คู่มือวิธีเลือกและเปรียบเทียบประกันสุขภาพครบทุกด้าน ทั้งการเลือกตัวแทนและบริษัท

☻  คุณจะมั่นใจได้ว่าโอกาสจ่ายเงินค่ารักษาส่วนเกินจะ น้อยลงไปมาก

   คุณจะหมดคำถามว่าจะต้องเลือกแบบประกันสุขภาพแบบใดดี

   คุณจะเข้าใจลำดับของการพิจารณาเลือกแบบที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง

   คุณจะเห็นความจริงทั้งหมดมาตีแผ่ให้เห็นโดยไม่มีข้อปิดบังใด ๆ

   คุณจะใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพในการเลือกแบบประกันสุขภาพ!


เลือกดูลำดับขั้นตอนที่ต้องการ

ไม่เคยทำประกันมาก่อน “มีวิธีเลือกประกันสุขภาพอย่างไรดี”

 ระวัง!! หากเริ่มต้นตอบคำถามนี้ผิดลำดับ ทุกอย่างอาจจะผิดพลาดไปทั้งหมด

  เค้าบอกมาว่า… ดูที่บริษัท บริษัทไหนมีชื่อ ได้ยินโฆษณาบ่อย ตัวแทนเยอะ..น่าจะดี

  เค้าบอกมาว่า… ดูที่ตัวแทน ตัวแทนต้องดูแลดี มีกระเช้าเยี่ยม อำนวยความสะดวกให้

  เค้าบอกมาว่า… ดูความคุ้มครองที่ได้ต้องเยอะ ๆ ทุนคุ้มครองหลายล้าน ค่าห้องสูง ๆ..ยิ่งเบี้ยน้อย ๆ ยิ่งดี

 เค้าบอกมาว่า… ดูที่วงเงินความคุ้มครองรายครั้ง ซึ่งจะดีกว่ารายปี

  เค้าบอกมาว่า… ดูว่ามีความคุ้มครองผู้ป่วยนอก OPD มากพอหรือไม่

  เค้าบอกมาว่า… ดูว่าเบี้ยประกันตอนสูงอายุต้องรับได้ มีให้จ่ายรับผิดส่วนแรกได้

  เค้าบอกมาว่า… ดูว่าเบี้ยประกันสามารถปรับเป็นแบบคงที่ได้ จะได้สบายใจตอนเกษียณ

  เค้าบอกมาว่า… ดูว่าบริษัทใดเคลมง่าย ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่มีปัญหาภายหลัง

มีหลายปัจจัยมาก แต่กลับไม่มีปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ควรต้องพิจารณา

ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างของ “เค้าบอกว่า”  ที่บอกต่อ ๆ กันมา ซึ่งมีหลายปัจจัยให้ต้องพิจารณามาก แต่กลับขาดปัจจัยสำคัญให้ต้องคำนึงถึง

หนึ่งในปัจจัยนั้นคือ คุณรู้หรือยังว่าจริง ๆ แล้วประกันสุขภาพคืออะไร และใครเป็นคนจ่ายเงินค่ารักษาให้กับคุณ

CHI เค้าบอกว่า1

ซึ่งหากคุณยังไม่เข้าใจถึงที่มาของประกันสุขภาพนี้ และสับสนไปกับข้อมูลและเงื่อนไขจำนวนมากของประกันสุขภาพ

คุณก็มีโอกาสสูงที่จะปล่อยให้ความเข้าใจนี้เป็นไปตามความเชื่อใจและตัวเลขที่ฝ่ายการตลาดของบริษัทประกันฯ เน้น หรือที่ตัวแทนนำเสนอเพื่อปิดการขายเท่านั้น

ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องเคลมค่ารักษาในโรคที่ต้องการแต่สุดท้ายกลับเคลมไม่ได้

จนต้องจ่ายเองเกือบทั้งหมดเป็นจำนวนหลายแสนหลายล้านบาท เพราะเลือกแผนประกันสุขภาพผิด จนทำให้มีประกันสุขภาพก็เหมือนไม่มี

จะดีกว่าหรือไม่หากมี

FRAMEWORK

สรุปและจัดลำดับปัจจัยที่ต้องพิจารณาทำประกันสุขภาพก่อนหลังมาให้เรียบร้อย

ด้วยปัญหาที่กล่าวมา ทาง Release your Risk เอง ก็ได้ประสบพบกับปัญหาเหล่านี้มาเองตั้งแต่ตอนที่ยังต้องการเพียงประกันสุขภาพให้พอได้อุ่นใจเท่านั้น

แต่ก็ต้องมาสับสนกับแผนประกันสุขภาพที่มีมากมายในท้องตลาด ทั้งแบบจากบริษัทประกันภัย และจากบริษัทประกันชีวิต 

มีตัวเลขความคุ้มครองที่แสดงให้เห็นหลายล้านบาท ที่ดู ๆ แล้วไม่น่าจะใช้ได้ถึง หรือไม่คิดว่าจะได้ป่วยถึงขนาดนั้น หลายครั้งก็จะพยายามมองหาแผนที่มีผู้ป่วยนอก (OPD) ให้เพราะมีโอกาสได้ใช้มากกว่า

และเมื่อดูเบี้ยประกันปีแรก ๆ ก็ดูไม่มาก และก็คิดเอาเองเสมอว่าทุกปีเบี้ยประกันคงเท่าเดิม เพราะไม่มีโอกาสได้เห็นว่าเบี้ยประกันปีต่อเป็นอย่างไร เนื่องจากตัวแทนไม่ได้ให้ข้อมูลมา

แต่เมื่อ ไปค้นหาใน Google เอง จึงได้พบว่าเบี้ยไม่เท่ากันทุกปี มีทั้งเพิ่มทุกปีและเพิ่มทุก 5 ปี (ของช่วงอายุ)

CHI หาข้อมูล รู้ความจริง2

โดยเฉพาะตอนอายุเยอะ ๆ ที่อาจไม่ได้ทำงานแล้วนั้น เบี้ยสูงมาก กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำให้กลัวประกันสุขภาพขึ้นมาทันที

รวมถึงได้เข้าไปอ่านใน pantip ถึงปัญหาอีกมากมาย จึงเริ่มเกิดความกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่มั่นใจว่าตัวแทนจะบอกข้อมูลครบทั้งหมดหรือไม่

สุดท้าย ตัดสินใจนำตนเองเข้ามา เรียนรู้โดยตรง

CHI เข้าหาข้อมูล เข้าเป็นตัวแทน

แต่ละคนในทีม เลยตัดสินใจสอบและสมัครเป็นตัวแทน เพื่อหวังจะเข้ามาเรียนรู้ ดูแลและทำประกันสุขภาพให้กับคนในครอบครัวเท่านั้น

และนั่นจึงทำให้เป็นที่มาของ Framework เพื่อช่วยคัดเลือกแผนประกันสุขภาพแผนแรก แผนหลักนี้ขึ้น หรือ เรียกว่า Main Health Insurance Framework

ที่ได้มาจากการหาความรู้เพิ่มเติมมากมายในด้านสุขภาพ เพื่อนำค่าใช้จ่ายมาเปรียบเทียบกับที่แผนประกันบอกว่าจะคุ้มครองว่าครอบคลุมหรือไม่ อะไรคือตัวปัญหา

ศึกษาเปรียบเทียบทั้งมาตรฐานประกันสุขภาพแบบเก่าและแบบใหม่ ทั้งในและนอกบริษัทฯ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับทั้งฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฝ่ายพิจารณารับประกัน และฝ่ายสินไหมเคลมประกัน

ทำให้มองภาพรวมของแบบประกันสุขภาพแต่ละแบบออกว่า มีจุดประสงค์เพื่ออะไร มองออกว่าบางแบบในตลาดทำขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ แม้จะเป็นความต้องการที่เกิดจากความเข้าใจผิดก็ตาม

แบบประกันที่ บริษัทฯ ก็อยากขาย  ตัวแทนก็ได้ค่าคอมฯสูง  และลูกค้าก็อยากซื้อ ย่อมทำให้ขายได้ง่ายและมากกว่า แต่จะมีแบบประกันแบบนี้ได้ แสดงว่าต้องมีการปิดบังอะไรบางอย่างอยู่

บริษัทประกันฯ จึงเลือกสร้างแบบประกันสุขภาพลักษณะนี้ขึ้นมาซึ่งดีกว่า (สำหรับบริษัทฯ)  ขายก็ง่ายและไม่ต้องเสียเวลาให้ความรู้กับลูกค้ามากนัก แค่ทำตามที่ลูกค้าเชื่อก็พอ

แต่แน่นอนนั่นย่อมตามมาด้วยปัญหาจากลูกค้าในภายหลัง พร้อมประโยคที่ว่า  “ทำไมไม่บอกกันก่อน”

ดังนั้น Main Health Insurance Framework จึงเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหานี้ได้ และช่วยให้ผู้ที่สนใจประกันสุขภาพ ได้พิจารณาในทุกมุมมองที่จำเป็นก่อนตัดสินใจว่า ควรจะเลือกอะไร มากกว่าการตัดสินใจบนพื้นฐานที่ “ยังไม่รู้”

โดยสิ่งที่ Main Health Insurance Framework จะสามารถช่วยได้จะมีดังเนื้อหาถัดไปค่ะ

Main Health Insurance Framework

จะทำให้คุณ

เปลี่ยนจาก ⇆ ไม่รู้ว่าควรทำความคุ้มครองอะไรเท่าใดดี เป็น มองทะลุถึงความเสี่ยงที่มี

MHIF risk

เปลี่ยนจาก ⇆ ไม่รู้ว่าจะเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพอย่างไร เป็น มองทะลุถึงเบื้องหลังแผนประกันสุขภาพ และเบื้องลึกโครงสร้างเบี้ยประกัน

MHIF Health Premium

เปลี่ยนจาก ⇆ ไม่รู้ว่าควรทำประกันเองหรือวิธีการเลือกตัวแทน เป็น มองทะลุหน้าที่ของตัวแทนที่จำเป็นต้องมี

MHIF ตัวแทน

เปลี่ยนจาก ⇆ ไม่รู้ว่าควรทำงบประมาณเท่าใดดี เป็น มองทะลุถึงวิธีการจัดการงบส่วนนี้

MHIF งบการเงิน

เปลี่ยนจาก ⇆ ไม่รู้ว่าควรยื่นขอทำประกันอย่างไรให้ดีที่สุด เป็น มองทะลุถึงวิธีการยื่นทำประกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด และยังช่วยให้หมดปัญหาตอนเคลม

MHIF การยื่นเอกสาร

ทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณ "หมดคำถาม" ว่าไม่เคยทำประกันสุขภาพมาก่อนเลย จะเริ่มต้นอย่างไรดี

Main Health Insurance Framework จะประกอบไปด้วย
7 ขั้นตอนการพิจารณาก่อนซื้อประกันสุขภาพ ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 สอบถามโรคหรืออาการป่วยที่คนรอบข้างเป็นหรือเคยเป็น

CHI สอบถามคนรอบข้าง

สิ่งที่ควรหาข้อมูลก่อนคือ  เรียนรู้ความอันตรายของโรค การบาดเจ็บ หรืออาการเรื้อรัง ซึ่งล้วนเป็นโรคที่อาจส่งผลให้ทำประกันสุขภาพไม่ได้ โดยเฉพาะทางด้าน หัวใจ สมอง อุบัติเหตุรุนแรง หรือแม้แต่มะเร็ง ที่คนในครอบครัว เช่น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย พี่น้อง ลุงป้า น้าอา หรือคนรู้จักในวงเครือญาติของคุณที่กำลังเป็น หรือเคยเป็นอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกัน เพราะด้วยกรรมพันธุ์ และปัจจัยภายนอกที่คล้ายกัน ย่อมส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคหรืออาการลักษณะเดียวกันได้ค่อนข้างสูง

หรือ หากคุณย้ายออกมาอยู่คนเดียว หรือออกมาสร้างครอบครัวใหม่ คุณอาจต้องคอยสังเกตหรือถสอบถามคนรอบตัวที่คุณใช้เวลาร่วมกันทุกวันค่อนข้างมาก

อย่างเพื่อนพี่น้องในที่ทำงานของคุณ ที่มีวิถีการใช้ชีวิต การกินดื่มการพักผ่อน คล้าย ๆ กัน โดยให้คุณสังเกตดูว่า..

แต่ละคน มีอาการหรือเริ่มต้องหาหมอ ต้องใช้ประกันกลุ่มของบริษัทเพื่อการรักษาเกี่ยวกับอะไรบ้าง และบ่อยแค่ไหน

เพราะทั้งหมดนี้จะช่วยให้คุณเริ่ม ประเมินความเสี่ยงของโรคที่คุณอาจจะเป็นได้และค่าใช้จ่ายที่จะต้องเตรียมในอนาคตได้ ในระดับหนึ่งแบบง่ายที่สุด

ขั้นตอนที่่ 2 เรียนรู้ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคนั้น ๆ

สรุปค่ารักษาแต่ละประเภท

ขั้นตอนที่สอง คือ การสอบถามครอบครัวหรือคนใกล้ตัวถึงค่ารักษาที่ทาง รพ. เรียกเก็บไป (เสมือนการทำงานให้กับ รพ. ทางอ้อม) เพื่อที่จะได้ประเมินว่า ทาง รพ. มีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในหมวดใดบ้าง และโดยรวมมีค่ารักษาทั้งหมดเท่าไร

แต่ข้อเสียของวิธีนี้คือ ราคาอาจจะไม่ใช่ราคาล่าสุดของทาง รพ. เพราะผ่านไปหลายปีแล้ว บวกกับสภาวะเงินเฟ้อ ทำให้คุณอาจต้องคำนวณและบวกเพิ่มเผื่อไว้อีก

หรืออีกทางหนึ่งคือ อ่านบทความ 5 โรคร้ายที่กินเงินคุณ หรือคุณสามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ รพ. เอกชน ต่าง ๆ ที่มักจะมีสรุปโปรโมชัน เป็นแพ็คเกจการรักษาโรคที่ต้องผ่าตัดและมักมีโอกาสเป็นสูงมาก (ถึงขนาดสามารถจัดเป็นโปรโมชันได้)

ซึ่งช่วยให้คุณเริ่มเข้าใจถึงงบประมาณค่ารักษาที่จะต้องจัดเตรียมไว้ในทันที โดยเฉพาะหากนำค่าใช้จ่ายที่ครอบครัวหรือคนรอบตัวบอกมา เทียบกับโปรโมชันที่ได้ ก็จะยิ่งเห็นภาพชัดมากขึ้นว่า อัตราค่ารักษามีระดับสูงมากขึ้นเพียงใด

และที่สำคัญคือจำเป็นจะต้องลองเดินทางไป รพ.รัฐ และ รพ.เอกชน เพื่อเปรียบเทียบสิ่งแวดล้อมที่คุณและครอบครัวต้องการในการรักษาตัว

ซึ่งทางเราแนะนำว่าอาจลองไป รพ.ศิริราช สักครั้งหนึ่ง เนื่องจากส่วนด้านหน้าจะเป็น รพ.รัฐ และส่วนด้านหลัง จะเป็น รพ.เอกชน หรือ รพ.ศิริราชปิยมหาราชการุณย์  ทำให้สามารถเปรียบเทียบและเห็นจุดแตกต่างกันได้ชัดเจนที่สุดค่ะ

ขั้นตอนที่่ 3 เรียนรู้หมวดความคุ้มครองจุดสำคัญในการช่วยสกรีนแผน

ในปัจจุบันทาง คปภ. ได้ขอความร่วมมือให้ทุก รพ. ให้ทำการออกใบเสร็จค่ารักษาให้ตรงกับ หมวดความคุ้มครองของประกันสุขภาพมาตรฐานใหม่ปี 64

ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเคลมประกันสุขภาพลงไปได้ จากที่มักเคยเป็นปัญหาระหว่างทางฝ่ายการเงินและฝ่ายดูแลลูกค้าประกันของทาง รพ. ที่เข้าใจผิดกัน เพราะหมวดความคุ้มครองของแผนประกันสุขภาพ และหมวดค่าใช้จ่ายค่ารักษาของ รพ. นั้นไม่ตรงกัน

และยังทำให้สามารถเลือกเปรียบเทียบแผนประกันสุขภาพจากแต่ละบริษัทได้ง่ายมากขึ้น ดังในบทความ เปรียบเทียบประกันสุขภาพเหมาจ่าย AIA AXA BLA FWD MTL TL TM ปีล่าสุด

นอกจากนี้ด้วยหมวดการรักษาที่เหมือนกัน จึงทำให้เบี้ยประกันสุขภาพของแต่ละบริษัทจะต่างกันไม่มากนัก ทำให้คลายความสงสัยว่าทำไมที่นี้ถึงให้ความคุ้มครองสูงแต่เบี้ยถูกกว่ามาก

ซึ่งแต่ก่อนจะเป็นเพราะบางแผนประกันมีหมวดความคุ้มครองที่ไม่ตรงกันกับอีกแผน และในรายละเอียดไม่ได้ให้ความคุ้มครองบางอย่างเอาไว้เหมือนกับอีกแผน

ดังนั้นการปรับหมวดการรักษาของทุกแผนประกันให้ตรงหรือคล้ายกันหมด จึงส่งผลดีต่อผู้เอาประกันเป็นอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แต่ละบริษัทสามารถแข่งขันกันได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างจุดขายขึ้นมา

ความแตกต่างของหมวดความคุ้มครองที่เป็นจุดขายของแต่ละบริษัทประกัน

CHI เรียนรู้หมวดความคุ้มครอง

เพื่อให้แต่ละบริษัท สามารถแข่งขันกันได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละบริษัทจะต้องมีความแตกต่างกัน เช่น

  ใน 13 หมวดมาตรฐาน บางบริษัทก็อาจจะคุ้มครองทั้งหมด บางบริษัทก็อาจจะเลือกไม่คุ้มครองบางอย่าง

  บางบริษัทเป็นการคุ้มครองเหมาจ่ายต่อครั้ง บางบริษัทเป็นการเหมาจ่ายต่อปี

  มีการให้วงเงินคุ้มครองค่าห้องไม่เท่ากัน หรือ คุ้มครองเฉพาะค่าห้องเดี่ยวมาตรฐาน

  ไม่คุ้มครองครอง หรือ จำกัดจำนวนครั้ง ในค่าเวชศาสตร์ฟื้นฟูแบบผู้ป่วยนอก

  จำกัดวงเงินค่ายากกลับบ้าน

  จัดกัดวงเงินค่าแพทย์ตรวจประจำวัน

  จำกัดวงเงิน หรือ จำนวนครั้งการรักษาติดตามอาการหลังเข้า รพ.

นอกจากนี้แต่ละบริษัทก็ยังมีการเพิ่ม หมวดเพิ่มเติมพิเศษ ที่นอกจาก 13 หมวดหลักเข้ามาด้วย ซึ่งก็จะเป็นจุดขายที่แตกต่างกันไป รวมถึงเบี้ยที่แตกต่างกันในแต่ละบริษัท อย่างเช่น

  การเพิ่มหรือเบิ้ลวงเงินค่ารักษาเมื่อเป็นโรคร้าย

  การเพิ่มค่ารักษาผู้ป่วยนอก

  การเพิ่มค่ารักษาแพทย์ทางเลือก กายภาพบำบัด ฝังเข็ม

 การเพิ่มการดูแลโดยพยาบาลส่วนตัว

 การเพิ่มค่าตรวจวินิจฉัยภาพขั้นสูงแบบผู้ป่วยนอก

  การเพิ่มค่าทันตกรรม

การเพิ่มค่าตรวจสุขภาพ ค่าฉีดวัคซีน

การเพิ่มค่ารักษาโรคแทรกซ้อนการตั้งครรภ์

การเพิ่มค่าทำคลอด

  การยกเว้นเบี้ยปีที่ตรวจพบเป็นโรคร้าย

  การเพิ่มคุ้มครองเวชภัณฑ์คงทนใช้ภายนอกร่างกาย

  การแปลงเป็นสัญญาชดเชยรายวัน หากไม่เคลม

ซึ่งการจะเลือกว่าจะเอาแบบประกันที่มีหมวดความคุ้มครองแบบใดดี จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง พิจารณาถึงความเสี่ยงและความรุนแรงของภัย ในหมวดความคุ้มครองนั้น ๆ ว่ารุนแรงและราคาสูงเพียงใด เพราะหากมีความเสี่ยงยิ่งน้อยแต่รุนแรง ก็จะสามารถเฉลี่ยความเสี่ยงกับคนส่วนมากได้ ทำให้ประหยัดเบี้ยที่ใช้โอนความเสี่ยงได้มากพอสมควร พร้อมรับประกันว่าจะคุ้มครองภัยที่รุนแรงนั้นไว้ได้

ขั้นตอนที่่ 4 วิธีการเลือกหมวดความคุ้มครองเพื่อให้ได้แบบและเบี้ยประกันที่ตอบโจทย์

โดยการพิจารณาว่า แบบประกันนั้นมีแผนอะไรบ้างและสามารถลดหมวดอะไรออกได้บ้าง เพื่อที่จะสามารถช่วยลดเบี้ยประกันลงให้เหลือเฉพาะที่จำเป็นและเหมาะกับครอบครัวได้

เลือกโดยการตัดหมวดที่แชร์ความเสี่ยงได้ยากและเบี้ยสูงออก

CHI ตัดหมวดที่ทำให้เบี้ยสูงออก

ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็น

  หมวดที่มีโอกาสได้ใช้บ่อย ๆ เป็นประจำทุกปี

  หมวดที่จงใจให้เกิดการเคลมขึ้นได้

  หมวดที่พิจารณาความจำเป็นทางการแพทย์ได้ยาก

จึงทำให้หมวดเหล่านี้เป็นอันตรายต่อเงินกองกลางของทุกคนที่ร่วมแชร์ความเสี่ยงกันเป็นอย่างมาก บริษัทประกันจึงจำเป็นต้องเพิ่มเบี้ยให้กับหมวดเหล่านี้สูงขึ้นพอสมควร

โดยสามารถดูข้อมูลส่วนนี้แบบเจาะลึกได้ที่บทความ ทำไมประกัน OPD ถึงอันตราย และบทความ ภาพลวงตาของวงเงินค่ารักษา 30-50 ล้านบาท

กล่าวโดนย่อคือ ภัยเหล่านี้เฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกับผู้อื่นได้ยากมาก ทำให้เบี้ยประกันจะใกล้เคียงหรือมากกว่าค่ารักษาจริง ๆ โดยบริษัทจะคำนวณเบี้ยจากโอกาสในการใช้สูงที่สุด และเรียกเก็บเบี้ยส่วนนี้ใหม่ในทุกปี

ทำให้การเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเองและใช้ตามสถานการณ์จริง จะประหยัดได้มากกว่าการจ่ายเบี้ยส่วนนี้มาก เพราะหากไม่ได้ใช้เงินสำรองนี้ก็ยังอยู่เหมือนเดิมในปีหน้า ซึ่งต่างกับเบี้ยที่จ่ายแล้วหายไป

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ วิธีการเลือกประกันสุขภาพเหมาจ่ายให้ประหยัดที่สุด

โดยตัวอย่างของหมวดเหล่านี้ เช่น

  ค่าห้องที่สูงมากระดับ VVIP

  ค่ารักษาทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนอก เพราะกรองด้วยความจำเป็นทางการแพทย์ได้ยาก

  ค่าทันตกรรม ค่ารักษาสายตา

  ค่ารักษาทางสุขภาพจิต หรือ จิตเวช

หมวดเหล่านี้จึงมักจะอยู่ในแผนประกันที่ เบี้ยสูง ทั้งสิ้น แต่ถ้าสามารถลดหรือตัดหมวดเหล่านี้ลงได้ และยังได้แผนที่รองรับค่าใช้จ่ายของโรคร้ายได้อยู่ก็จะน่าสนใจอย่างมากค่ะ

เลือกแบบประกันที่มี แบบรับผิดส่วนแรก เพื่อนำเงินที่ได้จากส่วนลดเบี้ยมาบริหารเอง

CHI เลือกจ่ายส่วนต่าง

วิธีการลดเบี้ยอีกทางคือ การเลือกแบบประกันที่สามารถเลือกแบบรับผิดส่วนแรกได้ ซึ่งมีทั้งแบบรับผิดรายครั้ง และแบบรับผิดรายปี ซึ่งถ้าเป็นแบบรายครั้งจะลดเบี้ยได้มากกว่าโดยเฉพาะตอนสูงอายุ

โดยแบบประกันแบบนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ประกันสุขภาพที่รับผิดชอบเฉพาะส่วนเกินค่ารักษาที่ต้องการ เช่น ประกันสุขภาพนี้จะทำงานเฉพาะค่ารักษาส่วนที่เกิน 30,000 บ. เท่านั้น โดย 30,000 บ.แรก คนไข้ต้องออกเอง หรือต้องมีประกันตัวอื่นมาช่วยร่วมจ่ายด้วย

ข้อดีของวิธีนี้ คือ
❖   สามารถช่วยประหยัดเบี้ยได้พอสมควร โดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน ที่ไม่ค่อยเจ็บป่วยมากนัก หรือหากเจ็บป่วยก็ใช้เวลานอน รพ. ไม่นานนัก และเหมือนเป็นการจัดการค่าใช้จ่ายให้อยู่ในช่วงที่ตนเองสามารถรับมือไว้ หรือเฉพาะส่วนรับผิดส่วนแรกนี้

แต่ข้อสังเกตสำคัญ คือ
❖   ในวัยเกษียณแม้จะช่วยประหยัดเบี้ยได้มาก แต่ก็มีโอกาสเข้าโรงพยาบาลค่อนข้างบ่อยและนาน จึงทำให้เบี้ยที่ประหยัดได้มาทั้งหมด อาจจะหมดไปกับค่ารับผิดส่วนแรกในภายหลังได้

CHI เตรียมเงินฉุกเฉิน

ดังนั้นการทำประกันแบบนี้จึงจำเป็นต้องมี การเตรียมเงินฉุกเฉินค่ารับผิดส่วนแรกไว้อย่างน้อย 2-3 เท่าของค่ารับผิดส่วนแรก หรือถ้าจะให้ดีในตอนเกษียณควรจะเป็นสัก 5-10 เท่าของค่ารับผิดส่วนแรก หรือตามจำนวนครั้งที่คาดว่าจะแอดมิตนอน รพ. (ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก)

ทำให้เบี้ยที่ลดลงนี้ จึงเหมือนให้นำเงินส่วนลดไปบริหารจัดการเองให้งอกเงยเพื่อไว้จ่ายรับผิดส่วนแรกเองได้ ทำให้ในกรณีที่แอดมิตน้อยกว่าเงินที่เตรียมไว้จ่ายรับผิด เงินที่งอกเงยนี้ก็ยังคงเป็นของผู้เอาประกันเหมือนเดิม

แตกต่างกับแบบที่ไม่มีการจ่ายรับผิด ที่ทุกอย่างได้จ่ายเป็นเบี้ยทิ้งให้บริษัทประกันดูแลทั้งหมดแล้ว ซึ่งจะดีสำหรับถ้าตอนชราแอดมิตบ่อยครั้งมากจริง ๆ อย่างน้อยเกิน 10 ครั้งขึ้นไป

นอกจากนี้ด้วยการมีค่ารับผิดส่วนแรก จึงส่งผลให้แบบประกันบางแบบจำเป็นต้องตัดหมวดที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยนอกบางอย่างออก หรือบังคับจ่ายรับผิดส่วนแรกที่ค่อนข้างสูงมาก เพราะผู้ป่วยนอกจะไม่ต้องจ่ายรับผิดส่วนแรก ทำให้มีปัญหากับเงินกองกลางของทุกคนในภายหลังได้

โดยสรุปวิธีนี้ จะคล้ายกับวิธีการลดหรือตัดหมวดที่แชร์ความเสี่ยงได้ยากออก คือ เลือกที่จะรับความเสี่ยงไว้เองบางส่วน ผ่านการเก็บออมเงินไว้จ่ายค่ารักษาเอง ดังนั้นวิธีนี้จึงจะมีประสิทธิภาพอย่างมาก หากมีการนำเบี้ยที่ประหยัดได้นี้ไปจัดการให้สามารถจ่ายรับผิดส่วนแรกเองได้

เลือกตามจุดประสงค์ของแบบประกัน

CHI การรับภัยต่างกันแต่ละบริษัท

บริษัทประกันแต่ละบริษัท มีจุดประสงค์ของแบบประกันของตนเอง

บริษัทประกันชีวิต จะเน้นคัดกรองคนที่จะเข้าร่วมแชร์ความเสี่ยงตั้งแต่ผ่านการใช้สัญญาประกันชีวิตที่ต้องทำคู่กับประกันสุขภาพเสมอ จึงทำให้ผู้เอาประกันที่เป็นโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิต สมอง หัวใจ อาจไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้เลย

ในขณะ บริษัทประกันภัย จะไม่มีสัญญาประกันชีวิตมาบังคับช่วยคัดกรองคน จึงเสี่ยงต่อเงินกองกลางได้มากกว่า แต่อย่างไรก็เน้นพิจารณาความเสี่ยงของพอร์ตเป็นรายปีเป็นหลักแทน

นอกจากนี้แต่ละบริษัทประกันยังมักมีการแบ่งแบบประกันออกเป็น 4 แบบใหญ่ คือ

1.แบบแยกค่าใช้จ่าย

❑  เน้นรองรับค่าผ่าตัดทั่วไป

❑  เน้นคุ้มครองเป็นรายครั้งการแอดมิต

2.แบบเหมาจ่ายความคุ้มครองไม่ถึง 10 ล้าน

❑  เน้นรองรับโรคทั่วไปจนถึงค่าผ่าตัดซับซ้อน

❑  มีทั้งแบบรายครั้งและรายปี

❑  ความคุ้มครองไม่มากพอที่จะดูแลค่าใช้จ่ายมะเร็ง หรือมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ

3.แบบเหมาจ่ายรองรับมะเร็ง คุ้มครองอย่างน้อย 10 ล้าน

❑  เน้นรองรับจนถึงค่าตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็ง

❑  มีหมวดพิเศษที่ดูแลค่าใช้จ่ายมะเร็งโดยเฉพาะ

❑  มีหมวดพิเศษที่ดูแลค่าใช้จ่ายมะเร็งโดยเฉพาะ

❑  มีค่าห้องสูงเหมาะสมในปัจจุบัน

4.แบบเหมาจ่ายรองรับมะเร็ง และความสะดวกสบาย คุ้มครองมสูงมากกว่า 50 ล้านเป็นต้นไป

❑  มีหมวดผู้ป่วยนอกที่คุ้มครองสูงมาก

❑  มีหมวดคุ้มครองพิเศษอื่น ๆ

❑  มีค่าห้องสูงมากเผื่อสำหรับในอนาคต

❑  สามารถเลือก Fax-Claim ในพื้นที่ต่างประเทศได้ ไม่ต้องทำประกันเดินทาง

เมื่อแบ่งแบบประกันตามจุดประสงค์ของบริษัทได้ชัดเจน ก็จะสามารถทำให้เลือกแบบประกันที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของผู้ขอเอาประกันได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ :

  • ค่าตอบแทนการตลาดที่บริษัทประกันให้กับตัวแทนนั้น แบบที่ 1 จะให้มากที่สุดเพราะบริษัทรับความเสี่ยงน้อยที่สุด และจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนน้อยที่สุดในแบบที่ 4
  • ในหลายครั้งตัวแทนต้องขายแบบ 3 และ 4 ให้ได้ 2-3 กรมธรรม์ กว่าจะได้ผลตอบแทนเท่ากับแบบที่ 1 และ 2 เพียง 1 กรมธรรม์โดยเฉพาะหากอายุยังน้อย

ขั้นตอนที่่ 5 ทำความเข้าใจหน้าที่ของตัวแทน ค้นหาตัวแทนที่ให้คำตอบได้ครบตามจริง มีรายละเอียดแต่ละขั้นตอนชัดเจน

การเลือกตัวแทนโดยทั่วไป จากความเคยชินมักจะพิจารณาจาก

❑  มีการเปิดใจ สร้างความสนิทใจ เชื่อใจ

❑  มีการนำเสนอที่น่าสนใจ สั้น เข้าใจง่าย ดูคุ้มค่า ดูกินใจ

❑  มีใบอนุญาต คุณวุฒิด้านการเงิน ความชำนาญ

❑  มีลูกค้าเยอะหรือไม่ รีวิวการดูแลให้บริการเคลมเป็นอย่างไร ทำมานานหรือยัง ตำแหน่งอะไร

❑  บริษัทชื่อคุ้นหูหรือไม่

❑  อยู่จังหวัดเดียวกันหรือไม่

❑  การตอบคำถามข้อสงสัย ความรู้สึก เช่น พูดคุยถูกคอ ไม่ตื้อ ไม่กดดัน ไม่ว่าร้าย มีน้ำใจไมตรี

ซึ่งสังเกตได้ว่า จะไม่ได้มีการนำเกณฑ์การปฏิบัติตามหน้าที่ของตัวแทนเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก เนื่องจากไม่ได้มีการระบุหน้าที่ของตัวแทนที่ชัดเจนให้ได้รับทราบโดยทั่วไป มีเพียงเน้นว่าให้การดูแลและให้บริการเท่านั้น

ทางเราจึงได้สรุปหน้าที่ของตัวแทนประกันทั้งหมดที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนประกันสุขภาพที่มีรายละเอียดค่อนข้างมากและเป็นสัญญาระยะยาวถึงตลอดชีพขึ้นมา

เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวแทน ซึ่งจะสามารถแบ่งหน้าที่ออกเป็น 4 หน้าที่ ดังต่อไปนี้ นอกจากนี้ยังมีบทความวิธีการเลือกตัวแทนที่เหมาะกับตนเองที่สุด และ บทความ 5 หน้าที่ของตัวแทนประกันที่ดี ให้สามารถช่วยคุณกับครอบครัวพิจารณาประกอบการเลือกตัวแทนให้ครบรอบด้านมากที่สุด

1. หน้าที่ ก่อน ยื่นขอทำประกัน

CHI หน้าที่ตัวแทนระหว่างยื่นทำประกัน

คือ การให้ความรู้ความเข้าใจในสินค้า สัญญา เงื่อนไข ข้อดีข้อจำกัด ดังต่อไปนี้  (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่หากไม่เข้าใจก่อนทำสัญญาย่อมเกิดปัญหาตามมาภายหลัง และเสียประโยชน์ของผู้ขอเอาประกันได้)

❑  การให้ข้อมูล อธิบายที่มาและจุดประสงค์ของแต่ละแบบประกัน บอกถึงข้อดี-ข้อจำกัด

❑  การเปรียบเทียบแบบประกันแต่ละแบบที่ชัดเจน เบี้ยประกันปีแรกและปีต่อไปตลอดอายุสัญญา ให้สามารถเลือกพิจารณาแบบประกันและสัญญาเพิ่มเติมได้ง่าย

❑  อธิบายข้อควรระวัง และเงื่อนไขการเคลมประกันที่ชัดเจน

❑  จำลองเปรียบเทียบวิธีการเตรียมเบี้ยประกันหลังเกษียณของแต่ละแบบประกัน

❑  อธิบายวิธีการแถลงสุขภาพ เอกสารที่ควรเตรียมสอดคล้องคำแถลง และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นของการพิจารณา

❑  การจัดทำใบคำขอ เพื่อตรวจสอบ แก้ไขข้อมูล และยืนยันใบคำขอทำประกันก่อนยื่นพิจารณาออนไลน์ (ยังไม่ต้องชำระเบี้ยประกัน)

❑  การตอบคำถามอย่างละเอียด เป็นกลาง เน้นให้ข้อมูลตามจริง

โดยส่วนใหญ่หน้าที่ดังขั้นตอนนี้จะช่วย คัดเลือกตัวแทน ได้พอสมควร แต่ก็เป็นขั้นตอนที่จะไม่ถูกใจนักซื้อและนักขายมากนัก เพราะจะทำให้รู้สึกว่ายุ่งยาก ต้องคิดพิจารณาให้ดีก่อน ไม่สามารถใช้อารมณ์ชั่ววูบได้

จึงทำให้หลายครั้ง ตัวแทนอาจรวบรัดนำเสนอเฉพาะประโยชน์ สรุปออกมาเป็นแพ็คเกจเน้นเบี้ยปีแรกเท่านั้น แล้วตัดข้อมูลหลาย ๆ อย่างออกไป เพื่อให้ขบวนการซื้อขายราบรื่นที่สุดแล้วค่อยมาแก้ปัญหาในภายหลัง

ซึ่งบางปัญหากว่าจะเห็นชัดเจนก็ใช้เวลานานหลาย 10 ปี เช่น

ปัญหาเรื่องเบี้ยประกันปีต่อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งกว่าจะเห็นว่าเป็นปัญหาก็ตอนอายุมากไปแล้ว

2. หน้าที่ ระหว่าง ยื่นขอทำประกัน

CHI หน้าที่ตัวแทนหลังยื่นทำประกัน

เป็นขั้นตอนที่เสมือนเป็นการทดสอบ การทำหน้าที่ของตัวแทน ให้กับผู้ขอเอาประกันในการประสานงานกับบริษัท เพราะจำเป็นจะต้องมีความรู้ด้านการพิจารณาเบื้องต้น สามารถพูดคุยกับฝ่ายพิจารณา และอธิบายถึงเหตุผลของการพิจารณาให้เข้าใจง่าย พร้อมแนะนำทางออกแบบต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายสาเหตุการร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม

❑  ให้คำแนะนำก่อนไปตรวจสุขภาพ

❑  การติดตามเอกสารที่ฝ่ายพิจารณาร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายสาเหตุของข้อเสนอการยกเว้นความคุ้มครองบางอาการ หรือ การขอเพิ่มเบี้ยประกัน

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายวิธีการโต้แย้งข้อเสนอ และแนะนำการตรวจวินิจฉัยเฉพาะเจาะจง

❑  ให้คำแนะนำอย่างเป็นกลาง เมื่อผู้เอาประกันได้รับข้อเสนอจากหลาย ๆ บริษัทพร้อมกัน

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายถึงสาเหตุการเลื่อนพิจารณารับประกัน และสิ่งที่ควรปฏิบัติในระหว่างระยะเวลาการเลื่อนรับประกัน

❑  ประสานฝ่ายพิจารณาเพื่อขอคำอธิบายถึงสาเหตุการปฏิเสธการรับประกัน และคำแนะนำในขั้นตอนถัดไป

❑  อธิบายขั้นตอนการชำระเบี้ยปีแรก ข้อควรระวังในการชำระเบี้ยปีต่อ และวิธีการอำนวยความสะดวก

เนื่องด้วยความยุ่งยากของขั้นตอนนี้ที่เป็น ขั้นตอนสำคัญในการคัดกรอง ตามบทความทำไมจึงไม่สามารถเคลมประกันได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาเอาเปรียบจากเงินกองกลางที่ผู้เอาประกันทุกคนร่วมแชร์ความเสี่ยงกันอยู่ได้

ทำให้งานของฝ่ายพิจารณาบริษัทฯ จะเข้มงวดและเยอะมาก ทำให้ทั้งการขอข้อมูลเพิ่ม การยกเว้นความคุ้มครอง การเพิ่มเบี้ย การเลื่อนการรับประกัน และการปฏิเสธรับประกัน จะไม่ได้ให้เหตุผลหรือทางออกใด ๆ ประกอบอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นเพียงการแจ้งให้ดำเนินการหรือแจ้งเพียงให้ทราบผลการพิจารณาเท่านั้น

ดังนั้น ตัวแทนจึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ขอเอาประกันที่คอยช่วยประสานงานเพื่อขอทราบเหตุผลกับทางบริษัทและช่วยอธิบาย รวมถึงให้คำแนะนำกับผู้ขอเอาประกันอย่างดีที่สุด

โดยขั้นตอนนี้ ผู้ขอเอาประกันสามารถทำการยื่นไปหลาย ๆ บริษัทประกันพร้อมกันได้ และดูการตอบสนองการทำหน้าที่ของตัวแทนได้ค่ะ

3. หน้าที่ ภายหลัง รับทำประกัน

CHI หน้าที่ตัวแทนหลังยื่นทำประกัน2

เป็นขั้นตอนสำคัญที่ตัวแทนจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้เอาประกันอย่างแท้จริง เพราะต้องใช้ความรู้ด้านสินไหม และการบริการกรมธรรม์ เพื่อประสานงานและติดตามกับบริษัท ดังต่อไปนี้

❑  ให้คำแนะนำบริการต่าง ๆ ของทางบริษัทเพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจรักษา

❑  ดูแลการเคลมประกันหากมีปัญหา โดยช่วยประสานกับฝ่ายสินไหมและ รพ.

❑  การเร่งดำเนินการขอประวัติการรักษา สำหรับการทำพรีเคลม หรือเคลมตรงในกรณีสำรองจ่ายเพื่อสืบประวัติ

❑  ดูแลทำบันทึกเวลาต้องขอความอนุเคราะห์หรือโต้แย้งบริษัท

❑  ดูแลทำบันทึกการยื่นทบทวนข้อยกเว้นความคุ้มครอง หรือทบทวนการเพิ่มเบี้ยประกัน

❑  ให้คำแนะนำและดูแลการเปลี่ยนแปลง กรมธรรม์ หรือ สัญญาเพิ่มเติมในกรมธรรม์

เนื่องจากประกันสุขภาพจะมี การสืบประวัติ ของอาการหรือโรคเรื้อรังที่ต้องการเคลมว่าเป็นมาก่อนทำประกันหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เงินกองกลางของทุกคนถูกเอาเปรียบ

โดยจะต้องสืบประวัติตั้งแต่ ก่อนทำประกัน 5 ปี และ หลังทำประกัน 3 ปี รวมถึงการยื่นทบทวนข้อยกเว้น หรือปรับเปลี่ยนส่วนสัญญาเพิ่มเติมให้เหมาะสมตามสถานการณ์ในอนาคต

การทำงานส่วนนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเลือกตัวแทนที่จะช่วยดำเนินการหรือประสานงาน

แม้ในปัจจุบันทาง รพ. และบริษัทประกัน จะเริ่มใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องทั้งหมดนี้มากขึ้นแล้วก็ตาม

แต่ก็สำคัญอย่างยิ่งที่ทางตัวแทนจะต้องให้ความรู้และความเข้าใจในส่วนนี้เป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มยื่นขอทำประกัน มากกว่าจะปล่อยล่วงเลยมาถึงการเคลมประกันแล้วจึงค่อยแจ้ง จนในที่สุดจึงเกิดปัญาตามมา

4. หน้าที่ วางแผนสำหรับเบี้ยประกันปีต่อ ที่ทยอยสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ตย กองทุนสุขภาพ อายุ61 98

ส่วนสำคัญที่ตัวแทนมักจะมีการแจ้งเตือนตั้งแต่ก่อนยื่นทำประกันสุขภาพ และอาจมีการจำลองหาทางออกว่าพอมีทางจะช่วยประหยัดเบี้ยปีต่อได้อย่างไร ผ่านความรู้ด้านการลงทุนและภาษี ดังต่อไปนี้

❑  อธิบายความแตกต่างระหว่างข้อดีข้อจำกัดระหว่าง ประกันสุขภาพแบบเบี้ยคาดหวังคงที่ และประกันสุขภาพแบบเบี้ยไม่คงที่

❑  สรุปแผนการใช้ประโยชน์จาก SSF/RMF ในการเตรียมเบี้ยประกันยามเกษียณ เพื่อสิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่สูงสุด และช่วยประหยัดเบี้ยประกันสุขภาพได้หลักล้านหรือมากกว่า

❑  ให้คำแนะนำกองทุนที่เหมาะสบในการทำตามแผน ที่เน้นช่วยลดความผันผวนและเป็นไปตามแผนได้เหมาะสมที่สุด

❑  คำนวณและปรับปรุงแผนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติจริง ๆ ที่สามารถยืดหยุ่นตามจำนวนเงินที่ต้องการเตรียมมากน้อยในแต่ละปีได้

❑  ให้คำแนะนำและคำนวณเพิ่มเติมด้านการเตรียมเกษียณอย่างปลอดภัย และการจัดการความเสี่ยงของครอบครัว

ข้อ 1-3 จะช่วยคัดเลือกตัวแทนที่ดี และช่วยทำให้คุณได้แบบประกันที่เหมาะสม และอาจประหยัดเบี้ยประกันทั้งหมดได้หลายแสน

แต่สำหรับ ข้อ 4 ข้อนั้นจะช่วยประหยัดเบี้ยประกันยามเกษียณได้หลักหลายล้าน ผ่านการคำนวณประยุกต์ SSF/RMF ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ได้สูงที่สุด

แต่เนื่องจากบริษัทประกันจะไม่ได้สร้าง เครื่องมือคำนวณ ส่วนนี้ขึ้นมาให้ตัวแทน ซึ่งจะมีเฉพาะเครื่องมือคำนวณที่ช่วยในการวางแผนประกันสุขภาพแบบเบี้ยคาดหวังคงที่ (Target Premium) คู่กับ สัญญาชีวิตหลักแบบ Unit-Linked หรือการประยุกต์นำประกันบำนาญมาจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพตอนเกษียณเท่านั้น ซึ่งต้องจ่ายเบี้ยสูงมากเท่ากันทุกปีและขาดความยืดหยุ่นพอสมควรค่ะ

และเนื่องจากการใช้ SSF/RMF มาช่วยแก้ปัญหา ทางบริษัทประกันจะไม่ได้ประโยชน์ร่วมด้วยเลย จึงไม่ได้มีเหตุผลมากนักที่จะต้องลงทุนพัฒนาเครื่องมือคำนวณนี้ขึ้นมา

นั่นจึงเป็น หน้าที่พิเศษ (เพิ่มเติม) ของตัวแทนที่จำเป็นต้องคำนวณส่วนนี้ และช่วยผู้เอาประกันให้ประหยัดเบี้ยและลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด ซึ่งมักพบตัวแทนลักษณะนี้ที่มีคุณวุฒิทางด้านการเงิน เช่น เป็นที่ปรึกษาการเงิน AFPT หรือ นักวางแผนการเงิน CFP

โดยสรุป หน้าที่ทั้งหมดนี้อาจจะช่วยทำให้สามารถคัดเลือกตัวแทนที่เหมาะสมกับความต้องการของคุณได้ง่ายมากขึ้น (ไม่มากก็น้อยค่ะ) และสามารถแยกระหว่างตัวแทนผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ กับตัวแทนนักขายชั่วคราวออกจากกันได้ชัดเจนมากขึ้นด้วยค่ะ

CHI หน้าที่ตัวแทนmujfu

ซึ่งในข้อ 1-3 นี้เป็นเพียงตัวอย่างหน้าที่พื้นฐานที่จำเป็นของ “ตัวแทนของลูกค้าหรือผู้เอาประกัน” เท่านั้น ซึ่งเวลาปฏิบัติงานจริงของตัวแทนแต่ละคน ก็จะมีมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ นั้นเองค่ะ

ขั้นตอนที่ 6 พิจารณารายรับรายจ่ายของตนเองและครอบครัว  เพื่อปรับให้สอดคล้องกับแบบประกันความคุ้มครองที่เลือก

CHI พิจารณารายรับรายจ่าย

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่หลายคนอาจยึดถือพิจารณาเป็นประเด็นแรก แต่ทางเราแนะนำว่าให้พิจารณาเป็นปัจจัยเกือบท้ายสุด เพราะค่ารักษาพยาบาลนั้นสำคัญมาก (Need) และไม่ควรเพียงนำเงินที่เหลือมาดูแลหรือตั้งงบค่าประกัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ บางทีคุณอาจจะได้การโอนความเสี่ยงเพียงโรคหรือการผ่าตัดทั่วไป เท่านั้น

เนื่องจากความเสี่ยงโรคทั่วไปเป็น ภัยเบื้องต้นที่คุณรับมือเองไหวหรือไม่ถึงขนาดที่จะทำให้ล้มละลายได้แบบค่ารักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นจึงควรทราบค่าใช้จ่ายเบี้ยประกันส่วนนี้ก่อน แล้วจึงค่อยลองจัดสรรเงินตามความเสี่ยงที่คุณต้องการโอน ดังวิธีดังต่อไปนี้

1.  ระบุความเสี่ยง ที่ต้องการโอน เช่น ความเสี่ยงโรคมะเร็งอย่างเต็มที่ เพราะเห็นว่ามีอัตราการป่วยสูงกว่าโรคหัวใจและสมอง ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายถึงหลักสิบล้าน

2.  เลือกแบบประกัน ที่ครอบคลุมทั้งหมดของความเสี่ยงที่ยากจะรับไว้เองไหว

3.  ปรับลดแผนความคุ้มครอง ในแบบประกันดูว่า หมวดความคุ้มครองใดที่รับความเสี่ยงไว้เองไหว เพื่อจะทำให้ได้เบี้ยประกันที่จำเป็นจริง ๆ มา

4.  จัดการกับรายรับรายจ่ายต่าง ๆ ให้พอที่จะลงล็อคกับเบี้ยประกันที่ได้มา

แต่ทั้งนี้ หากสุดท้ายไม่สามารถจะจัดการบัญชีรับ-จ่ายให้เพียงพอตามแบบและแผนประกันที่ครอบคลุมมะเร็งทุกระยะได้ ก็อาจจะเน้นเป็นแบบประกันครอบคลุมมะเร็งระยะ 1-2 แทน แล้วพยายาม ตรวจคัดกรองมะเร็ง เป็นประจำ ก็อาจจะเป็นหนึ่งในทางออกได้เหมือนกัน

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของการทำประกันสุขภาพคือ จะต้องเข้าใจว่า ค่าการรักษาใดที่เราพอรับเองไหว และ ค่าการรักษาใดที่เรารับเองไม่ไหว จากนั้นจึงเลือกแบบประกันและวิธีการจัดการความเสี่ยงรวมด้วยที่เหมาะสมที่สุดขึ้นมาค่ะ

ขั้นตอนที่ 7 พิจารณาประวัติการรักษาต่าง ๆ ความเสี่ยงที่มีโอกาสถูกยกเว้นความคุ้มครอง ในการยื่นพิจารณามากกว่า 1 บริษัท

CHI ตรวจสอบประวัติการรักษา

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนเดียวที่จะถูกทางบริษัทเป็นฝ่ายพิจารณาเลือกบ้างว่า จะให้คุณเข้าร่วมกลุ่มมาแชร์ความเสี่ยงและร่วมแชร์เงินกองกลางกับทุกคนในแบบประกันหรือไม่ หรือจะมีข้อยกเว้นใด ๆ เสนอเพิ่มเติม หรืออาจมีการคิดเบี้ยเพิ่ม (เนื่องจากมีค่าเฉลี่ยภัยสูงกว่ามาตรฐาน)

คุณจึงจำเป็นต้องเตรียมขอ เอกสารหรือประวัติการรักษา จากโรงพยาบาลให้พร้อม เพราะถ้าหากมีเอกสารพร้อม คุณจะสามารถยื่นหลายบริษัทพร้อม ๆ กันได้ในทันทีค่ะ

ทำให้ไม่ต้องทำเรื่องทีละบริษัทประกันแล้วหากโดนปฏิเสธหรือเสนอเงื่อนไขที่คุณไม่โอเค จึงค่อยไปทำอีกบริษัท ซึ่งจะทำให้มีประวัติว่าถูกปฏิเสธหรือโดนเสนอเงื่อนไขมาก่อน และถูกบริษัทประกันที่ต่อไปเพ่งเล็งได้

โดยวิธีนี้ยังทำให้สามารถพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุดของแต่ละบริษัทประกันพร้อมกันได้อีกด้วย เรียกว่า เปลี่ยนจากผู้ถูกเลือกกลับมาเป็นผู้เลือกอีกครั้งค่ะ ซึ่งเอกสารที่เตรียม จะขึ้นอยู่กับค่าสุขภาพของคุณเองในปัจจุบันดังต่อไปนี้ว่า

❑  กำลังรักษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต หัวใจ สมอง

❑  ค่าความดันที่สูงกว่าปกติ ค่าน้ำตาล ค่าไขมัน ค่าตับ ค่าไต (มักจะได้มาตอนที่ตรวจสุขภาพประจำปี)

❑  ค่าดัชนีมวลกาย BMI ตั้งแต่ 31 ขึ้นไป

❑  มีโรคหรืออาการที่ยังต้องรักษาอยู่ หรือต้องติดตามอาการจากแพทย์

❑  หรือ เพื่อความแน่ใจที่สุดสามารถ ตรวจสอบเกี่ยวกับวิธีการแถลงสุขภาพที่ลิงก์นี้ ว่าคุณมีอาการใดที่เกี่ยวข้องและเป็นปัญหาในการพิจารณารับประกันอยู่หรือไม่

โดยหากเข้าข่ายดังกล่าว สิ่งที่คุณควรทำคือ ขอประวัติการรักษาทั้งหมด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาการที่ได้แถลงสุขภาพไป สำหรับยื่นพร้อมกันหลายบริษัท

โดยปัญหาใหญ่ของการเตรียมเอกสาร คือ ผลการตรวจสุขภาพปีล่าสุด ที่มีค่าด้านสุขภาพต่าง ๆ ที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์อ้างอิง แต่ถ้าผลล่าสุดค่อนข้างนานหลายเดือน ก็มีโอกาสสูง (มาก) ที่ทางบริษัทจะให้ตรวจสุขภาพซ้ำเพื่อดูค่าเฉลี่ยร่วมด้วยค่ะ

รวมไปถึงในผลการตรวจสุขภาพประจำปี อาจมีการตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์ว่าเป็นโรคหรืออาการต่าง ๆ ร่วมด้วย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจเฉพาะเจาะจงให้เคลียร์ แล้วยื่นไปพร้อม ๆ กัน

หากไม่ตรวจให้เคลียร์ สุดท้ายจะมีโอกาส (สูงมาก) ที่ทางบริษัทจะยกเว้นความคุ้มครองโรคนั้นไปเลย และคุณต้องเสียเวลาโต้แย้งเพื่อขอไปตรวจให้มั่นใจว่า ไม่ได้เป็นตามข้อสังเกตโดยแพทย์ อีกทีค่ะ

ขั้นตอนสุดท้าย สิ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติม

การเลือกสัญญาหลักประกันชีวิต สำหรับให้สัญญาประกันสุขภาพแนบท้าย

CHI แผนประกันชีวิต

โดยเบื้องต้นสัญญาหลักประกันชีวิต เป็นตัวกำหนดอายุสัญญาประกันสุขภาพว่าสามารถต่อได้ถึงอายุกี่ปี

จึงมักที่จะเลือกสัญญาเป็นแบบ ประกันชีวิตตลอดชีพ ที่ให้ความคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี มากกว่าเลือกแบบประกันที่อายุสัญญาสั้น ๆ

โดยทุนประกันขั้นต่ำและเงื่อนไขต่าง ๆ จะถูกกำหนดไว้แตกต่างกันแต่ละบริษัทประกันชีวิต เช่น

  • ทุนขั้นต่ำ 50,000 บาท แต่เป็นแบบชำระเบี้ยคงที่ถึงอายุครบ 99 ปี และซื้อสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองได้เฉพาะ ผู้ป่วยนอก OPD
  • ทุนขั้นต่ำ 100,000 บาท แบบชำระเบี้ยคงที่ 20 ปี คุ้มครองถึงอายุครบ 99 ปี และซื้อสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองได้ทุกสัญญา กับในระยะยาวเบี้ยต่อความคุ้มครองจะประหยัดกว่า

การจะเลือกแบบใด ก็จะขึ้นอยู่กับว่าต้องการซื้อสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองอีกหรือไม่ นั้นเองค่ะ

ส่วนอีก จุดประสงค์ของสัญญาหลักประกันชีวิตตลอดชีพ สำหรับสัญญาประกันสุขภาพนี้ ก็คือจะใช้เป็น

❐   ค่าจัดการงานด้านฌาปนกิจทั้งหมด

❐   ค่าจัดการทางด้านกฏหมาย ทนายและศาลเกี่ยวกับการจัดตั้งผู้จัดการมรดกและหนี้สิน

❐   ค่าจัดการภาษีมรดก

โดยในปัจจุบันมักจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับว่ามีเรื่องของภาษีมรดกมาเกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใดค่ะ

CHI แผนประกัน unit linked

ทั้งนี้นอกจากจะสามารถเลือกสัญญาหลักเป็น ประกันชีวิตตลอดชีพได้แล้ว ที่นิยมเลือกกันอีกอย่างก็จะเป็น ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Unit-Linked เพราะตามสัญญาจะคุ้มครองถึงอายุ 99 ปี เช่นกัน

เพียงแต่จะไม่การันตีเงินคืนแบบประกันชีวิตตลอดชีพ โดยจะขึ้นอยู่กับเงินในพอร์ตกองทุนรวมที่ผู้เอาประกันเลือกว่ายังมีเหลือจ่ายค่าการประกันภัยหรือไม่

ซึ่งหากเลือกสัญญาหลักเป็น Unit-Linked ก็จะสามารถเลือกสัญญาประกันสุขภาพแบบ UDR ที่มีเบี้ยคาดหวังคงที่ (Target Premium) ได้ เพราะทั้ง Unit Linked และ UDR จะมีการแบ่งเบี้ยบางส่วนไปลงทุนไว้ให้เติบโตมาตัดจ่ายค่าประกันภัยในอนาคตได้เช่นกัน

ข้อควรระวังคือ การนำเสนอขายประกันแบบนี้เป็นเพียงการจำลองคาดการร์เท่านั้น และการจ่ายค่าการประกันภัยจะเป็นการขายหน่วยลงทุนในกรมธรรม์ออกมาจ่าย จะไม่ได้หักจากเบี้ยประกันโดยตรง

โดยมูลค่าหน่วยลงทุนนี้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งน้อยลงและสูงขึ้น ขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนของพอร์ตกองทุนรวมในเดือนนั้น ๆ รวมถึงความเสี่ยงของพอร์ตกองทุนรวมที่เลือก

ถ้าเลือกความเสี่ยงสูง หากเดือนใดผลตอบแทนติดลบมาก เช่น -30% พอร์ตก็จะเล็กลงและยังโดนหักค่าการประกันภัยซ้ำไปอีก ซึ่งค่อนข้างอันตรายอย่างมากในตอนสูงอายุ เพราะกรมธรรม์อาจปิดตัวลงเพราะไม่เหลือมูลค่าหน่วยลงทุนอีกแล้ว

การเลือกสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองอื่น ๆ นอกจากสัญญาประกันสุขภาพ

สัญญาค่ารักษาอุบัติเหตุผู้ป่วยนอก (อบ.3 ฆจ.3)

CHI ประกัน อบ.3 ฆจ.3
  • เนื่องจากประกันสุขภาพมักจะให้คุ้มครองส่วนนี้ไม่เพียงพอ โดยจะดูแลเฉพาะค่ารักษาและติตตามอาการใน 7-30 วันเท่านั้น ซึ่งจำนวนวันจะน้อยเกินไปหากเป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับกระดูกหัก ไฟไหม้ บาดแผลที่ต้องมีการล้างแผล
  • เบี้ยส่วนนี้จะมีราคาค่อนข้างถูกกล่าวคือเบี้ยหลักร้อยต่อวงเงินค่ารักษาอุบัติเหตุผู้ป่วยนอกหลักหมื่นต่อครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ และติดตามอาการได้สูงถึง 180 วัน จนกว่าวงเงินรักครั้งนั้นจะหมด

สัญญาค่ารักษาผู้ป่วยนอก OPD

CHI ประกัน OPD2
  • ส่วนนี้เป็นค่ารักษาผู้ป่วยนอกไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม หรือแม้แต่ความจำเป็นทางการแพทย์ไม่แน่ชัด ก็สามารถใช้วงเงินส่วนนี้ได้
  • แต่เนื่องจากเป็นภัยที่เฉลี่ยภัยกับผู้อื่นได้ยาก เบี้ยจึงค่อนข้างสูงคือหลักพันหรือหมื่น แต่ได้รับความคุ้มครองวงเงินหลักพันต่อครั้งเท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับวงเงินอุบัติเหตุผู้ป่วยนอกอย่างชัดเจน

สัญญาคุ้มครองโรคร้ายแบบเจอจ่าย

CHI ประกันโรคร้ายแรง
  • ส่วนนี้มักจะเน้นในเรื่องของโรคมะเร็ง สมอง หัวใจ ไต เป็นหลัก เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากค่ารักษา
  • แต่ถ้าประกันสุขภาพที่เลือกไม่สามารถคุ้มครองค่ารักษาโรคร้ายได้ ก็อาจจำเป็นต้องซื้อความคุ้มครองส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก
  • ข้อควรระวัง 1 ในตอนอายุยังน้อยเบี้ยหลักพันจะคุ้มครองให้วงเงินถึงหลักล้านได้ แต่ตอนสูงอายุเบี้ยจะขึ้นถึงหลักแสน
  • ข้อควรระวัง 2 ยิ่งคุ้มครองจำนวนโรคมากเท่าไร เบี้ยตอนสูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น จนเมื่อคำนวณดูแล้วการเลือกซื้อประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคร้ายได้ จะประหยัดกว่าการซื้อประกันโรคร้ายเพื่อหวังเป็นเงินค่ารักษาเสียอีก เนื่องด้วยเพราะประกันตัวนี้เป็นแบบเจอจ่ายจบด้วยนั้นเอง

สัญญาชดเชยรายวันเนื่องจากนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

CHI ประกันชดเชยรายวัน
  • สัญญานี้จะขึ้นอยู่กับทุนชีวิตโดยตรง โดยจะมีการจำกัดว่าทุนชีวิตเท่าใดจึงจะเลือกความคุ้มครองรายวันได้สูงสุดเท่าใด
  • รวมไปถึงหากเลือกชดเชยสูง ๆ ก็จะมีการขอดู Statement ของบัญชีธนาคารด้วย เพื่อมั่นใจว่ามีรายได้ต่อวันตามนั้นจริง ๆ
  • เป็นหนึ่งในสัญญาที่ควรเลือกเท่าที่จำเป็น เพราะเบี้ยประกันค่อนข้างสูง และเป็นจุดให้บริษัทประกันเพ่งเล็งว่าจะมีการทุจริตในการเคลมประกันหรือไม่

การเลือกบริษัทประกัน 'รับยากเคลมง่าย' 'รับง่ายเคลมยาก' 'รับยากเคลมยาก' และ 'Copayment'

ส่วนนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้มองจุดประสงค์ของบริษัทประกันออกว่ามี แนวทางการบริหารเงินกองกลาง ที่ทุกคนนำเงินมาเฉลี่ยความเสี่ยงภัยร่วมกันอย่างไร

โดยหากแบบประกันใดเน้นเพียงแต่การตลาดเรียกลูกค้าเข้ามาก่อนให้รู้สึกว่าได้กำไรเกินเบี้ยที่จ่ายไป  ทำให้คนเข้าใจผิดจนกระทบเงินกองกลางของทุกคนได้ง่าย ๆ แบบไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น

ให้ค่าห้องสูงมากแต่จ่ายเบี้ยน้อยกว่าที่อื่น ก็จะทำให้เพียงเป็นไข้หวัดธรรมดา ก็มีโอกาสเข้ามากินเงินส่วนกลางผ่านการนอนห้อง VIP ได้แล้ว

CHI การเคลม ยากหรือง่าย

ดังนั้นแบบประกันลักษณะนี้ควรหลีกเลี่ยง เพราะในอนาคตเมื่อเงินกองกลางเริ่มลดลง บริษัทจะเริ่มมีมาตรการที่เข้มงวดภายหลังตามมา อย่าง การประวิงเวลาจ่ายเงิน กับโรคที่สำคัญ ๆ และค่าใช้จ่ายสูง เพื่อทำการสืบประวัติ (สืบแล้วสืบอีกจากการสุ่มโรงพยาบาล)

อย่างการให้ Copayment คือกรณีที่เกิดการเคลมมากแบบผิดปกติ (เกินความจำเป็นทางการแพทย์) บริษัทมีสิทธิ์ให้ร่วมจ่ายค่ารักษาตามสัดส่วนที่บริษัทเห็นควร ไม่เกิน 30%-50%

CHI เงินกองกลาง

ทั้งนี้บางแบบประกันสุขภาพจะตัดเรื่อง Copayment ออก แต่ก็แลกด้วยการไม่มีความคุ้มครองที่เป็นเชิงการตลาดโดยเฉพาะในแผนเริ่มต้น เช่น ค่า OPD ค่าทำคลอด ค่าโรคแทรกซ้อนตั้งครรภ์ ค่าตรวจสุขภาพ เป็นต้น

รวมไปถึงจะมีเกณฑ์รับประกันที่เข้มงวดมากกว่าแบบมี Copayment และอาจมีข้อเสนอยกเว้นความคุ้มครอง หรือการเพิ่มเบี้ยตามมาหากมีเกณฑ์ความเสี่ยงสุขภาพสูงกว่ามาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่น่ากลัวที่สุด คือ บริษัทที่รับง่าย เคลมง่าย เพราะถือว่าไม่ได้ปกป้องเงินกองกลางของทุกคนไว้เลย

ซึ่งผลร้ายในภายหลังก็คือ ปัญหาเงินกองกลาง (พอร์ต) มีไม่พอ และเมื่อผู้เอาประกันคนอื่นที่ไม่เคยป่วยหรือเคลมมาก่อน เกิดป่วยขึ้นมา บริษัทก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ เหมือนเช่นประกันโควิด เจอจ่ายจบ ในช่วงแรก ๆ นั้นเอง

และเป็นการส่งเสริมให้คนทั่วไปเข้าใจประกันแบบผิด ๆ และหวังเข้ามาฉ้อโกงในเงินกองกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ไม่ต่างกับแชร์ลูกโซ่ที่ เข้าก่อนออกก่อนได้เปรียบ

การเลือกแบบ ประกันเหมาจ่าย ที่เน้นความสะดวกสบายทุนความคุ้มครองสูงมาก

การเลือกแบบประกันลักษณะนี้ จะเห็นได้ว่ามีหมวดคุ้มครองหลายอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่า เกินความจำเป็นทางการแพทย์ หรือวัดความจำเป็นทางการแพทย์ได้ยาก หรือเป็นความเสี่ยงที่จงใจให้เกิดขึ้นได้

ไม่ว่าจะเป็น ค่าทำฟัน ค่าทำคลอด ค่าโรคแทรกซ้อนการตั้งครรภ์ ค่าห้องผู้ปกครองสำหรับดูแลบุตรที่นอน รพ. ค่ารักษาผู้ป่วยนอก ค่ากายภาพบำบัด ค่าห้องที่สูงมหาศาล

ทั้งหมดนี้ย่อมแลกมาด้วยเบี้ยประกันที่สูงมากขึ้นมาก โดยเฉพาะตอนสูงอายุ ซึ่งแน่นอนว่าหากเก็บออมเงินจ่ายเองจะประหยัดกว่าการจ่ายเบี้ยทุกปีแน่นอน

แต่อย่างไรก็ตามแบบประกันลักษณะนี้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ไม่ต้องเสียเวลาคิดว่าจะต้องเตรียมเงินฉุกเฉินไว้จ่ายเองเท่าไรดี และมีโอกาสได้ใช้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่บริษัทประกันจะให้เพิ่มเติมมาได้ด้วย

ดังนั้นการจะเลือกประกันรูปแบบนี้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะวางแผนการจัดการเงินหรือแบ่งเงินไปลงทุน ให้เกิดการเติบโตเองเพื่อมาจ่ายเบี้ยที่สูงนี้ได้ (โดยเฉพาะตอนเกษียณ) โดยไม่ต้องใช้เงินจากรายได้ที่ต้องหามาเอง ซึ่งถ้าวางแผนได้ ก็จะทำให้แบบประกันนี้ดูน่าสนใจขึ้นอย่างมากค่ะ

บทสรุปวิธีการเลือกเปรียบเทียบประกันสุขภาพ

CHI แชร์ความเสี่ยงอย่างยุติธรรม2

ประกันสุขภาพ สุดท้ายคือ การร่วมแชร์ความเสี่ยงกับกลุ่มคนจำนวนมากอย่างยุติธรรม ผ่านการลงเงินกองกลางร่วมกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้อง

1.  เรียนรู้ให้ดีก่อนว่าความเสี่ยงที่ว่านี้คืออะไร มีความเสี่ยงมากแค่ไหน

2.  รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าใด ต้องการเข้าพักรักษาตัว รพ. ไหน

3.  เลือกแบบประกันที่จะมาแชร์ความเสี่ยงให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้มา

4.  พยายามเลือกแผนที่มีเฉพาะภัยที่สามารถแชร์ความเสี่ยงกับคนจำนวนมากได้ ไม่ใช่ภัยที่แชร์ได้เฉพาะกับตนเอง หรือเหมือนกับการเก็บเงินรักษาตนเอง

5.  หาตัวแทนที่ทำหน้าที่ครบ คือ ให้ความรู้ ความเข้าใจ ความจริง คอยติดตามแก้ไขปัญหา วางแผนประหยัดเบี้ยในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีประกันสุขภาพได้ตลอดชีพ

6.  จัดสรรบัญชีรับจ่ายให้สอดคล้องกับเบี้ยประกันที่ต้องการโอนความเสี่ยงที่รับเองไม่ไว้จริง ๆ

7.  ทำการเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน เพื่อยื่นขอทำประกันได้โดยไม่มีปัญหา และยื่นพร้อมกันได้ในหลายบริษัท (ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว อย่างน้อย 2-3 บริษัท)

ทั้งหมดนี้คือ 7 ขั้นตอนสำคัญ ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มพิจารณาแบบประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับความต้องการที่จำเป็นมากที่สุด

และขั้นตอนที่ 7+1 ก็จะเป็นตัวเสริมให้สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาหลักประกันชีวิต และสัญญาเพิ่มเติมความคุ้มครองอื่น ๆ ให้ได้เลือกแผนประกันที่จะนำมาแข่งขันกันในการยื่นส่งพิจารณาได้

เมื่อคุณผู้อ่านอ่านมาถึงจุดนี้ จะเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นว่า 

การเลือกซื้อประกันสุขภาพนั้น ไม่ใช่แบบการจัดสเป็กคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค หรือ มือถือ ไม่ใช่เพียงการพิจารณาแค่สัญญาหรือสินค้า เทียบกันฟังก์ชันต่อฟังก์ชัน ราคาต่อราคา ตามงบประมาณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมีองค์ประกอบสำคัญทั้งหมดที่ต้องพิจารณาร่วมด้วยคือ 

  • วิธีการดำเนินการของบริษัท 
  • ความสามารถของตัวแทน 
  • ความเข้าใจของผู้ทำประกัน
  • และ สัญญาประกันสุขภาพ
4 องค์ประกอบเลือกเครื่องการเงิน

ประกันสุขภาพเป็นเรื่องของสัญญาระยะยาวถึงอายุผู้เอาประกันครบ 99 ปี และมีมูลค่าเบี้ยรวมกันถึงหลักล้าน-หลักสิบล้าน ไม่ต่างกับราคาบ้านหรือคอนโด

ดังนั้นการใช้เวลาทำความเข้าใจในทุกองค์ประกอบก่อนตัดสินใจใด ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ทางเราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะได้เป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยค่ะ

คลิกดู

หรือ คลิกดู

เข้าใจก่อนเลือกใช้เครื่องมือการเงิน เพื่อสามารถเกษียณสุขได้อย่างสบายใจ และนั่นคือหน้าที่ของเรา

RELEASE YOUR RISK

เราคือทีมงานที่ รวมตัวกันเพราะความเจ็บปวดจากการไม่ได้ศึกษาเครื่องมือทางการเงินอย่างจริงจัง เพราะคิดว่าไม่จำเป็น ไม่มีเวลา รู้แต่เพียงวิธีการหารายได้และจัดการการค่าใช้จ่ายเท่านั้น

จนมีวันหนึ่งได้มีคนเข้ามาเปิดใจให้ทางเราได้เห็นประโยชน์ของเครื่องมือทางการเงิน ทำให้เกิดความเชื่อใจ และทำตามคำแนะนำด้วยอารมณ์เป็นห่วงครอบครัว โดยที่ยังไม่เข้าใจเครื่องมือการเงินนั้นจริง ๆ ว่ามีวิธีการทำงานอย่างไร 

สุดท้ายเมื่อรู้สึกแปลก ๆ จึงได้เอาตนเองเข้าไปศึกษาและล้วงข้อมูล จนทำให้รู้ว่า นี่มันไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสมกับเราในตอนนี้ มันมีเครื่องมืออื่นที่เหมาะสมมากกว่า แต่นั้นก็สายไปแล้ว เพราะทุกอย่างเป็นสัญญา ที่ย่อมมีบทลงโทษหากจะยกเลิกสัญญา ซึ่งสร้างบาดแผลที่เจ็บปวดแสนสาหัสให้กับทางเรา

RELEASE YOUR RISK จึงถูกก่อตั้งขึ้นมาจากความเจ็บปวดนี้ เพราะราต้องการทำตรงกันข้าม (ทุกอย่าง) กับสิ่งที่ทำให้เราได้เคยเจ็บปวดมาอย่างแสนสาหัส

เราต้องการให้คุณได้มีข้อมูลในการศึกษาทำความเข้าใจแบบไม่ถูกกดดันและถูกเร่งรัดการตัดสินใจ

เราต้องการให้คุณเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินด้วยข้อมูลรวมกับความเชื่อใจ ไม่ใช่เพียงเพราะความเชื่อใจอย่างเดียว

เราอยากให้คุณเข้าใจที่มาของตัวเลขและ ข้อควรระวัง ในการได้มาของตัวเลขนั้น ๆ

หลายสิ่งที่บริษัทแนะนำมา เราอยากให้คุณวิเคราะห์สัญญาอย่างละเอียด ในทุกด้านแม้ในด้านที่บริษัทไม่บอก

ทุกอย่างที่เราอยากให้คุณทำ เป็นแรงเสียดทานต่อกาลงมือทำทั้งสิ้น แม้เครื่องมือการเงินอย่างประกัน ยิ่งทำเร็วยิ่งดีแต่ด้วยที่เป็น สัญญาระยะยาว 50-60 ปี (หรือมากกว่านี้) การใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจสัก 1-2 ชั่วโมงขึ้นไปนั้น ดูค่อนข้างสมเหตุสมผลมากกว่าการเชื่อตามกันมา เชื่อตามที่ถูกแนะนำ

ดังนั้นทางเราจึงได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดด้าน ความจริงในมุมมองของแต่ละฝ่าย เบื้องหลังและที่มาของเครื่องมือ เพื่อให้คุณกับครอบครัวได้เข้าใจ และเห็นภาพรวมกับวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแต่ละแบบ ได้เปรียบเทียบกันในแต่ละด้าน

และสุดท้ายได้เครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด ที่จะนำมาใช้รวมกันสำหรับการวางแผนการเงินเพื่อเกาียณสุขได้อย่างสบายใจ 

เกี่ยวกับ
RELEASE YOUR RISK

แอนนีนี่นี่

แอนนี่ - รุจิรา ต๊ะบุญเรือง

ผู้แนะนำให้ความรู้ในเครื่องมือการเงินแบบองค์รวม

ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 เลขที่ 088660

ตัวแทนกรุงเทพประกันชีวิต เลขที่ 6001021654

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานทั้งหมดของแอนนี่ในสายงาน CRM ได้พบว่า ความไม่รู้ เป็นศัตรูที่แพงอย่างมากในโลกของการเงิน และโดยส่วนใหญ่กว่าจะได้รู้ก็อาจจะสายไปแล้ว

แอนนี่จึงจะเน้นแก้ไขปัญหานี้ ผ่านการให้ความรู้ทางการเงินที่ครบถ้วนที่สุดเพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากความไม่รู้นี้ค่ะ

Untitled design 23 1

บาส - ฐิติ  รุ่งเจริญไพศาล

ผู้ค้นคว้าพัฒนา FRAMEWORK เพื่อการเกษียณสุข

ผู้วางแผนการลงทุน IP เลขที่ 105969

ที่ปรึกษทางการเงิน AFPT เลขที่ AFPT190104

ตัวแทนกรุงเทพประกันชีวิต เลขที่ 6101074044

ผมอยู่ในสายงานนักพัฒนาโปรแกรมและอาจารย์มหาวิทยาลัยมากว่า 10 ปี ซึ่งได้พบความจริงว่า หากขาดความรู้ ความเข้าใจ ลำดับการใช้งานของเครื่องมือทางการเงินที่ถูกต้องแล้ว  ก็ยากที่จะทราบได้ว่าจะมีอิสรภาพทางการเงินได้เมื่อใด

ผมจึงพยายามพัฒนาเครื่องมือคำนวณ ที่จะใช้เครื่องมือการเงินให้ครบรอบด้านโดยเฉพาะในกรอบการลดหย่อนภาษี เพื่อช่วยให้สามารถคำนวณเงินที่จำเป็นสำหรับนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินในช่วงเกษียณได้ ทั้งยังต้องสามารถลงมือทำตามได้ง่ายและมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์รายได้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้

>
Scroll to Top

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งาน ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ตกลงทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึก