เมื่อป่วยหรือสงสัยว่าเป็นโควิค 19 แล้วควรต้องทำอย่างไร


เลือกอ่านตามหัวข้อเนื้อหา

ควรทำอย่างไรเมื่อตรวจพบเชื้อ COVID-19

          เมื่อตรวจพบเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจที่ซื้อมาเอง หรือที่เรียกว่า antigen test kit (ATK) สิ่งแรกที่ควรรีบดำเนินการคือ การแยกตัวและรักษาตัวเองในเบื้องต้นทันที ระหว่างหาที่ตรวจ RT-PCR (จำเป็นต้องใช้ผล PCR หากต้องการเคลมประกัน)

ถ้าในบ้านมีสมาชิกหลายคน ให้แยกอยู่คนละห้อง และใช้อุปกรณ์ทุกอย่างแยกกัน หากไม่มีห้องแยก ควรต้องอยู่ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท รวมถึงต้องปฏิบัติดังนี้

ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาหากไม่ได้อยู่คนเดียว
ต้องแยกซักเสื้อผ้าและเครื่องนอนด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก
 ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น และ
แยกขยะใส่ถุงแดงหรือสีอื่น ๆ ที่เด่นชัด โดยมัดปากถุงขยะให้แน่นก่อนทิ้ง

ดังนั้นเมื่อตรวจพบเชื้อโควิด อย่าตกใจ! โดยเฉพาะคนที่ไม่มีโรคประจำตัว เพราะถือว่ายังโชคดีที่ตรวจเจอเชื้อเร็ว และมีโอกาสรักษาให้หาย ดังนั้นขอให้ตั้งสติและมาทำขั้นตอนต่อไปกันเลยค่ะ

การลงทะเบียนเข้าระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation)

          ผู้ป่วยโควิดที่สามารถลงทะเบียนเข้าระบบการรักษาที่บ้านได้ คือ

ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว (อาการเล็กน้อย มีไข้ต่ำหรือมีไข้บางวัน ถ่ายเหลว มีผื่น)
ผู้ป่วยกกลุ่มสีเหลือง (มีไข้ต่อเนื่องหลายวัน ไอเยอะ ไอแล้วเหนื่อย แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย)

พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ญาติหรือผู้ป้วยโควิด ติดต่อ สปสช. 1330 กดต่อ 14 หรือถ้ามีประกันสังคม สายด่วน 1506 กด 6 

และ แอดไลน์หน่วยงานรับเรื่องและดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 2019 พร้อมกับกรอกข้อมูลในระบบ ดังนี้

  • LINE @nhso หรือกด https://page.line.me/nhso พร้อมกับกรอกข้อมูลลงทะเบียนสู่ระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน (Home Isolation) https://crmsup.nhso.go.th/
  • LINE @comcovid-19 (จะมีพยาบาลอาสาคัดกรองอาการก่อน พร้อมประสานไปยังแกนนำชุมชน เพื่อให้ท่านได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนอย่างปลอดภัย)
  • LINE @fammedcocare พร้อมลงทะเบียนรับการรักษาโควิด กรอกข้อมูล
  • LINE @bkkcovid19connect พร้อมกรอกข้อมูลหาสถานพยาบาลสำหรับผู้ป้วยโควิด 2019 กรอกข้อมูล

หลังจากเข้าระบบแล้ว ถ้าต้องการตรวจสอบคลินิก/ศูนย์บริการสาธารณสุข/โรงพยาบาลใดเป็นหน่วยดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลงทะเบียนเข้าสู่การดูแลที่บ้าน (Home Isolation) แล้ว กดที่นี่

ในพื้นที่ต่างจังหวัด 

ควรลงทะเบียนของสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ เพื่อความรวดเร็ว เช่น จ.ฉะเชิงเทราจะมีระบบให้ลงทะเบียน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะติดต่อมาภายในวันนั้นทันทีเพื่อขอข้อมูลและส่งข้อมูลต่อไปยังโรงพยาบาลในจังหวัด วันถัดไป อบต/ผู้ใหญ่บ้านและพยาบาลจะจัดยาและอาหารมาให้ที่บ้าน พร้อมอธิบายวิธีการกินยาและดูแลตัวเอง

ผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ต่างจังหวัดจะได้รับการดูแลช่วยเหลือได้เร็วกว่าผู้ป่วยในพื้นที่ กทมและปริมณฑล ดังนั้นเข้า facebook เพจของสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลจังหวัด และเพจประชาสัมพันธ์ของจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งจะมีข้อมูลการติดต่อช่วยเหลือแจ้งไว้ค่ะ

การลงทะเบียนกลับภูมิลำเนา

กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ต้องการกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา

สามารถติดต่อลงทะเบียนผ่านทาง
สายด่วน โทร 1330 กด 15
https://crmdci.nhso.go.th

โดยจะใช้เวลาประสานโรงพยาบาลปลายทางภายใน 3 วัน พร้อมจัดพาหนะรับส่งทั้งรถบัส รถทัวร์ รถไฟ และเครื่องบิน ส่วนการนำส่งกลับภูมิลำเนาตรงนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

เงื่อนไขของผู้ป่วยโควิดที่จะเดินทางกลับไปรักษาตามภูมิลำเนาของตนดังนี้
ผู้ติดเชื้อจะต้องไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) โดยผู้ป่วยต้องมีอาการคงที่
สามารถเดินทางได้
จังหวัดปลายทางยินยอมรับกลับ ตามมติของคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด

ติดเชื้อโควิดแล้ว กินยารักษาตัวเองอย่างไร?

          เมื่อตรวจพบเชื้อ COVID-19 ผู้ป่วยสามารถกินยารักษาตัวเองได้ทันทีด้วยยา 2 ชนิด ดังนี้

ยาฟ้าทะลายโจร 
NAC (N-Acetyl Cysteine หรือแนค)

ยาฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรมีสารออกฤทธ์ "แอนโดรกราโฟไลด์" (Andrographolide) เป็นตัวช่วยยับยั้งเชื้อโควิด ไม่ให้เจาะเข้าสู่เซลล์ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง

ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ที่ต้องการเพื่อต่อสู้กับเชื้อโควิดคือ วันละ 240 มิลลกรัม

ยาฟ้าทะลายโจร 1 เม็ดจะมีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 15-20 มิลลิกรัม หากต้องการทราบปริมาณของสารดังกล่าว สามารถดูได้จากสลากข้างกล่อง ดังนั้น

กินครั้งละ 4 เม็ด ทั้งหมด 4 ครั้ง/วัน (เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน) 
ถ้า 1 เม็ดมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 15 มิลลิกรัม

กินครั้งละ 3 เม็ด ทั้งหมด 4 ครั้ง/วัน (เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน)
ถ้า 1 เม็ดมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 20 มิลลิกรัม

ผู้ป่วยโควิดไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 5 วัน เมื่อกินครบแล้วควรตรวจหาเชื้ออีกครั้ง หรือควรหยุดยาทันทีเมื่อได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) จำนวน 50 เม็ด

แนค หรือ NAC (N-Acetyl Cysteine)

มีฤทธิ์ละลายเสมหะ ทำให้มูกเหลวตัว ร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ฤทธิ์ละลายเสมหะของ NAC นั้น ออกฤทธิ์ทั้งเสมหะที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ และ NAC ยังช่วยลดการเกาะติดของเชื้อแบคทีเรียกับเซลล์เยื่อบุชั้นผิวของทางเดินหายใจ (bacterial adhesion) ด้วย

NAC เพิ่มการทำงานของขนกวัดของเยื่อบุทางเดินหายใจในการกำจัดเสมหะ และกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร และปอด (gastro-pulmonary vagal reflex) ช่วยให้ขับเสมหะออกจากหลอดลม และปอดได้มากขึ้น (https://si.mahidol.ac.th/)

นอกจากช่วยละลายเสมหะ NAC ยังมีกลูต้าไธโอน ช่วยสารต้านนอนุมูลอิสระ ป้องกันความรุนแรงของการเป็นปอดอักเสบ และลดภาวะการเป็นพิษต่อตับจากการกินฟ้าทะลายโจรในปริมาณมาก ๆ

ปริมาณที่ควรกินเพื่อป้องกันความรุนแรงของการเป็นปอดอักเสบ คือ 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน

❖ โดยปกติ NAC ที่หาซื้อได้ทั่วไปมีปริมาณ 600 มิลลิกรัมต่อเม็ด ดังนั้น ควรแบ่งทาน 2 เม็ดหลังมื้อเช้า และอีก 2 เม็ดหลังมื้อเย็น

สมุนไพร อาหารเสริมและอุปกรณ์จำเป็น

สมุนไพรที่ควรมีติดบ้านในช่วงที่ป่วย COVID-19

ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย หอมแดง กระเทียม มะกรูด มะนาว โดยอาจขอให้คนรู้จัก/ญาติพี่น้อง หรือคนในครอบครัว ช่วยหาซื้อสมุนไพรเหล่านี้ให้ให้ แต่ถ้ามีสมุนไพรที่บ้านอยู่แล้วยิ่งดี ก็สามารถใช้ได้เลยค่ะ

อาหารเสริมบำรุง (ถ้าเตรียมหาได้)

วิตามินรวมแบบเม็ด เช่น Blackmore หรือ Centrum และ/หรือ
วิตามิน B รวมเม็ดฟู่ที่มีวิตามิน C 500 เช่น Berocca หรือ
วิตามิน C ยี่ห้อใดก็ได้ (เพราะช่วยในเรื่องภูมิต้านทานร่างกาย ผู้ที่ป่วยโควิดควรทานวิตามินซี 2,000 มิลลิกรัมหรือมากกว่านั้น)

ยาอื่น ๆ และอุปกรณ์จำเป็น

 เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (ซื้อได้ที่ร้านยา) เช่น ยี่ห้อที่ได้มาตรฐาน Yuwell, Jumper, Contec, Microlife, Beurer
ปรอทวัดไข้ (ซื้อได้ที่ร้านยา)
ยาแก้ไอ (กินเมื่อไอ)
 สเปรย์พ่นฆ่าเชื้อในคอ (ถ้าไอ) เช่น โพรโพลิซ, คามิลโลซาน
 เกลือแร่ (ชงดื่มถ้าลิ้นไม่รับรส เบื่ออาหาร)
ที่วัดความดัน (ถ้าโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง)

*ถ้าหาซื้อได้ไม่ครบ อย่างน้อยควรต้องมี ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจน ค่ะ

ส่วนใครที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะหาซื้อของพวกนี้เตรียมไว้ติดบ้านก่อนก็ได้ค่ะ โดยเฉพาะเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพราะถ้าซื้อออนไลน์จากร้านที่น่าเชื่อถือจะได้ราคาที่ถูกลงมากค่ะ

ควรท่องไว้เสมอว่า ยิ่งรีบรักษาตัวเองเบื้องต้นได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอดได้

การติดตามอาการและดูแลตนเองในแต่ละวัน

          สิ่งสำคัญของการป้องกันไม่ให้เชื้อโควิดลงปอด คือการตรวจพบเชื้อให้เร็วที่สุด ดังนั้นถ้าเริ่มมีอาการผิดปกติกับตนเอง (โดยเฉพาะเมื่อได้มีการใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมาก่อน) เช่น คัดจมูก ไอ มีไข้ จมูกไม่รับกลิ่น เบื่ออาการ ลิ้นไม่รับรส ฯลฯ ควรรีบตรวจหาเชื้อโควิด 

คนที่ติดเชื้อโควิดและไม่แสดงอาการ คือ บุคคลอันตรายที่จะแพร่เชื้อต่อ และอาจเสี่ยงเชื้อลงปอดโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นช่วงที่มีการระบาดของโควิด 2019 เราเองไม่รู้ว่าติดเชื้อแล้วหรือไม่ จึงควรงดการดื่มน้ำเย็น และพยายามจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ เมื่อรู้สึกระคายคอ เพื่อป้องกันไวรัสลงปอดค่ะ

วิธีปฏิบัติดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเชื้อโควิดลงปอด

กินยาฟ้าทะลายโจร 4 เม็ด/ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น ก่อนนอน) ตั้งแต่วันแรกที่ตรวจพบเชื้อโควิด

ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

ดื่มน้ำอุ่น (น้ำอุ่นเกือบร้อนยิ่งดีค่ะ เพื่อให้เชื้อลงกระเพาะและเมื่อเจอกรดในกะเพาะเชื้อก็จะตาย) แนะนำให้จิบน้ำขิง น้ำมะนาว น้ำอุ่น สลับกันวนไปค่ะ

งดดื่มน้ำเย็น เครื่องดื่มรสหวาน ขนมหวานทุกชนิด

ต้มสมุนไพรและสูดไอน้ำเบา ๆ เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ทุกเช้าและเย็น (ถ้ามีเวลา)

พยายามไอให้น้อยที่สุด และพ่นยาที่คอเพื่อฆ่าเชื้อ (เช่น โพรโพลิซ, คามิลโลซาน) หรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ถ้ามี)

นอนหลับพักผ่อนให้เยอะที่สุด เพื่อให้ร่างกายมีภูมิซ่อมแซมตัวเอง

ทานอาหารเสริม เช่น วิตามิน C หรือวิตามินรวมยิ่งดีเพราะมี Zinc และวิตามิน D3 ด้วย

ออกมารับแสงแดดสาย ๆ ทุกวัน

นั่งสมาธิ ควบคุมอารมณ์ไม่ให้แปรปวนและอย่าเครียด กำลังใจจากตัวเองสำคัญที่สุด

ข้อควรระวัง: ไม่ควรดื่มน้ำกระชายพร้อมกับยาฟ้าทะลายโจร เพราะกระชายมีฤทธิ์ร้อน ส่วนฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เย็น มันจะไปหักล้างกันค่ะ

เจ้าหน้าที่จะนัด X-Ray ปอด 2-3 ครั้งในระหว่างที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสนามรวมถึง Hospitel ด้วยค่ะ

วิธีติดตามอาการตนเองเพื่อรายงานแพทย์ดูแล

เมื่อเข้าระบบการรักษาตัวเองที่บ้าน หรือ Home Isolation จะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามอาการและแจ้งเตือนวันนัด X-Ray ปอด รวมถึงส่งอาหารและน้ำดื่มวันละ 3 มื้อเป็นเวลา 14 วัน

ข้อมูลที่ต้องแจ้งเพื่อประเมินสุขภาพรายวัน

การแจ้งข้อมูลสุขภาพเพื่อการประเมินรายวันของแพทย์ อาจจะแจ้งผ่านระบบข้อมูลออนไลน์ หรือแจ้งผ่าน LINE ขึ้นอยู่กับระบบงานของหน่วยงานที่ลงทะเบียนด้วย 

1. แจ้งอาการปัจจุบัน ดังนี้ (หากไม่มีอาการใด ๆ ให้แจ้งไปว่า "ไม่มีอาการ")

 มีไข้ (อุณหภูมิ 37.5 ขึ้นไป)
 ไอ เจ็บคอ
 มีเสมหะ
 น้ำมูกไหล
 หายใจเร็ว หรือหายใจลำบาก หรือหายใจไม่สะดวก
 จมูกไม่ได้กลิ่น
รับรสชาติไม่ได้

2. แจ้งค่าออกซิเจนและอัตราการเต้นของหัวใจ

โดยใช้เครื่องวัดออกซิเจนหนีบที่ปลายนิ้ว (นิ้วไหนก็ได้ แต่แนะนำนิ้วชี้ค่ะ) จากนั้นวางมือบนโต๊ะหรือบนตักนิ่ง ๆ ประมาณ 30 วินาที แล้วอ่านค่าตัวเลขที่ปรากฏบนจอ ซึ่งจะมีทั้งค่าออกซิเจนและอัตราการหายใจ

ค่าออกซิเจนในเลือด 

ตัวนี้จะเป็นตัวประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดของเราว่ายังโอเคหรือไม่ ตัวเลขปกติควรอยู่ที่ประมาณ 97-100% ถ้าต่ำถึง 94% หรือต่ำกว่านี้ ให้เฝ้าระวังทันที เพราะมีแนวโน้มที่โควิดจะลงปอดแล้ว ซึ่งขณะพักอยู่ที่บ้านจะมีเจ้าหน้าที่และคุณหมอคอยมอนิเตอร์ผ่านการแจ้งบันทึกสุขภาพของเราตลอดเวลา ถ้าอาการแย่ลงจะมีรถโรงพยาบาลไปรับและนำส่งโรงพยาบาลทันที

96-100% = ปกติ
90-95% = ค่อนข้างต่ำ ควรเฝ้าระวังและติดตามวัดค่าออกซิเจนถี่ขึ้น
ต่ำกว่า 90% ควรรีบพบแพทย์

ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ 

โดยปกติหัวใจจะเต้นด้วยอัตรา 60 – 100 ครั้ง / นาที หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้อาจมีความเสี่ยงจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดังนั้นระหว่างรักษาตัวเองจากโควิด ไม่ควรเครียด และควรพักผ่อนให้เพียงพอค่ะ

3. ค่าอุณหภูมิ

 ค่าปกติจะอยู่ที่ 35.5 – 37.5 องศาฯ

รู้ได้อย่างไรว่าเชื้อลงปอด และควรต้องทำอย่างไร?

          เมื่อตรวจพบเชื้อลงปอด (จากการ X-Ray) หน่วยงานที่ดูแลจะจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ + ยาฆ่าเชื้อไวรัส + ยาพื้นฐานตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ เป็นต้น และอาจจะต้องย้ายไปรับการดูแลที่ รพ.สนามหรือโรงพยาบาลค่ะ

เพราะบางเคสที่เชื้อลงปอดเยอะ อาจต้องมีการฉีดยาสเตียรอยด์ร่วมด้วย โดยจะฉีดทุกวัน ๆ ละ 2 รอบค่ะ

ทั้งนี้หากผู้ป่วยอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัว ถึงแม้อาการไม่มาก (สีเขียว) ทางหน่วยงานดูแลจะจัดยาฟาวิพิราเวียร์ให้ในวันที่  3 ของการรักษาที่บ้านเลย เพื่อป้องกันเชื้อลงปอด (ดักไว้เลย)

ดังนั้นหลังจาก X-Ray ปอด 1 วัน หากไม่มีหน่วยงานนำยาฝาวิพิราเวียร์และยาฆ่าเชื้อไวรัสมาให้ที่บ้าน ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ แสดงว่าปอดปกติ หรือไม่มีเชื้อลงปอดนั่นเองค่ะ

ข้อสังเกตเมื่อเชื้อลงปอด

 เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีไข้ ไอ หอบ เหนื่อยรุนแรง 
ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 96%

หากค่าออกซิเจนอยู่ที่ 96% พอดี ให้ลองออกกำลังกายท่านอนปั่นจักรยานอากาศ 3 นาที โดยวัดค่าออกซิเจนก่อนและหลังทำ จากนั้นถ้าค่าออกซิเจนลดลงไม่เกิน 3% หรือค่าประมาณ 95-93% ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดี

แต่ถ้าค่าออกซิเจนลดลงเกิน 3% หรือต่ำกว่า 93% มีความเสี่ยงว่าเชื้อไวรัสลงปอด

สิ่งที่ต้องทำเมื่อเชื้อลงปอด

แจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อรับ Home Oxygen หรือหากใช้เครื่องออกซิเจนที่บ้านแล้วยังหายใจหอบเหนื่อย อาจเข้าสู่เกณฑ์ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงและแดงเข้ม คสรรีบแจ้งแพทย์ผู้ดูแลเพื่อเตรียมการรักษาตัวในโรงพยาบาล

ปรับรูปแบบการกินยาเพื่อลดการอักเสบของปอด (แพทย์จะเป็นผู้กำหนดการปรับยากิน)

ทำการนอนคว่ำ นอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา และนั่งเอนหลัง 30-60 องศา เพื่อช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น

ทำวิธีสุมโปงสมุนไพร โดยนำขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง รวมใส่ในกะละมังแล้วเติมน้ำร้อน จากนั้นนำผ้าขนหนูหรือผ้าขาวบางมาคลุมแล้วสูดไอระเหยเข้าปอด (วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นการรับกลิ่นให้ดีขึ้นด้วยค่ะ)

ทานยาฟาวิพิราเวียร์ (50 เม็ด)

ขนาดยาที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่รับประทาน

วันที่ 1 ทานครั้งละ 9 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง โดยปกติหน่วยงานดูแลจะนำยาฟาวิฯ มาให้ช่วงเช้า ก็สามารถเริ่มทานเวลา 8.00 น และทานอีกรอบคือเวลา 20.00 น.

วันที่ 2-5 ลดเหลือครั้งละ 4 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง ทานจนยาหมด

รวมปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ทั้งหมด 50 เม็ด ระยะเวลาในการรักษาอยู่ที่ 5-10 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ตับอักเสบ เป็นต้น

การทานยาฟาวิพิราเวียร์

หมายเหตุ: เมื่อได้รับยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว เจ้าหน้าที่จะให้หยุดกินยาฟ้าทะลายโจรทันที เพราะกังวลเรื่องผลกระทบที่มีต่อตับ แต่ทั้งนี้หากลดปริมาณยาฟ้าทะลายโจรลงจาก 4 เม็ดต่อครั้ง เหลือ 2 เม็ดครั้ง ทานช่วง 12.00 น. และ 17.00 น. ก็ได้ค่ะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ป่วยแต่ละราย

สิ่งที่ควรรู้และปฏิบัติเมื่อป่วย COVID

การติดตามนับระยะการติดเชื้อโควิด

          เมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงหรืออยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อโควิด ให้รีบกักตัวเอง 14 วัน หากผลสุดท้ายตรวจพบเชื้อโควิด การติดตามนับระยะติดเชื้อมีดังนี้

หากมีอาการก่อนตรวจพบเชื้อ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีอาการเป็น Day 0
หากไม่มีอาการก่อนตรวจพบเชื้อ ให้เริ่มนับวันที่ตรวจพบเชื้อเป็น Day 0

วิธีสังเกตอาการติดเชื้อโควิดว่ารุนแรงหรือไม่

ในช่วง Day 0-7 หากไม่มีอาการรุนแรง มักจะดีขึ้นและหายดี หรือเรียกว่าช่วงขาลง Day 7-10 

อาการที่รุนแรงอย่างปอดอักเสบมักจะเกิดขึ้นใน Day 7 (สังเกตได้จากออกซิเจนลดต่ำและมีอาการเหนื่อยมาก เพลียมาก)

 หากเริ่มมีอาการหอบเหนื่อยตั้งแต่ Day 4-5 เป็นไปได้ว่าอาจติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ที่ทำให้ปอดอักเสบได้เร็วขึ้น

Checklist อาการรุนแรงที่ต้องแจ้งแพทย์ผู้ดูแล

มีไข้สูงต่อเนื่อง 5-6 วัน 

ไอมากตลอดทั้งวัน จนรู้สึกแน่นหน้าอก

รู้สึกเหนื่อย หายใจติดขัด แน่นหน้าอก

อ่อนเพลียจนกินข้าวไม่ได้

การทำ Home Isolation รวมกับคนในบ้าน

ผู้ป่วยโควิดสามารถอยู่ในบ้านหลังเดียวกันได้ แต่จำเป็นต้องแยกห้องกับคนอื่น ๆ และแยกใช้อุปกรณ์ (หากผู้ป่วยต้องการเดินออกมารับแสง ควรต้องใส่หน้ากากด้วย)

ห้องที่ผู้ป่วยพักอยู่ควรมีหน้าต่างที่สามารถเปิดระบายอากาศได้

 หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกับคนในบ้าน ผู้ป่วยโควิดควรใช้เป็นคนสุดท้าย และล้างทำความสะอาดด้วยสารฟอกขาวทุกครั้งหลังใช้

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • Ruchira Taboonruang

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก