คือ การเก็บเงินอย่างรู้ 'วัตถุประสงค์' รู้ 'ระยะเวลา' และใช้ เครื่องมือการเงิน ให้ถูก 'ลำดับ' มากที่สุด
เพราะนอกจากที่เครื่องมือการเงินจะช่วยป้องกันไม่ให้นำเงินที่ออมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้ว
ยังช่วยทำให้สามารถประหยัดเงินที่ต้องออมตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้มากกว่าหลักล้านบาทขึ้นไป ทั้งยังได้สิทธิลดหย่อนภาษีและเงินคืนภาษีกลับมาอีกด้วย
ที่สำคัญที่สุด คือ เครื่องมือการเงินจะช่วยให้สามารถ เกษียณได้อย่างมีความสุข ได้คลายความกังวลทั้งในส่วน ค่ากิน ค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล ในตอนเกษียณที่ยากจะกลับมาทำงานได้ดีเหมือนเดิมอีก
อย่างที่ทราบกันว่า ยิ่งกำหนดวัตถุประสงค์ของเงินและระยะเวลาที่ชัดเจนมากเท่าใด เครื่องมือการเงินจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น
เช่น เครื่องมือการกู้เงิน หากกู้โดยไม่ระบุวัตถุประสงค์และเวลาใช้คืนอย่างบัตรกดเงินสด ดอกเบี้ยจะสูงถึง 25% ต่อปี ซึ่งสูงกว่า ดอกเบี้ย 3%-7% ต่อปี ของการกู้เพื่อซื้อบ้านที่มีระยะเวลาการผ่อนที่ชัดเจน อย่างมาก
โดยเครื่องมือการออมก็เป็นเช่นเดียวกับการกู้ คือ หากระบุวัตถุประสงค์ว่าต้องการออมเพื่ออะไร และนานเท่าใดอย่างชัดเจน ก็จะยิ่งได้เครื่องมือการออมที่ตอบโจทย์มากที่สุดตามมา
และแน่นอนว่า ดีกว่าแบบไม่ระบุวัตถุประสงค์และระยะเวลาอย่างมาก เพราะแบบที่ไม่ระบุเหล่านี้ สุดท้ายแล้วจะหนีไม่พ้นการต้องเลือกฝากเงินกับธนาคารไว้ก่อน ซึ่งได้เพียงดอกเบี้ยธนาคารที่ประมาณ 1% ต่อปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องมือการออม โดยไม่กำหนดวัตถุประสงค์และผิดลำดับเวลาอยู่เสมอ เช่น ใช้เพื่อการออมระยะกลางประมาณ 10 ปี (กับเครื่องมือการออมที่สามารถทำตอนอายุเท่าใดก็ได้)
โดยมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อผลประโยชน์เงินคืนเล็กน้อยระหว่างปี ร่วมกับได้เงินคืนภาษีที่ได้จากการลดหย่อน แต่ไม่ระบุวัตถุประสงค์ว่าเงินคืนกับเงินออมที่ได้จะเอาไปทำอะไร
ทำให้สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเงินทั้งหมดทั้งที่ออมและได้เพิ่มมานี้ จะนำไปใช้เพื่ออะไร มีแต่เพียงความต้องการที่อยากได้เงินมากขึ้นเท่านั้น
ส่งผลให้พอครบกำหนดเวลา 10 ปี เงินออมก้อนนี้ก็มักจะหมดไป โดยจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า..ได้นำไปใช้ในเรื่องอะไรบ้าง
และหากเลวร้ายมากขึ้น คือ อาจเป็นการนำเงินออมไปใช้ เพื่อสร้างหนี้ก้อนใหม่ ก้อนใหญ่ ผ่านการดาวน์ของชิ้นใหญ่ที่อยากได้ในขณะนั้น ๆ ก็เป็นได้
นี่จึงกลายเป็นการออมแบบเกือบสูญเปล่าและยังอาจสร้างภาระหนี้ใหม่ขึ้นมา เพียงเพราะไม่ระบุเป้าหมายหรือหน้าที่ให้กับเงินออม
โดยปัญหาการออมหรือเก็บเงินแบบขาดวัตถุประสงค์นี้ มักจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับเงินก้อนใหญ่มา อย่างเช่นตอน ได้รับโบนัส ถูกล็อตเตอรี่ หรือ ทำธุรกิจถูกจังหวะ เป็นต้น
ซึ่งเงินก้อนใหญ่นี้ มักจะถูกใช้ไปเพื่อการออมลดหย่อนภาษี ที่เน้นระยะเวลาออมที่สั้นที่สุด แล้วปีหน้าค่อยมาวางแผนกันอีกที ต่อไปแบบนี้เรื่อย ๆ
จึงทำให้เครื่องมือการออมที่ถูกเลือกใช้ จะหนีไม่พ้น ประกันสะสมทรัพย์ระยะสั้น และ/หรือ SSF, ThaiESG เท่านั้น
ทั้งที่จริง ๆ แล้วหากเริ่มศึกษาเครื่องมือการออมแต่ละอย่างอย่างจริงจัง จะเริ่มเห็นช่องทางที่จะสามารถช่วยประหยัดเงินได้หลักล้านบาทขึ้นไปได้ไม่ยากนัก
เพียงแต่มักจะเริ่มช้าเกินไป จน อายุ หรือ สุขภาพ เกินระยะเวลาที่จะสามารถใช้เครื่องมือการเงินเหล่านี้ได้
โดยเพื่อที่จะสามารถจับคู่ เงินที่จะออม กับ เครื่องมือการออมที่ลดหย่อนภาษีได้ อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบศึกษาทำความเข้าใจในเครื่องมือการออมแต่ละแบบโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะกับเครื่องมือที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ ดังหัวข้อต่อไปนี้
เครื่องมือการออม
จำเป็นต้องมี 'ผู้ดูแล' หรือไม่
เครื่องมือการออมนั้น ไม่ใช่ทุกเครื่องมือที่จะจำเป็นต้องมีผู้ดูแลที่คอยช่วยแนะนำ และ ประสานงานกับบริษัทให้
จึงทำให้การเลือกใช้เครื่องมือการออม จะไม่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่อง ผู้ดูแล ให้นำหน้าผลประโยชน์ที่ได้จากเครื่องมือการออมอย่างเดียวเสมอไป
โดยจะสามารถแบ่งออกเครื่องมือการออมในแง่มุมความจำเป็นที่ต้องมีผู้ดูแล เป็น 2 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้
เครื่องมือการเงินแบบนี้มักจะเป็นกองทุนรวมที่มีการวางแผนการลงทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์การเงิน จึงทำให้จำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือผู้ที่สามารถติดตามและคำนวณเงินลงทุนใหม่ เพื่อยังคงให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรกได้สำเร็จ
รวมไปถึงเครื่องมือที่เป็นประกันที่เน้นความคุ้มครองเป็นหลัก ทั้งสุขภาพ โรคร้าย ทุพพลภาพและชีวิต
ซึ่งความคุ้มครองเหล่านี้มาพร้อมเงื่อนไขและข้อยกเว้นต่าง ๆ จึงทำให้ประกันลักษณะนี้บางเหตุการณ์จำเป็นต้องมีการพิจารณาตีความอีกครั้งว่าอยู่ในขอบเขตความคุ้มครองตามเงื่อนไขหรือไม่
ด้วยเพราะเงินส่วนที่จะใช้คุ้มครองไม่ใช่เงินของผู้ทำประกันผู้เดียว แต่เป็นเงินของผู้อื่นอีกหลาย ๆ คนที่ร่วมเฉลี่ยความเสี่ยงและทำประกันร่วมกัน
ทำให้ประกันลักษณะนี้จึงควรมีผู้ที่ช่วยประสานงาน
ช่วยติดตามทำบันทึกต่าง ๆ กับทางบริษัท
ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่ไม่ทำความเข้าใจก่อนซื้อ ผู้ขายที่เน้นทำงานระยะยาวมักจะหลีกเลี่ยง เพราะมักจะตามมาด้วยข้อขัดแย้งที่เกิดจากการไม่พร้อมทำความเข้าใจในภายหลัง และทำให้การประสานงานเป็นเรื่องยากในระยะยาว
เครื่องมือการเงินแบบนี้มักจะเป็นประกันที่เน้นการออมเป็นหลัก สัญญามีความชัดเจนสูงอยู่ในตัว ไม่ต้องผ่านการพิจารณาหรือตีความใด ๆ เพิ่มเติมอีก
สามารถทำได้แม้มีโรคประจำตัว เพราะความคุ้มครองที่ให้จะเป็นความคุ้มครองในเงินออมเท่านั้น หรือจ่ายเบี้ยเท่าใดได้ทุนชีวิตเท่านั้น (หรือ "เบี้ยเท่าทุน")
ประกันลักษณะนี้ ผู้ช่วยประสานงานจะไม่ค่อยมีความจำเป็นภายหลังการทำสัญญา
แต่ก่อนที่จะทำสัญญา..จะมีจำเป็นอย่างมาก ในด้านการช่วยอธิบายและคำนวณเปรียบเทียบ เพื่อหาแบบประกันที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดตามเงื่อนไขที่ต้องการ อย่างเช่น ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ หรือ ประกันชีวิตที่เน้นการออม เป็นต้น
โดยบริษัทประกันมักไม่ต้องการให้เปรียบเทียบผลตอบแทนตรง ๆ ได้ง่าย จึงมักมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เพิ่มความซับซ้อนในการคำนวณเปรียบเทียบระหว่างบริษัทขึ้นมา
ทำให้หลายครั้งผู้ทำประกันรู้สึกเปรียบเทียบยาก จึงตัดสินใจเลือกซื้อแบบประกันผ่านการเชื่อใจผู้ขายและชื่อเสียงบริษัท แทนการได้คำนวณเปรียบเทียบผลประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น และลงเอยด้วยการ จ่ายเงินแพงขึ้นถึงหลักแสนหลักล้านบาทโดยไม่รู้ตัว
หลังจากทราบแล้วว่า การเลือกเครื่องมือการออมจำเป็นต้องพิจารณาผู้ดูแลหรือไม่ สิ่งต่อไปที่ต้องพิจารณา คือ บทบาทหน้าที่ของแต่ละเครื่องมือการออม รวมถึงการเปรียบเทียบระหว่างเครื่องมือ ในบทบาทเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เห็ฯภาพชัดเจนว่า
เพราะเหตุใดจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ให้เงินที่จะออม ก่อนที่จะเริ่มออม และ เลือกใช้เครื่องมือการออมแต่ละแบบที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน
บทบาทหน้าที่แต่ละเครื่องมือการออม
สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลือกใช้เครื่องมือการออม คือ บทบาทหน้าที่ หรือ วัตถุประสงค์ของเครื่องมือการออมแต่ละแบบ โดยเฉพาะแบบที่ลดหย่อนภาษีได้ รวมไปถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการออมของแต่ละเครื่องมือ ดังต่อไปนี้
1. ประกันชีวิต
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [NEEDs]
- สำหรับส่งเงินออมต่อให้คนข้างหลังเมื่อเสียชีวิต โดยไม่ต้องผ่านการจัดตั้งผู้จัดการมรดก ไม่ผ่านเจ้าหนี้ และไม่ต้องเสียภาษี
- เพื่อให้เงินออมนี้ได้เป็น ทุนการศึกษาให้ลูก ได้ช่วยจัดการกับภาระต่าง ๆ ที่ทิ้งไว้ รวมถึงได้ช่วยในการปรับตัวของครอบครัวภายหลังการจากไป
ระยะเวลาการออม :
- 5-20+ ปี
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [RISKs]
- ปกป้องเงินเก็บจากการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยหากจำเป็นต้องใช้เงินที่ออมนี้จริง ๆ จะสามารถนำออกมาใช้ได้ผ่านการกู้กรมธรรม์ที่ต้องมีการคืนเงินที่กู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ยืมไป
- ให้ความคุ้มครองชีวิตทันทีที่สูงกว่าเงินที่ออมก้อนแรกได้สูงสุดถึงกว่า 40-250 เท่า หรือ กว่า 2-5 เท่าของเงินที่ออมทั้งหมดในระยะเวลา 5-20 ปี ตามแต่อายุที่เริ่มทำประกัน
หากใช้เครื่องมือการลงทุนแทน :
- การลงทุนต้องใช้เวลานานหลายปี กว่าที่เงินจะเติบโตได้เท่ากับความคุ้มครองชีวิตที่ได้ในทันที รวมถึงเงินลงทุนส่งต่อให้คนข้างหลังได้ยากกว่า และ อาจถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ง่ายกว่า
2. ประกันโรคร้ายแรง
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [NEEDs]
- สำหรับเป็นเงินชดเชยยามขาดรายได้ ทั้งในระหว่างการรักษาโรคร้ายแรง และการปรับตัวภายหลังการรักษา
ระยะเวลาการออม :
- 20+ ปี
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [RISKs]
- ปกป้องเงินเก็บจากการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยหากจำเป็นต้องใช้เงินที่ออมนี้จริง ๆ จะสามารถนำออกมาใช้ได้ผ่านการกู้กรมธรรม์ที่ต้องมีการคืนเงินที่กู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ยืมไป
- ให้ความคุ้มครองโรคร้ายแรงทันทีที่สูงกว่าเงินที่ออมก้อนแรกได้สูงสุดถึงกว่า 75-300 เท่า หรือ โดยรวมมากกว่าเงินเก็บทั้งหมด 2-4 เท่าตามแต่อายุที่ทำประกัน
หากใช้เครื่องมือการลงทุนแทน :
- การลงทุนต้องใช้เวลานานหลายปี กว่าที่เงินจะเติบโตได้เท่ากับความคุ้มครองโรคร้ายแรงที่ได้ในทันที รวมถึงเงินลงทุนอาจถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ได้ง่ายกว่า
3. ประกันสุขภาพ
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [NEEDs]
- สำหรับเป็นเงินค่ารักษาใน รพ.เอกชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยใน และมะเร็งที่ยากจะคาดการณ์ค่าใช้จ่ายได้
- เพื่อป้องกันการล้มละลายเพราะค่ารักษาที่เฟ้อสูงขึ้นมากในแต่ละปี
ระยะเวลาการออม :
- ตลอดชีพ โดยเบี้ยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ ควรวางแผนเกษียณส่วนนี้ให้ดี
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [RISKs]
- ปกป้องเงินเก็บจากการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์
- ไม่ล้มละลายเพราะค่ารักษาค่าผ่าตัดที่บานปลาย โดยเฉพาะหากทำตอนยังไม่มีประวัติการรักษาที่เป็นอาการเรื้อรังที่จะถูกยกเว้นความคุ้มครอง หรือไม่รับทำประกันสุขภาพได้
- เปลี่ยนค่ารักษาที่ไม่ทราบงบประมาณต่อปีที่ชัดเจน ให้กลายมาเป็นเบี้ยประกันที่ชัดเจนว่าต่อปีต้องจ่ายเท่าใด
หากใช้เครื่องมือการลงทุนแทน :
- การลงทุนจะมีสภาพคล่องที่น้อยกว่าประกันสุขภาพอย่างมาก และต้องใช้เวลาในการให้เงินเติบโตนานหลายปีกว่าได้จะได้วงเงินค่ารักษษหลักสิบล้านทุกปีได้
4. ประกันบำนาญ
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [NEEDs]
- สำหรับเปลี่ยนเงินออม ให้กลายเป็นรายได้ประจำปลอดภาษีตอนเกษียณแบบแน่นอนโดยไม่ต้องทำการบริหารหรือจัดการใด ๆ
- ลดปัญหาความยากการลงทุนทำธุรกิจตอนเกษียณเพื่อให้มีรายได้ประจำ และไม่ต้องกังวลภาวะเศรษฐกิจตอนเกษียณ
- เพื่อป้องกันการถูกมิจฉาชีพหลอกในวัยเกษียณที่ความคิดอ่านเริ่มเสื่อมถอยลง
ระยะเวลาการออม :
- 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือจนถึงอายุครบ 60 ปี
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [FIXED INCOME]
- ปกป้องเงินเก็บจากการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในตอนเกษียณ
- รายได้ประจำที่ได้ตอนเกษียณ มีโอกาสได้มากกว่าเงินที่ออมทั้งหมดกว่า 2-4 เท่า ขึ้นอยู่กับอายุที่เริ่มทำประกัน และอายุยืนมากเพียงใด
- ได้ผลตอบแทนที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาพตลาด และไม่ถูกเก็บภาษี
หากใช้เครื่องมือการลงทุนแทน :
- การลงทุนไม่การันตีผลตอบแทน ไม่การันตีว่าจะมีรายได้ประจำถึงอายุที่ต้องการได้ 100% ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และต้องระวังการเผลอนำเงินทั้งหมดออกไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ หรือโดนหลอก
5. ประกันสะสมทรัพย์
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [NEEDs or WANTs]
- สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายที่ทราบแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นในอีกกี่ปีข้างหน้า โดยไม่ต้องกังวลสภาพตลาด หรือสภาพเศรษฐกิจใด ๆ ในปีที่จะได้เงินออกมาใช้
ระยะเวลาการออม :
- ตามแต่ละแบบประกัน เริ่มตั้งแต่ออม 1 ปี ได้เงินคืนกลับมาทั้งหมดตอนปีที่ 10 เป็นต้น
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [FIXED RETURN]
- ปกป้องเงินเก็บจากการใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- สัญญาผลตอบแทนที่ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลงตามสภาพตลาด และไม่ถูกเก็บภาษีดอกเบี้ย
หากใช้เครื่องมือการลงทุนแทน :
- การลงทุนไม่การันตีผลตอบแทน ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีโดยเฉพาะช่วงที่ใกล้จะนำเงินออกมาใช้ และต้องระวังการนำเงินออกมาใช้ก่อนอย่างผิดวัตถุประสงค์
6. กองทุน SSF/RMF/THAIESG ตราสารหนี้
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [NEEDs or WANTs]
- สำหรับเก็บเงินระยะสั้นหรือระยะกลาง ต้องการให้เงินมีโอกาสเติบโตได้บ้าง โอกาสขาดทุนน้อย และได้ผลประโยชน์ทางภาษี
- มักใช้ตอนที่จะมีการทยอยนำเงินออกมาใช้ในแต่ละปี หรือ ใกล้ที่จะนำเงินออกมาใช้ทั้งหมด เพื่อป้องกันตลาดขาลง
ระยะเวลาการออม :
- 10 ปี หรือจนถึงอายุ 55 ปี ตามแต่จุดประสงค์ของเงิน
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [Small Variable Returns]
- ปกป้องเงินลงทุนจากการรีบนำออกมาใช้เร็วเกินไป โดยเงินยังไม่มีเวลาได้เติบโต
- ไม่มีผลตอบแทนที่ชัดเจน แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการเงินฝาก และมีโอกาสขาดทุนน้อย
เมื่อเทียบกับเครื่องมือประกัน :
- วัตถุประสงค์ในการเก็บออมจะคลุมเครือมากกว่าประกัน โดยส่วนใหญ่จึงมักเน้นไปที่แผนเกษียณ ไว้เสริมเงินบำนาญ (NEEDs) ที่ได้จากประกันบำนาญ
7. กองทุน SSF/RMF ตราสารทุนหรือหุ้น หรือตราสารผสม
วัตถุประสงค์ของเงินออม : [WANTs]
- สำหรับเก็บเงินระยะยาว ต้องการให้เงินมีโอกาสได้เติบโต เพื่อเป็นความหวังในอนาคตได้ มีโอกาสขาดทุนในระยะสั้น แต่ในระยะยาว 15 ปีขึ้นไปโอกาสขาดทุนจะลดลงอย่างมาก
- เงินที่เก็บจะเน้นนำไปใช้เพื่อช่วยประกันบำนาญจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ และ/หรือ เพื่อความสะดวกสบาย (WANTs) ในตอนเกษียณ เพราะหากผลตอบแทนไม่เป็นตามคาดการณ์ จะเพียงสะดวกสบายน้อยลงเท่านั้น
ระยะเวลาการออม :
- 10 ปี หรือจนถึงอายุ 55 ปี มักเริ่มใช้ตอนเกษียณ
ผลประโยชน์การเก็บเงิน : [Large Variable Returns]
- ปกป้องเงินลงทุนจากการรีบนำออกมาใช้เร็วเกินไป โดยเงินยังไม่มีเวลาได้เติบโต
- ไม่มีผลตอบแทนที่ชัดเจน แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว
- ด้วยโอกาสที่เติบโตสูง จึงสามารถนำไปช่วยเสริมบำนาญจากประกันบำนาญได้
เมื่อเทียบกับเครื่องมือประกัน :
- วัตถุประสงค์ในการเก็บออมจะคลุมเครือมากกว่าประกัน
- ไม่ได้การันตีผลตอบแทน
- โดยส่วนใหญ่จึงมักเน้นไปที่แผนเกษียณ เพื่อไว้เสริมเงินบำนาญ โดยให้เป็นบำนาญส่วน WANTs และ ทดแทนเงินที่เฟ้อสูงขึ้นได้ในอนาคต (แต่ไม่แน่นอน)
- มักมีความรู้สึกเสียดาย โดยเฉพาะหากต้องนำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับค่ารักษา หรือ การต้องกันเงิน ไว้สำหรับค่าชดเชยโรคร้าย หรือไว้เป็นมรดก เนื่องด้วยต้องใช้เวลาเติบโตของเงินที่ค่อนข้างนาน
- ความรู้สึกเป็นเจ้าของเงินที่ต้องการนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทั่วไป จะมีมากกว่าประกันที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นออม
เครื่องมือการออมทั้ง 7 แบบนี้ จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ทุกเครื่องมือการออมจำเป็นต้องใช้ให้สอดคล้องและประสานกัน แล้วจะทำให้ได้ผลประโยชน์สูงสุดจากเงินที่ออม
เพราะไม่มีเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งที่จะสามารถทดแทนได้ทุกเครื่องมือ นี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญว่าเพราะเหตุใด สิทธิลดหย่อนภาษีที่ได้จึงกระจายไปตามแต่ละเครื่องมือการออมอย่างครบถ้วน ดังในหัวข้อต่อไปนี้
สิทธิลดหย่อนภาษี
แต่ละเครื่องมือการออม
จากตัวเลขรวมทั้งหมด สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 900,000 บ. โดยหากฐานภาษีอยู่ที่ 35% การวางแผนออมการลงทุนครั้งนี้จะได้เงินคืนภาษีกลับมาที่ 315,000 บาท หรือ ออม 900,000 บ. แต่ใช้เงินสำหรับออมจริง ๆ เพียง 585,000 บ. เท่านั้น
และที่สำคัญที่สุดเงินคืนภาษีจำนวน 245,000 บาทนี้ ยังสามารถนำไปจ่ายเบี้ยประกันในปีต่ออายุหรือปีที่ขอเงินคืนภาษีได้อีกด้วย ทำให้เหมือนได้ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้าย หรือ แม้แต่ประกันบำนาญ มาแบบลดราคาจากเงินคืนภาษีนี้เอง
เหตุใดต้องรีบใช้บางเครื่องมือการออมก่อน
อาจด้วยเพราะความประมาท หรือ ไม่ได้กำหนดหน้าที่กับเป้าหมายของเงินออมว่าจะนำไปใช้อะไรอย่างชัดเจน จึงมองว่าเน้นการลงทุนไว้ก่อนเพื่อขอให้ร่ำรวยแล้วค่อยว่ากัน
ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 สาเหตุที่ทำให้ออมยังไงก็ไม่รวย เพราะเงินออมเสี่ยงที่จะเติบโตไม่ทันต่อ 5 ศัตรูร้ายการออม
หรือ ถ้าเติบโตทัน ก็มักมีความรู้สึกเสียดายเงินลงทุนที่ใช้เวลาเติบโตมานาน ไปกับค่ารักษาหลักแสนหลักล้าน หรือต้องมากันไว้เพื่อเป็นมรดกห้ามใช้ (แต่เจ้าหนี้มีสิทธิเข้าถึงก่อนคู่สมรสและทายาทหากจากไป)
หรือ อาจด้วยเพราะเป็นผู้ที่มีฐานภาษี 20% ขึ้นไป จึงมีโอกาสได้เงินคืนภาษีได้กว่า 100,000 บ. (จากการลงทุน RMF/SSF/PVD/ประกันบำนาญ จำนวน 500,000 บ.) แล้วจะค่อยนำเงินคืนภาษี 100,000 บ.นี้ มาพิจารณาใช้จ่ายกับประกันทีหลัง
แต่อย่างที่ทราบกันว่าเครื่องมือการเงินอย่าง ประกันชีวิต/ประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรง นั้น จะไม่ได้รับทำประกันง่าย ๆ เพียงเพราะมีเงินเหมือนกับเครื่องมือการเงินด้านการลงทุน
เว้นแต่อายุยังน้อย เป็นเพศที่มีความเสี่ยงด้านนั้น ๆ ต่ำ และ ยังมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีประวัติการรักษา
ดังตัวอย่างเบี้ยรวมทั้งสัญญาของ ประกันชีวิตตลอดชีพ ประกันชีวิตตลอดชีพควบโรคร้ายแรง และ ประกันโรคร้ายแรงเบี้ยคงที่ (BLA HAPPY CI) ที่ทุนประกัน 1,000,000 บ. เท่ากันดังต่อไปนี้
จากกราฟจะเห็นได้ว่าทั้งประกันชีวิตและประกันโรคร้ายที่ทุนประกัน 1,000,000 บ. นั้น ในตอนอายุไม่เกิน 10 ปี จะใช้เบี้ยทั้งสัญญาเพียง 25%-50% ของเงิน 1,000,000 บ. เท่านั้น
ซึ่งหมายความว่า จากแต่ก่อนที่ต้องพยายามลงทุนให้ได้เงิน 1,000,000 บ. มารับความเสี่ยงด้านชีวิตหรือโรคร้ายเอง แต่หากเลือกใช้เครื่องมือประกันชีวิตประกันโรคร้ายเหล่านี้แทน
จะทำให้การลงทุนลดลงมาเหลือเท่ากับเบี้ยทั้งสัญญาที่ต่ำสุดเพียง 250,000 บ. เท่านั้น และจะได้เงิน 1,000,000 บ. มารอรับความเสี่ยงด้านชีวิตหรือโรคร้ายแทนตลอดชีวิตในทันทีตั้งแต่ที่จ่ายเบี้ยปีแรก โดยไม่ต้องรอให้จ่ายครบ 250,000 บ. ก่อน
และนี้คือพลังของการเลือกใช้ลำดับเครื่องมือการเงินที่จำเป็นก่อนอย่างถูกต้อง ทำให้จะไม่แปลกใจเลยว่า พ่อแม่ผู้ที่รู้ความลับนี้ จะรีบใช้เครื่องมือการเงินนี้กับลูก ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อประหยัดเงินได้มากกว่าหลักล้านขึ้นไปได้อย่างแน่นอน
และถึงแม้ตัวพ่อแม่เองอาจประหยัดได้น้อยกว่าเพราะอายุที่มากขึ้น แต่ถ้าเลือกเครื่องมือได้ถูกต้อง ก็ยังคงประหยัดได้มากอยู่เช่นกัน
เช่น พ่อต้องการเก็บเงินเป็นมรดกให้ลูก 5,000,000 บาท เริ่มตอนอายุ 50 ปี ทำภายใน 5 ปี ซึ่งหากเลือกใช้ประกันมรดก ในตอนที่สุขภาพยังแข็งแรง เบี้ยทั้งสัญญา 5 ปี จะอยู่ที่ 2,099,730 บ. เท่านั้น
ทำให้เป้าหมายการลงทุนเก็บเงินจะลดลงมาเหลือเพียงที่ 2,099,730 บ. (จาก 5,000,000 บ.) หรือ ปีละ 419,946 บ. (จากปีละ 1,000,000 บ. ) และแน่นอนว่าจะมีมรดก 5 ล้านบาท มารองรับทันทีตั้งแต่ชำระเบี้ยปีแรก
โดยยังไม่นับรวมกับเงินคืนภาษีที่จะได้จากสิทธิลดหย่อนภาษีประกันชีวิตจำนวน 1 แสนบาทด้วย
ดังนั้นการเลือกเครื่องมือด้านความคุ้มครอง จึงมักต้องรีบเลือกใช้ก่อนการลงทุนเสมอ ทั้งเพราะด้วยเงินที่ประหยัดได้มากขึ้นอย่างน่าตกใจ และด้วยเพราะ หากช้าไปสุขภาพและอายุ อาจจะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำประกันเหล่านี้ได้อีก
อย่างไรก็ตามเครื่องมือการเงินด้านความคุ้มครองนี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ อีกพอสมควรเพราะภายในเครื่องมือเอง ก็มีการแบ่งย่อยออกเป็นอีกหลายแบบ ที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ และเลือกให้เหมาะสมกับอายุตนเอง และพื้นฐานเครื่องมือการออมที่กำลังใช้อยู่
บทสรุป และ ขั้นตอนต่อไป
นี้คือสรุปวัตถุประสงค์เครื่องมือการเงินสำหรับการลดหย่อนภาษีให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการวางแผนการออมการเกษียณ
ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในคอร์สวางแผนการเงิน การเกษียณต่าง ๆ มักจะจบเนื้อหาการอบรมที่ส่วนนี้ คือ เพียงแนะนำเครื่องมือและวัตถุประสงค์
แต่ว่ามักจะขาดรายละเอียดเครื่องมือการเงินแต่ละอย่างแบบเจาะลึกจริงๆ ที่จำเป็นต้องเข้าใจ เพราะหากขาดความเข้าใจไป อาจทำให้ต้องจ่ายเงินแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก
โดยรายละเอียดแบบเจาะลึกของแต่ละเครื่องมือจะมีดังต่อไปนี้
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"