ทำประกันชีวิตควรแถลงสุขภาพอย่างไร

เมื่อทำประกันชีวิตเลย 2 ปี ประกันชีวิตจะให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี ไม่ว่าตอนสมัครจะเลือกแถลงสุขภาพแบบใด (เว้นแต่จะขาดชำระเบี้ยแล้วกลับมาขอต่ออายุใหม่ จะเริ่มนับ 2 ปีใหม่อีกครั้ง)

เงื่อนไข : การไม่โต้แย้งความไม่สมบูรณ์ของสัญญาเมื่อสัญญามีผลบังคับ 2 ปีขึ้นไป

(นับจากวันที่กรมธรรม์อนุมัติ หรือ วันที่กลับมาต่ออายุเพราะขาดการชำระเบี้ยเกิน 60 วัน)

การบอกล้างสัญญาประกันชีวิต

เงื่อนไข : การบอกล้างสัญญาด้วยแถลงอายุเท็จแม้บังคับใช้กรมธรรม์เกิน 2 ปี

บอกล้างสัญญา อายุในเกณฑ์ไม่รับทำประกัน 1

หมายเหตุ : บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อเปรียบเทียบทางเลือกในการแถลงสุขภาพ และ ผลลัพธ์ที่จะตามมา ของแต่ละแบบประกันที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกแถลงสุขภาพแบบใดผู้สมัครทำประกันจะต้องเข้าใจและยอมรับกับผลลัพธ์ที่จะตามมา ก่อนการตัดสินใจด้วยตนเองเท่านั้น


เลือกหัวข้อที่สนใจ


การประเมินว่าควรจะแถลงสุขภาพอย่างไร ในการสมัครทำประกันแต่ละแบบ

การประเมินการแถลงสุขภาพส่วนของ "สาระสำคัญ" ที่ ส่งผลให้ไม่รับทำประกัน หรือ เพิ่มเบี้ยประกัน ในการพิจารณารับทำประกัน การเคลมประกัน และการสืบประวัติ โดยเรียงตามลำดับความเข้มงวดจากน้อยไปมากจะเป็นดังต่อไปนี้

  • ประกันชีวิตตลอดชีพ / ประกันมรดก/ ประกันสะสมทรัพย์ที่คุ้มครองชีวิต / ประกันบำนาญที่คุ้มครองชีวิต [บอกล้างสัญญาได้ภายใน 2 ปีแรก]
  • ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา (คุ้มครอง 5-20 ปี) [บอกล้างสัญญาได้ภายใน 2 ปีแรก และ มีเกณฑ์ถูกขอตรวจสุขภาพได้ง่าย]
  • ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล [แถลงตามจริงทุกอย่าง แม้ถามคำถามด้านสุขภาพน้อย]
  • ประกันโรคร้ายแรง [บอกล้างสัญญาได้เพียง 2 ปีแรก - แต่ไม่คุ้มครองโรคร้ายแรงที่สืบเนื่องมาจากโรคหรืออาการผิดปกติก่อนทำประกัน]
  • ประกันสุขภาพ [เข้มงวดมากที่สุด - ควรขอประวัติการรักษาทั้งหมด โดยเฉพาะกับของ รพ. ที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำ]

เพราะเหตุใดความเข้มงวดในการพิจารณารับทำประกันจึงแตกต่างกันในแต่ละแบบประกัน

เนื่องจากแบบประกันจะแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน คือ แบบที่จ่ายเงินเพื่อซื้อความคุ้มครอง กับ แบบที่บังคับเก็บเงินระยะยาวแลกผลประโยชน์เป็นความคุ้มครองที่สูงกว่าเงินที่เก็บ โดยจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แบบที่ 1 : แบบประกันที่จ่ายเงินเพื่อซื้อความคุ้มครอง (เบี้ยน้อยแต่ได้ทุนความคุ้มครองสูง)

ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา 

  • คุ้มครองเพียงเสียชีวิตทุกกรณี เว้นแต่ฆ่าตัวตายต้องรอครบ 1 ปีกรมธรรม์ โดยหากเสียชีวิตเพราะโรคจะต้องมีการสืบประวัติการรักษาใน 2 ปีแรก เนื่องจากอาจเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตอยู่แล้วมาก่อนทำประกัน
  • มักรับทำประกันเฉพาะอาชีพความเสี่ยงระดับ 1-2 ที่เน้นทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก ไม่ได้มีการออกภาคสนาม

ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

  • คุ้มครองทั้งเสียชีวิตและทุพพลภาพถาวรเนื่องจากอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีเงื่อนไขด้านอุบัติเหตุและความเสี่ยงอาชีพ และสุขภาพภาพที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ในการพิจารณารับทำประกัน
  • และมักมีการสืบประวัติการรักษาเสมอหากเกิดการเคลมขึ้น หากพบว่าไม่ได้แถลงจะส่งผลให้ไม่สามารถเคลมประกันได้

ประกันโรคร้ายแรง

  • คุ้มครองโรคร้ายแรงตามที่กำหนด ซึ่งจะมีเงื่อนไขนิยามของโรคร้ายแรงที่คุ้มครองระบุไว้ชัดเจน ในตอนเคลมโรคร้ายแรงที่คุ้มครอง จะมีการสืบประวัติการรักษาว่าได้เป็นมาก่อนทำประกันหรือไม่เสมอ
  • หากเป็นมาก่อน หรือเริ่มมีอาการที่เกี่ยวข้องมาก่อน ใน 2 ปีแรก โดยที่ไม่ได้แถลงสุขภาพตั้งแต่ตอนสมัคร จะถูกบอกล้างสัญญาและคืนเบี้ยทั้งหมด
  • แต่หากไม่ได้แถลง และตรวจสืบพบภายหลัง 2 ปี จะไม่ถูกบอกล้างสัญญา แต่จะปฏิเสธการเคลมในโรคร้ายแรงที่เป็นมาก่อนแทน 

ประกันสุขภาพ 

  • คุ้มครองค่ารักษาโรคและการบาดเจ็บ ด้วยความคุ้มครองที่กว้างมาก จึงมีเงื่อนไขในการให้ความคุ้มครองที่ละเอียด และมีการสืบประวัติโรคที่เป็นก่อนทำประกันอย่างเข้มงวด
  • หากพบว่าโรคที่กำลังจะเคลมเป็นมาก่อนทำประกันใน 2 ปีแรก โดยที่ไม่ได้แถลงสุขภาพโรคนี้ตั้งแต่ตอนสมัคร จะสามารถถูกบอกล้างสัญญาและคืนเบี้ยทั้งหมดได้ โดยเฉพาะในกรณีเป็นโรคที่ส่งผลต่อ รับ/ไม่รับทำประกันโดยตรง หรือ ส่งผลต่อการเพิ่มเบี้ยประกัน
  • แต่หากไม่ได้แถลง และตรวจสืบพบภายหลัง 2 ปี จะไม่ถูกบอกล้างสัญญา แต่จะปฏิเสธการเคลม และจะสามารถที่จะไม่ต่ออายุสัญญาในปีต่อไปได้

แบบที่ 2 : แบบประกันที่บังคับเก็บเงินระยะยาว แล้วได้ผลประโยชน์เป็นความคุ้มครองที่สูงกว่าเงินที่เก็บ (เบี้ยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับทุนคุ้มครองที่ได้)

ประกันชีวิตตลอดชีพ 

  • คุ้มครองเสียชีวิตทุกกรณี เว้นแต่ฆ่าตัวตายต้องรอครบ 1 ปีกรมธรรม์ โดยหากเสียชีวิตเพราะโรคภัยจะต้องมีการสืบประวัติโดยเฉพาะใน 2 ปีแรก เนื่องจากอาจเป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตอยู่แล้วมาก่อนทำประกัน
  • หากเลย 2 ปีไปแล้ว จะถือว่าพ้นระยะพิสูจน์ว่าไม่ได้เป็นโรคอันตรายถึงแก่ชีวิตมาก่อนทำประกันได้

แบบที่ 1 : บริษัทประกันจึงรับความเสี่ยงสูงกว่า

  • เพราะต้องจ่ายค่าความคุ้มครองสูงกว่าเบี้ยที่ได้รับมาก และด้วยเบี้ยที่ไม่มากนี้เอง ส่วนใหญ่จึงมีโอกาสที่ผู้ทำประกันจะมีความเสี่ยงของอาชีพต่อชีวิตที่สูงได้

แบบที่ 2 : บริษัทประกันจึงรับความเสี่ยงน้อยกว่า 

  • เพราะจะมีการกรองผู้ทำประกันด้วยเบี้ยประกันที่สูงระดับหนึ่ง (ซึ่งเชื่อว่าหากมีกำลังเงินโอกาสเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บจะน้อยกว่าได้) โดยเสมือนเป็นการเก็บเงินแลกความคุ้มครองที่สูงกว่าเงินเก็บหลายเท่าทันทีที่เริ่มเก็บ และสามารถคุ้มครองได้ตลอดชีพด้วยเบี้ยที่เรียกเก็บสูงตั้งแต่แรก (ส่วนหนึ่งของเบี้ยที่สูงนี้จะถูกนำไปลงทุนความเสี่ยงต่ำและเติบโตไปช่วยจ่ายค่าประกันภัยที่สูงมากในตอนสูงอายุได้)

การแถลงสุขภาพอย่างถูกต้องของแต่ละแบบประกันควรเป็นอย่างไร

ประกันชีวิตตลอดชีพ

จากทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ประกันชีวิตตลอดชีพ (เช่น  BLA ตลอดชีพสุดคุ้ม) กับ ประกันมรดก (ประกันชีวิตลอดชีพทุนขั้นต่ำ 5 ล้านบาท เช่น BLA Prestige Life) จะมีความเข้มงวดในการรับทำประกันที่น้อยที่สุด

ด้วยการที่บริษัทรับความเสี่ยงน้อยกว่า โอกาสการเคลมเกิดขึ้นยากกว่า (คุ้มครองเพียงการเสียชีวิตอย่างเดียว) และ ใช้เบี้ยประกันที่สูงกว่าในการคัดผู้ทำประกัน

ทำให้การแถลงสุขภาพของประกันชีวิตแบบถูกต้อง มักเน้นแถลงประวัติการรักษาที่ส่งผลให้อาจไม่สามารถรับทำประกัน "ชีวิต" ได้ หรือ รับทำประกัน "ชีวิต" ได้แบบเพิ่มเบี้ย ดังนี้ (เพื่อไม่เป็นการปกปิดและหากบริษัทรับทำประกันได้ก็มั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองแน่นอนไม่ต้องรอให้เกิน 2 ปี แม้อาจถูกเพิ่มเบี้ยได้ก็ตาม)

  • มีผลตรวจสุขภาพที่มีค่าเกินเกณฑ์อ้างอิง เช่น ค่าความดัน ค่าน้ำตาล ค่าตับ ค่าไต
  • ในผลตรวจสุขภาพหรือประวัติการรักษาล่าสุด มีค่าดัชนีมวลกาย BMI น้อยกว่า 18 หรือ มากกว่า 31 (ส่งผลต่อการเพิ่มเบี้ยประกัน)
  • ในประวัติการรักษามีการบันทึกถึง โรค หรือ อาการผิดปกติ ที่ส่งผลถึงชีวิตได้ดังต่อไปนี้ (โดยเฉพาะโรคที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ หรือ ยังไม่ทราบสาเหตุอาการผิดปกตินั้น ๆ ในประวัติการรักษา แต่หากทราบสาเหตุ หรือ ควบคุมโรคได้แล้ว หรือ หายแล้ว ควรแถลงพร้อมส่งประวัติการรักษามาร่วมด้วย)
โรคสาระสำคัญ
อาการสาระสำคัญ

ประกันสุขภาพ

ประกันสุขภาพควรแถลงทั้งหมดตามจริง และควรให้ประวัติการรักษาทั้งหมดให้มากที่สุด เพราะว่าจะส่งผลต่อการพิจารณาในการยกเว้นโรคที่เป็นมาก่อนทำประกันได้ (ประกันชีวิตไม่มีการยกเว้นแบบนี้)

ประกันโรคร้ายแรง

ประกันโรคร้ายแรงควรแถลงและแนบประวัติการรักษาในโรคที่สามารถเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงที่ประกันให้ความคุ้มครอง เพราะว่าจะส่งผลต่อการพิจารณาในการยกเว้นอาการผิดปกติที่เสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นมาก่อนทำประกันได้ (ประกันชีวิตไม่มีการยกเว้นแบบนี้)

ประกันอุบัติเหตุ

ประกันอุบัติส่วนบุคคลเดี่ยว ๆ (ไม่ได้แนบกับประกันชีวิตตลอดชีพ) เป็นสัญญาปีต่อปี มักจะคุ้มครองทั้งเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือ พิการ และอาจมีค่ารักษาอุบัติเหตุให้ร่วมด้วย การแถลงสุขภาพจึงควรแถลงตามจริงทั้งหมด คล้ายประกันสุขภาพ เพียงแต่คำถามด้านสุขภาพจะน้อยมาก (จะมีเพียง โรคความดัน ลมชัก เบาหวาน มะเร็ง พิการ เคยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในรอบ 2 ปีเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ว่าแม้ไม่สามารถทำประกันชีวิตได้ แต่ก็ยังสามารถทำประกันอุบัติเหตุได้อยู่ )

ทำให้ประกันอุบัติเหตุที่แนบกับประกันชีวิต จึงเสมือนมีการคัดกรองด้วยประกันชีวิตไปในตัวเรียบร้อยแล้ว เพราะคำถามด้านสุขภาพของประกันชีวิตจะมากกว่าประกันอุบัติเหตุ ทำให้หากสุขภาพสามารถทำประกันชีวิตได้ ก็สามารถทำประกันอุบัติเหตุได้แน่นอน

ประกันชีวิตชั่วระยะเวลา

ด้วยการคุ้มครองเพียงกรณีเสียชีวิตอย่างเดียว ทำให้จะมีการสืบประวัติอย่างจริงจังเฉพาะการเคลมใน 2 ปีแรกเท่านั้น โดยจะสืบว่าได้เป็นโรคใด ๆ ที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตครั้งนี้มาก่อนทำประกันหรือไม่ (หากเสียชีวิตด้วยกรณีอุบัติเหตุอย่างชัดเจน โอกาสสืบประวัติจะค่อนข้างน้อยมาก ด้วยเพราะเบี้ยที่สูงกว่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุพอสมควร)

การแถลงสุขภาพของประกันชีวิตชั่วระยะเวลาจึงจำเป็นต้องแถลงตามจริงโดยเฉพาะกับโรคหรืออาการผิดปกติที่เสี่ยงถึงชีวิต และควรแนบประวัติการรักษาที่ยืนยันว่าหายได้สักพัก หรือควบคุมโรคได้แล้วร่วมด้วย ก็จะเพิ่มโอกาสในการรับทำประกันได้ โดยไม่ต้องกังวลต้องรอให้เกิน 2 ปี

โดยความเข้มงวดของประกันชีวิตชั่วระยะเวลาที่มากกว่าประกันชีวิตตลอดชีพตามความเสี่ยงที่มากกว่า จึงมีการจำกัดอาชีพที่จะสามารถรับทำประกันได้ การต้องแสดงหลักฐานรายได้ถิ่นที่อยู่อาศัย รวมถึงมีเกณฑ์การถูกขอตรวจสุขภาพได้ง่ายมากกว่าประกันชีวิตตลอดชีพ ทั้งในแง่ทุนประกันชีวิตและอายุทำประกัน

ข้อสังเกตุ :

  • ประกันชีวิตตลอดชีพ โดยเฉพาะกับประกันมรดก จะเป็นแบบประกันเดียว ที่หากมีประวัติการรักษาที่เสี่ยงถึงชีวิตและยังควบคุมไม่ได้ จะมีโอกาสสามารถทำประกันได้ด้วยทุนประกันที่สูง ในอายุที่ไม่เกิน 55 ปี โดยอาศัยเงื่อนไขการไม่ถูกบอกล้างสัญญาหากเลย 2 ปีไปแล้วเข้าช่วยได้
  • ในขณะที่แบบประกันอื่น ๆ จะสามารถถูกสกัดด้วยการถูกสืบประวัติได้ทั้งหมด และถึงแม้จะไม่ถูกสืบประวัติได้อย่างประกันชีวิตชั่วระยะเวลา แต่หากทำทุนชีวิต อายุมาก หรือ อาชีพมีความเสี่ยง ก็สามารถถูกขอให้ตรวจสุขภาพได้ไม่ยาก 

รูปแบบการเลือกแถลงสุขภาพสมัครทำประกันชีวิต ตามแต่ละสถานการณ์

1. จะทำประกันสุขภาพพ่วงด้วย หรือ มีแผนจะทำประกันสุขภาพในบริษัทประกันเดียวกันภายในอีก 2 ปี

แบบนี้ควรต้องแถลงสุขภาพตามจริงทุกอย่าง และควรส่งประวัติการรักษาทั้งหมดพร้อมการสมัคร หรือ หากประวัติการรักษามีหลาย รพ. จะสามารถเน้นขอประวัติการรักษาไปที่เฉพาะโรคที่แถลงสุขภาพ หรือ จาก รพ. ที่มีการรักษาล่าสุดในโรคที่แถลงล่าสุดก่อนได้

ด้วยเพราะอย่างไรแล้ว เมื่อทำประกันสุขภาพจะไม่มีทางปกปิดประวัติใด ๆ ได้อีก หากต้องการประกันสุขภาพที่ใช้ได้จริง ไม่ใช่ระบิดเวลา

หลายครั้งผู้สมัครทำประกันมักจะเลือกทำประกันชีวิตทุนสูงภายหลัง ที่เป็นคนละบริษัทกับที่ทำประกันสุขภาพ เพราะบริษัทประกันที่ทำประกันสุขภาพอยู่จะสามารถทราบได้ว่าสุขภาพเป็นอย่างไรบ้างจากการเคลม และอาจทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตทุนสูงเพิ่มได้

ดังนั้นหากจะเลือกประกันชีวิตทุนประกันสูงกับประกันสุขภาพบริษัทเดียวกัน จึงมักทำพร้อม ๆ กัน หรือ ทำประกันชีวิตทุนประกันสูงหลังบริษัทรับทำประกันสุขภาพไม่นาน เพราะประวัติการรักษายังขาวสะอวดอยู่ 

2. เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิต หรือ ค่าผลตรวจสุขภาพเกินเกณฑ์รับทำประกันชีวิตได้ หรือ อาจรับทำได้แบบเพิ่มเบี้ย

หากเป็นในกรณีนี้ อาจต้องเลือกที่จะไม่แถลงสุขภาพ แล้วเดินพันกับเงื่อนไขการถูกบอกล้างสัญญาใน 2 ปีแรกแทน รวมถึงต้องเลือกทำกับบริษัทประกันอื่นที่ยังไม่มีประวัติการรักษาของเรามาเก็บไว้ หรือ บริษัทประกันที่เราไม่ได้ทำประกันสุขภาพด้วย

โดยการไม่แถลงสุขภาพนั้น คือ การตอบว่าไม่มี ไม่เป็น ไม่ดื่ม ไม่สูบ ค่าน้ำหนักส่วนสูงปกติ อาชีพเน้นทำงานออฟฟิศ ซึ่งแน่นอนว่าหากแถลงตามนี้ โอกาสการถูกขอประวัติการรักษา หรือ ขอตรวจสุขภาพจะน้อยมาก 

เว้นแต่เลือกทำทุนประกันทึ่สูงจนเข้าเกณพ์ขอตรวจสุขภาพ หรืออายุถึงเกณฑ์ต้องตรวจสุขภาพ หรือ เคยมีประวัติการแอดมิตบ่อยครั้ง และ รพ. ที่แอดมิต เป็น รพ.คู่สัญญาของบริษัทประกัน ก็จะทำให้มีโอกาสที่บริษัทประกันจะขอประวัติการรักษาได้ แม้เลือกที่จะไม่แถลงสุขภาพแล้วก็ตาม

และถึงแม้สามารถทำประกันชีวิตผ่านได้ ก็ยังต้องลุ้นอีก 2 ปีถึงจะใช้งานได้ โดยในระหว่างนี้หากเกิดโชคร้ายเสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคที่ไม่แถลง เมื่อบริษัทสืบประวัติเจอบริษัทจะปฏิเสธเคลมและบอกล้างสัญญาพร้อมคืนเบี้ยประกันทั้งหมดได้ 

(ในส่วนตัวแทนจะโดนเรียกค่าคอมคืนทั้งหมด และสะสมสถิติที่ไม่ดีไว้ จนทำให้อาจถูกห้ามขายประกันชีวิต หรือ ถ้าขายได้จะต้องมีการตรวจสุขภาพทุกรายก่อนเสมอ)

3. เป็นโรคที่อันตรายถึงชีวิตแต่รักษาหายแล้ว หรือ ควบคุมอาการได้แล้ว

ถ้าไม่ต้องการขอประวัติการรักษา หรือ ไม่ต้องการให้ถูกขอตรวจสุขภาพเพิ่มเติม ต้องการให้เริ่มความคุ้มครองโดยเร็วที่สุด รวมถึงมั่นใจว่าอาการที่เป็นนั่นหายแล้ว หรือ ประเมินแล้วว่าค่าทางการแพทย์ต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ

จะสามารถเลือกที่จะไม่แถลงได้ เพราะ หากโชคร้ายมีการเคลมใน 2 ปีแรก แล้วมีการสืบประวัติการรักษาย่อมจะพบว่าเคยเป็นโรคที่อันตราย แต่ได้หายแล้ว หรือ ยังไม่หายขาดแต่ควบคุมได้แล้ว ซึ่งจะไม่ส่งผลต่อการเคลมใด ๆ

เว้นแต่ว่า ได้เสียชีวิตจากโรคที่ไม่ได้แถลงนี้ ซึ่งฝ่ายสินไหมจะต้องประเมินต่อไปอีกว่า หากแถลงยังสามารถรับทำประกันได้ปกติหรือไม่ หากสามารถรับทำประกันได้ปกติก็จะไม่ส่งผลใด ๆ

ดังนั้นหากพบว่าโรคที่เป็นนั้นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ได้หายแล้ว หรือ ควบคุมได้แล้ว และมั่นใจว่าบริษัทจะสามารถรับทำประกันได้โดยปกติแบบไม่เพิ่มเบี้ย การตัดสินใจแถลงพร้อมยื่นประวัติจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถรับทำประกันโดยไม่เพิ่มเบี้ยได้ รวมถึงรู้ตนเองดีว่าโรคที่เป็นอยู่ได้หาย ควบคุมได้ หรือสงบไปแล้ว และไม่น่าจะเสียชีวิตด้วยโรคนี้ภายใน 2 ปีอย่างแน่นอน การเลือกที่จะไม่แถลงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

ไม่อย่างนั้นหากถูกเพิ่มเบี้ยขึ้นมา อาจต้องเปลี่ยนไปเลือกไม่แถลงกับอีกบริษัทประกันหนึ่งแทนที่เบี้ยประกันอาจสูงมากกว่าได้ พร้อมยังต้องรออีก 2 ปีเช่นกัน (รวมถึงต้องไม่แถลงด้วยว่าเคยถูกบริษัทประกันอื่นขอเพิ่มเบี้ยด้วย เพราะถ้าแถลงก็จะถูกประวัติการรักษาได้)

4. เป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิต

การรักษาสาระสำคัญ

หากเป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิตนั้น การแถลงโดยส่วนใหญ่จะไม่กระทบต่อการพิจารณารับทำประกันชีวิตมากนัก โดยบางโรคหากแถลงไป ฝ่ายพิจารณาอาจมีการให้ตอบแบบสอบถามเพื่อพิจารณาถึงความรุนแรงเพิ่มเติม หรือ อาจขอประวัติการรักษาร่วมด้วยได้

ดังนั้นเมื่อมั่นใจว่าโรคที่เป็นเหล่านี้ไม่ได้ถึงขั้นรุนแรงจนเสี่ยงถึงชีวิตได้อย่างแน่นอน และผลลัพธ์การแถลงหรือไม่แถลงไม่แตกต่างกัน

การเลือกที่จะไม่แถลงก็จะช่วยให้ขบวนการเริ่มคุ้มครองให้ครบ 2 ปีได้เร็วขึ้นได้

5. ไม่มีประวัติเป็นโรคหรืออาการผิดปกติใด ๆ  แต่เคยแจ้ง รพ. เรื่อง ดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่ เป็นประจำ หรือ เป็นเวลานาน

หากเคยมีการตอบคำถามพยาบาล ตอนไปรักษาหรือตอนตรวจสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับ การดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่เป็นประจำเป็นเวลานานหลายปี

แน่นอนว่าหากแถลงส่วนนี้ตามจริง จะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพได้ ซึ่งการไม่แถลงแล้วสุดท้ายภายใน 2 ปี มีการเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่เป็นประจำเป็นเวลานาน แล้วถูกสืบพบในประวัติการรักษาว่าเคยแจ้งกับพยาบาลหรือแพทย์ตอนถูกซักประวัติ

ก็อาจส่งผลต่อการถูกบอกล้างสัญญาได้ แต่น้ำหนักส่วนนี้จะค่อนข้างอ่อนมาก โดยเฉพาะหากมีผลตรวจสุขภาพอายุไม่เกิน 1-2 ปี ว่า ค่าตับ ค่าไต ค่าความดัน ทุกอย่างเป็นปกติดี อยู่ในประวัติการรักษาเช่นกัน

ดังนั้นหากไม่ต้องการเสี่ยงที่จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพ การไม่แถลงว่าดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่ ก็จะช่วยหลีกเลี่ยงได้ แต่อย่างน้อยต้องมั่นใจว่าผลตรวจสุขภาพออกมาเป็นปกติ หรือ ไม่เคยถูกซักประวัติเรื่องการดื่มสุรา สูบบุหรี่นี้มาก่อน

ข้อสังเกตุ :

  • ในสถานการณ์ที่ยกตัวอย่างมาก จะเห็นได้ว่าบางสถานการณ์ การแถลงกับไม่แถลง ผลลัพธ์สุดท้ายอาจจะไม่แตกต่างกัน จึงทำให้การเลือกไม่แถลงและได้เริ่มนับความคุ้มครองโดยเร็วที่สุดอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
  • แต่บางสถานการณ์ ก็จำต้องถูกบีบให้ไม่แถลงเท่านั้น เพราะถ้าแถลงจะมีโอกาสสูงที่จะไม่รับทำประกันชีวิต หรือรับทำแบบเพิ่มเบี้ย ซึ่งก็จำเป็นต้องประเมินสถานการณ์โรคด้วยตนเองว่าสามารถที่จะไม่โชคร้ายเสียชีวิตด้วยโรคที่ไม่ได้แถลงใน 2 ปีแรกได้หรือไม่
  • อย่างไรก็ตามจุดเด่นของประกันชีวิตจะอยู่ที่ การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ที่ถึงแม้จะยังไม่ครบ 2 ปี หากทั้งแพทย์และตำรวจระบุสาเหตุการตายว่าเป็นอุบัติเหตุ โอกาสการถูกสืบประวัติก็จะน้อยมาก เว้นแต่มีการทำประกันอุบัติเหตุพ่วงกับประกันชีวิตด้วย ตรงส่วนนี้จะมีโอกาสที่จะถูกสืบประวัติว่าได้เป็นโรคที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุมาก่อนทำประกันหรือไม่ (ความดัน ลมชัก เบาหวาน มะเร็ง พิการ เคยบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในรอบ 2 ปี)

เกณฑ์การตรวจสุขภาพ สิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง แม้เป็นประกันชีวิตตลอดชีพ

ประกันชีวิตนั้น เนื่องจากผู้สมัครทำประกันมีทางเลือกให้สามารถไม่แถลงสุขภาพแล้วรับความเสี่ยงไว้เองเฉพาะ 2 ปีแรกเท่านั้นได้ (ความเสี่ยงคือถูกบอกล้างได้รับเบี้ยประกันคืน) ซึ่งบริษัทประกันเองก็ทราบข้อนี้ดี

แต่การที่บริษัทประกันยังเปิดช่องแบบนี้ ด้วยเพราะเป็นการคุ้มครองเพียงชีวิตอย่างเดียว และอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคภัยไข้เจ็บนั้นไม่ได้สูงมาก โดยเฉพาะหากอายยุยังไม่เกิน 50 ปี และการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรงหรือโรคที่เสี่ยงถึงชีวิตจริง ๆ ที่เป็นขั้นร้ายแรงแล้วนั้น ยากที่จะควบคุมให้มีชีวิตนานเกิน 2 ปีได้

อย่างไรก็ตามบริษัทประกันเองก็จำเป็นต้องปิดช่องไม่รับความเสี่ยงมากเกินไป โดยอาศัยเกณฑ์บังคับให้ตรวจสุขภาพร่วมกับการแถลงสุขภาพด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงการฉ้อฉลประกันชีวิตสูง หรือ เขตพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน 

เขตพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงสูง ด้าน พรบ.ป้องกันการฟอกเงิน

เขตพื้นที่สีแดง (Red Zone)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ

ภาคเหนือ

▸ ผู้ขอทำประกันมีโอกาสสูงที่จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพ

▸ ขอให้แสดงแหล่งที่มาของรายได้ และสินทรัพย์ที่มี (มีที่มาที่ไปว่าทำไมต้องทำประกัน)

เขตจังหวัดสีแดง (Red Province)

อุดรธานี

อุบลราชธานี

ขอนแก่น

หนองบัวลำภู

มหาสารคาม

 นครราชสีมา

▸ ผู้ขอทำประกันมีโอกาสสูงที่จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพ

▸ ขอให้แสดงแหล่งที่มาของรายได้ และสินทรัพย์ที่มี (มีที่มาที่ไปว่าทำไมต้องทำประกัน)

หรือกับตัวแทนประกันที่มีอัตราการเกิด Death Claim 100% ในปีแรกของผู้สมัครทำประกัน (เช่น ผู้สมัครทำประกัน 5 คน เสียชีวิตในปีแรกที่ทำประกันทั้ง 5 คน)

โดยเกณฑ์การตรวจสุขภาพตามแบบฟอร์มบริษัทนั้น จะช่วยคัดกรองไม่ให้ผู้ทำประกันที่มีความเสี่ยงถึงชีวิตสามารถทำประกันได้มากขึ้น ผ่านการใช้จรรยาบรรณของแพทย์กำกับอีกครั้ง ซึ่งจะมีเกณฑ์การขอตรวจสุขภาพของประกันชีวิต ตามแบบประกัน ทุนประกัน และอายุที่เริ่มทำประกัน ดังต่อไปนี้

1. ประกันชีวิตตลอดชีพและชั่วระยะเวลา

เนื่องจากของ BLA ล่าสุดจะไม่ได้แยกเกณฑ์การตรวจสุขภาพระหว่าง ประกันชีวิตตลอดชีพ กับ ประกันชีวิตชั่วระยะเวลาออกจากกัน จึงทำให้ความเข้มงวดในการรับทำประกันของประกันชีวิตชั่วระยะเวลานั้น ได้ส่งผลถึงประกันชีวิตตลอดชีพตามไปด้วย ดังเกณฑ์ขอตรวจสุขภาพต่อไปนี้

เกณฑ์ตรวจสุขภาพ ทุนประกันชีวิต+ทุนโรคร้ายแรง

ระเบียบตรวจสุขภาพประกันสามัญ 66
ตรวจเลือดภาพถ่าย e1741774710741

จะเห็นได้ว่าหากทุนประกันชีวิตรวมโรคร้ายแรงเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไปเมื่อใด จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพร่วมด้วยทันที จึงเป็นการจำกัดความเสี่ยงของบริษัทประกันที่สำหรับรองรับปัญหาการไม่แถลงสุขภาพได้ รวมถึงช่วงอายุที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพจะค่อนข้างแคบ เพราะส่วนใหญ่คนเริ่มอยากทำประกันชีวิตทุนสูง ในตอนที่มีกำลังเงินและอายุมากแล้ว แต่ก็อาจกำลังเป็นโรคที่ทำให้ไม่สามารถทำประกันชีวิตได้แล้วเช่นกัน

เกณฑ์ตรวจสุขภาพ ทุนประกันชีวิต+ทุนโรคร้ายแรง พื้นที่เสี่ยงสูง

ระเบียบตรวจสุขภาพพื้นที่เสี่ยงสูง 67
ระเบียบตรวจสุขภาพพื้นที่เสี่ยงสูง2 67
ตรวจเลือดภาพถ่าย 1

ในกรณีพื้นที่เสี่ยงสูง หากทุนประกันชีวิตรวมโรคร้ายแรงเกิน 8 ล้านบาทขึ้นไปเมื่อใด จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพร่วมด้วยทันที และอายุที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพจะค่อนข้างแคบกว่าเดิม คือ เหลือเพียงอายุไม่เกิน 45 ปี ที่ทุนประกันชีวิตไม่เกิน 3 ล้านบาทเท่านั้น และจำเป็นต้องแนบภาพถ่ายเพื่อยืนยันว่ามีตัวตนมีที่พักอาศัยอยู่จริง ๆ

ทั้งหมดนี้เองจึงเป็นวิธีการจำกัดการรับความเสี่ยงของบริษัท โดยใช้เงื่อนทั้งทุนประกันและอายุเริ่มทำประกันเข้าช่วย ร่วมกับการพิจารณาพื้นที่เสี่ยงสูง (รวมถึงบางอาชีพที่เสี่ยงดื่มสุรามากกว่าปกติ ก็อาจมีการขอตรวจสุขภาพร่วมด้วยได้ แม้ทุนประกันและอายุจะไม่เข้าเกณฑ์ตรวจสุขภาพก็ตาม)

2. ประกันมรดก

(Prestige Life / Happy Whole Life ปันผล)

นอกจากการใช้เงื่อนไขด้านทุนประกันและอายุเข้าช่วยกำหนดเกณฑ์ตรวจสุขภาพแล้ว อีกเงื่อนไขหนึ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ได้คือ เบี้ยประกันที่สูงเพื่อเข้ามาช่วยในการคัดกรอง  เพราะผู้ทำประกันที่มีรายได้สูง มักจะเลือกเก็บเงินระยะยาวเพื่อแลกความคุ้มครองที่สูงมากเช่นกัน และความเสี่ยงด้านชีวิตของผู้มีรายได้สูงนั้นตามสถิติแล้วจะน้อยกว่าผู้ทำประกันโดยทั่วไปในระดับหนึ่ง

จึงทำให้เกณฑ์การตรวจสุขภาพของประกันมรดกที่ทุนประกันชีวิตเริ่มต้นที่ 5 ล้านบาทนั้น จะมีเกณฑ์การถูกขอตรวจสุขภาพที่ยืดหยุ่นกว่าประกันชีวิตตลอดชีพอย่างมาก (และเป็นสาเหตุสำคัญที่หากทำประกันชีวิตสูงจะมักเลือกมาที่ประกันมรดกแทนประกันชีวิตตลอดชีพ/ประกันชั่วระยะเวลา) ดังต่อไปนี้

เกณฑ์ตรวจสุขภาพ กรณี "ไม่มี" สัญญาประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรง

เกณฑ์ตรวจสุขภาพ Prestige Life
ตรวจเลือด Prestige Life

จะเห็นได้ว่าหากทุนประกันชีวิตสูงไม่เกิน 20 ล้านบาท จะถูกขอให้ตรวจสุขภาพก็ต่อเมื่อมีอายุเกิน 55 ปีแล้วเท่านั้น หรือหากทุนประกันชีวิตไม่เกิน 35 ล้านบาท กว่าจะถูกขอให้ตรวจสุขภาพก็ต้องอายุ 50 ปีขึ้นไป

จึงทำให้ช่วงอายุ 40-55 ปี ซึ่งมักมีกำลังเงินสูง สามารถใช้ประกันชีวิตมรดกในการแลกความคุ้มครองได้สูงหลัก 5-35 ล้านบาทได้ แม้จะมีปัญหาเรื่องสุขภาพอยู่ก็ตาม ผ่านการใช้เงื่อนไขบอกล้างสัญญาใน 2 ปีแรก และ การที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การตรวจสุขภาพนี้

ที่สำคัญการนับทุนประกันรวมในเกณฑ์ตรวจสุขภาพนั้น จะนับเพียงกรมธรรม์ที่มีอายุยังไม่ถึง 1 ปีกรมธรรมเท่านั้น จึงทำให้ใช้เงื่อนไขนี้ในการทยอยสะสมทุนประกันชีวิตที่ต้องการ เช่น 100 ล้านบาท โดยทยอยทำปีละ 20 ล้านบาทได้ (หรือถ้าจะให้ปลอดภัยจากการถูกสุ่มขอตรวจสุขภาพก็คือ ให้เว้นช่วงไป 2 ปีแทน 1 ปีได้)

เกณฑ์ตรวจสุขภาพ กรณี "มี" สัญญาประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรง

เกณฑ์ตรวจสุขภาพ Prestige Lifeประกันสุขภาพ
ตรวจเลือด Prestige Life

ในเกณฑ์ข้อนี้จะลดอายุเข้าเกณฑ์การตรวจสุขภาพลงมา โดยมักจะเป็นประโยชน์กับตอนทำร่วมกับประกันโรคร้ายแรงเบี้ยคงที่อย่าง BLA Happy CI ที่เป็นลักษณะของการเก็บเงินแลกความคุ้มครองเช่นกัน 

แต่ต้องมั่นใจว่าประวัติการรักษาที่มีไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงที่ BLA Happy CI ให้ความคุ้มครอง เพราะว่าถ้าเกี่ยวข้องอย่างไรแล้วควรจะต้องแถลงและส่งประวัติการรักษาของ รพ. ที่แถลงร่วมด้วยเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับประกันสุขภาพที่ควรจะแถลงทั้งหมด 

เกณฑ์การคัดกรองเพิ่มเติม อาชีพ/รายได้/แหล่งที่มารายได้/หลักฐานความสัมพันธ์/เงื่อนไขความคุ้มครอง/การเปิดเผยข้อมูลตอนเคลม

การนับทุนประกันชีวิตเมื่อเทียบกับรายได้ตามช่วงอายุ (สาเหตุที่ต้องแถลง รายได้/อาชีพ/ที่อยู่ที่ทำงาน)

1. จำนวนทุนประกันชีวิตต่อจำนวนเท่าของรายได้ (ต่อปี)

อายุรับประกัน (ปี)

ทุนชีวิตสูงสุด(เท่า)

20 - 29

15-20 เท่าของรายได้ต่อปี

30 - 39

10-15 เท่าของรายได้ต่อปี

40 - 49

10 เท่าของรายได้ต่อปี

50 - 59

5-10 เท่าของรายได้ต่อปี

อายุ 60 ปีขึ้นไป

5 เท่าของรายได้ต่อปี

2. ความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน

**เบี้ยประกันรวมทั้งหมดไม่ควรเกิน 20% ของรายได้ต่อปี (หลังหักภาษี)

การแสดงแหล่งที่มาของรายได้ อ้างอิง พรบ.ป้องกันการฟอกเงิน

กรณีทุนประกันภัยสูง (นับทุนประกันชีวิตรวมทุกกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ)

ทุนประกัน 1,000,000 บาทขึ้นไป

▸ เอกสารแสดงที่มาของรายได้ เช่น Statement สลิปเงินเดือน เอกสารยื่นภาษี เป็นต้น (สุ่มขอบางอาชีพที่แหล่งที่มาของรายได้ไม่ชัดเจน)

ทุนประกัน 5,000,001 บาทขึ้นไป

▸ ตอบแบบสอบถามสำหรับการประกันภัยวงเงินสูง (12 ข้อ) ชี้แจ้งแหล่งที่มาของรายได้

ทุนประกัน 10,000,001 บาทขึ้นไป

▸ ตอบแบบสอบถามสำหรับการประกันภัยวงเงินสูง (20 ข้อ) ชี้แจ้งแหล่งที่มาของรายได้

▸ สำเนา Bank Statement ย้อนหลัง 6 เดือน

▸ สำเนาหนังสือจดทะเบียนบริษัท และสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท อายุไม่เกิน 3 เดือน (ถ้ามี)

▸ สำเนางบดุล และงบกำไร-ขาดทุน ย้อนหลัง 3 ปี (ถ้ามี)

กรณีเบี้ยประกันภัยสูง (นับการชำระเบี้ยประกันภัยรวมทุกกรมธรม์)

เบี้ยประกัน 10 ล้านบาทขึ้นไป (ต่อปี)

▸ ตอบแบบสอบถามสำหรับเบี้ยประกันภัยมูลค่าสูง

▸ สำเนาหลักฐานแสดงแหล่งที่มาของจำนวนเงินที่จะใช้ในการชำระเบี้ยประกันภัยประกอบ เช่น
สมุดบัญชีเงินฝาก / สมุดบัญชีกองทุน / สัญญาซื้อขาย / หนังสือโอนกรรมสิทธิ์ / หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย / แบบยื่นเสียภาษีเงินได้ เป็นต้น พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง

หมายเหตุ : เขตพื้นที่ความเสี่ยงสูงหรืออาชีพเสี่ยงสูง มีโอกาสที่จะขอเอกสารเพิ่มเติมดังนี้ >> ผลตรวจเลือดค่าตับ รูปถ่ายปัจจุบันของผู้ขอทำประกันพร้อมที่พักอาศัยตามที่อยู่ที่ระบุโดยเห็นบริเวณบ้าน , ชี้แจ้งรายได้และแหล่งที่มาของรายได้โดยละเอียด , สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร , รายการยื่นภาษีเงินได้ , โฉนดที่ดิน เป็นต้น

การแนบหลักฐานเพิ่มเติมของผู้รับประโยชน์ หรือ ผู้สมัครทำประกัรเป็นชาวต่างชาติ

1. แนบหลักฐานเพิ่มเติมหากผู้รับผลประโยชน์ เป็นดังต่อไปนี้

1.1

บุตร บิดา/มารดา หรือพี่น้องที่ นามสกุลไม่ตรงกัน

1.2

ผู้รับผลประโยชน์ที่ มิใช่ บุตร / บิดา / มารดา / คู่สมรส

2. สำหรับบุคคลต่างชาติ ขอเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

2.1

กรณีบุคคลต่างชาติพำนัก/ทำงานในประเทศไทย หรือมีคู่สมรสชาวไทย


▸ สำเนาหนังสือเดินทางและวีซ่าพร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง


▸ สำเนาหนังสืออนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย (Work Permit) พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง (ถ้ามี)


▸ สำเนาใบสำคัญการสมรส พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง (ถ้ามี)


▸ ตอบแบบสอบถามสำหรับชาวต่างชาติ (กรณีไม่มี Work Permit และ/หรือใบสำคัญการสมรส)

2.2

กรอกที่อยู่ตามภูมิลำเนาของผู้ขอเอาประกันภัย (ที่อยู่ที่ต่างประเทศ) ในใบคำขอเอาประกันชีวิตในช่องที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

2.3

แบบฟอร์ม พ-9 สำหรับผู้ขอเอาประกันภัยที่มีสัญชาติอเมริกัน รวมถึงผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้ถือ Green Card

2.4

แบบฟอร์ม W-8BEN สำหรับผู้ขอเอาประกันภัยที่ไม่มีสัญชาติอเมริกัน แต่มีหน้าที่เสียภาษีให้กรมสรรพากรประเทศสหรัฐอเมริกา

เงื่อนที่บริษัทจะไม่คุ้มครอง

1. กรมธรรม์ขาดอายุ หรือ ไม่ได้ชำระเบี้ยในระยะเวลาผ่อนผันชำระเบี้ยประกันภัย 60 วัน (ชำระช้ากว่ากำหนดได้ 60 วัน หลังจากนั้นจะถือว่า กรมธรรม์ขาดอายุ หากกลับมาต่ออายุจะต้องเริ่มนับ 2 ปีใหม่)

2. กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์จะต้องรีบแจ้งให้บริษัททราบภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เสียชีวิต (เว้นแต่ไม่ทราบ แต่ให้รีบแจ้งทันทีเมื่อทราบ โดยมีเหตุผลประกอบที่เหมาะสม)

3. กรณีที่บริษัทจะไม่คุ้มครอง

    (3.1) กรณีไม่เปิดเผยข้อความจริง หรือแถลงข้อความเท็จ บริษัทจะบอกล้างสัญญาภายใน 2 ปี นับแต่ วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามกรมธรรม์ หรือตามการต่ออายุ หรือวันที่บริษัทอนุมัติให้เพิ่มจำนวนเงินเอา ประกันภัยในเฉพาะส่วนที่เพิ่ม

    (3.2) ฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มมีผลคุ้มครองตามกรมธรรม์ หรือตามการต่ออายุ ตามกรมธรรม หรือตามการต่ออายุ หรือวันที่บริษัทอนุมัติให้เพิ่มจำนวนเงินเอาประกันภัยในเฉพาะส่วนที่เพิ่ม

    (3.3) กรณีถูกผู้รับผลประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา โดยจะมีการสืบสวนอย่างละเอียดถึงสาเหตุการตาย

เอกสารที่ใช้ประกอบการเรียกรองเงินตามกรมธรรมประกันชีวิต

 กรณีการเสียชีวิตจากโรค

(ก) กรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัย และใบเรียกร้องสิทธิของผู้รับประโยชน์ทุกคน ตามแบบที่บริษัทกำหนด (ยกเว้นเป็น e-Policy เพราะบริษัทจะมีไฟล์กรมธรรม์เรียบร้อย)

(ข) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และ สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับประโยชน์ โดยต้องนำต้นฉบับมาแสดงด้วย

(ค) สำเนาใบมรณบัตร โดยต้องนำต้นฉบับมาแสดงด้วย

(ง) สำเนาทะเบียนบ้าน ที่มีการจำหน่ายการตายของผู้เอาประกันภัย โดยต้องนำต้นฉบับมาแสดงด้วย

(จ) ใบยินยอมของผู้รับประโยชน์ หรือ ทายาทในการเปิดเผยประวัติ

(ฉ) ใบรายงานแพทย์ กรณีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล

กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเหตุอื่น ต้องมีเอกสารเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(ช) สำเนาบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีที่ได้รับรองสำเนาถูกต้องจากพนักงานสอบสวน

(ซ) สำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพ

**กรณีอายุกรมธรรม์ไม่เกิน 2 ปี มีโอกาสใช้เวลาสืบประวัติการรักษา หรือ สืบอาชีพแหล่งที่มารายได้ หรือ สืบสาเหตุการตายที่มีเงื่อนงำว่าผู้รับประโยชน์เป็นผู้กระทำ โดยใช้เวลา 90 วันภายหลังได้รับเอกสารครบถ้วน ทั้งนี้บริษัทมีสิทธิในการร้องขอเอกสารหลักญานต่าง ๆ เพิ่มเติม โดยค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารจะเป็นหน้าที่ของผู้รับประโยชน์

บทสรุป..การแถลงสุขภาพของประกันชีวิต

ในกรณีของประกันชีวิตโดยตรงนั้น ด้วยเงื่อนไขการบอกล้างสัญญาเฉพาะใน 2 ปีแรก หากมีการปกปิดประวัติการรักษา เป็นช่องทางสำคัญที่ทางบริษัทประกันได้เปิดไว้แบบที่จำกัดความเสี่ยงไว้เรียบร้อย

ดังนั้นการที่ผู้สมัครทำประกันชีวิตจะเลือกแถลงสุขภาพอย่างไร จะต้องขึ้นอยู่กับ

  • สถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้สมัครทำประกันชีวิต
  • ความสะดวกในการจัดเตรียมเอกสารประวัติการรักษาต่าง ๆ
  • ความพร้อมในการถูกขอตรวจสุขภาพ
  • ความพร้อมที่จะถูกขอเพิ่มเบี้ยรับความเสี่ยงได้ด้วยปัญหาสุขภาพที่แถลง
  • ความยินดีที่จะรับความเสี่ยงของเงื่อนไขบอกล้างสัญญาใน 2 ปี
  • ความเข้าใจว่าเงื่อนไขบอกล้างนี้ใช้ได้เฉพาะกับ ประกันที่คุ้มครองเสียชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น

โดยการตัดสินใจเลือกวิธีการแถลงสุขภาพตามความเหมาะสมของสถานการณ์จะเป็นสิทธิของผู้สมัครทำประกันแต่เพียงผู้เดียว ทางเรามีหน้าที่ชี้แจ้งข้อมูล และผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะตามมาเท่านั้น

การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..

วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • แอนนี่ค่ะ2

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก