มาตรฐานใหม่ประกันสุขภาพที่บังคับใช้ปี 2565 ดีจริงหรือไม่!?!

"มาตรฐานใหม่นี้ปิดช่องไม่ให้บริษัทประกันเอาเปรียบลูกค้าที่สุจริต ได้จริงหรือไม่?"

มาตรฐานประกันสุขภาพปรับปรุงครั้งสุดท้ายปี 2549 และได้ออกมาตรฐานใหม่ (New Health Standard) มาในปี 2562 กับมีการปรับปรุงอีกในปี 2564 และจะบังคับใช้จริงให้มีเฉพาะสัญญาประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ในทุกบริษัทประกันตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 นี้ (ซึ่งหลายบริษัทได้เปลี่ยนเป็นมาตรฐานใหม่เสร็จสิ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 เรียบร้อยแล้ว) ทำให้ต้องรอนานกว่า 15 ปีกับปัญหาที่ร้องเรียนมากมาย

โดยจะมีปัญหาต่าง ๆ และข้อขัดแย้งที่พบเจอบ่อยครั้ง ดังต่อไปนี้


ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะ ไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดลงไปอย่างชัดเจน ตั้งแต่มาตรฐานปี 2549 ทำให้แต่ละบริษัทจึงสามารถเลือกปฏิบัติให้แตกต่างกันได้ และหลายครั้งไม่ใช่เพียงเพราะต้องการกันลูกค้าที่ทุจริตออกไป แต่ยังไปกระทบลูกค้าที่สุจริตใจไปด้วย

จึงทำให้เกิดมาตรฐานใหม่ที่จะกล่าวต่อไปนี้ขึ้นมา เพื่อทำให้ทั้ง 

เป็นมาตรฐานทางสัญญาประกันสุขภาพในแบบเดียวกัน

มาลองดูกันว่ามาตรฐานใหม่นี้จะแก้ปัญหาเดิม ๆ ที่ผ่านมาได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางแอนนี่เองบอกได้เลยว่า มาตรฐานนี้ส่งผลโดยตรงต่อการนำเสนอขายของตัวแทนอย่างมากค่ะ ไปดูกันเลย!

ปัญหา : การไม่ต่ออายุสัญญาประกันสุขภาพ

มาตรฐานเก่าปี 2549

ที่สัญญาระบุว่า “บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการต่ออายุในรอบปีกรมธรรม์ถัดไป” มีจุดประสงค์เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีการเคลมเยอะแบบผิดปกติออกจากกลุ่มผู้เอาประกัน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางของผู้เอาประกันทั้งหมด ที่ถูกเอาไปใช้อย่างไม่ยุติธรรม

แนวคิดดูน่าสนใจ แต่ในการปฏิบัติจริงกลายเป็นว่า มีบริษัทนำข้อสัญญานี้ไปใช้เพื่อไม่ต่อสัญญาให้กับผู้เอาประกันที่ก็ได้เคลมอย่างสุจริตใจตามความจำเป็นทางการแพทย์ออกไป เพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่เคลมจะเยอะมากในทุก ๆ ปี เนื่องจากได้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้ว จึงทำให้เกิดข้อพิพาทในประเด็นนี้ขึ้นบ่อยครั้งมากค่ะ

มาตรฐานใหม่ปี 2564

สัญญาระบุว่า จะไม่ต่อสัญญา เมื่อ:

  • มีหลักฐานพบว่า ผู้เอาประกันภัยไม่แถลงข้อความจริงตามใบคำขอเอาประกัน หรือคำขอต่ออายุ ใบแถลงสุขภาพ หรือข้อแถลงเพิ่มเติมอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
  • ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์ จากการที่ตนให้มีการรักษาการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่ ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์
  • ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมกันทุกบริษัทเกินกว่ารายได้ที่แท้จริง (เช่น รายได้จริงต่อวัน ๆ ละ 1,000 แต่ทำประกันชดเชยรวมทั้งหมด 5,000 บาทต่อวัน)

ทำให้เห็นว่า มาตรฐานใหม่มีการระบุอย่างชัดเจน ทำให้บริษัทจะไม่ต่อสัญญาไม่ได้ ถ้าไม่ได้เข้าเงื่อนไขเหล่านี้

ข้อสังเกต

มาตรฐานใหม่นี้ เป็นแนวโน้มที่ดีมาก ๆ แต่ก็อาจมีผลกระทบต่อเคสลูกค้าที่กลายมาเป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงที่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน และกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้เงินกองกลางของผู้เอาประกันลดลงได้อย่างมาก จึงทำให้เกิดแนวทางแก้ไขในข้อถัด ๆ ไปนี้ค่ะ

ปัญหา : การเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพรายบุคคล

มาตรฐานเก่าปี 2549

จะสามารถเพิ่มเบี้ยประกันเฉพาะรายบุคคลได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากนายทะเบียนก่อน ซึ่งการที่มีสัญญาข้อนี้ ก็เพื่อทำให้ผู้เอาประกันที่ได้ป่วยเป็นโรคเรื้อรังและต้องเคลมประกันมากกว่าปกติในทุกปี (ภายหลังการทำประกัน) จะได้จ่ายเบี้ยอย่างยุติธรรมต่อผู้อื่น กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของตนเอง

ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า ผู้เอาประกันรายนั้น ๆ เข้าข่ายเคสลักษณะนี้จริงหรือไม่ จึงไม่ใช่เพียงเพราะบริษัทประกันต้องการเพิ่มเบี้ยเพื่อหาทางคัดลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงออกไปเท่านั้น หรือไม่ใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรเพิ่มเติม

มาตรฐานใหม่ปี 2564

การเพิ่มเบี้ยจะ ไม่สามารถเพิ่มรายบุคคลได้ แต่ต้องพิจารณารวมกันทั้งหมดของผู้เอาประกัน หากพิจารณาแล้วเห็นว่า มีอัตราการเคลมที่สูงโดยรวมทั้งหมด และอาจทำให้เงินกองกลางไม่เพียงพอ บริษัทก็สามารถยื่นเรื่องไปยังนายทะเบียน เพื่อพิจารณาขอเพิ่มเบี้ยประกันทั้งหมดของสัญญาประกันสุขภาพนั้น ๆ ได้

ทำให้โอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทนั้น ลดลงอย่างมาก เพราะการที่คนทำประกันสุขภาพ ก็เพื่อช่วยจัดการเหตุที่เลวร้ายอย่างการเป็นโรคร้ายแรง หรือโรคเรื้อรังเหล่านี้ ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสการเกิดเป็นโรคนั้นไม่ได้สูงมาก และไม่น่าจะมีผลกระทบต่อเงินกองกลางได้ง่าย ๆ และไม่ได้เป็นการผลักภาระไปให้นายทะเบียนพิจารณาบ่อยครั้งจนเกินไปด้วยค่ะ

ข้อสังเกต

แต่ก็มีแนวโน้มว่า หากมีคนกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น หรือมีคนที่มักเคลมค่ารักษาสุขภาพบ่อย ๆ ที่ยังอยู่ในขอบเขตความจำเป็นทางการแพทย์ เพื่อให้คุ้มค่ากับเบี้ยประกันที่จ่ายไปตามคำโฆษณาของตัวแทน ก็จะทำให้ไม่ยุติธรรมต่อผู้เอาประกันคนอื่น ที่ไม่ค่อยได้เคลมหรือไม่เคยเคลมเลย (ก็มี) แต่กลับต้องมาแบกรับภาระโดนปรับขึ้นเบี้ยประกันไปด้วย

ทำให้มาตรฐานใหม่ยังเปิดช่องให้ บริษัทใช้ดุลยพินิจในการจัดการลดความเสี่ยงนี้ผ่านการลดการรับภัยรายบุคคลได้ เช่น จากแต่ก่อนรับมา 100% ของสิทธิค่ารักษา ก็จะเหลือรับได้ต่ำที่สุดที่ 70% ได้  ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันต้องช่วยออกค่าใช้จ่ายที่เหลือเอง 30% ขอสิทธิค่ารักษารวมถึงส่วนที่เกินสิทธิค่ารักษา แต่ทั้งนี้บริษัทประกันเองก็จะลดเบี้ยประกันลงให้เช่นกัน ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า copayment ค่ะ

ซึ่งจะแตกต่างกับแบบเดิมที่หากเจอเคสลักษณะนี้ บริษัทประกันอาจขอเพิ่มเบี้ยที่สูงขึ้นมากในรายบุคคล หรือพิจารณาไม่รับต่ออายุสัญญาประกันสุขภาพไปเลย (ก็เป็นไปได้ค่ะ)

ดังนั้น มาตรฐานใหม่นี้จริง ๆ ก็ยังเปิดช่องการจัดการเบี้ยรายบุคคลคล้ายมาตรฐานเก่าอยู่ เพียงแต่ไม่ใช่เป็นการเพิ่มเบี้ย แต่เปลี่ยนเป็นการ ขอรับความเสี่ยงที่น้อยลงและมาร่วมจ่ายค่ารักษาด้วยกัน แทนค่ะ

โดยเงื่อนไขการถูกให้ copaymemt 30% จะเป็นข้อใดข้อหนึ่งดังนี้ (อัพเดทปี 64 เพิ่มเติมจากของปี 62)

  1.  อยู่ในดุลยพินิจของบริษัท ?!? หรือ
  2.  ในปีนั้นผู้เอาประกันภัยแต่ละรายในสัญญาแผนนี้มีการเคลมสูงกว่า 2 เท่าของเบี้ยประกันปีนั้น (คาดว่าจะคิดเป็นค่าเฉลี่ย เป็นการมองทั้ง Portfolio ไม่ได้มองเป็รายบุคคล) โดยผู้ที่จะถูก copayment จะเป็นผู้ที่ เคลมค่ารักษาด้วยโรคเล็กน้อยทั่วไป (โรคทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ท้องเสียฉับพลัน วิงเวียนศีรษะ อื่นๆ แล้วแต่บริษัทขอทางนายทะเบียน คปภ.)  4 ครั้งขึ้นไปต่อปีกรมธรรม์ เพราะคุณคือจุดอ่อน หรือ
  3.  ในปีนั้นผู้เอาประกันภัยแต่ละราย (คาดว่าจะคิดเป็นค่าเฉลี่ย เป็นการมองทั้ง Portfolio ไม่ได้มองเป็รายบุคคล) ในสัญญาแผนนี้มีการเคลมสูงกว่า 4 เท่าของเบี้ยประกันปีนั้น
  4.  และหากข้อ 1-3 เข้าข่าย 2 ข้อขึ้นไป ผู้เอาประกันที่ถูกเพ็งเล็งจะถูกให้ copayment มากกว่า 50% เลยทีเดียว

จากเงื่อนไขที่กล่าวมา Portfolio ของประกัน แบบมี OPD สูงๆ ค่าห้องสูงๆ ประกันสุขภาพเด็กค่าห้องสูง ประกันที่ให้ความคุ้มครองอาการที่ควรยกเว้น เช่น โรคแทรกซ้อนการตั้งครรภ์ ค่าทำฟัน แต่เบี้ยถูกกว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงจะเข้าข่าย ข้อ 2 กับข้อ 3 ได้ง่ายมาก โดยเฉพาะข้อ 3 อาจจะถูกให้ปรับเบี้ยทั้งพอร์ตร่วมด้วย หากพิจารณาแล้วว่าแต่ละปีที่ผ่านมาก็มีการเคลมสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้นการเลือกแผนประกันเพราะใครๆ ก็คิดว่า เคลมได้มากกว่าเบี้ยที่จ่ายไปแน่นอน จึงเสี่ยงสูงมากที่จะทั้งถูกให้โดนปรับเบี้ยเพิ่มขึ้น และถูกให้ copayment ซ้ำลงไปอีก และทำให้ประกันสุขภาพตัวใหม่ๆ ไม่กล้าทำการตลาดแบบยอมขาดทุนก่อนได้อีก

ปัญหา : หมวดผลประโยชน์ที่เข้าใจยากและมีข้อจำกัดด้านค่ารักษา

มาตรฐานเก่าปี 2549

แต่ละบริษัทมีหมวดผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน และการเรียงลำดับก็แตกต่างเช่นกัน โดยเฉพาะกับแผนประกันสุขภาพใหม่ ๆ จึงส่งผลให้ เวลาที่ลูกค้าจะเปรียบเทียบกัน ก็จะเปรียบเทียบได้ค่อนข้างยาก

และมักมีเงื่อนไขแอบแฝง เช่น หมวด A รวมกับหมวด B โดยคิดค่าใช้จ่ายรวมกันแต่ไม่เกิน 5 แสนบาท จากทุนประกัน 1 ล้านบาท โดยที่เหลืออีก 5 แสนต้องเป็นโรคตามหมวด C ถึงจะใช้ได้ เป็นต้น

มาตรฐานใหม่ปี 2564

มีการกำหนด 13 หมวดขึ้นมาอย่างชัดเจนและเหมือนกันทุกบริษัท หากบริษัทใดมีหรือไม่มีการให้ความคุ้มครองที่มากกว่าหรือน้อยกว่า 13 หมวดนี้ ก็จะสังเกตเห็นได้ง่าย และเปรียบเทียบกันได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายก็จะแยกออกไปตามหมวดนั้นตามทุนประกัน โดยให้มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย ดังตัวอย่างนี้ค่ะ

  1. ค่าห้องและค่าอาหาร ค่าบริการในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง (ผลประโยชน์ข้อ 1.1 และ1.2 รวมกันสูงสุดไม่เกิน 180 วัน)
  2. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยหรือบำบัดรักษา ค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิต ค่าบริการทางการพยาบาล ค่ายา ค่าสารอาหารทางหลอดเลือด และค่าเวชภัณฑ์ ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
  3. ค่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์) ตรวจรักษา ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง (สูงสุดไม่เกิน 180 วัน)
  4. ค่ารักษาพยาบาลโดยการผ่าตัด (ศัลยกรรม) และหัตถการ ต่อการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
  5. การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery)
  6. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนและหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน หรือค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอกที่ต่อเนื่องเกี่ยวข้องโดยตรงหลังการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ต่อการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในครั้งใดครั้งหนึ่ง
  7. ค่ารักษาพยาบาลการบาดเจ็บ กรณีผู้ป่วยนอก ภายใน 24 ชั่วโมง ของการเกิดอุบัติเหตุต่อครั้ง
  8. ค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู หลังการเข้าพักรักษาเป็นผู้ป่วยใน สูงสุดไม่เกิน 30 วันต่อโรค แต่ละครั้ง ต่อรอบปีกรมธรรม์
  9. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคไตวายเรื้อรัง โดยการล้างไตผ่านทางเส้นเลือด ต่อรอบปีกรมธรรม์
  10. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยรังสีรักษา รังสีร่วมรักษา เวชศาสตร์นิวเคลียร์รักษา ต่อรอบปีกรมธรรม์
  11. ค่าบริการทางการแพทย์เพื่อการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง โดยเคมีบำบัด ต่อรอบปีกรมธรรม์
  12. ค่าบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน
  13. ค่ารักษาพยาบาล โดยการผ่าตัดเล็ก

ข้อสังเกต

การจัดหมวดดังนี้ ช่วยให้ลดปัญหาในการเคลมประกัน และความไม่ครอบคลุมค่ารักษาของประกันสุขภาพมาตรฐานเก่าได้มาก แต่ตัวแทนก็ยังจำเป็นต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงความหมายต่าง ๆ ของแต่ละหมวด ไม่อย่างนั้นพอจะเคลมขึ้นมาจริง ๆ ลูกค้าอาจไม่เข้าใจได้ว่า ทำไมส่วนนี้ถึงเคลมไม่ได้? เช่น อวัยวะเทียม หรือไม่ค้ำยันต่าง ๆ เป็นต้น

ปัญหา : มีข้อยกเว้นที่ไม่สมเหตุสมผล..เคลมไม่ได้

มาตรฐานเก่าปี 2549

บริษัทจะไม่รับเคลมประกันหากมีสาเหตุมาจากหนึ่งใน 5 สาเหตุที่ระบุไว้ในข้อยกเว้น 26 ข้อเดิม (ซึ่งเป็น 5 ข้อที่ถูกตัดออกไปจากมาตรฐานใหม่ค่ะ) คือ

  1. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัยเข้าร่วม ทะเลาะวิวาท หรือมีส่วนยั่วยุ ให้เกิดการทะเลาะวิวาท
  2. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย กำลังขึ้น หรือ กำลังลง หรือ ขณะโดยสาร อยู่ในอากาศยานที่มิได้จดทะเบียนเพื่อบรรทุกผู้โดยสาร และมิได้เป็นสายการบินพาณิชย์
  3. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย ขับขี่หรือปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานประจำ ในอากาศยานใด ๆ
  4. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย ปฏิบัติหน้าที่เป็นทหาร ตำรวจ หรืออาสามัคร และเข้าปฏิบัติการ ในสงครามหรือปราบปราม
  5. การระเบิดของกัมมันตภาพรังสี หรือส่วนประกอบของนิวเคลียร์ หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ที่อาจเกิดจากการระเบิดในกระบวนการนิวเคลียร์ได้

มาตรฐานใหม่ปี 2564

โดยมาตรฐานใหม่ได้ตัด 5 ข้อยกเว้นข้างต้นออกไป ให้เหลือข้อยกเว้นเพียง 21 ข้อต่อไปนี้เท่านั้น

  1. การเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บที่ยังมิได้รักษาให้หายก่อนวันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม (โรคเรื้อรัง) รวมถึงการตรวจรักษาภาวะที่เป็นมาแต่กําเนิด (Congenital) หรือปัญหาด้าานพัฒนาการ หรือโรคทางพันธุกรรม
  2. การตรวจรักษาหรือการผ่าตัดเพื่อเสริมสวย หรือการแก้ไขปัญหาผิวพรรณ สิว ฝ้า กระ รังแค ผมร่วงหรือการควบคุมน้ำหนักตัว หรือการผ่าตัดอันมีลักษณะเลือกได้ เว้นแต่เป็นการตกแต่งบาดแผลอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ได้รับความคุ้มครอง
  3. การตั้งครรภ์ แท้งบุตร ทําแท้ง การคลอดบุตร โรคแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ การแก้ไขปัญหาการมีบุตรยาก (รวมถึงการสืบวิเคราะห์และการรักษา) การทําหมัน หรือการคุมกําเนิด
  4. โรคเอดส์หรือกามโรค หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  5. การตรวจรักษา หรือการป้องกัน การใช้ยาหรือสารต่างๆ เพื่อการชะลอความเสื่อมของวัย หรือการให้ฮอร์โมนทดแทนในวัยใกล้หมดหรือหมดระดู การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในหญิงหรือชาย การรักษาความผิดปกติทางเพศ และการแปลงเพศ
  6. การตรวจสุขภาพทั่วไป การร้องขอเข้าอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลเวชกรรม หรือร้องขอการผ่าตัด การพักฟื้น หรือการพักเพื่อการฟื้นฟู หรือการรักษาโดยวิธีให้พักอยู่เฉย ๆ การตรวจวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเวชกรรม หรือคลินิก
  7. การตรวจวินิจฉัยการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย การรักษาหรือตรวจวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุ ซึ่งม่ใช่ความจําเป็นทางการแพทย์ หรือไม่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์และค่าพยาบาล
  8. การตรวจรักษาความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา การทำเลสิค ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เพื่อช่วยในการมองเห็น หรือการรักษาความผิดปกติของการมองเห็น
  9. การตรวจรักษาหรือผ่าตัดเกี่ยวกับฟันหรือเหงือก การทําฟันปลอม การครอบฟ˞น การรักษารากฟัน อุดฟัน การจัดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน การใส่รากฟันเทียม ยกเว้นในกรณีจำเป็นอันเนื่องจากการบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ ทั้งนี้ไม่รวมค่าฟันปลอมและการครอบฟันและการรักษารากฟันหรือใส่รากเทียม
  10. การรักษาหรือการบําบัดการติดยาเสพติดให้โทษ บุหรี่ สุรา หรือสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
  11. การตรวจรักษาอาการหรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิต โรคทางจิตเวช หรือทางพฤติกรรม หรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพรวมถึง สภาวะสมาธิสั้น ออธิสซึม เครียด ความผิดปกติของการกิน หรือความวิตกกังวล
  12. การตรวจรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างทดลอง การตรวจหรือการรักษาโรค หรืออาการหยุดหายใจขณะหลับ การตรวจหรือการรักษาความผิดปกติของการนอนหลับ การนอนกรน
  13. การปลูกฝีหรือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค ยกเว้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายหลังการถูกสัตว์ทําร้ายและวัคซีนป้องกันบาดทะยักภายหลังได้รับการบาดเจ็บ
  14. การตรวจรักษาที่ไม่ใช่แผนปัจจุบันรวมถึงแพทย์ทางเลือก ที่ไม่ได้ระบุความคุ้มครองอยู่ในสัญญาเพิ่มเติมนี้
    ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจรักษาพยาบาลที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นแพทย์สั่งให้แก่ตัวเอง รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจรักษาพยาบาลจากแพทย์ ผู้ซึ่งเป็น บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เอาประกันภัย
  15. การฆ่าตัวตาย การพยายามฆ่าตัวตาย การทำร้ายร่างกายตนเอง หรือการพยายามทำร้ายร่างกายตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการกระทําโดยตนเองหรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทําไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างวิกลจริตหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้รวมถึง อุบัติเหตุจากการที่ผู้เอาประกันภัย กิน ดื่ม หรือฉีดยาหรือสารมีพิษเข้าร่างกาย การใช้ยาเกินกว่าที่แพทย์สั่ง
  16. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการกระทําของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา สารเสพติดหรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้ คําว่า "ขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา" นั้น ในกรณีที่มีการตรวจเลือดให้ถือเกณฑ์มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
  17. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัยก่ออาชญากรรมที่มีความผิดสถานหนัก หรือขณะถูกจับกุม หรือหนีการจับกุม
  18. การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้เอาประกันภัย แข่งรถ หรือแข่งเรือทุกชนิด แข่งม้า แข่งสกีทุกชนิดรวมถึงเจ็ตสกีด้วยแข่งสเก็ต ชกมวย โดดร่ม (เว้นแต่การโดดร่มเพื่อรักษาชีวิต) ขณะกําลังขึ้นหรือกําลังลงหรือโดยสารอยู่ในบอลลูนหรือเครื่องร่อน เล่นบันจี้จัมพ์ ดําน้ำที่ต้องใช้ถังอากาศและเครื่องช่วยหายใจใต้น้ำ
  19. สงคราม การรุกราน การกระทําที่มุ่งร้ายของศัตรูต่างชาติ หรือการกระทําที่มุ่งร้ายคล้ายสงคราม ไม่ว่าจะได้มีการประกาศสงครามหรือไม่ก็ตาม สงครามกลางเมือง การแข็งข้อ การกบฏ การจลาจล การนัดหยุดงาน การก่อความวุ่นวาย การปฏิวัติ การรัฐประหาร การประกาศกฎอัยการศึก หรือเหตุการณ์ใดๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีการประกาศหรือคงไว้ซึ่งกฎอัยการศึก
  20. การก่อการร้าย
  21. การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และกรรมวิธีใด ๆ แห่งการแตกแยกตัวทางนิวเคลียร์ซึ่งดำเนินการติดต่อกันไปโดยตัวเอง

ข้อสังเกต

การจัดข้อยกเว้นใหม่ดังนี้ ช่วยลดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก เพราะเหตุการณ์หลายอย่างก็ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเจตนาให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก แต่จะเกิดขึ้นเพราะอารมณ์ชั่ววูบ หรือความจำเป็นในสถานการณ์นั้น ๆ เท่านั้น

และบางข้อก็เป็นหน้าที่ของอาชีพ เช่น ตำรวจ ทหาร ซึ่งบริษัทก็ได้พิจารณารับประกันแล้ว การที่จะมายกเว้นไม่ให้เคลมเพราะปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างขัดแย้งกันค่ะ

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นทั้ง 21 ข้อที่เหลือนั้น ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ทางตัวแทนต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนทำประกันค่ะ ไม่งั้นก็จะนำไปสู่ข้อพิพาทได้เหมือนในมาตรฐานเก่า เช่น ข้อที่ 6, 10, 11, 12, 14, 16 และ 17

ปัญหา : การรักษาแบบผ่าตัดแต่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลที่เคลมได้เพียงบางโรค

มาตรฐานเก่าปี 2549

จะมีการกำหนดชื่อโรคชัดเจน และเรียกการผ่าตัดลักษณะที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลว่า Day Case ซึ่งมี 21 เคสด้วยกันดังต่อไปนี้ ที่สามารถเคลมค่ารักษาได้โดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

  1. การสลายนิ่ว
  2. การตรวจเส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสี
  3. การผ่าตัดต้อกระจก
  4. การผ่าตัดโดยการส่องกล้องทุกชนิด
  5. การตรวจโดยการส่องกล้องทุกชนิด
  6. การผ่าตัด หรือเจาะไซนัส
  7. การรักษาริดสีดวงทวารโดยการฉีดยาหรือผูก
  8. การตัดก้อนเนื้อที่เต้านม
  9. การตัดชิ้เนื้อจากกระดูก
  10. การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยจากอวัยวะใดๆ
  11. การตัดนิ้วมือหรือนิ้วเท้า
  12. การจัดกระดูกให้เข้าที่
  13. การเจาะตับ
  14. การเจาะไขกระดูก
  15. การเจาะช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง
  16. การเจาะช่องเยื่อหุ้มปอด
  17. การเจาะช่องเยื่อบุช่องท้อง 
  18. การขูดมดลูก 
  19. การตัดชิ้นเนื้อจากปากมดลูก 
  20. การรักษา Bartholin′s Cyst 
  21. การรักษาด้วยรังสีแกมม่า

มาตรฐานใหม่ปี 2564

โดยมาตรฐานใหม่ จะไม่มีการระบุเป็นชื่อโรค แต่กำหนดเป็นลักษณะของคำนิยามที่ครอบคลุมแทน อย่าง 

  • การผ่าตัดใหญ่ที่ไม่ต้องพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (Day Surgery) หมายถึง การผ่าตัดใหญ่ หรือการทําหัตถการทดแทนการผ่าตัดใหญ่ หรือการใช้เครื่องมือบําบัดรักษาพิเศษที่สามารถทดแทนการผ่าตัดใหญ่ได้ โดยไม่ต้องมีการเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาลการผ่าตัด
  • การผ่าตัดเล็ก หมายถึง การผ่าตัดระดับผิวหนัง หรือชั้นใต้ผิวหนัง หรือชั้นเยื่อบุ โดยใช้ยาชาเฉพาะที่ (Local/Topical Anaesthesia) หรือเฉพาะบริเวณ

ข้อสังเกต

การที่มาตรฐานใหม่ตัดการระบุเป็นชื่อโรคหรืออาการรักษา และระบุเป็นคำนิยามแทน ช่วยทำให้สัญญาประกันสุขภาพสามารถคลอบคลุมวิธีการรักษาทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้มากขึ้น ซึ่งจะมีอีกหลายการผ่าตัดที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ

แต่ก็เป็นการขยายขอบเขตความคุ้มครองอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลต่ออัตราเบี้ยที่อาจสูงขึ้นตามได้เช่นกันค่ะ

ปัญหา : การให้สำรองจ่ายเพื่อขอตรวจสอบการไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังมาก่อนทำประกัน

มาตรฐานเก่าปี 2549

ในมาตรฐานเก่านั้นจะมีเงื่อนไขกรองคนที่เป็นโรคเรื้อรังมาก่อนทำประกันออกไปโดยใช้สัญญานี้

  • สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition) บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาเพิ่มเติมนี้ สำหรับโรคเรื้อรัง การเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) หรือการบาดเจ็บ ที่ยังมิได้รักษาให้หายก่อนวันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม หรือวันต่ออายุกรณีสัญญาเพิ่มเติม สิ้นผลบังคับ (Reinstatement) ครั้งสุดท้ายแล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นหลังสุด เว้นแต่
    • (ก) ผู้เอาประกันภัยได้แถลงให้บริษัททราบและบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัย โดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว หรือ
    • (ข) สัญญาเพิ่มเติมนี้มีผลบังคับต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 ปี
      • โดยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วย ( รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) นั้น ไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้รับการตรวจรักษา หรือวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือม่ได้พบหรือปรึกษาแพทย์ในระยะ 5 ปีก่อนวันที่สัญญาเพิ่มเติมเริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก

ทำให้หากทำประกันสุขภาพเลยระยะเวลา 3 ปีไปแล้ว โอกาสที่จะไม่ต้องสำรองจ่ายจะสูงมาก แม้หากเกิดการเคลมค่ารักษาขึ้นมาก็อาจมีการขุดประวัติย้อนหลังเฉพาะก่อนทำสัญญา 5 ปีเท่านั้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้อย่างความดันหรือเบาหวาน

มาตรฐานใหม่ปี 2564

แต่ในมาตรฐานใหม่นั้นจะมีเงื่อนไขกรองคนที่เป็นโรคเรื้อรังที่บังคับชัดเจน คือ

  • สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition) บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามสัญญาเพิ่มเติมนี้ สำหรับโรคเรื้อรัง การเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) หรือการบาดเจ็บ ที่ยังมิได้รักษาให้หายก่อนวันเริ่มมีผลคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติม หรือวันต่ออายุกรณีสัญญาเพิ่มเติม สิ้นผลบังคับ (Reinstatement) ครั้งสุดท้ายแล้วแต่กรณีใดจะเกิดขึ้นหลังสุด เว้นแต่
    • (ก) ผู้เอาประกันภัยได้แถลงให้บริษัททราบและบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัย โดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว หรือ 
    • (ข)  โรคเรื้อรัง การบาดเจ็บ หรือการป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) นั้น ไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้รับการตรวจรักษา หรือวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือไม่ได้พบหรือปรึกษาแพทย์ ในระยะ 5 ปีก่อนวันที่สัญญาเพิ่มเติมที่เริ่มมี ผลคุ้มครองเป็นครั้งแรก และ ในช่วงเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่สัญญาเพิ่มเติมที่เริ่มมีผลคุ้มครองเป็นครั้งแรก

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ชัดเจนขึ้นว่า หากมีการเจ็บป่วยใดที่พบหรือปรึกษาแพทย์ใน 3 ปีหลังทำสัญญา จะมีการเก็บบันทึกเอาไว้เพื่อพิจารณาด้วย ไม่ใช่จะดูบันทึกพบแพทย์เพียงเฉพาะ 5 ปีก่อนทำสัญญาเท่านั้นในตอนที่อายุสัญญาได้เลย 3 ปีไปแล้วแบบมาตรฐานเก่า 

ดังนั้นมาตรฐานใหม่นี้การเคลมค่ารักษาครั้งแรกแม้จะเลย 3 ปีไปแล้ว โดยเฉพาะกับโรคที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังจะมีโอกาสสูงมากที่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน โดยจะมีการขุดดูประวัติการพบแพทย์ที่ยาวนานถึง 8 ปีด้วยกัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้เป็นมาก่อนทำประกันจริง ๆ รือถ้าหากเคยเป็นมาก่อน ก็ต้องหายนาน 8 ปีมาแล้ว

ข้อสังเกต

หากยึดตามาตรฐานใหม่จะส่งผลให้มีระยะเวลาเพื่อตรวจสอบนาน 8 ปีเลยทีเดียว คือ ก่อนวันทำประกัน 5 ปี และหลังวันทำประกัน 3 ปี

ตัวอย่างเช่น นาย ก ทำประกันมา 4 ปี มีการเข้าพบแพทย์เรื่องความดันสูงในปีที่ 2 ของการทำประกัน จากนั้นมีการป่วยต้อง นอน รพ. ในปีที่ 4 ซึ่งมีผลมาจากโรคความดันสูง 

โดยหากเป็นตามมาตรฐานเก่า นาย ก จะเคลมได้ไม่มีปัญหา เพราะทำประกันมานานกว่า 3 ปี และก่อนทำประกัน 5 ปี ก็ไม่เคยพบแพทย์เกี่ยวกับความดันสูงมาก่อน

แต่หากเป็นตามมาตราฐานใหม่ นาย ก อาจจะเคลมแล้วมีปัญหา เพราะมีการเช็คประวัติหลังทำประกันมาแล้ว 3 ปีด้วย และพบว่ามีการเข้าพบแพทย์ด้วยอาการที่เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นมาตั้งแต่ก่อนทำประกันแล้ว แม้จะไม่เคยตรวจพบอาการมาก่อนทำประกัน 5 ปีก็ตาม 

ดังนั้น นาย ก. จะต้องต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นมาก่อนจริง ๆ มีหลักฐานยืนยันชัดเจน โดยเฉพาะค่าความดันต่าง ๆ ก่อนทำประกัน เพราะถ้าให้บริษัทไปสืบระยะโรคโดยไม่มีประวัติอะไรมาก่อนเองอาจโดนเอาเปรียบได้

จากตัวอย่างนี้จึงทำให้โรคเรื้อรัง หรือโรคที่มีการเป็นมานานหลายปีและต้องมีการแสดงอาการออกมา จะโดนสกรีนด้วยมาตรฐานใหม่ที่ค่อนข้างเข้มข้นขึ้นมาก โอกาสที่จะประมาณว่าไม่เคยตรวจอะไรมาก่อนเลย แต่เริ่ม ๆ มีอาการปวดท้องบ่อย ๆ จึงรีบทำประกัน 

เพื่อรอให้ผ่านระยะรอคอย แล้วรีบพบแพทย์ตรวจดูอาการแล้วจึงเคลมค่ารักษา โดยแจ้งว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็น ไม่เคยพบแพทย์มาก่อน เคสแบบนี้จะเคลมยากขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะโรคเรื้อรังมักต้องใช้เวลาในการเกิด และ ย่อมมีการแสดงอาการออกมาบ้างแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

จึงเป็นสาเหตุให้เวลาทำประกันสุขภาพนั้นจำเป็นต้องแถลงอาการต่างๆ ที่เป็นอยู่มาด้วย เพื่อให้ฝ่ายพิจารณาประเมินให้ตรวจสุขภาพก่อนทำประกันให้ชัดเจน ไม่ให้มีปัญหาแบบการเอาเปรียบจากการสืบระยะโรคนี้เกิดขึ้นได้นั้นเองค่ะ

โดยโรคที่ยากที่จะหลุดจากการสกรีน 8 ปีได้ มีดังต่อไปนี้ เช่น :

  • โรคระบบสมองและระบบประสาท/จิตประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ โรคอัมพฤกษ์/โรคอัมพาต ปวดศรีษะรุนแรงเรื้อรัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพาร์กินสัน โรคความจําเสื่อม โรคจิตเภท ดาวน์ซินโดรม
  • โรคมะเร็ง/โรคระบบต่อมไร้ท่อและภูมิคุ้มกัน เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคเอดส์หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหนังแข็ง โรคเอสแอลอี (SLE)
  • โรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และ หลอดเลือด เช่น โรคหัวใจและเส้นเลือดหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง โรคภูมิแพ้
  • โรคระบบทางเดินอาหาร/ทางเดินปัสสาวะและโรคอื่น ๆ เช่น โรคตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง โรคไตวาย ตาบอด2ข้าง ท้องมาน เคยพยายามฆ่าตัวตาย

แม้ถือว่าเป็นระยะเวลาคัดกรองที่นานมาก แต่โดยปกติในเชิงปฏิบัติแล้วจะเน้นไม่เป็นโรคเรื้องรังก่อนทำประกัน 5 ปีเป็นหลัก โดยจะใช้หลังทำ 3 ปีร่วมด้วยก็ต่อเมื่อเป็นลูกค้าที่มีประวัติสุขภาพเคยเป็นโรคเหล่านี้และหายมานานเกิน 5 ปีก่อนทำประกันแล้วเท่านั้น ซึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดจริง ๆ ค่ะ

ในขณะที่ลูกค้าที่ไม่เคยเป็นหรือมีประวัติใด ๆ มาก่อน มักจะไม่ถูกสัญญาหลังทำ 3 ปีในการคัดกรอง เพราะมีระยะเวลารอคอย 90-120 วันในการช่วยคัดกรองอยู่แล้ว โดยเฉพาะโรคที่รักษาหายขาดได้ หรือโรคที่ไม่มีการแสดงอาการใด ๆ มาก่อนจริง ๆ กว่าจะแสดงอาการคือขั้นสุดท้ายแล้ว เช่น มะเร็งบางชนิด เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนให้ชัดเจนขึ้นในมาตรฐานใหม่นี้ เปิดช่องให้บริษัทประกันสามารถอ้างอิงสัญญาข้อนี้ในการขุดประวัติอย่างเต็มที่ได้โดยไม่ผิดเช่นกันค่ะ (ตรงส่วนนี้คงต้องพิจารณาสัญญาฉบับจริงของแต่ละบริษัทกันอีกทีค่ะ)

บทสรุปที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกได้

แอน ผู้แนะนำการลงทุนและวางแผนประกันชีวิต

ไม่ว่าจะ มาตรฐานเก่า หรือ มาตรฐานใหม่
ผู้ทำประกันจะต้องเป็นคนเลือกค่ะ (ตามข้อกำหนดปี 62)

โดยบริษัทประกันจะปรับใช้มาตรฐานใหม่ทั้งหมดภายในวันที่ 8 พ.ย. 64 นี้ เว้นแต่กับสัญญาสุขภาพแบบเก่าที่ลูกค้ายอมต่ออายุเรื่อยๆ 

โดยที่บางบริษัทประกัน จะมีการแจ้งเตือนไปยังลูกค้าว่าแผนเก่าจะปิดตัวลงแล้ว และจะเปิดแผนใหม่ขึ้นมา หากลูกค้าคนใดจะเปลี่ยนใจไปใช้แผนใหม่แทนให้แจ้งทำเรื่องเข้ามา ซึ่งอาจมีโอกาสไม่นับเป้นการทำสัญญาใหม่ให้ค่ะ ถ้าแผนประกันเก่ากับแผนประกันใหม่มีความเสี่ยงภัยที่ใกล้เคียงกันจริงๆ

แต่ถ้าหากแผนเก่าต่างกับแผนใหม่มาก โอกาสต้องทำสัญญาใหม่ หากต้องการมาตรฐานใหม่ ก็มีสูงมากค่ะ 

ทั้งนี้บริษัทบางแห่งก็มีการพยายามจะปรับแผนเก่าให้ตรงกับมาตรฐานใหม่แทน ก็จะทำให้ลูกค้าไม่ต้องเลือกอะไรค่ะ โดยเฉพาะในกรณีที่เบี้ยประกันไม่เพิ่มขึ้นค่ะ

ดังนั้นอาจต้องดูแนวโน้มของบริษัทนั้น ๆ ต่อไป ว่าจะถือโอกาสสละแผนที่ตนเองกำลังมีปัญหาอยู่ออกไป ด้วยข้อกำหนดใหม่ปี 64 ที่ไม่บังคับให้ลูกค้าเก่าได้เลือกมาตรฐาน หรือ จะใช้ประโยชน์จากเงื่อนไข copayment ใหม่นี้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาค่ะ

ควรเปลี่ยนหรือไม่

เห็นได้ว่า มาตรฐานใหม่ดีกว่า มาตรฐานเก่าหลายอย่าง เพราะมีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทกว่า 14 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีจุดที่อาจยังเป็นกังวลอยู่คือ

  • กังวลการปรับเบี้ยขึ้นทุกคน (แม้บางคนไม่ค่อยได้เคลมเลย แต่ก็ต้องโดนพ่วงไปด้วย) ให้ระวังต่อไปนี้
    • ข้อนี้บริษัทเองก็ไม่อยากทำให้เสียชื่อเสียง (แต่การขึ้นทั้งพอร์ตนี้เป็นเรื่องปกติมากของฝั่งประกันภัย) คงเน้นใช้มาตรการลดการรับภัยเฉพาะบุคคล copayment มากกว่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า การตลาดของบริษัทเป็นอย่างไร? หากเป็นแบบเน้นทำตลาดโดยที่ทำให้ลูกค้ามักเข้าใจผิดและเน้นจะเอากำไรจากเงินกองกลางของทุกคนเป็นหลักมากกว่าความจำเป็นทางการแพทย์ ก็ย่อมจะเกิดการเคลมที่เยอะมาก ทั้งนี้แม้บริษัทจะเล็งไม่ต่อสัญญาโดยใช้เงื่อนไขที่ว่า เคลมโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ก็ตาม แต่ก็ต้องเข้าใจว่า รพ.เอกชน เองก็อยากได้เงินเหมือนกัน
    • หรือ บริษัทมีการออกแผนประกันสุขภาพที่ถึงแม้จะรู้ว่าขาดทุนแน่นอนขึ้นมา เช่น ประกันเด็ก หรือประกันที่มีการให้ความคุ้มครองที่ไม่จำเป็นที่มีอยู่ในข้อยกเว้นมากเกินไป เพื่อเน้นใช้หาลูกค้าเข้ามาก่อน แล้วค่อยปิดแผนประกันนั้นลง จากนั้นค่อยทำการปรับอัตราเบี้ยให้สูงขึ้นทุกคนแทน ลูกค้าที่มีประวัติการเคลมแล้วก็ต้องยอมรับกติกานี้ เพราะอาจทำประกันกับที่อื่นไม่ได้แล้ว
  • เงื่อนไขการไม่เป็นโรคเรื้อรังร้ายแรงมาก่อน ระยะเวลานานรวมกันกว่า 8 ปี  ก็อาจเน้นมองว่า
    • สัญญาสุขภาพเก่า หลายสัญญาก็ตีความเป็นลักษณะหายจากโรคเรื้อรังร้ายแรง ก่อนทำประกัน 5 ปี และ ดูอาการหลังทำประกัน 3 ปี แต่ก็ไม่ได้มีปัญหามากนัก หากไม่ได้มีเจตนารู้ตัว่ามีอาการป่วยแล้วจึงเร่งทำประกัน เพราะในทางปฏิบัติบริษัทประกันต้องการคัดกรองคนที่เคยเป็นแล้วหายนานกว่า 5+3 ปีแล้วเท่านั้น

สรุป

แอนนี่แนะนำว่าควรเปลี่ยนเป็นมาตรฐานใหม่ แต่ถ้ากังวลใน 2 ประเด็นที่ยกมาข้างต้น ก็อาจต้องพิจาณาทั้งแนวทางของบริษัทประกัน อัตราเบี้ยที่อาจปรับสูงขึ้น และประวัติการเคลมประกันของตนเอง เข้ามาพิจารณาร่วมด้วยก่อนตัดสินใจอีกครั้งค่ะ

บทส่งท้าย : ทำไมแบบประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ ถึงมีความแตกต่างกับแบบเก่าอย่างมากในบางบริษัทประกัน 

เช่น จากเมื่อก่อนให้ค่ารักษา OPD ทั่วไปได้สูง แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ได้น้อยลงกว่าเดิมเกือบ 10 เท่า

จะสามารถหาคำตอบได้ใน

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • แอนนี่ค่ะ2

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก