เปรียบเทียบประกันสุขภาพเหมาจ่าย 7 บริษัท ที่ไหนดี 2022/2565
เปรียบเทียบประกันสุขภาพเหมาจ่าย AIA AXA BLA FWD MTL TL TM ทั้งความคุ้มครอง เบี้ยประกัน ชายและหญิงทุกช่วงอายุ ทุกทุนประกัน เข้าใจถึงจุดเด่นของแต่ละบริษัท สามารถเลือกได้ตรงความต้องการ ประหยัดเวลาค้นหา รวบรวมข้อมูล และการคิดคำถามเพื่อเลือกผู้แนะนำเครื่องมือทางการเงิน
เรียน ท่านที่ต้องการทำประกันสุขภาพและต้องการได้ข้อมูลที่ครบถ้วน ทั้งข้อมูลที่ตัวแทนประกันอาจไม่บอกหรืออาจไม่มีเวลาอธิบายทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้ได้ประกันสุขภาพแบบมีระเบิดเวลาติดตัวไป
❐ บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดเผบข้อมูลทั้งหมดที่ตัวแทนควรอธิบายก่อนทำประกันสุขภาพ รวมถึงข้อมูลการเปรียบเทียบแบบประกันสุขภาพต่าง ๆ ที่สามารถรวบรวมได้จากอินเตอร์เน็ต (ข้อมูลที่ถูกต้องควรทบทวนกับตัวแทนของบริษัทต่างๆ อีกครั้ง)
❐ บทความนี้ข้อมูลยังเป็นของปี 65 (ใช้กับ MTL และ BLA ไม่ได้แล้ว) ซึ่งตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 65-67 มีการเปลี่ยนแปลงของแบบประกันสุขภาพสำคัญใน 2 บริษัท คือ ของ MTL มีการปิดแบบเก่า และเปิดแบบใหม่ขึ้นมา โดยแบบใหม่มีการปรับเบี้ยเพิ่มเฉพาะผู้สมัครใหม่อีก 1 ครั้ง กับของ BLA มีทั้งปิดแบบเก่า และเปิดแบบใหม่ที่เพิ่มเบี้ยขึ้นแต่มีความคุ้มครองสูงกว่ามาทดแทน
❐ ในขณะที่ของบริษัทอื่น ๆ ยังคงเหมือนเดิมมาตั้งแต่ปี 64 แต่ก็มีการปรับเพิ่มในลักษณะของเพิ่มการต่ออายุได้ถึงอายุ 99 ปี หรือเพิ่ม Deductible กับ Copayment ขึ้นมาให้เลือกได้ หรือเลื่อนอายุรับทำประกันเป็นอายุ 11 ปีขึ้นไป เป็นต้น จึงยังพอที่จะใช้ข้อมูลในบทความนี้ในการเปรียบเทียบได้
❐ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทประกันจะมี 2 แนวทางในการออกแบบแบบประกันสุขภาพ คือ หนึ่งพยายามให้ความคุ้มครองต่อเบี้ยที่จ่ายให้มากที่สุด และเมื่อไม่สามารถเก็บเบี้ยเท่าเดิมได้อีกก็ต้องปิดรับสมัครและเปิดแบบใหม่ที่เบี้ยสูงกว่าขึ้นมาทดแทน กับสองพยายามให้ความคุ้มครองน้อยกว่าเบี้ยที่จ่ายในระดับหนึ่งเพื่อจะได้ไม่ต้องปิดเปิดแบบประกันบ่อยครั้ง (ดังนั้นหากสามารถสมัครบริษัทที่ยึดแนวทางที่หนึ่งได้สำเร็จทันก่อนที่จะปิดแบบประกัน จะคุ้มค่าอย่างมาก)
❐ อย่างไรก็ตามแบบประกันที่ยึดแนวทางที่หนึ่งไม่ได้รับสมัครง่าย ๆ เพราะที่เห็นเบี้ยถูกนั้นต้องแลกมากับประวัติการรักษาที่แทบไม่มีความเสี่ยงเลย โดยหากมีความเสี่ยงบางอย่างอาจจะไม่สามารถทำประกันสุขภาพแนวทางที่หนึ่งนี้ได้ (แนวทางที่หนึ่งจึงใช้ทั้งเงินและประวัติการรักษาที่ดีมากในการสมัคร)
❐ ทั้งนี้การเปรียบเทียบจะไม่ได้ครอบคลุมไปถึง แนวทางการดำเนินงานของบริษัท ความเชี่ยวชาญของผู้แนะนำหรือตัวแทน และ ความรู้ความเข้าใจของผู้ทำประกัน
❐ ปัจจุบันสัญญาประกันสุขภาพได้มีการปรับให้เป็นมาตรฐานใหม่เรียบร้อย ซึ่งมีหมวดความคุ้มครองพื้นฐานเหมือนกัน และง่ายต่อการเปรียบเทียบได้มากขึ้น
❐ แต่อย่างไรแล้วรายละเอียดของเงื่อนไขผลประโยชน์ตามแต่ละหมวดยังคงมีความแตกต่างกันได้ นอกจากนี้ยังมีหมวดความคุ้มครองเพิ่มพิเศษต่าง ๆ อีก ที่ทำให้แต่ละบริษัทประกันมีแบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกันและสามารถแข่งขันกันได้
❐ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจจุดประสงค์ของแบบประกันแต่ละบริษัทให้ดี เพราะจะช่วยให้สามารถเลือกได้ตรงกับความคุ้มครองที่ต้องการโอนความเสี่ยงมากที่สุด มากกว่าเพียงการพิจารณาเฉพาะเบี้ยประกัน โดยไม่ทราบว่าจริง ๆ ต้องการจะคุ้มครองค่ารักษาในโรคหรืออาการใดบ้าง (ที่มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด และค่ารักษาสูงได้ขนาดไหน)
❐ นอกจากนี้แต่ละบริษัทยังมีนโยบายเบื้องลึกที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นที่ควรต้องถามคำถาม 5 ข้อด้านล่างนี้กับตัวแทนให้เรียบร้อยก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพเสมอ
❐ 1. เป็นประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ ที่มีหรือไม่มีเงื่อนไขในการเปลี่ยนเป็น Copayment รายบุุคคลภายหลังได้
- เพราะถ้าหากมี จะแสดงว่ามีโอกาสที่ถ้ามีประวัติการเคลมสูงอาจจะสามารถถูกปรับให้เป็นแบบ Copayment ได้ แม้จะได้ลดเบี้ยประกัน แต่ก็ต้องร่วมจ่ายค่ารักษากับบริษัทประกันตามสัดส่วนที่บริษัทกำหนด
❐ 2. การเปลี่ยนแปลงตารางเบี้ยจะปรับเบี้ยทั้งแบบประกัน (portfolio) หรือจะปรับเฉพาะรายบุคคลจากประวัติการเคลม
- บางบริษัทอาจไม่มีเงื่อนไข Copayment เพราะดูเป็นบทลงโทษที่รุนแรง จริงเน้นใช้วิธีปรับเบี้ยเพิ่มรายบุคคลแทน ซึ่งดูเป็นบทลงโทษที่รุนแรงน้อยลงมา
❐ 3. มีเงื่อนไขระยะรอคอยการ Fax-Claim นอกเหนือจากระยะรอคอย 30 วันในโรคทั่วไป และ 120 วันในโรคที่ซับซ้อนตามปกติหรือไม่
- บางบริษัทจะมีทั้งระยะรอคอย Fax-Claim เช่น 60 วัน หรือ 90 วัน และระยะรอคอยทั้งแบบ 30 วัน และ 120 วัน นั้นคือหากเกิน 30 วันแล้ว ก็ยังไม่สามารถ Fax-Claim ในโรคทั่วไปได้ จะต้องสำรองจ่ายไปก่อนเท่านั้น
❐ 4. มีเงื่อนไขการสำรองจ่ายทุกกรณี ในหมวดค่ารักษาที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนอกหมวดใดบ้าง
- บางบริษัทจะมีข้อกำหนดชัดเจนว่า ค่ายาและการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งผู้ป่วยนอก หรือค่าฉายภาพขั้นสูงผู้ป่วยนอก หรือค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก หรือค่าฉีดวัคซัน จะต้องเป็นการสำรองจ่ายไปก่อนเท่านั้น
- เนื่องจากค่ารักษาผู้ป่วยนอกเหล่านี้อาจมีราคาสูงหลายแสน หรือตรวจสอบความจำเป็นทางการแพทย์ได้ยาก จึงเน้นให้สำรองจ่าย เพื่อป้องกันการที่ รพ. ให้เคลมเกินความจำเป็นไปมาก โดยใช้คนไข้ช่วยดูความเหมาะสมตามกำลังของเงินสำรองจ่ายที่มี
❐ 5. ตอนเกษียณเบี้ยสูงขนาดไหน และมีวิธีช่วยจัดการอย่างไรบ้าง
- ส่วนนี้จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงบริษัท แต่ขึ้นอยู่กับผู้แนะนำทางการเงินด้วยว่า จะได้เตรียมพร้อมหาทางแก้ไขด้วยวิธีใดไว้บ้าง และบอกข้อดีช้อเสียของแต่ละวิธีไว้หรือไม่
ระเบิดเวลา 10 ลูกของประกันสุขภาพ ที่ต้องทราบก่อนทำการเปรียบเทียบ
หลายครอบครัวเลือกสัญญาประกันสุขภาพจากเงินที่เหลือของค่าใช้จ่ายที่คิดว่าจำเป็นอื่นๆ โดยยังไม่ทราบเลยว่าค่ารักษาโรคต่างๆ ในปัจจุบันนั้นมีราคาแพงอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นความผิดพลาดข้อแรกในการเลือกประกันสุขภาพ
เพราะด้วยเงินที่เหลือที่ยังขาดวินัยทางการเงินนั้น หลายครั้งจึงมักเลือกประกันสุขภาพที่ดูแลได้เฉพาะค่ารักษานอน รพ. ทั่วไป หรือค่าผ่าตัดทั่วไปเท่านั้น แต่ไม่สามารถครอบคลุมไปถึง ค่าตรวจค่ารักษาแบบมีการผ่าตัดซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับ หัวใจ สมอง และค่ารักษาผู้ป่วยนอกที่ยาวนานอย่างมะเร็งได้
รวมไปถึงหลายครอบครัวซื้อประกันสุขภาพเพราะเชื่อใจตัวแทน แต่ไม่ได้เข้าใจเงื่อนไขและความคุ้มครองของประกันสุขภาพเลย และต้องคอยถามในทุกครั้งที่จะเคลม เสมือนยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ซื้อไปนั้นทำอะไรได้บ้าง หรือทำอะไรไม่ได้บ้าง
และนั่นได้ทำให้ประกันสุขภาพกลายเป็นระเบิดเวลาที่ร้ายแรงอย่างมาก จนมักมีกระแสข่าวของความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอบ่อยครั้ง ด้วยเพราะการไม่ยอมใช้เวลาทำความเข้าใจประกันสุขภาพจริง ๆ โดยเน้นเพียงข้อมูลในโบรชัวร์เท่านั้น
ซึ่งหากประกันสุขภาพสมัครง่ายเพียงใช้ข้อมูลจากในโบรชัวร์อย่างเดียว ก็คงจะไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนประกัน
แต่เพราะในความเป็นจริงแล้ว ประกันสุขภาพมีข้อมูลอีกหลายอย่างมากที่ตัวแทนต้องอธิบายให้เรียบร้อย ก่อนพิจารณาข้อมูลในโบรชัวร์ โดยเฉพาะกับข้อมูล 10 ข้อ ต่อไปนี้
- ประกันสุขภาพของบริษัทประกันชีวิต เป็นเพียงสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองให้กับสัญญาหลักประกันชีวิต
- ทำไมประกันสุขภาพ คือ ระเบิดเวลา
- หน้าที่ของตัวแทนประกัน ถอดสลักระเบิดเวลา
- ความเสี่ยง และ ค่ารักษาของโรคต่าง ๆ
- หมวดความคุ้มครองและข้อยกเว้นของประกันสุขภาพ
- ขบวนการพิจารณารับทำประกัน
- แบบประกันสุขภาพที่ควรครอบคลุม และควรมี/ไม่มี Deductible
- การพิจารณาทุนชีวิต และ สัญญาเพิ่มเติม
- ขบวนการเคลมประกันสุขภาพ
- วิธีจัดการเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ
ดังนั้นก่อนที่ท่านพิจารณาเปรียบเทียบความคุ้มครองและกราฟเบี้ยประกันในบทความนี้ จะควรต้องเข้าใจ 10 ข้อนี้ให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ท่านจะได้ประกันสุขภาพที่ฝากสุขภาพไว้ได้จริง ๆ ตลอดไป ไม่ใช่เต็มไปด้วยระเบิดเวลาแฝงไว้มากมาย
1.ตารางเปรียบเทียบประกันสุขภาพเน้นความคุ้มครองเฉลี่ย 5 ล้าน ค่าห้อง 3,000 บ. หรือ ค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน
สำหรับเป็นประกันสุขภาพที่คุ้มครองขั้นน้อยที่สุดในปัจจุบัน
หากปัจจุบันจัดการรายรับและรายจ่ายอย่างดีแล้ว แต่ยังพบว่ามีงบให้กับประกันสุขภาพไม่มากนัก และพร้อมที่จะเตรียมกันเงินสำรองฉุกเฉินจำนวนหลักแสนถึงล้านสำหรับเพื่อช่วยดูแลค่ารักษาร่วมกับประกันสุขภาพแล้ว การทำประกันแบบที่ 1 นี้ ก็เป็นทางเลือกที่จะน่าสนใจพอสมควร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระแทนที่จะแบกรับเองไว้ทั้งหมด
เปรียบเทียบเหมาจ่ายรายปีหรือรายครั้ง 1-5 ล้าน ค่าห้อง 3,000 บ. หรือห้องเดี่ยวมาตรฐาน
❐ กราฟเบี้ยเพศชายเน้นความคุ้มครองเฉลี่ย 5 ล้าน ค่าห้อง 3,000 บ. พอช่วยคุ้มครองมะเร็งผู้ป่วยนอก
❐ กราฟเบี้ยเพศหญิงเน้นความคุ้มครองเฉลี่ย 5 ล้าน ค่าห้อง 3,000 บ. พอช่วยคุ้มครองมะเร็งผู้ป่วยนอก
เปรียบเทียบเหมาจ่ายรายปีหรือรายครั้ง 1-5 ล้าน
[เน้นได้ความคุ้มครองรอบด้านแต่อาจไม่เพียงพอ VS เน้นเฉพาะผู้ป่วยในทั้งปัจจุบันและอนาคต]
❐ วัตถุประสงค์
- สามารถดูแลค่าผ่าตัดซับซ้อนได้เพียงพอในปัจจุบัน
- ดูแลค่ามะเร็งแบบผู้ป่วยใน
- แบ่งเบาค่ารักษามะเร็งผู้ป่วยนอกได้บ้าง และไม่กลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีก
- แบ่งเบาค่าห้องได้บ้าง (เว้นแต่เป็นแบบค่าห้องเดี่ยวมาตรฐานที่ดูแลเพียงพอถึงอนาคต)
❐ แบบที่ 1 เน้นเฉพาะผู้ป่วยใน IPD วงเงินเหมามะเร็งผู้ป่วยนอก (วงเงินคุ้มครองรายปี)
- AIA AXA TL โดยแบบนี้จะเหมาจ่ายตามจริงเกือบทุกอย่าง เพียงแต่จะมีการจำกัดวงเงินในส่วนค่าห้อง ค่ายากลับบ้าน ค่าแพทย์ตรวจเยี่ยม เป็นต้น (แล้วแต่บริษัท) แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนอก (ที่รักษาต่อจากผู้ป่วยใน) รวมถึงค่าล้างไต ค่ารักษามะเร็ง ค่าอุบัติเหตุผู้ป่วยนอก ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก จะเป็นเหมาจ่ายตามจริงต่อปี (แต่ส่วนของค่ารักษามะเร็งอาจจะน้อยไปหน่อย)
❐ แบบที่ 2 มีค่ารักษาผู้ป่วยนอก OPD วงเงินเหมามะเร็งผู้ป่วยนอก (วงเงินคุ้มครองรายปี)
- FWD TM แบบนี้จะมีความความคุ้มครองพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือ มีค่า OPD ต่อปีหลักพันให้ด้วย รวมถึงค่าอุปกรณ์หรืออวัยวะเทียมภายนอกร่างกาย แต่ก็ทำให้เบี้ยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
❐ แบบที่ 3 เน้นเฉพาะผู้ป่วยใน IPD วงเงินแยกส่วนมะเร็งผู้ป่วยนอก (วงเงินคุ้มครองรายครั้ง)
- BLA HHealth กับ MTL DHealth แบบนี้เน้นผู้ป่วยใน และสามารถรองรับได้ถึงค่าผ่าตัดซับซ้อนด้านหัวใจ สมอง และมะเร็งระยะแรกที่ยังใช้การผ่าตัดรักษาหรือต้องให้ยาเคมีบำบัดแบบผู้ป่วยในเป็นหลัก รวมไปถึงหมดความกังวลเรื่องค่าห้องทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
❐ เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการ Trade off ที่เน้นให้ผู้เอาประกันเลือกระหว่าง
(1.) เน้นค่าห้องค่ารักษาผู้ป่วยในครอบคลุมถึงอนาคต >> BLA MTL
(2.) เน้นพอได้ครอบคลุมหรือแบ่งเบาค่ารักษามะเร็งผู้ป่วยนอกในปัจจุบัน >> AIA AXA TL
(3.) เน้นได้ค่าคุ้มครองส่วนเสริมพิเศษ >> FWD TM
❐ ด้วยวงเงินคุ้มครองที่ไม่สูงมาก ทำให้เบี้ยหลังเกษียณจะน้อยกว่าแบบที่มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่า เนื่องจากเลือกที่จะเน้นเพียงการแบ่งเบาในบางอย่าง หรือดูแลบางอย่างเท่านั้น
2.ตารางเปรียบเทียบประกันสุขภาพเน้นความคุ้มครองเริ่มต้น 6 ล้าน ค่าห้องเริ่มต้น 5,500 บ.
เน้นเป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมมะเร็งและค่าห้องที่เพียงพอในปัจจุบัน
เป็นแผนประกันที่คุ้มครองสูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง เพิ่มความมั่นใจว่าจะสามารถครอบคลุมค่ารักษามะเร็งได้ รวมไปถึงมีค่าห้องที่สูงมากขึ้น พร้อมหมวดความคุ้มครองที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มั่นใจว่าจะสามารถลดเงินสำรองฉุกเฉินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับค่าห้องหรือค่ารักษามะเร็งในอนาคตได้
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 6-20 ล้าน ค่าห้อง 5,500-10,000 บ.
[เน้นได้ความคุ้มครองเพียงพอถึงค่ารักษามะเร็ง และค่าห้องที่เพียงพอ]
❐ กราฟเบี้ยเพศชายเน้นความคุ้มครองเริ่มต้น 6 ล้าน ค่าห้องเริ่มต้น 5,500 บ. รับภัยมะเร็งในปัจจุบัน
❐ กราฟเบี้ยเพศหญิงเน้นความคุ้มครองเริ่มต้น 6 ล้าน ค่าห้องเริ่มต้น 5,500 บ. รับภัยมะเร็งในปัจจุบัน
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 6-20 ล้าน ค่าห้อง 5,500-10,000 บ.
[เน้นได้ความคุ้มครองเพียงพอถึงค่ารักษามะเร็ง และค่าห้องที่เพียงพอ]
❐ แบบที่ 1 วงเงิน 15 ล้าน +ค่าห้อง 6,000 -ไม่มีค่า OPD -ไม่มีค่าคุ้มครองพิเศษ
- ซึ่งจะเหมือนแบบก่อนหน้า เพียงแต่อัพค่าห้องเพิ่มเล็กน้อย. และเพิ่มวงเงินคุ้มครองให้สูงเพียงพอกับค่ารักษามะเร็งผู้ป่วยนอก
- AIA จะไม่มีความคุ้มครองพิเศษ แต่ให้ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก และวงเงินเบิ้ลสำหรับโรคร้าย
- TL จะไม่มีความคุ้มครองพิเศษ แต่ให้ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก และสามารถเลือกแบบ Deductible ได้
❐ แบบที่ 2 วงเงิน 10-20 ล้าน +ค่าห้อง 8,000-10,000 -ไม่มีค่า OPD +มีค่าคุ้มครองพิเศษ
- แบบนี้จะเน้นผู้ป่วยในและรักษามะเร็งผู้ป่วยนอกเป็นหลัก
- BLA จะเพิ่มความคุ้มครองพิเศษ คือ ค่าพยาบาลส่วนตัวจ่ายตามจริง ค่าอรรถบำบัด และ ค่าฉายภาพขั้นสูงผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องแอดมิต (MRI CT PET - จำเป็นสำหรับติดตามอาการมะเร็งที่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายสูงถึง 3-8 หมื่นบาทต่อครั้งและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ) และ ค่าอวัยวะเทียมภายนอก
- MTL จะเพิ่มความคุ้มครองพิเศษค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก ค่าเคลื่อนย้านฉุกเฉิน S.O.S.
❐ แบบที่ 3 วงเงิน 6-15 ล้าน +ค่าห้อง 5,500up +มีค่า OPD +มีค่าคุ้มครองพิเศษ
- แบบนี้จะมองว่าให้ค่าห้องที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว ก็ควรมีค่า OPD และ Option เสริมพิเศษอื่น ๆ ให้มาด้วย
- AXA FWD จะมีค่าโรคแทรกซ้อนการตั้งครรภ์ให้มาด้วย
- TM จะเน้นค่าอุปกรณ์เทียม และค่าเตียงเสริมและ ตรวจร่างกายฉีดวัคซีน ค่าพยาบาลส่วนตัว
❐ ถ้าเน้นเฉพาะปัจจุบันอย่างเดียว TL จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจมากของกลุ่มนี้ ด้วยเบี้ยที่ประหยัดกว่า ค่าห้องที่ยังเพียงพอในปัจจุบันสำหรับ รพ.เอกชนขนาดกลาง แต่ก็ต้องแลกมากับการต้องเตรียมเงินฉุกเฉินสำหรับหมวดความคุ้มครองพิเศษที่จำเป็นต่าง ๆ และส่วนเกินค่าห้องในปัจจุบันและอนาคต รวมไปถึงเงินฉุกเฉินค่า Deductible (หากต้องการ) ที่คาดการณ์จำนวนเงินที่ควรเตรียมกันไว้ได้ยาก ซึ่งหากพิจารณาทั้งหมดนี้ร่วมด้วยจะทำให้ BLA ดูน่าสนใจมากขึ้น แต่ด้วยวงเงิน 10 ล้านกับค่าห้อง 8,000 บ. ก็ยังอาจดูน้อยสำหรับค่ารักษามะเร็งและค่าห้องในอนาคต
❐ จะสังเกตได้ว่าแบบที่ไม่มีทั้ง OPD ทั้งความคุ้มครองพิเศษ และยังสามารถจ่ายรับผิดส่วนแรกได้นั้น จะเป็นแบบที่ควรต้องเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับค่ารักษาไว้สูงที่สุด ในขณะที่แบบที่มีทั้ง OPD และทั้งค่าคุ้มครองพิเศษ จะสามารถเตรียมเงินสำรองได้น้อยลงแต่ก็แลกมากับเบี้ยที่สูงมากขึ้นดังกราฟที่ผ่านมา
❐ ดังนั้นการจะเลือกว่าควรจะเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินอย่างไรดี ให้พิจารณาว่าภัยที่ไม่มีในแบบประกันนั้น ๆ มีค่าใช้จ่ายคาดการณ์ได้ประมาณเท่าใดก็จะช่วยให้เตรียมเงินส่วนนี้เพื่อรับภัยเองได้ หรือ
❐ ถ้าเป็นภัยที่คาดการณ์งบประมาณได้ค่อนข้างยาก อย่างค่าส่วนเกินค่าห้องในอนาคต หรือเป็นภัยที่เฉลี่ยรับความเสี่ยงกับคนจำนวนมากได้ อย่างค่าพยาบาลส่วนตัวกับค่าฉายภาพขั้นสูง การเลือกที่จะจ่ายเบี้ยเพิ่มขึ้นก็จะรู้งบประมาณและคำนวณเตรียมการวางแผนการลงทุนได้ง่ายกว่า การคำนวณเตรียมกันเงินสำรองฉุกเฉินที่จะรับภัยไว้เอง
❐ เบี้ยก่อนเกษียณจะแตกต่างกันค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเบี้ยหลังเกษียณ ซึ่งจะส่งผลต่อการเตรียมเงินสำหรับเบี้ยหลังเกษียณได้โดยตรง รวมไปถึงการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินที่จำเป็นต้องคำนึงถึงควบคู่ไปกับเบี้ยประกันสุขภาพด้วย
3.ตารางเปรียบเทียบประกันสุขภาพเน้นความคุ้มครอง 12-30 ล้าน ค่าห้อง 8,000 - 12,000 บ.
เน้นเป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงมะเร็งและค่าห้องทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ประกันสุขภาพกลุ่มนี้จะมีวงเงินที่สูงมากขึ้น รวมไปถึงค่าห้องที่มากขึ้น และจะเป็นประกันกลุ่มสุดท้ายที่จะยังมีบางแบบประกันที่ไม่มีค่ารักษาผู้ป่วยนอก OPD หรือ ไม่มีค่าคุ้มครองพิเศษต่าง ๆ จึงทำให้เบี้ยประกันอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลที่สุดกลุ่มหนึ่ง
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 12-30 ล้าน ค่าห้อง 8,000 - 12,000 บ.
[เน้นได้ความคุ้มครองเพียงพอถึงค่ารักษามะเร็ง และค่าห้องในอนาคต]
❐ กราฟเบี้ยเพศชายเน้นความคุ้มครอง 12-30 ล้าน ค่าห้อง 8,000 - 12,000 บ. รับภัยมะเร็งปัจจุบันและอนาคต
❐ กราฟเบี้ยเพศหญิงเน้นความคุ้มครอง 12-30 ล้าน ค่าห้อง 8,000 - 12,000 บ. รับภัยมะเร็งปัจจุบันและอนาคต
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 12-30 ล้าน ค่าห้อง 8,000 - 12,000 บ.
[เน้นได้ความคุ้มครองเพียงพอถึงค่ารักษามะเร็ง และค่าห้องในอนาคต]
❐ แบบที่ 1 วงเงิน 30 ล้าน +ค่าห้อง 12,000 -ไม่มีค่า OPD -ไม่มีค่าคุ้มครองพิเศษ
- อัพค่าห้องเพิ่มขึ้น และเพิ่มวงเงินคุ้มครองให้สูงเพียงพอกับค่ารักษามะเร็งผู้ป่วยนอกในอนาคต
- TL จะไม่มีความคุ้มครองพิเศษ แต่ให้ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก และสามารถเลือกแบบ Deductible ได้ จึงทำให้เบี้ยประกันลดลงได้อีก แต่ก็ต้องแลกมากับการวางแผนเงินฉุกเฉินของ Deductible ที่ไม่ทราบจำนวนครั้งที่จะเข้านอน รพ. จึงทำให้วางแผนเตรียมเงินฉุกเฉินจากการลงทุนค่อนข้างยากกว่าแบบรู้งบประมาณเบี้ยชัดเจนของแบบประกันปกติ
❐ แบบที่ 2 วงเงิน 20-30 ล้าน +ค่าห้อง 10,000-10,000 -ไม่มีค่า OPD +มีค่าคุ้มครองพิเศษ
- อัพค่าห้องเพิ่มขึ้น และเพิ่มวงเงินคุ้มครองให้สูงเพียงพอกับค่ารักษามะเร็งผู้ป่วยนอกในอนาคต
- BLA จะเพิ่มความคุ้มครองพิเศษ คือ ค่าพยาบาลส่วนตัวจ่ายตามจริง ค่าอรรถบำบัด และ ค่าฉายภาพขั้นสูงผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องแอดมิต (MRI CT PET - จำเป็นสำหรับติดตามอาการมะเร็งค่าใช้จ่ายสูง 3-8 หมื่นบาทต่อครั้ง ที่เกินวงเงิน OPD ของแบบประกันที่มี OPD ไปมาก) และ ค่าอวัยวะเทียมภายนอก
- MTL จะเพิ่มความคุ้มครองพิเศษค่าฉายภาพขั้นสูงแบบสำรองจ่าย ค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก ค่าเคลื่อนย้ายฉุกเฉิน รพ.ต่อ รพ. S.O.S.
❐ แบบที่ 3 วงเงิน 12-25 ล้าน +ค่าห้อง 8,000-10,000 +มีค่า OPD +มีค่าคุ้มครองพิเศษ
- อัพค่าห้องเพิ่มขึ้น เพิ่มวงเงินคุ้มครองให้สูงมากขึ้น รวมถึงเพิ่มค่า OPD มากกว่าเดิม (แต่ยังไม่เพียงพอกับค่าฉายภาพขั้นสูง) และเพิ่มคุ้มครองพิเศษบางหมวด
- AIA มี OPD รายครั้งครั้งละ 2,500 บ. ให้ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก และวงเงินเบิ้ลสำหรับโรคร้าย
- AXA FWD จะมีค่าโรคแทรกซ้อนการตั้งครรภ์ และ มีวงเงิน OPD ให้ที่ 12,000 บ. กับ 18,000 บ. ต่อปี
- TM จะเน้นค่าอุปกรณ์เทียมภายนอกต่อปี และค่าเตียงเสริมและตรวจร่างกายฉีดวัคซีน ค่าพยาบาลส่วนตัว 8,000 บ.ต่อวัน และค่า OPD ที่ 15,000 บ.ต่อปี
❐ แบบประกันกลุ่มนี้จะคล้ายกับแบบประกันกลุ่มก่อนหน้าพอสมควร เพียงแต่อัพเกรดความคุ้มครองให้สูงขึ้นเพื่อรองรับกับเงินเฟ้อของค่ารักษาในอนาคต โดยเฉพาะของ BLA ที่แบบ 10 ล้านกับ แบบ 30 ล้าน เบี้ยต่างกันไม่มาก จึงทำให้ BLA 30 ล้าน เป็นหนึ่งในแผนที่น่าสนใจที่สุดแผนหนึ่งในกลุ่มนี้ ที่ยังสามารถเลือกไม่เอา OPD ได้ โดยยังให้ค่าห้องที่สูง วงเงินคุ้มครองสูง และมีความคุ้มครองพิเศษที่จำเป็นมาให้ครบถ้วน แต่ถ้าตัดเรื่องความคุ้มครองพิเศษที่จำเป็นออกไป และยินดีที่จะเตรียมกันเงินฉุกเฉินไว้หลักแสนขึ้นไปเอง ของ TL ที่เน้นเฉพาะความคุ้มครอง 13 หมวดพื้นฐานก็จะดูน่าสนใจมากเช่นกัน หรือหากกังวลเรื่องค่าห้อง MTL ก็เป็นทางออกที่ดี
❐ ด้วยวงเงินที่มากขึ้น ค่าห้องที่สูงขึ้น รวมถึงความคุ้มครองพิเศษที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้เบี้ยประกันทุกบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (เมื่อเอา MTL ที่ยังเป็นแผน 20 ล้านแบบเดิมตามกลุ่มก่อนหน้าเป็นเกณฑ์) แต่จะมีเพียง BLA ที่แม้จะอัพวงเงินเพิ่มเป็น 30 ล้านกับค่าห้องที่สูงขึ้นอีก 2,000 บ. แต่เบี้ยก็ไม่ต่างกับแผน 10 ล้านมากนัก ในขณะที่ TL เบี้ยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะเบี้ยตอนเกษียณด้วยค่าห้องที่สูงขึ้นกว่า 2 เท่า คือจาก 6,000 บ. มาเป็น 12,000 บ.
❐ ดังนั้นการจะตัดสินใจว่าจะเลือกระหว่างแบบประกันกลุ่มที่แล้วหรือกลุ่มนี้ดี จะจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาถึงสถิติค่ารักษาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 8%ต่อปี เป็นตัวช่วยตัดสินใจด้วย และต้องพิจารณาว่าระหว่างยอมจ่ายเบี้ยเพิ่มขึ้นกับต้องเตรียมกันเงินสำรองฉุกเฉินเพิ่มขึ้น อะไรจะดีกว่ากันในการวางแผนการเงิน
❐ ซึ่งแน่นอนว่าหากมองในแง่มุมของการทราบตารางเบี้ยล่วงหน้าหรือก็คือการทราบงบประมาณล่วงหน้า ย่อมช่วยให้สามารถคำนวณว่าควรเก็บเงินเท่าใดในเครื่องมือการเงินใดสำหรับเบี้ยหลังเกษียณ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่ทำให้การจ่ายเบี้ยตอนเกษียณสามารถคำนวณได้ แตกต่างกับเงินสำรองฉุกเฉินที่ค่อนข้างจะคำนวณได้ยากกว่ามาก
4.ตารางเปรียบเทียบประกันสุขภาพเน้นความคุ้มครอง 30-60 ล้าน ค่าห้อง 12,000 บ.
เน้นเป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงอนาคต และลดการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินได้ในระดับหนึ่ง
แบบประกันกลุ่มนี้ทุกแบบจะให้ค่าห้องมาค่อนข้างสูง และมีค่ารักษาผู้ป่วยนอก OPD มาให้ด้วย ที่จำนวนค่อนข้างเพียงพอหรือจ่ายส่วนเกินไม่มากกับการรักษาผู้ป้วยนอกทั่วไป รวมไปถึงค่าคุ้มครองพิเศษต่าง ๆ ที่เริ่มมีมากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้สามารถลดการกันเงินสำรองฉุกเฉินสำหรับค่ารักษาลงไปได้พอสมควร
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 30-60 ล้าน ค่าห้อง 12,000 บ.
[เน้นความคุ้มครองสูง สะดวกสบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต]
❐ กราฟเบี้ยเพศชายเน้นความคุ้มครอง 30-60 ล้าน ค่าห้องเริ่มต้น 12,000 บ.
❐ กราฟเบี้ยเพศหญิงเน้นความคุ้มครอง 30-60 ล้าน ค่าห้องเริ่มต้น 12,000 บ.
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 30-60 ล้าน ค่าห้อง 12,000 บ.
[เน้นความคุ้มครองสูง สะดวกสบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต]
❐ แบบที่ 1 ไม่เน้นคุ้มครองภัยพิเศษที่อาจจงใจให้เกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นได้ง่าย
- AIA มีค่าอุปกรณ์เทียมภายนอกแบบรายปี ค่า OPD ที่ค่อนสูงมาก โดยสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้ง เวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอกและกายภาพบำบัด
- BLA ยังคงมีความคุ้มครองพิเศษอื่น ๆ ทั้งค่าพยาบาลส่วนตัวจ่ายตามจริง ค่าอรรถบำบัด ค่าฉายภาพขั้นสูงผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องแอดมิต (MRI CT PET) ค่าอวัยวะเทียมภายนอก และค่า OPD โดยแยกค่ากายภาพบำบัดฝังเข็มและเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอกออกมาเป็นอีกวงเงิน
- MTL เพิ่มค่าพยาบาลส่วนตัววงเงินจำกัด ค่าอรรถบำบัด ค่าฉายภาพขั้นสูงผู้ป่วยนอกโดยไม่ต้องแอดมิต (MRI CT PET) ค่าอวัยวะเทียมภายนอก ค่า OPD นอกเหนือจากเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอกที่มีอยู่แล้ว
❐ แบบที่ 2 มีคุ้มครองภัยที่เกิดขึ้นได้ง่าย หรือ จงใจให้เกิดขึ้นได้บ้าง
- FWD ให้วงเงิน OPD สูงที่สุดและแยกจากค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้ป่วยนอก ทั้งยังมีค่าแพทย์ทางเลือกมาให้ พร้อมจัดเต็มความคุ้มครองพิเศษทั้ง ค่าสายตา ทำฟัน ทำคลอด จิตเวช ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีน
- TM เพิ่มวงเงิน OPD ที่มากขึ้นยังคงสามารถนำวงเงินนี้ไปใช้ฉีดวัคซีนหรือตรวจสุขภาพได้เหมือนเดิม และเพิ่มวงเงินค่าพยาบาลส่วนตัว ค่าเตียงเสริมและค่าอุปกรณ์เทียมภายนอกกาย
❐ ด้วยบริษัทต่าง ๆ มองว่าแบบประกันกลุ่มนี้ จะเน้นตลาดระดับกลางบน จึงเริ่มใส่ความคุ้มครองพิเศษ ค่าห้องและค่า OPD ที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เบี้ยประกันเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในแบบประกันที่มีความคุ้มครองพิเศษมาให้จำนวนมาก
❐ ดังนั้นการจะตัดสินใจเลือกแบบประกันในกลุ่มนี้ จะจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องเงินสำรองฉุกเฉิน กับความคุ้มครองพิเศษที่สามารถเฉลี่ยภัยกับคนจำนวนมากได้ให้ดี ว่าแบบใดจะสามารถคุ้มค่าและเหมาะสมกับครอบครัวมากกว่ากัน
❐ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ การจัดการเบี้ยหลังเกษียณที่จะสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งถ้าหากใช้เงินที่หามาได้จากการทำงานมาจ่ายเบี้ยส่วนนี้ ก็ดูจะเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร แต่ถ้าใช้เงินที่เติบโตขึ้นมาเองตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะตั้งแต่อายุยังน้อย แบบประกันกลุ่มนี้ก็ดูจะน่าสนใจขึ้นมาพอสมควร
5.ตารางเปรียบเทียบประกันสุขภาพเน้นความคุ้มครอง 40 - 80 ล้าน ค่าห้อง 12,000-15,000 บ.
เน้นเป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงอนาคต และลดการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินไปได้มาก
แบบประกันกลุ่มนี้จะเป็นการอัพเกรดเพิ่มเติมจากกลุ่มที่แล้ว โดยเน้นเพิ่มวงเงินที่มากขึ้นทั่งค่า OPD ค่าห้อง และค่าความคุ้มครองพิเศษต่าง ๆ
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 40-80 ล้าน ค่าห้อง 12,000-15,000 บ.
[เน้นความคุ้มครองสูง สะดวกสบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต]
❐ กราฟเบี้ยเพศชายเน้นความคุ้มครอง 40-80 ล้าน ค่าห้อง 12,000-15,000 บ.
❐ กราฟเบี้ยเพศหญิงเน้นความคุ้มครอง 40-80 ล้าน ค่าห้อง 12,000-15,000 บ.
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 40-80 ล้าน ค่าห้อง 12,000-15,000 บ.
[เน้นความคุ้มครองสูง สะดวกสบายทั้งในปัจจุบันและอนาคต]
❐ แบบที่ 1 ไม่เน้นคุ้มครองภัยที่จงใจให้เกิดขึ้นได้ หรือ เกิดขึ้นได้ง่าย
- AIA เป็นแบบเดิมกับกลุ่มที่แล้ว
- BLA เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่า OPD ค่าอวัยวะเทียมภายนอก ค่าเวชศาสตร์ ค่ากายภาพบำบัด และค่าฝังเข็ม
- MTL เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่าพยาบาลส่วนตัว ค่าอวัยวะเทียมภายนอก ค่า OPD ค่ากายภาพบำบัด ค่าฝังเข็ม ค่าจิตเวช
❐ แบบที่ 2 มีคุ้มครองภัยที่เกิดขึ้นได้ง่าย หรือ จงใจให้เกิดขึ้นได้บ้าง
- AXA เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่า OPD สูงสุดในกลุ่ม ค่ากายภาพบำบัด ค่าฝังเข็ม ค่าทำฟัน ค่าจิตเวช ค่าหออภิบาลบุตร
- FWD เป็นแบบเดิมกับกลุ่มที่แล้ว โดยยังมีค่า OPD ค่าจิตเวชที่สูงสุดในกลุ่มเหมือนเดิม
- TM เพิ่มวงเงิน OPD ที่มากขึ้น (แต่น้อยสุดในกลุ่ม) ยังคงสามารถนำวงเงินนี้ไปใช้ฉีดวัคซีนหรือตรวจสุขภาพได้เหมือนเดิม และเพิ่มวงเงินค่าพยาบาลส่วนตัว ค่าเตียงเสริมและค่าอุปกรณ์เทียมภายนอกกาย
❐ ตารางเบี้ยจะสะท้อนตามลำดับของวงเงิน (1)ค่า OPD (2)ค่าคุ้มครองพิเศษ (3)ค่าจิตเวช (4)ค่าห้อง และ (5)วงเงินคุ้มครอง อย่างชัดเจน
❐ ดังนั้นการจะตัดสินใจเลือกแบบประกันในกลุ่มนี้ จะยังคงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องเงินสำรองฉุกเฉิน กับความคุ้มครองพิเศษที่ต้องจ่ายเบี้ยสูงขึ้นมาก ว่าแบบใดจะสามารถคุ้มค่าและเหมาะสมกับครอบครัวมากกว่ากัน
❐ รวมไปถึงการจัดการเบี้ยหลังเกษียณที่จะสูงขึ้นอย่างมาก แต่ถ้าหากผู้ปกครองเตรียมการวางแผนการลงทุนให้ลูกตั้งแต่เด็กก็มีโอกาสสูงที่ลูก ๆ จะสามารถมีสวัสดิการสุขภาพที่เพรียบพร้อม โดยประหยัดเบี้ยไปได้พอสมควร
❐ ต้องเริ่มพิจารณาว่ามีแบบประกันใดที่ให้ความคุ้มครองภัยเกินเบี้ยที่จ่ายไปได้ในคนทำประกันจำนวนมาก หรือเจตนาให้เกิดภัยขึ้นได้หรือไม่ เพราะจะนำไปสู่โอกาสการถูกปรับเบี้ยเพิ่มทั้งแบบประกันภายในอนาคต หรือ อาจถูกให้มีการ Copayment รายบุคคลได้ โดยบางบริษัทเริ่มแก้ปัญหานี้โดยให้สำรองจ่ายในหมวดความคุ้มครองที่ระบุความจำเป็นทางการแพทย์ได้ยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูงในทุกกรณี เพื่อชะลอการเคลมสินไหมเกินความจำเป็นและต้องคิดทุกครั้งเพราะต้องสำรองจ่ายเองไปก่อน
❐ นโยบายการสำรองจ่ายทุกกรณีนี่เอง ที่ได้นำไปสู่ปัญหาสำคัญคือ การต้องตั้งงบสำรองฉุกเฉินแบบเบิกเคลมคืนได้ขึ้นมา ร่วมกับเงินสำรองฉุกเฉินแบบใช้แล้วหมดไป กับงบประมาณค่าเบี้ยประกันตามปกติ
6.ตารางเปรียบเทียบประกันสุขภาพเน้นความคุ้มครอง 100 ล้าน ค่าห้อง 21,000-25,000 บ.
เน้นเป็นประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงอนาคต และลดการกันเงินสำรองฉุกเฉินไปได้มากที่สุด
แบบประกันกลุ่มนี้จะเป็นแบบที่ทุกบริษัทเน้นทำขึ้นมาสำหรับตลาดระดับบนโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีเบี้ยที่ฉีกตัวออกมาจากแบบประกันกลุ่มที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากมักให้ค่ารักษาผู้นอก OPD มาแบบจ่ายตามจริง
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 100-120 ล้าน ค่าห้อง 21,000-25,000 บ.
[เน้นความคุ้มครองสูง สะดวกสบายตลอดชีวิต]
❐ กราฟเบี้ยเพศชายเน้นความคุ้มครองเริ่มต้น 100 ล้าน ค่าห้อง 21,000-25,000 บ.
❐ กราฟเบี้ยเพศหญิงเน้นความคุ้มครองเริ่มต้น 100 ล้าน ค่าห้อง 21,000-25,000 บ.
เปรียบเทียบเหมาจ่าย 100-120 ล้าน ค่าห้อง 21,000-25,000 บ.
[เน้นความคุ้มครองสูง สะดวกสบายตลอดชีวิต]
❐ แบบที่ 1 ไม่เน้นคุ้มครองภัยที่จงใจให้เกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นได้ง่าย
- BLA เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่า OPD แบบจ่ายตามจริง ค่าอวัยวะเทียมภายนอก ค่าเวชศาสตร์ ค่ากายภาพบำบัด และค่าฝังเข็ม
- MTL เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่าพยาบาลส่วนตัว ค่าอวัยวะเทียมภายนอก ค่า OPD แบบจ่ายตามจริง ค่ากายภาพบำบัดจ่ายตามจริง ค่าฝังเข็ม ค่าจิตเวช
❐ แบบที่ 2 มีคุ้มครองภัยที่เกิดขึ้นได้ง่าย หรือ จงใจให้เกิดขึ้นได้บ้าง
- AIA เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่าอุปกรณ์ภายนอกต่อปี เพิ่มค่า OPD (ไม่ได้เป็นแบบจ่ายตามจริง) รวมไปถึงเพิ่มความคุ้มครองค่าตรวจสุขภาพ ทำฟัน และฉีดวัคซีน
- AXA เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่า OPD แบบจ่ายตามจริง
ค่ากายภาพบำบัดจ่ายตามจริง ค่าฝังเข็ม ค่าทำฟัน ค่าหออภิบาลบุตร ค่าจิตเวชที่ให้สูงที่สุด และเพิ่มค่าทำคลอดเข้ามา
- FWD เพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ค่าห้อง ค่า OPD แบบจ่ายตามจริง ค่าแพทย์ทางเลือก ค่าทำฟัน ค่าจิตเวชที่ให้สูงที่สุด และเพิ่มค่าทำคลอดเข้ามา
- TM เพิ่มวงเงิน OPD ที่มากขึ้น (แต่ยังน้อยสุดในกลุ่ม) สามารถนำวงเงินนี้ไปใช้ฉีดวัคซีนหรือตรวจสุขภาพได้เหมือนเดิม และเพิ่มวงเงินค่าพยาบาลส่วนตัว ค่าเตียงเสริมและค่าอุปกรณ์เทียมภายนอกกาย
❐ OPDจ่ายตามจริง ค่าทำคลอด จะสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเบี้ยของเพศหญิงจะสูงกว่าเพศชาย และจะเริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้นในช่วงหลังเกษียณที่ค่าทำคลอดไม่มีผลแล้ว
❐ การเหมาจ่ายตามจริงค่า OPD จะมีเฉพาะ AXA BLA FWD MTL ที่จะทำให้เห็นถึงความกล้าของแต่ละบริษัทประกันว่า พร้อมจะดูแลจัดสรรเงินของภัยที่เฉลี่ยความเสี่ยงกับผู้อื่นได้ยากอย่างไรบ้าง เพราะหากคำนวณเบี้ยน้อยเกินไปก็จะกลายเป็นช่องโหว่ของเงินกองกลางของผู้ทำประกันทุกคนได้ หรือถ้าเบี้ยมากเกินไปก็อาจจะทำให้คนไม่เลือกแบบประกันนี้ได้เช่นกัน
❐ ต้องยอมรับว่าแบบประกันกลุ่มนี้นั้นเบี้ยสูงขึ้นมหาศาล ซึ่งเบี้ยจะเกินจากสถิติการใช้งานจริงไปค่อนข้างไกลมาก และหมวดคุ้มครองพิเศษบางอย่างก็เป็นช่องโหว่ที่น่ากลัวในตอนอายุยังน้อย เช่น ค่ารักษาด้านจิตเวช แต่หลังเกษียณอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะเก็บเบี้ยเกินความคุ้มครองพิเศษไปพอสมควรแล้วอย่างแน่นอน
❐ การตัดสินใจเลือกแบบประกันในกลุ่มนี้ จึงเหมาะกับตลาดระดับบนจริง ๆ ที่เรื่องเบี้ยไม่ใช่ปัญหาแต่ต้องการรู้งบประมาณที่ต้องใช้จ่ายจริง ๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเลือกแบบประกันของบริษัทที่ให้ความคุ้มครองมากที่สุดต่อเบี้ยที่จ่ายไป แต่ก็จำเป็นต้องดูแนวโน้มว่าบริษัทให้มากแบบนี้ในตอนแรกเพื่อจะมาเพิ่มเบี้ยในตอนหลังหรือไม่ (เบี้ยน้อยสุดไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป)
❐ ในส่วนการจัดการเบี้ยหลังเกษียณที่จะสูงขึ้นอย่างมากนั้น ยังคงเหมาะกับผู้ปกครองที่มีเงินก้อนในการเตรียมการให้ลูกตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งถ้าหากวางแผนให้เงินก้อนนั้นเติบโตอย่างโดยแผนสำรองอย่างดี ก็จะสามารถทำให้ลูก ๆ ได้สวัสดิการด้านสุขภาพที่ดีที่สุดไปตลอดชีวิตของลูกได้ ไม่ใช่เพียงแค่ตลอดชีวิตของผู้ปกครองเท่านั้น
บทสรุปหลังการเปรียบเทียบ
ประกันสุขภาพทั้ง 6 กลุ่มจะสามารถสรุปแนวทางการจัดการเงินค่ารักษาต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
กลุ่ม 1. เบี้ยน้อยสุด ควรต้องเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินแบบใช้แล้วหมดไปไว้หลักล้านหรือทำประกันมะเร็งเพิ่ม รวมถึงการเตรียมเงินส่วนเกินค่าห้องไว้ให้เพียงพอในปัจจุบันและโดยเฉพาะในอนาคต
(1.) เน้นค่าห้องครอบคลุมถึงอนาคต >> BLA MTL
(2.) เน้นแบ่งเบาค่ารักษามะเร็งOPD >> AXA TL AIA
(3.) เน้นค่าคุ้มครอง OPD >> TM FWD
กลุ่ม 2. เบี้ยน้อย เน้นเพียงพอกับมะเร็ง แต่ควรเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินใช้แล้วหมดไปหลักแสนขึ้นไปสำหรับค่าฉายภาพขั้นสูง(หากไม่คุ้มครอง) กับส่วนเกินค่าห้องในปัจจุบันและอนาคต ในขณะที่เงินสำรองแบบเบิกเคลมคืนได้ก็ยังควรต้องเผื่อไว้หลักแสนเช่นกัน หากต้องสำรองจ่ายค่ายามะเร็ง ค่าฉายภาพขั้นสูง (ในบางบริษัท) หรือ อีกกรณีคือยอมจ่ายดอกเบี้ยสินเชื่อค่ารักษาระยะสั้นหรือตกลงกับทาง รพ. ก็อาจลดปัญหาเงินสำรองจ่ายนี้ได้บ้าง
(1.) เน้นค่าห้อง,ค่าตรวจ/รักษามะเร็งOPD >> MTL BLA
(2.) เน้นค่ารักษามะเร็งOPD >> TL AIA AXA
(3.) เน้นค่าคุ้มครอง OPD >> TM FWD
กลุ่ม 3. เบี้ยกลาง (แบบประกันคุ้มครองสูงสุดที่ยังเลือกไม่เอา OPD ได้) เน้นเพียงพอทั้งกับมะเร็งและค่าห้องในอนาคต การเตรียมเงินฉุกเฉินแบบใช้แล้วหมดจะลดลงได้มาก โดยจะเหลือเพียงเงินสำรองที่เบิกเคลมคืนได้หลักแสนหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับว่าแบบประกันที่เลือกนั้นต้องสำรองจ่ายค่าฉายภาพขั้นสูง หรือสำรองจ่ายค่ายามะเร็งหรือไม่
(1.) เน้นค่าห้อง,ค่าตรวจ/รักษามะเร็งOPD >> BLA MTL
(2.) เน้นค่าห้อง,ค่ารักษามะเร็งOPD >> TL
(3.) เน้นค่าคุ้มครอง OPD >> AXA FWD TM AIA
กลุ่ม 4. เบี้ยสูง ทุกแบบประกันจะมีวงเงิน OPD ให้มาแล้ว หรือให้ความคุ้มครองด้าน OPD เพิ่มขึ้น จึงทำให้ลดเงินสำรองใช้แล้วหมดไปหลักพันพลักหมื่นในส่วนนี้ลงได้ แต่ก็ต้องคอยมาพิจารณาว่าจะคุ้มกับเบี้ยที่จ่ายทิ้งไปหรือไม่ (เว้นแต่วางแผนให้เงินเติบโตหมุนมาจ่ายเบี้ยเองได้) และยังอาจต้องกังวลในเรื่องการสำรองจ่ายค่าฉายภาพขั้นสูงอยู่เนื่องจากวงเงิน OPD ยังไม่มากพอ
(1.) เน้นค่าตรวจ/รักษามะเร็งOPD,ค่าOPD >> BLA MTL AIA
(2.) เน้นค่า OPD ค่าคุ้มครองพิเศษ >> FWD TM
กลุ่ม 5. เบี้ยสูงมาก เป็นการอัพเกรดจากกลุ่ม 4 โดยวงเงิน OPD เริ่มเพียงพอต่อการฉายภาพขั้นสูงหรือจ่ายส่วนต่างไม่มาก รวมไปถึงลดเงินสำรองใช้แล้วหมดไปในส่วนต่างค่า OPD และส่วนเกินค่าห้องในอนาคตลงได้มาก เงินสำรองฉุกเฉินที่เตรียมไว้จึงมักเป็นเงินที่ไว้สำรองจ่ายแล้วเบิกเคลมคืนได้ นอกจากนี้บางแบบเริ่มให้ความคุ้มครองค่ารักษาด้านจิตเวชที่ปกติมีค่าใช้ค่อนข้างสูง (แต่ก็ต้องสำรองจ่ายด้วยเช่นกัน)
(1.) เน้นค่าตรวจ/รักษามะเร็งOPD,ค่าOPD >> BLA MTL AIA
(2.) เน้นค่า OPD ค่าคุ้มครองพิเศษ >> AXA FWD TM
กลุ่ม 6. เบี้ยไม่ใช่ปัญหา เป็นกลุ่มที่แทบไม่ต้องเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินทั้งแบบใช้แล้วหมดกับใช้แล้วเบิกเคลมคืนไว้เลย ด้วยวงเงิน OPD ที่สูงมากจนบางแบบประกันเป็นจ่ายตามจริง และค่าห้องที่สูงมากเพื่ออนาคต กลุ่มนี้จึงเน้นบริหารเบี้ยประกันเป็นหลักจริง ๆ ในขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ยังต้องบริหารการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉินจำนวนมากไว้ด้วย จึงทำให้กลุ่มนี้หากผู้ปกครองมีเงินก้อนและวางแผนบริหารเงินก้อนนี้ให้ดี ๆ สำหรับเบี้ยประกันลูก ๆ ก็จะเหมาะอย่างมากที่จะเป็นอีกหนึ่งมรดก นอกจากในเรื่องของการศึกษา
(1.) เน้นค่าห้องสูง,ค่าOPDเป็นวงเงิน >> TM AIA
(2.) ค่าOPDตามจริง,คุ้มครองพิเศษ >> AXA FWD MTL BLA
บทสรุป การทำประกันสุขภาพนั้น จะต้องมีการบริหารจัดการเงิน 3+1 กองอย่างมีประสิทธิภาพทั้ง
- เบี้ยประกันสุขภาพก่อนเกษียณ
- เงินฉุกเฉินนอกเหนือค่ารักษา (อาจใช้ประกันโรคร้ายแรงช่วยได้)
- เงินสำรองเพื่อเบิกเคลมคืนภายหลัง
- และเงินสำหรับเบี้ยตอนเกษียณ
ซึ่งการบริหารนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของทั้ง 4 องค์ประกอบคือ
ที่ต้องสอดผสานกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าหากเลือกได้เพียง 2 จาก 4 ปัจจัยให้ได้ดีที่สุดนั้น ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ต้องเลือก จะไม่ใช่ "สัญญาที่ดีสุด" หรือ "บริษัทที่ดีที่สุด"
แต่คือ "ความเข้าใจของผู้ใช้งานที่ดีที่สุด" และ "ความสามารถของผู้แนะนำที่ดีที่สุด" เพราะ 2 ปัจจัยนี้จะทำให้ได้ทั้งสัญญาและบริษัทที่ทำงานไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ได้ โดยไม่เกิดปัญหาจนลุกลามกลายมาเป็นความขัดแย้ง
ดังนั้นการนำสัญญามาเปรียบเทียบกันจนได้สัญญาที่คิดว่าดีที่สุดประหยัดที่สุดนั้น จะไม่ได้ช่วยอะไรเลยหากสุดท้ายแล้วผู้ใช้งานไม่พร้อมทำความเข้าใจในเงื่อนไขสัญญา และผู้แนะนำไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้
เพราะย่อมทำให้ภายหลังการทำสัญญา จะเกิดแต่ความขัดแย้งกับความไม่สบายใจตามมาอีกมากมาย และอาจจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่ได้ประหยัดลงไปเลย
ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ใช้งานต้องเข้าใจจุดประสงค์ของประกันสุขภาพที่เลือก อย่างเช่น
- เพื่อให้สามารถรองรับกับโรคร้ายต่าง ๆ ในปัจจุบันและอนาคตที่ค่าใช้จ่ายสูงได้ แต่ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สูงมาก และเป็นเพื่อความสะดวกสบาย ที่อยู่นอกเหนือจากเงื่อนไขคุ้มครอง ยินดีที่จะรับความเสี่ยงไว้เอง
- เพื่อให้ได้ตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสบายใจ ว่าหากตรวจเจออะไรจะสามารถรักษาได้ทันที
- เพื่อได้รับการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องต่อคิวตั้งแต่เช้ามืด รอนานหลายชั่วโมง หลายเดือน และคำพูดที่เสียดแทงจิตใจ
- เพื่อรองรับในค่ารักษาที่รับเองไม่ไหวหรือคำนวณเตรียมเงินฉุกเฉินได้ยาก โดยเฉพาะกับมะเร็ง
- และ เข้าใจว่าเงินค่ารักษานี้มาจากเงินกองกลางของทุกคนที่มาเฉลี่ยรับภัยร่วมกันผ่านประกันสุขภาพ หากมีการฉ้อฉลการเคลมที่ขาดความจำเป็นทางการแพทย์จำนวนมาก ย่อมส่งผลถึงส่วนรวมในไม่ช้า
บทส่งท้าย..ประกันสุขภาพตลอดชีพ
เครื่องมือการเงินด้านการป้องกัน โดยเฉพาะประกันนั้น ผู้คนโดยส่วนใหญ่หากต้องจ่ายเงินเพื่อใช้เครื่องมือการเงินนี้ อาจต้องคิดแล้วคิดอีก และรู้สึกเสียดายไม่เต็มใจนักที่จะจ่าย (เช่นเดียวกับตอนไม่เต็มใจที่จ่ายค่ารักษาให้กับ รพ.)
แต่กลับกันหากถามว่า แล้วถ้าได้เครื่องมือการเงินนี้มาแบบ ฟรี ๆ จะเอาหรือไม่ แน่นอนว่าแทบทุกคนย่อมตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ทำไมจะไม่เอา" แล้วจึงคิดว่าโชคดีจริง ๆ ที่ได้มาฟรี
แต่ในโลกของเครื่องมือการเงินนั้น ไม่ได้มีคำว่าโชคดีจริง ๆ ที่ได้ฟรี เพราะต้องเกิดขึ้นจากการวางแผนและจำลองหาหนทางที่เป็นไปได้มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้ใช้ทั้ง OPM (Other's People Money) และ OPR (Other's People Resource)
"เครื่องมือการลงทุน OPR สามารถให้ผลตอบแทนมาหมุนจ่ายเครื่องมือด้านการป้องกัน OPM ได้เองในระยะยาว เสมือนไม่ต้องเสียเงินที่ต้องออกแรงหามา"
ดังนั้นในตอนเกษียณทุกอย่างจะเริ่มทำงานด้วยกลไกของตนเองได้ หากเริ่มวางแผนใช้เครื่องมือการเงินให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดตั้งแต่ตอนนี้ และนั่นคือหน้าที่สำคัญที่สุดหน้าที่หนึ่งของ ผู้แนะนำเครื่องมือทางการเงิน ที่ต้องใช้จุดเด่นของทุกเครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมมากที่สุด