ขั้นตอนดำเนินการตอบข้อเสนอใหม่ของผลพิจารณา (Counter Offer)

หลังจากท่านยื่นคำขอทำประกันครั้งแรก หรือ ยื่นเอกสารเพิ่มเติมจากการติด Memo เรียบร้อยแล้ว โอกาสที่ผลการพิจารณาจะเป็น การยื่นข้อเสนอใหม่ หรือที่เรียกว่า COUNTER OFFER จะมีสถิติค่อนข้างสูงกว่า 50% (คลิกดูสถิติการรับประกัน) ดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. การยกเว้นความคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับโรคหรืออาการที่มีโอกาสรักษาหายขาดได้ แต่ยังไม่ได้รับการรักษาให้หายขาดก่อนทำประกัน หรือ รักษาแล้วแต่ยังไม่หายขาดนานเกินระยะเวลา 'เฝ้าระวังกลับมาเป็นซ้ำ'  ซึ่งมักจะเกิดกับโรคที่มีโอกาสเป็นสูง เช่น ถุงน้ำ ซีสต์ เนื้องอก กรดไหลย้อน พาหะไวรัสตับอักเสบ ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยจะส่งผลให้มีโอกาสยกเว้นความคุ้มครองในบริเวณที่ปรากฏร่วมด้วย เช่น ทรวงอก มดลูก รังไข่ สำไส้ ตับ ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น ทั้งนี้หากโรคที่เป็นมีความเสี่ยงสูง อาจจะไม่ได้มีการยกเว้นที่ระบุเป็นชื่อโรคเจาะจง แต่อาจเน้นระบุเป็นชื่ออวัยวะทั้งอวัยวะได้ค่ะ
  2. การยกเว้นความคุ้มครองของโรคเรื้อรังที่เป็นมาก่อนทำประกัน มักจะเป็นข้อยกเว้นที่เกี่ยวกับโรคและอาการที่ยากต่อการรักษาให้หายขาดได้ เช่น ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ เก๊าต์ ไขข้ออักเสบ เป็นต้น โดยโรคหรืออาการดังกล่าวทางฝ่ายพิจารณาอาจมีให้เขียนใบแถลงสุขภาพแบบเจาะจงโรคเพิ่มเติม เพื่อใช้ในการพิจารณาร่วมด้วยค่ะ
  3. การเพิ่มเบี้ยรับประกันภัย ทั้งเบี้ยประกันชีวิต และ/หรือ เบี้ยประกันสุขภาพ การพิจารณาลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไม่สามารถระบุอวัยวะหรือระบุชื่อโรคที่จะยกเว้นความคุ้มครองได้ ด้วยเพราะอาการที่เป็นอยู่สามารถส่งผลให้สุขภาพโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานได้ เช่น ค่าดัชนีมวลกายที่สูงเกิน 32 ค่าความดันที่เกิน 129 ค่าน้ำตาลที่เกิน 5.7 หรือ มีประวัติการรักษาอาการนอนไม่หลับ หรือ มีประวัติรักษาโรคด้านสุขภาพจิตที่หายนานกว่า 1-2 ปีขึ้นไปแล้ว เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีโอกาสที่จะถูกเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพตั้งแต่ 25%-200% รวมถึงอาจมีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันชีวิตร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่อต้องปรับเบี้ยประกันสุขภาพเกิน 50% เป็นต้นไป

ข้อควรทราบ :

  • ข้อเสนอข้อ 1 โดยส่วนใหญ่จะสามารถยื่นทบทวนผลการยกเว้นได้ ด้วยเพราะแพทย์ยืนยันว่ารักษาหายขาดแล้ว และต้องหายขาดเกินระยะเวลาที่กำหนดของโรคนั้น ๆ (เพื่อมั่นใจว่าจะไม่กลับมาเป็นซ้ำและหายขาดจริง ๆ) ในขณะที่ข้อ 3 หากอาการยังไม่เลวร้ายถึงขนาดแพทย์ระบุว่าเป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน แล้วต้องรับประทานยารักษา ก็ยังสามารถดูแลร่างกาย ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และนำผลตรวจสุขภาพอย่างน้อย 3 ครั้ง ที่ค่าเป็นปกติเพื่อนำมายื่นทบทวนได้ ในขณะที่ข้อ 2 จะค่อนข้างยากที่จะหายขาดได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษานั้นเองค่ะ
  • ฝ่ายพิจารณาจำเป็นต้องยื่นข้อเสนอตามประวัติการรักษาที่ได้รับมาจากโรงพยาบาล เพราะถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบ และเป็นหลักฐานที่ถูกตรวจสอบในภายหลังได้ ซึ่งหากมีการพิจารณาผิดพลาดและไม่ถี่ถ้วน ย่อมเกิดโทษต่อฝ่ายพิจารณาเอง รวมถึงต่อเงินกองกลางของผู้เอาประกันทุกคนที่มาเฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกัน และไม่มีเจตนาจะได้รับประโยชน์ตอบแทนใด ๆ เพิ่มเติมในการขอยกเว้นหรือเพิ่มเบี้ยโดยไม่มีข้อบ่งชี้ เพราะเป็นโทษร้ายแรงเช่นกัน

เลือกหัวข้อที่สนใจ


ทำไมต้องมีข้อเสนอ หรือ COUNTER OFFER

โดยปกติทางฝ่ายพิจารณาจะไม่ได้แจ้งสาเหตุของข้อเสนอมาทันที แต่ทางเราจะประสานสอบถามสาเหตุเพิ่มเติมรวมถึงแนวทางการทบทวนกับทางฝ่ายพิจารณาในทุกครั้งที่ได้รับข้อเสนอยกเว้นความคุ้มครอง

ซึ่งในขั้นตอนนี้โดยส่วนตัวอยากให้ท่านมีประวัติการรักษาเก็บไว้กับตนเองด้วย (หากท่านเป็นผู้ขอเอาประวัติเองมักจะมีสำเนาอยู่) เพื่อสามารถดูประวัติตนเองประกอบสาเหตุที่ทางฝ่ายพิจารณา ช่วยให้สามารถสอบถามเพิ่มเติมกับทางฝ่ายพิจารณาผ่านทางเราได้ง่ายมากขึ้น

โดยหากท่านเห็นว่าข้อเสนอยังไม่โอเค และยังไม่ต้องการตอบข้อเสนอ ท่านจะมีเวลาประมาณ 15 วัน ในการลองยื่นประวัติที่ท่านมีให้กับบริษัทอื่น ๆ พิจารณา และพอได้ข้อเสนอมาจากทุกบริษัท ท่านจะสามารถเลือกข้อเสนอที่ดีที่สุดได้ (นี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทางเราอยากให้ท่านได้ขอประวัติการรักษาด้วยตนเองโดยเฉพาะในรูปแบบไฟล์ หรือนำประวัติที่ได้มาสแกนสีให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ เพราะหากขอประวัติใหม่อีกอาจจะไม่ทัน 15 วัน)

ทั้งนี้ไม่ว่าผลตรวจสุขภาพหรือผลการรักษาที่แพทย์ฝั่งการรักษาจะว่าผลเป็นปกติหรือยังไม่ต้องรักษาอย่างไรก็ตาม แต่ในแพทย์ฝั่งผู้พิจารณารับความเสี่ยงแล้ว จะพิจารณามากกว่านั้นโดยเฉพาะในแง่ความเสี่ยง ดังนั้นการตรวจสุขภาพโดยที่ยังไม่ได้มีประกันมาก่อน จึงมีโอกาสสูงที่จะได้รับข้อเสนอที่ทำให้ท่านแปลกใจได้ค่ะ

1.1 ผลตรวจสุขภาพ หรือ ประวัติการรักษา มีข้อบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่จะเป็นหรืออาจจะกลายเป็นโรคนั้น ๆ ได้

ในข้อนี้ท่านอาจจะต้องตกใจ เพราะไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้อยู่ด้วย ซึ่งฝ่ายพิจารณาเองนั้นจะพิจารณาจากเพียงเอกสารที่ได้รับ ซึ่งหลายครั้งอาจไม่ได้เคลียร์ชัดเจนเพราะข้อมูลอาจไม่เพียงพอ

แต่ตามกฏแล้วหากมีข้อบ่งชี้ว่าสามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ ฝ่ายพิจารณาก็ต้องยื่นข้อเสนอเพื่อขอยกเว้นความคุ้มครอง ซึ่งถ้าหากท่านไม่เห็นด้วย และไม่เคยทราบว่าเป็นโรคนั้น ๆ มาก่อน อาจด้วยเพราะไม่มีประวัติการรักษาอยู่กับตัว หรือไม่ทราบศัพท์ทางการแพทย์ หรือค่าสุขภาพต่าง ๆ โดยทราบเพียงแต่ว่าแพทย์ได้แจ้งว่าเป็นปกติเท่านั้น

ก็สามารถขอสาเหตุเพิ่มเติมกับทางฝ่ายพิจารณารวมถึงวันที่ที่เป็นสาเหตุในประวัติ พร้อมขอทราบว่าจะต้องตรวจอะไรเพิ่มเติม เพื่อที่ทางฝ่ายพิจารณาจะสามารถทบทวนนำข้อยกเว้นออกได้ทั้งก่อนหรือหลัง เริ่มความคุ้มครอง

*อย่างไรก็ตาม การตรวจเพิ่มเติมเพื่อขอทบทวนหรือโต้แย้งข้อเสนอนั้น ตามเงื่อนไขของทุกบริษัทประกันแล้วทางผู้ขอทำประกันจะต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายด้านการตรวจวินิจฉัยนี้

1.2 โรคที่เป็นอยู่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น หรือสามารถเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องได้

ยกตัวอย่างเช่น กรดไหลย้อน ที่สามารถนำไปสู่ปัญหาตั้งแต่โรคกระเพราะ ลำไส้เล็ก จนร้ายแรงถึงมะเร็งระบบทางเดินอาหารได้ จึงส่งผลให้ต้องยกเว้นความคุ้มครองทั้งหมดของกระเพราะและลำไส้เล็ก เป็นต้นค่ะ

หรือโรคยอดฮิตในผู้หญิงอย่าง ถุงน้ำรังไข่ ซีสต์ และเนื้องอก ที่มีความเสี่ยงสามารถพัฒนาไปเป็นเนื้อร้ายได้ หรือสามารถขยายขนาดจนไปเบียดบังการทำงานของอวัยวะใกล้เคียงได้ จึงทำให้จะโดนยกเว้นในระดับอวัยวะที่เกี่ยวข้องทันทีค่ะ

ซึ่งการยกเว้นนี้เป็นอีกหนึ่งการยกเว้นที่ค่อนข้างทำให้ผู้ขอเอาประกันตกใจมาก เพราะ ไม่เคยทราบมาก่อนว่าอาการเล็กน้อยที่เพิ่งตรวจพบหรือเป็นมาสักพักและแพทย์ที่ตรวจก็แจ้งว่าไม่ได้เป็นอันตรายอะไรนั้น

จะถูกนำมาเป็นข้อยกเว้นถึงระดับอวัยวะแบบนี้ จึงทำให้อาจจำเป็นต้องลองมองในแง่มุมของผู้รับโอนความเสี่ยงเข้าช่วย ว่าหากเราเป็นผู้รับโอนความเสี่ยงเองและเห็นว่ายังมีความเสี่ยงนั้นอยู่ ซึ่งถ้าหากยังยอมรับโอนความเสี่ยงนี้เข้ามาในกลุ่มแชร์ความเสี่ยง ก็ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มาก่อนได้ค่ะ

แต่ทั้งนี้ก็สามารถโต้แย้งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ว่า จะหมายรวมไปถึงโรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีสาเหตุจากอาการนี้ แต่อยู่บนอวัยวะเดียวกันด้วยหรือไม่ ซึ่งทางทีมแพทย์ก็จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้อีกทีค่ะ

โดยแนวทางการแก้ไขข้อยกเว้นนี้ที่แน่นอนที่สุดคือ การรักษาโรคหรืออาการที่ทำให้เกิดข้อยกเว้นนี้ให้หายขาด โดยได้รับคำยืนยันจากแพทย์ และไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษาของโรคหรืออาการที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องอีกเลย มามากกว่า 5 ปี ก็จะสามารถยื่นขอให้ทางฝ่ายพิจารณาทบทวนข้อยกเว้นนี้ได้ค่ะ

และทำให้สามารถตอบรับข้อเสนอข้อยกเว้นนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มครองในอวัยวะและโรคส่วนอื่น ๆ ได้ก่อน แทนการเก็บความเสี่ยงทุกโรคไว้ค่ะ และวิธีนี้จะค่อนข้างปลอดภัย เพราะไม่ทราบว่าในระหว่าง 5 ปีนี้ จะเกิดโรคใหม่อะไรขึ้นบ้างอีกนั้นเองค่ะ

วิธีการตอบข้อเสนอใหม่ผ่านระบบยืนยันด้วยตนเอง

หลังจากท่านได้ link จากตัวแทน หรือใน SMS/Email จากระบบของบริษัท ท่านสามารถ Copy ลิงก์ไปเปิดใน Chrome หรือ Safari และดำเนินการตอบข้อเสนอใหม่ได้ทันที โดยระยะเวลาในการดำเนินการ ภายใน 15 วัน (ซึ่งในเอกสารจะมีการระบุวันที่ชัดเจน) โดยวิธีตอบข้อเสนอมีดังนี้ค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 กรอกเลขที่บัตรประชาชนตามที่ระบุในใบคำขอ

Counter Offer 1
Counter Offer Mobile 1

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ระบบจะแสดง pop-up เพื่อดูขั้นตอนตอบข้อเสนอใหม่ด้วยตนเอง หากท่านไม่ต้องการดูขั้นตอน สามารถกดปุ่ม x เพื่อปิด pop-up message ได้เลยค่ะ

Counter Offer 2
Counter Offer Mobile 2

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบดูข้อเสนอใหม่ของบริษัทฯ และกดปุ่ม ถัดไป

Counter Offer 3
Counter Offer Mobile 3

ขั้นตอนที่ 4 กรอก "รหัสหลังบัตรประชาชน" ของท่าน เพื่อยืนยันตัวตนก่อนตอบข้อเสนอ

ข้อควรทราบ : กรณีระบบตรวจสอบข้อมูล กับ ฐานข้อมูลกรมการปกครองแล้ว ข้อมูลไม่ถูกต้อง จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้ กรุณาติดต่อแจ้งตัวแทน หรือ Call Center เพื่อตรวจสอบหาข้อผิดพลาดในการกรอกข้อมูลค่ะ

Counter Offer 4
Counter Offer Mobile 4

ขั้นตอนที่ 5 ตอบข้อเสนอ ยอมรับ/ไม่ยอมรับ และขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบคำขอ

Counter Offer 5

ข้อควรทราบ 1 : ท่านสามารถเลือก ยอมรับ หรือ ไม่ยอมรับ ข้อเสนอใหม่ของบริษัทฯ ได้  

  • กรณีติ๊กเลือก "ไม่ยอมรับ" 
    • จากนั้นสามารถไปขั้นตอนเพื่อยืนยันการตอบข้อเสนอ
    • โดยจะใช้เวลาประมาณ 7-10 วันทำการในการคืนเบี้ยประกัน ในกรณีชำระเบี้ยประกันด้วยบัตรเครดิต) หรือ ใช้เวลาประมาณ 3-5 วันทำการ ในกรณีชำระเบี้ยประกันด้วย QRCode
  • กรณีติ๊กเลือก "ยอมรับ" แต่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบางอย่างในใบคำขอทำประกัน จะสามารถระบุแจ้งเพิ่มเติมได้โดยติ๊กเลือก "มี" ในหัวข้อ ข้อความหมายเหตุ/ ขอเปลี่ยนแปลงถึงผู้พิจารณา จากนั้นจะปรากฏกล่องข้อความให้ท่านสามารถกรอกข้อมูลการเปลี่ยนที่ต้องการได้ เช่น
    • ขอเปลี่ยนแปลงอีเมล ผู้รับผลประโยชน์ 
    • ขอเปลี่ยนแปลง ยกเลิกไม่เอาสัญญาเพิ่มเติมบางสัญญา เช่น "ขอยกเลิกสัญญา อบ.3 และ ฆจ.3"
    • ขอเปลี่ยนแปลง เพิ่ม/ลด ทุนประกัน เช่น "ขอเพิ่มทุน สัญญาประกันชีวิตห่วงรักจากทุน 200,000 บ. เป็นทุน 500,000 บ."
    • จากนั้นไปหน้าถัดไป เพื่อยืนยันการตอบข้อเสนอ โดยกรณีการตอบรับแบบมีการขอเปลี่ยนแปลงระบบจะมีการสร้างเอกสารขอเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ เพื่อส่งให้ทั้งฝ่ายพิจารณา ผู้ทำประกัน และ ตัวแทน ต่อไป
    • ซึ่งบริษัทจะมีพิจารณาสิ่งที่ขอเปลี่ยนแปลง และหากอนุมัติจะมีการแจ้งให้ทราบภายใน 3-5 วันทำการถัดไป
Counter Offer Mobile 5
Counter Offer Mobile 6

ขั้นตอนที่ 6 ยืนยันการตอบรับแทนการเซ็นลายเซ็นด้วยรหัส OTP

กดขอรหัส OTP

Counter Offer 6
Counter Offer 7
Counter Offer Mobile 7

หมายเหตุ: หากยืนยันแล้วขึ้นข้อความว่า "ไม่สามารถบันทึกรายการได้"  ดังภาพด้านล่าง ให้ท่านกด ย้อนกลับ และตรวจสอบว่าท่านได้เปิดลิงก์นี้ผ่าน EMAIL หรือ copy link ไปเปิดใน chorme หรือ safari หรือไม่ เมื่อแก้ไขแล้วท่านสามารถกดยืนยันตนอีกครั้งได้ หากยังไม่สำเร็จ โปรดติดต่อเราเพื่อประสานกับฝ่ายไอที ให้ดำเนินการแก้ไขให้ต่อไปค่ะ

IMG 4027

ขั้นตอนที่ 7 ระบบจะส่ง SMS/E-mail แจ้ง พร้อมกับส่ง E-mail แจ้งตัวแทนเพื่อรับทราบว่า ท่านได้ตอบข้อเสนอใหม่แล้ว

วิธีชำระเบี้ยหลังตอบข้อเสนอใหม่แบบเลือก "ยอมรับ"

กรณีที่เบี้ยประกันมากกว่า 50,000 บาทและได้เลือกชำระเบี้ยภายหลัง ท่านสามารถดำเนินการชำระเบี้ยผ่านระบบด้วยตัวท่านเองได้ทันทีค่ะ (ซึ่งระยะเวลารอคอยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ชำระเบี้ยและตอบรับข้อเสนอสำเร็จค่ะ)

ในกรณีที่ชำระเบี้ยประกันก่อนการพิจารณาจะสามารถปิดหน้าจอหลังการตอบรับข้อเสนอได้ โดยระยะเวลารอคอยจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ตอบรับข้อเสนอค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 เลือกช่องทางชำระเบี้ยประกัน

ช่องทางชำระเบี้ยประกันในระบบ
Counter Offer Mobile 8

ขั้นตอนที่ 2 หลังจากชำระเบี้ยประกันเรียบร้อย ระบบจะส่ง SMS/E-mail แจ้งยืนยัน และส่งใบเสร็จชั่วคราวให้ท่านทาง E-mail ส่วนใบเสร็จฉบับจริงบริษัทฯ จะจัดส่งให้ท่านตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ค่ะ จากนั้นรอประมาณ 1-2 วันทำการ จะมีการแจ้งการออกกรมธรรม์ส่งถึงท่านต่อไปค่ะ

บทสรุปกับการตอบข้อเสนอใหม่

เนื่องจากประกันสุขภาพเป็นประกันที่จะมีการเช็คประวัติย้อนหลังได้อย่างยาวนาน อย่างน้อย 5 ปีก่อนทำประกันและ 3 ปีหลังทำประกัน การปกปิดประวัติสุขภาพไว้จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงอย่างมากที่จะทำให้ท่านไม่สามารถต่อสู้ใด ๆ ได้ โดยเฉพาะการมีประวัติที่มีข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคนั้น ๆ มาก่อนทำประกัน

ซึ่งถ้าหากท่านปกปิดประวัติบางอย่างไว้ ท่านอาจจะไม่ต้องได้ติด MEMO และก็จะไม่ได้นำไปสู่ขั้นตอน COUNTER OFFER สุดท้ายก็อาจทำให้ท่านไม่สามารถพิสูจน์ข้อสงสัยถึงปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ แต่พอถึงตอนที่ท่านแอดมิตเข้ารับการรักษา แล้วมีการเช็คประวัติย้อนหลังแล้วพบว่าท่านมีการปกปิดข้อบ่งชี้ที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคมาก่อน

จะส่งผลให้ท่านจะไม่ได้รับโอกาสในการพิสูจน์ใด ๆ ว่าท่านเป็นหรือไม่ได้เป็นมาก่อน จริงหรือไม่ตามข้อสงสัย เพราะไม่สามารถย้อนเวลากลับไปพิสูจน์ในช่วงก่อนทำประกันได้แล้ว และอาจส่งผลที่เลวร้ายที่สุดคือ การยกเลิกประกันและคืนเบี้ยปีนั้นเลยก็ได้ค่ะ หรืออย่างน้อยท่านจะไม่สามารถเคลมค่ารักษาครั้งนั้นได้และโดนบันทึกสลักหลังยกเว้นความคุ้มครองทันที

ดังนั้น การทำประกันสุขภาพที่มีขั้นตอนยุ่งยากมาก ๆ กว่าที่จะรับประกันได้นั้น จะเหมือนกับการพูดคุย การทะเลาะกันให้เคลียร์ก่อน ให้เข้าใจกันก่อนทั้ง 2 ฝ่าย ก่อนที่จะทำสัญญาใด ๆ ซึ่งดีกว่าการทำไปก่อนแล้วมามีปัญหาทะเลาะกันภายหลัง ซึ่งจะเสียความรู้สึกกว่ามากค่ะ

รวมไปถึงข้อยกเว้นก็อาจมีประโยชน์ เพราะเป็นการเน้นให้ท่านดูแลสุขภาพเป็นประจำ และได้รักษาโรคหรืออาการที่เป็นอยู่ให้หายขาด เพื่อมีโอกาสที่จะยื่นทบทวนการพิจารณาข้อยกเว้นใหม่ได้ด้วยค่ะ

การโอนความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่แข่งกับเวลา เพราะไม่มีใครทราบว่าจะโชคร้ายไปตรวจเจอโรคที่ต้องโดนยกเว้นทั้งอวัยวะเมื่อไรนั่นเองค่ะ

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • แอนนี่ค่ะ2

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก