ทำประกันทั้งทีแต่เคลมไม่ได้ เพราะเหตุใด

บทนำ

สวัสดีค่ะ เนื้อหานี้ แอนนี่จะอธิบายถึงปัญหาหนึ่ง หรือเรียกว่าเป็นปัญหาหลักเลยก็ว่าได้ของการทำประกันค่ะ ซึ่งเป็นปัญหาที่คนมักบ่นว่า "เคลมประกันไม่ได้" และมีหลาย ๆ เคสที่ดังจนเป็นข่าว และ บางเคสที่โพสรีวิวเองก็มีไม่น้อย

ยกตัวอย่าง กรณีหนึ่งที่เคยเป็นข่าวมาแล้วด้วยหัวข้อว่า “ทำประกันแล้วกลับเคลมไม่ได้เลยสักบาท” เพราะอะไรและทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นได้!? ทุกคนเชื่อไหมว่าเรื่องนี้มี ฝ่ายถูกและฝ่ายผิดแน่นอนค่ะ ว่าแต่..จะเป็นฝ่ายไหนกันล่ะ

..บริษัท ตัวแทน หรือเราเอง!

ข้อเท็จจริง เคลมประกันไม่ได้ เพราะอะไร? เหตุใดบริษัทถึงไม่ยอมจ่าย!

การเคลมประกันไม่ได้ เป็นอะไรที่น่าปวดหัวมากโดยเฉพาะฝั่งผู้ทำประกัน แต่เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ และต้องตรวจสอบว่าใครผิด!? ดังนั้น กรณีที่เคลมประกันไม่ได้นั้นมีอยู่ไม่กี่สาเหตุหลัก มาดูกันค่ะว่า มีสาเหตุไหนบ้าง? แอนนี่ยกประเด็นเรื่องนี้ข้างล่างมาก่อนเลย

การปกปิดข้อมูลสุขภาพ

การทำประกันชีวิตทุกชนิด การปกปิดข้อมูลสุขภาพ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเลยค่ะ คงไม่ถึงขนาดติดคุกติดตาราง (อันนั้นเกินไป) แต่ผลเสียจะเกิดขึ้นกับเราเอง จนทำให้มีประวัติเสีย และมีอีกหลายปัญหาตามมาเลยค่ะ

ปัญหาแรกเลยคือ การเคลมไม่ได้ตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อเจ็บป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

เพราะบริษัทประกันมีฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพ รวมถึงมีสิทธิ์ในการตรวจสอบประวัติย้อนหลังกับทุกโรงพยาบาล ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ โดยเฉพาะกรณีที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตั้งแต่ครั้งแรกของการเคลม

จึงเป็นที่มาของคำว่า "สำรองจ่าย" 

นั้นหมายความว่า หากบริษัทเจอประวัติสุขภาพบางอย่างที่เราไม่ได้แถลงตอนขอทำประกัน โอกาสสูงมากที่สุดที่บริษัทจะปฏิเสธการจ่ายเงินและยกเลิกสัญญาในทันที แม้ว่าประวัติสุขภาพที่ตรวจพบจะเป็นคนละโรคกับที่กำลังรักษาก็ตาม

ก็ไม่เคยเคลมประกันมาก่อนเลย... ก็จำไม่ได้ว่าเป็นอะไร... ก็ไม่รู้ว่าป่วยตอนไหน... ตัวแทนไม่เห็นบอกเลย... ก็ไม่ได้เป็นคนกรอกใบสมัครเอง เพราะตัวแทนจัดการเขียนให้หมดเลย

เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นจริงและบ่อยมาก ๆ ค่ะ บางทีอาจจะไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ ประเด็นมันอยู่ที่ทั้งตัวแทนและเราเองว่า ตอนที่คุยรายละเอียดกันก่อนตัดสินใจซื้อ เป็นในลักษณะไหน

  • ตัวแทนได้ถามข้อมูลสุขภาพเราอย่างละเอียดไหม
  • ตัวแทนได้เตือนเรื่องการปกปิดประวัติสุขภาพแม้จะไม่เจตนา (อาจเพราะจำไม่ได้) หรือไม่
  • เราได้อ่านรายละเอียดในใบคำขอเอาประกันหรือไม่
  • เราได้อ่านรายละเอียดสัญญากรมธรรม์แล้วหรือไม่
  • เราเข้าใจเรื่อง "ระยะรอคอย" ดีแค่ไหน ตัวแทนได้อธิบายไหม
  • เรื่องอาชีพที่ทำ..ตอนสมัครทำประกันกับตอนปัจจุบัน เรายังทำอาชีพเดิมไหม
  • และอีกหลายคำถามที่ควรถามตัวแทนทัน เมื่อเกิดความสงสัย

ทั้งนี้ ตัวแทนเร่งรัดปิดการขายเกินไปไหม เอาเพียงสำเนาบัตรประชาชนเราไป แล้วตัวแทนจะไปกรอกใบสมัครให้ โดยที่เราเองอาจไม่มีโอกาสเห็นข้อคำถามเกี่ยวกับสุขภาพที่ค่อนข้างถามละเอียดยิบย่อย หรือไม่?

ดังนั้น กรณีที่ปกปิดข้อมูลไม่ว่าจะโดย “ผู้ทำประกันเองหรือตัวแทนช่วยเหลือ” ก็คือ ความผิดค่ะ! บริษัทมีสิทธิบอกล้างสัญญา (ยกเลิกคืนเบี้ย) หรือปฏิเสธการจ่ายสินไหม (ค่ารักษา) และระบุเงื่อนไขยกเว้นเพิ่มเติมในกรมธรรม์ (กรณีตัวแทนผิดก็จะโดนบริษัทตรวจสอบพฤติกรรมและลงโทษ)

การปกปิดข้อมูลอื่น ๆ

ข้อมูลส่วนตัวของผู้ทำประกันที่มีผลต่อเบี้ยประกัน เช่น อาชีพ และ อายุ เป็นสิ่งที่ต้องแถลงตามจริง การปกปิดข้อมูลดังกล่าว (อาจพบได้น้อย) หากบริษัทตรวจพบว่ามีการบิดเบือนหรือปกปิด โดยเฉพาะอาชีพที่ทำนั้นส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ ก็อาจถูกยกเลิกสัญญาหลักและสัญญาเพิ่มเติมได้ค่ะ

การปกปิดข้อมูล

ตัวอย่าง การเคลมประกันไม่ได้

A. กรณีเสียชีวิต แต่บริษัทประกันไม่จ่ายสินไหมให้ผู้รับผลประโยชน์

เอาเข้าจริง กรณีถ้าเสียชีวิตแล้วบริษัทไม่จ่าย มักเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ก็พอมีบ้าง! ค่ะ เหตุการณ์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องระยะเวลาสัญญากรมธรรม์ และเรื่องการปกปิดประวัติสุขภาพของเราเอง ยังรวมไปถึงการปกปิดข้อมูลใด ๆ ที่บริษัทประกันสามารถใช้บอกล้างสัญญาได้ค่ะ

A1. ตัวอย่าง กรณีนายเป้ง

สมมติ 1 นายเป้งอายุ 42 ปี ทำประกันชีวิตตลอดชีพ ทุนชีวิต 400,000 บาท นายเป้งได้แถลงข้อมูลสุขภาพว่าสมบูรณ์แข็งแรงดี ดังนั้น สัญญาเริ่มคุ้มครองวันที่ 29 มีนาคม 2560

ต่อมา วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 นายเป้งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีและตับแข็ง

ไทม์ไลน์นายเป้งเสียชีวิต แต่บริษัทประกันไม่จ่าย

ขั้นตอนก่อนอนุมัติจ่ายสินไหม กรณีนายเป้ง

ก่อนจ่ายสินไหมกรณีเสียชีวิตของนายเป้ง บริษัทจะทำการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง ซึ่งปรากฏว่าจริง ๆ แล้ว วันที่ 6 มีนาคม 2560 (ก่อนทำประกันชีวิต) นายเป้งเคยไปหาหมอที่โรงพยาบาล เพราะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และคันตามตัว

หมอวินิจฉัยเป็น "โรคมะเร็งท่อน้ำดี" ทางญาติขอส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ดังนั้นกรณีนี้

  • นายเป้ง ปกปิดข้อมูลสุขภาพ เกี่ยวกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี
  • นายเป้ง แถลงข้อมูลอาชีพและรายได้เท็จ เพราะตอนนั้นป่วยและไม่มีรายได้ ซึ่งถ้าบริษัทรับทราบจะไม่สามารถรับประกันได้

สรุปการพิจารณา

  1. บริษัทบอกล้างสัญญากรมธรรม์ 
  2. คืนเบี้ยประกันให้ผู้รับผลประโยชน์ และ
  3. ตรวจสอบพฤติกรรมตัวแทนประกัน

A2. ตัวอย่าง กรณีของน้องขิม

สมมติ 2 น้องขิม อายุ 7 ขวบ คุณแม่ทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพให้ ทุนชีวิต 3,000,000 บาท คุณแม่เป็นผู้ชำระเบี้ยและเป็นผู้แถลงข้อมูลว่า น้องขิมสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี สัญญาเริ่มคุ้มครองวันที่ 25 มีนาคม 2561

ต่อมา วันที่ 8 กันยายน 2561 น้องขิมเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ปอดติดเชื้อจากการสำลัก และเป็นโรคสมองบวมน้ำแต่กำเนิด

ไทม์ไลน์น้องขิมเสียชีวิต แต่บริษัทประกันไม่จ่าย

ขั้นตอนก่อนอนุมัติจ่ายสินไหม กรณีน้องขิม

ก่อนจ่ายสินไหมกรณีเสียชีวิตของน้องขิม บริษัทจะทำการตรวจสอบประวัติย้อนหลัง ซึ่งปรากฏว่าจริง ๆ แล้ว น้องขิมเป็นโรคสมองบวมน้ำแต่กำเนิด ตั้งแต่ปี 2554 รับการรักษาด้วยยากันชักต่อเนื่องโดยตลอด จากนั้นปี 2560 น้องขิมสำลักน้ำและชัก นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงตั้งแต่นั้นมา

ดังนั้นตอนทำประกัน ตัวแทนไม่ได้เจอน้องขิม ทำประกันผ่านคุณแม่เพียงคนเดียว!

  • คุณแม่น้องขิม ปกปิดข้อมูลโรคประจำตัวแต่กำเนิดของน้องขิม ซึ่งหากบริษัทรับทราบจะไม่สามารถรับประกันได้

สรุปการพิจารณา

  1. บริษัทบอกล้างสัญญากรมธรรม์ 
  2. คืนเบี้ยประกันให้ผู้รับผลประโยชน์ และ
  3. ตรวจสอบพฤติกรรมตัวแทนประกันและรายงานแก่ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง

B. กรณีปกปิดข้อมูลสุขภาพ เคลมค่ารักษาพยาบาลไม่ได้

เรื่องประกันสุขภาพ มีรายละเอียดที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจอีกเยอะมาก ๆ ค่ะ ถ้าทำประกันแล้วต้องอ่านทำความเข้าใจรายละเอียดสัญญากรมธรรม์ให้ชัดเจน (หลาย ๆ รอบ)

ถ้าสงสัยส่วนใด สอบถามตัวแทนหรือโทรเข้าบริษัทได้ทันที อย่าปล่อยให้เป็นปมทิ้งไว้ซึ่งจะให้รายละเอียดในบทความถัดไป ดังนั้นในบทความนี้ แอนนี่จะยกตัวอย่างให้ก่อน เพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้นนั่นเองค่ะ

B1. ตัวอย่าง กรณีของทานตะวัน

สมมติ 3 นางสาวทานตะวัน อายุ 40 ปี ทำประกันชีวิตตลอดชีพ ทุนชีวิต 500,000 บาท และทำสัญญาประกันสุขภาพเพิ่มเติม นางสาวทานตะวันแถลงข้อมูลสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี สัญญาเริ่มคุ้มครองวันที่ 6 สิงหาคม 2560

ต่อมา วันที่ 15 สิงหาคม 2561 นางสาวทานตะวันป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 วัน เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน

ขั้นตอนก่อนอนุมัติจ่ายสินไหม กรณีทานตะวัน

ครั้งนี้ถือเป็น “การเคลมครั้งแรก” ของนางสาวทานตะวัน บริษัทจึงใช้โอกาสนี้ "ตรวจสอบประวัติย้อนหลัง" (เรียกว่าสืบสวนเลยดีกว่า) เพราะโรคที่กำลังรักษาอยู่มันส่งผลต่อชีวิต รวมถึงเป็นโรคเรื้อรัง

ดังนั้น บริษัทมีสิทธิตรวจสอบตามเงื่อนไข โดยได้เวลาตรวจสอบนานถึง 90 วัน กรณีดังกล่าว ค่ารักษาครั้งนี้นางสาวทานตะวันต้อง "สำรองจ่ายก่อน" (เก็บใบเสร็จตัวจริงเบิกกับบริษัทภายหลัง)

เริ่มใจคอไม่ดี ไหนบอกไม่ต้องสำรองจ่าย! พูดถึงเรื่องสำรองจ่ายแล้ว เดี๋ยวบทความหน้ามาย่อยให้ฟังนะคะ วันนี้เคลียร์ประเด็นทานตะวันกันก่อน

สรุปผลการตรวจสอบของบริษัท

ปรากฏว่า วันที่ 12 มีนาคม 2558 นางสาวทานตะวันเคยไปหาหมอรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ด้วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน แพทย์นัดทานตะวันตรวจทุกๆ 3-6 เดือน นั่นหมายความว่า ทานตะวันยังรักษาโรคนี้มาโดยตลอด ดังนั้น

  • ทานตะวัน ปกปิดประวัติสุขภาพเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ซึ่งเมื่อบริษัทรับทราบเช่นนี้ ก็จะปฏิเสธรับผิดชอบค่ารักษาที่ทานตะวันเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 5 วันก่อนหน้านี้

สรุปการพิจารณา

  1. บริษัทบอกล้างกรมธรรม์ คืนเบี้ยให้ทานตะวัน
  2. ปฏิเสธการจ่ายสินไหมสุขภาพที่ทานตะวันเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 5 วันก่อนหน้านี้ เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นโรคที่เป็นก่อนทำประกัน (ทานตะวันออกต้องรับผิดชอบค่ารักษาเอง)

B2. ตัวอย่าง กรณีของนางตั๊ก

สมมติ 4 นางตั๊ก อายุ 55 ปี ทำประกันชีวิตตลอดชีพ และ ทำสัญญาประกันสุขภาพเพิ่มเติม นางตั๊กแถลงข้อมูลสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี สัญญาเริ่มคุ้มครองวันที่ 1 ธันวาคม 2560

ต่อมา วันที่ 20 พฤศจิายน 2561 นางตั๊กป่วยไทรอยด์เป็นพิษ นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3 วัน แพทย์ระบุว่า "อาจต้องผ่าตัดหากควบคุมไม่ได้"

ขั้นตอนก่อนอนุมัติจ่ายสินไหม กรณีนางตั๊ก

ครั้งนี้ถือเป็น “การเคลมครั้งแรก” ของนางตั๊ก บริษัทจึงขอใช้โอกาสนี้ตรวจสอบ สืบค้นประวัติการรักษาย้อนหลัง ตามสิทธิที่บริษัทได้รับ โดยอาจใช้เวลานานสูงสุดไม่เกิน 90 วัน

ดังนั้น ค่ารักษาครั้งนี้ นางตั๊กต้อง "สำรองจ่ายก่อน" (เก็บใบเสร็จตัวจริงเบิกกับบริษัทภายหลัง)

สรุปผลการตรวจสอบของบริษัท

จากการตรวจค้นประวัติการรักษาจากทุกโรงพยาบาล นางตั๊กเคยมีประวัติการรักษาไทรอยด์ด้วยยากิน ตั้งแต่ปี 2556-2558 แพทย์ให้หยุดยามาแล้ว 2 ปี! (แต่โรคนี้แม้จะหายแล้ว มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก) ดังนั้น

  • นางตั๊ก ปกปิดข้อมูลสุขภาพ โดยไม่ได้แถลงว่าเคยเป็นโรคไทรอยด์มาก่อน

สรุปการพิจารณา

  1. บริษัทปฏิเสธการเคลมค่ารักษาครั้งนี้ (นางตั๊กรับผิดชอบค่ารักษาเอง)
  2. บริษัทอาจขอยกเว้น ความคุ้มครองโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือ
  3. อาจจะยกเลิกสัญญาสุขภาพ หรือ
  4. ขอเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพ และ/หรือ ประกันชีวิต

แต่กรณีนี้ นางตั๊กมีข้อโต้แย้ง ดังนี้

นางตั๊กได้แจ้งตัวแทนประกันไปแล้วตอนกำลังจะทำประกันว่า “เคยเป็นไทรอยด์และรักษาหายแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน” ทางตัวแทนเข้าใจว่านางตั๊กน่าจะหายดีแล้ว เพราะเห็นบอกว่า แพทย์หยุดให้ยาแล้ว จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องแถลงโรคนี้ (ซึ่งทำแบบนี้ไม่ได้นะคะ! แถลงมาเถอะ)

แต่เอาเข้าจริง ในใบคำขอก็จะมีถามเกี่ยวกับโรคที่เคยเป็นและรักษาหายแล้วย้อนหลัง 5 ปีอยู่นะคะ กรณีนี้ตัวแทนจะถูกบริษัทพิจารณาความประพฤติด้วยค่ะ

แต่ยังไงแล้ว ข้อสรุปจากทางบริษัทก็ยังคงเป็นตามข้างต้น เพราะว่านางตั๊ก ได้ป่วยจริงและมีประวัติจริง

โดยอาจจะเลือกให้ความคุ้มครองสุขภาพดังเดิม ภายใต้ข้อข้อเสนอใหม่คือ ไม่คุ้มครองเกี่ยวกับไทรอยด์และ/หรือภาวะสืบเนื่อง หรือขอเพิ่มเบี้ยสูงขึ้นและคุ้มครองไทรอยด์ (ขึ้นอยู่ทางบริษัทจะพิจารณาเลยค่ะ)

ไม่มีประวัติการรักษา แต่ทำไมบริษัทให้สำรองจ่าย ควรทำอย่างไร?

ทีนี้ปัญหา เคลมประกันไม่ได้ บริษัทไม่จ่าย กรณีปกปิดข้อมูลสุขภาพ คิดว่าน่าจะพอเข้าใจกันแล้วบ้าง และพอจะนึกภาพออกจากรูปประกอบที่ให้มาในนี้ แต่ก็มีอีกกรณีที่ เมื่อบริษัทตรวจสอบประวัติรักษาแล้ว แต่ไม่พบการปกปิดใด ๆ แล้วทำไมไม่ยอมจ่ายซะที! มันน่าสงสัย แต่อย่ากังวลค่ะ เพราะเรามี คปภ. ดูแลอยู่

จริงๆ แล้วบริษัทมีสิทธิตรวจสอบประวัติย้อนหลังในระหว่างที่มีการเคลมเกิดขึ้นครั้งแรก ตามที่รู้กันว่าระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบตามเงื่อนไขสูงสุดไม่เกิน 90 วัน ถ้าเกินกว่านี้ ให้แจ้งเรื่องไปที่ คปภ. 

บริษัทอาจจะโดนบทลงโทษเป็นการ ปรับรายวัน จนกว่าจะจ่ายสินไหมตามวงเงินเรียกร้องค่ะ แต่ว่าเราต้องไปแจ้ง คปภ. ก่อนนะคะ ทาง คปภ. ถึงจะทราบ ไม่อย่างงั้นเรื่องอาจจะเงียบ หรือเราอาจเสียผลประโยชน์ได้ค่ะ

เพราะเคยมีที่ว่า...

บริษัทประวิงการจ่ายสินไหม ผู้ทำประกันคิดว่าโดนโกง และด้วยความโมโห จึงรีบเร่งไปทำเรื่องขอยกเลิกประกัน

แบบนี้คิดว่า ใครจะได้ประโยชน์?

แน่นอนค่ะว่าต้องเป็นบริษัทประกันที่ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหม รวมทั้งไม่ต้องรับความเสี่ยงสุขภาพของเราที่กำลังรักษาอยู่ต่อไปด้วย ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเรา

ดังนั้นอย่างด่วนใจร้อน ปรึกษาทาง คปภ. ให้ช่วยเร่งแก้ปัญหาตรงนี้ให้ค่ะ เพราะถ้าเราด่วนตัดสินใจไปยกเลิกประกัน แบบนี้เ่ากับว่าเสียเปรียบ 100% นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังจะไม่ได้เงินคืนสักบาทด้วย (เข้าทางบริษัทเลยนะแบบนี้)

ถ้าเจอบริษัทประวิงเวลาขึ้นมา ประมาณว่า “จ่ายนะ แต่ขอจ่ายช้าหน่อย” แบบนี้มันก็น่าปวดหัวจริง ๆ ค่ะ บวกกับต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ระหว่างที่รอ ยังไงแล้วให้หมั่นคอยเช็คกับบริษัทเป็นระยะ ๆ ว่า เรื่องเคลมถึงไหนแล้ว? หรือติดต่อตัวแทนให้ช่วยตามเรื่อง และเราเองก็ต้องตามด้วยเช่นกันค่ะ

อาจจะโทรเข้า Call center บริษัท แจ้งชื่อนามสกุล หรือเลขที่กรมธรรม์ ให้เช็คเรื่องบ่อย ๆ เก็บหลักฐานให้พร้อม และสุดท้ายหากการประวิงเวลาเกิน 90 วันไปแล้วนั้น เราเข้าหา คปภ. ได้ทันทีค่ะ

ย้ำอีกครั้งค่ะ! ว่าไม่ต้องกลัว ถ้าเจอกรณีแบบนี้ ยิ่งเรามั่นใจว่าไม่มีประวัติการรักษาใด ๆ เลย ก็เดินหน้าลุยเต็มที่ค่ะ

และถ้าอยากรู้ว่า ฟ้องแล้วจะได้ผลจริงไหม? คปภ. เป็นพวกเดียวกับบริษัทหรือเปล่า? กลัวจะไปเสียเวลา กด! เข้าไปดู เคสตัวอย่างบริษัท/ตัวแทนที่โดน คปภ. จัดการ ซึ่งมันมีจริงๆ ค่ะ (และเยอะมากด้วย)

เคลมไม่ได้เพราะ โรคความดัน-เบาหวาน จริงหรือไม่?

พูดถึงโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน อันที่จริงมี 2 ประเด็นให้พิจารณา คือ การเป็นก่อนทำประกัน และ การเป็นหลังทำประกัน วันนี้แอนนี่มาพูดประเด็นของการเป็นหลังทำประกัน นั่นหมายความว่าบริษัทรับทำประกันให้เราแล้วเรียบร้อย

แต่ทำไมยังมีเคสที่เคลมไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีประวัติสุขภาพใด ๆ มาก่อนเลย!

เอาล่ะ! หากถามว่าเป็นความดัน-เบาหวานแล้วจะเคลมประกันไม่ได้จริงไหม? คำตอบคือ ไม่จริงค่ะ แต่ถ้ามีใครเคยเคลมไม่ได้จริง ๆ แม้ไม่มีประวัติการรักษาหรือการพบแพทย์ใด ๆ มาก่อนเลย เราอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาอีกว่า เคลมช่วงไหนหลังจากประกันอนุมัติ?

เพราะระยะรอคอยที่เหมือนเป็นตัวกำหนดว่า จะเคลมได้หรือไม่ได้นั้น ก็ยังคงไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าความรู้สึกของเรา และประสบการณ์ของบริษัทประกัน ประโยคนี้ฟังแล้วอาจจะงง ๆ แต่แอนนี่สรุปเลยแล้วกันว่า การไม่มีประวัติสุขภาพ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ป่วย

ด้วยมุมมองของบริษัทประกัน มักมองทุกอย่างเป็นความเสี่ยง นั่นรวมถึงการไม่มีโรค ก็ถือความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มองไม่เห็น

ดังนั้นการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในช่วงที่พ้นระยะรอคอยไปไม่นาน เป็นเรื่องที่ตอบยากมากค่ะว่า จะเคลมได้หรือไม่? เพราะมุมมองบริษัทเชื่อว่า เราเป็นมาก่อนทำประกัน แม้ไม่เคยหาหมอ/รักษาก็ตาม

การจะเป็นโรความดันโลหิสูง และ/หรือโรคเบาหวานได้นั้น ต้องใช้เวลานานมากที่ไม่ใช่แค่ระยะ 90-120 วันของระยะรอคอย โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อร่างกายเริ่มแสดงอาการ (บางที) เราอาจจะรู้ตัวแล้วว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องพบแพทย์

อาการเหล่านี้คือ สิ่งที่บ่งบอกว่าเราเป็นมาก่อนทำประกันค่ะ ดังนั้นในขั้นตอนการขอทำประกัน ในฟอร์มสอบถามจะถามถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น เวียนศรีษะ น้ำหนักเพิ่ม-ลด ฯลฯ

ระยะรอคอย กับ โรคความดังสูง-เบาหวาน

ความดันสูง และเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง หากพลาดเป็นแล้วก็ต้องรักษาในระยะยาว

อย่างที่แอนนี่บอกไปว่า การมันจะแสดงอาการรุนแรงจนถึงขั้นล้มป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลได้นั้น ต้องใช้เวลาการเริ่มเป็นมานานหลายปี

ทีนี้การทำประกันสุขภาพที่ต้องมีระยะรอคอย สูงสุด 120 วัน อาจจะกำหนดใช้ไม่ได้กับโรคเรื้อรังทั้งหมด เพราะรอยโรคนั้นเกิดขึ้นนานเกิน 120 วัน แล้วแบบนี้จะทำยังไงกันดีล่ะ? เพราะไม่เคยรักษามาก่อนทำประกันและไม่เคยรู้ว่าเริ่มมีรอยโรคแล้ว

ทางเดียวที่จะโต้แย้งกับบริษัทฯ ได้คือ ช่วงระยะเวลาที่ล้มป่วยต้องนานหลายปีไปแล้วหลังทำประกัน จึงจะหมดห่วงเรื่องการเคลมว่าจะไม่มีปัญา แต่หากเกิดล้มป่วยหลังระยะรอคอยไปไม่กี่วัน/เดือน แบบนี้ต้องเตรียมใจในการชี้แจงและ/หรือตอบรับข้อเสนอใหม่จากบริษัทฯ

เคลมไม่ได้เพราะ โรคซึมเศร้า จริงหรือไม่?

ปัจจุบันเราอาจะเคยได้ยินคำว่า โรคซึมเศร้า กันบ่อยครั้ง และหากเรากำลังมีการรักษาอาการซึมเศร้ามาก่อนทำประกัน บริษัทฯ มักจะไม่รับทำประกันให้ หากยื่นขอทำประกัน

ทางป้องกันเพื่อไม่ให้บริษัทฯ ไม่รับทำประกัน คือ การรักษาตัวให้หาย พร้อมมีคำยืนยันจากแพทย์ รวมทั้งหยุดกินยา อาจต้องตรวจสุขภาพพร้อมขอประวัติการรักษา หากจะทำการยืนขอทำประกันค่ะ

แต่ถ้ามีอาการซึมเศร้าและต้องรักษาหลังการทำประกันไปแล้ว ส่วนใหญ่บริษัทฯ จะไม่คุ้มครอง หรือเคลมไม่ได้ค่ะ และอาจพิจารณาสัญญากรมธรรม์ใหม่ หรือแบบเลวร้ายที่สุดคือ การยกเลิกสัญญา ค่ะ

คปภ. เพื่อนแท้ในยามยาก

ไม่แน่ใจว่าจริงไหม แต่เอาเป็นว่า คปภ. สามารถช่วยเราได้ค่ะ!

ทุกคนที่ทำประกันน่าจะรู้ (หรือบางคนก็ไม่รู้) ว่าบริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจภายใต้การควบคุมของ คปภ. หรือชื่อเต็มคือ "สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย"

คปภ. มีหน้าที่ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน (ผู้เอาประกันภัย) ให้ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทประกันภัย ที่จะคอย ไกล่เกลี่ย ลงโทษ หรือยึดใบประกอบธุรกิจประกันภัยได้ (หากพบทำผิดหรือทุจริตตามข้อกฏหมาย)

ดังนั้นเมื่อเกิดกรณีที่เคลมประกันไม่ได้ บริษัทไม่ยอมอนุมัติจ่าย หรือบริษัทใช้เวลาพิจารณาการอนุมัติการเคลมนานเกิน 90 วัน รวมถึงตัวแทนบริษัทเชิดเอาเงินค่าเบี้ยประกันที่เก็บจากเราไปช็อปปิ้ง (เก็บหลักฐานใบเสร็จชั่วคราวเอาไว้ด้วย)

เราทุกคนที่ทำประกัน “ไม่ต้องกลัว” ค่ะว่า บริษัทประกันจะ เอาเปรียบ โกงเงิน หรือหลอกขายประกัน ให้ เพราะเรามีเพื่อนแท้อย่าง คปภ. ถือเล่มกรมธรรม์ไปปรึกษา คปภ. ได้เลยค่ะ 

การร้องเรียนประกันกับ คปภ.
การร้องเรียนประกันกับ คปภ.

โดยเราอาจจะ โทรสอบถามและแจ้งเรื่องไปก่อนเบื้องต้น เพื่อจะได้รู้ว่าควรต้องทำขั้นตอนใดต่อไป

หากจะเดินทางไปสำนักงาน คปภ. เลย ก็ทำได้ค่ะ แต่ในเบื้องต้นนั้น อยากให้เลี้ยวรถไปบริษัทประกัน หรือสาขาบริษัทประกันใกล้บ้านก่อนค่ะ เพราะกรณีที่เกิดเคสปัญหาใด ๆ เรา บริษัท และตัวแทนต้องเคลียร์ใจกันก่อน... อาจจะยุติได้ หรือไม่ได้

บางทีอาจจะแค่เข้าใจผิดกัน (งอนกัน) กระทบกระทั่งกัน เป็นเรื่องธรรมดา จึงต้องมานั่งจับเข่าคุยกัน โดยให้หอบหลักฐาน เช่น ใบเสร็จ เล่มกรมธรรม์หรือ e-policy มาด้วย รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ที่ตัวแทนได้นำเสนอตอนขายประกัน ถ้ายังเก็บไว้ ก็เอามากางด้วยตอนนั่งเคลียร์กัน 

แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ตรงไป คปภ. ได้ทันทีค่ะ

บทสรุป

การทำประกัน คือสิ่งที่ดี และเป็นหนึ่งในปัจจัยของการวางแผนชีวิต ในการทำประกันทุกครั้งควรแถลงข้อมูลสุขภาพตามจริง ไม่ปกปิดประวัติสุขภาพ เพราะอาจจะเกิดปัญหาเคลมไม่ได้ในภายหลัง และอาจถูกยกเลิกสัญญา

เราควรศึกษารายละเอียดก่อนทำประกันให้เข้าใจ กรอกใบคำขอหรืออ่านเองคือดีที่สุด เพื่อจะได้เห็นว่าในคำถามนั้นถามเกี่ยวกับอะไรบ้าง

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เราควรต้องปกป้องสิทธิของตัวเองด้วย หากมีความผิดปกติในเรื่องของการประวิงเวลาการจ่ายสินไหม หรือการเคลมประกัน รวมถึงหากมีการทุจริตเบี้ยประกันโดยตัวแทน ทั้งหมดนี้เรามีสิทธิปกป้องผลประโยชน์ของตนเองค่ะ

กรณีตัวแทนทุจริตเบี้ยประกัน หลักฐานสำคัญที่ควรต้องมีคือ ใบเสร็จชั่วคราว ที่เราสามารถใช้เป็นหลักฐานเรียกร้องกับบริษัทฯ และ คปภ. ค่ะ โดยที่ความคุ้มครองของเรายังคงมีอยู่ต่อไปค่ะ

ทั้งนี้ แอนนี่อยากฝากให้ทำความเข้าใจเรื่องของ ระยะรอคอย ที่หลายคนคิดว่าสามารถป่วยโรคใดก็ได้หลังพ้นระยะนี้ไปแล้ว ซึ่งก็เป็นความจริงโดยส่วนใหญ่ แต่ยังมีเรื่องของโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเกิดรอยโรค ที่อาจจะมีปัญาการเคลมหากล้มป่วยหลังระยะรอคอยไปไม่กี่วัน/เดือน ค่ะ

 ในส่วนของโรคซึมเศร้า ปัจจุบันยังแทบจะไม่มีบริษัทฯ ใด หรือแผนประกันใดให้ความคุ้มครอง แม้จะเป็นหลังการทำประกันแล้วก็ตาม ดังนั้นควรหมั่นดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากอาการซึมเศร้า จะเป็นประโยชน์และีต่อตัวเราที่สุดค่ะ

หากเจอปัญหาการเคลม หรือการประวิงเวลาจ่ายสินไหม เราสามารถติดต่อ คปภ. ให้ช่วยประสานกับทางบริษัทฯ ให้จ่ายเงินสินไหมโดยเร็ว อย่าด่วนตัดสินใจไปยกเลิกประกันเพราะคิดว่าบริษัทโกง เราเองจะเสียผลประโยช์และเสียความคุ้มครองไปได้ค่ะ

สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการทำประกันจึงจะหนีไม่พ้นตั้งแต่การแถลงสุขภาพตามจริง ๆ ในใบคำขอทำประกันดังรายละเอียดในลิงก์ต่อไปนี้ค่ะ

การวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง

เริ่มขึ้น..เมื่อ

เข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือทางการเงิน

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • Ruchira Taboonruang

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก