หากดำเนินการ ออมเงิน และ กำหนดหน้าที่ของเงินออม ให้เป็นดังต่อไปนี้
- เงินค่ารักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องได้การรักษาที่ดีและโดยเร็วที่สุด
- เงินค่ารักษาที่ไม่สามารถทราบจำนวนเงินที่ควรมีล่วงหน้าได้
- เงินเพื่อป้องกันการล้มละลายจากค่ารักษาของ รพ. ที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกปี
- เงินที่ช่วยให้ตอนเกษียณไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษา
- เงินที่ช่วยให้ทราบว่าควรจะออมแต่ละปีเท่าใดจึงจะเพียงพอ
จะทำให้เครื่องมือการออมที่เหมาะสมที่สุด คือ..
ประกันสุขภาพ
หมายเหตุ : การอ่านบทความนี้อย่างละเอียดครบถ้วน รวมไปถึงบทความย่อยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะช่วยให้ท่านรักษาผลประโยชน์ของตัวท่านเองก่อนที่จะสมัครทำประกันสุขภาพได้อย่างมากโดยปราศจากระเบิดเวลา
ทำไมการทำประกันสุขภาพ จึงเป็นการออม และการวางแผนเกษียณ
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำประกันสุขภาพนั้น ไม่ใช่การออมแต่เป็นลักษณะจ่ายเบี้ยทิ้ง ที่มีโอกาสขาดทุน หากไม่ได้ป่วย..(แม้ทุกคนต้อง เจ็บป่วย แก่ชรา และจากไป)
ดังนั้นในความเป็นจริงแล้ว เกือบทุกบริษัทประกันจึงเสี่ยงขาดทุนกับประกันสุขภาพสูงมาก โดยเฉพาะกับแบบประกันสุขภาพเหมาจ่ายที่ครอบคลุมไปถึงตอนเกษียณหรือในอนาคตได้ (ทำให้แบบประกันสุขภาพลักษณะนี้ จะมีความเข้มงวดในการรับทำประกันที่สูงอย่างมากเพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนนี้ลง)
นอกจากนี้อย่างที่ทราบว่า การออมสำหรับจุดประสงค์ให้เป็นค่าใช้จ่ายทางด้าน เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้น เป็นการออมที่สามารถใช้เงินผู้อื่นมาช่วยได้ผ่านเครื่องมือทางการเงินอย่างประกันสุขภาพ
ทั้งนี้การเกิด แก่ และตาย ยังพอที่จะคาดการณ์ค่าใช้จ่ายได้ จะมีก็แต่เพียงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการ "เจ็บ" เท่านั้น ที่คาดการณ์ได้ยากว่าจะเป็นเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเพิ่งเริ่มเก็บออมมาไม่นาน และต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายจาก การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง
ดังนั้นการที่สามารถเข้าถึงเงินผู้อื่นเพื่อมาช่วยจ่ายค่ารักษาเหล่านี้ได้ผ่านประกันสุขภาพ จึงเป็นแนวทางที่ปลอดภัยและสมเหตุสมผลมากที่สุดในปัจจุบัน
ซึ่งจะดีกว่าการเก็บเงินเอง หรือ การไปกู้เงินมาจ่ายหนี้ค่ารักษาอย่างแน่นอน ดังบทความที่จะฉายให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า ทำไมถึงควรต้องรีบออมล่วงหน้าให้กับหนี้ค่ารักษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ และเข้าใจถึงความสำคัญของประกันสุขภาพนี้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ที่สนใจทำประกันสุขภาพ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นเพราะมีประสบการณ์ทางตรงจากสมาชิกในครอบครัว หรือ ทางอ้อมจากคนรู้จัก ที่ได้เห็นบริการเทียบระหว่างสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิ 30 บ. สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิข้าราชการใน รพ.รัฐทั้งในและนอกเวลาทำการ และ รพ.เอกชน
รวมถึงได้ทราบว่าค่าตรวจรักษาในปัจจุบันนั้นมีราคาแพงสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ต่างกับการปล้นกัน (OPDผู้ป่วยนอก-หลักหมื่น, IPDผู้ป่วยใน-หลักแสน, IPD+OPD โรคร้าย-หลักล้าน) แต่อย่างไรก็ตามก็รับการบริการดูแลทางด้านจิตใจที่ดีกว่า รพ.รัฐ ในเวลาราชการ ด้วยทรัพยากรต่อผู้ป่วยที่มีมากกว่าของ รพ.เอกชน
ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ผู้ที่จะเริ่มทำประกันสุขภาพ มักจะเป็นผู้ที่
ต้องการรักษาตัวที่ รพ.เอกชน
ต้องการรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด (ไม่อยากรอคิวนานกว่า 6-8 เดือน)
ต้องการรักษาโรคต่าง ๆ โดยที่ลดความกังวลเรื่องค่ารักษาให้ได้มากที่สุด
ต้องการเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยในแพทยสภาได้
ต้องการให้ค่ารักษาแต่ละครั้งอยู่ในงบประมาณที่ควบคุมได้ ทั้งของตนเองและสมาชิกในครอบครัว
ต้องการใช้ลดหย่อนภาษี 25,000 บ. (รวมในสิทธิลดหย่อน 100,000 บ. ของประกันชีวิต)
ซึ่งกว่าที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจถึงความจำเป็น และข้อดีของการทำประกันสุขภาพได้นั้น บางครั้งก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
สาเหตุที่ต้องรีบออมผ่านประกันสุขภาพ
เนื่องจากในปัจจุบันเป็นยุค ประกันสุขภาพเหมาจ่าย และ การเติบโต(อย่างต่อเนื่อง) ของ รพ.เอกชน ที่เสมือนเป็นตัวเร่งให้ ค่ารักษาพยาบาลสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี
เช่น ค่าผ่าตัดไส้ติ่งที่เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน รพ.เอกชน จะอยู่ที่ประมาณ 60,000 บ. แต่ในปัจจุบันได้ไต่ระดับขึ้นมาสูงถึง 200,000 บ. ด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น (รวมไปถึงค่ารักษามะเร็งด้วยยาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ค่ารักษาพุ่งไปถึงระดับ 10 ล้านบาทได้ไม่ยาก)
การทำประกันสุขภาพในยุคนี้ จะต้องรีบค้นหาแบบประกันสุขภาพที่ดี และรีบทำให้เร็วที่สุด ไม่ใช่เพียงเพราะต้องเร็วให้ทันก่อนเผลอไปตรวจสุขภาพแล้วเจอโรคบางอย่างก่อน จึงทำให้ถูกยกเว้นความคุ้มครองในโรคนั้น ๆ เท่านั้น
แต่เป็นเพราะต้องเร็วให้ทัน ก่อนที่แผนประกันสุขภาพจะโดนปิดหรือถูกปรับเพิ่มเบี้ยขึ้น ด้วย
ดังนั้นหากสามารถทำประกันสุขภาพได้เร็วพอ ก็จะมีโอกาสทันแผนประกันสุขภาพที่ประหยัดคุ้มที่สุดได้ แต่ถ้าหากไม่ทันก็จำเป็นต้องยอมรับแผนใหม่ที่มีเบี้ยประกันที่ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้วแทน
เพราะ รพ.เอกชน เองก็อาจมีการทำยอดจากผู้ทำประกันสุขภาพด้วย จึงทำให้ปัจจุบันบริษัทประกันฯ ต้องเริ่มมีมาตรการป้องกันและขอความร่วมมือกับทาง รพ.เอกชน ในรูปแบบของ การไม่อนุมัติให้เคลมการแอดมิต หากผู้ทำประกันป่วยเพียง Simple Disease ที่ไม่เข้าเงื่อนไขที่กำหนดโดย คปภ. หรือ มีการเพิ่มส่วนร่วมจ่าย Copayment หรือ เพิ่มรับผิดส่วนแรก Deductible เข้ามา
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถต้านทานค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นได้ จึงทำให้หลายบริษัทประกันจำเป็นต้องปิดรับผู้ทำประกันใหม่ในบางแผนประกันสุขภาพเหมาจ่ายลง และเปิดแผนใหม่ที่เบี้ยปรับสูงขึ้นมากมาแทน เพื่อลดความเสี่ยงของการขาดทุนของบริษัทลงได้บ้างในกลุ่มผู้ทำประกันใหม่
หรือบางบริษัทจะมีการออกข้อกำหนดมาชัดเจนว่า หมวดความคุ้มครองใดจะต้องสำรองจ่ายในทุกกรณี เช่น หมวดที่เกี่ยวข้องกับ OPD ต่าง ๆ เพื่อที่ทำให้ผู้ทำประกันได้ช่วยเตือนให้ รพ. อย่าคิดราคาแรงมาก เพราะตนเองไม่สามารถสำรองจ่ายที่สูงมากได้
(ปัจจุบันจึงกลายเป็นหนึ่งในคำถามสำคัญในการเลือกแบบประกันสุขภาพว่า หมวดความคุ้มครองใดบ้างที่บริษัทให้สำรองจ่ายเท่านั้น นอกจากการเปรียบเทียบเพียงหมวดความคุ้มครอง)
และด้วยค่ารักษาพยาบาลที่แพงสูงมากขึ้นนี้ จึงทำให้ประกันสุขภาพกลายเป็นเครื่องมือการออมที่สำคัญ ที่จะช่วยแบกค่าใช้จ่ายของวิธีการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เจออย่างแน่นอนต่อไปนี้ได้ (ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่ายเข้าสู่หลักแสนได้ไม่ยากในปัจจุบัน และยังไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะสูงขึ้นอีกเพียงใด)
การฉายภาพขั้นสูง MRI /CT Scan
การผ่าตัด
การส่องกล้อง
การรักษาด้วยเทคโนโลยีใหม่
ยังไม่นับรวมถึงค่ารักษาพยาบาลที่พร้อมบานปลายอย่าง ค่าตรวจวินิจฉัยก่อนผ่าตัดหรือรักษามะเร็ง ค่าห้อง ค่าฟื้นฟูหลังการผ่าตัด ค่าตรวจวินิจฉัยรักษาติดตามอาการ ค่ายามะเร็งผู้ป่วยนอกรักษา 3-5 ปีหรือตลอดชีวิต ค่าตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยนอกติดตามมะเร็ง ซึ่งอย่างไรแล้วมีราคาเกินเบี้ยประกันสุขภาพที่ออมไปหลายปีแล้วอย่างแน่นอน
โดยค่าตรวจรักษาที่ไม่ทราบวงเงินที่ชัดเจนและพร้อมบานปลายเหล่านี้นี่เอง ได้กลายเป็นผลประโยชน์ที่ทรงพลังที่สุดของการออมผ่านเครื่องมืออย่างประกันสุขภาพ ที่อย่างน้อยทำให้คาดการณ์ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ผ่านทางเบี้ยประกัน
อย่างไรก็ตามประกันสุขภาพจะบังคับให้ออมผ่านเบี้ยประกันทุกปี และให้ออมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่มากขึ้น
จึงกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่มากที่ควรมีการวางแผนเกษียณส่วนเบี้ยประกันสุขภาพนี้ด้วย
โดยหากมีการวางแผนการเงินเพื่อดูแลเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณอายุ 60-99 ที่ดีพอ ก็จะสามารถลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพช่วงเกษียณทั้งหมดหลัก 10 ล้านบาท ให้เหลือประมาณ 2-3 ล้านบาท (เมื่อเริ่มวางแผนที่อายุประมาณ 30-35 ปี)
ซึ่งมูลค่าเงิน 2-3 ล้านบาท ในอีกประมาณ 20-30 ปีข้างหน้า อาจจะเป็นเพียงค่าผ่าตัดครั้งใดครั้งหนึ่งเท่านั้นก็เป็นได้
การออมผ่านประกันสุขภาพจึงเป็นสิ่งที่หากมีโอกาสและสุขภาพยังทำได้แล้ว ไม่ควรหลีกเลี่ยงที่จะออม เพราะผลตอบแทนที่ได้จากการรักษาใน รพ. เอกชน โดยเฉพาะในแง่ของสภาพจิตใจยามป่วยไข้นั้นสูงมาก
แต่..ประกันสุขภาพเสมือนเป็น "ระเบิดเวลา"
แม้ประกันสุขภาพจะจำเป็นอย่างมากต่อแผนเกษียณ แต่ประกันสุขภาพเป็นแบบประกันที่ทางเราไม่กล้าที่จะยิงโฆษณา หรือทำการตลาดแบบที่เน้นการขายเลย ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีความนิยมในประกันสุขภาพสูงขึ้นอย่างมาก และตัวแทนประกันจำนวนมากเน้นขายประกันสุขภาพเป็นพิเศษ
แต่ยิ่งทางเรามีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับระเบิดเวลาของประกันสุขภาพมากเท่าไร จะยิ่งต้องหลีกเลี่ยงผู้อยากสมัครทำประกันสุขภาพที่ไม่ทำความเข้าใจในอันตรายของระเบิดเวลาลูกนี้เลยมากเท่านั้น
โดยเฉพาะหากอยากทำประกันสุขภาพเพียงเพราะ คนในครอบครัวแนะนำ เพื่อนพี่น้องแนะนำ หรือคนรู้จักแนะนำ แล้วสมัครทำตามแบบที่ยังไม่อ่านทำความเข้าใจในเงื่อนไขใด ๆ โดยเชื่อมั่นว่า ตัวแทนประกันจะสามารถแก้ไขได้ในทุกเรื่อง
ซึ่งเป็นการสมัครทำประกันสุขภาพที่อันตรายที่สุด เพราะพร้อมที่จะระเบิดความขัดแย้งออกมาได้ทุกเมื่อ เมื่อเกิดการเคลมประกันขึ้น
ดังนั้นหากท่านกำลังมองหาประกันสุขภาพ ไม่ว่าอย่างไรก่อนที่จะเลือกแบบประกันสุขภาพใด ๆ ไม่ว่าทางเราจะเป็นตัวแทนของท่านหรือไม่
เราขอเพียงอย่างเดียว คือ อยากให้ท่านตั้งใจอ่านทุกอย่างด้านล่างนี้ ทำความเข้าใจในสิ่งที่ท่านกำลังต้องการทำสัญญาซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวตลอดชีพมูลค่ารวมหลักล้านถึงหลักสิบล้านบาท เพราะนั่นคือหนทางเดียวที่ท่านจะสามารถถอดสลักระเบิดเวลาของประกันสุขภาพออกไปได้
สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนทำประกันสุขภาพ เพื่อไม่ให้ถูก "ระเบิดเวลา 10 ลูก" เล่นงาน
การแนะนำ/การขาย ประกันสุขภาพอย่างถูกต้องและไม่ให้เกิดระเบิดเวลาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจในเงื่อนไขของสัญญานั้น จำเป็นจะต้องอธิบายอย่างน้อย 10 ประเด็นสำคัญด้านล่างนี้ให้เข้าใจก่อน ไม่ใช่เพียงการแสดงรายละเอียดของแบบประกันสุขภาพโดยเน้นที่ค่าห้องกับเบี้ยประกันเท่านั้น
เพราะถ้าอธิบายเพียงเท่านั้น การขายประกันสุขภาพก็จะไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนช่วยอธิบายหรือทำสื่อชี้แจ้งข้อควรระวังกับเงื่อนไขของสัญญาใด ๆ เลย
แต่ประกันสุขภาพไม่ได้ง่ายอย่างนั้น โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเงินที่ควรต้อง ห้ามซื้อ ห้ามสมัครใช้งาน หากยังไม่เข้าใจสัญญา ถ้าไม่อยากได้ระเบิดเวลาที่พร้อมระเบิดทันทีตอนที่จะใช้งาน ซึ่งระเบิดเวลาจะแบ่งออกเป็น 10 ลูกดังต่อไปนี้
ระเบิดเวลาลูกที่ 1 : ประกันสุขภาพ เป็นหนึ่งในสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองให้กับสัญญาหลักประกันชีวิต
สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจ คือ หากสมัครทำประกันสุขภาพกับ "บริษัทประกันชีวิต" นั้น จะต้องเลือกสัญญาหลักที่เป็นประกันชีวิตเพื่อใช้กำหนดอายุของสัญญาขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงค่อยเลือกสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองให้กับประกันชีวิตที่จะนำมาแนบกับสัญญาหลักประกันชีวิตนี้
โดยประกันสุขภาพเองจะถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองนี้ ที่เน้นเพิ่มความคุ้มครองเฉพาะค่ารักษาที่ตรงตามเงื่อนไขของแบบประกันเท่านั้น ทั้งนี้เบี้ยประกันสุขภาพจะปรับเพิ่มตามอายุซึ่งสามารถต่ออายุได้ทุกปีแต่ไม่เกินอายุของสัญญาหลักประกันชีวิต (ทำให้ต้องเลือกประกันชีวิตที่คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี มาให้ประกันสุขภาพแนบเสมอ ไม่ใช่เลือกประกันสะสมทรัพย์ที่มีอายุกรมธรรม์ 10-25 ปี)
ซึ่งสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองอื่น ๆ ก็จะมีลักษณะแบบเดียวกันขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นเพิ่มความคุ้มครองด้านใด เพราะประกันสุขภาพเองไม่สามารถคุ้มครองได้ทุกอย่าง ซึ่งตารางด้านล่างจะได้เรียงลำดับตามความสำคัญของสัญญาเพิ่มเติมที่ควรทำความเข้าใจในด้านการรักษาไว้เรียบร้อยแล้ว ดังต่อไปนี้
จากเงื่อนไขที่ต้องมีสัญญาหลักและสัญญาเพิ่มเติมนี้เอง ทำให้ผู้ที่สนใจเฉพาะประกันสุขภาพ และยังไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มครองที่จำเป็นต้องโอนความเสี่ยงอื่น ๆ จึงมักจะเลือกประกันชีวิตให้มีทุนประกันต่ำที่สุดเสมอ (แม้จะยังไม่มีประกันชีวิตเลยก็ตาม) เพียงเพื่อให้มาเป็นสัญญาหลักให้เฉพาะประกันสุขภาพแนบเท่านั้น
ด้วยเพราะกลัวถูกตัวแทนหลอกหรืออัพเซลขายทุนชีวิตสูง หรือ ขายสัญญาเพิ่มเติมอื่น ๆ เพิ่ม ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในแง่มุมของการโอนความเสี่ยงนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะถูกอัพเซล มีแต่จะต้องกังวลว่าจะเลือกโอนความเสี่ยงอะไร และอะไรที่จะสามารถเก็บความเสี่ยงเพื่อรับไว้เองได้ไหว
ดังนั้นหากขยายการทำความเข้าใจเพิ่มมาที่ประกันชีวิตและประกันสัญญาเพิ่มเติมอื่น ๆ ด้วย ก็อาจจะสามารถช่วยลดค่ารักษาหรือค่าชดเชยบางอย่างที่ประกันสุขภาพไม่สามารถครอบคลุมให้ได้ก็เป็นได้
**หมายเหตุ :
- ระวัง!! ประกันชีวิตทุนต่ำสุด 50,000 บ. แต่ต้องจ่ายเบี้ยถึงอายุ 99 ปี แม้เบี้ยปีแรกจะน้อยกว่า แต่สามารถมีเบี้ยประกันรวมทั้งสัญญาที่สูงกว่า ประกันชีวิตทุน 100,000 บ. ที่จ่ายเบี้ย 20 ปีได้ (ปัจจุบันค่าจัดงานฌาปนกิจรวมทุกกระบวนการจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักแสนบาทขึ้นไป)
- สัญญาเพิ่มเติมที่ทุนประกันต้องขึ้นอยู่กับทุนประกันชีวิตสัญญาหลัก สามารถแยกทำออกมาอีก 1 กรมธรรม์ได้ เพื่อเน้นความคุ้มครองให้สูง โดยเกี่ยวช้องกับชีวิตและทุพพลภาพในช่วงวัยทำงานก่อนเกษียณเป็นหลักเท่านั้น ทำให้เบี้ยประกันประหยัดลงได้มากกว่าการคุ้มครองตลอดชีพอย่างมาก
- ค่ารักษาอุบัติเหตุผู้ป่วยนอก เพียงบาดเจ็บเล็กน้อยค่ารักษาผู้ป่วยนอก รพ.เอกชน ทั่วไปก็เกือบหมื่นได้ไม่ยาก ไม่นับรวมที่เกี่ยวข้องกับกระดูกร้าวหรือหัก หรือการบาดเจ็บที่ต้องล้างแผล Follow up มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ซึ่งประกันสุขภาพส่วนใหญ่ไม่สามารถคุ้มครอง OPD ที่ค่าใช้จ่ายสูงและ Follow up นานแบบนี้ได้
- ค่าชดเชยรายได้เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ระหว่างการรักษา หรือ ต้องเปลี่ยนงาน หรือ ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากโรคร้ายแรง การพิจารณาประกันโรคร้ายแรงจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงส่วนนี้ได้อย่างมาก โดยเฉพาะกับโรคมะเร็งที่ต้องใช้เวลารักษาได้นานถึง 2-5 ปีขึ้นไป
ระเบิดเวลาลูกที่ 2 : "ความเชื่อใจ" ไม่เท่ากับ "ความเข้าใจ"
ประกันสุขภาพ หนึ่งในแบบประกันที่สามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้มากที่สุด เนื่องจากผู้ขายก็ไม่อยากบอกข้อจำกัดเพื่อให้ขายได้ง่าย และผู้ซื้อเองก็ไม่เน้นทำความเข้าใจก่อนซื้อ แต่เน้นเชื่อใจแล้วยกให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายที่มีชื่อเสียงหรือที่คนรู้จักแนะนำมาอย่างเดียว
ซึ่งได้กลายเป็นระเบิดเวลาที่น่ากลัวอย่างมาก และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ใครหลายคนโดนระเบิดลูกนี้แล้วเกลียดประกันหรือเกลียดตัวแทนอย่างมาก
เพราะ "ความเชื่อใจ" ไม่เท่ากับ (≠) "ความเข้าใจ" และไม่มีผู้ขายหรือผู้ซื้อคนใดเลยที่จะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในประวัติการรักษา และลายลักษณ์อักษรเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์
โดยเนื่องจากเป็นตัวอักษร หากใครเข้าใจเงื่อนไขในสัญญาได้ครบถ้วนมากกว่า ก็มีทางที่จะตีความเงื่อนไขให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้มากขึ้น หรือ สามารถโต้แย้งในบางประเด็นที่มีการตีความแตกต่างกันไปได้ ดังนั้นการอธิบายถึงเงื่อนไขของสัญญาจึงเป็นหน้าที่สำคัญอย่างมากของตัวแทนประกัน
ระเบิดเวลาลูกที่ 3 : หน้าที่ของของตัวแทนประกัน
ขอส่วนลด? ให้ของขวัญของเยี่ยม? คุยสนุก?
หน้าที่ของตัวแทนประกันนั้น สำคัญที่สุดคือตอนก่อนสมัครทำประกัน และ ระหว่างพิจารณารับทำประกัน เพราะนั่นจะนำไปสู่ การเคลมประกันสุขภาพแบบไร้ปัญหาไร้ความขัดแย้ง (ที่จะมาซ้ำเติมร่างกายที่เจ็บป่วย) ภายหลังการทำประกันสุขภาพ
โดยที่ก่อนจะสมัครทำประกันสุขภาพ ทางตัวแทนจะต้องอธิบายทุกเรื่องที่จำเป็นทั้งหมดให้กับผู้ทำประกันได้เข้าใจก่อนการตัดสินใจ เพื่อลดปัญหาระเบิดเวลาแห่งความขัดแย้ง ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในภายหลัง
นอกจากนี้ตัวแทนยังมีหน้าที่อื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งจะสามารถสรุปหน้าที่ของตัวแทนที่จำเป็นได้ดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยลดมายาคติที่เกิดขึ้นจากบริการเสริมพิเศษที่ตัวแทนอาจเน้นกันมากขึ้น และอาจลืมหน้าที่ของตัวแทนบางอย่างไปได้
ระเบิดเวลาลูกที่ 4 : ความเสี่ยง และ ค่ารักษาของโรคต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป และคาดการณ์ได้ยาก
ในปัจจุบันค่ารักษาโรคร้ายแรงนั้นมีราคาในหลักล้านบาทขึ้นไป เพราะมักเป็นการรักษาแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่การรักษาครั้งเดียวจบ จึงทำให้ค่ารักษาบานปลาย (ควบคุมไม่ได้เลย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคมะเร็ง
ดังนั้นหากไม่ทราบค่ารักษาเหล่านี้ก่อนทำประกันสุขภาพ ก็อาจจะได้ประกันสุขภาพที่ไม่ครอบคลุมค่ารักษาโรคร้ายแรงได้
ระเบิดเวลาลูกที่ 5 : หมวดความคุ้มครองและ
ข้อยกเว้นของประกันสุขภาพ
คนส่วนใหญ่มักจะพิจารณาหมวดความคุ้มครองแบบคร่าว ๆ จากโบรชัวร์ หรือ จากโฆษณาของแบบประกันสุขภาพ รวมกับเบี้ยประกันในงบประมาณที่คาดไว้เท่านั้น ทำให้การเลือกแบบประกันสุขภาพ มักมีโอกาสสูงที่จะได้แบบประกันสุขภาพที่ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงในหมวดคุ้มครองที่จำเป็นที่ต้องโอนความเสี่ยงออกไปจริง ๆ
อย่างหมวดคุ้มครองที่เกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งโรคร้ายแรงที่ค่าใช้จ่ายสามารถสูงถึงหลักสิบล้านได้ และหมวดคุ้มครองที่ต้องใช้สามารถเป็นในส่วนผู้ป่วยนอกเป็นหลักไม่ใช่เพียงผู้ป่วยในอย่างที่เข้าใจ
ซึ่งกว่าจะได้เริ่มทำความเข้าใจหมวดคุ้มครองอย่างจริงจัง มักจะเป็นตอนที่จะเคลมประกันแล้ว และเพิ่งมาทราบว่าแบบประกันสุขภาพที่เลือกนั้น หมวดความคุ้มครองที่ต้องใช้ ไม่มีวงเงินค่ารักษา หรือ มีแต่ไม่เพียงพอ (โดยเฉพาะกับอีก 10-30 ปีข้างหน้าตอนเกษียณ)
ทำให้มักเกิดความเสียดายอย่างมากที่ไม่ได้ทำความเข้าใจในหมวดคุ้มครองตั้งแต่ก่อนสมัครทำประกัน เพราะในตอนนี้ไม่สามารถเปลี่ยนใจไปสมัครทำประกันสุขภาพแบบอื่นในภายหลังได้อีกแล้ว เนื่องด้วยประวัติการรักษาที่กำลังจะเคลมนี้
ดังนั้นการทำความเข้าใจหมวดคุ้มครอง จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนอย่างมาก เพราะจะช่วยให้การพิจารณาเปรียบเทียบ แบบประกันสุขภาพแต่ละแบบได้ตอบโจทย์และครอบคลุมความเสี่ยงที่จำเป็นได้
โดยหมวดคุ้มครองจะประกอบไปด้วย 13 หมวดมาตรฐาน และหมวดเสริมอื่น ๆ ตามแต่ที่แบบประกันสุขภาพนั้น ๆ จะเสริมขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ของ 13 หมวดมาตรฐาน
ซึ่งจะจำเป็นต้องทำความเข้าใจหมวดคุ้มครองเหล่านี้ว่าจะใช้งานในขั้นตอนขบวนการตรวจวินิจฉัยและรักษาใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถเลือกเฉพาะหมวดคุ้มครองที่จำเป็นจริง ๆ ได้ และทำให้มีส่วนต่างของค่าตรวจรักษาพยาบาลที่ต้องรับความเสี่ยงไว้เองลดลงและไม่เป็นภาระหนักจนเกินไป
(แต่ถ้าเลือกแบบประกันสุขภาพที่มีหมวดคุ้มครองที่มากจนเกินไป เบี้ยประกันก็จะสูงขึ้นอย่างมาก และบางทีการเลือกออกค่าตรวจรักษาส่วนนี้เองจะประหยัดมากกว่าจ่ายเบี้ยประกันที่สูงขึ้นนี้เสียอีก)
ดังนั้นการเลือกหมวดความคุ้มครอง ต้องพยายามเลือกหมวดที่เฉพาะเจาะจงมีหน้าที่ชัดเจน มากกว่าหมวดที่คุ้มครองกว้างไม่เจาะจง เพราะหมวดคุ้มครองกว้างจะทำให้ค่าเบี้ยประกันสูงขึ้น แต่ความคุ้มครองที่ได้รับกลับลดลงอย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น ความคุ้มครองแบบ OPD หรือผู้ป่วยนอก ที่มีทั้งแบบเจาะจงและไม่เจาะจงดังนี้
- OPD แบบเฉพาะเจาะจง ได้แบบจ่ายตามจริง (ค่าใช้จ่ายเกิน 15,000 บ. ได้ทุกหมวด)
- OPD ตรวจฉายภาพขั้นสูง MRI CT PET-Scan (Fax-Claim)
- OPD Follow up อุบัติเหตุ 15 วัน จ่ายตามจริง (Fax-Claim)
- OPD Follow up ไม่จำกัดจำนวนครั้งใน 30 วันหลังแอดมิต IPD (Fax-Claim)
- OPD ตรวจยีนส์มะเร็ง (สำรองจ่ายแล้วเคลมตรง)
- OPD ค่ารักษามะเร็งนวัตกรรมใหม่ในอนาคต (สำรองจ่ายแล้วเคลมตรง)
- OPD แบบไม่เจาะจง ได้วงเงินที่ 15,000 บ. ต่อปี
- OPD ค่ารักษาทั่วไป (Fax-Claim) รวมถึง OPD ตามหมวดเจาะจงด้านบนแต่ดูแลไม่เกินวงเงิน
- OPD ค่าฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพ (สำรองจ่ายแล้วเคลมตรง)
ทั้ง 2 แบบ OPD นี้ จะอยู่ในประกันสุขภาพคนละแบบ ที่มีเบี้ยใกล้เคียงกัน โดยแบบหนึ่งให้ OPD แบบเฉพาะเจาะจงที่จ่ายตามจริง แต่แบบหนึ่งให้ OPD ไม่เจาะจงกับวงเงิน 15,000 บ. ต่อปี เท่านั้น
ดังนั้นการเลือกว่าจะเอา OPD แบบใดนั้น จะจำเป็นต้องมองว่า แบบใดที่ตนเองจะสามารถรับความเสี่ยงเองได้ราคาไม่แพงมาก แบบใดที่ตนเองอยากที่จะโอนความเสี่ยงมากกว่าด้วยราคาสูงเกินไป
โดยต้องไม่ลืมว่า หน้าที่ของประกันสุขภาพ คือ เพื่อโอนความเสี่ยงที่รับเองไม่ไหวหรือไม่ทราบค่าใช้จ่ายออกไปเป็นหลัก รวมถึงไม่ใช่ทุกความเสี่ยงที่ประกันสุขภาพจะรับไว้ให้ได้ เพราะประกันสุขภาพเองก็มีข้อยกเว้นความคุ้มครองบางอย่างด้วยเหมือนกันที่ควรต้องทำความเข้าใจให้เรียบร้อยก่อนสมัครทำประกัน
ระเบิดเวลาลูกที่ 6 : หน้าที่ของผู้สมัครทำประกัน เตรียมความพร้อมสำหรับขบวนการพิจารณารับทำประกัน
การทำประกันสุขภาพ เป็นหนึ่งในแบบประกันที่มีการคัดกรองที่ละเอียดมากที่สุดก่อนรับทำประกัน ซึ่งจะไม่ได้คัดกรองเฉพาะก่อนรับทำประกันเท่านั้น โดยหลังรับทำประกันไปแล้ว หากพบว่ามีการปกปิดประวัติ/ไม่แถลงสุขภาพบางอย่าง ก็อาจส่งผลให้ถูกยกเลิกสัญญาหรือไม่ต่ออายุได้
และที่สำคัญ บันทึกที่แพทย์บอกกว่าปกติ(ไม่ต้องรักษา) อาจจะไม่ปกติในสายตาของแพทย์ที่พิจารณารับประกัน(ความเสี่ยง) ดังนั้น ไม่ต้องรักษา จึงไม่เท่ากับ (≠) ไม่มีความเสี่ยง
การทำความเข้าใจขบวนการพิจารณาให้ดีจึงสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า แพ็คเกจโปรโมชันการตรวจสุขภาพของ รพ.เอกชน นั้นน่ากลัวอย่างยิ่ง
รวมถึงความจำเป็นที่ต้องเตรียมประวัติการรักษาทั้งหมดเพื่อใช้ในการยื่นสมัครทำประกันสุขภาพหลาย ๆ บริษัทพร้อมกัน และสามารถเลือกบริษัทที่มีข้อเสนอยกเว้นความคุ้มครองตามความเสี่ยงที่อยู่ในประวัติการรักษาที่น้อยที่สุดได้
ระเบิดเวลาลูกที่ 7 : การพิจารณา มี/ไม่มี Deductible
ในปัจจุบันบริษัทประกันได้นำค่ารับผิดส่วนแรก (Deductible) มาใช้ในแบบประกันสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะสามารถลดเบี้ยประกันลงได้ แต่ยังคงให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมและวงเงินสูงได้เหมือนเดิม
และ Deductible ยังมีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้ทำประกันสุขภาพได้ทราบชัดเจนว่าต้องจ่ายเอง (หรือใช้ประกันกลุ่มจ่าย) ในค่ารับผิดส่วนแรกนี้เท่าใด
ซึ่งจะแตกต่างกับการเลือกแบบประกันสุขภาพแบบ ไม่มี Deductible โดยหากจะให้เบี้ยแบบไม่มี Deductib;e เท่ากับแบบ มี Deductible ได้นั้น แบบมี Deductible จะต้องลดความคุ้มครองหรือวงเงินคุ้มครองลงมาพอสมควร
และส่งผลให้แบบไม่มี Deductible นี้ ต้องลุ้นว่าจะต้องจ่ายส่วนต่างค่าตรวจรักษาที่เกินวงเงินความคุ้มครองที่ลดลงนี้อีกไม่รู้เท่าใดในการเคลมแต่ละครั้ง ในขณะที่แบบมี Deductible จะทราบชัดเจนตั้งแต่แรกว่าต้องจ่ายรับผิดส่วนแรกเท่าไรแบบไม่ต้องลุ้น
อย่างไรก็ตามการเก็บเงินเพื่อจ่ายทั้งเบี้ยประกันและค่ารับผิดส่วนแรกนั้น จะจำเป็นต้องนำมาเปรียบเทียบกับแบบที่จ่ายเฉพาะเบี้ยประกันอย่างเดียว ว่าแบบใดจะใช้เงินได้น้อยกว่ากัน ดังในบทความต่อไปนี้
ระเบิดเวลาลูกที่ 8 : การพิจารณาทุนชีวิต และ สัญญาเพิ่มเติม
ต้องยอมรับว่าประกันสุขภาพนั้นจะเน้นเพียงค่ารักษาเฉพาะที่แพทยสภารับรองอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้คุ้มครองไปถึงนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ในทันที ต่อให้แบบประกันสุขภาพนั้น ๆ จะมีการระบุว่ารองรับนวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ก็ตาม (แต่ก็ต้องรอให้แพทยสภารับรองก่อน)
รวมถึงประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ต่อไปนี้
- ค่าเดินทาง
- ค่าชดเชยที่ต้องนอน รพ.
- ค่าชดเชยการขาดรายได้ระหว่างการรักษา โดยเฉพาะการรักษาโรคร้ายแรงที่ทำให้ต้องหยุดการทำงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป
- ค่าใช้จ่ายระหว่างการปรับตัวหลังการรักษาโรคร้าย ที่ร่างกายไม่สามารถกลับมาทำงานหนักเหมือนเดิมได้อีก
- ค่ารักษาอุบัติเหตุผู้ป่วยนอกที่ต้องติดอาการนานหลายเดือน
ทำให้การพิจารณาสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองอื่น ๆ ที่จะใช้แนบเพิ่มความคุ้มครองให้กับสัญญาหลักประกันชีวิต (ทุนชีวิตขั้นต่ำควรเน้นเพียงพอกับค่าฌาปนกิจ) นั้นมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อสามารถโอนความเสี่ยงอื่น ๆ ที่สัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองประกันสุขภาพไม่ได้ครอบคลุม
ระเบิดเวลาลูกที่ 9 : ขบวนการเคลมประกันสุขภาพ
การเข้าใจขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่เข้า/ออกจาก รพ. เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อน เช่น การตรวจสอบ รพ.คู่สัญญาว่า Fax-Claim ในเรื่องใดได้บ้าง จะมีโอกาสต้องสำรองจ่ายในเรื่องใดได้บ้าง ขบวนการเคลมเป็นอย่างไร ต้องระวังเรื่องใดบ้างในตอนพบแพทย์ เป็นต้น ซึ่งแม้ขั้นตอนในปัจจุบันโดยเฉพาะในรพ.เอกชน จะอำนวยความสะดวกอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามก็จำเป็นต้องเข้าใจขบวนการเคลมก่อนเคลมจริงเสมอ
ระเบิดเวลาลูกที่ 10 : เบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ
เมื่อมีประกันสุขภาพเรียบร้อย สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไรให้ยังคงสามารถมีประกันสุขภาพ หรือจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพได้ไหวในช่วงอายุเกษียณ เพราะช่วงอายุเกษียณเป็นช่วงที่มีโอกาสใช้ประกันสุขภาพมากที่สุด แต่ก็มักเป็นช่วงที่ขาดรายได้เข้ามา
ดังนั้นการวางแผนการเงินผ่านเครื่องมือการเงินอย่าง ประกันบำนาญและกองทุนรวม จึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เงินก้อนน้อยได้เติบโตมาเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับทยอยจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพได้ตลอดชีพ
และนี้คือระเบิดเวลาทั้งหมด 10 ลูก ที่ควรทำความเข้าใจก่อนสมัครทำประกันสุขภาพ เพราะถ้าหากเข้าใจแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกัน หรือตัวแทนที่ไม่ดีแบบใด ๆ ก็ยากที่จะใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อหลอกให้สมัครทำประกันสุขภาพแบบมีระเบิดเวลาได้อีก รวมถึงหากเข้าใจระเบืดเวลาเหล่านี้แล้ว ยังสามารถช่วยให้ผู้สมัครทำประกันสุขภาพรักษาผลประโยชน์ของตนเองได้มากที่สุดอีกด้วย
สรุปควรเลือกประกันสุขภาพแบบใด
การเลือกแบบประกันสุขภาพที่ดีนั้น จะไม่ได้มองหาประกันสุขภาพเฉพาะให้เต็มสิทธิลดหย่อนภาษี 25,000 บ. เท่านั้น แต่จะมองลึกมากขึ้นถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ร่วมด้วย
เป็นแบบประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาโรคที่แพงที่สุดได้
"มะเร็ง" ยังคงเป็นโรคที่มีค่ารักษาสูงที่สุดในปัจจุบัน ดังนั้นในเมื่อต้องจ่ายเบี้ยไปแล้ว ก็ต้องมั่นใจว่าจะได้รับความสบายใจเรื่องค่ารักษาแลกมาจริงๆ ไม่ใช่จ่ายเบี้ยแล้วยังต้องเก็บความกังวลใจในบางโรคไว้อยู่ ซึ่งแบบนี้จะไม่ค่อยมีใครอยากได้
โดยต้องให้ความคุ้มครองการรักษามะเร็งตั้งแต่ การตรวจวินิจฉัยOPD การผ่าตัดIPD การฟื้นฟูร่างกายIPD/OPD การให้ยาOPD การตรวจติดตามผลOPD เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใดก็ตาม ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคมะเร็งใน รพ.เอกชน มักจะสูงถึงหลักแสนขึ้นไปเสมอ (ยังไม่นับรวมไปถึงว่ามะเร็งเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องกว่า 5 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต)
เป็นแบบประกันสุขภาพที่สามารถคุ้มครองได้ตลอดชีวิต
คือให้ความคุ้มครองที่รวมไปถึงวิทยาการสมัยใหม่ในอนาคตด้วย เพื่อจะได้ไม่ต้องคอยเปลี่ยนแบบประกันสุขภาพให้ทันสมัยตามวิทยาการการรักษา (เช่น ยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งผู้ป่วยนอก)
เพราะหากมีการเคลมบางโรคไปแล้ว การเปลี่ยนแบบประกันสุขภาพเป็นตัวใหม่อาจจะทำได้ยาก และโดนยกเว้นความคุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนแน่นอน
อย่างไรก็ตามด้วยความคุ้มครองที่ครอบคลุมและวงเงินที่สูง แบบประกันสุขภาพลักษณะนี้ จึงมีเบี้ยประกันตอนสูงอายุที่สูงอย่างมาก ทำให้การศึกษาและเตรียมการจัดการเบี้ยประกันหลังเกษียณตั้งแต่ยังอยู่ในวัยทำงาน จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
เพราะจะสามารถช่วยประหยัดเบี้ยประกันได้สูงถึง 50%-90% และเครื่องมือการเงินที่ใช้ในการจัดการก็ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ทั้งนี้หากมีประกันสุขภาพตัวหลักที่ดูแลค่ารักษามะเร็งแบบผู้ป่วยนอก 5 ล้านบาทขึ้นไปต่อปีเรียบร้อย (ค่ารักษาในปัจจุบัน) แต่ประกันสุขภาพตัวหลักให้ค่าห้องที่ค่อนข้างน้อย การเสริมด้วยประกันสุขภาพที่เน้นเรื่องค่าห้อง ให้เป็นตัวเสริมอย่างเช่น "สัญญา Happy Health แบบมีรับผิดส่วนแรก 100,000 บ." จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
เนื่องจากแบบประกันสุขภาพลักษณะนี้จะจ่ายตามจริงของห้องเดี่ยวราคาเริ่มต้นของ รพ. นั้น ๆ จึงเป็นประกันสุขภาพตัวเสริมที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในตลาดปัจจจุบัน
แบบประกันสุขภาพ BLA
ประกันสุขภาพเป็นรูปแบบประกันที่ควรให้เวลาศึกษาทำความเข้าใจให้ดีที่สุดก่อนตัดสินใจ โดยอย่างน้อยควรเข้าใจหมวดความคุ้มครองตามมาตรฐานประกันสุขภาพให้ได้ และควรมีโอกาสได้ศึกษาตัวอย่างกรมธรรม์จริงๆ ของแบบประกันสุขภาพที่สนใจ
การศึกษาแบบประกันสุขภาพตอนแรกอาจมองเป็นเรื่องยุ่งยากแต่ก็คุ้มค่า เพราะเสียเวลาทำความเข้าใจเพียงครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้ไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะกับแบบประกันสุขภาพที่เน้นตลอดชีวิต หรือ สำหรับวางแผนเกษียณในอนาคตจริง ๆ
ทั้งนี้จะสามารถศึกษารายละเอียดเจาะลึกเกี่ยวกับแบบประกันสุขภาพเพิ่มเติมของทาง BLA ได้ที่ปุ่มด้านล่างนี้
การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..
วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"