วิธีการรับเงินบำนาญนั้นไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด สิ่งที่ควรคำนึงด้วย คือ อายุที่มากขึ้นอาจส่งผลต่อการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุน เพื่อนำมาใช้เป็นเงินบำนาญ (ซึ่งมักจะไม่ได้อัตโนมัติเหมือนประกันบำนาญ)
ทำให้แนวทางการรับเงินบำนาญ จึงต้องเริ่มตั้งแต่ วิธีการเลือกใช้เครื่องมือการเงิน รวมถึงความเข้าใจถึงธรรมชาติของจำนวนเงินที่จะใช้เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจนกระทั่งเมื่อรวมกับเงินเฟ้อแล้ว กลายเป็นว่าจำนวนบำนาญที่ได้รับสามารถเท่ากันทุกปีได้
ดังนั้นก่อนตัดสินใจว่าจะรับเงินบำนาญด้วยวิธีใด จึงจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการใช้เงิน และข้อดี ข้อจำกัดของเครื่องมือการเงินต่าง ๆ
แนวทางการรับบำนาญจากกองทุนรวม
บำนาญสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ
Needs : จำเป็น ยืดหยุ่นได้ยาก เหมาะกับ ใช้ประกันบำนาญที่ต้องการความแน่นอน
Wants : เพิ่มความสะดวกสบาย ยืดหยุ่นได้ง่าย รวมเงินเฟ้อที่ไม่แน่นอน เหมาะกับ ใช้กองทุนรวมที่มีความผันผวน
เมื่อแบ่งตามนี้ จะเห็นได้ว่าคำถามที่ตามมาคือ ควรเลือกประกันบำนาญแบบใด และ ควรนำเงินออกจากกองทุนรวมมาเป็นบำนาญอย่างไร
ซึ่งในบทความนี้จะเน้นบำนาญจากกองทุนรวมเป็นหลัก เพราะอัตราการอยู่รอด (อัตราความสำเร็จ) ของกองทุนรวมจะลดลงเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น (เช่น อายุ 90 ปี อัตราการอยู่รอดของกองทุนอาจน้อยกว่า 50% ได้)
ทำให้แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอัตราการอยู่รอด คือ การเผื่อเงินมากขึ้นจากที่คำนวณในตอนแรก เช่น จากรูปด้านล่าง (แผนเกษียณส่วนเบี้ยประกันสุขภาพ) จะแนะนำให้มีเงินก้อนเมื่อตอนเกษียณที่ 2,649,055 บ. ซึ่งถ้าต้องการอัตราการอยู่รอดมากขึ้น จะต้องเผื่อเงินมากขึ้นจากเดิมเป็น 3,229,420 บ. (ที่ค่าเบี้ยประกันสุขภาพเท่าเดิม)
ดังนั้นหากพิจารณาในทางกลับกัน ถ้าต้องการให้อัตราการอยู่รอดของกองทุนมากขึ้น อีกทางคือ ต้องลดบำนาญที่จะใช้ลง เช่น จากที่คำนวณว่าจะใช้ บำนาญปีละ 120,000 บ. ในตอนใช้จริงอาจปรับให้เหลือปีละ 90,000 บ. แทนนั่นเอง
นอกจากนี้ วิธีการปรับจำนวนเงินบำนาญขึ้นลงตามสถานการณ์ตลาด หรือ รับบำนาญไม่เท่ากันทุกปีนั้น ยังช่วยให้แม้อัตราการอยู่รอดของกองทุนรวมเพียง 50% แต่ก็ยังสามารถอยู่รอดได้ถึงอายุที่กำหนดได้ ดังตัวอย่างกราฟด้านล่างนี้
จากกราฟจะเป็นมูลค่าพอร์ตกองทุนตามอัตราการอยู่รอดแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ 20% 50% 70% และ 95% ซึ่งแต่ละปีในทุกพอร์ตจะมีการให้เงินบำนาญที่แตกต่างกันไปในทุกปี เพื่อที่แต่ละพอร์ตจะยังสามารถคงอัตราความอยู่รอดของพอร์ตตนเองไว้เท่าเดิมได้
ซึ่งแน่นอนว่า พอร์ตที่มีอัตราความอยู่รอดสูง ก็จะยิ่งมีมูลค่าของพอร์ตที่มากขึ้นและมีโอกาสได้รับเงินบำนาญมากขึ้น ตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับขึ้นลงของบำนาญตามสภาวะตลาดนั้น จะเหมาะกับเฉพาะแผนเกษียณที่มีประกันบำนาญรองรับค่าใช้จ่าย Needs อยู่เรียบร้อยแล้ว และการปรับลดบำนาญส่วน Wants ลงบางปีจะไม่ได้ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตมากนัก
แต่ต้องยอมรับว่า การคำนวณบำนาญที่จะได้รับจากกองทุนใหม่ทุกปี เป็นปัญหาใหญ่ของวิธีนี้และไม่เหมาะสมกับตอนอายุเกษียณจริง ๆ ที่ควรปรับให้เป็นอัตโนมัติ ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการตัดสินใจเมื่อสูงอายุ
จึงทำให้แนวทางการรับบำนาญจากกองทุนรวม (ส่วน Wants กับ เงินเฟ้อ) ปัจจุบันจึงแบ่งออกเป็น 2 แนวทางดังต่อไปนี้
1. การรับบำนาญจากกองทุนรวมแบบคงที่ทุกปี
วิธีการนี้จะเน้นใช้ประกัน Unit-Linked ที่สามารถสั่งขายกองทุนออกมาเป็นบำนาญเท่ากันทุกเดือนได้โดยอัตโนมัติ โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางย่อยดังต่อไปนี้
(ในอนาคตแอพของ บล. หรือ บลจ. อาจสามารถตั้งขายกองทุนอัตโนมัติได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Unit-Linked)
1.1 วางแผนเกษียณโดยไม่ได้คำนวณเผื่อเงินเฟ้อ
วิธีการนี้ในแผนเกษียณจะยึดหลักการของ Retirement Spending Smile เป็นหลัก จึงจะไม่เน้นเผื่อเงินเฟ้อไว้ในแผนการคำนวณ
จึงทำให้จะได้บำนาญออกมาคงที่เท่ากันทุกปีอย่างแน่นอน ทั้งในส่วนประกันบำนาญ ( ประกันบำนาญที่รับบำนาญคงที่ จะได้ผลตอบแทน IRR ต่อปี ที่สูงกว่า ประกันบำนาญแบบทยอยเพิ่มขึ้นทุกปีหรือทุก 5 ปี)
และในส่วนกองทุนรวม สามารถเน้นย่อยกองทุนรวม RMF ไปอยู่ในประกันควบการลงทุน Unit-Linked พอร์ตการลงทุนเสี่ยงต่่ำ แบบจ่ายเบี้ยครั้งเดียว (หากไม่เคยมีประกัน Unit-Linked มาก่อน)
จากนั้นจึงกำหนดให้ประกัน Unit-Linked ขายกองทุนออกมาเป็นบำนาญเท่ากันทุกเดือน ตามที่วางแผนไว้ และที่สำคัญวิธีรับบำนาญแบบนี้ จะทำการออมเงินบำนาญประมาณ 10%-20% ของบำนาญที่ได้รับเสมอ ซึ่งเงินที่ออมนี้จะไว้เผื่อเงินเฟ้อในอนาคตนั่นเอง
ทั้งนี้คุณสมบัติพิเศษของ Unit-Linked คือ เมื่อพอร์ตกองทุนใกล้จะหมด มีการแจ้งเตือนให้เติมเงินเข้าพอร์ต ซึ่งจังหวะการแจ้งเตือนนี้เอง ที่จะทำการย้ายเงินจากพอร์ตกองทุนรวมภายนอก (หรือ พอร์ตช่วงที่ 2 ของแผนเกษียณแบบ Time Segmentation) มาไว้ใน Unit-Linked เพื่อทำการตัดจ่ายบำนาญอัตโนมัติต่อไป
แนวทางวิธีนี้จึงมีความเป็นอัตโนมัติค่อนข้างสูงมาก และคาดหวังว่าเงินออมจากบำนาญ จะเพียงพอต่อเงินเฟ้อในอนาคตได้
1.2 วางแผนเกษียณโดยคำนวณเผื่อเงินเฟ้อ
แนวทางนี้จะคล้ายกับแนวทางข้อ 1.1 เพียงแต่จุดแตกต่างหลักจะอยู่ที่ ในวางตอนวางแผนเกษียณ จะมีการกำหนดให้บำนาญที่ได้มีการเพิ่มตามเงินเฟ้อที่กำหนด และเพิ่มทุกกี่ปีไว้ด้วย
โดยยังคงให้ Unit-Linked จ่ายบำนาญออกมาเท่ากันทุกเดือนเหมือนกับข้อ 1.1 เพียงแต่บำนาญที่ได้ จะไม่มีการบังคับให้ต้องออมเงินร่วมด้วย เนื่องจากในพอร์ตกองทุนที่วางแผนไว้ จะมีการเตรียมเงินสำหรับเงินเฟ้อไว้ในพอร์ตด้วยแล้วนั่นเอง
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเตรียมเงินมากกว่าข้อ 1.1 อย่างแน่นอน แต่ก็ช่วยให้สามารถใช้บำนาญได้อย่างสบายใจมากขึ้นได้ และถ้าในอนาคต (โดยเฉพาะอายุเกษียณช่วงที่ 2) บำนาญเกิดไม่พอใช้จ่ายจริง ๆ ก็จะสามารถสั่งให้ Unit-Linked ตัดจ่ายบำนาญที่เพิ่มขึ้นได้
โดยไม่ต้องกังวลว่าจะลดอัตราการอยู่รอดของกองทุนลงไปมาก เพราะว่าการเกษียณช่วงแรก ได้ใช้บำนาญน้อยกว่าที่วางแผนไว้มานานกว่า 10-15 ปี แล้วนั่นเอง
จากตารางวางแผนบำนาญ หากเกษียณตอนอายุ 55 ปี ก็จะเน้นรับบำนาญที่ปีละ 1,229,874 บ. เท่านั้น (ทั้งจากประกันบำนาญและกองทุนรวม) โดยจะไม่รับเพิ่มมากกว่านี้ และทำให้เหลือเงินในพอร์ตกองทุนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับกับเงินเฟ้อในอนาคตอีกกว่า 10 ปี ได้ หากสุดท้ายการใช้เงินจริง ๆ ไม่ได้เป็นตามหลักการ Retirement Spending Smile
2. การรับบำนาญจากกองทุนรวมแบบเพิ่มขึ้นทุกปี
แนวทางนี้จะคล้ายกับแนวทางข้อ 1.2 เพียงแต่ จะไม่ใช้ประกัน Unit-Linked เป็นเครื่องมือตัดจ่ายบำนาญจากกองทุนให้อัตโนมัติในทุกเดือน
แต่จะเน้นขายกองทุนออกมาเป็นบำนาญเอง ทั้งในรูปแบบรายเดือน หรือรายปี ตามตารางที่ได้วางแผนไว้ในตอนเกษียณ
จึงเป็นวิธีที่จิตใจต้องเข้มแข็งอย่างมาก และมีความเสี่ยงที่อาจห้ามใจตนเองไม่ได้ จากเงินก้อนใหญ่ในพอร์ตเกษียณ แต่ก็เป็นวิธีที่มีโอกาสได้เช็คพอร์ตเกษียณบ่อยครั้ง และอาจมีการบริหารที่น่าสนใจมากขึ้นได้
สรุปควรเลือกแบบใดดีกว่ากัน
การวางแผนเกษียณในปัจจุบัน จะไม่ได้มองเพียงว่าจะลงทุนอย่างไร แต่การหาทางถอนเงินออกมาใช้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก
ซึ่งวิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดในการรับบำนาญตอนเกษียณ ก็คือจะเหมือนกับของข้าราชการ ที่ทยอยจ่ายบำนาญออกมาเป็นเงินก้อนเล็กทีละเดือน ซึ่งเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ช่วยตีกรอบความอยากความต้องการลงได้ นอกเหนือจากสภาพร่างกายที่ตีกรอบมากขึ้นตามอายุ
ดังนั้นการเลือกใช้แนวทางเครื่องมืออัตโนมัติทั้งจาก ประกันบำนาญ และ ประกัน Unit-Linked และลึมไปเลยว่ามีพอร์ตเกษียณเงินก้อนใหญ่อยู่ จึงเป็นหนึ่งแนวทางที่ทำให้การวางแผนเกษียณมีโอกาสสำเร็จได้มากที่สุด
โดยการจะเลือกแนวทางข้อ 1.1 หรือ 1.2 นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับกำลังเงิน และวินัยการออมระหว่างก่อนเกษียณกับหลังเกษียณ ถ้าหากมั่นใจวินัยการออมหลังเกษียณมากกว่าข้อ 1.1 จะน่าสนใจ แต่ถ้าหากอยากใช้บำนาญอย่างสบายใจ และก่อนเกษียณมีกำลังมากพอ แนวทางข้อ 1.2 ก็จะน่าสนใจมากขึ้น
นอกเหนือจากการเลือกแนวทางการรับบำนาญแล้ว การพิจารณาลงลึกถึงวิธีการประยุกต์ใช้เครื่องมือการเงินร่วมกันในถอนเงินบำนาญมาใช้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันดังนี้
- แนวทางข้อ 1.1 หากตัดการออมออก จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้พอร์ตกองทุนช่วยประกันบำนาญจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพโดยอัตโนมัติได้ ผ่านการกำหนดว่าให้เบี้ยประกันหักเงินจากบัญชีอัตโนมัติ และกำหนดว่าเงินบำนาญที่ได้รับจากทั้งประกันบำนาญและกองทุนรวม ให้เข้าบัญชีอัตโนมัตินี้
- ทำให้บัญชีจ่ายเบี้ยสุขภาพอัตโนมัตินี้ ควรแยกกับบัญชีบำนาญที่ไว้ใช้จ่ายอย่างชัดเจน และอาจต้องทำประกัน Unit-Linked และ ประกันบำนาญอย่างละ 2 ฉบับ เพื่อสามารถแยกบัญชีรับเงินที่ไว้จ่ายเบี้ย กับ ไว้ใช้จ่ายได้อย่างชัดเจน
- ประกันบำนาญ มักจะเป็นแบบจ่ายบำนาญรายปี ซึ่งมีข้อเสียสำคัญที่ทำให้เงินบำนาญปีนั้นอาจเผลอใช้หมดไปตั้งแต่ต้นปีได้ ซึ่งแนวทางแก้ไขมีทั้งทำประกันบำนาญ 12 ฉบับ 12 เดือน เพื่อให้ได้รับบำนาญจากประกันบำบาญในทุกเดือน หรือ มีการแยกบัญชีเงินบำนาญจากประกัน กับบัญชีเงินบำนาญไว้ใช้จ่ายอย่างชัดเจน โดยบัญชีเงินบำนาญจากประกัน จะทำการตั้งโอนไปยังบัญชีเงินบำนาญไว้ใช้จ่าย ทุกเดือนโดยอัตโนมัติ
- ประกัน Unit-Linked มีข้อจำกัดในเงื่อนไขที่ว่า จำเป็นต้องมีทุนชีวิตขั้นต่ำด้วยเสมอ ซึ่งทำให้ต้องมีการจ่ายค่าประกันภัยส่วนทุนชีวิตนี้ในทุกปี ทำให้การเผื่อเงินแบบข้อ 1.2 ยังช่วยจ่ายค่าส่วนนี้ได้ด้วย นอกจากนี้การเติมเงินเข้าในพอร์ตการลงทุนของ Unit-Linked จะมีการจำกัด คือ ต้องไม่เกิน 10 เท่าของเบี้ยประกันภัยชำระครั้งเดียว (หากเป็นประกัน Unit-Linked แบบชำระเบี้ยครั้งเดียว) และ ต้องไม่เกิน 120 ล้านบาทต่อปี
การวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง
เริ่มขึ้น..เมื่อ
เข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือทางการเงิน