วางแผนเกษียณด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ และ ส่งผลต่อการวางแผนเกษียณด้านการเงินโดยตรง เพราะ แผนเกษียณด้านจิตใจจะช่วยให้เข้าใจถึงหน้าตาของความสุขที่ต้องการจริง ๆ ที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการวางแผนเกษียณด้านการเงิน
โดยเฉพาะหากเหลือเวลาอีกเพียง 10-20 ปีก่อนเกษียณ ซึ่งมักเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เริ่มเข้าใจถึงคำว่า ความสุข ได้มากขึ้นบ้างแล้ว ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่สะสมทั้งความจริงและความลวงต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
และเช่นเดียวกับการวางแผนเกษียณด้านการเงินที่ต้องออกเดินทางทำตามแผนที่วางไว้อย่างมีวินัยและเลือกใช้เครื่องมือการเงินที่ถูกต้อง การวางแผนเกษียณด้านจิตใจก็ย่อมมีการออกเดินทางและมีวินัยที่ต้องฝึกและเลือกใช้เครื่องมือที่ถูกต้องเช่นกัน โดยการวางแผนเกษียณด้านจิตใจจะเริ่มต้นได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
เริ่มทำความเข้าใจถึงความสุข 3 รูปแบบ
กลไกการทำงานของจิตใจนั้น ไม่ใช่เรื่องศักดิ์สิทธิ์ หรือ เหนือธรรมชาติใด ๆ แต่เป็นความจริงที่สามารถฝึกฝนให้เห็นกลไกการทำงานของจิตใจเองได้ และที่สำคัญในปัจจุบันยังมีแผนที่แสดงกลไกการทำงานให้ได้ศึกษา ไม่ต้องหลงเดินทางแบบที่ไม่สามารถจับตนชนปลายได้
โดยกลไกการทำงานของจิตใจมักจะทำงานเพื่อแสวงหาความสุข 3 รูปแบบดังต่อไปนี้
1. ความสุขแบบที่ต้องมีตัวตนเจ้าหนี้ลูกหนี้
เป็น ความสุข ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนไม่มีการได้มาฟรี ๆ โดยสิ่งที่ต้องนำมาแลกเปลี่ยนก็คือ ความทุกข์ ไม่ว่าจะเอาทุกข์ขึ้นมาก่อนเพื่อภายหลังได้ความสุขมาแลก (เจ้าหนี้) หรือ ขอกู้เอาความสุขตรงหน้าไว้ก่อนแล้วค่อยมาจ่ายดอกเบี้ยแสนแพงด้วยความทุกข์ในภายหลัง (ลูกหนี้)
โดยความสุขรูปแบบนี้จะเกิดจากความเคยชิน 3 อย่างดังนี้
- มีฉันที่ต้องการมี "สิ่งนี้" แล้วจะมีความสุข และต้องมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความสุข โดยหากไม่เป็นตามนี้จะมีความทุกข์
- มีฉันที่ไม่ต้องการให้มี "สิ่งนี้" แล้วจะมีความสุข และต้องให้มีน้อยลงเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความสุข โดยหากไม่เป็นตามนี้จะมีความทุกข์
- มีฉันที่เชื่อว่าความสุขจะเกิดขึ้นได้หรือเพิ่มขึ้นได้ จากการได้สิ่งที่ต้องการมากขึ้น และกำจัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกไปมากขึ้น โดยหากไม่เป็นตามนี้จะมีความทุกข์..จึงต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าอะไรสักอย่างนั้นจะทำให้ใครเป็นทุกข์แทนก็ตาม
จากความเคยชินทั้ง 3 อย่างนี้เอง จิตใจจึงตอบสนองความเคยชินนี้อยู่ตลอดเวลาอย่างอัตโนมัติ โดยยิ่งได้ "สิ่งนี้" ที่ต้องการหรือกำจัด "สิ่งนี้" ที่ไม่ต้องการได้มากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้มีตัวฉันที่เก่งขึ้นตัวใหญ่ขึ้นตาม "สิ่งนี้" ไปด้วยเท่านั้น จนสุดท้ายเกิดความเชื่อมโยง ความสุข คือ การมีตัวฉันที่ตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ส่งผลให้ความสุขแบบนี้จึงมักสร้างความวุ่นวายตลอดเวลา เพราะต้องคอยกระสับกระส่ายวิ่งหาหรือวิ่งกำจัด "สิ่งนี้" ที่ตัวฉันยึดเหนี่ยวอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยเพราะ "สิ่งนี้" มักจะเปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามกระแสของผู้คนภายนอก
จึงมักจะหมดความสุขลงได้ทันที หากกระแสผู้คนภายนอกบอกว่า "สิ่งนี้" ที่เคยดีนั้นไม่ได้ดีอีกต่อไปแล้ว มีอย่างอื่นมาทดแทนแล้ว (ด้วยเหตุนี้ในยุคสมัยที่คนยังไม่มี social media หรือ แม้แต่ซีรีย์ ละคร นิยาย คนจึงมีความสุขที่นานกว่านี้มาก)
ดังนั้นความสุขแบบนี้จึงเป็นความสุขที่ต้องเหนื่อยอยู่ตลอด ต้องพึ่งพาเสียงของผู้อื่น ไร้ราก ไร้แก่น และพร้อมพังทลายลงได้ไม่ยาก โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่า "สิ่งนี้" คือที่ตัวฉันต้องการ หรือที่คนอื่นต้องการกันแน่
ส่งผลให้ความสุขแบบนี้จึงห่างไกลจากคำว่าเกษียณพอสมควร เพราะหยุดไม่ได้ ต้องคอยวิ่งหาความสุขใหม่ ๆ ให้ตัวฉันได้ยึดเหนี่ยวต่อไปเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตามเมื่อร่างกายเสื่อมถอยลง หรือ เมื่อประสบการณ์ชีวิตเริ่มสอนให้เห็นถึงความเปราะบางของความสุขแบบนี้ ส่วนใหญ่จึงมักจะหนีไปหาความสุขที่เล็กลง ที่ไม่ต้องใหญ่และมากขึ้นอยู่ตลอด ผ่านการลดขอบเขตของ "สิ่งนี้" ลง ให้เหลือเพียงที่ตัวฉันต้องการจริง ๆ ไม่ใช่ที่คนภายนอกจำนวนมากต้องการ
และด้วยประสบการณ์ชีวิตนี้เอง จึงเริ่มสั่นคลอนความเชื่อของความเคยชินทั้ง 3 ที่ว่าให้มีเยอะขึ้นมากขึ้นถึงจะมีความสุข แต่มาในตอนนี้กลายเป็นว่าการได้หยุดเดิน ได้หยุดพัก ได้เป็นตัวฉันที่ตัวเล็กลง กลับมีความสุขมากกว่า
ซึ่งความสุขแบบที่เริ่มขัดกับความเคยชินทั้ง 3 นั้น ทำให้กายใจได้วิ่งเหนื่อยน้อยลงจริง และยังเริ่มทำให้เห็นความสุขในรูปแบบที่ไม่ต้องวุ่นวายกับกระแสจากผู้คนจำนวนมาก ที่มีความสุขมากกว่าเสียอีก
แต่ความสุขแบบนี้จะมีความเนิบ ๆ เฉื่อย ๆ คล้ายอาการ Burnout ที่หนีจากโลกภายนอก มาได้พักอยู่ในโลกความสุขของตนเอง
โดยความสุขแบบนี้จะดูดีในช่วงแรกอย่างมาก แต่ด้วยความเคยชินทั้ง 3 ย่อมทำให้มีตัวฉันที่ต้องการความสุขแบบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนจากความเนิบ ๆ เฉื่อย ๆ กลายเป็นความ มืด ๆ แบบ เกียจคร้าน เข้ามาทดแทน
ซึ่งความเคยชินทั้ง 3 จะให้แก้ไขความมืด ๆ นี้ ด้วยการให้ตามใจตัวเองเพิ่มมากขึ้นเข้าไปอีก เช่น กินมากขึ้น นอนมากขึ้น บันเทิงมากขึ้น (จนลีมไปว่าการพบความสุขแบบลดขอบเขตลงครั้งแรกนั้น เกิดจากขัดใจไม่ทำตามความเคยชินทั้ง 3 นี้ต่างหาก)
และเมื่อนานวันเข้าร่างกายได้เสื่อมถอยลง หรือเงินที่สะสมมาหมด ก็ต้องมาเตรียมรับกับความทุกข์มหาศาลจากการที่ความสุขแบบนี้จะต้องหายไป ด้วยเพราะโรคภัยไข้เจ็บ หรือ ต้องออกมาหาเงินเพิ่ม
จึงทำให้ความสุขแบบนี้ยังคง เปราะบาง เพราะเป็นการเปลี่ยนจากไม่ตามใจคนภายนอก มาตามใจคนภายในหรือตนเองเท่านั้น แต่ยังคงต้องรอเวลาที่จะใช้หนี้ด้วยความทุกข์ไม่ต่างจากการตามใจคนภายนอก เพียงแต่ตามใจตนเองกว่าจะถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้อาจจะช้ากว่ามากจนทำให้กว่าจะรู้สึกตัวก็มักจะสายไปเสียแล้ว
แน่นอนว่าหลายคนสังเหตุเห็นจุดนี้ ว่าการตามใจตามความเคยชินทั้ง 3 นั้นมีราคา ที่ต้องเอาความทุกข์ใจไม่ได้ดั่งใจไปแลกไปทำงานให้ได้เงินมาตามใจต่อไปเรื่อย ๆ และถ้าเผลอใช้ทางลัดไปเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อจะมาตามใจตนเองเมื่อใด ก็มีดอกเบี้ยความทุกข์มหาศาลที่ทวีคูณแพงมากขึ้นตามจำนวนคนรอเอาคืนอยู่
จึงทำให้ความสุขที่ลดขอบเขตมาที่ตนเองนั้น สุดท้ายจึงไม่สามารถทำให้เกษียณได้จริง เพราะยังต้องออกวิ่งเพื่อจะตามใจอยู่ตลอด โดยหากยิ่งยึดติดกับการตามใจมากเท่าไร ก็ยิ่งทุกข์มากเท่านั้นเมื่อถึงเวลาที่จะไม่สามารถตามใจได้อีกแล้ว (เว้นแต่จะลดการตามใจลงไปเรื่อย ๆ ตามสภาพร่างกาย และเงินที่เหลือ)
จึงกล่าวได้ว่า ความสุขแบบนี้เกิดจากการนำตัวตนไปยึดเหนี่ยวกับบางสิ่ง โดยหากเผลอวางตัวตนให้ยึดเหนี่ยวในสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เปลี่ยนแปลงได้ง่าย เช่น คนภายนอก สังคมภายนอก ความสุขก็จะยิ่งเปราะบางมาก
หรือ หากไปวางตัวตนในสิ่งที่คิดว่าควบคุมได้ง่ายกว่า อย่างการตามใจตนเอง แต่เมื่อได้พบกับความเป็นจริงที่ว่า ไม่สามารถตามใจได้เสมอไป หรือแม้ตามใจมากขึ้นแล้วแต่ความสุขกลับลดลงเรื่อย ๆ ความสุขก็จะยิ่งแตกสลาย จนสุดท้ายต้องวิ่งไปวางตัวตนกับคนภายนอก แล้วรอเวลาแตกสลายเพราะคนภายนอกซ้ำไปซ้ำมา
เพียงเพราะความเคยชินทั้ง 3 สั่งให้วิ่งต่อไป วิ่งมากขึ้น วิ่งเพิ่มขึ้น จึงจะมีความสุขได้มากขึ้นเท่านั้น
ข้อดี ▼
- ง่ายเพียงทำตามหรือไหลตามกระแส ตามความเคยชิน
ข้อจำกัด ▼
- ไม่มีวันจบ เป็นความสุขที่ต้องมีตัวตนให้วิ่งหาความสุขอยู่ตลอดเวลา และดอกเบี้ยของความสุขเป็นความทุกข์ที่มีราคาแพงมาก (เมื่อเทียบกับความสุขที่ได้) โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ความสุขที่ยึดถือไว้ต้องจากไป
2. ความสุขแบบที่ไม่มีเจ้าหนี้ลูกหนี้
ความสุขนี้เกิดขึ้นได้ เพราะ ได้พักจากการความเคยชินทั้ง 3 ที่ มีฉันต้องการ มีฉันไม่ต้องการ และมีฉันเชื่อในความสุขที่ต้องวิ่งหาแบบนี้ หรือก็คือ เป็นความสุขที่ไม่ต้อง มีฉัน หรือ มีตัวตน นั้นเอง
หรืออีกมุมหนึ่ง คือ เป็นความสุขที่เกิดจากขัดใจ ไม่ตามใจ หรือ ทำตรงกันข้าม กับความเคยชินทั้ง 3 แม้แรก ๆ จะเจ็บปวดจากการขัดความเชื่ออย่างมาก แต่ถ้าหากอดทนได้นานพอ จนสามารถชนะใจได้สำเร็จ จะทำให้เกิดความอิ่มใจ การเจริญเติบโต ขึ้นมาในจิตใจขณะนั้น
คล้ายกับการได้ช่วยเหลือผู้อื่นโดยที่ไม่มีใครรู้ หรือ คล้ายกับตอนสามารถขัดใจตนเองให้ไม่เอาในสิ่งที่ไม่ควรได้แม้จะสามารถทำได้ก็ตาม (รักษาศีลได้) จึงทำให้เป็นความสุขทั้งตอนที่ทำ และตอนนึกถึง ซึ่งความสุขแบบนี้มีอายุที่ยาวนาน ไม่ต้องวิ่งออกไปหาที่ยึดเหนี่ยวใด ๆ
ความสุขแบบนี้จะเหมือนกับการออมเงิน (ไม่มีเจ้าหนี้ลูกหนี้) ที่ผลตอบแทนที่ได้จะเป็นการเติบโตของจิตใจ โดยมักเกิดในตอนทำหน้าที่หรือประกอบอาชีพที่ช่วยเหลือผู้อื่นจากใจจริง เพราะภาวะที่ช่วยนั้นได้พักจากความวุ่นวายของความเคยชินทั้ง 3 ลงได้
อย่างไรก็ตาม ความสุขแบบนี้มักจะปนอยู่กับความสุขจากความเคยชินทั้ง 3 หากไม่สังเกตุดี ๆ ก็มักได้ความทุกข์มาแทน แต่ถ้ายังฝึกขัดใจต่อไป โดยที่ไม่เป็นการเบียดเบียดผู้ใดหรือใคร ความสุขแบบอิ่มใจนี้ก็จะเกิดได้นานมากขึ้น และกลบความทุกข์ ความน้อยใจ ที่แฝงมากับความเคยชินทั้ง 3 ได้ และนำไปสู่ความสุขแบบสงบได้ในที่สุด
แต่เนื่องจากเป็นความสุขสงบที่ไม่ต้องวุ่นวายไม่ต้องวิ่งหาใด ๆ สุดท้ายก็อาจทำให้ติดใจกับความสุขที่ไม่ต้องมีตัวตนนี้ และเมื่ออายุของความสุขนี้หมด หรือร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้ทำได้อีกแล้ว ก็ยังคงต้องเผชิญกับความทุกข์ เพราะความสุขนี้ได้หายไปอยู่
ข้อดี ▼
- เป็นความสุขแบบสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่กระสับกระส่าย ไม่ต้องวิ่งออกตามหา
ข้อจำกัด ▼
- ทวนกระแสความเคยชิน ต้องฝึก ต้องมีวินัย ต้องมีหน้าที่
3. ความสุขจากการจบเกมเจ้าหนี้ลูกหนี้
เป็นความสงบที่ได้จากการจบเกมการวิ่งหาความสุขเพราะความเคยชินที่ต้องมีตัวตนไปวิ่งหา และ การจบเกมการทำให้ไม่มีตัวตนจึงจะมีความสุขได้
โดยที่เรียกว่าเป็นเกมนั้น เพราะ ความสุขจากการไม่เอาตัวตนนั้น จะได้สร้างปัจจัยใหม่ออกมาล่อให้หลงวนกลับมาตามใจเอาความสุขแบบมีตัวตนกลับมา เสมือนเป็นลูปไม่รู้จบคล้ายการเล่นเกม
ทำให้สุดท้ายแล้วความสุขทั้งสองนี้ก็ยังคงวุ่นวายอยู่กับ เกมการมีตัวตนหรือไม่มีตัวตนสลับไปมาไม่มีวันจบวันสิ้น และไม่รู้ว่าจะเลิกเล่นเกมแห่งความทุกข์นี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างมาก
และด้วยความทุกข์แบบนี้เอง จึงทำให้เกิดความสุขลำดับสุดท้ายขึ้นมา เมื่อได้รู้ว่า มีวิธีจบเกมนี้ได้ มีผู้ที่บอกวิธีการจบเกมนี้ มีผู้ที่จบเกมนี้ได้แล้วหลายคนนับไม่ถ้วน และ สามารถฝึกฝนจิตใจให้จบเกมนี้ได้
ดังนั้นความสุขแบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ถ้าไม่รู้และไม่เข้าใจถึงความทุกข์ของการเป็นทาสของความเคยชินทั้ง 3 แบบไม่มีวันจบวันสิ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าหากไม่มีผู้ชี้ทางถึงวิธีที่จะสังเกตุเห็นความทุกข์นี้ ก็ยากที่จะมีเป้าหมายถึงความสุขสงบจบจากเกมแห่งทุกข์นี้ได้
โดยความสุขแบบนี้ต้องอาศัยแผนที่และการออกเดินทางฝึกฝนจิตใจ เพื่อที่จะจบเกม และเป็นการเกษียณจากเกมแห่งความทุกข์นี้ได้อย่างแท้จริง
ข้อดี ▼
- เกษียณได้จริง ๆ
ข้อจำกัด ▼
- ยากที่จะเข้าใจ เห็นเพียงแต่แผนที่ ต้องทดลองทำตามดูเท่านั้น ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนทั้งก่อนเกษียณและหลังกษียณอายุ
ความสุขเกี่ยวข้องกับแผนการเงินสำหรับเกษียณอายุอย่างไร
การเล่นเกมวิ่งหาความสุข การเล่นเกมหยุดวิ่งหาความสุข และ การเล่นเพื่อจบเกม ทั้ง 3 แบบนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินสำหรับตอนเกษียณทั้งสิ้น
โดยนักวิ่งหาความสุขหรือนักตามใจกระแสภายนอก มักจะต้องเตรียมแผนเกษียณที่ใช้เงินมากที่สุด และอาจเลือกที่จะเกษียณโดยไม่ประกอบอาชีพใด ๆ อีก หรือ แม้แต่เลือกอาชีพที่เบียดเบียนผู้คนจำนวนมากเพื่อให้ได้เงินมาตามใจกระแสภายนอกมากยิ่ง ๆ ขึ้นไป
ในขณะที่นักวิ่งหาความสุขที่กำหนดขอบเขตลงมาเหลือเพียงตนเอง ก็ย่อมเตรียมเงินเกษียณที่ลดลง และ หากต้องการที่จะฝึกหยุดวิ่งร่วมด้วย ก็อาจเตรียมเงินเกษียณน้อยลงมาได้อีก เพราะย่อมมีการเลือกที่จะประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้แม้จะเกษียณไปแล้ว
และถ้าเลือกแบบที่ต้องการฝึกฝนที่จะจบเกม ก็จะเหลือใช้เงินเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น คล้ายกับการออกบวชที่เพียงเพื่อดำรงชีพ สำหรับการขัดเกลาจิตใจให้จบจากการเป็นทาสของความเคยชินทั้ง 3 นี้เท่านั้น
ดังนั้นก่อนวางแผนเกษียณด้านการเงินจึงต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจความสุขของตนเองก่อนเสมอ หรือ แม้แต่ถามว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอะไรบ้างที่คือความสุขที่ต้องการจริง ๆ
เขาวงกตของกลไกแห่งความสุข
จิตจะมี State หรือ สถานะอยู่ โดยเมื่อจบจาก State หนึ่ง ก็จะมี State ใหม่เกิดขึ้นตามมา โดย 2 State จะมีความเกี่ยวข้องกัน โดย State ที่ตกอยู่ในอำนาจของความเคยชินทั้ง 3 ก็มักจะให้กำเนิด State ใหม่ที่เป็นทาสความเคยชินทั้ง 3 ด้วยเช่นกัน
ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่ State ที่อยู่ในอำนาจของความเคยชินทั้ง 3 จะพาไปสู่ State ที่ขัดใจความเคยชินทั้ง 3 ได้ จึงเป็นสาเหตุที่หากเกิด State ที่เป็นความต้องการแล้ว ก็มักจะเกิดความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายออกมาเป็นการกระทำทางร่างกาย และการกระทำที่หนักข้อมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยการจะเปลี่ยน State จากตามใจมาขัดใจความเคยชินได้นั้น จึงอาจต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมภายนอกมาช่วย หรือ เกิดความทุกข์มาขัดใจ เช่น หมดเงิน หมดแรง แล้วเป็นต้น จนทำให้เกิด State ที่ต้องไปทำหน้าที่ทำงานต่อไป และนำไปสู่ State ที่ยินดีช่วยงานผู้อื่นได้ด้วย
ดังนั้น State ของจิตใจจะเหมือนเป็นโครงข่ายที่ถูกกำหนดไว้อยู่แล้วว่า State แบบนี้ จะสามารถเปลี่ยนเป็น State แบบใดได้บ้าง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการอธิบายถึง State ต่าง ๆ นี้ชัดเจนว่ามีกี่แบบ และแต่ละแบบจะมีเส้นเชื่อมโยงกี่แบบที่จะนำสู่เกิด State ใหม่อะไรได้บ้าง (จิต state และเจตสิก transition)
การทำงานในจิตใจจึงเหมือนเป็นตัวละครในเกมที่ถูกกำหนดสถานะการทำงานแต่ละ State มาให้เรียบร้อยว่า ถ้าตัวละคน ชน สัมผัส ได้ยิน ได้เห็น สิ่งแวดล้อมหรือความจำแบบใด จะต้องตอบสนองโดยมีทางเลือกให้ transition กลายเป็น State การทำงานแบบใดต่อได้บ้าง (ทั้งแบบที่อยู่ใต้อำนาจความเคยชินทั้ง 3 และไม่อยู่ใต้อำนาจ)
ซึ่งถ้าไม่เคยได้ศึกษา หรือ ได้รู้ว่ามีกลไก State การทำงานของจิตใจนี้อยู่ ก็ย่อมส่งผลให้เข้าใจว่าทุกการกระทำที่ออกมาเป็นของตนเอง หรือตนเองเป็นคนสั่งการ โดยยากที่จะรู้ได้มีการถูกโปรแกรมไว้แล้วแบบอัตโนมัติ ไม่ได้มีใครหรือตัวตนใดคอยมาสั่งการอยู่
และด้วยความไม่รู้กลไกนี้เองจึงเกิดการเปลี่ยน State การทำงานไปเรื่อย ๆ วิ่งหาความสุขอย่างไม่รู้จบ ตามความเคยชินในการตอบสนอง ซึ่งยากอย่างมากที่จะนำพาไปสู่ State จบการทำงาน ที่เป็นเพียง State เดียวที่จะไม่มี transition เชื่อมโยงให้เกิดเป็น State ใหม่ใด ๆ ได้อีก
การทำงานของจิดใจจึงเหมือนเขาวงกตที่ติดลูปทำงานไม่รู้จบ ทั้งเพื่อตอบสนองและไม่ตอบสนองความเคยชินทั้ง 3
แผนที่ทางออกจากเขาวงกต
ทางออกเพื่อนำไปสู่ State ของการจบนั้น ปัจจุบันมีแผนที่ให้เดินตามได้ เพียงแต่ส่วนใหญ่มักจะมองแผนที่เป็นเพียงบทสวด หรือ สิ่งศักดิ์สิทธ์เท่านั้น โดยไม่ได้มองว่านั้น คือ ทางออกจากเกมแห่งความทุกข์อย่างเป็นเหตุเป็นผลและปฏิบัติตามได้
ซึ่งแผนที่จะบอกว่า หากตกอยู่ใน State ที่อยู่ภายใต้อำนาจของความเคยชินทั้ง 3 โดยเฉพาะ State การตามใจจนเกียจคร้าน ที่มักจะนำไปพาสู่ State ความไม่พอใจ ความอยาก ความกระสับกระส่าย และ ความสงสัยในแผนที่ ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็น State ที่ปิดกั้นไม่มีทางเชื่อม transition ไปยัง State ที่จะนำพาไปสู่ State จบเกมได้
แผนที่จึงได้แนะแนวทางว่า ทำอย่างไรจึงจะหลีกเลี่ยง State ที่ปิดกั้นนี้ได้ โดยวิธีการคือ ให้ฝึกอยู่ใน State ที่เป็นลักษณะของ Inspector ที่เห็นการทำงานของ State ที่ผ่านไปแล้ว (หรือ รู้สึกตัวถึงการทำงานอัตโนมัติที่ผ่านไป)
เพราะในระหว่างที่อยู่ใน State Inspector นั้น จะเหมือนเป็นการ Break การเชื่อมโยงของ State ที่ปิดกั้นนี้ ให้มาอยู่ใน State Inspector และ State Inspector นี้ก็ยังสามารถทำให้เกิด State ที่เห็นการทำงานของ State ที่ผ่านมาว่าเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ซึ่ง State แบบนี้จะช่วยให้หลุดจาก State ที่อยู่ใต้อำนาจความเคยชินทั้ง 3 ได้ชั่วขณะหนึ่ง
โดยเมื่อสามารถฝึกฝนให้กลับมาอยู่ใน State Inspector ได้บ่อยครั้ง ก็จะเริ่มเกิดการเปรียบเทียบ State แบบที่มีความเคยชินทั้ง 3 กับแบบที่ไม่มี ว่าแตกต่างกันอย่างไร และเริ่มเกิดจุดเชื่อมโยงให้ฝึกฝนให้ State Inspector แต่ละ State ทำงานได้ต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึง State ที่จิตได้พักจากความเคยชินทั้ง 3 นานในระดับหนึ่ง
ซึ่งจะทำให้ State Inspector นั้นมีกำลังมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย State ที่เป็นตัวปิดกั้น จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาแทรกได้ และเกิด State Inspector เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ State ที่สามารถมองเห็นการทำงานแม้การเปลี่ยน State ที่ละเอียดมาก ๆ ได้ทัน และเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปเองอัตโนมัติจริง ๆ ตามที่แผนที่ได้กล่าวไว้ไม่ใช่แค่เพียงความนึกคิด
และเมื่อฝึกฝน State Inspector ต่อไป ก็จะยิ่งมีกำลัง Zoom เข้าไปถึงกลไกการเปลี่ยน State ได้ชัดมากยิ่งขึ้น จนเห็นถึง State ความชอบใจไม่ชอบใจแบบละเอียด และ ลึกไปถึงที่มาว่า ความชอบใจไม่ชอบใจแบบละเอียดนี้ เกิดมาจาก State เงื่อนไขของการเปรียบเทียบ
และสุดท้ายจึงนำไปสู่ต้นตอว่าเหตุใดจึงเกิด State เงื่อนไขของการเปรียบเทียบขึ้นมา โดยสาเหตุที่เกิด State เงื่อนไขการเปรียบเทียบ เพราะยังเกิด State ที่เชื่อว่าเกมนี้ คือ เกมแห่งความสุขอยู่ จนกระทั่งเห็นกลไกของการเปลี่ยน State ซ้ำไปซ้ำ จนเข้าสู่ State ที่รู้แล้วว่าเกมนี้เป็นเกมแห่งความทุกข์และไม่เอาแล้ว จึงสามารถเชื่อมโยงไปสู่ State จุดจบของเกมนี้ได้ในที่สุด
เริ่มออกเดินทางพิสูจน์แผนที่
สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดในบทความนี้ เป็นสิ่งที่ต้องออกเดินทางพิสูจน์แผนที่ด้วยตนเอง ไม่มีใครทำให้แทนกันได้ เพราะเป็นการออกเดินทางในจิตใจนั้น ๆ
ซึ่งอย่างน้อยหากเพียงเริ่มฝึกฝน State Inspector ก็จะทำให้ความทุกข์ที่เกิดจากความเคยชินทั้ง 3 ได้เบาบางได้หยุดพักลงบ้างแล้ว
โดยการเริ่มต้นฝึกจะคล้ายกับการกำหนดเครื่องช่วยปลุกขึ้นมาในความฝัน คล้ายกับการบอกตนเองว่าถ้าเห็นสิ่งนี้ หมายความว่ากำลังฝันอยู่ ซึ่งการจะปลุกให้ตื่นจากความเคยชินให้มาอยู่ใน State Inspector ได้นั้น จะสามารถอาศัยเครื่องช่วยปลุกเหล่านี้ได้ เช่น การนึกได้ว่าลืมหายใจ การเผลอคิดถึงคำว่าเราว่าฉันขึ้นมา เป็นต้น
บทสรุปเชื่อมโยงกับการวางแผนการเงิน
เงินกับความสุขในปัจจุบันแทบจะถูกรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนั่นทำให้การวางแผนการเงินยากขึ้น เพราะความสุขนั้นมีหลายระดับ ซึ่งไม่ใช่ทุกระดับที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และเสี่ยงกับการที่ต้องไปเบียดเบียนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
โดยเงินจะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นในการกำหนดสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมในการฝึกฝนจิตให้ได้พบกับความสุขที่พักจากความเคยชินทั้ง 3
ส่วนเมื่อพักจากความเคยชินทั้ง 3 ได้นานระดับหนึ่งแล้ว จะไปต่อตามที่แผนที่บอกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าใน State Inspector นั้นจะสังเกตุเห็นว่าเกมที่เล่นอยู่นี้ให้ความทุกข์มากกว่าความสุขได้มากเพียงใด หรือ ได้เห็นว่า ความสุข ก็คือ ความทุกข์แต่เป็นความทุกข์ที่น้อยลงเท่านั้น เพียงแค่มองไม่ออกว่ากำลังทุกข์อยู่ จึงคิดไปเองว่าทุกข์น้อยนั้นคือความสุข
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"