บทขายที่ทรงพลังของประกันโรคร้ายแรง มักจะประกอบไปด้วยประโยคโฆษณาเหล่านี้
- สถิติการเป็นโรคร้ายแรงที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกปี (ซึ่งเป็น Fact จริง ๆ ในบางโรคร้ายแรงที่เสี่ยงสูง)
- เบี้ยไม่สูง เพียงวันละ 2-20 บาท
- คุ้มครองโรคร้ายกว่า 60 - 100 โรค
- คุ้มครองทุกระยะของโรค ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นรุนแรง
- เบี้ยคงที่ จ่ายสั้นคุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปี
- เจอจ่ายไม่จบ เคลมได้กลุ่มโรคอื่นได้อีก
- หยุดจ่ายเบี้ยทันทีเมื่อเป็นโรคร้ายแรง พร้อมให้ความคุ้มครองต่อ
- กลับมาเป็นโรคเดิมซ้ำ สามารถเคลมซ้ำได้อีกครั้ง
- ไม่เคลมมีเงินคืน เบี้ยไม่จ่ายทิ้ง ประหยัดกว่าประกันสุขภาพ
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำโฆษณาที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ยิน โดยการที่บริษัทจะทำให้ครบตามนี้ได้จำเป็นต้องเก็บเบี้ยที่สูงในระดับหนึ่ง รวมถึงต้องมีเงื่อนไขบางอย่างตามมาด้วย
โดยเเงื่อนไขเหล่านี้ลูกค้ามักไม่อ่าน ผู้ขายมักไม่บอก จะรู้และเข้าใจอีกที ก็คือตอนที่ไม่สามารถเคลมประกันโรคร้ายได้แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ก่อนจะทำประกันโรคร้ายแรง จะต้องเริ่มต้นที่ทำความเข้าใจเงื่อนไขการเคลมของประกันโรคร้ายก่อนดังต่อไปนี้
เงื่อนไขการเคลมที่ต้องเข้าใจ
และนี้คือ เงื่อนไขของโรคร้ายแรงขั้นรุนแรงที่จะสามารถเคลมได้ตามข้อกำหนด คปภ. >> คลิกอ่าน << (ข้อกำหนดนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมานานหลายสิบปีทำให้ปัจจุบันอาจไม่ครอบคลุมการเคลมในวิธีการรักษาบางอย่างในบางโรคร้ายแรง) โดยทุกบริษัทประกันนั้นใช้เหมือนกันตามกฏของ คปภ. ในส่วนของโรคร้ายขั้นรุนแรง
ดังนั้นไม่ใช่เพียงมีชื่อโรคร้ายแรงอยู่ในรายการความคุ้มครองแล้วจะสามารถเคลมได้เสมอไปต้องพิจารณาทั้งเงื่อนไขและข้อยกเว้นความคุ้มครองร่วมด้วย โดยตัวอย่างเงื่อนไขและข้อยกเว้นความคุ้มครองที่สำคัญบางส่วน จะมีดังนี้เช่น
เงื่อนไข : ต้องผ่านการรักษาอย่างเต็มที่มาแล้วเท่านั้น
- มีการสูญเสียหน้าที่ของหัวใจห้องล่างซ้ายอย่างถาวรเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 90 วัน แม้ได้รับการรักษาอย่างเต็มที่
- การสูญเสียอย่าง ถาวรและไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้
- ภาวะโรค ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยมาตรการทางยาใด ๆ
เงื่อนไข : สูญเสียหรือกลับมาทำงานไม่ได้อย่างถาวร
- อวัยวะอยู่ในระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ดังเดิม
- ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองอย่างถาวรตั้งแต่ 1-3 อย่างขึ้นไป ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลา อย่างน้อย 45-180 วัน (ยกของ เดิน อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหาร ขับถ่าย)
- ต้องเป็นตับแข็ง เป็นดีซ่าน อย่างถาวร
- จำเป็นต้องให้ออกซิเจน ตลอดไป
- ขนาดของตับ ลดลงอย่างรวดเร็ว ร่วมกับมีการตายของตับ ทั้งกลีบ
- ภาวะล้มเหลวในระบบการสร้างเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดจากไขกระดูก อย่างถาวร
- ไตวายเรื้อรัง ทั้ง 2 ข้าง จนไม่สามารถฟื้นกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พิการทางระบบประสาทและภาวะแทรกซ้อน อย่างรุนแรงและถาวร
- สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของร่างกายตามปกติได้ อย่างถาวร
- การสูญเสียการทำงานและการรับความรู้สึก แบบสมบูรณ์และถาวร
เงื่อนไข : ต้องถึงระดับอันตรายร้ายแรงแล้วเท่านั้น
- ต้องเป็นอันตรายถึงชีวิต สร้างความเสียหายให้แก่สมอง
- หลอดเลือดหัวใจ 3 เส้นหลัก ต้องตีบอย่างน้อยร้อยละ 60
- ไม่รวมถึงการผ่าตัดขนาดเล็ก
เงื่อนไข : ต้องไม่มีสาเหตุจากการดื่มสุรา การทำผิดกฏหมาย ทะเลาะวิวาท
- โดยข้อนี้มักจะเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองในส่วนอาการทุพพลภาพถาวร
เงื่อนไข : สูดดมกินดื่มฉีด สารพิษเข้าร่างกาย ทุกสถานการณ์
- เป็นข้อยกเว้นสำคัญ และส่งผลถึงผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีการพิสูจน์ชัดว่ามีสารพิษโดยตรง
จากตัวอย่างเงื่อนไขเหล่านี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าหน้าที่ของประกันโรคร้ายแรงในความหมายของทาง คปภ. คือ
ให้เป็นค่าชดเชยรายได้ จากการที่ร่างกายไม่สามารถกลับไปใช้งานหรือทำงานได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ไม่ใช่เน้นให้เป็นค่ารักษาโรคร้าย เพราะโรคร้ายแรงส่วนใหญ่ แม้ค่ารักษาสูงหลายล้านบาท แต่ก็ยากที่จะรักษาให้ใช้ชีวิตตามปรกติได้อีก
ทำให้ประกันโรคร้ายแรงจึงคล้าย ๆ กับ ประกันทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ที่จะเคลมได้เมื่อการดำเนินชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนไปในทางติดลบลงอย่างถาวร และต้อง ใช้เงินจำนวนมาก มาช่วยในการประคับประคองการดำเนินชีวิตต่อไป (ไม่ใช่นำมาเพื่อจ่ายค่ารักษา)
เพราะด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมานั้น บางโรคร้ายหากเป็นถึงขั้นที่เคลมประกันได้แล้ว จะยากอย่างมากที่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีก ทำให้เงินเคลมประกันโรคร้ายที่ได้จึงต้องเน้นใช้ในการปรับตัวให้อยู่ต่อไปให้ได้ หรือ การยื้อชีวิตไว้ให้นานที่สุดเท่านั้น
ดังนั้นการนำเสนอประกันโรคร้ายเพื่อมาใช้เป็นเงินค่ารักษาจึงจะไม่ถูกวัตถุประสงค์นัก เพราะเราคงไม่ต้องการให้โรคร้ายนั้นได้เติบโตจนมาร้ายแรงมาถึงขั้นสุดท้าย แต่คงต้องหาทางรักษามาตั้งแต่ตอนก่อนเป็นขั้นเริ่มต้นแล้ว หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ
( ซึ่งตามเงื่อนไขการเคลม ไม่มีทางที่จะปล่อยให้เป็นถึงขั้นร้ายแรงได้โดยไม่ยอมรับการรักษาใด ๆ แล้วรอเคลมเงินประกันโรคร้ายแรงมาใช้ในการรักษา หรือ ไม่มีทางที่จะเร่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงเร็ว ๆ ได้โดยการใช้สารพิษ หรือ การดื่มสุราได้ )
ประกันโรคร้าย ไม่เท่ากับ ประกันสุขภาพ
คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจประกันโรคร้ายแรง มากกว่าประกันสุขภาพ จึงมักมีการนำเสนอประกันโรคร้ายแรงในลักษณะการได้เงินก้อนมารักษาโรค มากกว่าเป็นเงินก้อนที่ใช้ในการมาปรับตัว ทั้งระหว่างการรักษาและหลังการรักษา (โดยเฉพาะหากต้องหยุดทำงานหรือเปลี่ยนงาน)
ทำให้บริษัทประกันต้องปรับแบบประกันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเข้าใจทั้งของผู้ซื้อผู้ขาย โดยได้ปรับให้ประกันโรคร้ายนั้น เริ่มมีความคลอบคลุมในโรคร้ายขั้นเริ่มต้นและขั้นกลางเพิ่มขึ้นมาด้วย
เพื่อที่ทำให้อย่างน้อยยังมีโอกาสได้เคลมและนำไปใช้เป็นค่ารักษาได้บ้าง แม้จะไม่เพียงพออย่างแน่นอน เนื่องจากต้องมีการปรับสัดส่วนของเงินที่สามารถเคลมได้ให้ลดลงตามระยะของโรคร้ายที่เป็น เช่น เหลือ 20%-40% ของทุนประกันสำหรับโรคร้ายแรงขั้นเริ่มต้น เป็นต้น
( ซึ่งด้วย % ที่ลดลงมากนี้ จึงทำให้เหมือน เป็นการคืนเบี้ยบางส่วนที่ได้จ่ายไปแล้ว หรือ เป็นการบังคับออม เพื่อให้เกิด Self-insured หรือ รับความเสี่ยงภัยไว้ได้เอง ไม่ได้มีการแชร์ความเสี่ยงกับผู้อื่นใด ๆ )
โรคร้าย..ระยะหรือขั้นใดก็ร้ายแรง
แต่...ขึ้นชื่อว่าโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นขั้นต้น หรือ ขั้นกลาง ก็ยังคงร้ายแรงอยู่ดี และมักต้องใช้เงินค่ารักษาที่ยังคงสูงอยู่ ถึงแม้จะได้เงิน 20%-40% จากทุนประกันโรคร้ายก็ยากที่จะเพียงพอกับค่ารักษา หรือ การปรับตัวดำเนินชีวิตต่อไปในระยะยาว ตัวอย่างอาการของโรคร้ายแรงขั้นตน และขั้นกลาง เช่น
- การผ่าตัดตับออกหนึ่งกลีบ
- การผ่าตัดไตออกหนึ่งข้าง
- การผ่าตัดปอดออกหนึ่งข้าง
- การรักษาโรคลิ้นหัวใจด้วยการสวนหลอดเลือด
- การรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาโดยวิธีใส่สายสวนทางหลอดเลือด
- การผ่าตัดฝังท่อระบายในโพรงสมอง
- การผ่าตัดเลือดคั่งใต้เยื่อหุ้มสมองอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ
จะเห็นได้ว่า โรคร้ายขั้นต้น ขั้นกลางเหล่านี้ ล้วนต้องใช้การผ่าตัดที่ซับซ้อนทั้งสิ้น และค่าผ่าตัดค่ารักษาสามารถไต่ขึ้นสู่หลักล้านได้ไม่ยาก รวมถึงภายหลังการรักษานี้ก็อาจทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ หรือวิธีการทำงาน จนรายได้ลดลงไม่เหมือนเดิม เนื่องจากอวัยวะบางอย่าง หรือ การทำงานบางอย่างได้หายไปอย่างถาวร
ทั้งยังต้องใช้เวลาและเงินเพิ่มขึ้นสำหรับเป็นค่ารักษาติดตามอาการ โรคแทรกซ้อน ค่าการปรับตัวดูแลร่างกายอย่างดีที่สุด เพื่อไม่ไห้กลับมาเป็นโรคร้ายซ้ำอีก
จากค่าใช้จ่ายเหล่านี้นี่เอง ทำให้ต้องมีทั้งประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่ารักษาโรคร้ายราคาแพงได้ และมีประกันโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยรวมทั้งสัญญาที่ไม่มาก แต่ได้ทุนความคุ้มครองสูงกว่าเบี้ยรวมหลายเท่า โดยเฉพาะกับโรคร้ายแรงที่เสี่ยงเป็นสูงและทำให้รายได้ลดลงหรือหายไป
( การทำประกันโรคร้ายแรงแบบเน้นจำนวนหลาย ๆ โรค จะส่งผลให้เบี้ยรวมทั้งสัญญาสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ทุนความคุ้มครองที่จะได้นั้น จะได้น้อยลงกว่าเดิม เมื่อเทียบกับประกันโรคร้ายแรงที่เน้นเฉพาะโรคที่เสี่ยงสูง )
โรคร้ายแรงที่เคลมง่าย และเสี่ยงเป็นสูง
จากรูปสถิติการเคลมจะเห็นได้ว่า โรคร้ายแรงที่เสี่ยงสูงก็คือ โรคยอดฮิตที่คุ้นเคยอย่าง มะเร็ง (ในผู้หญิง) สมอง หัวใจ นั่นเอง
- โดยโรคมะเร็ง เป็นโรคร้ายแรงที่มีเงื่อนไขการเคลมที่ไม่ซับซ้อนที่สุด แต่เสี่ยงเป็นสูงที่สุด ค่ารักษาแพงที่สุด ใช้เวลารักษานานที่สุด และ เป็นโรคที่อาจทำให้ขาดรายได้ได้นานที่สุด
- โรคมะเร็งระยะไม่ลุกลาม (ระยะ 0-1)
- โรคมะเร็งระยะลุกลาม (ระยะ 1-4 ส่วนใหญ่จะพบในระยะนี้)
โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายที่ต้องใช้เวลาในการรักษา โดยอาจใช้เวลารักษานานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป (มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูงภายใน 5 ปีแรก) จึงจำเป็นต้องใช้เงินทั้งในส่วนค่ารักษา และค่าดำเนินชีวิตระหว่างการรักษาไปพร้อมกัน เพราะผลข้างเคียงของยาอาจรุนแรงจนไม่สามารถทำงานใด ๆ ได้เลย
ซึ่งถ้าผลการรักษาโรคมะเร็งไม่ได้รุนแรงถึงขั้นต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญไป ก็จะทำให้เงินและเวลาที่ต้องใช้ในการปรับตัวหลังการรักษาจะไม่มากนัก
โรคมะเร็งจึงเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่มักมีแบบประกันโรคมะเร็งโดยตรง ทั้งในรูปแบบค่ารักษา รูปแบบเจอจ่ายเงินก้อน และรูปแบบจ่ายเงินชดเชยรายวัน เพื่อเน้นให้ได้ทุนประกันสูงที่สุดต่อเบี้ยจ่ายไป
เนื่องจากโรคมะเร็งนั้น เป็นโรคที่มีค่ารักษาไต่ระดับสู่หลักสิบล้านได้ไม่ยาก
จึงทำให้การทำประกันโรคร้ายที่ทุนสูง 10 ล้าน จะยังมีโอกาสที่จะไม่เพียงพอให้ค่ารักษา ทั้งนี้มะเร็งยังทำให้เกิดผลสืบเนื่องหรือผลข้างเคียงไปยังโรคอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือความคุ้มครองของประกันค่ารักษามะเร็ง ทำให้การเลือกประกันสุขภาพสำหรับค่ารักษามะเร็งจึงยังเป็นทางออกที่น่าสนใจกว่าเพราะจะไม่ถูกจำกัดโรค
ซึ่งพอหมดกังวลเรื่องค่ารักษา ก็จะสามารถเน้นให้ ประกันโรคร้ายแรงโดยเฉพาะในโรคที่เสี่ยงสูง ทำหน้าที่สำหรับเป็นค่าดำเนินชีวิต ค่าการปรับตัวได้อย่างเต์มที่
ปัจจัยการเลือก "ประกันโรคร้ายแรง"
ด้วยทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จึงสามารถสรุปเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกประกันโรคร้ายแรงที่ตอบโจทย์ความจำเป็นมากที่สุด ดังต่อไปนี้
1. จำนวนโรคร้ายที่คุ้มครอง
- เจาะจงโรคร้ายแรงจำนวนมากทั้งเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย โดยให้ความคุ้มครองระยะต้น ระยะกลางด้วย
- เจาะจงโรคร้ายแรงเฉพาะโรคที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 2 : หากมีประกันสุขภาพ ที่จะใช้ในการรักษาทั้งอาการก่อนที่จะเป็นโรคร้ายขั้นต้นหรือแม้แต่เริ่มเป็นโรคร้ายแล้ว และต้องการทุนโรคร้ายที่สูงกว่าเบี้ยทั้งสัญญาหลายเท่า หรือ ให้ได้เบี้ยประกันโรคร้ายที่ประหยัดและสามารถเป็นเบี้ยคงที่ที่ไม่สูงมากต่อทุนโรคร้ายที่ได้ โดยเน้นใช้เป็นค่าใช้จ่ายการปรับตัวดำเนินชีวิตระหว่างและหลังการรักษาโรคร้าย
- แนะนำข้อ 1 : หากไม่มีประกันสุขภาพ เพราะจำเป็นต้องใช้เป็นทั้งค่ารักษาและค่าใช้จ่ายระหว่างรักษาซึ่งโอกาสที่จะไม่พอสูงมาก ๆ
2. ระยะเวลาความคุ้มครอง
- คุ้มครองสั้น 5-25 ปีครบแล้วพิจารณาใหม่ : เบี้ยจะลดลงมากเพราะบริษัทประกันรับความเสี่ยงเพียงชั่วระยะเวลา
- คุ้มครองยาวถึงอายุ 80-99 ปี : ยิ่งอายุมากยิ่งเสี่ยงสูง เบี้ยจึงสูงกว่า
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 2 : หากเลือกได้ควรเน้นความคุ้มครองยาวไว้ก่อน อย่างอายุ 99 ปี ด้วยเพราะยิ่งอายุมากจะยิ่งเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงมากขึ้น และหากเลือกทำสัญญาคุ้มครองระยะสั้น 5-25 ปี แล้วในระหว่างก่อนหมดอายุสัญญาเกิดป่วยเป็นโรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดัน ขึ้นมา ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงในทันที แต่ก็ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นมาก และทำให้ไม่สามารถทำประกันโรคร้ายต่ออีกได้ ภายหลังจากที่ครบอายุสัญญาระยะสั้นแล้ว
3. รูปแบบการจ่ายเบี้ยประกัน
- แบบเบี้ยเพิ่มตามอายุในทุกปี : เบี้ยจะถูกมากในช่วงก่อนเกษียณ แต่จะเริ่มสูงขึ้นมากหลังเกษียณ โดยเมื่อรวมเบี้ยทั้งสัญญาจะสูงกว่าทุนโรคร้ายที่ได้ โดยคุ้มครองถึงอายุ 80-99 ปี แต่ส่วนใหญ่จะยกเลิกสัญญาไปตั้งแต่อายุ 60-65 ปี (ทั้งนี้หากคุ้มครองการเสียชีวิตด้วย เบี้ยจะปรับสูงขึ้นอย่างมากเมื่อใกล้เกษียณ)
- แบบจ่ายเบี้ยคงที่ทุกปี : คุ้มครองถึงอายุ 90-99 ปี ยิ่งทำเร็วเบี้ยรวมทั้งสัญญายิ่งน้อยกว่าทุนโรคร้ายที่ได้ แต่เบี้ยเริ่มต้นจะสูงกว่าแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุ แต่ด้วยความเป็นเบี้ยคงที่ เมื่ออายุมากขึ้นเบี้ยจึงถูกกว่าเบี้ยเพิ่มตามอายุอย่างมาก
- แบบจ่ายเบี้ยคงที่คุ้มครองช่วงเวลาหนึ่ง : เป็นลักษณะจ่ายเบี้ยคงที่ 10 ปี คุ้มครองยาว 25 ปี เป็นแบบเบี้ยคงที่ที่มีเบี้ยรวมทั้งสัญญาถูกที่สุด เพราะคุ้มครองระยะสั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
- แบบจ่ายเบี้ยคงที่เลือกช่วงเวลาที่ต้องการจ่ายได้ : สามารถเลือกเวลาชำระเบี้ยได้แบบ 5 10 15 หรือ 20 ปี และคุ้มครองยาวถึงอายุ 85-99 ปี โดยจะมีทั้งในรูปแบบประกันชีวิตควบโรคร้ายที่เบี้ยรวมทั้งสัญญาจะน้อยกว่าทุนโรคร้ายที่ได้ไม่มาก และ ประกันโรคร้ายเบี้ยคงที่โดยตรงที่เบี้ยรวมทั้งสัญญาจะน้อยกว่าทุนโรคร้ายพอสมควร เพราะไม่ได้คุ้มครองชีวิตร่วมด้วย รวมไปถึงแบบนี้จะได้เบี้ยรวมทั้งสัญญาน้อยกว่าแบบที่ 2 ที่ทุนโรคร้ายเท่ากัน
- แบบเป็นโรคร้ายแล้วหยุดจ่ายเบี้ยได้ : แบบนี้ค่าเบี้ยประกันที่เก็บ จะมีการเก็บเพิ่มในส่วนค่าความเสี่ยงภัยที่บริษัทจะต้องเป็นผู้ชำระเบี้ยที่เหลือแทนหากผู้ทำประกันป่วยเป็นโรคร้ายแรงในระหว่างการชำระเบี้ย จึงทำให้แบบนี้จะมีค่าเบี้ยต่อปีที่สูงมากขึ้นกว่าแบบทั่วไปโดยเฉพาะเมื่อเริ่มทำประกันโรคร้ายในตอนอายุมากแล้ว
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 1 : หากเน้นให้คุ้มครองเฉพาะอายุก่อนเกษียณ หรือ อายุ 60-65 ปี และหลังเกษียณคาดว่าจะมีเงินเก็บที่ออมมาเรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะมารับความเสี่ยงส่วนนี้ไว้เองได้
- แนะนำข้อ 2,4 : หากต้องการความคุ้มครองนานถึงอายุ 90-99 ปี ด้วยเบี้ยรวมทั้งสัญญาจะประหยัดกว่าแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุ โดยเมื่อรีบทำตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเบี้ยรวมที่จ่ายไปจะน้อยกว่าทุนโรคร้ายที่ได้หลายเท่า โดยเฉพาะกับแบบประกันโรคร้ายเบี้ยคงที่ที่ไม่ได้ควบประกันชีวิต
4. การเคลมตามระยะโรค
- เคลมได้เฉพาะระยะร้ายแรง หรือ ขั้นสุดท้าย โดยทุนโรคร้ายต่อเบี้ยจะประหยัดกว่า
- เคลมได้ทุกระยะ ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นร้ายแรง โดยเบี้ยจะสูงกว่า
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 2 : เพราะโรคร้ายขั้นต้นก็อาจร้ายแรงมากจนต้องสูญเสียบางส่วนของอวัยวะไปแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้เงินในการปรับตัวดำเนินชีวิต แต่อย่างไรก็ตามต้องระวังเรื่องเบี้ยรวมทั้งสัญญาที่จะสูงมากขึ้นกว่าการแบบเคลมได้เฉพาะระยะร้ายแรง เพราะการเคลมระยะต้นระยกลางนั้น จะเสมือนเป็นการคืนเบี้ย หรือผู้ทำประกันรับความเสี่ยงไว้เองด้วยนั่นเอง เนื่องจากจะเคลมได้เพียง 20%-40% ของทุนคุ้มครองเท่านั้น
5. วิธีการจ่ายเงินเคลม
- เจอจ่ายจบ แบบนี้จะได้ทุนโรคร้ายต่อเบี้ยสูงที่สุด
- เจอจ่ายจบทีละกลุ่มโรค แบบมีระยะรอคอยเคลมข้ามกลุ่ม เช่น ต้องหายขาดจากอีกกลุ่มโรคหนึ่งก่อนอย่างน้อย 1 ปี (สถิติการหายขาดจากโรคร้ายแรงได้นั้นน้อยมาก) หรือ ต้องห่างจากการเคลมกลุ่มโรคที่เคลมก่อนหน้าอย่างน้อย 1 ปี โดยแบบนี้จะได้ทุนโรคร้ายต่อเบี้ยลดลงตามความยากง่ายของเงื่อนไขและระยะรอคอยการเคลมข้ามกลุ่มโรค ระวังบางแบบประกันหากเกินอายุ 85 ปีไปแล้ว จะถูกปรับลดมาเป็นเจอจ่ายกลุ่มโรคเดียวเท่านั้นที่เหลือให้เป็นเงินคืนหากต่อมาเสียชีวิต
- เจอจ่ายจบทีละกลุ่มโรค แบบไม่มีระยะรอคอยเคลมข้ามกลุ่ม เช่น เคลมกลุ่มโรคมะเร็งเรียบร้อย ต่อมาโรคมะเร็งก่อให้เกิดโรคร้ายแรงในกลุ่มอื่นต่อ ก็จะสามารถเคลมได้ทันที จึงทำให้แบบนี้จะได้ทุนโรคร้ายต่อเบี้ยลดลงกว่าแบบที่ 2 อีก และการเปรียบเทียบนำทุนโรคร้ายต่อเบี้ยของแบบเจอจ่ายจบ มาเทียบกับแบบนี้ตรง ๆ จะยากมากขึ้น ( ควรเทียบเบี้ยเจอจ่ายจบทุน 2 ลบ. กับ เบี้ยเจอจ่ายจบทีละกลุ่มโรคทุน 1 ลบ. เพราะมีโอกาสจะเคลมได้ถึง 2 กลุ่มโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง )
- เคลมโรคเดิมซ้ำได้ แบบมีระยะรอคอยจากเคลมครั้งแรก เช่น โรคมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ เป็นต้น โดยเบี้ยจะเพิ่มขึ้นสูงหรือต่ำ ยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและระยะรอคอยว่ายากง่ายอย่างไร อย่างไรโรคมะเร็งโอกาสกลับมาเป็นซ้ำในปีแรกจะสูงมาก จึงมีเงื่อนไขระยะคอยการเคลมซ้ำ 2 ปีขึ้นไป แบบนี้ก็จะลดโอกาสการเคลมซ้ำได้มาก จึงทำให้เบี้ยค่าประกันภัยส่วนนี้เพิ่มไม่เยอะมาก
- เคลมเจอจ่ายจบแบบหลายบริษัท หรือ แบบที่ 1 ที่ทำหลายบริษัท โดยมักจะเน้นที่โรคร้ายแรงเสี่ยงสูงอย่างมะเร็ง ด้วยเพราะโอกาสกลับมาเป็นซ้ำที่สูง ทำให้บริษัทประกันมักจะมีการกำหนดทุนโรคมะเร็งสูงสุดที่ทำได้ไว้ว่าให้ได้ไม่เกินเท่าใด ส่งผลให้หากต้องการทุนที่สูงมากจะจำเป็นต้องเลือกที่จะทำหลาย ๆ บริษัทพร้อมกันแทน ซึ่งการทำแบบนี้จะได้ทุนต่อเบี้ยที่สูงกว่าแบบที่ 4 และไม่ต้องกังวลเรื่องเงื่อนไขระยะรอคอย เพียงแต่จะต้องบริหารเงินก้อนสำหรับเผื่อเป็นซ้ำด้วยตนเอง
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 1,5 : หากต้องการเป็นเบี้ยคงที่ที่เบี้ยรวมทั้งสัญญาน้อยกว่าทุนโรคร้ายหลายเท่า เพราะจะได้ทุนต่อเบี้ยสูงที่สุด รวมถึงโอกาสที่คนหนึ่งคนจะเป็นหลายกลุ่มโรคค่อนข้างยากมาก (โชคร้ายของโชคร้าย) เพราะกลุ่มโรคที่บริษัทประกันแบ่งมามักจะไม่ส่งผลสืบเนื่องให้ป่วยเป็นกลุ่มโรคนี้แล้ว จะส่งผลให้เป็นอีกกลุ่มโรคหนึ่งได้ง่ายมากขึ้น (ยกเว้นโรคมะเร็งที่ส่งผลต่อกลุ่มโรคอื่นได้)
- แนะนำข้อ 3 : หากต้องการแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุ มีการโอนความเสี่ยงโรคมะเร็งที่เพียงพอแล้ว และคาดว่าจะยกเลิกสัญญาแบบเบี้ยเพิ่มเติมอายุนี้ตอนอายุประมาณ 60 ปี เนื่องจากจะเน้นเรื่องการกระจายความเสี่ยงให้มากที่สุด ด้วยเบี้ยที่ประหยุดที่สุด และไม่ต้องกังวลในเงื่อนไขการเคลมข้ามกลุ่มโรคใด ๆ
6. เงินที่ได้เมื่อเสียชีวิต
- โรคร้ายเบี้ยเพิ่มตามอายุไม่มีความคุ้มครองชีวิต จะเป็นแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุที่ไม่มีความคุ้มครองชีวิต โดยเน้นเพียงโรคร้ายแรงอย่างเดียว ทำให้เบี้ยช่วงอายุ 40 เป็นต้นไป จะไม่ได้เพิ่มสูงมากนักจนกว่าจะอายุ 60 ปี (**แบบนี้เมื่อเสียชีวิตจะไม่ได้มีเงินใด ๆ ให้คนข้างหลัง โดยมองว่าวางแผนประกันชีวิตแยกจะได้ทุนประกันชีวิตต่อเบี้ยที่มากกว่า)
- โรคร้ายเบี้ยเพิ่มตามอายุมีความคุ้มครองชีวิต จะเป็นแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุที่ให้ความคุ้มครองชีวิตด้วย โดยทุนที่ได้จะน้อยกว่าแบบที่ 1 และเบี้ยช่วงอายุ 40 เป็นต้นไปจะเริ่มทยอยเสูงมากขึ้นอย่างชัดเจน ตามความเสี่ยงของการเสียชีวิตที่มากขึ้น แต่เมื่อเสียชีวิตจะมีเงินให้คนข้างหลังตามทุนประกันที่ทำ (**แต่หากเสียชีวิตหลังเกษียณเบี้ย ทั้งสัญญาอาจสูงกว่าทุนประกันที่ได้)
- โรคร้ายเบี้ยคงที่ไม่มีความคุ้มครองชีวิต แบบนี้จะได้ทุนโรคร้ายต่อเบี้ยที่สูง เพราะแยกประกันชีวิตออกมา จึงทำให้สามารถเลือกทุนชีวิตที่ต้องการเองได้ และมีโอกาสได้เงิน 2 ก้อน คือ ก้อนที่ 1 จากทุนโรคร้ายเมื่อตรวจพบโรคร้ายแรง และก้อนที่ 2 จากทุนชีวิตหากต่อมาเสียชีวิต (**แต่หากเสียชีวิตก่อนครบสัญญาและไม่ได้เป็นโรคร้าย จะได้เพียงมูลค่าเวนคืนที่มีโอกาสน้อยกว่าเบี้ยทั้งสัญญาหากทำตอนอายุมาก แต่หากทำทุนประกันชีวิตสูงคู่ไปด้วย ด้วยทุนชีวิตที่มากกว่าเบี้ยทั้งสัญญาหลายเท่า จะสามารถชดเชยส่วนที่นี้ได้โดยอัตโนมัติ)
- โรคร้ายเบี้ยคงที่มีความคุ้มครองชีวิตแบบรวมสมบูรณ์ แบบนี้จะได้ทุนโรคร้ายต่อเบี้ยที่น้อยกว่าแบบที่ 3 และเบี้ยรวมทั้งสัญญามีโอกาสเกินทุนประกันได้มาก หากทำหลังอายุ 40 ปี เพราะมีความเสี่ยงของทุนชีวิตควบอยู่ในทุนโรคร้ายด้วย โดยจะได้เงิน 1 ก้อนตามทุนประกัน ไม่ว่าเบี้ยทั้งหมดจะมากกว่าทุน และ ไม่ว่าจะเจอโรคร้ายแรงหรือจากไป (**มีขึ้นมาเพื่ออาศัยมูลค่าในประกันชีวิตเพื่อแก้ข้อโต้แย้งที่ว่า หากเสียชีวิตโดยไมได้เป็นโรคร้ายจะไม่ได้อะไรให้มาเป็นได้ แต่อาจได้น้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไปหากเริ่มทำประกันตอนอายุมาก)
- โรคร้ายเบี้ยคงที่มีความคุ้มครองชีวิตแบบหักจากโรคร้าย แบบนี้เบี้ยจะแพงที่สุด โดยเงินที่จะได้หากเสียชีวิต คือ เบี้ยทั้งสัญญาบวกเงินที่เติบโตบางส่วนหักด้วยเงินก้อนโรคร้ายที่จ่ายไป จึงเสมือนเป็นการเก็บออมเพื่อรับความเสี่ยงด้านชีวิตไว้เองทั้งหมดแลกกับผลประโยชน์ได้ควบกับประกันโรคร้ายแบบเจอจ่ายจบทีละกลุ่มโรค และควบกับประกันทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร (**หากเป็นอย่างน้อย 2 กลุ่มโรค เงินก้อนที่ได้จะใกล้เคียงกับเบี้ยทั้งสัญญา ทำให้เหลือเงินน้อยมากหากต่อมาเสียชีวิต เพราะทุนประกันที่ได้จะได้เพียงครึ่งหนึ่งของเบี้ยที่จ่าย โดยมีขึ้นมาเพื่อแก้ข้อโต้แย้งเงินที่ได้คืนน้อยกว่าเบี้ยทั้งสัญญาที่จ่ายไป แต่ตามมาด้วยเบี้ยที่สูงเสมือนใช้เงินตนเองดูแลตนเอง เว้นแต่โชคร้ายเป็นโรคร้ายหลายกลุ่มโรค พร้อมกับการเป็นทุพพลภาพถาวร)
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 1,3 : เพื่อให้ได้เบี้ยที่ประหยัดที่สุดและตรงตามจุดประสงค์ของประกันโรคร้าย รวมไปถึง การแยกประกันชีวิตออกมาจากประกันโรคร้าย จะสามารถพิจารณหารูปแบบประกันชีวิตที่ดีที่สุด เพื่อมาจับคู่กับประกันโรคร้ายแรงที่เลือกได้ โดยไม่ต้องถูกบังคับให้เป็นปรกันชีวิตที่บริษัทบังคับให้ควบกับโรคร้ายแรงเท่านั้น ส่งผลให้หากเรื่องแบบประกันชีวิตที่เป็นลักษณะประกันมรดก (Legacy) ที่แม้ทุนประกันเริ่มต้นจะสูง (5-10 ล้านบาท) แต่เบี้ยประกันชีวิตจะถูกที่สุดในบรรดาแบบประกันชีวิตทั้งหมด รวมไปถึงระยะเวลาที่มูลค่าเงินที่สะสมในสัญญาจะเกินเบี้ยประกันที่จ่ายไปก็จะสั้นอย่างมาก และจะชดเชยข้อจำกัดเรื่องเสียชีวิตโดยไม่ได้เป็นโรคร้าย ไม่ได้เงินคืน หรือ ได้คืนแต่น้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายไปได้ทั้งหมด
7. มูลค่าเงินที่ได้หากยกเลิกสัญญา หรือ เวนคืน
- แบบเบี้ยเพิ่มตามอายุ : ไม่มีมูลค่าเวนคืน
- แบบเบี้ยคงที่ ประกันชีวิตควบโรคร้าย : มีมูลค่าเวนคืนเฉพาะส่วนทุนชีวิต
- แบบเบี้ยคงที่ ประกันโรคร้าย มีมูลค่าเวนคืนในส่วนทุนโรคร้ายแรง
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 3 : เนื่องจากจะได้ทุนโรคร้ายที่สูงกว่าเบี้ยทั้งสัญญาหลายเท่า และมีโอกาสได้มูลค่าเวนคืนที่สูงกว่าเบี้ยที่จ่ายไปในระยะเวลาอันสั้นกว่าโรคร้ายที่ควบประกันชีวิต โดยเฉพาะหากเริ่มทำตอนอายุยังไม่มาก เสมือนใช้เงินแสนแลกเงินหลายล้านในความเสี่ยงของโรคร้ายโรคมะเร็งตลอดชีพ แต่หากไม่เป็นโรคร้ายก็ได้เงินคืนกลับมาใกล้เคียงกับเบี้ยทั้งหมดที่จ่ายไป หรือ แม้ได้กลับมาน้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดเพราะทำตอนอายุมาก แต่ส่วนต่างของมูลค่าเวนคืนที่น้อยกว่าเบี้ยทั้งหมดนี้ ก็เสมือนเสียเป็นค่าเบี้ยประกันภัยโอนความเสี่ยงที่น้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับทุนโรคร้ายที่มากกว่าหลายเท่าที่คุ้มครองมาตลอดสัญญา บวกกับกำไรความโชคดีที่ไม่ได้เป็นโรคร้ายโรคมะเร็งจนกระทั่งยกเลิกสัญญา
8. ทุนประกันโรคร้ายแรง
- ทุนโรคร้ายแรง 1,000,000
- ทุนโรคร้ายแรง ตามรายได้ต่อปีจำนวน 3-5 ปี
- ทุนโรคร้ายแรง ตามค่ารักษาโรคมะเร็ง
ข้อคิดเห็น :
- แนะนำข้อ 2 : เนื่องจากการเป็นโรคร้ายแรง มักส่งผลให้ต้องหยุดทำงาน และทำให้รายได้ทั้งหมดต้องหยุดลง ซึ่งการได้เงินก้อนมาชดเชยรายได้ส่วนที่ขาดหายไปในช่วงระหว่างการรักษาตัวด้วยประกันสุขภาพ และการปรับตัวหลังออกจาก รพ. จึงจำเป็นอย่างมาก
ควรเลือกประกันโรคร้ายแบบใด
แบบที่ 1 เบี้ยเพิ่มตามอายุคุ้มครองถึงอายุ 60
หากอายุ 30 - 50 ปี และต้องการจ่ายเบี้ยให้น้อยที่สุดเพื่อเน้นแลกกับความคุ้มครองในช่วงก่อนเกษียณที่ยังทำงานหารายได้อยู่ และมีวิธีการออมเงินหรือลงทุนสำหรับเตรียมเงินรับความเสี่ยงโรคร้ายไว้เองภายหลังอายุ 60 ปี หรือ มีประกันโรคร้ายแรงเสี่ยงสูงเบี้ยคงที่ตลอดชีพเรียบร้อยแล้ว
โดยข้อควรระวังของแบบประกันนี้คือ พยายามเลือกแบบที่ไม่ได้คุ้มครองการเสียชีวิตอยู่ในรายการโรคร้ายแรงที่คุ้มครองด้วย เนื่องจาก แม้เบี้ยจะได้ไม่มากตอนอายุ 30-40 ปี แต่เมื่อเริ่มอายุมากกว่า 40 ปีไปแล้ว ค่าการประกันภัยเสียชีวิตนี้จะเริ่มทยอยสูงขึ้นมากโดยเฉพาะกับผู้ชาย (ควรข้อดูตารางเบี้ยปีต่ออายุทั้งหมดก่อนทำประกันโรคร้ายแบบนี้เสมอ)
จึงทำให้เบี้ยประกันจะเริ่มทยอยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจริง ๆ แล้ว หากแยกการคุ้มครองชีวิตออกไปทำผ่านประกันชีวิตแทน จะมีส่วนลดเบี้ยในรูปแบบต่าง ๆ ให้มากกว่า ที่จะถูกควบรวมอยู่ในประกันโรคร้ายนี้
แบบที่ 2 เบี้ยคงที่คุ้มครองเฉพาะโรคร้ายเสี่ยงสูง
หากอายุตั้งแต่ 0-35 ปี โดยเฉพาะวัยเด็กหรือวัยสร้างครอบครัวที่ต้องการเก็บออมเงินและได้ความคุ้มครองโรคร้ายไปในตัว ควรเน้นทำประกันโรคร้ายแรงเบี้ยคงที่เพื่อเบี้ยที่ประหยัดที่สุด (ไม่เป็นประกันชีวิตควบโรคร้ายแรง หากต้องการเลือกประกันชีวิตเอง และต้องการเงิน 2 ก้อน คือ ป่วย 1 ก้อน จากไป 1 ก้อน)
เนื่องจากเบี้ยประกันรวมตลอด 20 ปีที่จ่ายไปจะน้อยกว่าทุนโรคร้ายที่ได้กว่า 2 เท่า และจะน้อยกว่ามูลค่าเงินที่สะสมในสัญญาภายในประมาณ 20-23 ปีกรมธรรม์เท่านั้น (ซึ่งจะยกเลิกสัญญาเวนคืนออกมาก็ได้ หรือจะกู้ออกมาใช้ยามฉุกเฉินก็ได้)
ยิ่งถ้าหากนำประกันโรคร้ายเบี้ยคงที่ มารวมกับประกันชีวิตแบบมรดกที่จ่ายเบี้ย 5 ปีซึ่งเบี้ยประหยัดที่สุดแล้ว ก็ยิ่งทำให้มูลค่าเงินที่สะสมทั้งในประกันชีวิตและในประกันโรคร้ายเบี้ยคงที่ ยิ่งเติบโตเร็วเกินเบี้ยมี่จ่ายไปในระยะเวลาอันสั้นเพียง 20 ปีกรมธรรม์ได้
แบบที่ 3 เบี้ยคงที่คุ้มครองทั้งชีวิตและโรคร้าย เจอจ่ายจบ
หากเป็นเพศหญิงอายุตั้งแต่ 0-30 ปี โดยเฉพาะวัยเด็กหรือวัยรุ่น ที่ต้องการโอนความเสี่ยงทั้งด้านชีวิต และโรคร้ายแรงไปพร้อม ๆ กัน และเห็นว่าการได้รับเงินก้อนเดียวน่าสนใจกว่าการจ่ายเบี้ยน้อยแลกทุนโรคร้ายสูง ซึ่งเบี้ยของเพศหญิงจะน่าสนใจมากขึ้น ด้วยความเสี่ยงของด้านชีวิตที่ยังน้อยอยู่
หรือในกรณีที่ทำทุนประกันของโรคร้ายแรงเสี่ยงเบี้ยคงที่เต็มโควต้าที่บริษัทประกันตั้งไว้แล้ว และยังต้องต้องการเพิ่มทุนประกันโรคร้ายแรงเบี้ยคงที่ให้สูงขึ้นอีก จะสามารถพิจารณาประกันชีวิตควบโรคร้ายแรงเพิ่มได้
แบบที่ 4 เบี้ยคงที่คุ้มครองทั้งชีวิตและโรคร้าย เจอจ่ายจบทีละกลุ่มโรค
หากต้องการออมเงินเป็นมรดกหรือเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต ไม่ต้องการผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย แต่ต้องการแลกกับผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองโรคร้ายแรงหลายกลุ่มโรค โดยเฉพาะความเสี่ยงมากกว่า 2 กลุ่มโรคขึ้นไป (อายุเกิน 85 ปี ถูกปรับทุกโรคร่วมกันกลุ่มเดียว) หรือโรคร้ายที่กลับมาเป็นซ้ำได้ กับความคุ้มครองทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร รวมถึงไม่ต้องการขาดทุนเบี้ยที่จ่ายไป
จากข้อสรุปของทั้ง 4 แบบ
จะเห็นได้ว่า แบบที่ 1 จะทำหน้าที่ที่แตกต่างกับแบบอื่น ๆ อย่างชัดเจน และเหมาะกับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะจ่ายเบี้ยประกันที่สูงเผื่ออนาคต หรือ ต้องการเพิ่มความคุ้มครองให้สูงขึ้นเฉพาะช่วงเวลาที่ยังทำงานหารายได้อยู่เป็นหลัก
ในขณะที่แบบที่ 4 ก็จะแตกต่างกับแบบที่ 2 กับ 3 อย่างชัดเจนเช่นกัน
คือ แบบที่ 4 เน้นเรื่องการออมเงินรับความเสี่ยงด้านชีวิตไว้เอง เพื่อแลกกับผลประโยชน์หากโชคร้ายเป็นโรคร้ายหลายตลบก่อนจากไป หรือคือ แบบที่ 4 จะไม่ขาดทุนเบี้ยเพราะโชคดีไม่เป็นโรคร้ายเลย แต่ก็จะได้ทุนประกันที่น้อยลงมาก จนต้องโชคร้ายเป็นโรคร้ายมากกว่า 2 กลุ่มโรคตามเงื่อนไข จึงจะถือว่าได้ใช้เบี้ยน้อยแลกทุนประกันโรคร้ายสูงได้
ในขณะที่ แบบที่ 2 กับ 3 จะเน้นเรื่องโอนความเสี่ยงคู่กับการเก็บออม โดยแบบที่ 2 จะให้โอนความเสี่ยงแยกกันระหว่างโรคร้ายและชีวิต ในขณะที่แบบที่ 3 จะเน้นให้โอนรวมกัน
จึงทำให้แบบที่ 2 กับ 3 ยังจำเป็นต้องพิจารณาในเชิงตัวเลข เพื่อเปรียบเทียบเจาะลึกเพิ่มเติม และได้กลายเป็นที่มาของการเปรียบเทียบแบบลงลึกในบทความถัดไป
ไม่ต้องสู้กับโรคร้ายตามลำพัง หากเข้าใจประกันโรคร้ายแรง
แบบประกันโรคร้ายมีหลายแบบหลายคำโฆษณา การศึกษาให้เข้าใจก่อนเชื่อตามคำโฆษณาของแถมต่าง ๆ จึงจำเป็นอย่างมาก เพราะ การสามารถเลือกแบบประกันโรคร้ายที่เหมาะสมกับตัวเอง และครอบครัว ได้นั้น ความเข้าใจจะต้องอยู่เหนือความเชื่อใจ
จึงจะสามารถมองทะลุผ่านข้อความโฆษณาต่าง ๆ ที่แม้แต่ตัวแทนขายประกันเองก็มองไม่ออกได้ ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากการแชร์ความเสี่ยงรวมกันกับผู้คนจำนวนมาก เข้าร่วมต่อสู้กับโรคร้ายด้วยเบี้ยที่เหมาะสมที่สุด แทนการที่เก็บความเสี่ยงนี้ไว้กับตนเองและต้องต่อสู้ตามลำพัง