7 วิธี วางแผนเกษียณสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพเมื่อไม่มีรายได้แล้ว
เบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณที่สูงถึงหลักแสนบาทต่อปีแต่ยังจำเป็นเป็นต้องจ่าย เพราะไม่รู้ว่าในปีนั้นจะต้องเสียค่ารักษาหลักล้านหรือไม่ และนี้คือหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่หากเตรียมการวางแผนรับมือล่วงหน้า จะช่วยให้ไม่ต้องหาเงินสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณอีกต่อไป
ปัญหาเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ
❒ ข้อสังเกต : เบี้ยประกันสุขภาพตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปจะเริ่มเข้าสู่หลักแสนได้ไม่ยาก (โดยเฉพาะแบบประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ครอบคลุมขบวนการรักษาที่จำเป็นสำหรับการรักษามะเร็งให้มากที่สุด) ซึ่งปัญหาจากเบี้ยที่สูงขึ้นมากนี้ ได้ทำให้หลายคนที่ไม่ได้วางแผนเกษียณสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพไว้จำใจที่จะต้องเลือกยกเลิกประกันสุขภาพแทนที่จะจ่ายเบี้ยต่อ ทั้ง ๆ ที่ความเสี่ยงด้านโรคร้ายแรงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากตามอายุ และไม่ควรเลยที่จะเลือกรับความเสี่ยงไว้เองตามลำพัง
ดังนั้นการวางแผนเกษียณในส่วนของเบี้ยประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะหากเตรียมการล่วงหน้าจะสามารถลดเงินที่ต้องใช้ลงได้อย่างมาก ด้วยเพราะเบี้ยประกันสุขภาพไม่ได้จ่ายก้อนใหญ่ในทีเดียว แต่เป็นการทยอยจ่ายในแต่ละปี ซึ่งเวลาที่ได้เพิ่มมานี้จึงมีหลายเครื่องมือการเงินที่จะใช้ประโยชน์จากเวลานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยจะสามารถแบ่งวิธียอดนิยม ที่ใช้ในการวางแผนเกษียณสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ 7 วิธี ดังต่อไปนี้
วิธีที่ 1 : เก็บเงินสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพเองยามเกษียณ
❒ ที่มา :
- เป็นวิธีเบื้องต้นหากเข้าใจเครื่องมือการเงินเพียงการฝากธนาคาร
❒ ข้อดี :
- ทำความเข้าใจง่าย เพียงเน้นเก็บเงินให้ได้ตามเป้าหมาย
- ไม่ต้องกังวลถึงความเสี่ยงของการใช้เครื่องมือการเงินใด ๆ
- เน้นฝากเงินกับธนาคารเป็นหลัก ไม่ซับซ้อน
❒ ข้อสังเกตุ :
- เสียภาษีดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝาก
- เงินเติบโตช้า หากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ
- เบี้ยประกันสุขภาพเป็นการทยอยจ่ายทีละปี ทำให้การเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ในการนี้จึงเป็นการเตรียมเงินที่เยอะเกินความจำเป็น โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเวลาและเครื่องมือการเงินให้เป็นประโยชน์
วิธีที่ 2 : เก็บเงินในเบี้ยเพิ่มพิเศษแบบประจำ (RTU) ของประกันยูนิตลิงก์
❒ ที่มา :
- เนื่องจากประกันยูนิตลิงก์ให้ผู้ทำประกันจัดพอร์ตการลงทุนเองได้จากเบี้ยประกันที่จ่ายไป
- โดยการจ่ายค่าประกันภัยมาจากการขายหน่วยลงทุนในทุกเดือน ดังนั้นหากเดือนใดพอร์ตการลงทุนติดลบ เงินก็จะน้อยลงไปอีกเพราะถูกหักค่าการประกันภัยร่วมด้วย
- จึงต้องมีการบริหารไม่ให้กรมธรรม์ปิดตัวลงเพราะเงินในพอร์ตหมด ซึ่งหนึ่งในวิธีนั้นคือ การสามารถเติมเงินเข้ามาในพอร์ตการลงทุนของสัญญายูนิตลิงก์ หรือที่เรียกว่า RTU (Regular Top Up)
- โดย RTU เป็นการเงินเติมเงินในกรมธรรม์ทุกเดือนหรือทุกปีเท่า ๆ กัน ซึ่งเงินส่วน RTU นี้จะไว้ตัดจ่ายเบี้ยสัญญาเพิ่มเติมต่าง ๆ ที่แนบอยู่ในกรมธรรม์ยูนิตลิงก์นี้ได้อีกด้วย
- ส่งผลให้บางบริษัทประกันมีเครื่องมือคำนวณหาว่าต้องเติมเงิน RTU เท่าใด จึงจะสามารถจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่แนบกับสัญญายูนิตลิงก์นี้ได้
❒ ข้อดี :
- สามารถเตรียมเบี้ยเพิ่มเติมพิเศษ (RTU) คงที่ทุกปีในประกันยูนิตลิงก์เพื่อไว้ขายกองทุนอัตโนมัติและจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณโดยเฉพาะได้
- มีโปรแกรมคำนวณจากบริษัทประกัน ว่าควรต้องจ่ายเบี้ยเพิ่มเติมพิเศษปีละเท่าไร จำนวนกี่ปี และประมาณการณ์ที่ผลตอบแทนคงที่ปีละเท่าใด ถึงจะเพียงพอต่อเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมดจนถึงอายุครบ 99 ปี หรืออายุที่ต้องการได้
❒ ข้อสังเกตุ :
- เงินที่จ่ายเบี้ยเพิ่มเติมพิเศษนี้จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีใด ๆ ได้
- ต้องคงที่ทุกปีเพราะโปรแกรมของบริษัทคำนวณจำลองใหม่ไม่ได้
- เครื่องมือของบริษัทประกันในปัจจุบันจะยังไม่สามารถเลือกได้ว่าช่วงอายุก่อนเกษียณให้เป็นพอร์ตเสี่ยงสูง หลังเกษียณเป็นพอร์ตเสี่ยงต่ำ ทำให้การเลือกผลตอบแทนคาดกาณ์แบบเท่ากันตลอดชีพที่ 3% ต่อปีนี้ จึงปลอดภัยและน่าเชื่อถือได้มากที่สุด
- กองทุนรวมที่เลือกได้มีจำกัด
วิธีที่ 3 : ใช้ประกันสุขภาพ UDR แบบเบี้ยคาดหวังคงที่ (Target Premium) แนบกับประกันยูนิตลิงก์
❒ ที่มา :
- เมื่อประกันชีวิตยูนิตลิงก์สามารถลงทุนและจัดพอร์ตการลงทุน สำหรับทยอยหักค่าการประกันภัยรายเดือนเองได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะทำแบบเดียวกันกับสัญญาเพิ่มเติมอย่างประกันสุขภาพ โดยต้องมีการจ่ายเบี้ยส่วนประกันสุขภาพเพิ่มอย่างชัดเจน ไม่ได้อาศัย RTU ของฝั่งประกันชีวิตเหมือนในวิธีที่ 2
- ปัญหาคือ ไม่รู้เบี้ยที่เก็บจะกำหนดเป็นสัดส่วนสำหรับการลงทุนเท่าใดดี เนื่องจากปกติแล้วเบี้ยประกันสุขภาพจะเพิ่มตามอายุ ซึ่งไม่สะดวกหากจะต้องทยอยลงทุนเพิ่มเรื่อย ๆ ในทุกเดือน แทนที่จะคงที่
- บริษัทประกันจึงได้คำนวณตาราง "เบี้ยคาดหวังคงที่ Target Premium" ขึ้นมา โดยตารางนี้จะเป็นเบี้ยแบบคงที่ตามอายุที่เริ่มทำประกัน จากการสมมติผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนที่ประมาณ 3% ต่อปี แล้วคำนวณว่าหากผลตอบแทนเท่านี้รวมกับค่าการประกันภัยที่เพิ่มทุกปีแล้วเฉลี่ยออกมาจะต้องจ่ายเบี้ยคงที่ตามอายุที่เริ่มทำประกันเท่าใด (ไส้ในเบี้ยคงที่จะมีทั้งการแบ่งไปลงทุนและแบ่งไปจ่ายค่าประกันภัยของประกันสุขภาพ)
- แต่เบี้ยคงที่ที่ได้เป็นการคาดการณ์ที่ผลตอบแทน 3% ต่อปี โดยไม่การันตี ทางบริษัทประกันจึงกำหนดว่าค่าดำเนินการจะเก็บเฉพาะ 5-8 ปีแรกเท่านั้น ที่เบี้ยจะสูงกว่าเบี้ยประกันสุขภาพแบบปกติมาก หลังจากนั้นจะไม่มีการเก็บค่าดำเนินการอีกจะมีเฉพาะค่าประกันภัยอย่างเดียว จึงทำให้ค่าการประกันภัยโดยรวมตลอดชีพถูกกว่า เบี้ยประกันสุขภาพปกติที่เพิ่มตามอายุซึ่งมีทั้งค่าดำเนินการและค่าประกันภัย
- และกลายเป็นจุดชดเชยสำคัญ ที่ทำให้ไม่ต้องใช้ผลตอบแทนสมมติที่สูงกว่า 3% ต่อปี ในการคำนวณตารางเบี้ยคาดหวังที่ตลอดชีพขึ้นมา
❒ ข้อดี :
- ได้เบี้ยคาดหวังหรือเป้าหมายคงที่เท่าใดต่อปี ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนและสัดส่วนค่าการประกันภัยโดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องคิดว่าปีนี้หรือปีหน้าต้องจ่ายเท่าไรหรือต้องคอยมาคำนวณหาใหม่ เพราะบังคับจ่ายคงที่ไปเรียบร้อย
- บริษัทประกันมีเครื่องมือจำลองผลตอบแทนที่มากกว่า 3% ต่อปีมาให้ เพื่อไว้ใช้คำนวณว่าหากได้ผลตอบแทนตามนี้ อาจไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยทุกปี โดยจ่ายเพียง 20 ปีก็ได้
- หรือ สามารถคำนวณที่ 3% ต่อปีเหมือนเดิมได้ แต่หากต้องการจ่ายเบี้ยเพียง 20 ปี จะต้องลงทุนในส่วน RTU ต่อปีเพิ่มเท่าใด
❒ ข้อสังเกตุ :
- หากตอนสูงอายุพอร์ตลงทุนโชคร้ายติดลบมาก ๆ แล้วยังต้องถูกหักค่าการประกันภัยที่สูงตามอายุอีก จะซ้ำเติมให้พอร์ตมีขนาดเล็กลงเข้าไปอีก (เครื่องมือจำลอง จะจำลองติดลบมากสุดเพียง -1% ตามข้อกำหนดของ กลต. และ คปภ. ทำให้ผู้เอาประกันไม่มีโอกาสได้เห็นความน่ากลัวของพอร์ตที่ติดลบมากกว่านี้ว่าจะเป็นอย่างไรได้บ้าง)
- วิธีนี้จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงของพอร์ตตอนเกษียณให้ต่ำเพียงพอ เพื่อทำให้โอกาสที่จะติดลบน้อยลงหรือติดลบไม่มาก และไม่ควรจำลองผลตอบแทนคงที่ที่สูงตลอดชีพให้กับผู้สมัครทำประกันเพราะจะมีความคลาดเคลื่อนมาก และกว่าจะรู้ว่าคลาดเคลื่อนก็สายไปหลายสิบปีแล้ว
- วิธีนี้ยังลดหย่อนภาษีได้เพียง 25,000 บ. เท่านั้น ในขณะที่มีการเก็บเบี้ยไปหลักแสนและต้องจ่ายคงที่ ซึ่งเมื่อเทียบกับนำไปลงทุนกองทุนรวมลดหย่อนภาษี หากฐานภาษีสูง เงินคืนภาษีที่ได้อาจจะน่าสนใจกว่าการลงทุนในประกันสุขภาพ UDR มาก
- โปรแกรมจากบริษัทจะไม่สามารถคำนวณส่วนที่ผิดแผนจากผลตอบแทนที่คาดการณ์ใหม่ให้ได้ เป็นการคำนวณครั้งเดียวใช้ตลอดไปแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแล้วก็ตาม ทั้งนี้จะสามารถเจาะลึกข้อสังเกตเกี่ยวกับประกัน UDR เพิ่มเติมได้ที่บทความปุ่มด้านล่างนี้
- กองทุนรวมที่เลือกได้มีจำกัด
วิธีที่ 4 : ใช้กองทุนรวมลดหย่อนภาษี แบบ Time-Segmentation
❒ ที่มา :
- วิธีนี้จะเน้นคำนวณเงินที่แนะนำให้ลงทุนใน กองทุน RMF/SSF สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณ และ ได้ลดหย่อนภาษีร่วมด้วย
- เป็นการวางแผนการลงทุนหลังแบบ Time-based Segmentation ที่จะแบ่งเงินเป็น 3 กอง กองที่ต้องใช้ใน 15-16 ปีแรกก็จะความเสี่ยงต่ำ กองที่ต้องใช้ในอีก 15 ปีข้างหน้าก็ความเสี่ยงสูง และกองที่ต้องใช้ในอีก 30 ปีข้างหน้าก็จะความเสี่ยงสูงมาก หรือก็คือปรับความเสี่ยงการลงทุนตามระยะเวลาที่จะใช้เงิน หรือตามโอกาสที่จะอายุยืนถึงได้นั้นเอง
❒ ข้อดี :
- ใช้เงินเตรียมเกษียณสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพที่น้อยลงมาก
- มีความยืดหยุ่นในการลงทุน ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกปี (ขึ้นอยู่กับโปรแกรมคำนวณที่ใช้)
- ได้ลดหย่อนภาษีเพิ่ม และ เงินคืนจากการลดหย่อนภาษีสามารถมาชดเชยในส่วนที่คลาดเคลื่อนจากเป้าหมายการเติบโตของเงินที่ตั้งไว้ได้ (แตกต่างกับการลงทุนใน Unit-Linked)
- แยกระหว่างเบี้ยประกันที่เป็นตารางเบี้ยแบบตายตัว กับการลงทุนที่ไม่การันตีผลตอบแทนออกจากกันอย่างชัดเจน (แตกต่างกับประกันสุขภาพแบบ UDR)
- กองทุนรวมที่เลือกได้มีหลากหลาย (พื้นฐานจะยึดกองแบบ Global Asset Allocation แบ่งเสี่ยงสูง กลาง ต่ำ เป็นหลัก มากกว่าการจัดพอร์ตเอง)
- สามารถเลือกผลตอบแทนการลงทุนแตกต่างกันได้ตั้งแต่ก่อนเกษียณหลังเกษียณ รวมถึงเวลาที่ใช้งานที่แตกต่างกัน (ขึ้นอยู่กับโปรแกรมคำนวณ)
❒ ข้อสังเกตุ :
- ต้องมีโปรแกรมคำนวณว่าควรลงทุนเฉลี่ยปีละเท่าไร ตามอายุที่เริ่ม ตามอายุที่ต้องการเกษียณ
- อายุเริ่มเกษียณจะถูกกำหนดที่อายุ 55 ปี เนื่องจาก RMF เริ่มขายได้ที่อายุ 55 ปี
- จำนวนเป็นต้องลงทุนทุกปี หรือปีเว้นปี เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของ RMF
- ต้องมีโปรแกรมคำนวณในการติดตามผล โดยหากไม่ได้ลงทุนเท่ากันทุกปี
- อัตราการอยู่รอดของกองทุนรวมจะไม่ถึง 100% ตั้งแต่อายุ 70 กว่าปีเป็นต้นไป เนื่องด้วยกองทุนรวมยังมีความผันผวนอยู่ ไม่ได้การันตีผลตอบแทน
ตัวอย่าง การวางแผนการลงทุนกองทุนรวมแบบ Time Segmentation ของเบี้ยประกันสุขภาพอสยุ 55-98 ปี ชายอายุ 29 ปี
ตัวอย่าง การวางแผนการลงทุนกองทุนรวมแบบ Time Segmentation ของเบี้ยประกันสุขภาพอสยุ 61-98 ปี ชายอายุ 32 ปี
วิธีที่ 5 : ใช้กองทุนรวมลดหย่อนภาษีร่วมกับประกันสุขภาพแบบ UDR
❒ ที่มา :
- เนื่องจากประกันสุขภาพแบบ UDR จะได้ค่าประกันภัย COR ที่น้อยกว่าประกันสุขภาพเบี้ยเพิ่มตามอายุโดยทั่วไปประมาณ 10%
- เพียงแต่ติดปัญหาตรงที่ความไม่แน่นอนของพอร์ตการลงทุน ที่อาจทำให้เบี้ยคาดหวังคงที่ที่จ่ายไป (Target Premium) ไม่การันตีว่าจะต่ออายุสัญญาได้ตลอดไป
- ทางแก้ไขคือพยายามเน้นที่พอร์ตความเสี่ยงที่มีค่าความผันผวนต่ำเป็นหลัก และนำ Target Premium +ค่าความคลาดเคลื่อน (ERROR 5%-10%) มาคำนวณสำหรับใช้การลงทุนกองทุนรวมลดหย่อนภาษีภายนอกในการจ่าย Target Premium ตอนเกษียณ
❒ ข้อดี :
- ได้ค่าประกันภัย COR ที่น้อยลงกว่า 10% หรือมากกว่าหากเริ่มทำตอนอายุยังน้อย
- ได้การลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นจากการวางแผนจ่าย Target Premium ตอนเกษียณ ด้วยกองทุนลดหย่อนภาษี
❒ ข้อสังเกตุ :
- จำเป็นต้องมีโปรแกรมคำนวณเงินลงทุนเพื่อจ่ายเบี้ย Target Premium นี้
- ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นมากในตอนแรก ด้วยเบี้ย Target Premium ที่สูง และต้องแยกลงทุนร่วมด้วย (คล้ายกับลงทุนเพิ่มแบบ RTU ในยูนิตลิงก์ แต่แบบนี้ลดหย่อนภาษีได้)
- เงินที่ใช้ลงทุนจะน้อยลงเนื่องจาก Target Premium เป็นแบบคงที่ จึงจะลดหย่อนภาษีได้น้อยกว่า การใช้กองทุนรวมเพื่อจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพแบบเพิ่มตามอายุทั่วไป
- จำเป็นต้องเผื่อ ERROR ของ Target Premium ไว้ด้วย เนื่องจากการเลือกพอร์ตเสี่ยงต่ำใน UDR นั้น อาจจะม่ได้ผลตอบแทนขั้นต่ำที่ทำให้ Target Premium เป็นจริงในทุกปีได้
วิธีที่ 6 : ใช้ประกันบำนาญ
❒ ที่มา :
- จากที่อัตราการอยู่รอดของกองทุนรวมจะไม่ถึง 100% ตั้งแต่อายุ 70 กว่าปีเป็นต้นไป เนื่องด้วยกองทุนรวมมีความผันผวนไม่ได้การันตีผลตอบแทนนั้น ทำให้เป็นจุดอ่อนสำคัญที่เงินอาจหมดก่อนที่จะจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในตอนสูงอายุได้
- ถึงแม้จะมีการคำนวณให้ลงทุนเพิ่ม เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดให้สูงขึ้นได้ แต่อัตราการอยู่รอดก็จะไม่ใช่เป็นการการันตีอยู่ดี
- จึงทำให้ประกันบำนาญที่ทั้งลดหย่อนภาษีได้ (แม้ลดหย่อนได้น้อยกว่า RMF/SSF) และการันตีผลตอบแทนอย่างแน่นอน จึงเหมาะยังยากมากับผู้ที่มีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของกองทุนตอนสูงอายุ
❒ ข้อดี :
- รู้เป้าหมายเงินที่จะจ่ายชัดเจน
- ได้ลดหย่อนภาษีเพิ่มในส่วนประกันบำนาญ
- การันตีผลตอบแทน
- เป็นการบังคับเก็บเงินเท่ากันทุกปีที่มีประสิทธิภาพสูง
❒ ข้อสังเกตุ :
- ใช้เงินเตรียมเกษียณสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพ สูงกว่ากองทุนรวมอย่างมาก เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจะคงที่ทุกปี และอัตราผลตอบแทนแบบการันตีจะไม่สูงมาก
- จำเป็นต้องหาแบบประกันบำนาญที่ให้ผลตอบแทนต่อปีที่สูงที่สุด (IRR) เพื่อลดเงินที่ต้องใช้เตรียมลง
- ประกันบำนาญยังมีความจำเป็นต่อค่าใช้จ่าย NEEDs ตอนเกษียณ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่ ค่าน้ำไฟ เป็นต้น ซึ่งหากเพิ่มบำนาญสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมดเข้าไปด้วย จะทำให้ต้องทำประกันบำนาญด้วยเบี้ยที่สูงมาก
- การทำประกันบำนาญจะมีการแบ่งบำนาญออกเป็น Very NEEDs (จำเป็น 100%) กับ Normal NEEDs (จำเป็นแต่น้อยกว่า 100%) เพื่อที่จะเน้นการจ่ายเบี้ยระยะยาวแต่เบี้ยถูกกับบำนาญ Very NEEDs และจ่ายเบี้ยระยะสั้นแต่สูงกับบำนาญ Normal NEEDS (เมื่อได้ Bonus เพิ่มมา) จึงต้องตัดสินใจให้ได้ว่า เบี้ยประกันสุขภาพเป็น Very NEEDs หรือ Normal NEEDs ในการเลือกประกันบำนาญ
วิธีที่ 7 : ใช้ประกันบำนาญ ร่วมกับกองทุนรวมลดหย่อนภาษี
❒ ที่มา :
- อย่างที่เข้าใจว่าเบี้ยประกันสุขภาพอาจไม่ใช่ Very NEEDs จำเป็น 100% เสมอไป เพราะหากตั้งเป็น Very NEEDs จะต้องเตรียมเงินเพื่อทำประกันบำนาญที่สูงอย่างมาก
- แต่หากมองประกันบำนาญเป็นลักษณะของเพิ่มอัตราการอยู่รอดของกองทุนรวม ก็จะทำให้ไม่จำเป็นต้องทำประกันบำนาญให้ได้รับบำนาญเท่ากับเบี้ยประกันสุขภาพ 100% ทั้งหมด
- โดยอาจทำประกันบำนาญให้ได้เพียง 30% ของเบี้ยประกันสุขภาพเท่านั้น ซึ่ง 30% นี้สามารถที่จะเพิ่มอัตราการอยู่รอดของกองทุนรวมได้สูงขึ้นอย่างมาก
- และถึงแม้จะใช้ทั้งกองทุนรวม และประกันบำนาญ 30% ของเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมด เงินที่ต้องเตรียมเกษียณก็ยังน้อยกว่าใช้ ประกันบำนาญ 100% ของเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมด อย่างมาก
❒ ข้อดี :
- เตรียมเงินเกษียณลดลง เพราะไม่ต้องใช้ประกันบำนาญ 100%
- ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มมากขึ้นจากทั้งฝั่งกองทุนรวมและประกันบำนาญ
- อัตราการอยู่รอดของกองทุนรวมสูงกว่าการไม่มีประกันบำนาญอย่างเห็นได้ชัด และมากกว่าการที่เพิ่มเงินลงทุนที่ต้อให้เพิ่มการลงทุนแต่ผลตอบแทนก็ยังคงไม่ได้รับการันตี
❒ ข้อสังเกตุ :
- จำเป็นต้องมีโปรแกรมที่สามารถคำนวณอัตราการอยู่รอด โดยนำบำนาญจากประกันบำนาญเข้ามาคำนวณร่วมกับกองทุนรวมได้
- มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นการใช้เครื่องมือการเงิน 2 เครื่องมือ ในเป้าหมายเดียวกัน
บทสรุป : ควรเลือกวิธีการใด
❒ ด้วยทั้งหมด 7 วิธีนี้ จะทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาการวางแผนเกษียณส่วนเบี้ยประกันสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มีอัตราความสำเร็จที่สูง เตรียมเงินน้อยลง ลดหย่อนภาษีได้มากที่สุด เป็นต้น
ทั้งนี้ตั้งแต่วิธีที่ 4 เป็นต้นไป จะจำเป็นต้องมีโปรแกรมช่วยคำนวณร่วมด้วยนอกเหนือจากโปรแกรมที่บริษัทประกันมีให้ เพราะเป็นวิธีที่บริษัทประกันจะไม่ได้ประโยชน์ร่วมด้วยมากนัก แต่จะเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้วางแผนเกษียณอย่างมาก
ซึ่งโปรแกรมคำนวณนี้จะสามารถช่วยให้ประหยัดเงินเตรียมเกษียณได้กว่าหลักล้านบาทขึ้นไปได้ไม่ยาก ด้วยเบี้ยประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่สูงมากในปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตามประกันบำนาญแบบที่ให้ผลตอบแทนสูงก็ยังคงมีอยู่ไม่ได้ปิดรับสมัคร และกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการวางแผนเกษียณในครั้งนี้ได้
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"