การยื่นประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่ตอนสมัคร ทำให้มั่นใจได้ว่า ไม่ได้กำลังถือระเบิดเวลา ของประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรงเอาไว้อยู่
สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรง
สิ่งที่ผู้ทำประกันโรคร้ายแรงกลัว คือ การเคลมประกันไม่ได้ ในขณะที่สิ่งที่ผู้ทำประกันสุขภาพกลัว คือ การ Fax-Claim ไม่ได้ ต้องสำรองจ่ายกว่าหลักแสนบาทเพื่อสืบประวัติการรักษา และเมื่อสืบประวัติแล้วผลปรากฏว่า..ไม่สามารถเคลมได้ เนื่องมาจากพบว่าเป็นบางโรคบางอาการมาก่อนที่จะทำประกันแต่ไม่ได้แถลง
(แน่นอนว่าถ้าได้แถลงสุขภาพตอนสมัครทำประกัน บริษัทจะร้องขอประวัติการรักษาเพื่อพิจารณาตั้งแต่ก่อนรับทำประกันแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้รับข้อเสนอเงื่อนไขการรับทำประกันมาเรียบร้อย เช่น ยกเว้นความคุ้มครองโรคนี้ หรือ การเพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยง หรือ การขอเลื่อนรับทำประกัน หรือ แม้แต่การปฏิเสธการรับทำประกัน)
แต่ถ้าไม่แถลงกว่าจะทราบมีเงื่อนไขการรับทำประกันอย่างไร ก็จะต้องรอจนมีการสืบประวัติตอนทำเคลมไปแล้วเท่านั้น ซึ่งเพียงถูกยกเว้นความคุ้มครองภายหลังการสืบประวัติในบางโรคที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคที่กำลังเคลมอยู่ ก็จะไม่มีปัญหาการเคลมใด ๆ แต่ปัญหามักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการยกเว้นความคุ้มครองในโรคที่กำลังเคลมอยู่ และส่งผลให้เคลมไม่ได้ หรือ
ถ้าเลวร้ายที่สุดอาจถึงขั้น โดนโต้แย้งว่าสัญญาไม่สมบูรณ์เพื่อบอกล้างสัญญา หรือ ถูกไม่ต่ออายุสัญญา ด้วยเพราะบริษัทเห็นเจตนาปกปิด หรือ ด้วยเพราะหากมีการแถลงสุขภาพตั้งแต่ตอนสมัคร บริษัทจะ 'ไม่รับ' ทำประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงอย่างแน่นอน
และด้วยความเลวร้ายแบบนี้เอง การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการจะหลีกเลี่ยงได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจตั้งแต่ก่อนทำประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรงแล้วว่า บริษัทสามารถทำอะไรได้บ้างภายใต้เงื่อนไขที่อยู่ในสัญญาประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงดังต่อไปนี้
เพราะเหตุใดบริษัทประกันถึงสามารถทำ...ได้
สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ
สิ่งที่ผู้จะทำประกันจำเป็นต้องทำความเข้าใจในสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ (NEW HEALTH STANDARD) รวมถึงสัญญาประกันโรคร้ายแรง เป็นอย่างแรก คือ เงื่อนไขใดบ้างที่บริษัทประกันจะทำให้สัญญาประกันสุขภาพสิ้นผลความคุ้มครองได้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การที่บริษัทโต้แย้งความสมบูรณ์ของสัญญาดังนี้
จากเงื่อนไขนี้ของทั้ง 2 สัญญาจะเห็นได้ว่า วิธีการแรกที่บริษัทประกันจะสามารถทำให้สิ้นผลความคุ้มครองได้ คือ การทำให้สัญญาเกิดความไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้สัญญากลายเป็นว่าไม่ได้มีผลบังคับมาตั้งแต่แรก โดยอาศัยการโต้แย้งและคัดค้านหากพบหลักฐานบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ามีการปกปิดข้อมูล เพียงแต่จะมีเวลาโต้แย้งคัดค้านได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ก่อนที่อายุกรมธรรม์จะเกินเวลาที่บริษัทสามารถคัดค้านได้
อย่างไรก็ตามจุดสำคัญอยู่ตรงที่ หลักฐานหรือข้อเท็จจริงที่บริษัทสามารถนำมาใช้ในการคัดค้านได้ จะอยู่เพียงภายในถ้อยคำแถลงของผู้จะทำประกันในใบคำขอทำประกันเท่านั้น นั่นหมายความว่า หากการแถลงทุกอย่างเป็นไปด้วยความสุจริตตามจริง และมีหลักฐานแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการแถลงอย่างประวัติการรักษาทั้งหมดยืนยัน และบริษัทรับทำประกันโดยไม่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว
ถึงแม้ผู้ทำประกันจะป่วยเป็นมะเร็งตอนเพิ่งพ้นระยะเวลาที่ไม่คุ้มครองของประกันสุขภาพ 120 วันหลังทำประกันไปได้ไม่กี่วัน (หรือ 90 วันของประกันโรคร้ายแรง) ดังเงื่อนไขข้อที่ 12 ของประกันสุขภาพ กับเงื่อนไขข้อที่ 1.1 กับ 2.1 ของประกันโรคร้ายแรง ด้านล่างนี้ก็ตาม
แต่ถ้าหากผู้ทำประกันแถลงตามจริงในใบคำขอ คือ ไม่เคยมี ไม่เคยเป็นอะไร ที่เป็นการเจ็บป่วยที่จะเชื่อมโยงกับมะเร็งที่เป็นอยู่ได้มาก่อนทำประกันสุขภาพ พร้อมยืนยันด้วยประวัติการรักษาทั้งหมดที่ส่งไปพร้อมใบคำขอทำประกันแล้ว
บริษัทก็จะไม่สามารถโต้แย้งหรือคัดค้านใด ๆ ได้อีก แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกขอสืบประวัติ เนื่องจากโรคที่ได้อยู๋ในระยะรอคอย 120 วัน และ พวกโรคร้ายแรงนั้น ล้วนเป็นโรคที่มีโอกาสจะเป็นมาก่อนทำประกันค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ในกรณีของประกันโรคร้ายแรงจะขอเพียงได้รับการวินิจฉัยที่ตรงกับคำนิยามของโรคร้ายแรงที่คุ้มครองภายหลังระยะเวลาไม่คุ้มครอง 90 วันหลังรับทำประกันเท่านั้น ทำให้หากในระยะเวลาไม่คุ้มครอง 90 วันนี้ เกิดพบการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติที่สามารถะสืบเนื่องให้เป็นโรคร้ายแรงต่อมาภายหลัง 90 วันได้ ก็ยังคงให้ความคุ้มครองโรคร้ายที่สืบเนื่องนั้นได้อยู่
เช่น การตรวจพบเนื้องอกภายหลังทำประกันยังไม่ครบ 90 วัน แต่ต่อมาเนื้องอกได้พัฒนาเป็นมะเร็งตามคำนิยามหลังครบ 90 วัน ก็จะยังสามารถเคลมประกันโรคร้ายแรงได้ ซึ่งจะแตกต่างกับประกันสุขภาพที่ระบุเพิ่มเติมชัดเจนว่าไม่คุ้มครองอาการเจ็บป่วยใด ๆ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ไม่คุ้มครอง ซึ่งนั่นจะรวมไปถึงโรคสืบเนื่องจากการเจ็บป่วยนั้นหลังพ้นระยะเวลาไม่คุ้มครองด้วย
ในทางกลับกัน หากมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้ทำประกันไม่ได้แถลงตามจริง ต่อให้แค่ ไม่ได้แถลงว่าเคยทำประกันบริษัทอื่นมาก่อน หรือ ไม่ได้แจ้งว่าเคยถูกบริษัทอื่นเลื่อนหรือปฏิเสธการรับทำประกันมาก่อน หรือ น้ำหนักส่วนสูงผิดจากประวัติการรักษาล่าสุดมาก่อน สาเหตุเหล่านี้ล้วนทำให้บริษัทสามารถโต้แย้งความสมบูรณ์ของสัญญาได้ทั้งหมด
โดยเฉพาะในเวลาที่เกิดการเคลมประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรงขึ้น แล้วบริษัททำการสืบประวัติการรักษาที่ไม่ได้ส่งให้บริษัทตั้งแต่ตอนขอทำประกัน และพบหลักฐานแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นเหตุให้ไม่จ่ายเคลมโดยโต้แย้งให้สัญญาไม่สมบูรณ์ได้
เว้นแต่ในกรณีของประกันสุขภาพ หากเป็นการเคลมด้วยค่ารักษาอุบัติเหตุ แม้บริษัทได้ประวัติการรักษาที่เป็นเหตุโต้แย้งให้สัญญาไม่สมบูรณ์ได้แล้ว บริษัทก็จะยังไม่โต้แย้งในทันที โดยจะจ่ายเคลมค่ารักษาอุบัติเหตุในครั้งนี้ให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงค่อยสิ้นผลความคุ้มครองด้วยเหตุที่พบหลักฐานทำให้สัญญาไม่สมบูรณ์ และคืนเบี้ยในส่วนวันที่เหลือที่ยังไม่ได้คุ้มครองไป
อย่างไรก็ตามบริษัทจะมีเวลาการโต้แย้งแบบนี้ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น จนทำให้ผู้ทำประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรงบางรายอาจปกปิดไม่แถลงในโรคที่เป็นมาก่อนทำประกันและยังไม่หาย เพราะมั่นใจว่าโรคที่เป็นไม่รุนแรงจนกระทั่งต้องเข้าแอดมิตและเคลมประกันภายใน 2 ปีแน่นอน หรือ อาจมีการแสดงอาการแต่สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD โดยไม่เคลมประกันเลยตลอด 2 ปีได้
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมในสัญญาประกันสุขภาพถึงต้องมีเงื่อนไขอื่น ๆ ในการสิ้นผลความคุ้มครองเพิ่มขึ้นมา ทั้งในกรณีบอกเลิกเพราะเกิดการฉ้อฉล หรือ กรณีการไม่ต่ออายุสัญญาเพราะพบหลักฐานที่เข้าเงื่อนไขไม่ให้ต่อสัญญาได้ ดังต่อไปนี้
(ซึ่งจะแตกต่างกับประกันโรคร้ายแรง ที่จะไม่มีการสิ้นผลความคุ้มครอง เพราะหากสืบประวัติแล้วพบว่ามีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงหรือเป็นโรคร้ายแรงที่สัญญาคุ้มครอง มาก่อนทำประกัน ก็จะเพียงไม่ให้เคลมโรคร้ายแรงนี้เท่านั้น
ในขณะที่ประกันสุขภาพทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะประกันสุขภาพคุ้มครองทุกโรค ตามหมวดค่าใช้จ่ายที่คุ้มครอง จึงทำให้การปกปิดประวัติของประกันโรคร้ายแรงหลังทำประกันครบ 2 ปี จะส่งผลให้เคลมโรคร้ายที่ปกปิดไม่ได้ โดยเฉพาะหากความผิดปกติที่เป็นก่อนทำประกันเชื่อมโยงได้หลายโรคร้ายแรง ก็ยิ่งเหมือนจ่ายเงินไปแล้วไม่รู้จะคุ้มครองได้กี่โรค ในขณะที่ถ้าให้ประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่แรก ก็จะทราบทันทีว่าเหลือคุ้มครองได้กี่โรค แล้วสามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำประกันและจ่ายเงินหรือไม่)
ประกันสุขภาพสิ้นผลคุ้มครองเมื่อใด
จากตัวอย่างสัญญา ส่วนสำคัญที่สุดจะอยู่ที่ส่วนที่ไฮไลท์สีฟ้า ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทประกันสามารถบอกเลิกสัญญา กับ สามารถไม่ต่ออายุสัญญากับผู้ทำประกัน ได้
บริษัทบอกเลิกสัญญาได้อย่างไร
โดยจะเริ่มมาสังเกตุในส่วนของการบอกเลิกสัญญากันก่อนว่า บริษัทมีเงื่อนไขที่สามารถทำได้ได้อย่างไรบ้าง
จากที่ไฮไลท์สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถบอกเลิกสัญญาได้จะอยู่ที่ การปรากฎหรือพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าผู้ทำประกันได้มีการฉ้อฉลประกันภัย ซึ่งเป็นจุดที่ช่วยให้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบการเรียกร้องสินไหมตามสัญญาได้ คำถามต่อมาก็คือแล้วการฉ้อฉลประกันภัยคืออะไร
จากความหมายของการฉ้อฉลประกันภัยจะเห็นได้ว่า การฉ้อฉลคือสิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว พร้อมมีหลักฐานที่บ่งชี้เจตนาชัดเจน ย่อมทำให้บริษัทบอกเลิกสัญญานี้ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเคลมใด ๆ อีก
ซึ่งการฉ้อฉลนี้มีหลายระดับ โดยระดับร้ายแรงที่สามารถทำให้ถูกบอกเลิกสัญญาได้ คือ การสร้างหลักฐานเท็จ หรือ การจงใจทำให้ตนเองบาดเจ็บ เพื่อจะเรืยกร้องค่าชดเชยการนอน รพ. หรือ การชดเชยทุพพลภาพชั่วคราว หรือ การชดเชยทุพพลภาพถาวร ร่วมไปกับการได้รับการรักษาจากประกันสุขภาพตามไปด้วย
ในขณะที่ระดับที่รองลงมา จะไม่ได้บอกเลิกสัญญาในทันที เพียงแต่จะไม่ต่ออายุสัญญา โดยจะเป็นลักษณะดังข้อ 2) กับ 3) ในเงื่อนไขสัญญาข้อที่ 7 ในรูปด้านล่างนี้
บริษัทไม่ต่ออายุสัญญาได้อย่างไร
กล่าวคือ แม้ไม่ได้สร้างหลักฐานเท็จ หรือมีหลักฐานชี้ชัดว่าเจตนาทำให้ตนเองบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย แต่ถ้าเป็นไปในลักษณะที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยไม่มากแต่ขอแพทย์นอน รพ. โดยไม่มีเหตุจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องนอน รพ. และทำบ่อยครั้งเพื่อหวังเงินชดเชยนอน รพ.
รวมถึงหากทางบริษัทพบว่ามีการทำประกันชดเชยรายได้นอน รพ. เพิ่มขึ้นภายหลังกับบริษัทประกันอื่น ๆ ร่วมด้วย จนเงินชดเชยรายได้ร่วมกันมากกว่ารายได้จริง ๆ ของตนเอง
ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ก็จะสามารถเป็นเหตุให้บริษัทประกันสามารถไม่ต่ออายุสัญญาประกันสุขภาพได้ เพราะจากปัจจัยดังกล่าวและการไม่ได้ทำเพียงครั้งเดียว ได้สื่อให้เห็นถึงเจตนาฉ้อฉลเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งโดยปกติแล้วสัญญาประกันสุขภาพนั้นจะอยู่ในรูปแบบสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองให้กับสัญญาหลักประกันชีวิต โดยอายุสัญญาจะมีเพียง 1 ปี แต่สามารถต่ออายุอัตโนมิติได้เรื่อย ๆ ทุกปี หากมีการชำระเบี้ยตามกำหนด
อย่างไรก็ตาม นอกจาก 2 ปัจจัยดังกล่าวแล้ว จะยังมี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทประกันไม่ต่ออายุสัญญาได้อีกนั้นคือ หากบริษัทพบหลักฐานว่าในใบคำขอทำประกันไม่ได้แถลงตามจริง หรือปกปิดข้อมูล
โดยเฉพาะถ้าหากข้อมูลที่ผู้ทำประกันปกปิดนั้น บริษัทประกันได้รู้ตั้งแต่ตอนพิจารณารับทำประกัน แล้วจะทำให้ต้องมีการรับทำประกันแบบมีเงื่อนไข (ยกเว้นความคุ้มครองบางอย่าง หรือ การเพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยง หรือ การปฏิเสธรับทำประกัน) ก็จะส่งผลให้การปกปิดนี้รุนแรงถึงขั้นที่ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปฏิเสธการต่ออายุสัญญาได้
และด้วยเงื่อนไขข้อ 7 เป็นเงื่อนไขที่ไม่จำกัดเวลา จึงทำให้เงื่อนไขการไม่ต่ออายุสัญญานี้จะตามไปสร้างความไม่สบายใจว่าจะเคลมประกันไม่ได้ หรือ จะถูกไม่ให้ต่ออายุสัญญาไปอีกนาน จนกว่าบริษัทจะได้ประวัติการรักษาทั้งหมดมายืนยันถ้อยคำแถลงว่าเป็นจริง
หรือถ้าหากมีไม่จริง ก็ต้องลุ้นต่ออีกว่าส่วนที่ไม่จริงนั้นจะไม่ร้ายแรงจนทำให้เกิดเงื่อนไขการรับประกันขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มเบี้ย และการปฏิเสธรับทำประกัน (เพราะทั้ง 2 อย่างนี้จะส่งผลให้บริษัทเลือกที่จะไม่ต่ออายุสัญญาได้อย่างมาก)
ทั้งหมดนี้เองจึงเป็นเครื่องตอกย้ำลงไปเพิ่มเติมว่า เพราะเหตุใดจึงควรส่งประวัติการรักษาทั้งหมดไปตั้งแต่การขอทำประกัน เพราะวิธีนี้ไม่ใช่เพียงการทำให้สบายใจว่าจะไม่เกิดการแถลงเท็จขึ้นอย่างแน่นอนเท่านั้น แต่ยังได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากเงื่อนไขข้อที่ 11 ต่อมานี้
ระยะเวลาที่ช่วยให้เคลมโรคที่เป็นมาก่อนทำประกันได้
โดยเงื่อนไขข้อที่ 11 นี้ เป็นเงื่อนไขที่จะอธิบายขยายความว่า อะไรคือโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ การเจ็บป่วยรวมถึงภาวะแทรกซ้อน ที่เรียกว่าเป็นมาก่อนทำประกัน โดบบริษัทประกันจะยึดว่า โรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ การเจ็บป่วยรวมภาวะแทรกซ้อน นี้ได้หายขาดไปแล้วอย่างแน่นอน หากไม่มีประวัติการรักษาที่เกี่ยวข้องเลย 5 ปีก่อนทำประกัน และ 3 ปีหลังทำประกันนั่นเอง
ซึ่งเป็นช่องสำคัญที่ทำให้ผู้ที่จะทำประกัน เล็งเห็นและพยายามใช้ข้อนี้เพื่อให้ขบวนการทำประกันเสร็จเร็วขึ้น โดยไม่แถลงเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาขอประวัติการรักษา เพราะอย่างไรก็ไม่ได้พบแพทย์ด้วยอาการเหล่านี้มานานกว่า 5 ปีแล้ว ทั้งยังมั่นใจว่าหายขาดแล้ว ไม่มีทางที่จะพบแพทย์ภายใน 3 ปีหลังทำประกันอย่างแน่นอน
แน่นอนว่าหากฟังดูผิวเผินแล้ววิธีนี้น่าสนใจ แต่อันที่จริงแล้วกว่าจะโล่งใจได้ต้องรอนานถึง 3 ปีหลังทำประกัน และที่สำคัญก็โล่งใจไม่สุด เพราะติดเงื่อนไขข้อที่ 7 ที่อาจไม่ต่ออายุสัญญาหากพบว่ามีการปกปิดหรือแถลงเท็จ แม้นั่นจะเป็นโรคหรืออาการที่ไม่ได้พบแพทย์มานานกว่า 5 ปีก่อนทำประกันแล้วก็ตาม
เพราะถ้าหากบริษัทมีการสืบประวัติจนเจอโรคที่ไม่ได้แถลงนี้ ต่อให้นานมากกว่า 5 ปีที่หายไม่ได้พบแพทย์ก่อนทำประกันและ 3 ปีหลังทำประกัน จนสามารถเคลมโรคนี้ได้แน่นอนตามเงื่อนไขข้อ 11
แต่ถ้าเกิดเหตุเลวร้ายขึ้นว่า บริษัทมองว่าโรคหรืออาการที่ปิดปิดนี้ หากตอนยื่นขอทำประกันได้แถลงตามจริงมาในใบคำขอ หรือมีประวัติการรักษาส่งมาพร้อมใบคำขอ
อย่างไรแล้วบริษัทจะต้องรับทำประกันแบบมีเงื่อนไขแน่นอน โดยเฉพาะกับเงื่อนไขอย่าง การเพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยง ซึ่งถ้าบริษัทไม่โหดร้ายก็จะเพียงเก็บเบี้ยย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้นและยังต่ออายุสัญญาได้ แต่ถ้าเลวร้ายถึงขั้นเป็นเงื่อนไขต้อง ปฏิเสธการรับทำประกัน แบบนี้โอกาสสูงมากที่จะถูกไม่ต่ออายุสัญญา
โดยโรคที่มีโอกาสเข้าข่ายลักษณะนี้ได้ เช่น โรคมะเร็งระยะที่ 0-1 ที่หายขาดมานานมากแล้ว จนมั่นใจไม่ไปพบแพทย์ถึง 5 ปี (ในความเป็นจริงน่าจะยากมาก) หรือ โรคถุงน้ำในสมองแบบไม่เป็นอันตรายมานานมาก หรือ แม้แต่โรคซึมเศร้าที่หายขาดนานมาก เป็นต้น
ซึ่งโรคตัวอย่างเหล่านี้ หากแถลงโดยไม่ปกปิด อย่างไรแล้วย่อมเป็นเหตุให้เกิดการรับทำประกันแบบมีเงื่อนไข เพิ่มเบี้ย หรือ ปฏิเสธการรับทำประกันได้แน่นอน และจึงเป็นเหตุให้ไม่ถูกต่อสัญญาได้ หากแม้จะปกปิดได้นานกว่า 3 ปีหลังทำประกันแล้วก็ตาม
โรคที่ต้องแถลงแม้ว่าจะหายมานานเกิน 5 ปี
คำถามคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าโรคใดปกปิดไม่ได้แม้หายมานานมากกว่า 5 ปีแล้วก็ตาม วิธีการที่ง่ายที่สุด คือ พิจารณาในใบคำขอทำประกัน จะปรากฏชื่อโรคสำคัญที่ห้ามปกปิดเหล่านี้ขึ้นมา รวมไปถึงอาการความผิดปกติต่าง ๆ ที่นำไปสู่โรคสำคัญโดยเฉพาะหากเคยบอกเล่าอาการเหล่านี้ให้กับแพทย์ ซึ่งย่อมมีการบันทึกเป็นประวัติการรักษาไว้เรียบร้อย ดังต่อไปนี้
จะเห็นได้ว่าโรคและอาการสำคัญเหล่านี้ มีหลายโรคหลายอาการที่หากมีบันทึกในประวัติการรักษาแล้ว จะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกปฏิเสธการรับทำประกัน เลื่อนการรับประกัน หรือเพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยง ซึ่งเป็นอันตรายต่อเงื่อนไขข้อ 7 อย่างมาก ที่จะทำให้ไม่ถูกต่อสัญญา
หรืออีกทางคือ การโทรสอบถามกับทาง รพ. ว่ายังมีประวัติการรักษาของเราเก็บไว้อยู่หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วหากเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงไม่เรื้อรังหรือไม่สำคัญ จะมีโอกาสสูงมากที่ รพ. จะเคลียร์ลบประวัติที่มีอายุนานกว่า 5 ปีออกไปแล้ว
ดังนั้นเพื่อความมั่นใจก่อนจะเลือกไม่แถลง ให้ถามกับทาง รพ. ให้เรียบร้อยก่อน เพราะถ้ายังมีประวัติการรักษาเก็บไว้อยู่ อย่างไรแล้วบริษัทย่อมสามารถสืบจนเจอได้อย่างแน่นอน
สาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องให้ประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่ตอนสมัครทำประกัน
ย้อนกลับมาที่เงื่อนไขข้อ 11 อีกครั้ง แน่นอนว่าผู้ขอทำประกันมักจะเน้นไปที่ข้อ 2) เรื่อง 5 ปีก่อนทำประกัน และ 3 ปีหลังทำประกันเป็นหลัก
จนเผลอมองข้ามสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ขอทำประกันอย่างมากที่อยู่ในไฮไลท์สีฟ้าข้อ 1) รวมถึงไฮไลท์สีส้ม ซึ่งเป็นข้อเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ขอทำประกันที่แถลงตามจริงทุกอย่าง พร้อมกับส่งประวัติการรักษาทั้งหมดไปตั้งแต่ตอนขอทำประกัน ให้ไม่ต้องกังวลกับเงื่อนไขข้อที่ 11 นี้ว่าจะทำให้เคลมประกันไม่ได้อีกต่อไป
เพราะในข้อ 1) ของเงื่อนไขข้อที่ 11 ได้บอกชัดเจนว่า ถ้าผู้ขอทำประกันได้แถลงตามจริง (รวมถึงแนบประวัติการรักษาทั้งหมดทั้งเพื่อใช้ในการแถลงและการยืนยันคำแถลง) แล้วหากบริษัทตอบรับทำประกันโดยไม่ได้มีเงื่อนไขการรับประกันใด ๆ ของโรคหรืออาการที่ปรากฏอยู่ในประวัติการรักษา
นั่นหมายความว่า บริษัทจะต้องรับประกันโรคและอาการทุกอย่างที่ปรากฏในประวัติ แบบไม่สามารถเพิ่มเงื่อนไขการไม่คุ้มครอง หรือ เพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยง ในภายหลังที่เกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการที่ปรากฏในประวัติได้อีก
หรือ ถ้าสุดท้ายบริษัทจะมีเงื่อนไขการรับประกันเสนอมาว่า จะมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองบางอาการหรือบางโรคใดบ้าง แต่อย่างน้อยก็จะได้มั่นใจได้ว่าสามารถเคลมโรคที่เหลืออื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคที่ถูกยกเว้นได้อย่างแน่นอน และอย่างสบายใจ
และที่สำคัญที่สุด โดยปกติแล้วทางฝ่ายพิจารณาของบริษัทเองจะมีการแนะนำด้วยว่า หากต้องการถอดข้อยกเว้นบางอาการบางโรคที่ปรากฏในประวัตินี้ออกจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งบางโรคอาจจะต้องเพียงแค่ไม่พบแพทย์อีกเลยอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไปในโรคนี้ ก็จะถือว่าหายขาดและสามารถยืนทบทวนเพื่อขอถอดข้อยกเว้นโรคนี้ออกได้เลยอย่างง่ายดายจนน่าตกใจ
แน่นอนว่าความง่ายดายนี้เกิดขึ้นเพราะได้ให้ประวัติการรักษาทั้งหมดไปตั้งแต่แรก เนื่องจากถ้าไม่ให้ก็จะไม่สามารถทราบได้เลยว่าว่าจะมีข้อยกเว้นใดบ้างตามมา และก็จะไม่สามารถขอทบทวนข้อยกเว้นใด ๆ ได้ จนกว่าจะเกิดการเคลมประกันแล้วบริษัทขอสืบประวัติจนเจอโรคที่เป็นมาก่อนทำประกัน
การรอให้ถูกสืบประวัติเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก
ปัญหาคือถ้าโรคที่สืบเจอว่าเป็นมาก่อนทำประกันนั้น รุนแรงจนถึงขั้นต้องเพิ่มเบี้ยหรือปฏิเสธการรับทำประกัน ก็จะแสดงถึงเจตนาการปกปิดและต้องเสี่ยงทั้งเงื่อนไขข้อ 2 กับข้อ 11 ในทันที
โดยเฉพาะความโชคร้ายนี้มักจะตกอยู่กับผู้ที่เคยแอดมิตนอน รพ. ด้วยการผ่าตัด เพราะจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยหลายอย่าง ทั้งตรวจเลือด การฉายภาพ X-Ray อัลตราซาวด์ หรือแม้แต่ CT-Scan MRI ซึ่งล้วนทำให้พบเจอความผิดปกติในร่างกายได้และกลายเป็นหลักฐานชัดเจนในประวัติ
แต่แพทย์มักจะไม่ได้อธิบายความผิดปกติที่พบทั้งหมด เพราะบางความผิดปกติก็ไม่จำเป็นต้องรักษาในตอนนี้ แพทย์จึงมักอธิบายเฉพาะความผิดปกติที่จำเป็นต้องรักษาก่อนเท่านั้น และทำให้ผู้ทำประกันเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าตนเองมีความผิดปกตินี้อยู่
จึงไม่ได้แถลงและไม่ได้ส่งประวัติการรักษาพร้อมการขอทำประกัน และกว่าจะได้รู้ว่ามีความผิดปกตินี้อยู่ในประวัติก็จนกระทั่งถูกสืบประวัติ จึงได้ทราบว่าในประวัติการรักษามีความผิดปกตินี้บันทึกไว้อยู่ด้วย
จนทำให้บริษัทจำเป็นต้องขอยกเว้นความคุ้มครอง และไม่สามารถให้เคลมประกันได้ หรือ อาจร้ายแรงถึงขั้นโต้แย้งสัญญาไม่สมบูรณ์ตามเงื่อนไขข้อ 2 หรือ อาจไม่สามารถให้ต่ออายุได้ตามเงื่อนไขข้อ 7 เลยทีเดียว
เพราะในมุมมองบริษัทประกันผู้รับความเสี่ยงจะไม่ได้แยกความผิดปกติออกเป็นต้องรักษาหรือไม่ต้องรักษาในตอนนี้ มีแต่มองเห็นว่าความผิดปกตินั้น ๆ มีความเสี่ยงในระดับใด และส่งผลต่ออนาคตได้อย่างไร
หากส่งผลได้หรือแม้แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลได้หรือไม่ บริษัทก็จะจำเป็นต้องรับทำประกันแบบปลอดภัยที่สุดไว้ก่อน ไม่ว่าด้วยเงื่อนไข เพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยง ยกเว้นความคุ้มครองความผิดปกตินั้น หรือ แม้แต่เลื่อนการรับทำประกันออกไปก่อน
ซึ่งปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเพียงไม่ได้แถลง หรือเอาตรง ๆ คือ เพียงไม่ยอมส่งประวัติการรักษาทั้งหมดให้ฝ่ายพิจารณาของบริษัทประกันตั้งแต่แรกที่สมัครขอทำประกัน
ถ้าประวัติการรักษาสำคัญมาก..ทำไมไม่บังคับขอตั้งแต่ตอนสมัครทำประกัน
คำถามที่จะเกิดตามมาคือ ถ้าประวัติการรักษาสำคัญขนาดนี้ ทำไมบริษัทไม่กำหนดไปเลยให้ส่งประวัติการรักษาเข้ามาพร้อมยื่นขอทำประกันเสมอ
คำตอบที่ชัดเจนที่สุดของคำถามนี้คือ เพราะฝ่ายพิจารณาบริษัทมีกำลังคนไม่มากพอที่จะพิจารณาประวัติการรักษาทั้งหมดของทุก รพ. ของผู้ขอทำประกันทุกรายได้ในทันที จึงจำเป็นต้องเลือกพิจารณาประวัติเฉพาะที่ผู้ขอทำประกันมีการแถลงและฝ่ายพิจารณาได้ขอประวัติ รพ. ตามที่แถลงเท่านั้น
และการให้แถลงแล้วจึงค่อยขอประวัติก็จะยืดระยะเวลาไม่ให้มีโหลดงานเข้ามาพร้อมกันมากจนเกินไปได้ อีกด้วย และนี้จึงเป็นเหตุผลที่ฝ่ายพิจารณาไม่อยากได้ใบคำขอทำประกันพร้อมประวัติการรักษาทั้งหมดเข้ามาในทีเดียวนัก
เพราะการเหลือประวัติบาง รพ. ไว้บ้าง จะสามารถกระจายโหลดภาระงานไปยังฝ่ายสินไหมให้ช่วยสืบประวัติและพิจารณาประวัติเฉพาะเพียงตอนเคลมโรคสำคัญได้อีกด้วย ซึ่งจะลดภาระงานได้อย่างมหาศาลหากเทียบกับการต้องพิจารณาประวัติการรักษาทั้งหมดของผู้ทำประกันทุกราย
ซึ่งนั้นก็คือมุมมองการกระจายงานของบริษัทประกัน แต่ในมุมมองผลประโยชน์สูงสุดของผู้ทำประกันแล้ว การส่งประวัติการรักษาทั้งหมดพร้อมการสมัครขอทำประกันจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ทำประกันได้มากที่สุด
แม้ส่งประวัติการรักษาทั้งหมดแล้ว..แต่ก็อาจถูกขอประวัติซ้ำ หรือขอสืบประวัติได้
อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า การส่งประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่แรกสมัครนั้น จะปลอดภัยจากการถูกขอประวัติการรักษาซ้ำเสมอไปเวลาที่เกิดการเคลมประกันขึ้น เพราะฝ่ายพิจารณาจะมีการดูว่าวันที่ รพ. Print ประวัติ หรือ ออกประวัตินั้น ห่างจากวันที่ขอทำประกันนานแค่ไหน
ซึ่งถ้าหากนานเป็นหลายเดือน จะทำให้สามารถตั้งข้อสงสัยได้ว่า อาจมีประวัติใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และเป็นเหตุให้มีการขอประวัติการรักษาใหม่ซ้ำอีกครั้งได้
หรือ หากภายหลังทำประกัน มีการรักษาใน รพ. ที่เคยให้ประวัติไปแล้ว ย่อมทำให้ประวัติที่บริษัทมีไม่ใช่ประวัติล่าสุด โดยเฉพาะหากทำประกันมายังไม่ถึง 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังมีโอกาสที่ตอนไปรักษาแล้วแพทย์มีการซักอาการที่มารักษา
โดยหากผู้ทำประกันได้บอกไปว่าเป็นอาการนี้เป็นมานานแล้ว จนแพทย์ได้บันทึกลงในประวัติ ซึ่งประวัติส่วนนี้จะกลายเป็นหลักฐานสำคัญให้ฝ่ายสินไหมได้พิจารณาว่า เป็นมาก่อนทำประกันหรือไม่ด้วย
ดังนั้นโดยปกติแล้ว หากมีประวัติการรักษาใน รพ. ใด จะควรพยายามรักษาและทำเคลมผ่าน รพ. นั้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 ปีแรกหลังทำประกัน เพราะเวลาเคลมค่ารักษา ทางสินไหมจะสามารถขอประวัติการรักษาเพิ่มเติมที่เพิ่งไปรักษามาได้ในทันทีในขณะพิจารณาจ่ายผลประโยชน์ Fax-Claim
จากที่กล่าวมานี้จะทำให้เห็นว่า นอกจากการให้ประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่แรกแล้ว การรีบทำประกันสุขภาพตั้งแต่ได้ประวัติมาก็เป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการรีบทำประกันสุขภาพตั้งแต่อายุไม่มากที่สุขภาพยังแข็งแรง กว่าจะได้เคลมประกันก็นานกว่า 3-5 ปีขึ้นไป ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน
ระยะเวลาการสืบประวัติที่ช่วยให้บริษัทมีเวลาพิจารณาได้มากขึ้น
ทั้งนี้แม้ว่าผู้ทำประกันจะดักทางไว้ทุกอย่างแล้ว แต่ถ้าหากบริษัทประกันที่เลือกทำ มีความจำเป็นต้องประวิงเวลา บริษัทประกันเองอาจมีนโยบายเน้นให้สืบประวัติไว้ก่อนเสมอก็ได้ โดยอาศัยสิทธิที่จะเรียกร้องเอกสารเพิ่มเติม แม้จะเป็นประวัติการรักษาที่ซ้ำกับที่มีอยู่แล้วก็ตาม ตามเงื่อนไขข้อที่ 5 โดยอ้างเหตุว่าจำเป็นต้องได้ประวัติล่าสุดที่สุดจาก รพ. อื่นด้วย
ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้มีเวลาในการกระจายโหลดงานในการพิจารณาสินไหมได้นานมากขึ้น เพราะตามเงื่อนไขข้อที่ 6 หากเลือกใช้กรณีต้องสงสัยให้สืบประวัติ จะมีเวลาในการพิจารณาได้นานถึง 90 วัน หรือ 3 เดือน โดยจะเริ่มนับเมื่อได้เอกสารที่ต้องการครบ (ส่วนใหญ่จะเป็นประวัติการรักษาเป็นหลัก หรือ อาจเป็นการให้แพทย์เขียนอธิบายเพิ่มเติม)
โดยหลังจากสินไหมได้รับเอกสารมาครบถ้วน จะทำให้ฝ่ายสินไหมได้เบาะแสเพิ่มเติม ที่สามารถส่งผลต่อการลงพื้นที่เพื่อสืบประวัติแบบเจาะลึกได้ โดยยิ่งมีเงื่อนงำมากก็ยิ่งใช้เวลามาก แต่อย่างไรแล้วก็จะไม่เกิน 90 วัน เพราะถ้าเกินบริษัทต้องให้ดอกเบี้ยเพิ่มด้วยหากอนุมัติการจ่ายสินไหม
การส่งประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่ตอนสมัคร..ช่วยให้ขบวนการสืบประวัติเร็วขึ้น
Process ปกติ (ดำเนินการในวันทำการ) ที่ใช้ในการขอประวัติผ่านบริษัทโดยที่บริษัทออกค่าใช้จ่ายให้นั้น ทางบริษัทจะติดต่อตัวแทน เพื่อให้ตัวแทนนำเอกสารมอบอำนาจตามจำนวน รพ. ที่ทางสินไหมต้องการประวัติ ไปให้กับผู้ทำประกันเซ็นพร้อมขอสำเนาบัตรประชาชน จากนั้นตัวแทนนำส่งเอกสารเข้าบริษัทไปยังหน่วยงานสินไหม
เพื่อทางสินไหมทำเรื่องออกค่าขอประวัติ กับติดต่อ รพ. ต่าง ๆ และส่งเอกสารขอประวัติผ่านไปรษณีย์ไปให้ รพ. เมื่อ รพ. ได้รับจะทำการกระจายเอกสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเวชระเบียน เพื่อเวชระเบียนได้เริ่มดำเนินการขอประวัติต่อไป เมื่อเวชระเบียนได้ประวัติเรียบร้อย จะรอรอบการส่งไปรษณีย์ประมาณสัปดาห์ละครั้ง เพื่อส่งประวัติไปให้ทางบริษัทและส่งต่อถึงสินไหมต่อไป
อย่างไรก็ตามเพื่อความรวดเร็ว ตัวแทนจะสามารถประสานงานกับทางสินไหมโดยไม่ต้องรอสินไหมก่อนได้เลยว่า ต้องการประวัติหรือเอกสารใดเพิ่มเติมอีก รวมถึงเหตุผลที่จำเป็น เพราะได้ให้ประวัติทุก รพ. ไปทั้งหมดตั้งแต่ตอนสมัครแล้ว ดังนั้นการขอประวัติเพิ่มจะต้องเหลืออีกเพียงไม่กี่ รพ. เท่านั้น
จากนั้นตัวแทนแจ้งทางผู้ทำประกัน เพื่อผู้ทำประกันสามารถโทรติดต่อขอประวัติกับ รพ. โดยตรง ซึ่งหากแจ้งว่าใช้เพื่อการรักษาจะได้ประวัติเร็วมากและมักไม่มีค่าใช้จ่าย โดยการส่งหลักฐานยืนยันตนมักจะสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ และมีโอกาสที่จะได้รับประวัติเป็นไฟล์ pdf ที่จะสามารถส่งอีเมลให้กับทางสินไหมได้ง่ายมากขึ้น
แต่ถ้ามีบาง รพ. ยังไม่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ จะสามารถประสานมอบอำนาจให้ทางตัวแทนช่วยดำเนินการกับ รพ. นั้นเพื่อความรวดเร็ว ทั้งนี้หากตัวแทนเป็นผู้ขอประวัติแทน จะมีค่าใช้จ่ายด้านขอประวัติการรักษาด้วย เพราะ รพ. จะเห็นว่าบริษัทประกันเป็นผู้ขอประวัติ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ตัวแทนจะเบิกกับบริษัทประกันไม่ได้ เพราะเป็นการขอเอกสารนอก Process ปกติ
โดยเมื่อได้ประวัติทั้งหมดเรียบร้อย ผู้ทำประกันหรือตัวแทนสามารถนำประวัติหรือเอกสารส่งตรงให้กับทางสินไหมผ่านทางออนไลน์และออฟไลน์ได้ โดยไม่ต้องรอทาง รพ. ส่งให้ (ซึ่งมักจะล่าช้าและอาจตกหล่นได้) และยังช่วยให้สามารถเริ่มนับระยะเวลาที่จะใช้ในการสืบประวัติ 90 วันหลังรับเอกสารครบถ้วน ได้เร็วมากขึ้นอีกด้วย
และนี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ แม้การให้ประวัติการรักษาทั้งหมดไปตั้งแต่ตอนสมัคร อาจไม่ได้ช่วยให้พ้นจากการสืบประวัติได้เสมอไป แต่ก็ยังช่วยให้ขบวนการสืบประวัติสั้นลงมากกว่าเดิมได้ และทำให้มีโอกาสได้เงินที่สำรองจ่ายค่ารักษาคืนกลับมาอย่างเร็วที่สุด รวมถึงไม่ต้องกังวลกับเงื่อนไขการสิ้นผลความคุ้มครองต่าง ๆ หรือการเคลมไม่ได้ใด ๆ เพราะได้ให้ประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่ตอนสมัคร และระวังเกี่ยวกับการถูกซักประวัติภายหลังทำประกันเรียบร้อยแล้วนั่นเอง
แต่ถ้ายังไม่ใช้ประโยชน์จากการแถลงสุขภาพทั้งหมดตั้งแต่แรก ย่อมถูกบังคับให้สูญเสียโอกาสหลายอย่าง
ความโหดร้าย..ของการไม่ใช้ประโยชน์จากการแถลงสุขภาพ
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การแถลงสุขภาพตามจริงนั้น จะช่วยเป็นหลักฐานที่ดีว่าไม่ได้มีเจตนาปกปิดใด ๆ และยังช่วยให้ฝ่ายพิจารณาสามารถร้องขอประวัติการรักษาโดยตรงกับ รพ. หรือ คลินิก ที่ได้แถลงว่าเคยเข้ารับการรักษา หรือตรวจสุขภาพได้
ทั้งนี้วิธีการแถลงสุขภาพที่ง่ายและครบถ้วนที่สุด ซึ่งดีกว่าการแถลงทีละโรค คือ การขอประวัติรักษาทั้งหมดที่มีจากทุก รพ. และ ทุกคลินิก (ถ้าคลินิกมีการเก็บประวัติไว้) ให้ฝ่ายพิจารณาพร้อมการสมัครยื่นขอทำประกัน
พร้อมแจ้งในใบคำขอทำประกันว่า ให้ยึดการแถลงสุขภาพตามประวัติการรักษาทั้งหมดที่แนบมา ซึ่งจะเป็นวิธีที่สามารถยืนยันถึงเจตนาที่สุจริตจริง ๆ แต่ก็แลกมาด้วยความไม่สะดวกในการขอประวัติการรักษาเองก่อนขอทำประกัน (แต่ก็จะสะดวกและสบายใจขึ้นอย่างมากในตอนเคลม)
และด้วยความไม่สะดวกในเรื่องการขอประวัตินี้เอง บางครั้งผู้ขอทำประกันจึงเลือกที่จะไม่แถลง เพราะเห็นว่าป่วยเล็กน้อยไม่ได้เรื้อรังอะไร เช่น เป็นไข้หวัดโดยมีการรักษาแบบ OPD ผู้ป่วยนอก หรือ เข้ารับการรักษาแบบ IPD ผู้ป่วยในด้วยเพียงเพราะอาการท้องเสีย หรือ เป็นเพียงการตรวจสุขภาพประจำปีที่แพทย์แจ้งว่าปกติทุกอย่างเท่านั้น
ซึ่งแน่นอนว่าหากแถลงส่วนที่ผู้ขอทำประกันคิดว่าเล็กน้อยนี้ไป ทางฝ่ายพิจารณาจะต้องขอประวัติการรักษาทั้งหมดอย่างแน่นอน ผู้ขอทำประกันที่ไม่ต้องการความไม่สะดวกในการขอประวัติจึงเลือกที่จะไม่แถลง รวมถึงมองว่าตนเองแข็งแรงดี กว่าจะได้เคลมประกันก็อาจจะผ่านไปนานกว่า 3-5 ปีขึ้นไปแล้ว คงไม่น่ามีปัญหาอะไร
แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากบริษัทประกันยังไม่เคยได้ประวัติการรักษาทั้งหมดมาเก็บไว้ โดยเฉพาะประวัติก่อนทำประกัน 5 ปี และหลังทำประกัน 3 ปี ย่อมส่งผลให้เมื่อเกิดการเคลมขึ้น แม้จะเป็นโรคที่เป็นโดยเฉียบพลัน หรือ เป็นด้วยอุบัติเหตุ ก็อาจส่งผลให้ต้องสำรองจ่าย เพราะถูกขอสืบประวัติได้ทั้งนั้น
ทำให้ปกติแล้ว หากเคลมด้วยอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่มีค่ารักษาประมาณหลักพัน บริษัทประกันจะเห็นว่าควรรีบขอสืบประวัติการรักษาทั้งหมดมาเก็บไว้ในตอนทำเคลมนี้ทันที ดีกว่าจะรอให้ค่ารักษาสูง ๆ แล้วผู้ทำประกันต้องสำรองจ่ายที่สูงมากตามไปด้วยในการรอสืบประวัติ
แต่น่าเสียดายที่ผู้ทำประกันส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงจุดประสงค์นี้ และมัก Complain ว่า เพียงการเจ็บป่วยเล็กน้อย ยังต้องให้สำรองจ่ายเพื่อสืบประวัติ แล้วถ้าเจ็บป่วยหนัก ๆ จะเป็นอย่างไร
และด้วยความเข้าใจผิดนี้เอง ได้มีผู้ทำประกันส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะยกเลิกประกัน หรือเลือกไม่ต่อสัญญา เพราะ Fax-Claim เล็กน้อยไม่ได้ แล้วเลือกที่จะไปทำประกันกับบริษัทที่ได้ยินว่าเคลมง่ายกว่าแทน
ด้วยเพราะเหตุนี้ ฝ่ายสินไหมของหลายบริษัทประกัน จึงต้องยอมให้เคลมประกันไปก่อน หากเห็นว่ายอดที่เคลมไม่เกินเบี้ยประกันทั้งหมด และเป็นการเจ็บป่วยโดยเฉียบพลัน หรือด้วยอุบัติเหตุ
ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้ย่อมทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมา คือ การต้องสำรองจ่ายหลักแสนจากการรอให้เกิดการเคลมโรคค่ารักษาแพงที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นเรื้อรังมาก่อนทำประกัน และต้องรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องแบบจำเป็นเร่งด่วน จนไม่สามารถรอการ Pre-Claim เพื่อขอสืบประวัติก่อนผ่าตัดได้
และนี้คือความโหดร้ายที่สร้างความไม่ไม่สบายใจให้เกิดขึ้นตลอดเวลา แม้ได้ทำประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงไปแล้ว แต่ไม่ได้แถลงสุขภาพทั้งหมดจนทำให้บริษัทไม่ได้ร้องขอประวัติการรักษาทั้งหมดมาเก็บไว้
ทั้งหมดนี้เองจึงทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า การส่งประวัติการรักษาทั้งหมดมาให้บริษัทประกันตั้งแต่ตอนยื่นทำประกันนั้นจะง่ายกว่าการแถลงสุขภาพทั้งหมดมาก เพราะอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยหลายอย่าง อาจจะเล็กน้อยสำหรับแพทย์ผู้รักษา แต่อาจไม่ได้เล็กน้อยเลยในมุมมองของแพทย์ผู้พิจารณารับความเสี่ยงทั้งในปัจจุบันและอนาคต
เจ็บป่วยเล็กน้อย หรือแค่เคยตรวจสุขภาพ แต่อาจตามมาด้วยปัญหาใหญ่
ทุกครั้งที่มีการเข้ารับการรักษาไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก หรือ แม้แต่การตรวจสุขภาพ สิ่งที่จะเกิดขึ้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ การซักประวัติว่าเป็นหรือเคยเป็นโรคเรื้อรังใดอยู่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การวัดน้ำหนักส่วนสูง และ การวัดความดัน
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็น Footprint สำคัญในการสืบประวัติการรักษา โดยเฉพาะกับโรคที่โดนซักประวัติว่าเคยเป็นมาก่อน เช่น บอกแพทย์ว่าเคยรักษาอาการปวดหลัง เคยรักษาโรคกระเพาะ โดยไม่ได้บอกว่าหายหรือยัง รักษาแบบไหน หายมานานแค่ไหน
จนกระทั่งแพทย์มองว่ามีความเชื่อมโยงของโรคที่เคยเป็นแต่ก่อนกับอาการที่เป็นอยู่ปัจจุบัน และได้ให้ทำการรักษาซ้ำอีกครั้ง ก็จะเสมือนได้เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรังขึ้นมาทันทีในประวัติการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต่อมารักษากินยาจนหายแล้ว แต่ไม่มา Follow up ตามนัดหมาย ในประวัติก็จะไม่มีการบันทึกว่าหายจากโรคที่เหมือนจะเรื้อรังนี้อยู่เลย
หรือ อย่างค่าความดัน ที่อาจมีการเดินทางมารักษาที่ รพ. อย่างเหน็ดเหนื่อยแล้วถูกให้วัดความดันทันที จนความดันสูงกว่าค่าปกติ ซึ่งอาจไม่ได้มีผลอะไรต่อการรักษา แต่กลับได้กลายเป็นประวัติว่ามีความดันสูงไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามด้วยเพราะเห็นว่าป่วยเล็กน้อยไม่สำคัญจึงไม่ได้ส่งประวัติการรักษาเข้ามาพร้อมทำประกัน (ซึ่งหากแถลงและส่งประวัติ ทางฝ่ายพิจารณาอาจขอให้ตรวจสุขภาพเพื่อได้บันทึกประวัติค่าความดันใหม่ที่ปกติแล้วได้)
ทำให้ภายหลังทำประกันสุขภาพแล้วเกิดป่วยขึ้น แล้วโชคร้ายตรวจพบว่าได้เป็นโรคความดันสูง ย่อมส่งผลให้การเคลมมีการขอสืบประวัติและพบว่ามีประวัติความดันสูงก่อนทำประกันจากการวัดความดันตอนเหนื่อยในครั้งนั้น ซึ่งจะทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อการเคลมขึ้นมาในทันที
หรือ การแอดมิตเป็นผู้ป่วยในหรือแม้ผู้ป่วยนอก ที่ต้องมีการตรวจวินิจฉัยเจาะเลือดต่าง ๆ ซึ่งค่าเลือดที่ได้มาเหล่านี้จะกลายเป็นประวัติทั้งหมด แต่โดยส่วนใหญ่คนไข้จะไม่ได้สนใจผลเลือดนี้ และเลือกที่จะสนใจเพียงเฉพาะสิ่งที่แพทย์อธิบายภายหลังการรักษาเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
ซึ่งถ้าหากไม่มีการตรวจเลือดใหม่ ค่าผลเลือดที่ต่ำหรือสูงกว่าปกตินี้ ก็จะยังกลายเป็นประวัติเก็บไว้อยู่เสมอ (และส่วนใหญ่ไม่รู้เลยไม่แถลง ทำให้ไม่ถูกขอให้ตรวจสุขภาพก่อนรับทำประกันเพื่อได้ค่าเลือดใหม่หลังการรักษา) ซึ่งนำไปสู่การพิจารณารับความเสี่ยงของบริษัทประกันได้โดยตรง
นอกจากนี้สิ่งที่น่ากลัวต่อมาจากการได้เป็นผู้ป่วยใน/นอก คือ การที่แพทย์มีการขอให้ทำการ X-ray อัลตราซาวน์ CT-Scan MRI หรือแม้แต่ส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยโรค
โดยสิ่งที่ได้มาจากการตรวจวินิจฉัยเหล่านี้ จะเป็นข้อมูลที่มีความชัดเจนสูงมาก และมักตามมาด้วยรอยโรคต่าง ๆ ตามอายุที่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และนั่นจะกลายเป็นประวัติสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพิจารณารับความเสี่ยงของบริษัทประกัน ซึ่งถ้าไม่ได้ให้ประวัติส่วนนี้มาด้วยในตอนยื่นสมัครทำประกัน โอกาสที่จะเคลมประกันไม่ได้จะสูงขึ้นอย่างมาก เพราะในประวัติมีรอยโรคอยู่
(แต่หากส่งประวัติไปด้วยตั้งแต่แรก ฝ่ายพิจารณาจะประเมินตั้งแต่ตอนนั้นว่าสามารถรับทำประกันได้แบบปกติ หรือแบบมีข้อยกเว้นใด ๆ รวมถึงมีวิธีการทบทวนนำข้อยกเว้นออกได้อย่างไร โดยไม่ต้องลุ้นให้มาสืบประวัติกันภายหลัง)
ยังไม่นับรวมการตรวจสุขภาพแบบจ่ายแพ็คเกจราคาหลักหมื่น การตรวจคัดกรองมะเร็งต่าง ๆ ที่มีความละเอียดสูงมาก ๆ ด้วยเพียงเพราะต้องการตรวจสุขภาพเพื่อความสบายใจ
ซึ่งข้อมูลจากการตรวจสุขภาพแบบละเอียดนี้ จะกลายเป็นประวัติที่สำคัญอย่างมากในรอยโรคต่าง ๆ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทรับทำประกันจะสืบรู้ข้อมูลเหล่านี้ด้วย
เพราะแม้ว่าแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพจะบอกว่าเป็นปกติยังไม่ต้องรักษาอะไร แต่รอยโรคที่ปรากฏขึ้นแล้วในประวัติจากข้อมูลละเอียดนี้ ล้วนเป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาในการรับความเสี่ยงก่อนรับทำประกันเสมอ จึงควรส่งประวัติทั้งหมดตั้งแต่ตอนสมัครทำประกัน ให้รู้เลยว่าจะถูกพิจารณารับความเสี่ยงอย่างไร ซึ่งดีกว่ามาถูกสืบประวัติภายหลังที่แก้ตัวใด ๆ ไม่ได้แล้ว
ทั้งหมดนี้เองยิ่งทำให้เห็นภาพว่า หากเคยได้มีการรักษาผู้ป้วยนอก แอดมิต เจาะเลือด ฉายภาพขึ้นสูง ตรวจคัดกรองต่าง ๆ มาก่อน การเน้นขอประวัติการรักษาทั้งหมดเพื่อใช้ช่วยในการแถลงสุขภาพในตอนยื่นสมัครทำประกันจะจำเป็นอย่างมาก
และเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมแค่แอดมิต หรือ เพียงเผลอโดนการตลาดของ รพ. เล่นงานให้ตรวจสุขภาพเพียงครั้งเดียว ก่อนที่จะมีประกันสุขภาพจึงอันตรายอย่างมาก และไม่ควรละเลยที่จะไม่ส่งประวัติการรักษาไปตั้งแต่ตอนสมัครทำประกัน
ซึ่งขั้นตอนขอประวัติการรักษาไม่ได้ยุ่งยากหรือรอนานมากนัก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับการไม่แถลงแล้วรอสืบประวัติในตอนที่มีการทำเคลม ที่ไม่รู้ว่าต้องรอนานอีกกี่ปี กับความไม่สบายใจว่าจะเคลมได้หรือไม่ได้ที่เก็บไว้ตลอด
การขอประวัติการรักษา เพื่อใช้ยื่นตอนสมัครทำประกัน ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
ปัจจุบันขั้นตอนการขอประวัติการรักษาโดยเฉพาะเมื่อเป็นประวัติการรักษาของตนเองใน รพ.เอกชน รวมถึง คลินิก นั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิดเพียงโทรศัพท์สอบถามไปทาง รพ. หรือ คลินิก ว่าต้องการประวัติการรักษาทั้งหมดเพื่อใช้ในการรักษาต่อใน รพ. อื่น จะต้องทำอย่างไรบ้าง และสามารถขอประวัติในรูปแบบไฟล์ pdf ได้หรือไม่
(หากแจ้งว่าใช้สำหรับการรักษามักจะประวัติการรักษาที่เร็วขึ้น และอาจไม่เสียค่าขอประวัติ แต่ถ้าแจ้งว่าใช้เพื่อสมัครทำประกันอาจต้องใช้เวลามากขึ้น และเสียค่าขอประวัติได้)
โดยหากเป็น รพ.เอกชน ขนาดกลางขึ้นไปแล้ว จะสามารถขอประวัติการรักษาผ่านทางอีเมล หรือ LineOA ได้ เพียงการส่งรูปสำเนาบัตรประชาชนรับรองสำเนาเพื่อขอประวัติการรักษาทั้งหมด หรืออาจมีการกรอกแบบฟอร์มขอประวัติร่วมด้วยเท่านั้น ก็จะได้ประวัติการรักษาได้รูปแบบไฟล์ pdf มาในระยะเวลา 5-7 วันทำการ
อย่างไรก็ตามบาง รพ.เอกชน อาจไม่มีนโยบายให้เป็นไฟล์ pdf แต่สามารถให้ในรูปแบบเอกสารได้ผ่านการจัดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายในการขอประวัติไม่เกิน 300 บ. และอาจต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นเล็กน้อย เพราะแต่ละ รพ. มักมีรอบการส่งไปรษณีย์เพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้หากเป็น รพ.รัฐ อาจมีความไม่สะดวกมากขึ้น เพราะอาจถูกบังคับให้ต้องเดินทางไปขอประวัติการรักษาด้วยตนเอง หรือแม้แต่ต้องกลับไปรับประวัติการรักษาด้วยตนเองเช่นกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า หากเริ่มทำประกันสุขภาพโรคร้ายแรงตั้งแต่อายุยังน้อย ที่ประวัติการรักษายังไม่ได้กระจายไปแต่ละจังหวัดมากนัก หรือ ยังไม่ได้มีการรักษาใน รพ.รัฐ จากการเจ็บป่วยหนัก ๆ การขอประวัติการรักษาก็จะค่อนข้างสะดวกอย่างมาก
ที่สำคัญการมีประวัติก่อนทำประกันสุขภาพจะช่วยให้กลายเป็นผู้เลือกบริษัทประกันได้อีกด้วย
การมีประวัติการรักษาของตนเอง ช่วยให้เป็นผู้ได้เลือก ไม่ใช่ผู้ถูกเลือก
การทำประกันสุขภาพหรือโรคร้ายแรงในปัจจุบันหากมีประวัติการรักษาจำนวนมาก มักจะเป็นผู้ถูกเลือกมากกว่าผู้เลือก ด้วยเพราะเมื่อยื่นสมัครทำประกันและแถลงสุขภาพไป จากนั้นบริษัทประกันจะเป็นผู้ร้องขอประวัติการรักษาอ้างอิงตามการแถลงสุขภาพ และฐานข้อมูลของบริษัท
แน่นอนว่าในกรณีที่บริษัทเป็นผู้ร้องขอ บริษัทจะออกค่าใช้จ่ายการขอประวัติให้โดยเบิกคืนภายหลังด้วยใบเสร็จตัวจริงและยังสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนขอประวัติแทนให้ได้ แต่ด้วยเพราะบริษัทเป็นผู้ออกค่าขอประวัติให้ ประวัติจึงตกเป็นของบริษัทและต้องส่งตรงแบบปิดผนึกไม่มีรอยแกะมาที่บริษัทเท่านั้น
และไม่สามารถขอประวัติคืนจากทางบริษัทเพื่อนำมาใช้ในการยื่นสมัครกับบริษัทประกันอื่นได้ หากยังไม่พอใจกับข้อเสนอยกเว้นความคุ้มครองบางอย่างของบริษัทแรก ซึ่งเมื่อปฏิเสธข้อเสนอของบริษัทแรกไปแล้ว แล้วจึงค่อยยื่นทำประกันกับบริษัทที่สองพร้อมแถลงสุขภาพ ก็ต้องรอขบวนการขอประวัติใหม่อีกครั้ง โดยจะน่าเจ็บใจอย่างมากหากสุดท้ายแล้วข้อเสนอของบริษัทแรกดีกว่า
ในทางกลับกันหากได้ขอประวัติการรักษาด้วยตนเอง โดยได้รับประวัติมาในรูปแบบไฟล์ pdf (หรือ หากได้รับมาเป็นเอกสาร จะสามารถทำการ SCAN แบบสีให้จัดเก็บในรูปแบบไฟล์ pdf แทนได้ โดยแนะนำให้ใช้ Printer ที่สามารถ SCAN ได้ในการ SCAN หรือ หาร้านถ่ายเอกสารที่รับ SCAN เพื่อให้ได้ภาพที่ละเอียดไม่ตกหล่น)
จะสามารถนำไฟล์ pdf ที่ได้นี้ นำมายื่นสมัครทำประกันได้หลาย ๆ บริษัทประกันพร้อมกันในทันที จากนั้นเมื่อแต่ละบริษัทประกันยื่นข้อเสนอมา ก็จะสามารถเป็นผู้เลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดได้ รวมถึงยังได้เลือกตัวแทนจากการเห็นการทำงานของแต่ละตัวแทนในการประสานหาเหตุผลและข้อโต้แย้งกับทางฝ่ายพิจารณาได้พร้อมกันอีกด้วย โดยไม่ต้องรอขอประวัติการรักษาไป ๆ มา ๆ อีกต่อไป
ที่สำคัญเนื่องจากผู้ทำประกันเป็นผู้รวบรวมประวัติการรักษาด้วยตนเอง จึงมั่นใจว่าได้ประวัติการรักษาที่ได้มาจะครบถ้วน ลดโอกาสการถูกสำรองจ่ายเพื่อขอสืบประวัติลงได้อย่างมาก และต่อให้ต้องมีการสืบประวัติก็จะเป็นไปได้ด้วยความรวดเร็วทีสุดตามไปด้วย
บทสรุป..สิ่งที่จะได้เมื่อยื่นประวัติการรักษาพร้อมยื่นสมัครทำประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง
การรอให้สืบประวัติตอนทำเคลม แล้วบริษัทตรวจพบว่าปกปิดประวัติการรักษา จะสามารถเลวร้ายได้กว่าการเคลมไม่ได้ เพราะสามารถถึงขั้นที่สัญญาสิ้นผลความคุ้มครองได้
ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจว่า สัญญาจะสิ้นผลความคุ้มครองได้อย่างไรบ้าง ทั้งการที่บริษัทโต้แย้งความไม่สมบูรณ์ บริษัทบอกเลิกสัญญา และบริษัทไม่ต่ออายุสัญญา
รวมถึงเข้าใจขบวนการสืบประวัติการรักษาเบื้องต้น ทำความเข้าใจโรคและอาการที่ห้ามปกปิดและต้องแถลงตามจริงให้ครบถ้วน แม้ว่าโรคนั้นจะหายไม่พบแพทย์มานานกว่า 5 ปีก่อนทำประกัน และ 3 ปีหลังทำประกันแล้วก็ตาม เพราะหากพบว่ามีการปกปิดจะถึงขั้นไม่ต่ออายุสัญญาได้
นอกจากนี้อาการป่วยเล็กน้อยผู้ป่วยนอก การแอดมิต ตรวจสุขภาพการก่อนรักษา การซักประวัติ การตรวจเลือด การฉายภาพ ส่งกล้องต่าง ๆ ล้วนสามารถกลายเป็นรอยโรคสำคัญที่เป็น Footprint ในประวัติการรักษาทั้งหมด (รวมถึงต้องระวังการซักประวัติหลังทำประกัน เพราะหากแจ้งแพทย์ไปว่ามีเป็นมาก่อนทำประกันหรือในระยะเวลาไม่คุ้มครอง ก็จะมีปัญหาทันที)
ดังนั้นการส่งประวัติการรักษาทั้งหมดตอนสมัครทำประกัน จะง่ายกว่าการแถลงสุขภาพที่ละโรคทีละอาการอย่างมาก แต่ถ้ายังเลือกที่จะไม่ใช้ประโยชน์จากการแถลงสุขภาพโดยส่งประวัติการรักษาทั้งหมดตั้งแต่แรก
ย่อมถูกบังคับให้สูญเสียโอกาสการได้รู้ว่าจะถูกยกเว้นความคุ้มครองอะไร มีแนวทางการทบทวนภายหลังทำประกันอย่างไร และไม่รู้เลยว่าโรคใดสามารถเคลมได้แน่นอน ทำให้ไม่เคยสบายใจเลยแม้จะได้ทำประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรงไปแล้ว
ทั้งนี้แม้การขอประวัติการรักษาจะดูเหมือนยุ่งยาก แต่ในปัจจุบันได้ลดความยุ่งยากลงไปอย่างมากแล้ว นอกจากนี้การเตรียมประวัติการรักษาทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อนทำประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง ก็สามารถทำให้เป็นผู้เลือกบริษัทประกันที่ให้ข้อเสนอความยกเว้นความคุ้มครองที่น้อยกว่าได้อีกด้วย
ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงเห็นได้ถึงความสำคัญของประวัติการรักษาที่ยื่นตั้งแต่ตอนสมัครไม่ใช่รอให้สืบประวัติอย่างมาก และเพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญนี้ จะสามารถอ่านบทความเกี่ยวกับการแถลงสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างนี้
การวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง
เริ่มขึ้น..เมื่อ
เข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือทางการเงิน