหมดสามารถล้มละลายได้

6 Problem
  • จากแผนที่ผ่านมาดูจะค่อนข้างสมบูรณ์ คือ สอดคล้องทั้งกับธรรมชาติของเครื่องมือ และธรรมชาติของอัตรามรณะ
  • แต่จุดอันตรายของแผนที่ผ่านมาทั้งหมดคือ ยังไม่ได้มีการป้องกันให้แผนสามารถดำเนินได้ตามเมื่อเผชิญเหตุการณ์หรือภัยที่ไม่คาดคิด
  • เพราะหากโชคไม่ดีเจอเหตุร้ายอย่าง รถชน อุบัติเหตุ เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย หรือ ภาระหนี้สิ้นที่ถูกส่งต่อมาพร้อมมรดก ไม่ว่าจะเป็นช่วงก่อนหรือหลังเกษียณก็ตาม
  • ย่อมจะทำให้แผนเกษียณผิดพลาด หรืออาจจะล่มสลายทั้งหมดเลยก็เป็นได้ เช่น ต้องเสียค่ารักษาโรคมะเร็งเดือนละแสนขึ้นไปในตอนเกษียณ  หรือ เกิดอุบัติเหตุรุนแรงก่อนเกษียณที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เป็นต้น
  • ซึ่งเหตุร้ายที่ไม่คาดคิดเหล่านี้ การจะใช้เงินตนเองอย่างเดียวในการจัดการเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก โดยเฉพาะเมื่อมีวิธีและโอกาสที่สามารถใช้เงินผู้อื่น (OPM : Other People's Money) ในการจัดการกับเหตุร้ายเหล่านี้ได้

การปกป้องแผนเกษียณด้วยเงินผู้อื่น OPM

7 LifeInsurance
  • การแบ่งเวลาเพื่อศึกษาเครื่องมือ OPM ทั้งประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ที่ช่วยเฉลี่ยความเสี่ยงกับคนจำนวนมากเป็นเรื่องที่สำคัญมาก (ถ้าเป็นในเรื่องของดวงก็เรียกว่าเป็นการเฉลี่ยดวงได้เลย สังเกตว่าอุบัติหลายครั้งมักเกิดตอนที่ไม่ได้ต่ออายุประกันแล้ว)
  • เพราะการจะเข้าถึงเงินของผู้อื่นได้ผ่านทางเครื่องมือเหล่านี้นั้น ไม่ได้ทำได้ทุกคน เพราะจะมีเงื่อนไขต่างๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ และเลือกที่เหมาะสมกับอายุและเงื่อนไขทางสุขภาพของตนเองก่อน
  • ทางเราจะคิดเสมอว่า ไม่ควรที่จะให้เครื่องมือเหล่านี้วิ่งเข้าหาผ่านการนำเสนอของผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผู้ที่ถูกกดดันให้ทำยอดขาย
  • แต่ควรเป็นตัวเราเองที่วิ่งเข้าหาและทำความเข้าใจเครื่องมือเหล่านี้อย่างถ่องแท้ แล้วนำความรู้ที่ได้ไปเลือกใช้เครื่องมือผ่านผู้แนะนำที่มีความเข้าใจและมุมมองการใช้เครื่องมือในลักษณะเดียวกัน
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองสูงตอนก่อนเกษียณ และประกันสุขภาพที่สามารถครอบคลุมค่ารักษาโรคร้ายอย่างมะเร็งได้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  • ด้วยเหตุนี้ประกันสุขภาพจึงมักต้องถูกนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการวางแผนเกษียณด้วยเสมอ เพราะเบี้ยประกันสุขภาพจะเพิ่มขึ้นสูงตามอายุ และไม่เหมาะที่จะนำเงินที่ได้จาก Active Income มาจ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเกษียณ แต่ควรใช้เงินที่ได้จากการเติบโตตามการวางแผนมาจ่ายเบี้ยมากกว่า
  • รวมถึงจำเป็นต้องเริ่มแบ่งประเภทของเงินบำนาญให้ชัดเจน สอดคล้องกับธรรมชาติการเติบโตของเงินผ่านเครื่องมือต่างๆ ด้วย ไม่ใช่มองว่าบำนาญทุกอย่างมีหน้าที่เดียวกันเสมอ

การแบ่งประเภทเงินบำนาญให้ตรงกับเครื่องมือทางการเงิน

8 Annuity
  • การวางแผนเกษียณยอดนิยมในปัจจุบันมักจะจบที่กองทุนรวม แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องระยะเวลาเติบโตของกองทุนผสมความเสี่ยงต่ำแล้วนั้น
  • จะไม่จบที่เพียงกองทุนรวม ถึงแม้จะมีแผนสำรองอย่างกองทุนผสมความเสี่ยงกลางและสูงอยู่แล้วก็ตาม
  • เพราะอย่างไรแล้ว การแบ่งประเภทของเงินบำนาญตามวิธีการใช้จ่ายที่สอดคล้องกับธรรมชาติของเครื่องมือการเงินยังจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งประเภทของบำนาญสามารถแบ่งแบบเรียบง่ายที่สุดได้ดังนี้ 
    • 1.บำนาญส่วน Need ที่จำเป็นต้องใช้เป็นขั้นต่ำทุกเดือน เช่น ค่าปัจจัย 4 พื้นฐานที่จำเป็นจริงๆ
    • 2.บำนาญส่วน Want ที่เน้นเพิ่มความสะดวกสบายให้กับ Need และสามารถใช้น้อยกว่างบที่ตั้งไว้ได้
  • ซึ่ง Need เป็นส่วนที่ต้องการเครื่องมือการเงินที่มีความแน่นอนสูง อย่างประกันบำนาญ ไม่ว่าจะเป็นที่ได้จากทั้งประกันสังคมหรือประกันบำนาญที่ทำเองก็ตาม
  • แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่า Need คือ ความจำเป็นพื้นฐานเท่านั้น จึงทำให้ก่อนที่จะเกษียณหากได้ทดลองหาค่าใช้จ่ายตรงนี้ดีๆ ว่าสามารถอยู่ได้ด้วยเงินน้อยที่สุดเท่าไรต่อเดือน พร้อมทั้งฝึกวิชาตัวเบาจากความต้องการต่างๆ ให้สำเร็จ
  • ในส่วน Want มักไม่คงที่แล้วแต่โอกาสตามใจความสบาย ซึ่งมักจะใช้เยอะในช่วงแรกของการเกษียณและจะลดลงเรื่อยๆ ตามอายุ ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้จึงสามารถใช้กองทุนผสมเสี่ยงต่ำได้ หรือ สามารถใช้รายได้จากงานอดิเรกเข้ามาร่วมด้วย หรือ รายได้จากธุรกิจต่างๆ ที่ได้สร้างไว้
  • ดังนั้น การเกษียณ จึงไม่ได้หมายความว่าไม่ทำงานเลย แต่ยังคงมีการทำงานโดยที่ปลดภาระเรื่องเงินไม่ให้เป็นปัจจัยหลักอีกแล้ว และเน้นที่สุขภาพจิตและกายเป็นหลักแทนนั่นเอง
  • ในส่วนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หรือ ค่ารักษาพยาบาลนอนที่ รพ.เอกชน ดีๆ รักษาได้รวดเร็ว ก็จะอยู่ในค่าใช้จ่ายส่วน Want นี้ด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสการใช้เป็นแบบรายปีเท่านั้น
  • รวมไปถึงด้วยอัตรามรณะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การผลักให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เป็น Need จะต้องใช้เงินทำประกันบำนาญที่สูงมาก ซึ่งกลับกันกับโอกาสที่จะได้ใช้ที่จะลดลงเรื่อยๆ
  • หรือ อาจสรุปได้ว่า Need คือการคิดบำนาญจากการใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆ และ Want นั้นจะคิดบำนาญจากรายได้ที่มีในปัจจุบันและชอบให้มีการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายอย่างไรบ้าง
  • Need กับ Want จึงเป็นประเภทบำนาญที่สำคัญ รวมถึงยังมี บำเหน็จ ที่ควรเตรียมวางแผนไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้แล้วและต้องหวังพึ่งสวัสดิการรัฐ(ที่ต้องรอ) การมีบำเหน็จเป็นเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับค่ารักษาต่างๆ จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าไม่มีบำเหน็จอาจทำให้เงินส่วน Want ที่เตรียมไว้หมดไปอย่างรวดเร็วผิดแผนเกษียณได้
  • ซึ่ง บำเหน็จ จริงๆ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ บำเหน็จสำหรับค่ารักษา และ บำเหน็จสำหรับค่าความบันเทิง โดยแทนทางการลงทุนเพื่อสร้างบำเหน็จทั้ง 2 แบบนั้นแตกต่างกัน
    • บำเหน็จสำหรับค่ารักษา มักใช้การลงทุนผ่านกอง Target Date ตั้งแต่ก่อนเกษียณเพราะมีความจำเป็นสูง
    • บำเหน็จสำหรับค่าความบันเทิง มักใช้เงินที่เหลือจากการลงทุนตามแผนเกษียณ มาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ หรือเรียกว่า ลงทุนเสี่ยงสูงเมื่อพร้อมนั่นเอง

การลงทุนเสี่ยงสูงเมื่อพร้อม..หมายความว่าอย่างไร

9 HighRiskInvestment
  • บำเหน็จส่วนการท่องเที่ยวและความบันเทิง หรือ Fun นั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้เป็นอย่างแรกๆ ต่างกับ Need หรือ Want (บางอย่าง) ที่ยากจะประหยัดได้จริงๆ
  • บำเหน็จส่วนนี้จะใช้เยอะในช่วงแรกของการเกษียณเท่านั้น เพราะเป็นการหยุดพัก ทั้งพักจริงๆ และพักเพื่อตามหาจุดเริ่มต้นของการทำงานใหม่ที่ชอบและเหมาะกับร่างกายสุขภาพที่สูงวัยมากขึ้น
  • เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายแบบที่มีความจำเป็นน้อยที่สุด ดังนั้นจึงเหมาะอย่างยิ่งที่ใช้เงินลงทุนที่เหลือหรือเกินจากการวางแผนเกษียณของ Need Want กับบำเหน็จส่วนค่ารักษา มาใช้ในการวางแผนส่วนนี้ และสามารถลงทุนที่เสี่ยงสูงมากๆ ได้
  • เพราะต่อให้การลงทุนส่วน Fun นั้นผิดพลาด แต่อย่างไรแล้วก็ยังมีการวางแผนทั้งส่วน Need และ Want ที่คอยดูแลให้ล้มบนฟูกได้อยู่
  • ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้นทันทีว่า ควรจะลงทุนเสี่ยงสูงมากๆ ได้ ในตอนที่รู้แล้วว่า มีเงินที่พร้อมสำหรับเกษียณเบื้องต้นแล้ว นั่นเอง
  • โดยหากพร้อมแล้ว ก็จะสามารถลงทุนเสี่ยงสูงได้อย่างสบายใจ ได้ทดลอง ได้ลองผิดลองถูกโดยไม่เครียด จนเกิดความชำนาญ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จขึ้นมาก็ย่อมทำให้สามารถพักผ่อนท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ อย่างสบายใจ
  • รวมถึงยังเป็นแผนสำรองสุดท้ายให้กับแผนเกษียณได้อีกด้วย 

สรุปแนวคิดการวางแผนเกษียณด้วยกองทุนรวม

จากแนวทางการวางแผนทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นมาเรื่อย จะสามารถสรุปเป็นภาพรวมได้ดังต่อไปนี้

10 สรุปแผนเกษียณ 1
11 สรุปแผนเกษียณ 2
12 สรุปแผนเกษียณ 3
  • ด้วยภาพรวมทั้งหมดที่พัฒนาขึ้นตามธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่มีในปัจจุบันนั้น
  • จะทำให้เห็นภาพคำตอบของคำถามที่ว่า "ชีวิตนี้ต้องหาเงินอีกเท่าไรจึงจะหยุดได้?" ขึ้นมาบ้าง
  • ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่หากตอบได้ก็จะทั้งทำให้รู้ว่ายังขาดเงินอีกเท่าไร (ต้องลุยทำงานอีกมากแค่ไหน ต้องมีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่)
  • และยังช่วยให้รู้ว่าเงินส่วนที่เตรียมไว้ได้เกินเป้าหมายการเกษียณแล้วหรือยัง (เพราะถ้าเกินแล้วก็สามารถตัวเบาทำในสิ่งที่ชอบหรือลงทุนเสี่ยงสูงได้อย่างสบายใจ)
  • ซึ่งการจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นของคำตอบนี้ได้ จะจำเป็นต้องทำการจำลองคาดการณ์ เพื่อหาเงินที่ต้องใช้ในการเตรียมเกษียณตามความต้องการ และตามอายุเริ่มต้นในการเตรียมเกษียณนี้ขึ้นมา
  • ทั้งนี้ในแผนต่างๆ ทั้งหมดที่กล่าวมา จะยังเป็นเพียงการจำลองโดยใช้ผลตอบแทนคาดการณ์เฉลี่ยคงที่ต่อปีเท่านั้น
  • จะยังไม่ได้มีการนำค่าความผันผวน (S.D.) ของกองทุนผสมความเสี่ยงต่างๆ เข้ามาร่วมพิจารณาในแผนด้วยเลย ซึ่งมีความจำเป็นต่อการจำลองอัตราความสำเร็จของแผนเกษียณเป็นอย่างมาก
  • ขั้นตอนต่อไปจากนี้ จึงจะลงลึกในรายละเอียดของการจำลองตามแผนเกษียณ Time Segmentation นี้ให้มากขึ้น โดยจะอยู่ในบทความถัดไป ที่จะได้เริ่มเห็นความสำคัญของการสร้างรายได้หลายทางอย่างมาก เพราะถ้ารายได้มากพอแผนเกษียณอาจใช้เวลาเพียง 1-5 ปี ในการเตรียมแผนก็เป็นได้ (แล้วจึงค่อยปลดภาระของรายได้บางช่องทางที่ทำให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจเกินไปออกไปได้)

แผนเกษียณแบบ Time Segmentation ดูน่าสนใจ แต่จะเลือกกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุน RMF อย่างไรดี และควรจัดพอร์ตอย่างไร

คลิกหาคำตอบกับ 

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • แอนนี่ค่ะ2

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก