วิธีการเลือกแบบประกันชีวิตผ่านโครงสร้างเบี้ยประกัน

ประกันชีวิตหนึ่งในเครื่องมือที่มีการพัฒนาปรับตัวตามยุคตามสมัย จนกระทั่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างประกันชีวิตควบการลงทุน ซึ่งแต่ละแบบก็มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกันไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจแนวคิดเบื้องหลังของแบบประกันชีวิตอย่างแท้จริงก่อนที่จะตัดสินใจเลือกใช้งาน

ภาระที่ทุกคนในครอบครัวต้องประชุมกันนั้นมีหลายอย่าง ซึ่งภาระแต่ละอย่างก็มีทั้งภาระที่ติดตัวตลอดชีวิต และภาระที่ติดตัวเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง การเลือกรูปแบบของประกันชีวิตให้เหมาะสมกับภาระนั้น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก

การเข้าใจโครงสร้างของเบี้ยประกันชีวิตจะช่วยทำให้เลือกแบบประกันได้ง่ายมากขึ้น และรู้ตัวว่าใช้แบบประกันนี้เพราะอะไร นอกเหนือจากการที่ถูกผู้ขายแนะนำหรือเชียร์เท่านั้น

Sad debt13
Single mom3
Sad debt9
Single mom1

โครงสร้างภายในของเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไป ใช้ทำอะไรบ้าง

จากข้อดีของอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้เงินเติบโตขึ้นหากมีการผ่อนล่วงหน้า ทำให้เกิดเครื่องมือการเงินที่ชื่อว่าประกันชีวิตขึ้นมา โดยบริษัทประกันจะได้กำหนดจำนวนเงินที่จะใช้ผ่อนล่วงหน้าที่เรียกว่าเบี้ยประกันขึ้นมา

โดยเบี้ยประกันจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

ส่วนที่ 1 : ค่าใช้จ่าย

ค่าการประกันภัย COI และค่าการดำเนินการ Premium Charge แต่ละปี

ค่าการดำเนินการประกันภัย (Premium Charge) ไว้จัดตั้งและดูแลระบบการประกันทั้งหมดของสัญญานั้น ๆ ซึ่งจะมากเฉพาะในปีแรกที่มีค่าการจัดตั้งระบบ และทยอยน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกปี

ค่าการประกันภัย (COI : Cost of Insurance) เพื่อไว้ใช้เป็นเงินกองกลางรวมเฉลี่ยภัยกับผู้อื่น เป็นหลักประกันว่าจะได้เงินก้อนมาชดเชยเมื่อยามมีภัยเกิดขึ้น โดยค่าการประกันภัย COI จะขึ้นอยู่กับ ทุนประกัน-อายุ-สุขภาพ-เพศ-อาชีพ ของผู้เอาประกัน หากใครมีความเสี่ยงภัยมากกว่าและต้องการทุุนประกันมากกว่า ก็จะมีค่า COI ที่สูงกว่า

นอกจากนี้ ค่า COI จะถูกเก็บตั้งแต่ต้นปี แต่คุ้มครองถึงปลายปี ทำให้จะมีเงินบางส่วนที่ถูกเก็บล่วงหน้าไปหลายเดือนนั้น บริษัทประกันจึงได้นำไปลงทุนและคิดย้อนกลับมาต้นปีว่าจะได้เป็นส่วนลดเบี้ยได้เท่าใดโดยอัตโนมัติ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการจ่ายเบี้ยรายปีจึงประหยัดกว่าการจ่ายเบี้ยรายเดือน 

โดย ค่าการดำเนินการประกันภัย (Premium Charge) เพื่อใช้ในการตั้งต้นของสัญญานั้น จะมากเฉพาะปีแรก ๆ แต่จะทยอยลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไป ดังตัวอย่างของ BLA รูปภาพข้างล่างนี้

ค่าการประกันภัย ส่วนที่ 1

ซึ่งแต่ละบริษัทประกันจะมีวิธีการคิดค่าดำเนินการที่แตกต่างกันไป โดยมากน้อยและนานเพียงใดจะขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่าง เช่น หากยกตัวอย่างประกันชีวิตควบการลงทุนจะมีปัจจัยที่ส่งผลต่อค่า Premium Charge ดังต่อไปนี้

  • ให้ความคุ้มครองต่อเบี้ยสูงเท่าไร เช่น แบบที่คุ้มครอง 250 เท่าของเบี้ยที่จ่าย จะมีค่าดำเนินการมากกว่าแบบที่ให้ความคุ้มครอง 100 เท่า เป็นต้น
  • ช่วงของอายุที่ให้ความคุ้มครองต่อเบี้ยนั้นกว้างเพียงใด เช่น อายุ 0-40 ได้ความคุ้มครอง 250 เท่าของเบี้ยที่จ่าย ย่อมคิดค่าดำเนินการที่สูงกว่า ให้ความคุ้มครอง 280 เท่าเพียงช่วงอายุ 0-20 ปี  เป็นต้น
  • ระยะเวลาการการันตีว่าจะยังคงให้ความคุ้มครองแม้มูลค่าพอร์ตการลงทุนจะเป็นเท่าใดก็ตาม เช่น การันตีว่าสัญญาจะยังคงคุ้มครองใน 10 ปีแรกแน่นอน โดยไม่สนใจมูลค่าของกรมธรรม์เป็นเท่าใด (แต่ยังคงต้องทำการจ่ายเบี้ยปรกติ) ย่อมมีค่าดำเนินการที่สูงกว่า แบบไม่การันตีหรือแบบที่การันตีคุ้มครองเพียง 5 ปี เป็นต้น
  • ค่าธรรมเนียมการ ซื้อ-ขาย-สับเปลี่ยน ของพอร์ตการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของกรมธรรม์ เช่น บางแห่งค่าธรรมเนียมซื้อขายสับเปลี่ยนจะค่อนข้างน้อยมาก เพราะมีการเก็บค่าดำเนินการประกันภัยที่สูงทดแทนในช่วงต้น ซึ่งในระยะยาวเมื่อกองทุนเติบโตขึ้นจะประหยัดค่าธรรมเนียมได้มากกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ ค่าดำเนินการประกันภัยจะทยอยลดลงเรื่อย ๆ ดังรูป (ด้านบน) แต่มีส่วนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นแทนค่าดำเนินการประกันภัย ส่วนนี้เรียกว่า ค่าการประกันภัย COI นั่นเอง ซึ่งค่าตรงนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุหรือตามความเสี่ยงในตารางมรณกรรมของประเทศไทย และทุนประกันชีวิตที่เลือกทำ ดังตัวอย่างการเพิ่มขึ้นของค่า COI ต่อไปนี้

ค่าการประกันภัย 7

ส่วนที่่ 2 : เงินลงทุน

เงินส่วนที่เหลือจากการหักค่าใชจ่ายจะนำไปลงทุน

การนำไปลงทุน เพื่อให้เงินทยอยเติบโตขึ้นตามอัตราผลตอบแทน (ตามที่ตกลงกันไว้) และเพื่อให้ได้จำนวนเงินก้อนที่ต้องการเมื่อครบกำหนดสัญญา หรือให้สามารถช่วยถั่วเฉลี่ยค่า COI ให้กลายเป็นเบี้ยคงที่ได้โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

ค่าการประกันภัย ส่วนที่ 2

นำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทน เพื่อนำไปช่วยจ่ายค่า COI ที่จะสูงมากขึ้นตามอายุ และทำให้สามารถถั่วเฉลี่ยเบี้ยประกันเพื่อจ่ายลดลงและคงที่ทุกปีได้

โดยบริษัทประกันจะให้ผู้ทำประกันเลือกวิธีการลงทุน 5 รูปแบบ ดังนี้

2.1

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และ แบบชั่วระยะเวลา

บริษัทประกันนำเงินที่เหลือไปลงทุนให้ และการันตีมูลค่าเวนคืนในรูปแบบสัญญา

COI 1
  • โดยเน้นที่พอร์ตการลงทุนความเสี่ยงและผันผวนต่ำไม่มีหุ้นมาเกี่ยวข้องหรือมีน้อยมาก ผลตอบแทนคงที่ประมาณ 2%/ปี หรือ ตามที่ระบุในกรมธรรม์ เพื่อให้สามารถการันตี มูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์ออกมาเป็นตารางสัญญา ได้และ
  • โดยบริษัทจะใช้ผลตอบแทนนี้คำนวณเงินที่ต้องผ่อนล่วงหน้าถั่วเฉลี่ยมูลค่าตามเวลาของจำนวนปีที่ต้องการความคุ้มครองและจำนวนปีที่ต้องการจ่ายเบี้ย ออกมาเป็นเบี้ยประกันแบบคงที่มาให้เรียบร้อย ซึ่งจะมีทั้งแบบเน้นทุนชีวิตสูงชั่วระยะเวลาเช่น 10-20 ปี และแบบเน้นทุนชีวิตที่ลดลงแต่ได้ความคุ้มครองตลอดชีพ
  • ส่งผลให้สามารถการันตีได้ว่าในกรมธรรม์จะมีมูลค่าเวนคืนเท่าใดเมื่อผ่านไปในแต่ละปี และหากเป็นแบบตลอดชีพในปีสุดท้ายมูลค่ากรมธรรม์จะได้เท่ากับทุนประกันพอดี
  • ในระหว่างที่ยังไม่ครบสัญญาแต่กรมธรรม์มีมูลค่าเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวิธีการนำเงินออกมาใช้ได้ 2 วิธี คือ วิธีการปิดกรมธรรม์หรือเวนคืน กับ วิธีการกู้เงินจากในกรมธรรม์ด้วยอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นประมาณ 5-8% ต่อปี 
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถูกกำหนดให้สูงขึ้นอีก 2% ต่อปีของอัตราดอกเบี้ยที่ระบุในกรมธรรม์  จึงทำให้เงินกู้กับดอกเบี้ยเงินกู้สามารถแซงหน้ามูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์ได้ เพื่อป้องกันปัญหานี้บริษัทจะให้กู้ได้สูงสุดที่ 90% ของมูลค่ากรมธรรม์ตอนนั้น ๆ
  • เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากรมธรรม์จะมีอายุต่อได้อีกอย่างน้อยประมาณ 3-5 ปีหากไม่ได้ชำระดอกเบี้ยหรือเงินกู้คืนใดๆ เข้ามาในกรมธรรม์เลย 
  • แต่ในระหว่างที่กู้กรมธรรม์นั้น จะยังคงได้ความคุ้มครองตามทุนชีวิตเหมือนเดิม จนกว่าเงินกู้กับดอกเบี้ยจะมากกว่ามูลค่าเวนคืนในปีนั้นๆ กรมธรรม์ก็จะปิดตัวลง
  • ดังนั้นโดยเฉพาะกับประกันชีวิตตลอดชีพ (ที่เหลือเงินไปให้บริษัทลงทุนจำนวนมาก) ตั้งแต่ปีที่มูลค่าเวนคืนมากกว่าเบี้ยประกันรวมที่จ่ายไป จะเหมือนกับมีแหล่งเงินกู้เป็นของตนเองทันที พร้อมกับเงื่อนไขการกู้ที่ว่าหากเสียชีวิตจะไม่ต้องจ่ายหนี้ใดๆ แถมยังได้เงินก้อน หากทุนชีวิตหักหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยทั้งหมดแล้วยังเหลือเงินอยู่
  • ซึ่งมักจะเหลือเงินพอสมควร หากเริ่มทำประกันชีวิตตลอดชีพตอนอายุยังน้อยที่อย่างไรแล้วเบี้ยรวมน้อยกว่าจะทุนชีวิตถึง 3-5 เท่าได้แน่นอน จึงมีพ่อแม่หลายคนเน้นทำประกันชีวิตตลอดชีพให้ลูก เพื่อเมื่อถึงอายุที่ลูกจำเป็นต้องทำธุรกิจตนเองจะมีแหล่งเงินกู้ของตนเองขึ้นมาให้ใช้งาน และเป็นการฝึกบังคับให้ลูกนำเงินที่กู้นี้ออกมาสร้างรายได้ต่อไม่ใช่นำไปเพื่อบริโภค เพราะยังต้องจ่ายดอกเบี้ยเหมือนการกู้เงินจากแหล่งอื่นๆ ด้วยนั่นเอง

ข้อดี : เป็นรูปแบบประกันแบบดั้งเดิมที่มีความแน่นอนสูงที่สุด เบี้ยมักน้อยที่สุด พร้อมฟีเจอร์การกู้กรมธรรม์ที่สร้างแหล่งเงินกู้สำหรับไว้สร้างรายได้ต่อของตนเอง หรือ ครอบครัว

ข้อสังเกตุ : อาจไม่ตรงความต้องการตลาดที่อยากให้มีความคุ้มครองมากกว่าชีวิต หรือได้เงินคืนหรือเงินปันผลระหว่างปีด้วย

หมายเหตุ : แบบประกันลักษณะนี้จะเปรียบเทียบระหว่างบริษัทได้ง่าย บริษัทประกันจึงมักออกแบบมาให้มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในส่วนของจำนวนปีชำระเบี้ย ความคุ้มครองเพิ่มเติม เช่น จากไปเพราะอุบัติเหตุ และหรือ ทุพพลภาพถาวร ได้รับเงินเพิ่มจากทุนชีวิต หรือ หากทำทุนชีวิตที่สูงตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปจะได้ส่วนลดมากขึ้น เป็นต้น

2.2

ประกันชีวิตตลอดชีพควบโรคร้าย

บริษัทประกันนำเงินที่เหลือไปลงทุนให้ และการันตีมูลค่าเวนคืนในรูปแบบสัญญาประกันชีวิตตลอดชีพ และยังมีการนำความคุ้มครองโรคร้ายเข้ามาร่วมด้วย (บริษัทประกันชีวิตชอบแบบนี้เพราะเบี้ยรวมทั้งสัญญาค่อนข้างสูงต่างกับทุนประกันไม่มาก)

Happy Cancer 2
  • ด้วยเพราะประกันชีวิตตลอดชีพนั้นมีมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ประกันโรคร้ายแรงมักมีเป็นแบบที่เบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ และจำเป็นต้องลดทุนประกันโรคร้ายแรงลงเรื่อยๆ หากไม่ต้องการให้เบี้ยปรับตัวสูงขึ้นมากเกินไป
  • จากที่มาของ 2 แบบประกัน จึงเกิด ประกันชีวิตควบโรคร้ายเบี้ยคงที่ขึ้น ที่มีการนำประกันชีวิตตลอดชีพมาควบรวมกับสัญญาโรคร้ายที่ปรับลดทุนความคุ้มครองลงอัตโนมัติตามมูลค่าเวนคืนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี (โดย ทุนโรคร้ายแรงที่ปรับลดลง เมื่อรวมกับ มูลค่าเวนคืนของประกันชีวิต ต้องเท่ากับทุนชีวิตที่เลือกของประกันชีวิตควบโรคร้าย)
  • ดังนั้นหากตรวจเจอโรคร้ายแรง ก็จะทำการเวนคืนประกันชีวิต รวมกับ เงินก้อนจากทุนประกันโรคร้าย ซึ่งจะได้เท่ากับทุนประกันชีวิตควบโรคร้ายที่เลือกพอดี
  • หรือ หากเสียชีวิต ก็จะได้เงินก้อนจากประกันชีวิต เท่ากับทุนประกันชีวิตควบโรคร้ายที่เลือก เหมือนประกันชีวิตตลอดชีพทั่วไป 
  • ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ค่าประกันภัยส่วนของโรคร้ายไม่สูงมาก และทำให้สามารถทำการถั่วเฉลี่ยเบี้ยประกันทั้งหมดให้ออกมาเป็นเบี้ยคงที่ได้ 
  • แต่เนื่องจากเบี้ยที่จ่ายไปต้องแบ่งไปจ่ายถั่วเฉลี่ยล่วงหน้าให้กับค่าประกันภัยโรคร้ายแรงด้วย จึงเหลือเงินที่จะให้บริษัทนำไปลงทุนลดลง ส่งผลให้มูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ของประกันชีวิตควบโรคร้ายจะเติบโตช้ากว่าประกันขีวิตตลอดชีพ และยังมีเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างมาก
  • จนทำให้ในเกือบทุกช่วงอายุที่เริ่มทำประกัน ตัวทุนชีวิตโรคร้ายที่ได้จะไม่ถึง 2 เท่าของเบี้ยรวมทั้งหมด จึงนับเป็นประกันที่เบี้ยต่อความคุ้มครองค่อนข้างสูง

ข้อดี : เนื่องจากค่าการประกันภัย COI ของโรคร้ายจะสูงขึ้นมากตอนสูงอายุ ทำให้การที่ทยอยปรับลดลงความคุ้มครองโรคร้ายลงเรื่อย ๆ ให้สอดคล้องกับมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ที่สูงขึ้น จึงทำให้ค่า COI โรคร้ายไม่ได้สูงจนเกินไป และทำให้ถั่วเฉลี่ยเป็นเบี้ยคงที่ได้ในที่สุด

ข้อสังเกตุ : ความคุ้มครองโรคร้ายบางโรคอาจจะหมดลงตั้งแต่อายุ 80 ปีเพื่อประหยัดค่า COI และเนื่องจากมีการนำค่า COI ของโรคร้ายตลอดชีวิตเข้ามาคำนวณด้วย จึงทำให้ต้องเก็บเบี้ยสูงขึ้นมากพอสมควร หากเทียบกับซื้อประกันชีวิตตลอดชีพแบบปกติรวมกับซื้อสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายเบี้ยคงที่ในช่วงอายุก่อนเกษียณ (สัญญาโรคร้ายแบบนี้จะมีมูลค่าเวนคืนในตน)  แล้วแบบหลังเจอโรคร้ายจะได้เงิน 1 ก้อน ต่อมาต้องจากไปเพราะโรคร้ายก็ยังได้เงินอีก 1 ก้อน ในขณะที่ประกันชีวิตควบโรคร้ายได้เงินเพียง 1 ก้อน ด้วยค่าประกันเบี้ยที่สูงกว่า

หมายเหตุ : การเน้นเงินก้อนส่วนนี้เพื่อมาเป็นค่ารักษาโรคร้าย อาจจะไม่เพียงพอต่อโรคร้ายบางโรคได้ และถ้าหากต้องการให้เพียงพอ แบบนี้จะจำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันที่สูงมาก เมื่อเทียบกับค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่เน้นจ่ายตามจริงของค่าการรักษา

2.3

ประกันชีวิตตลอดชีพแบบมี เงินคืน/เงินปันผล

บริษัทประกันนำเงินที่เหลือไปลงทุนให้ โดยมีทั้งส่วนการันตีมูลค่าเวนคืน การันตีเงินคืน และแถมส่วนที่ไม่การันตีผลตอบแทน (เงินปันผล)

COI 2
  • เนื่องจากแบบที่ 1 และ 2 บริษัทประกันจะการันตีมูค่าเวนคืน จึงจำเป็นต้องลงทุนในพอร์ตการลงทุนความเสี่ยงที่ต่ำมาก (อาจไม่มีหุ้นเลย) เพื่ออย่างน้อยบริษัทประกันจะไม่ได้รับความเสี่ยงการลงทุนที่มากเกินไป
  • รวมถึงบางแบบประกันชีวิตตลอดชีพมีการให้เงินคืนออกมาระหว่างปีหรือในช่วงเกษียณด้วยเหมือนประกันสะสมทรัพย์หรือประกันบำนาญ ก็จำเป็นต้องลดทุนคุ้มครองชีวิตลงมาอีก เพื่อให้เหลือเงินมาลงทุนและนำมาเป็นเงินคืนได้
  • ทำให้เกิดแนวคิดที่ต้องการให้บริษัทสามารถลงทุนที่เสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีการเก็บเบี้ยมากขึ้นเพื่อให้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งให้บริษัทนำไปลงทุนในพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นได้ เช่น มีหุ้นเพิ่มขึ้นมาประมาณ 20% ของพอร์ต โดยจะให้ผลตอบแทนออกมาในรูปแบบเงินปันผลที่ไม่การันตีว่าจะมีทุกปี
  • ดังนั้นแบบประกันลักษณะนี้ทั้งหมดจึงต้องมีการเก็บเบี้ยที่สูงกว่าแบบที่ 1 อย่างชัดเจน ทำให้หากต้องการเน้นเรื่องทุนคุ้มครองชีวิตให้สูงสุดต่อเบี้ยที่จ่ายเป็นหลักแบบนี้อาจไม่ตอบโจทย์มากนัก

ข้อดี : มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น มีความปลอดภัยพอสมควร ได้เงินคืนในรูปแบบของทั้งเงินคืนและเงินปันผล

ข้อสังเกตุ : จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยสูงขึ้นกว่าแบบปกติ

2.4

ประกันชีวิตแบบ Universal Life

บริษัทประกันนำเงินที่เหลือไปลงทุนให้ โดยการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปี แต่ไม่การันตีมูลค่าเวนคืนในกรมธรรม์

COI 3
  • เนื่องจากแบบที่ 1-3 บริษัทประกันจะการันตีผลตอบแทนและมีตารางมูลค่าเวนคืน หรือเงินคืนให้อย่างชัดเจน ผู้เอาประกันไม่สามารถบริหารจัดการค่า COI เองได้ เช่น การเลือกจำนวนเท่าความคุ้มครองต่อเบี้ยที่จ่ายไปเอง เช่น 50 เท่า 100 เท่า เป็นต้น
  • จึงทำให้เกิดประกันในรูปแบบ Universal Life ขึ้นมา ซึ่งเป็นประกันในรูปแบบที่การันตีผลตอบแทนขั้นต่ำซึ่งส่วนใหญ่จะประมาณ 1% ต่อปี โดยในส่วนผลตอบแทนที่เกิน 1% ต่อปี จะปล่อยให้เป็นมูลค่าสะสมในกรมธรรม์แทนมูลค่าการเวนคืน
  • โดยพอร์ตการลงทุนของบริษัทจะมีความคล้ายคลึงกับแบบประกันชีวิตที่มีปันผล คือมีหุ้นน้อยกว่า 20% จึงเป็นเหตุให้บริษัทสามารถการันตีผลตอบแทนขึ้นต่ำได้
  • และยังทำให้ผู้เอาประกันสามารถบริหารจัดการค่า COI ได้เอง โดยยิ่งปรับทุนชีวิตสูงค่า COI ก็จะสูงและเหลือเงินลงทุนน้อยลงนั้นเอง ซึ่งถ้าหากเงินไม่พอจ่ายค่า COI ก็สามารถเติมเงินเข้าไปเพิ่มเพื่อเลี่ยงกรมธรรม์ไม่ให้ปิดได้
  • ในส่วนผลตอบแทนที่เกินค่าการการันตี 1%ต่อปีที่สะสมอยู่ในกรมธรรม์ และสามารถถอนเงินส่วนนี้ออกไปใช้ได้คล้ายกับเงินปันผล โดยไม่จำเป็นต้องกู้ออกมาเหมือนแบบประกันชีวิตตลอดชีพปกติ แต่ก็เสี่ยงที่จะทำให้กรมธรรม์ไม่เหลือมูลค่าและปิดตัวลงไปได้

ข้อดี : ให้อิสระกับผู้เอาประกันมากขึ้น ในการได้เลือกปรับสัดส่วนค่า COI และค่าการลงทุนได้เองตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยจะเหมาะมาก ๆ กับการปรับทุนชีวิตให้สูงกว่าประกันชีวิตตลอดชีพแบบปกติในช่วงอายุวัยทำงานที่ต้องการความคุ้มครองสูงและจ่ายเบี้ยน้อย จากนั้นพอเกษียณแล้วค่อยปรับทุนชีวิตลงเพื่อประหยัดค่า COI

ข้อสังเกตุ : จะเป็นเช่นเดียวกับแบบประกันชีวิตที่มีเงินปันผลคือ พอร์ตการลงทุนที่บริษัทเป็นคนลงทุนให้นั้น ไม่สามารถเลือกปรับระดับความเสี่ยงที่สูงมากขึ้นได้ จึงทำให้แบบ Universal Life นี้ไม่เหมาะกับการปรับให้ทุนชีวิตให้ต่ำ ๆ เพราะแม้เหลือเงินลงทุนเยอะแต่ก็อัตราผลตอบแทนที่น้อย และจะไม่ได้ผลตอบแทนมากเท่ากับการไปลงทุนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ยังอยู่ในช่วงวัยทำงานที่มีระยะเวลาที่นานพอเพื่อช่วยในการลดความผันผวนจากการลงทุนได้

2.5

ประกันชีวิตควบการลงทุน Unit Linked

ผู้เอาประกันนำไปลงทุนเอง เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า และบริษัทไม่การันตีผลตอบแทน (จึงเป็นแบบประกันที่บริษัทประกันชีวิตชอบมากที่สุด และมีความยืดหยุ่นบางอย่างให้เพื่อแก้ปัญหาการไม่การันตีและเพื่อช่วยในการสนับสนุนให้ขายประกันชีวิตแบบนี้เป็นพิเศษ)

COI 4
  • แบบนี้บริษัทประกันจะชอบที่สุด เพราะจะไม่ต้องการันตีผลตอบแทนใดๆ ด้วยขึ้นอยู่กับพอร์ตการลงทุนที่ผู้เอาประกันเลือกเอง จึงทำให้ผลตอบแทนไม่คงที่แต่ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าแบบที่บริษัทลงทุนให้
  • โดยแบบนี้จะคล้ายคลึงกับแบบ Universal Life เพียงแต่ผู้เอาประกันสามารถจัดสรรค์พอร์ตการลงทุนเองได้ตามความเสี่ยงที่ต้องการ รวมถึงการซื้อและขายกองทุนภายในกรมธรรม์ เพื่อเติมเงินเข้าหรือนำเงินออก
  • ซึ่งจะนำผลตอบแทนการลงทุนที่ได้นี้กับเบี้ยประกันไปจ่าย ค่าการประกันภัย และ ค่าบริหารจัดการกองทุน ในทุกเดือน โดยค่าเหล่านี้จะถูกหักออกจากมูลค่าของพอร์ตกองทุนอัตโนมัติ
  • จริง ๆ ค่าบริหารจัดการกองทุน จะเหมือนกับค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวมทั่วไป เพียงแต่กองทุนรวมทั่วไปจะมีค่าธรรมเนียมส่วนนี้แตกต่างกันไปในแต่ละกองทุนรวม ในขณะที่กองทุนรวมที่อยู่ในพอร์ตประกันจะคิดเป็นค่าคงที่เท่ากันทุกกองทุนรวมไม่ว่าจะเป็นเป็นกองทุนแบบใดก็ตาม

ข้อดี : ผู้เอาประกันมีอิสระในปรับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนตามจุดประสงค์ที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงชีวิตได้ เช่น ปรับความคุ้มครองต่ำและเลือกพอร์ตความเสี่ยงปานกลางถึงสูงในวัยทำงาน และปรับเป็นพอร์ตความเสี่ยงต่ำสุดในวัยเกษียณ ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ได้ผลตอบแทนระยะยาวมากกว่าประกันชีวิตแบบตลอดชีพโดยปกติ

ข้อสังเกต : ผู้เอาประกันต้องทำความเข้าใจจุดประสงค์การทำประกันของตนเองให้ดี ๆ ว่าจะเน้นปรับให้คุ้มครองสูงเฉพาะชั่วระยะเวลาก่อนเกษียณ หรือเน้นปรับให้คุ้มครองต่ำแต่ตลอดชีพ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาของแบบประกันนี้คือ ค่า COI ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลังเกษียณ ที่จำเป็นต้องบริหารพอร์ตการลงทุนให้ดี

ปัญหาของค่า COI ในประกันชีวิตแบบที่เลือกลงทุนเอง

ค่าการประกันภัย  (COI : Cost of  Insurance) ที่เพิ่มขึ้นตามอายุนั้นจะถูกหักจากผลตอบแทนการลงทุน ซึ่งบริษัทประกันมักจะคิดเป็นค่าถัวเฉลี่ยจากผลตอบแทนคงที่แบบการันตีหากบริษัทลงทุนให้

แต่ถ้าหากผู้เอาประกันเลือกที่จะลงทุนเอง และเน้นพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ก็จะทำให้หากพอร์ตติดลบสูง (มูลค่าลดลงมาก) ก็จะถูกหักค่าการประกันภัยซ้ำเข้าไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนช่วงสูงอายุที่ค่า COI จะแพงมาก ๆ

ทำให้พอร์ตกองทุนรวมที่ความเสี่ยงสูงจะมีความผันผวนค่อนข้างมากและขอบเขตกว้าง ทำให้คาดการณ์ได้ยาก

ในทางกลับกัน ถ้าหากเลือกพอร์ตการลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำ ก็จะทำให้ผันผวนต่ำ และจำลองเหตุการณ์ในอนาคตจะทำได้แม่นยำมากกว่า

ดังนั้น การเลือกพอร์ตการลงทุนที่เสี่ยงต่ำ (ผันผวนต่ำ) เพื่อให้ตรงตามจุดประสงค์ของประกันที่เน้นความแน่นอนเป็นหลัก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตอนสูงอายุที่เบี้ยจะถูกใช้ไปเป็นค่า COI มากกว่าค่าการลงทุน  

ซึ่งบริษัทประกันจะมีการจัดพอร์ตแนะนำกองทุนรวมที่มีการจัดสรรสินทรัพย์การลงทุน (Asset Allocation Portfolio) ในความเสี่ยงแบบต่าง ๆ ดังตัวอย่างของบริษัท BLA ตามรูปด้านล่างนี้

ค่าการประกันภัย 10.3
ค่าการประกันภัย 11.4 as 2023 updated

จะเห็นได้ว่าพอร์ตกองทุนรวมแบบความเสี่ยงต่ำ ที่แม้ความผันผวนน้อยที่สุด แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะติดลบได้สูงสุดถึง -7.72% (MDD : Maximum Drawdown)  ในขณะที่พอร์ตกองทุนรวมแบบเสี่ยงสูงมากนั้น จะติดลบได้สูงถึง -26.27%  (ช่วงวิกฤตโควิด 2019 ระยะสั้น ๆ ก่อนตลาดกลับตัว)

นั่นหมายความว่าหากช่วงที่ติดลบมากๆ นั้น ไปอยู่ในช่วงอายุที่มากกว่า 55 ปีขึ้นไป และทุนชีวิตค่อนข้างสูง ก็จะทำให้ต้องแบกรับทั้งค่าประกันภัย COI ที่สูง และมูลค่าพอร์ตลงทุนที่ลดลงมากตามไปด้วย

นี่เองจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ บริษัทประกันจำเป็นต้องเลือกพอร์ตกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำ ในกรณีที่บริษัทประกันเป็นคนการันตีผลตอบแทนเอง

แต่ถ้าเป็นแบบนั้นสู้ให้บริษัทประกันลงทุนให้เองจะดีกว่าหรือไม่ ก็อาจจะต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติบางอย่างที่จะได้เพิ่มมา หากผู้เอาประกันเลือกลงทุนเองต่อไปนี้ร่วมด้วย

ปลดล็อค 4 อย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาของค่า COI นี้

เมื่อบริษัทประกันปลดล็อคให้เลือกลงทุนเองได้ แล้วเห็นถึงปัญหาที่จะตามมา ก็เลยจำเป็นต้องปลดล็อคสิ่งต่อไปนี้ตามไปด้วย เพื่อไว้ช่วยแก้ปัญหา

ปลดล็อคให้ผู้เอาประกันเพิ่มหรือลดทุนชีวิตได้เอง (ตามต้องการ) ในแต่ละช่วงอายุ

CHLI 4

การปลดล็อคตรงนี้เพื่อให้สามารถบริหารค่าการประกันภัยได้ตามขอบเขต สูงสุด-ต่ำสุด ดังตัวอย่างของ BLA ในตารางด้านล่าง ที่สามารถเพิ่มหรือลดทุนชีวิตได้ค่อนข้างกว้าง

เช่น อายุ 0-40 ปี(เพศหญิง) หากจ่ายเบี้ยปีละ 12,000 บ. จะได้ทุนชีวิตขั้นต่ำอยู่ที่ 600,000 บ. (12,000 x 50 เท่า) และทุนชีวิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000,000 บ. (12,000 x 250 เท่า)

ทำให้เมื่อตัวคูณยิ่งมาก ก็ยิ่งต้องจ่ายค่าการประกันภัย COI ที่สูงขึ้น ส่งผลให้เมื่ออายุมากขึ้นค่า COI ก็จะสูงขึ้นตามอย่างมาก ซึ่งถ้าไม่ต้องการความคุ้มครองสูงเหมือนช่วงที่กำลังสร้างฐานะแล้ว ก็ควรต้องปรับตัวคูณลงมาในภายหลัง

เช่น พออายุ 61 ปีขึ้นไป ควรปรับลดทุนชีวิตเหลือเพียง 60,000 บ. (12,000 x 5 เท่า) เป็นต้น เพื่อให้จ่ายค่า COI น้อยลง และเพื่อให้สัญญายังมีมูลค่าเหลืออยู่ เพื่อใช้ประโยชน์จากการปลดล็อคในส่วนถัดไป

ค่าการประกันภัย 13

ปลดล็อคให้สามารถเติมเงินหรือเติมเบี้ยเพิ่มพิเศษเข้ามาในสัญญาประกันชีวิตได้

CHLI 3

โดยปกติประกันชีวิตทั่วไปจะมีเพียงเบี้ยหลักเท่านั้น แต่พอมาเป็น Unit Linked แล้วจะเพิ่มเบี้ยขึ้นมาอีก 2 ชนิด คือ (1.) เบี้ยเพิ่มพิเศษเป็นประจำ (โดยจ่ายเพิ่มคงที่ทุกเดือนหรือทุกปี) กับ (2.) เบี้ยเพิ่มพิเศษไม่เป็นประจำ (เลือกจ่ายเพิ่มเองได้ตามสถานการณ์หรือตามความต้องการ)

จุดประสงค์ก็เพื่อให้สามารถเติมเงินพิเศษเข้ามาในกรมธรรม์ได้ ซึ่งประกันชีวิตทั่วไปไม่สามารถทำแบบนี้ได้ ทำให้เงินเพิ่มพิเศษส่วนนี้ช่วยจ่ายค่าการประกันภัย COI ต่อไปได้หากการจ่ายเบี้ยหลักเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ (เช่น ในสถานการณ์ที่พอร์ตกองทุนรวมติดลบเยอะมาก)

แม้ดูเหมือนจะเป็นข้อเสียแต่หากมองในอีกแง่มุมแล้ว กลับกลายเป็นข้อดีที่สามารถย้ายเงินจากพอร์ตกองทุนรวมปกติตอนเกษียณมาใส่ไว้ในสัญญาประกันชีวิตนี้แทนได้

เพื่อทำให้เงินส่วนนี้สามารถตกทอดถึงผู้รับผลประโยชน์โดยตรง(โดยไม่ต้องผ่านผู้จัดการมรดก) ซึ่งกองทุนรวมปกติจะไม่สามารถทำได้ เพราะจะถูกจัดให้เป็นมรดกซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการจัดตั้งผู้จัดการมรดกให้เรียบร้อยก่อน โดยอาจต้องใช้ระยะเวลานาน 6 เดือนหรือมากกว่า

ปลดล็อคให้เลือกระยะเวลาการจ่ายเบี้ยได้เอง

CHLI 2

เนื่องจากวิธีนี้จะคิดค่าการประกันภัย COI ทีละเดือนแต่จะการันตีต่ออายุเรื่อย ๆ หากพอร์ตกองทุนรวมในสัญญายังมีมูลค่าให้หักจ่ายค่า COI ได้อยู่

จึงทำให้หากเลือกทุนชีวิตแบบต่ำสุดเพื่อให้มีเงินลงทุนสูง ก็อาจจ่ายเบี้ยเพียง 20 ปีแล้วพอร์ตกองทุนรวมในสัญญาก็อาจเติบโตเพียงพอที่จะสามารถหยุดจ่ายเบี้ยได้ โดยจะหักค่าการประกันภัย COI จากพอร์ตกองทุนรวมที่เติบโตขึ้นมาแทนเบี้ยประกันได้นั้นเอง

แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาและจำลองการคาดการณ์ให้ดีว่าทุนชีวิตที่เลือกอยู่นั้น จะไม่ส่งผลให้ค่า COI สูงเกินมูลค่าพอร์ตกองทุนรวมได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดสัญญาในที่สุดหรือไม่

โดยการคาดการณ์ที่ดีไม่ควรจะใช้อัตราผลตอบแทนที่สูงและเสี่ยงเกินไป เพราะจะทำให้การจำลองการคาดการณ์ล่วงหน้ามีความคลาดเคลื่อนได้สูง

ปลดล็อคให้สามารถแนบสัญญาสุขภาพ หรือสัญญาโรคร้ายที่จ่ายเบี้ยเป้าหมายคงที่ ตลอดอายุสัญญา (UDR) เข้ามาในประกันชีวิตได้

กราฟสำหรับ E Book

โดยเบี้ยของสัญญานี้จะสูงกว่าแบบปกติ และเรียกว่า Target Premium หรือ เบี้ยคงที่เป้าหมาย เพราะต้องแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ (เบี้ยเป้าหมายคงที่แต่ค่าใช้จ่ายด้านประกันภัยภายในสัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ)

  • ส่วน1  ไว้จ่ายค่าการประกันภัยของสัญญาเพิ่มเติม หรือค่า COR : Cost of Rider (ขึ้นอยู่กับแผนประกันสุขภาพที่เลือก ผลตอบแทนการลงทุนในเดือนนั้น ๆ และจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ เช่นเดียวกับค่า COI ของประกันชีวิตที่ขึ้นกับทุนชีวิตที่เลือก ผลตอบแทนการลงทุน และเพิ่มตามอายุเช่นกัน)
  • ส่วน2  ไว้ลงทุนให้เงินเติบโตเพื่อช่วยจ่ายค่า COR ในอนาคตที่สูงขึ้น โดยสามารถหาอัตราส่วนเงินที่ควรลงทุน ผ่านการคำนวณถัวเฉลี่ยด้วยผลตอบแทนจำลองคงที่ประมาณ 3%ต่อปี ซึ่งจะทำให้ได้ตารางเบี้ยคงที่เป้าหมาย (Target Premium) ตามอายุเริ่มต้นทำประกันนั้น ๆ ในที่สุด และมั่นใจได้ว่าหากเป็นไปตามผลตอบแทนจำลองนี้และจ่ายเบี้ยคงที่ตามนี้ทุกปีแล้ว จะเพียงพอกับค่า COR ตลอดสัญญาได้

ข้อดีคือ  ได้สัญญาด้านสุขภาพที่มีเบี้ยคาดหวังคงที่เข้าใจง่าย บังคับให้มีวินัย และถ้าพอร์ตการลงทุนที่เลือกได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนจำลอง ก็อาจจะจ่ายเบี้ยเพียง 20 ปีเท่านั้น ก็เพียงพอที่จะครอบคลุมค่า COR ในอนาคตทั้งหมดได้ เพราะระบบจะทำการขายพอร์ตการลงทุนมาจ่ายค่าเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลดีต่อตอนสูงอายุที่อาจจะหลงลืมในเรื่องการจ่ายเบี้ยประกัน ให้ต้องมาโอนเงินหรือขายกองทุนรวมเพื่อจ่ายเบี้ยประกันเอง

ข้อจำกัดคือ เบี้ยที่จ่ายสูงเพราะรวมเงินที่ต้องแบ่งไปลงทุนนี้ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียง 25,000 บาทเท่านั้น และหากพอร์ตที่เลือกมีความเสี่ยงสูง และติดลบมาก ๆ ในตอนสูงอายุ ก็จะถูกหักค่าประกันภัยซ้ำเติมลงไปอีก และส่งผลให้ไม่เป็นตามการจำลองได้ ดังนั้นการปรับความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนตามให้ลดลงตามช่วงอายุที่มากขึ้นจึงจำเป็นอย่างมาก แต่โปรแกรมจำลองของบริษัทประกันมักจะเป็นเพียงค่าคงที่เท่านั้น ซึ่งจะจำลองแม่นยำมากขึ้นได้ต่อเมื่อเลือกพอร์ตความเสี่ยงต่ำที่ผันผวนน้อย (ผลตอบแทน 2%-3% ต่อปี) เท่านั้น

คำถามสำคัญ หากเทียบวิธีนี้ กับการใช้ประกันชีวิตตลอดชีพแบบดั้งเดิม + เบี้ยสุขภาพแบบปกติ + การลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษี RMF/SSF ไว้จ่ายเบี้ยสุขภาพล่วงหน้าเอง (ซึ่งลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท) แบบนี้ดูจะเป็นแนวทางที่ประหยัดได้มากกว่า และยังได้ตารางเบี้ยสุขภาพที่แน่นอน ไม่ใช่เบี้ยเป้าหมายแบบ UDR

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีบริษัทประกันใดจะสร้างเครื่องมือคำนวณเงินที่ต้องลงทุนตรงเองแบบนี้ขึ้นมาให้ผู้เอาประกัน เพราะจะทำให้ผู้เอาประกันได้จ่ายเบี้ยลดลง ซึ่งบริษัทก็จะได้ค่าดำเนินการประกันภัยที่น้อยลง ตัวแทนก็ได้ค่าตอบแทนการตลาดที่น้อยลง ตัวอย่างเช่น

จ่ายเบี้ยแบบ UDR ปีแรก 100,000 บ. คิดเป็น COR อาจจะ 30,000 บ. (ลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บ.) และ 70,000 บ. เป็นค่าดำเนินการประกันภัยกับแบ่งไปลงทุน กลับกันหากลงทุนกองทุนรวมเอง ทั้ง 70,000 บ. ก็จะเข้ากองทุนรวมทั้งหมด ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันและตัวแทนจะไม่ได้ส่วนแบ่งใดจากเงินลงทุนนี้เลย

ดังนั้นเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะจากทางฝั่งบริษัทประกัน จึงต้องเกิดขึ้นจากทุกฝ่ายที่ควรต้องชนะร่วมกัน จะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้เอาประกันจะได้ผลประโยชน์สูงสูดเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันที่จะต้องหาที่ปรึกษาการเงินที่สามารถคำนวณเงินลงทุนเองโดยตรงเพื่อไว้จ่ายเบี้ยประกันล่วงหน้าลักษณะนี้ให้ได้เท่านั้น ซึ่งจะดีมากหากสามารถคำนวณให้ใหม่ได้ในทุกปี เพราะจะทำให้ไม่ต้องลงทุนเท่ากันทุกปี เหมือนแบบที่จ่ายเบี้ยเป้าหมายคงที่ (Target Premium) ของแผน UDR ด้วยนั้นเอง

ควรเลือกประกันชีวิตแบบใด : บริษัทลงทุนให้ VS. ลงทุนเอง

จากการที่บริษัทประกันมีทั้งลงทุนให้และปล่อยให้ผู้เอาประกันลงทุนเอง จึงทำให้เกิดรูปแบบประกันชีวิตดังนี้

A. ประกันชีวิตชั่วระยะเวลาและแบบตลอดชีพ

แบบ A จะเป็นต้นแบบให้กับประกันชีวิตรูปแบบที่พัฒนาต่อมาทั้งหมด โดยที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนให้ พร้อมการันตีมูลค่าเวนคืนของกรมธรรม์ในปีต่างๆ ให้เรียบร้อยในรูปแบบสัญญา มีความแน่นอนสูง และเบี้ยค่อนข้างถูกที่สุด (โดยส่วนใหญ่) 

B. ประกันชีวิตตลอดชีพควบโรคร้าย

C. ประกันชีวิตตลอดชีพมี เงินปันผล/เงินคืน

D. ประกันชีวิตแบบ Universal Life

ในแบบ B - D จะเกิดขึ้นตามเสียงเรียกร้องของผู้เอาประกันว่า ไม่ต้องการให้คุ้มครองเพียงชีวิต ต้องการให้มีโรคร้ายด้วย ต้องการได้เงินคืน (การันตี) มากขึ้นหรืออย่างน้อยมีเงินปันผล (ไม่การันตี) แต่ต้องไม่ขาดทุนด้วย จึงเกิดเครื่องมือลักษณะนี้ขึ้นมา ซึ่งแบบ B-D บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนให้ จึงการันตีว่าผลตอบแทนในแต่ละปีไม่ติดลบ มีความแน่นอนสูง แต่เบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับหนึ่ง

โดยเป็นเครื่องมือที่เน้นทำมาเพื่อตอบโจทย์ตลาด ทั้งที่จริง ๆ หากมีการใช้เครื่องมืออื่น ๆ ร่วมด้วยทั้งประกันสุขภาพ  ประกันโรคร้าย กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้น จะสามารถตอบโจทย์ในแบบที่ B-D ได้เช่นกัน และบางอย่างอาจจะตรงกับจุดประสงค์ได้มากกว่าอีกด้วย

E. ประกันชีวิตแบบ Unit Linked

ในแบบ E จะเป็นแบบเดียวที่สามารถเลือกลงทุนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะตามมาด้วยปัญหาค่า COI ที่สูงมากตอนสูงอายุที่ต้องบริหารทุนชีวิตและการลงทุนให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจทำให้มูลค่าในกรมธรรม์หมดก่อนอายุที่ต้องการได้ ( เป็นปัญหาเดียวกับแบบ D ) เพราะแบบ D-E ไม่การันตีอายุกรมธรรม์ โดยจะขึ้นอยู่กับมูลค่าในกรมธรรม์เท่านั้นว่าเหลือหรือไม่

ด้วยปัญหา COI ตอนสูงอายุนี้เอง จึงมักปรับให้แบบ D-E ให้เป็นแบบชั่วระยะเวลา คือ ให้ทุนชีวิตสูงและเน้นคุ้มครองจนถึงอายุ 60 ปี หรืออายุเกษียณเท่านั้น เพราะอัตราความสำเร็จที่กรมธรรม์จะอยู่รอดถึงอายุเกษียณนั้นสูงมาก และบางช่วงอายุเบี้ยประกันยังประหยัดกว่าแบบประกันชีวิตชั่วระยะเวลาแบบดั้งเดิม รวมไปถึงมีความยืดหยุ่นของระยะเวลาความคุ้มครองที่มากกว่า 

จากคุณสมบัติของประกันชีวิตทั้ง 5 แบบ เพื่อให้สามารถพิจารณาเลือกแบบประกันชีวิตที่ บริษัทลงทุนให้ หรือ ที่เลือกลงทุนเอง ได้ง่ายขึ้น จึงสามารถแบ่งการพิจารณาออกมาเป็น 2 แบบดังต่อไปนี้

แบบที่ 1 : คุ้มครองสูงชั่วระยะเวลา บริษัทลงทุนให้ VS. ลงทุนเอง

แบบเน้นทุนชีวิตสูงเฉพาะระยะเวลาที่กำหนด

เป็นรูปแบบประกันดั้งเดิมที่นิยมมาก เนื่องจากมีเบี้ยประกันที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้สูง เพราะรับประกันภายในระยะ 10-20 ปีเท่านั้น

โดยจะคิดค่าการประกันภัยจากผลตอบแทนการันตีคงที่ (ภายในระยะ 10-20 ปีเท่านั้น) และเมื่อครบกำหนดจะไม่มีเงินเหลือในพอร์ตกองทุนรวมใด ๆ เพราะใช้ครบเท่ากับความคุ้มครองที่ได้พอดี

ทำให้แผนนี้มีปัญหาใหญ่ตรงที่ระยะเวลา 20 ปี อาจไม่เพียงพอที่จะคุ้มครองยาวถึงอายุ 60 ปีหรือก่อนเกษียณได้ (หากทำตอนช่วงอายุ 30 ปีลงไป) จึงทำให้เมื่อครบ 20 ปีแล้วก็ต้องยื่นขอทำประกันใหม่อีกครั้ง

และด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ได้ทุนความคุ้มครองลดลง เมื่อยังใช้เบี้ยประกันเท่าเดิม

ตัวอย่างกราฟ (ด้านล่าง) เป็นประกันเฉพาะเวลาของ เพศชาย อายุ 23 ปี เบี้ยประกัน 12,000 บาทต่อปี โดยทุนชีวิตที่ได้คือ 1,944,895 บาท 20 ปีแรก และ 836,237 บาท 20 ปีที่สอง

กราฟทุนประกันเปรียบเทียบ 2 แบบ 4

แต่พอปลดล็อคให้เลือกลงทุนและเลือกปรับทุนชีวิตเองได้แล้ว จึงทำให้ต้องคำนวณค่าการประกันภัยแบบรายเดือนแทน และให้ต่ออายุเรื่อย ๆ จนกว่าพอร์ตกองทุนรวมจะหมด

เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าพอร์ตจะหมดตอนไหน เนื่องจากผลตอบแทนการลงทุนเป็นแบบไม่คงที่ และเป็นการคาดการณ์เท่านั้น ไม่ได้มีการันตีจากบริษัทประกันแบบประกันแบบดั้งเดิม

ซึ่งรูปแบบนี้มักจะทำการปรับลดความคุ้มครองลงเหลือต่ำสุดหลังอายุ 60 พร้อมกับหยุดจ่ายเบี้ยและใช้เงินที่เหลือในพอร์ตกองทุนรวมจ่ายค่าการประกันภัยแทน เพื่อให้สัญญานี้ยังมีอายุต่อได้จนถึงอายุครบ 99 ปี

จากจุดนี้เอง จึงทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการปลดล็อคนี้ ให้ยังคงคุ้มครองสูงและต่ออายุได้ยาวจนถึงอายุ 60 ปีได้ โดยยังคงใช้เบี้ยประกันเท่าเดิม เพียงผู้เอาประกันบริหารค่าการประกันภัยให้ดีเท่านั้น

ตัวอย่างกราฟ เพศชาย อายุ 23 ปี เบี้ยประกัน 12,000 บาทต่อปี ชำระถึงอายุ 60 ปี โดยทุนชีวิตขั้นสูงสุดที่เลือกได้ของเบี้ยประกันนี้คือ 2,400,000 บาท

กราฟทุนประกันเปรียบเทียบ 2 แบบ 7

การทำแบบนี้ทำให้เมื่อถึงตอนเกษียณ จะสามารถทำการย้ายเงินลงทุนจากกองทุนรวมปกติ เช่น RMF ที่คาดการณ์ว่าจะใช้ตอนเกษียณ  มาอยู่ในพอร์ตกองทุนรวมของประกันชีวิตนี้แทนได้

ซึ่งมีข้อดีคือ ความเสี่ยงต่ำ และกำหนดให้ขายกองทุนออกมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนคล้ายเงินบำนาญตามที่ต้องการได้อัตโนมัติ (Auto Redemption)

ที่สำคัญหากต้องจากก่อน เงินส่วนเกษียณส่วนนี้ก็จะกลายเป็นของผู้รับผลประโยชน์ทันที ไม่ต้องผ่านขบวนการศาลใด ๆ เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต ซึ่งไม่ใช่มรกดกตกทอด

รูปแบบนี้จึงได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับคนวัยทำงานตั้งแต่อายุ 23-45 ปี ที่ค่าการประกันภัยยังไม่สูงมาก

แบบที่ 2 คุ้มครองสูงตลอดชีพ บริษัทลงทุนให้ VS. ลงทุนเอง

แบบไม่เน้นวงเงินทุนชีวิตสูงแต่ได้ตลอดชีวิตเป็นหลัก

แบบนี้จะมีชื่อเรียกว่า ประกันชีวิตตลอดชีพ ซึ่งจะเป็นวงเงินรับประกันเท่ากันจนถึงอายุ 99 ปี และมักใช้เวลาจ่ายเบี้ย 20 ปีหรือน้อยกว่า และเมื่อครบกำหนดสัญญาจะมีเงินคืนให้เท่ากับวงเงินรับประกัน

จึงทำให้จำเป็นต้องลดทุนชีวิตลงมา โดยจ่ายเบี้ยปีละหลักหมื่นได้ความคุ้มครองหลักแสน แทนที่จะได้หลักล้านในแบบที่ 1

แต่ก็เพื่อทำให้พอร์ตกองทุนรวมมีเหลือเพียงพอที่จะเติบโต ครอบคุลมค่าประกันภัยจนถึงอายุ 99 ปี แล้วยังมีเงินคืนให้เท่าวงเงินที่รับประกันชีวิตด้วย

ตัวอย่างกราฟ เพศชาย อายุ 23 ปี เบี้ยประกัน 12,000 บาทต่อปี จ่ายเบี้ยนาน 20 ปี มีวงเงินคุ้มครองยาวถึงอายุ 99 ปี ที่ทุนชีวิต 585,652 บาท

กราฟทุนประกันเปรียบเทียบ 2 แบบ 6

ประกันชีวิตตลอดชีพรูปแบบดั้งเดิมนี้ เป็นที่นิยมเพราะเรียบง่ายชัดเจน และการันตีจากบริษัทประกันชัดเจนว่าครบอายุสัญญาจะได้เงินคืนเท่าไร หรือ หากต้องการเวนคืนก่อนครบอายุสัญญญาจะได้เท่าไร

มีความแน่นอนสูงมาก เหมาะใช้เป็นสัญญาหลักให้กับสัญญาเพิ่มเติมอย่างประกันสุขภาพ ที่จะสามารถต่ออายุได้เรื่อย ๆ ตามความยาวของอายุสัญญาหลัก และมักใช้ดูแลค่าจัดการฌาปนกิจไปด้วยเลย

ซึ่งหลังจากการปลดล็อคให้สามารถลงทุนและเลือกทุนชีวิตเองได้ จึงทำให้แบบประกันแบบใหม่นี้จะสามารถเลียนแบบประกันตลอดชีพแบบดั้งเดิมได้ด้วยการเลือกทุนชีวิตขั้นต่ำสุดเท่าที่จะเลือกได้เพื่อให้เหลือเงินลงทุนเยอะที่สุด

และบางช่วงอายุโดยเฉพาะเริ่มทำประกันตอนอายุยังไม่มาก เงินลงทุนที่เลือกพอร์ตลงทุนเองมีโอกาสที่จะสูงเกินกว่าทุนชีวิตที่เลือกไว้ในตอนแรกได้ แต่ก็ไม่ได้มีการการันตีใดๆ ว่าจะได้ตลอดชีพจริงๆ ส่วนใหญ่จึงต้องลุ้นให้สิ้นอายุขัยก่อน ถึงอายุที่โปรแกรมคาดการณ์ว่าสัญญาจะมีมูลค่าอยู่ถึงได้

ตัวอย่างกราฟ ของเพศชาย อายุ 23 ปี เบี้ยประกัน 12,000 บาทต่อปี ชำระเบี้ยนาน 20 ปี โดยทุนชีวิตขั้นต่ำสุดที่เลือกได้คือ 600,000 บาท

chart COI3

จะเห็นได้ว่าเมื่อถึงจุดที่มูลค่าพอร์ตกองทุนรวมสะสมสูงเกินกว่าทุนชีวิตที่ต้องการ บริษัทประกัน เช่นของ BLA จะทำการปรับลดความคุ้มครองเหลือเพียง 5 เท่าของเบี้ยประกันโดยอัตโนมัติ เพราะถือว่าผู้เอาประกันสามารถที่จะรับประกันชีวิตตนเองได้แล้วนั้นเอง

จุดเด่น ของแบบนี้คือเรื่องของมรดก โดยจะมีโอกาส(ไม่แน่นอน)เหลือเงินให้ผู้รับผลประโยชน์ได้มากกว่าประกันชีวิตแบบดั้งเดิมได้ และสามารถเลือกพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยสูงกว่าประกันรูปแบบที่ 1 (ชั่วระยะเวลา) ได้

เพราะเงินที่เหลือลงทุนหลังหักค่าการประกันภัยจะเหลือเยอะกว่ามาก จึงทำให้รูปแบบที่ 1 (ชั่วระยะเวลา) ไม่เหมาะกับการลงทุนที่มีความผันผวนสูง เพราะจะผิดพลาดหรือผลตอบแทนติดลบได้น้อยกว่ารูปแบบที่ 2 (ตลอดชีพ) อย่างมาก

แต่ด้วยความผิดพลาดนี้เอง จึงทำให้โดยส่วนใหญ่ตัวแทนประกันที่เน้นเรื่องความปลอดภัย และความแน่นอน จะไม่แนะนำให้ทำ Unit Linked ที่เลียนแบบให้เป็นแบบตลอดชีพ เว้นแต่อายุผู้เริ่มทำน้อยจริงๆ และมีการแนะนำให้ปรับความเสี่ยงของพอร์ตตอนก่อนเกษียณสูงและพอร์ตหลังเกษียณที่เสี่ยงต่ำลง 

สรุป จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ จะเห็นว่าหากเลือกให้บริษัทลงทุนให้จะเหมาะกับเน้นให้เครื่องมือประกันคือ จัดการความไม่แน่นอนให้มีความแน่นอนจริงๆ โดยการันตีในรูปแบบสัญญา ส่วนในเรื่องการลงทุนเองจะเหมาะกับการคุ้มครองแบบชั่วระยะเวลาจนถึงอายุเกษียณ ที่มีความยืดหยุ่นกว่าแบบที่บริษัทลงทุนให้ และยังไม่เจอปัญหาค่า COI ที่สูงมากนัก

การถูกขอปรับเพิ่มเบี้ย หรือ COI เนื่องจากโรคประจำตัว และความเสี่ยงของอาชีพ

CHLI 8

ประกันชีวิตจะมีการพิจารณาประวัติการรักษา และโรคประจำตัวด้วย โดยหากมีโรคประจำตัวเช่น ความดัน เบาหวาน นอนไม่หลับ มีค่าดัชนีมวลกายสูง ค่าตับสูง

ทางฝ่ายพิจารณาก็จำเป็นต้องตรวจสอบว่า อาการเหล่านี้ควบคุมได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็จะไม่สามารถรับประกันได้ หรือหากควบคุมได้ก็จะพิจารณาว่าอยู่ในเกณฑ์ใด จึงจะกำหนดเบี้ยเพิ่มได้

ดังนั้นหากทราบว่าตนเองมีประวัติการรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัว รวมถึงโรคเกี่ยวกับสมองและหัวใจ จะจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรดูแลรักษาและติดตามอาการอย่างเคร่งครัด

และควรดำเนินการขอประวัติการรักษาจาก รพ. ที่รักษามาให้เรียบร้อย เพื่อใช้ในการยื่นขอทำประกันได้มากกว่า 1 บริษัทฯ และยังสามารถเลือกบริษัทที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุดได้

ทั้งนี้เบี้ยประกันชีวิต ยังสามารถขึ้นอยู่กับขั้นความเสี่ยงของอาชีพได้อีกด้วย โดยเบี้ยมาตรฐานจะอยู่ที่อาชีพความเสี่ยงขั้น 1-2 หรือเน้นทำงานใน Office

ในขณะที่อาชีพความเสี่ยงขั้น 3 หรือความเสี่ยงสูงกว่า จะมีการปรับเบี้ยประกันชีวิตที่สูงมากขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นหากในอนาคตมีการปรับเปลี่ยนอาชีพที่ปลอดภัยมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งเรื่องการเปลี่ยนอาชีพกับตัวแทน เพื่อปรับลดเบี้ยลง

ในขณะที่หากมีการปรับเป็นอาชีพที่เสี่ยงสูงขึ้น ก็ควรแจ้งเช่นกัน เพราะสุดท้ายเมื่อเกิดเหตุอะไรขึ้น ทาง รพ. มักจะสอบถามถึงอาชีพ การเงินและสาเหตุ ซึ่งก็จะส่งผลต่อการคิดเบี้ยย้อนหลังได้

บทสรุปวิธีเลือกแบบประกันชีวิตผ่านโครงสร้างของเบี้ยประกัน

เครื่องมือประกันชีวิตนี้ว่ามีทั้งแบบดั้งเดิมที่บริษัทลงทุนให้และการรันตีมูลค่าเวนคืน กับแบบปลดล็อคที่บริษัทให้ลงทุนเองและไม่การันตีผลตอบแทน

ซึ่งในแต่ละแบบก็จะมีจุดประสงค์ย่อยลงไปทั้งเพื่อให้คุ้มครองสูงชั่วระยะเวลาอายุหนึ่ง และแบบที่ให้ความคุ้มครองลดลงแต่ได้ตลอดชีวิต

โดยทุก ๆ แบบจะมีค่าใช้จ่ายและความคุ้มครองที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับ อายุ-สุขภาพ-เพศ-อาชีพ รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่แต่ละบริษัทเจ้าของเครื่องมือจะกำหนดไว้แตกต่างกัน เพื่อให้ยากต่อการเปรียบเทียบตรง ๆ

ดังนั้นการจะเลือกประกันชีวิตให้ตรงกับความต้องการ จึงจำเป็นต้อง ศึกษาที่มาที่ไปของแบบประกันชีวิตนั้น ๆ ให้ดี และควรเปรียบเทียบในทุกแง่มุม

โดยเฉพาะแง่มุมของความแน่นอนตามจุดประสงค์การใช้งานและต้องคิดไว้เสมอว่ายังมีเครื่องมือการเงินอื่น ๆ ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่จำเป็นต้องให้จบทุกอย่างในประกันชีวิต

เพราะสิทธิลดหย่อนประกันชีวิตนั้น มีเพียง 100,000 บ. เท่านั้น โดยหากตัดสิทธิของประกันสุขภาพและโรคร้าย 25,000 บ. ออกไป ก็จะเหลือเพียง 75,000 บ. โดยการจะใช้ 75,000 ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาในมุมมองภาระต่าง ๆ  รวมด้วยดังในบทความต่อไป อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

CHI ประกัน OPD2

การเลืิอกแบบประกันชีวิตผ่านมุมมองภาระที่มี

การวางแผนเกษียณอย่างจริงจัง

เริ่มขึ้น..เมื่อ

เข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือทางการเงิน

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • Ruchira Taboonruang

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก