ทำไมประกันสุขภาพแบบมี OPD จึงน่ากลัว

"ความน่ากลัวของความคุ้มครองผู้ป่วยนอก หรือ OPD ที่ตัวแทนมักไม่บอกคุณ"

ไม่เพียงไม่บอกคุณแต่ยังใช้ประโยชน์จากความเข้าใจผิดของคุณเอง เพื่อมาปิดการขายประกันสุขภาพอีกต่างหาก 

บทความนี้จะนำความน่ากลัวของ OPD มาชำแหละให้เห็นดังนี้ค่ะ

การตัดสินใจเลือกเครื่องมือการเงินใด ๆ จำเป็นต้องเข้าใจถึงหน้าที่ที่แท้จริงของเครื่องมือการเงินนั้น ๆ ก่อน อย่างเช่น การทำประกันสุขภาพแท้จริงแล้วคืออะไร หรือ การทำประกันสุขภาพผู้ป่วยนอกเป้าหมายจริงคืออะไร เป็นต้น รวมถึงเห็นตัวเลข จำนวนเงินที่ต้องใช้ครบทั้งตลอดอายุสัญญาของเครื่องมือการเงิน

โดยบทความนี้จะนำข้อมูลเชิงตัวเลข ผ่านการยกตัวอย่างของบริษัทประกัน มาให้เห็นภาพรวมที่แท้จริงและลบมายาคติที่เข้าใจผิดและมีโอกาสทำให้สูญเสียเงินหลักล้านบาทออกไปได้ค่ะ

สถิติการเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD

สถิตินี้บ่งชี้บางอย่าง

โดยปกติค่ารักษาผู้ป่วยนอกรวมกับค่ายาจะประมาณเฉลี่ยกว่า 1,500 - 2,500 บาทใน ร.พ.ทั่วไป และ เฉลี่ยกว่า 3,500-4,500 บาทใน ร.พ.เอกชนขนาดใหญ่

ซึ่งถ้าพิจารณาจำนวนครั้งการเข้ารักษาตัวผู้ป่วยนอก OPD แล้ว จะเห็นได้ใน 1 ปีจะต้องใช้เงินอยู่ที่ประมาณ 7,500 - 22,500 บาทต่อปี

หรือหากคิดเป็นจำนวนเงินตั้งแต่อายุ 11 - 99 ปี จะอยู่ที่ 660,000 - 1,980,000 บาท หรือ เฉลี่ยค่ากลางประมาณ 1,320,000 บาท

ข้อสังเกต

จำนวนครั้งดังกล่าวเป็นการเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงพอสมควรเนื่องจากเป็นการเฉลี่ยในทุกช่วงอายุ ซึ่งจริง ๆ แล้วบางช่วงอายุ ในแต่ละปีอาจไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลยก็ได้ จึงอาจทำให้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก OPD สามารถลดลงได้อีก รวมถึงด้วยอาการป่วยทั่วไป โดยส่วนใหญ่มักจะหาซื้อยาทานเองมากกว่าเข้าโรงพยาบาลเว้นแต่มีสวัสดิการค่ารักษา

การใช้ประกัน OPD นั้นเหมือนกับประกันสุขภาพเด็ก

ยิ่งมีสวัสดิการยิ่งเคลมมาก

จากกราฟจะเห็นได้ชัดเจนว่าโรงพยาบาลทั้ง 15 แห่งที่ยกมา หากมีสวัสดิการข้าราชการแล้วจะเกิดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยนอกที่สูงกว่าทั้งประกันสุขภาพถ้วนหหน้าและประกันสังคมมาก เนื่องด้วยความครอบคลุมของสวัสดิการทางข้าราขการที่สูงมากกว่า

จึงเป็นธรรมชาติของคนที่มีสวัสดิการ ที่เลือกจะใช้มากกว่าการพิจารณาตามความจำเป็นจริง ๆ เพราะเมื่อมีสวัสดิการก็ควรใช้ให้คุ้มที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายเพราะนั้นจะทำให้งบประมาณที่เตรียมไว้ไม่เพียงพอได้

ตรงส่วนนี้เองจึงมีความคล้ายคลึงกับประกันสุขภาพเด็กที่ขาดทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-5 ปี ซึ่งหากมีอาการป่วยหมอมักจะให้แอดมิตนอนโรงพยาบาลเพื่อที่จะเคลมประกันได้และค่ารักษามักจะอยู่ที่ 60,000 - 150,000 บาท

ทำให้ค่าใช้จ่ายบริษัทประกันพุ่งขึ้นสูงมาก คือรับเงินเข้ากองกลางมา 100 บ. แต่ต้องจ่ายออกไป 150 บ. ในแทบทุกรายซึ่งทำให้เงินกองกลางติดลบ

ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแบบนี้และไม่ได้ใช้ตามความจำเป็นจริง ๆ จึงทำให้แนวคิดการรับผิดชอบร่วมกันเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นเรื่อย คือ ประกัน/สวิสดิการ ออก 70% ที่เหลือ 30% ผู้ป่วยต้องออกเอง โดยฝั่งข้าราชการเริ่มลดงบประมาณและสนับสนุนให้ข้าราชการทำประกันเอกชนเพิ่ม

ข้อสังเกต

เนื่องโดยทั้งประกันสุขภาพแบบ OPD และ ประกันสุขภาพเด็ก เป็นแหล่งรายได้และกำไรหลักของโรงพยาบาล โรงพบาบาลจึงมักอยากให้ใช้วงเงินประกันให้ได้มากที่สุด เช่นเดียวกับผู้ทำประกันเองก็อยากจะใช้ให้คุ้มกับเบี้ยประกันที่จ่ายเข้าเงินกองกลางเหมือนกัน  บริษัทประกันจึงจำเป็นต้องหาทางออกโดยคิดเบี้ยเพิ่ม หรือ จำกัดวงเงินหรือทุกประกัน

เบี้ยประกัน OPD นั้นสูงมากเหมือนจ่ายค่ารักษาเอง

BLA กรุงเทพประกันชีวิต
ประกันสุขภาพ เทียบกับ ประกันสุขภาพแบบมี OPD

เนื่องจากประกันสุขภาพของกรุงเทพประกันชีวิต จะสามารถซื้อสัญญา OPD เพิ่มได้ จึงจะทำให้เห็นความต่างระหว่างเบี้ยประกันสุขภาพแบบมี OPD และไม่มี OPD ได้อย่างชัดเจนที่สุด รวมถึงมียังมีประกันสุขภาพที่รวม OPD เข้าไปในสัญญาสุขภาพด้วยเลย ดังกราฟต่อไปนี้

BLAเทียบOPD

จากกราฟจะเห็นได้ว่าเมื่อเบี้ยประกันแผน BLA Prestige Health 10 ล้าน (เส้นสีน้ำเงิน) เทียบกับ แบบที่ซื้อสัญญา OPD 2000 บ./ครั้ง (เส้นสีแดง) นั้น เส้นสีแดงจะมีค่าเบี้ยที่สูงขึ้นถึงอีกระดับในทันที โดยเฉพาะตอนช่วงอายุ 81 ปีเป็นต้นไปที่ต่างกันอยู่ 52,000 บาท

ในขณะที่แผน BLA Prestige Health 30 ล้าน ที่มี OPD 15,000 บ./ปี (เส้นสีเหลือง) ให้มาด้วยนั้นช่วงก่อนอายุ 60 ปีเบี้ยจะยังสูงที่สุด แต่เมื่อผ่านอายุ 60 ปีไปแล้วกลายเป็นเบี้ยประกันรวมจะน้อยกว่า BLA 10 ล้านที่ + OPD 2000 บ./ครั้ง 

เนื่องจากมีโอกาสใช้ OPD เกินวงเงิน 15,000 บ./ต่อปี ของ BLA30ล้าน ค่อนข้างสูง ถึงแม้ BLA30ล้าน จะมีเพิ่มให้ทั้งค่าห้องอีก 2,000 มีค่าอวัยวะเทียมเพิ่มให้อีก 30,000 รวมถึงค่ากายภาพบำบัดและฝังเข็มให้อีก 10,000 ไม่นับรวมทุนรักษาที่ให้สูงกว่าถึง 30 ล้านก็ตาม

แต่ทั้งหมดที่ BLA30ล้าน เพิ่มมาให้นั้นก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้ใช้สูงเท่ากับการใช้ OPD จึงทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า OPD เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเบี้ยประกันโดยตรง ดังตารางสรุปเบี้ยทั้งหมดต่อไปนี้

เบี้ยประกันสุขภาพรวมตั้งอายุ 11-98 ปี

BLA 10 ล้าน

BLA 10 ล้าน + OPD2000

BLA30ล้านพร้อมOPD15000

10,344,174

12,320,174

12,230,639

ทำให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อเพิ่ม  OPD2000ต่อครั้ง จะต้องเพิ่มเบี้ยสูงถึง  1,976,000 บาท  และหากเป็นแบบ OPD15000ต่อปี  จะเพิ่มเบี้ยสูงถึง 1,886,465 บาท ( สำหรับแบบนี้ต้องเคลมเต็มวงเงิน  15000 บ./ปี ถึง 126 ปี จึงจะเท่ากับเบี้ยที่จ่ายเพิ่มไป!! ) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสถิติค่าเฉลี่ยค่ารักษา OPD ของรพ.เอกชน หรือ เหมือนผู้ทำประกันจ่ายค่ารักษา OPD เองทั้งหมด แม้ในความเป็นจริงจะไม่ได้ใช้เยอะถึงขนาดนี้ก็ตามค่ะ

iHealthy กรุงไทย AXA
ประกันสุขภาพ เทียบกับ ประกันสุขภาพแบบมี OPD

โดยปกติบริษัทประกันจะไม่ยอมออกผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปรียบเทียบกันได้แบบจุดต่อจุด ทำให้มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง ซึ่งความแตกต่างกันนี้เป็นช่องว่างให้ตัวแทนแต่ละบริษัทได้เข้ามาเติมเต็มตามความต้องการของลูกค้านั้นเอง

และเนื่องจากประกันสุขภาพของกรุงไทย AXA แบบเหมาจ่ายนั้นจะมี OPD มาให้เสมอ จึงจำเป็นต้องนำ BLA10ล้าน ที่ไม่มี OPD มาเปรียบเทียบกันให้เห็นภาพชัดเจนถึงความแพงของเบี้ย OPD แต่ต้องขอเกริ่นความแตกต่างของ 2 บริษัทก่อนคือ

  • เบี้ย BLA ทั้งชายและหญิงจะเท่ากัน แต่ของ AXA เบี้ยชายโดยรวมจะสูงกว่าหญิงอยู่ที่ 21,548 บาท (รวมตั้งอายุ 16-80 ปี) 
  • AXA จะให้วงเงิน OPD มาสูงถึง 35,000-50,000 บาท เพราะมีจุดประสงค์ให้นำไปใช้กับค่ากายภาพบำบัด ค่าการตรวจวินิจฉัยแบบผู้ป่วยนอกด้วย เช่น CT-SCAN  MRI เป็นต้น ในขณะที่ทาง BLA จะมีวงเงินจ่ายตามจริงส่วนนี้ให้แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากบริษัทก่อนหากเป็นผู้ป่วยนอก
  • ในขณะที่ BLA จะระบุชัดเจนว่าผู้ป่วยนอกสามารถใช้ยาพุ่งเป้า Targeted Therapy ในการรักษามะเร็งแบบ OPD ได้ แต่ในส่วนของ AXA จะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน เพราะเป็นแผนที่ออกมาก่อนที่ยาพุ่งเป้าจะเป็นมาตรฐาน ซึ่งจะสามารถใช้วงเงินที่เกิน OPD ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากบริษัทก่อนเช่นกัน
  • รวมถึงค่าห้องอย่างเดียวที่ทาง AXA ให้อยู่ที่ 5,200 - 9,000 บาทและค่าบริการคิดตามจริง ในขณะที่ BLA ให้รวมเป็นค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการอยู่ 8,000 บาท
  • ทาง BLA ก็มีระบุถึงวงเงินจ่ายตามจริงค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟู ค่าพยาบาลดูแลส่วนตัว ค่ารักษาผู้ป่วยนอกติดตามอาการ ในขณะที่ AXA จะไม่ระบุไว้ในเอกสารนำเสนอ ซึ่งอาจต้องดูในสัญญาจริง ๆ หรือ สอบถามทาง Call Center เพิ่มเติม

ทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนที่แตกต่างกันส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก่อนจะเปรียบเทียบค่าเบี้ยประกันสุขภาพของ 2 บริษัทในกราฟต่อไปนี้ค่ะ

AXAเทียบOPD 1

จากกราฟจะเห็นได้ว่าเมื่อเบี้ยประกันแผน BLA Prestige Health 10 ล้าน (เส้นสีน้ำเงิน) เทียบกับ แบบที่มีสัญญา OPD 50,000 บ./ปี ของ AXA (เส้นสีแดง) นั้น เส้นสีแดงจะมีค่าเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่าเกือบทุกช่วงอายุ เว้นแต่หลังอายุ 60 ปีจะมีบางช่วงอายุที่เบี้ยใกล้เคียงกันหรือ AXA น้อยกว่า (เส้นสีแดง) 

ในขณะที่ AXA แผนที่มี OPD 35,000 บ./ปี (เส้นสีเหลือง) ให้มาด้วยนั้น จะเห็นชัดเจนว่าน้อยกว่า (เส้นสีแดง) ทุกช่วงอายุ แต่ก็ยังมากกว่า (เส้นสีน้ำเงิน) BLA ตั้งแต่อายุ 16-55 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่ยังไม่เกิดโรคมากหนัก ทั้งมะเร็งและการวินิจฉัยขั้นสูงต่าง ๆ OPD จึงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความแตกต่างของเบี้ยได้

โดยเมื่อรวมค่าเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมดตั้งแต่อายุ 16-80 ปี (AXA จะคุัมครองถึงอายุ 85 ปีแต่เบี้ยประกันอายุ 81 เป็นต้นไปต้องสอบถามกับตัวแทนโดยตรง) ก็ยังทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า OPD เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเบี้ยประกันโดยตรง ดังตารางสรุปเบี้ยทั้งหมดต่อไปนี้

เบี้ยประกันสุขภาพรวมตั้งอายุ 16-80 ปี**

BLA 10ล้าน
มีวินิจฉัยOPD

BLA 10ล้าน + OPD2000/ครั้ง

AXA 6ล้าน OPD35000/ปี

AXA 10ล้าน OPD50000/ปี

4,284,543

5,284,543

4,483,099

4,951,754

หากตัดค่าตรวจวินัจฉัย OPD  ออก ซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 - 30,000 บาท และค่ากายภาพบำบัด 5,000 -10,000 บาท AXA ก็ยังเหลือค่า OPD ให้ใช้ระดับ 5,000-10,000  บ./ปี ได้ แต่ก็แลกมากับส่วนต่าง กับ BLAไม่มีOPD ถึง  198,556 - 667,211 บาท  และเนื่องจากคิดเฉพาะอายุ 16-80 ปีเท่านั้น  ( ซึ่งถ้าคิดช่วงอายุดังกล่าว BLA แบบเพิ่มสัญญา OPD2000 จะแพงกว่า BLA แบบไม่เพิ่ม OPD ที่ 1 ล้านบาท )  คำถามสำคัญคือเราจะใช้ค่ารักษาผู้ป่วยนอก OPD จริง ๆ สูงถึง 198,556 ( ใช้เต็มวงเงิน 40 ปี ) - 667,211 (ใช้เต็มวงเงิน 66 ปี) หรือไม่

Elite-Health เมืองไทยประกัน MTL
ประกันสุขภาพ เทียบกับ ประกันสุขภาพแบบมี OPD

เนื่องจาก Elite-Health ของ MTL นั้นมีทั้งแผนแบบมี OPD และไม่มี OPD จึงสามารถทำให้เปรียบเทียบกันได้ค่อนข้างง่าย โดยแผนแบบมี OPD นั้นจะให้

  • OPD ที่ 2,500 บาท/ครั้ง
  • เพิ่มความคุ้มครองจาก 20 ล้าน เป็น 40 ล้าน
  • ให้ค่าห้องเพิ่มจาก 10,000 บาท เป็น 12,000 บาท
  • ให้ค่าพยาบาลส่วนตัว 3,000 วัน
  • ค่าห้องพักผู้ปกครองเตียงเสริม (ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 18 ปี) 5,000 วัน

จากส่วนแตกต่างทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าที่มีโอกาสได้ใช้สูงสุดก็คือ OPD อีกนั้นเองค่ะ ซึ่งทำให้ได้ตารางออกมาดังต่อไปนี้

MTLเทียบOPD

จากกราฟจะเห็นได้ว่าเมื่อเบี้ยประกันแผน Elite20 ล้าน (เส้นสีน้ำเงิน) เทียบกับ แบบที่มีสัญญา OPD 2,500 บ./ครั้ง ของ Elite40ล้าน (เส้นสีแดง) นั้น เส้นสีแดงจะมีค่าเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่าในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 60 ปีเป็นต้นไปที่มีโอกาสเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น

และเนื่องจากเป็นวงเงิน OPD ต่อครั้ง จึงมีโอกาสใช้ต่อปีเกิน 1 หมื่นบาทได้ หากเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 6 ครั้งขึ้นไปในแต่ละปี ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงในอายุหลัง 80 ปีเป็นต้นไป

โดยเมื่อรวมค่าเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมดตั้งแต่อายุ 11-98 ปี ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเช่นกันว่า OPD เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเบี้ยประกันโดยตรงและอาจเป็นกำไรของบริษัทประกันได้ ดังตารางสรุปเบี้ยทั้งหมดต่อไปนี้

เบี้ยประกันสุขภาพรวมตั้งอายุ 11-98 ปี

Elite 20ล้าน

Elite 40ล้าน OPD2500

11,089,304

14,882,036

ส่วนต่างที่เกิดขึ้นระหว่างมี OPD กับไม่มี OPD มีถึง 3,792,732 บาท แม้จะมีค่าห้อง  ค่าพยาบาล และ ทุนประกันที่เพิ่มเป็น 40 ล้านในแผนที่มี OPD แต่โอกาสการได้ใช้ก็ไม่ได้มาก ซึ่งหากตัด OPD ออกไปได้คงช่วยให้ลดเบี้ยกันส่วนต่างลงไปได้อย่างมากกว่า 2 ล้านบาทที่โอกาสใช้ถึงยากมากแน่ ๆ ค่ะ (เมื่อเทียบกับข้อมูลของแผน BLA  ที่ซื้อเพิ่มสัญญา OPD รายครั้งที่ต่างกับไม่มี OPD อยู่ 2 ล้านบาท) 

Health Happy AIA
ประกันสุขภาพ เทียบกับ ประกันสุขภาพแบบมี OPD

เนื่องจาก Health Happy ของ AIA นั้นมีทั้งแผนแบบมี OPD และไม่มี OPD จึงสามารถทำให้เปรียบเทียบกันได้ค่อนข้างง่าย โดยแผนแบบมี OPD นั้นจะให้

  • OPD ที่ 2,000 บาท/ครั้ง
  • เพิ่มความคุ้มครองจาก 15 ล้าน เป็น 25 ล้าน
  • ให้ค่าห้องเพิ่มจาก 6,000 บาท เป็น 9,000 บาท
  • ให้ค่าตรวจเยี่ยมแพทย์จาก 4,000 บาท/วัน เป็น 6,000 บาท/วัน
  • ค่าเวชภัณฑ์สิ้นเปลืองเปลี่ยนจ่ายตามจริง
  • ทั้งแบบมี OPD และไม่มี OPD เบี้ยโดยรวมเพศหญิงจะมากกว่าเพศชาย **ซึ่งในกราฟด้านล่างจะเป็นของเพศหญิงค่ะ

จากส่วนแตกต่างทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุดก็ยังเป็น OPD อีกนั้นเองค่ะ ซึ่งทำให้ได้ตารางออกมาดังต่อไปนี้

AIAเทียบOPD

จากกราฟจะเห็นได้ว่าเมื่อเบี้ยประกันแผน AIA15ล้าน (เส้นสีน้ำเงิน) เทียบกับ แบบที่มีสัญญา OPD 2,000 บ./ครั้ง ของ AIA25ล้าน (เส้นสีแดง) นั้น เส้นสีแดงจะมีค่าเบี้ยที่สูงขึ้นมากกว่าในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 65 ปีเป็นต้นไปที่มีโอกาสเข้าโรงพยาบาลสูง

และเนื่องจากเป็นวงเงิน OPD ต่อครั้ง จึงมีโอกาสใช้ต่อปีเกิน 1 หมื่นบาทได้ หากเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 6 ครั้งขึ้นไปในแต่ละปี ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงในอายุ 76-85 ปี

โดยเมื่อรวมค่าเบี้ยประกันสุขภาพทั้งหมดตั้งแต่อายุ 11-85 ปี ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเช่นกันว่า OPD เป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อเบี้ยประกันโดยตรงและอาจเป็นกำไรของบริษัทประกันได้ ดังตารางสรุปเบี้ยทั้งหมดต่อไปนี้

เบี้ยประกันสุขภาพรวมตั้งอายุ 6-84 ปี**

เพศ

AIA 15ล้าน

AIA 25ล้าน OPD2000

หญิง

5,973,900

7,709,400

ชาย

5,741,100

7,448,900

ส่วนต่างระหว่างแบบมี OPD และไม่มี OPD ของเพศหญิงคือ 1,735,500 บาท และของเพศชายคือ 1,707,800 แน่นอนว่าแม้จะมีค่าห้อง  ค่าตรวจเยี่ยม ค่าเวชภัณฑ์สิ้นเปลือง และทุนประกันที่เพิ่มเป็น 25 ล้านให้ในแบบมี OPD แต่โอกาสการได้ใช้ก็ไม่ได้มากเท่ากับ OPD ทำให้ OPD ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เบี้ยสูงขึ้นมาก ซึ่งกับเงิน OPD ประมาณ 1.3-1.5 ล้าน นั้นหมายความว่าต้องเข้าโรงพยาบาลถึง  750 ครั้ง หรือ แต่ละปีต้องเข้าโรงพยาบาลกว่า 10 ครั้งต่อปี ตั้งอายุ 6-84 ปี เพื่อให้ได้เคลมค่ารักษาใกล้เคียงกับเบี้ยที่จ่ายไป

ข้อสังเกต

จากข้อมูลทั้งหมดของ 4 บริษัทที่ยกมาประกอบ คือ AIA AXA BLA MTL นั้น เป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า OPD นั้นส่งผลให้เบี้ยสูงกว่าเดิมถึงประมาณตั้งแต่ 6 แสน - 2 ล้านขึ้นไป เป็นการตอกย้ำที่ชัดเจนว่า ความคุ้มครองส่วน OPD นี้ ไม่ได้มีการแชร์ความเสี่ยงร่วมกับผู้อื่น แต่เป็นการรับความเสี่ยงไว้กับตนเองและหารเฉลี่ยตามช่วงอายุ ไม่ต่างอะไรกับการออกเงินจ่ายเอง ซึ่งการออกเงินจ่ายเองย่อมจะใช้จ่ายน้อยลงกว่ามาก เพราะหากให้ยริษัทออกให้ บริษัทประกันก็ต้องคิดเบี้ยในกรณีที่เลวร้ายที่สุดไว้แล้วนั้นเอง

OPD กับความเสี่ยงไม่ต่ออายุสัญญา

มาตรฐานใหม่ปี 2564

มาตรฐานสัญญาประกันสุขภาพใหม่ปี 2564 นั้น มีการระบุชัดเจนว่าหากมีการเคลมเกินความจำเป็นทางการแพทย์ บริษัทสามารถไม่ต่อสัญญาประกันสุขภาพได้ ซึ่งโอกาสที่จะเข้าข่ายนี้ได้ง่ายที่สุดก็ย่อมหนีไม่พ้นค่ารักษาแบบ OPD

เพราะเพียงการสงสัยว่าป่วยและเข้าพบแพทย์ แม้ไม่ได้เป็นอะไรก็ต้องเสียค่าตรวจรักษาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่านั่นก็สามารถเคลม OPD ได้ ซึ่งหากเกิดแบบนี้ขึ้นบ่อยครั้งเกินกว่าค่าสถิติโดยเฉลี่ยอย่าง 5 ครั้งต่อปี ก็ย่อมเสี่ยงต่อการไม่ต่ออายุสัญญาทันที และอันตรายอย่างยิ่งหากศัญญา OPD อยู่ภายใต้สัญญาสุขภาพฉบับเดียวกัน

แต่ถ้าสัญญา OPD เป็นสัญญาแยกซื้อต่างหาก อย่างมากก็จะโดนไม่ต่อสัญญาเฉพาะส่วน OPD เท่านั้น ไม่กระทบกับสัญญาสุขภาพฉบับหลัก

OPD เป็นสัญญาที่มีขึ้นมาส่วนหนึ่งเพื่อการตลาด ดังนั้นจำเป็นต้องเข้าใจให้ชัดเจนไม่งั้นหากเป็น OPD ที่มาพร้อมกับสัญญาสุขภาพปกติ  ซึ่ง OPD สามารถส่งผลให้โดนไม่ต่ออายุสัญญาประกันสุขภาพทั้งฉบับหากอยู่ในสัญญาเดียวกันได้ค่ะ

ข้อสังเกต

ต้องระวัง "นักขาย" ประกัน (ไม่ใช่ตัวแทนประกัน) ที่พยายามชูจุดเด่นของ OPD ขึ้นมา โดยไม่ยอมอธิบายถึงเหรียญอีกด้านของ OPD ให้กับลูกค้าฟังทั้งหมด เพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลครบถ้วนก่อนตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เพราะแน่นอนว่า OPD ก็มีข้อดีเพราะช่วยบังคับให้เกิดการออมสำหรับเงินค่ารักษาส่วนนี้ไว้ผ่านการจ่ายเบี้ยประกันได้เช่นกัน

OPD รายครั้ง VS OPD ตามวงเงิน

ควรเลือกแบบใดดีกว่ากัน

จากตารางที่สรุปด้านบนจะเห็นได้ชัดเจนว่า  OPD แบบรายครั้ง แม้จะมีการจำกัดเงินเพียง 2,000 - 2,500 บาทต่อครั้ง และมักต้องออกส่วนต่างเสมอ แต่เมื่ออายุมากขึ้นเช่น 70 ปีเป็นต้นไป โอกาสที่จะใช้ OPD รายครั้งเกิน OPD แบบวงเงินต่อปีก็มีสูงมาก

ดังนั้นแม้ OPD แบบวงเงินดูจะทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องจ่ายส่วนต่าง แต่หากอายุมากขึ้นวงเงินนั้นอาจไม่พอ และอาจต้องจ่ายส่วนต่างที่มากกว่า OPD รายครั้งก็ได้

และข้อควรระวังที่สำคัญคือ หากมี OPD แบบวงเงินต่อปีที่สูง โรงพยาบาลเองย่อมเห็นช่องในการสร้างรายได้ที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกลายเป็นภัยเสี่ยงทำให้ถูกไม่ต่อสัญญาได้

OPD รายครั้งจะคลอบคลุมกว่าเมื่อสูงอายุ จึงเป็นสาเหตุให้เบี้ยประกันสูงกว่า OPD แบบวงเงินต่อปี เช่นกัน

ข้อสังเกต

OPD แบบวงเงินต่อปี ลูกค้าต้องศึกษาดูให้ดีว่า วงเงินที่บริษัทประกันให้นั้นมีจุดประสงค์เพื่ออะไรบ้าง เพราะมีโอกาสสูงที่บริษัทประกันอาจจะดูเหมือนให้วงเงินมาก แต่ก็เพราะมีหลายจุดประสงค์ ไม่ใช่เพียงเพราะค่ารักษาเท่านั้น ดังนั้นหากมีการจ่ายค่ารักษาเกินกว่าจุดประสงค์ที่บริษัทไม่ได้ชี้แจ้งไว้ เช่น เกิน 10,000 บาท ก็มีโอกาสที่ส่วนเกินนั้นจะถูกให้สำรองจ่ายก่อนได้ เพื่อรอฝ่ายพิจารณาอนุมัติ 15-90 วัน

บทสรุปที่ผู้เอาประกันสามารถเลือกได้กับ OPD

แอน ผู้แนะนำการลงทุนและวางแผนประกันชีวิต

หน้าที่ของตัวแทนประกัน / ที่ปรึกษาการเงิน / นักวางแผนการเงิน
คือ อธิบายทุกด้านให้ลูกค้าทราบ เพื่อให้ลูกค้าได้ตัดสินใจได้ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน และ OPD ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการเงินที่มีมุมมมองทั้งสองด้าน

มี OPD ดีหรือไม่

  • ควรมี OPD ถ้าหาก
    • มองว่าช่วยในการออมเงินในการดูแลค่ารักษา OPD โดยอัตโนมัติ
    • ถ้าเลือกได้ควรเลือก OPD เป็นสัญญาแยกต่างหากกับสัญญาสุขภาพหลัก
    • ถ้าสัญญาประกันสุขภาพที่สนใจบังคับให้มี OPD ไม่ได้เลือกประกันสุขภาพนี้เพราะมี OPD
    • ถ้าเลือกได้ควรเลือกเป็น OPD แบบรายครั้งอย่างน้อยมีส่วนต่างให้ต้องจ่ายเองเพิ่ม ทำให้ใช้ OPD เฉพาะที่จำเป็น
    • ถ้าจำเป็นต้องมี OPD แบบวงเงินรายปี สามารถใช้เท่าที่จำเป็นได้ ไม่ใช่จะใช้เพื่อให้ครบวงเงิน เพื่อป้องกันบริษัทประกันอาจไม่ต่ออายุสัญญา และต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่า OPD นี้ บริษัทต้องการให้ใช้เพื่ออะไรบ้าง เช่น ใช้รวมเป็นค่าตรวจวินิจฉัย MRI กายภาพบำบัดร่วมด้วย เป็นต้น
  • ไม่ควรเลือก OPD ถ้าหาก
    • มองว่าสามารถออมเงินเพื่อจัดการค่าใช้จ่ายนี้เองได้โดยใช้เงินที่น้อยกว่าหลายแสนบาท
    • สัญญาสุขภาพที่สนใจมี OPD ส่วนการตรวจวินิจฉัย และ ติดตามการรักษาหลังเป็นผู้ป่วยในมาก่อนแล้ว

สรุป:

พยายามเลือกประกันสุขภาพเน้นไปที่ความคุ้มครองหลักที่จำเป็น มากกว่าจะนำ OPD มาเป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกประกันสุขภาพ เนื่องจากเมื่อพิจารณาตลอดอายุสัญญาแล้วทุกบริษัทประกันที่ยกตัวอย่างมาในบทความมักคิดเบี้ย OPD ที่สูงมากกว่าที่ผู้ทำประกันมีโอกาสได้ใช้จริง ๆ หลายแสนบาทถึงล้านบาท และพยายามเปรียบเทียบความคุ้มครองพิเศษต่าง ๆ ที่แต่ละแผนประกันสุขภาพให้มาเพิ่ม เช่น ค่าทำฟัน ค่าอวัยวะเทียม ค่าฉีดวัคซีน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าทำคลอด  เป็นต้น ว่าทำให้เบี้ยประกันสูงขึ้นมากเพียงใดเมื่อเทียบกับโอกาสการใช้งานจริงในแต่ละปี เพราะเราจำเป็นต้องจ่ายเบี้ยส่วนนี้ในทุก ๆ ปีแม้อาจไม่ใช้ความคุ้มครองเหล่านี้เลยนั้นเองค่ะ

วิธีเลือกประกันสุขภาพเหมาจ่ายอย่างไรไม่ให้โดน "ป้ายยา" ด้วยคำโฆษณา?

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • Ruchira Taboonruang

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก