สรุปหน้าที่ของตัวแทน
แบบ Release you Risk

การเลือกตัวแทนโดยทั่วไป จากความเคยชินมักจะพิจารณาจาก

❑  มีการเปิดใจ สร้างความสนิทใจ เชื่อใจ

❑  มีการนำเสนอที่น่าสนใจ สั้น เข้าใจง่าย ดูคุ้มค่า ดูกินใจ

❑  มีใบอนุญาต คุณวุฒิด้านการเงิน ความชำนาญ

❑  มีลูกค้าเยอะหรือไม่ รีวิวการดูแลให้บริการเคลมเป็นอย่างไร ทำมานานหรือยัง ตำแหน่งอะไร

❑  บริษัทชื่อคุ้นหูหรือไม่

❑  อยู่จังหวัดเดียวกันหรือไม่

❑  การตอบคำถามข้อสงสัย ความรู้สึก เช่น พูดคุยถูกคอ ไม่ตื้อ ไม่กดดัน ไม่ว่าร้าย มีน้ำใจไมตรี

ซึ่งสังเกตได้ว่า จะไม่ได้มีการนำเกณฑ์การปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวแทนเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เนื่องจากไม่ได้มีการระบุหน้าที่ของตัวแทนที่ชัดเจนให้ได้รับทราบโดยทั่วไป มีเพียงเน้นว่าให้การดูแลและให้บริการเท่านั้น

ทางเราจึงได้สรุปหน้าที่ของตัวแทนประกันทั้งหมดที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วน ประกันสุขภาพ/ประกันโรคร้ายแรง ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก เป็นสัญญาระยะยาวตลอดชีพ และมักเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ทั้งกับตัวแทนและผู้สมัครทำประกัน หากสมัครทำประกันด้วยความเชื่อใจ เน้นง่าย แต่ไม่เข้าใจเงื่อไขของสัญญาใด ๆ เลย

เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวแทน ซึ่งจะสามารถแบ่งหน้าที่ออกเป็น 4 หน้าที่ ดังต่อไปนี้ นอกจากนี้ยังมีบทความวิธีการเลือกตัวแทนที่เหมาะกับตนเองที่สุด และ บทความ 5 หน้าที่ของตัวแทนประกันที่ดี ให้สามารถช่วยคุณกับครอบครัวพิจารณาประกอบการเลือกตัวแทนให้ครบรอบด้านมากที่สุด

จรรยาบรรณของตัวแทนประกัน

ก่อนจะทราบหน้าที่ของตัวแทน จำเป็นจะต้องทราบถึงจรรยาบรรณของตัวแทนประกันก่อนว่าประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง เพราะหากตัวแทนมีจรรยาบรรณครบถ้วนแล้ว หน้าที่ของตัวแทนก็มักจะมีความสมบูรณ์พร้อมตามมาด้วยเช่นกัน โดยตัวแทนประกันจะมีจรรยาบรรณ 10 ข้อด้วยกันดังต่อไปนี้

  1. มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อทุกฝ่าย
  2. บริการดีสม่ำเสมอ ชี้แจ้งสิทธิและหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ของผู้เอาประกัน
  3. รักษาความลับอันไม่ควรเปิดเผย
  4. เปิดเผยข้อความจริงของผู้เอาประกัน เพื่อการพิจารณาและความสมบูรณ์ของสัญญา
  5. ไม่เสนอแนะให้ผู้เอาประกันทำประกันเกินความสามารถในการชำระเบี้ย
  6. ไม่ลดค่าบำเหน็จเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ซื้อประกัน เพราะผลร้ายจะไปอยู่กับการบริการในอนาคต
  7. ไม่แนะนำให้สละสัญญาเดิมเพื่อทำสัญญาใหม่ เพราะผู้เอาประกันอาจเสียผลประโยชน์อย่างมากได้
  8. ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น เพราะไม่มีใครที่จะตัดสินใครได้ และสุดท้ายแม้แต่ลูกค้าเองก็อาจโดนกล่าวร้ายไปด้วย
  9. หมั่นศึกษาความรู้เพิ่มเติมในวิชาชีพเสมอ เพราะเรื่องการเงินเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเท่าทันย่อมเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าได้
  10. ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม เพราะช่วยให้บอกความจริงทุกส่วน เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของลูกค้า

1. หน้าที่ 'ก่อน' ยื่นขอทำประกัน

CHI หน้าที่ตัวแทนระหว่างยื่นทำประกัน

คือ การให้ความรู้ความเข้าใจในสินค้า สัญญา เงื่อนไข ข้อดีข้อจำกัด ดังต่อไปนี้  (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่หากไม่เข้าใจก่อนทำสัญญาย่อมเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ทำให้เสียประโยชน์ของผู้สมัครทำประกันได้ และ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการคัดเลือกตัวแทนว่าได้อธิบายสัญญาครบทั้งขบวนการหรือไม่)

❑  การให้ข้อมูล อธิบายที่มาและจุดประสงค์ของแต่ละแบบประกัน บอกถึงข้อดี-ข้อจำกัด

❑  การเปรียบเทียบแบบประกันแต่ละแบบที่ชัดเจน เบี้ยประกันปีแรกและปีต่อไปตลอดอายุสัญญา ให้สามารถเลือกพิจารณาแบบประกันและสัญญาเพิ่มเติมได้ง่าย

❑  อธิบายข้อควรระวัง และเงื่อนไขการเคลมประกันที่ชัดเจน และการให้ความสำคัญกับประวัติการรักษา และ การสิ้นผลความคุ้มครอง

❑  อธิบายสัญญาหมวดความคุ้มครองสอดคล้องกับการใช้งานจริง รวมถึงสาเหตุที่ต้องมีการเพิ่มสัญญาความคุ้มครองอื่น ๆ

❑  อธิบายวิธีการแถลงสุขภาพ เอกสารที่ควรเตรียมสอดคล้องคำแถลง และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นของการพิจารณา

❑  การจัดทำใบคำขอ เพื่อผู้สมัคทำประกันสามารภตรวจสอบ แก้ไขข้อมูล และยืนยันใบคำขอทำประกัน ก่อนยื่นพิจารณาออนไลน์

❑  การตอบคำถามอย่างละเอียด เป็นกลาง เน้นให้ข้อมูลตามจริง รวมถึงแนวทางที่จะสามารถมีประกันด้านสุขภาพไปตลอดชีพได้

โดยส่วนใหญ่หน้าที่ดังขั้นตอนนี้จะช่วย คัดเลือกตัวแทน ได้พอสมควร แต่ก็เป็นขั้นตอนที่จะไม่ถูกใจ "นักซื้อด้วยความเชื่อใจแต่ไม่เข้าใจ" และ "นักขายที่เน้นยอด" มากนัก เพราะจะทำให้รู้สึกว่ายุ่งยาก ต้องคิดพิจารณาให้ดีก่อน ไม่สามารถใช้อารมณ์ชั่ววูบได้

จึงทำให้หลายครั้ง ตัวแทนอาจรวบรัดนำเสนอเฉพาะประโยชน์ สรุปออกมาเป็นแพ็คเกจเน้นเบี้ยปีแรกเท่านั้น แล้วตัดข้อมูลหลาย ๆ อย่างออกไป เพื่อให้ขบวนการซื้อขายราบรื่นที่สุดแล้วค่อยมาแก้ปัญหาในภายหลัง

ซึ่งบางปัญหากว่าจะเห็นชัดเจนก็ใช้เวลานานหลาย 10 ปี เช่น

ปัญหาเรื่องเบี้ยประกันปีต่อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก หรือการเคลมประกันโดยเฉพาะโรคเรื้อหรือร้ายแรง

2. หน้าที่ 'ระหว่าง' ยื่นขอทำประกัน

CHI หน้าที่ตัวแทนหลังยื่นทำประกัน

เป็นขั้นตอนที่เสมือนเป็นการทดสอบ การทำหน้าที่ของตัวแทน ในการประสานงานกับบริษัท เพราะจำเป็นจะต้องมีความรู้ด้านการพิจารณาเบื้องต้น สามารถพูดคุยกับฝ่ายพิจารณา และอธิบายถึงเหตุผลของการพิจารณาให้เข้าใจง่าย พร้อมแนะนำทางออกแบบต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายสาเหตุการร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม

❑  ให้คำแนะนำก่อนตรวจสุขภาพ

❑  การติดตามเอกสารที่ฝ่ายพิจารณาร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายสาเหตุของข้อเสนอการยกเว้นความคุ้มครองบางอาการ หรือ การขอเพิ่มเบี้ยประกัน

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายวิธีการโต้แย้งข้อเสนอ และแนะนำการตรวจวินิจฉัยเฉพาะเจาะจง

❑  ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลาง เมื่อผู้เอาประกันได้รับข้อเสนอจากหลาย ๆ บริษัทพร้อมกัน

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายถึงสาเหตุการเลื่อนพิจารณารับประกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติในระหว่างระยะเวลาการเลื่อนรับประกัน

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายถึงสาเหตุการปฏิเสธการรับประกัน และคำแนะนำในขั้นตอนถัดไป

❑  อธิบายขั้นตอนการชำระเบี้ยปีแรก ข้อควรระวังในการชำระเบี้ยปีต่อ และวิธีการอำนวยความสะดวก

เนื่องด้วยความยุ่งยากของขั้นตอนนี้ที่เป็น ขั้นตอนสำคัญในการคัดกรอง ตามบทความทำไมจึงไม่สามารถเคลมประกันได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาเอาเปรียบจากเงินกองกลางที่ผู้เอาประกันทุกคนร่วมแชร์ความเสี่ยงกันอยู่ได้

งานของฝ่ายพิจารณาบริษัทฯ จะเข้มงวดและเยอะอย่างมาก ทำให้ทั้งการให้ข้อมูลในตอนแรกทั้ง การยกเว้นความคุ้มครอง การเพิ่มเบี้ย การเลื่อนการรับประกัน และการปฏิเสธรับประกันนั้น จะไม่ได้ให้เหตุผลหรือทางออกใด ๆ ประกอบมาอย่างละเอียด จะเป็นเพียงการแจ้งให้ดำเนินการหรือแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น

ดังนั้น ตัวแทนจึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้สมัครทำประกันที่คอยช่วยประสานงานเพื่อขอทราบเหตุผลกับทางบริษัท และทำการอธิบาย รวมถึงให้คำแนะนำกับผู้สมัครทำประกันอย่างดีที่สุด

โดยขั้นตอนนี้ ผู้สมัครทำประกันสามารถทำการยื่นไปหลาย ๆ บริษัทประกันพร้อมกันได้ และดูการตอบสนองในการทำหน้าที่ของตัวแทนท่านต่าง ๆ ได้

3. หน้าที่ 'ภายหลัง' รับทำประกัน

CHI หน้าที่ตัวแทนหลังยื่นทำประกัน2

เป็นขั้นตอนสำคัญที่ตัวแทนจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ทำประกันอย่างแท้จริง เพราะต้องใช้ความรู้ด้านสินไหม และการบริการกรมธรรม์ เพื่อประสานงานและติดตามกับบริษัท ดังต่อไปนี้

❑  ให้คำแนะนำบริการต่าง ๆ ของทางบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจรักษา

❑  ดูแลการเคลมประกันหากมีปัญหา โดยช่วยประสานกับฝ่ายสินไหมและ รพ.

❑  การเร่งดำเนินการขอประวัติการรักษา สำหรับการทำพรีเคลม หรือเคลมตรงในกรณีสำรองจ่ายเพื่อสืบประวัติ

❑  ดูแลทำบันทึกเวลาต้องขอความอนุเคราะห์หรือโต้แย้งบริษัท

❑  ดูแลทำบันทึกการยื่นทบทวนข้อยกเว้นความคุ้มครอง หรือทบทวนการเพิ่มเบี้ยประกัน

❑  ให้คำแนะนำและดูแลการเปลี่ยนแปลง กรมธรรม์ หรือ สัญญาเพิ่มเติมในกรมธรรม์

เนื่องจากประกันสุขภาพจะมี การสืบประวัติ ของอาการหรือโรคเรื้อรังที่ต้องการเคลมว่าเป็นมาก่อนทำประกันหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินกองกลางของทุกคนถูกเอาเปรียบ

โดยจะต้องสืบประวัติตั้งแต่ ก่อนทำประกัน 5 ปี และ หลังทำประกัน 3 ปี รวมถึงการยื่นทบทวนข้อยกเว้น หรือปรับเปลี่ยนส่วนสัญญาเพิ่มเติมให้เหมาะสมตามสถานการณ์ในอนาคต

การทำงานส่วนนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเลือกตัวแทนที่จะช่วยดำเนินการหรือประสานงาน

แม้ในปัจจุบันทาง รพ. และบริษัทประกัน จะเริ่มใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นแล้วก็ตาม

แต่ก็สำคัญอย่างยิ่งที่ทางตัวแทนจะต้องให้ความรู้และความเข้าใจในส่วนนี้เป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนที่จะสมัครทำประกัน

มากกว่าจะปล่อยให้ล่วงเลยมาถึงการเคลมประกันแล้วจึงค่อยแจ้ง จนในที่สุดจึงเกิดปัญหาความขัดแย้งที่ไม่เข้าใจเงื่อนไขตั้งแต่แรกตามมา

4. หน้าที่ วางแผนสำหรับเบี้ยประกันตอนเกษียณ

ตย กองทุนสุขภาพ อายุ61 98

ส่วนสำคัญที่ตัวแทนมักจะมีการแจ้งเตือนตั้งแต่ก่อนยื่นทำประกันสุขภาพ และอาจมีการจำลองหาทางออกว่าพอมีทางจะช่วยประหยัดเงินที่ต้องจ่ายเบี้ยปีต่ออายุได้อย่างไรบ้าง ผ่านความรู้ด้านการลงทุนและการลดหย่อนภาษี ดังต่อไปนี้ (หน้าที่ข้อ 4 นี้ มีตัวแทนไม่มากนักที่สามารถทำได้ และ แม้จะสมัครทำประกันกับตัวแทนท่านอื่นแล้ว ก็ยังสามารถหาตัวแทนที่มีความสามารถด้านนี้เพื่อสมัครใช้บริการเฉพาะส่วนนี้ได้)

❑  อธิบายความแตกต่างระหว่างข้อดีข้อจำกัดระหว่าง ประกันสุขภาพแบบเบี้ยคาดหวังคงที่ UDR และประกันสุขภาพแบบเบี้ยเพิ่มตามอายุ PPR

❑  สรุปแผนการใช้ประโยชน์จาก SSF/RMF/ประกันบำนาญ ในการเตรียมเบี้ยประกันยามเกษียณ และยังทำให้ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด กับช่วยประหยัดเบี้ยประกันสุขภาพได้หลักล้านบาทขึ้นไป

❑  ให้คำแนะนำ กองทุนที่เหมาะสม และ ประกันบำนาญที่เหมาะสม ในการทำตามแผน ที่เน้นช่วยลดความผันผวนและเป็นไปตามแผนได้เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่พิจารณาเพียงผลตอบแทนอย่างเดียว

❑  คำนวณและปรับปรุงแผนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง ๆ ที่สามารถยืดหยุ่นตามจำนวนเงินที่ต้องการเตรียมมากน้อยในแต่ละปีได้

❑  ให้คำแนะนำและคำนวณเพิ่มเติมด้านการเตรียมเกษียณอย่างปลอดภัย และการจัดการความเสี่ยงของครอบครัว

ข้อ 1-3 จะช่วยคัดเลือกตัวแทนที่ดี และช่วยทำให้คุณได้แบบประกันที่เหมาะสม และอาจประหยัดเบี้ยประกันทั้งหมดได้หลายแสน

แต่สำหรับ ข้อ 4 ข้อนั้นจะช่วยหาตัวแทนที่สามารถช่วยทำให้ประหยัดค่าเบี้ยประกันยามเกษียณได้หลักหลายล้าน ผ่านการคำนวณประยุกต์ SSF/RMF/ประกันบำนาญ ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ได้สูงที่สุด

แต่เนื่องจากบริษัทประกันจะไม่ได้สร้าง เครื่องมือคำนวณ ส่วนนี้ขึ้นมาให้ตัวแทน โดยจะมีเฉพาะเครื่องมือคำนวณที่ช่วยในการวางแผนประกันสุขภาพแบบเบี้ยคาดหวังคงที่ (Target Premium) คู่กับ สัญญาชีวิตหลักแบบ Unit-Linked มาให้เท่านั้น

หรือมีเพียงการประยุกต์นำประกันบำนาญมาจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณเท่านั้น โดยจะต้องใช้เบี้ยประกันที่สูงพอสมควร เนื่องจากยังไม่ได้นำประกันบำนาญและกองทุนลดหย่อนภาษีมาทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้การใช้ SSF/RMF มาช่วยแก้ปัญหา ทางบริษัทประกันจะไม่ได้ประโยชน์ร่วมด้วยเลย จึงไม่ได้มีเหตุผลมากนักที่จะต้องลงทุนพัฒนาเครื่องมือคำนวณนี้ขึ้นมาให้กับตัวแทน

และทำให้กลายเป็น หน้าที่พิเศษ ของตัวแทนที่จะคำนวณส่วนนี้ และช่วยผู้ทำประกันให้ประหยัดเบี้ยและลดหย่อนภาษีได้มากที่สุด ซึ่งมักพบตัวแทนลักษณะนี้ ตัวแทนที่มีคุณวุฒิทางด้านการเงิน เช่น เป็นที่ปรึกษาการเงิน AFPT หรือ นักวางแผนการเงิน CFP

บทสรุปหน้าที่ของตัวแทนประกัน

โดยสรุป หน้าที่ทั้งหมดนี้อาจจะช่วยทำให้สามารถคัดเลือกตัวแทนที่เหมาะสมกับความต้องการได้ง่ายมากขึ้น และสามารถแยกระหว่างตัวแทนผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ กับตัวแทนนักขายชั่วคราวออกจากกันได้อย่างชัดเจน

CHI หน้าที่ตัวแทนmujfu

ซึ่งในข้อ 1-3 นี้เป็นเพียงตัวอย่างหน้าที่พื้นฐานที่จำเป็นของ “ตัวแทนของผู้สมัครทำประกัน” เท่านั้น ซึ่งเวลาปฏิบัติงานจริงตัวแทนแต่ละแบบก็อาจจะมีมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ นั้นเองค่ะ

การวางแผนเก็บเงินและเกษียณอย่างจริงจัง เริ่มขึ้น เมื่อเข้าใจ..

วิธีใช้ธรรมชาติของเครื่องมือการเงินที่จำเป็นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"ตน (ในปัจจุบัน) จักเป็นที่พึ่งของตน (ในอนาคต)"

เกี่ยวกับผู้เขียน

  • Ruchira Taboonruang

    จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน ซึ่งในหลายครั้งกว่าจะรู้และเข้าใจก็อาจจะสายไปแล้ว และนี้คือสาเหตุใหญ่ที่ทางเรา จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ โดยให้ความรู้ทางการเงินที่ดีและเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการป้องกันไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ ผ่านเว็บไซต์ Release your Risk ที่ต้องการให้ทุกคนได้ปล่อยความเสี่ยงที่ตนเองถือไว้อยู่ ผ่านเครื่องมือทางการเงินด้วยความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก